รายงาน UOB Business Outlook Study 2023 (SME& Large Enterprises) ที่จัดทำโดยธนาคารยูโอบีเผย ธุรกิจเอสเอ็มอีและบรรษัทขนาดใหญ่ในอาเซียนและจีนแผ่นดินใหญ่ 3 ใน 4 เชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้
ยูโอบีได้สำรวจธุรกิจเอสเอ็มอีและบรรษัทขนาดใหญ่กว่า 4,000 แห่ง และผู้บริหารระดับสูงในอาเซียนและจีนแผ่นดินใหญ่รวม 7 ประเทศคือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม จีน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
รายงานระบุว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน ยังพัฒนาได้อีกมาก และมีพลวัตจากประชากรที่แข็งแกร่ง 650 ล้านคน ด้วยจุดแข็งและโอกาสทางเศรษฐกิจที่หลากหลายแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดและความไม่แน่นอน อาเซียนได้ผ่านพ้นความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างดีและยังคงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โลกหลายขั้วในปัจจุบัน แม้กระทั่งการรวมตัวในภูมิภาค ควบคู่ไปกับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์หลายกรณีที่แตกต่างกัน หมายถึงโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ของอาเซียน ที่นำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ
ธนาคารยูโอบีจึงได้จัดทำ UOB Business Outlook Study 2023 (SME & Large Enterprises) รวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญจากกว่า 4,000 บริษัทในอุตสาหกรรมและ 7 ตลาด เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมั่นของธุรกิจในปัจจุบัน และวิธีที่ธนาคารสามารถสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ ให้แข็งแกร่ง และเติบโตต่อไปได้
การสำรวจเจาะไปที่ข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมประเด็นสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. แนวโน้มที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตของธุรกิจในด้านความยั่งยืน ดิจิทัล การจัดการซัพพลายเชน และการขยายตัวในต่างประเทศ
2. วิธีที่บริษัทต่างๆ ปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและกลยุทธ์ที่ใช้ในการเติบโต
3. ธนาคารยูโอบีและพันธมิตรในอุตสาหกรรมสามารถสนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายในการเติบโตได้อย่างไร
สำหรับภาคธุรกิจได้ร่วมในการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่ ภาคการผลิตและวิศวกรรม ภาคเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน ภาคอสังหาริมทรัพย์/การบริการ ภาคธุรกิจบริการ ภาคชุมชนและส่วนบุคคล ภาคบริการวิชาชีพ ภาคการค้าส่ง และภาคอุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ
เชื่อมั่นเศรษฐกิจมุ่งหาลูกค้าใหม่
สำหรับผลสำรวจในปีนี้ประเทศที่มีความเชื่อมั่นสูงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือ จีน 92% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 90% ตามมาด้วยเวียดนาม 87% ซึ่งสองหมวดธุรกิจมีความเชื่อมั่นสูงสุด(81%)คือ กลุ่มธุรกิจด้านการผลิตและวิศวกรรม กับ กลุ่มอุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ โดยที่ธุรกิจขนาดกลาง(medium) มีความเชื่อมั่นมากสุด 80%
ธุรกิจที่สำรวจในปีนี้ มีความเชื่อมั่นต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ 8 ใน 10 เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้น เนื่องจากมีผลประกอบการดีขึ้น แม้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจมากระทบ เช่น ต้นทุนการดำเนินงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้หลายธุรกิจในภูมิภาคต้องลดค่าใช้จ่าย
การสำรวจในปี 2565 ประเทศที่มีความเชื่อมั่นสูงคือ จีน 94% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 93% ตามมาด้วยเวียดนาม 89% ซึ่งเมื่อแยกเป็นรายภาคธุรกิจ พบว่า หมวดอุตสาหกรรม และธุรกิจน้ำมันและก๊าซมีความเชื่อมั่นมากถึง 85% รองลงมาคือ หมวดการผลิตและวิศวกรรม 82% โดยที่ธุรกิจขนาดกลางมีความเชื่อมั่นมากสุด 82%
ในอีก 1-3 ปีข้างหน้าธุรกิจให้ความสำคัญกับการหาลูกค้าใหม่(33%) การลดต้นทุน(32%) และการก้าวสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ(31%) เป็นลำดับต้นๆ โดยธุรกิจของไทยให้ความสำคัญกับการหาลูกค้าใหม่สูงสุด 43% รองลงมาคือมาเลเซีย(37%) ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม(small) ให้ความสำคัญกับการหาลูกค้าใหม่มากที่สุด(35%) ด้านการลดต้นทุนนั้นมาเลเซียให้ความสำคัญสูงสุด(42%) ซึ่งธุรกิจก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานกับธุรกิจขนาดย่อมให้ความสำคัญกับด้านนี้พอๆกัน(37%)
ธุรกิจเห็นว่า การก้าวสู่ดิจิทัลมีความสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้า และช่วยให้ธุรกิจขยายสินค้าหรือบริการไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่
สำหรับการขับเคลื่อนการเติบโต ธุรกิจในอาเซียนและจีนเน้นไปที่ การยกระดับการบริการลูกค้า(27%)และการขยายผลิตภัณฑ์และบริการ(27%) การนำโซลูชันดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต(25%) โดยในด้านการยกระดับการบริการและประสบการณ์ของลูกค้า ไทยให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง(33%) รองลงมาคืออินโดนีเซีย(32%) และกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริการและประสบการณ์ของลูกค้าคือ ธุรกิจขนาดย่อม(29%)
ในด้านการขยายผลิตภัณฑ์และบริการ อินโดนีเซียให้ความสำคัญมากสุด(31%) แต่จีนให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางจำหน่ายไปสู่ออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซมากสุด(29%)
ธุรกิจมองว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจยกระดับการบริการลูกค้าให้ดีขึ้น โดยกว่า 6 ใน 10 เตรียมที่จะยกระดับระบบอัตโนมัติเพื่อบริการลูกค้าได้ง่ายขึ้น และตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า่ ซึ่งธุรกิจของไทยให้ให้ความสำคัญมากสุดกับการใช้ระบบอัตโนมัติ(71%) อันดับสองคืออินโดนีเซีย(69%)
สำหรับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ธุรกิจส่วนใหญ่(33%)เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงภายใน 6-12 เดือน หลังจากที่ในปี 2565ที่ผ่านมา 6 ใน 10 ยอมรับว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานในไทยและเวียดนาม เงินเฟ้อมีผลให้กำไรลดลงอย่างมาก
ปรับสู่ดิจิทัลลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ
ผู้บริหารของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามมองว่ามาตรการหลักในการดำเนินการลดผลกระทบเงินเฟ้อ คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน(47%)และการปรับไปใช้ดิจิทัล(38%) เพราะช่วยประหยัดต้นทุน ซึ่งธุรกิจในเวียดนามให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพมากสุด(53%) โดยที่เป็นคำตอบจากภาคก่อสร้างมากที่สุด(52%) และธุรกิจขนาดใหญ่(52%) มากกว่าขนาดอื่นๆ
ธุรกิจในอินโดนีเซีย(43%)และจีน(43%)ต่างเน้นไปที่การปรับไปใช้ดิจิทัล โดยเฉพาะภาคการผลิตและวิศวกรรม(43%) ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง
อย่างไรก็ตามธุรกิจเกือบ 9 ใน 10 ได้หันมาใช้ระบบดิจิทัลแล้ว อย่างน้อยก็หนึ่งแผนก
ธุรกิจใน อินโดนีเซีย(93%) ไทย(92%)และจีน(90%) เป็นผู้นำในการนำดิจิทัลมาใช้ โดยที่ธุรกิจในภาคการผลิตและวิศวกรรมและเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคมก็มีการใช้ดิจิทัลนำหน้าเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก
การนำดิจิทัลมาใช้ให้ความสำคัญที่กระบวนการของงานที่ต้องประสานกับลูกค้า เช่น การบริการลูกค้า(34%) การตลาด(33%) และการขาย(32%) ซึ่งธุรกิจแต่ละขนาดในแต่ละประทศนำดิจิทัลไปใช้แต่ละด้านต่างกัน โดยธุรกิจขนาดเล็กในอินโดนีเซีย เน้นไปที่การให้บริการลูกค้า การตลาดและการขาย ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กในไทยเน้นไปที่การให้บริการลูกค้า ส่วนธุรกิจขนาดเล็กในมาเลเซียเน้นใช้ดิจิทัลในด้านการตลาดและการขาย
ธุรกิจที่นำดิจิทัลมาใช้ราว 7 ใน 10 บอกว่า การดำเนินการเพื่อก้าวสู่การใช้ดิจิทัลนั้นประสบความสำเร็จ ทั้งในอินโดนีเซีย(90%) ไทย(83%) และเวียดนาม(73%) ซึ่งเป็นธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งและ ภาคเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม เป็นหลัก
การปรับไปใช้ดิจิทัลส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น การมีส่วนร่วมของลูกค้าดีขึ้น และผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยในอินโดนีเซีย ธุรกิจค้าส่งตอบว่า ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กตอบว่าทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าอีกด้วย ส่วนในไทยธุรกิจขนาดเล็กตอบว่าช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าเดิม
แม้ธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเสี่ยงในการละเมิดข้อมูล การขาดพนักงานที่มีทักษะดิจิทัล และการมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ต้องจัดการ โดยการฝึกอบรมพนักงานและการหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่ผลสำรวจของปี 2023 พบว่า ธุรกิจมีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มจะดีขึ้นหลังที่ได้ปรับไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นทั้งภูมิภาคอาเซียน(86%) จีน(76%) ซึ่งในอาเซียนเด่นชัดใน 4 ประเทศคือ อินโดนีเซีย ไทยและ เวียดนาม ในภาคอุตสาหกรรม น้ำมันและวิศวกรรม และภาคบริการด้วย
ดังนั้น ธุรกิจจึงยังคงเดินหน้าปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น และส่วนใหญ่คาดว่าจะลงทุนพัฒนาดิจิทัลมากขึ้น 10-25% ในปี 2566
เล็งขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
ผลสำรวจพบว่าผู้บริหารจำนวนถึง 8 ใน 10 สนใจที่จะหาโอกาสขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อทำกำไรเพิ่ม สร้างรายได้และสร้างภาพลักษณ์ระดับนานาชาติ โดยประเทศที่ให้ความสนใจมากที่สุดได้ แก่ อินโดนีเซีย(93%) จีน(92%) ไทย(89%) และเวียดนาม(89%) ส่วนธุรกิจที่สนใจมากได้แก่ ธุรกิจค้าส่ง อุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ และมักเป็นธุรกิจขนาดใหญ่กับขนาดกลาง
ดังนั้นจึงให้ความสนใจที่จะใช้แพลตฟอร์มการค้าข้ามแดนดิจิทัล เป็นช่องทางในการขยายไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางในภาคเทคโนโลยี มีเดียและเทเลคอม กับกลุ่มอุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ
สำหรับตลาดหลักที่ให้ความสนใจจะขยายเข้าไปได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนแผ่นดินใหญ่ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ธุรกิจในอาเซียนเน้นการขยายตัวภายในภูมิภาค โดยสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซียเป็นตลาดสามอันดับแรกที่ได้รับความสนใจ ธุรกิจในสิงคโปร์และไทยก็สนใจที่จะขยายไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดสนใจของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคและการค้าส่ง ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับความสนใจจากธุรกิจการผลิตและวิศวกรรมและการค้าส่ง
ความท้าทายหลักที่ภาคธุรกิจเผชิญเวลาขยายธุรกิจไปต่างประเทศคือ ขาดพันธมิตรที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดบุคคลากรที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่จะขับเคลื่อนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ รวมทั้งขาดความรู้ทางกฎหมาย กฎระเบียบ และภาษี และส่วนหนึ่งมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะขยาย
นอกจากนี้ธุรกิจส่วนใหญ่มากถึง 9 ใน 10 ยังให้ความสำคัญกับการบริหารห่วงโซ่อุปทาน(suply chain management) และชี้ว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์มีผลกระทบอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและการจัดซื้อมีความท้าทายมากขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ธุรกิจได้กระจายแหล่งจัดซื้อสินค้ามากขึ้นและกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้เข้มแข็งกว่าเดิม
ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ความยั่งยืนมีความสำคัญต่อธุรกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ โดยให้เหตุผลว่าความยั่งยืนช่วยให้ธุรกิจมีภาพลักษณ์ดีขึ้น ดึงดูดนักลงทุน และช่วยในการทำงานร่วมกับบรรษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจน้อยกว่าครึ่งที่เริ่มนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ เพราะกังวลเกี่ยวกับว่าลูกค้าจะต้องจ่ายมากขึ้น และเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้หรือผลกำไร
แต่ธุรกิจก็ตระหนักและพร้อมที่จะให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและดูแลสวัสดิการของพนักงาน รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน