ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2566
เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามโตเร็วสุดในอาเซียน
เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะยังคงเติบโตเร็วที่สุดของภูมิภาคในช่วงปี 2566-2568 จากรายงาน e-Conomy SEA ฉบับที่ 8 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนโดย Google, Temasek และ Bain & Company
โดยจะเติบโตในอัตรา 20% ในอีกสองปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับฟิลิปปินส์ ตามมาด้วยไทย (17%) อินโดนีเซีย (15%) มาเลเซีย (14%) และสิงคโปร์ (13%)
แม้เศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม(Gross Merchandise Value:GMV) ของประเทศก็คาดว่าจะสูงถึงเกือบ 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปี 2568 ซึ่งสูงเป็นอันดับสามในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย (109 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไทย (49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ปัจจัยหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม ได้แก่ อีคอมเมิร์ซซึ่งจะเติบโต 22% สู่ระดับ 24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2568 การท่องเที่ยวออนไลน์ (เพิ่มขึ้น 21% เป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสื่อออนไลน์ (เพิ่มขึ้น 15% เป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
รายงานระบุว่า บริการทางการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services:DFS)ของเวียดนามยังเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค
การชำระเงินดิจิทัลในประเทศยังคงเติบโต โดยได้แรงหนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาล การลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ และความนิยมใช้ QR Code
แนวโน้มนี้คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามสนับสนุนการชำระเงินแบบไร้เงินสดในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล
มาร์ค วู กรรมการผู้จัดการของ Google เวียดนามและเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามกำลังมาถูกทาง และ Google จะยังคงให้การสนับสนุนอย่างครอบคลุมต่อไปแก่เวียดนาม ในการขยายสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพของเวียดนามและการลงทุนใน การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย
สมัชชาแห่งชาติเวียดนามมอบรัฐบาลดัน GDP ปี 2567 โต 6-6.5%
สมัชชาแห่งชาติเวียดนามได้ลงคะแนนเห็นชอบเกือบ 90.5% ที่จะมอบหมายให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้บรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6-6.5% ในปีหน้า แม้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติบางรายจะกังวลถึงความเป็นไปได้เนื่องจากมีความท้าทายทางเศรษฐกิจก็ตาม และแม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโตในอัตรา 5% เท่านั้นในระหว่างการอภิปรายเมื่อวันพฤหัสบดี(9พ.ย.) สมาชิกสมัชชาได้แสดงความกังวลว่า อาจจะไม่บรรลุเป้าหมาย และเสนอให้ผลักดันการเติบโตไว้ที่ 5-6% แทน
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของสมัชชาแห่งชาติ หวู่ ฮง แท็ง กล่าวว่า เป้าหมายที่สูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง
เป้าหมายที่สูงนั้นขึ้นอยู่กับสัญญาณเศรษฐกิจเชิงบวกในปัจจุบัน เช่น การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการลงทุน การบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออก และหวู่ ฮง แท็งกล่าวว่า มีความคืบหน้าในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีเป้าหมายไว้ที่ 4-4.5% และ GDP ต่อหัวที่ 4,700-4,730 เหรียญสหรัฐฯในปีหน้า
สัดส่วนการผลิตและการแปรรูปใน GDP ลดลง 1.3-1.6% จากปีนี้เป็น 24.1-24.2% ส่วนเป้าหมายการเติบโตของผลิตภาพแรงงานลดลง 0.2-0.7% เหลือ 4.8-5.3%
หวู่ ฮง แท็ง อธิบายว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในปีหน้าและคาดว่าจะขาดแคลนคำสั่งซื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากคนงานจะต้องเปลี่ยนไปทำงานในภาคส่วนใหม่เพื่อหางานทำ และจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว
นอกจากนี้สมัชชาแห่งชาติสั่งให้รัฐบาลดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และควรให้ภาคส่วนที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ตลอดจนตลาดหลักๆ เช่น ตลาดตราสารหนี้เอกชน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดแรงงาน ควรมีเสถียรภาพ
สมัชชาแห่งชาติต้องการให้จัดการกับธนาคารที่มีปัญหาทางการเงินพร้อมกับหนี้เสียที่มี และเรียกร้องให้เร่งการลงทุนของภาครัฐ
เวียดนามวางแผนเพิ่มผลิตภาพแรงงานติดท้อป 3 ของอาเซียน
เวียดนามต้องการติดอยู่ใน 3 อันดับแรกของประเทศภูมิภาคชั้นนำภายในปี 2573 หลังจากผลิตภาพแรงงานเติบโตช่วงหนึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้รองนายกรัฐมนตรี เจิ่น ฮอง ฮา ได้อนุมัติแผนระดับประเทศเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานจนถึงปี 2573 ที่ได้กำหนดอัตราเป้าหมายการเติบโตของผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยมากกว่า 6.5% ต่อปี
แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ผลิตภาพแรงงานในภาคการผลิตและการแปรรูปเติบโต 6.5-7% ในช่วงเวลาดังกล่าว และในภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง และภาคบริการ เติบโต 7-7.5%
อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในภูมิภาคเศรษฐกิจและเมืองสำคัญๆ เช่น ฮานอย ดานัง ไฮฟอง โฮจิมินห์ซิตี้ เกิ่นเทอ จะสูงกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยของเวียดนามในช่วงปี 2566-30
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมและท้องถิ่นจำนวนหนึ่งจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานนำร่อง และรูปแบบที่ประสบความสำเร็จจะถูกนำไปใช้ทั่วในระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ
เวียดนามจะจัดตั้งคณะกรรมการเพิ่มผลิตภาพแห่งชาติ ในขณะที่หน่วยงานและท้องถิ่นจะสื่อสารกับธุรกิจ นักลงทุน และคนงานเป็นประจำเกี่ยวกับอุปสรรคในการแก้ปัญหาที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานต่ำ
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการวิจัย การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านงทางดิจิทัล และการยกระดับงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโดยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาภูมิภาค การบูรณาการระดับภูมิภาค และศูนย์กลางการค้าการท่องเที่ยว และการเงินระดับนานาชาติในเมืองใหญ่
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผลิตภาพแรงงานเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค สี่อย่างมีประสิทธิภาพ
เวียดนามจะปรับปรุงคุณภาพของสถาบันในระบบเศรษฐกิจตลาดไปพร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ในช่วงปี 2554-2563 อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานของเวียดนามอยู่ที่ 5.1% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน
ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานของประเทศยังคงอยู่ที่ 4.7% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผลิตภาพแรงงานโดยรวมของเวียดนามยังต่ำกว่าสิงคโปร์และไทย
เงินกีบอ่อนค่ากระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว
เศรษฐกิจลาวเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้คุณภาพการเติบโตจะไม่สูงนักเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินกีบนายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนชี้แจง ต่อที่ประชุมสามัญครั้งที่ 6 ของสมัชชาแห่งชาติที่เวียงจันทน์ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรการควบคุมเงินเฟ้อ
“การอ่อนค่าของกีบส่งผลให้ GDP ต่อหัวลดลงจาก 2,595 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 เป็น 1,824 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566” นายคำเจนกล่าวและว่าในความเป็นจริงรัฐบาลวางแผนที่จะเพิ่มGDP ต่อหัวเป็น 2,880 เหรียญสหรัฐฯในปี 2568
ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่ารายได้ของประชาชนลดลงในแง่ตัวเลขจริง(real terms)ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น
รัฐมนตรีกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินกีบเป็นปัจจัยหลักหนึ่งที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อและราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมาตรฐานการครองชีพของประชาชน
การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5% ในปี 2564 และ 4.4% ในปี 2565 อัตราการเติบโตคาดว่าจะอยู่ที่ 4.2% ในปี 2566 และ 4.5% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 33.69% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะลดลงจาก 41.26% ในเดือนกุมภาพันธ์ เหลือ 25.69% ในเดือนกันยายน
รัฐบาลหวังว่าจะลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือ 9%ภายในสิ้นปีนี้ แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายเดียวกันสำหรับปี 2567
นอกจากนี้ นายคำเจนกล่าวว่า เงินกีบอ่อนค่าลง 18.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน จากระดับบันทึกไว้ ณ สิ้นปี 2565
รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อและเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศผ่านพ้นความท้าทายที่เผชิญอยู่
รัฐมนตรียอมรับว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน และป้องกันไม่ให้ประเทศถูกลากเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพการบริการของรัฐ สร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในประเทศเพื่อบรรเทาความยากจน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ” นายคำเจนกล่าว
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยมีการทำเหมืองหลายแห่งที่ผลิตแร่ธาตุเพื่อการส่งออก
แต่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการเติบโตนั้นไม่ยั่งยืน และประเทศจะได้รับผลกระทบเมื่อทรัพยากรธรรมชาติหมดลง และนักเศรษฐศาสตร์ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูงมากขึ้น เพื่อให้ฐานเศรษฐกิจมีความหลากหลาย โดยลาวจะต้องสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้(knowledge-based economy) แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อแรงงานได้รับทักษะใหม่ๆ
ลาวกำหนดเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ระยะ 5 ปี
นายโพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวในการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 6 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 9 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ว่า การประเมินทรัพยากรที่ถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการทรัพยากรแร่หายากอย่างมีประสิทธิภาพปัจจุบันรัฐบาลลาวออกใบอนุญาตสองประเภทให้กับบริษัทที่สนใจขุดแร่หายาก โดยมี 15 บริษัทถือใบอนุญาตแบบไม่เร่งรัดขั้นตอนการสำรวจ ในขณะที่ 13 บริษัทมีใบอนุญาตสำหรับการดำเนินการขุดนำร่อง
แต่มีบริษัทเพียง 3 ใน 13 แห่งที่มีใบอนุญาตสำหรับการทำเหมืองนำร่องเท่านั้นที่ได้รับใบอนุญาตให้ขาย 19,500 ตัน โดย 5,409 ตันมีสิทธิ์ส่งออกไปยังจีนได้ นายโพไซ เปิดเผย นอกจากนี้ มีเพียง 4 ใน 15 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตแบบไม่เร่งรัดเท่านั้นที่ประเมินทรัพยากรเบื้องต้นเสร็จสิ้นแล้ว
จากข้อมูลเบื้องต้น การสร้างโรงแยกสารผสมอย่างเดียวต้องใช้สินแร่มากกว่า 100,000 ตัน รัฐมนตรีเสนอแนะให้ระงับการอนุญาตเพิ่มเติม เพื่อมุ่งเน้นไปที่การศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการจัดการโครงการ รวมถึงความล่าช้าในการดำเนินการตามสัญญาเงินกู้ การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมพนักงาน และการพัฒนาแผนงาน
เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ได้ร่างแผนงานที่ครอบคลุม โดยกำหนดเป้าหมาย 6 ประการสำหรับแผนพัฒนาพลังงานและเหมืองแร่ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของชุมชน เป้าหมายเหล่านี้รวมถึงการสร้างข้อมูลทางธรณีวิทยาขั้นพื้นฐาน การกำหนดนโยบายแร่ การพัฒนากลไกการบริหาร การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของรัฐวิสาหกิจการพัฒนาแร่ลาว(Lao Mineral Development State Enterprise) และการบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียวเข้าไปในแผน
นายโพไซยังชี้ให้เห็นว่า กฎหมายแร่ที่มีอยู่ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการแร่ธาตุหายาก แต่กระทรวงฯกำลังพิจารณาที่จะรวมกฎหมายดังกล่าวเข้ากับกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2567
อินโดนีเซียเปิดโรงไฟฟ้าลอยน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ ที่มีชื่อว่า Cirata ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 192 เมกะวัตต์(megawatt-peak:MWp) ในเมืองปูร์วาการ์ตา จังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับ 3 ของโลก
“เราประสบความสำเร็จในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับ 3 ของโลก” ประธานาธิบดีกล่าวในสุนทรพจน์ในพิธีเปิดโครงการ
การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (SOEs) กระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ (ESDM) บริษัทไฟฟ้าของรัฐ PT PLN และบริษัทมาสดาร์ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
ประธานาธิบดีชี้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำนี้เป็นหนึ่งในความฝันของอินโดนีเซียในการสร้างโรงงานพลังงานทดแทนใหม่และขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ Cirata นี้จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่ที่ผลิตได้ถึงหนึ่งพันเมกะวัตต์ (MW)
“Cirata มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่แล้วซึ่งมีกำลังการผลิต 1,000 MWp รวมกับ 192 MWp จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ Cirata ในอนาคต เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มอีก 1,000 MWp” ประธานาธิบดีกล่าวและคาดว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำและโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว
ประธานาธิบดีเชื่อว่า อินโดนีเซียจะได้ใช้ศักยภาพของพลังงานใหม่และพลังงานทดแทนจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
“เรายังมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมด้วย เพื่อบรรเทาความท้าทายด้านสภาพอากาศ เราสร้างกริดอัจฉริยะเพื่อตรึงพลังงานไฟฟ้า (อุปทาน) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ”
นอกจากนี้ประธานาธิบดีวิโดโดยังเน้นย้ำว่า ความท้าทายในการค้นหาพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางของความต้องการไฟฟ้า สามารถผ่านพ้นได้ด้วย สายส่งที่เชื่อมต่อแหล่งพลังงานแต่ละแหล่งเข้ากับศูนย์กลางเศรษฐกิจ
“ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในสุมาตรา กาลิมันตัน และสุลาเวสีสามารถส่งผ่านไปยังศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้”
เมียนมา-จีน ลงนามข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
แถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตจีนในเมียนมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่กรุงเนปิดอว์ ได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างเมียนมาและจีนในการซื้อไฟฟ้า จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการคำแถลงระบุว่า กำลังการผลิตรวมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการของ Kyeon Kyeewa, Kinda และ Sedoktaya ในเขต มะเกว และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง PowerChina Resources Ltd และกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของเมียนมา อยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นหลักในประกันการพัฒนาของภูมิภาค
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมา ยกย่องความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และหารือที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านไฟฟ้าจีน-เมียนมาต่อไป การให้บริการเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ และดึงดูดความสนใจของประชาชนเมียนมามากขึ้น
โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลข้อตกลงของการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BELT AND ROAD FORUM FOR INTERNATIONAL COOPERATION: BRF) ครั้งที่ 3 การพัฒนาการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างจีน-เมียนมา ความช่วยเหลือในการแก้ไขความต้องการไฟฟ้า ของเมียนมา และการรับประกันการก่อสร้าง ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
บริษัทจีนยังคงลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวเพิ่ม
บริษัท China International Water & Electric Corp (CWE) จะยังคงลงทุนเพิ่มในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและภาคส่วนอื่นๆ ในลาว แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน“เราอยู่ในลาวมานานกว่าสองทศวรรษ โดยลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 5 โครงการ และโครงการสายส่งและสายแปลงกระแสไฟ 4 โครงการที่มีมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต” ผู้จัดการทั่วไปของ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำกง 1 นายเฉิน อวี้ฉวน กล่าวกับนักข่าวของเวียงจันทน์ไทมส์ในระหว่างการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวที่ประเทศจีนเมื่อเร็วๆ นี้
บริษัทเผชิญกับความท้าทายมากมายและไม่สามารถทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำจากผู้ซื้อพลังงานรายสำคัญได้ เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงวิกฤติโควิด-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมา
บริษัท China International Water & Electric Corp เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5 แห่งในลาว ซึ่ง 3 แห่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1-2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำกอง 1 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 2
โครงการเหล่านี้ได้สร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับพนักงานท้องถิ่น 300 ถึง 400 คนในจังหวัดเชียงขวง เวียงจันทน์ และอัตตะปือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โครงการและดำเนินการอยู่
ขณะเดียวกันความครอบคลุมของระบบส่งและสายแปลงในจังหวัดอื่นๆก็สร้างโอกาสในการทำงานเช่นกัน บริษัทได้สร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาอาชีพและการศึกษาสายอาชีพที่หลากหลายและครอบคลุมสำหรับพนักงานในท้องถิ่นเกือบ 200 คน
“บริษัทของเราจะยังคงลงทุนมากขึ้นในโครงการที่หลากหลายในลาว เนื่องจากมีทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน”นายเฉินกล่าว
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้นผ่านการก่อสร้างและปรับปรุงถนนและสะพาน โรงเรียน สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ในจังหวัดต่างๆ
นายเฉินกล่าวว่า การลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทนั้นสอดคล้องกับการมุ่งเน้นของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง( Belt and Road Initiative) ในด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการแสวงหาหนทางสำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
China International Water & Electric Corp เป็นบริษัทในเครือของ China Communications Construction Company Ltd. (CCCC) ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมและการก่อสร้างข้ามชาติที่รัฐเป็นเจ้าของ จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินงานของสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก
บริษัทเป็นผู้รับเหมาสำหรับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในจีนและต่างประเทศ โดยมีส่วนร่วมในโครงการออกแบบและก่อสร้างระดับโลก รวมถึงทางหลวง สะพาน อุโมงค์ ทางรถไฟ (โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง) รถไฟใต้ดิน สนามบิน แท่นขุดเจาะน้ำมัน และท่าเรือทางทะเล
หนึ่งในโครงการ BRI ที่สำคัญที่สร้างโดย CCCC คือรถไฟจีน-ลาว ปัจจุบันการรถไฟยังคงมีบทบาทเชิงบวกในการทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญยังทำให้การหมุนเวียนภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่มีอุปสรรค และแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งในการขนส่งสินค้าทั้งผู้โดยสารและสินค้า ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว