ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ นอนทำเนียบ จากผู้มีบุญเจ้าพระยารามราฆพ ถึงยุคผู้มีอำนาจจอมพล ป. และเศรษฐา ทวีสิน

นายกฯ นอนทำเนียบ จากผู้มีบุญเจ้าพระยารามราฆพ ถึงยุคผู้มีอำนาจจอมพล ป. และเศรษฐา ทวีสิน

9 เมษายน 2024


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และรมว.คลัง นั่งหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

บ้านนรสิงห์-บ้านชนิดวัง เผยบุคคลที่เคยใช้ชีวิต-นอนพักในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ราชเลขา-มหาอำมาตย์คู่พระทัย รัชกาลที่ 6 เจ้าของบ้านนรสิงห์ ถึง จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเกือบ 16 ปี และนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยได้ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า และสนธิ-พันธมิตรประชาชนฯ พักค้าง 4 เดือน สู่ยุคนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เศรษฐา ทวีสิน

ที่มาแห่งบ้านชนิดวัง

รัชกาลที่ 6 มีพระราชหัตถเลขา ไว้เป็นหลักฐานยืนยันการพระราชทานที่ดินสำหรับสร้าง “บ้านนรสิงห์” ให้กับ เจ้าพระยารามราฆพ มีใจความตอนหนึ่งว่า…

“ที่ดินซึ่งได้ทำเปนสวนเพาะปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ อันอยู่หลังโรงทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตำบลสวนดุสิตแปลงหนึ่งนี้เปนที่ของพระคลังข้างที่ มีจำนวนกว้างยาวคือ ทิศเหนือยาวไปตามถนนคอเสื้อ 4 เส้น 15 วา 2 ศอกคืบ ทิศใต้ยาวไปตามถนนลูกหลวง 4 เส้น 11 วา ทิศตวันออกยาวไปตามถนนฮก 6 เส้น 7 วา 2 ศอกคืบ ทิศตวันตกจดคลองแลยาวไปตามคลอง 6 เส้น 3 วาศอก…”

“ข้าพเจ้าเห็นว่าพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เปนผู้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดกราดกรำมาด้วยความจงรักภักดีอันมั่นคงต่อข้าพเจ้ามาช้านาน บัดนี้สมควรจะให้ที่บ้านอยู่เพื่อความศุขสำราญจะได้เปนกำลังที่จะรับราชการสืบไป จึงทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ยกที่ดินอันกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) สืบไป…”

ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

สมุหราชองครักษ์-เจ้าพระยา 23 ตำแหน่ง

แม้ตำแหน่งของเจ้าพระยารามราฆพ หรือ พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) จะเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงลายพระราชหัตถ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า “เป็นศุภมิตร” และดำรงตำแหน่งยิ่งกว่าราชเลขาทั้งปวง โดยดำรงตำแหน่งแทนพระเนตร-พระกรรณ ถึง 23 ตำแหน่ง

พระราชนิพนธ์ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงระบุถึงเจ้าพระยารามราฆพ ไว้ในหนังสือ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)” ตอนหนึ่ง ว่า “ตำแหน่งหน้าที่และบรรดาศักดิ์ ได้เป็นถึง 23 ตำแหน่ง แต่ใน 11 ตำแหน่ง ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอันใด นอกจากไปนั่งประชุมเพื่อฟัง มาเรียนพระราชปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราว เป็นนายทหารพิเศษถึงนายพล เพื่อแต่งยูนิฟอร์มตามหน้าที่ สมุหราชองครักษ์”

ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ราชเลขานุการพิเศษ, ราชองครักษ์พิเศษ, ผู้กำกับราชการกรมเรือยนตร์หลวง, เป็นอุปนายกเสือป่า, อุปนายกผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ, กรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน (ชื่อเดิม แบงก์ลีฟอเธีย) นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการที่ปรึกษา 7 แห่ง อาทิ

กรรมการที่ปรึกษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ที่ปรึกษาสภากาชาดแห่งสยาม, ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม, สภานายกและกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม, เป็นสภานายกราชตฤณมัยแห่งสยาม, ราชเลขานุการส่วนพระองค์

“มีแต่ตำแหน่งประจำคือ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้ช่วยราชการกระทรวงวัง สองหน้าที่นี้ที่เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ในฐานะอย่างคนสามัญเรียกว่าพ่อบ้านแม่เรือน ฉะนั้นสิ่งไรเกี่ยวแก่ราชสำนักนัก เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดและชอบด้วยเป็นธรรมดาอยู่เอง”
พูดกันในสังคมชั้นสูงยุคนั้นว่า เจ้าพระยารามราฆพ “เป็นผู้มีบุญมีอำนาจในรัชกาลนี้อย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ใช้ชีวิตในบ้านชนิดวัง” จนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ได้ซื้อบ้านจากเจ้าพระยารามราฆพ ในปี 2484 และ ศ.ศิลป์ พีระศรี ออกแบบต่อเติมอาคารระหว่างปี 2484-2489 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และทำเนียบรัฐบาล

จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ถ่ายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโบราณนานมา

ฉากชีวิต จอมพล ป. บนตึกไทยคู่ฟ้า

จอมพล ป. มีฉากการใช้ชีวิตปฏิบัติงานในตึกไทยคู่ฟ้า ภาพคลาสสิก ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปคือ จอมพล ป. และภริยายืนคู่กัน ถ่ายจากโถงตึกชั้น 2

จีรวัสส์ ปันยารชุน ลูกสาว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขียนฉากสุดท้าย แห่งอำนาจที่ได้มาจากพรรคทหาร หลังการเลือกตั้ง ที่เรียกกันว่าการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด เมื่อปี 2500 ไว้ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ตอนหนึ่งว่า…

จอมพล ป. นั่งอยู่เพียงลำพังด้านหลังทำเนียบรัฐบาล เป็นภาพที่แสดงออกถึงความเศร้าใจของท่าน ที่แม้กระทั่งลูกสาวแท้ ๆ ก็ยังไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น

“พอพวกประท้วงกลับออกไปจากทำเนียบแล้ว คุณพ่อท่านนั่งอยู่หลังตึกไทยคู่ฟ้า นั่งสูบบุหรี่อยู่เงียบ ๆ คนเดียว ป้าจำภาพนั้นได้แม่นเลย คุณพ่อคงจะ hurt เหมือนกัน เพราะทั้งชีวิตแทบไม่เคยมีใครมาผรุสวาทแบบนั้นกับท่าน ไม่ใช่เสียใจเพราะว่าแพ้ หรือชนะ แต่เสียใจเพราะคน เพราะเด็ก ๆ พวกนี้มาตะโกนด่าว่าคุณพ่อเป็นคนโกง”

“ตกเย็นวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจลงมือก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลของ จอมพล ป. กำลังทหารบกและรถถังจำนวนมากเร่งเคลื่อนขบวนออกยึดเมืองหลวงแบบสายฟ้าแลบ”

“ด้านจอมพล ป. ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวของคณะรัฐประหาร ทันทีที่ทราบข่าวการยึดอำนาจ นายกรัฐมนตรีวัย 60 ในเครื่องแบบทหารบกสีขาวได้รีบเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลด้วยรถซีตรองพร้อมกับร้อยตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจประจำตัว ฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการนายกรัฐมนตรี และ พันโท บุลศักดิ์ วรรณมาศ นายทหารคนสนิท”

“จุดหมายแรกของ จอมพล ป. คือบ้านชิดลม เพื่อมาเอาเงินสดราว 20,000 บาท ติดตัวไปด้วย หลังจากนั้น จึงค่อยแวะหา ดร.รักษ (พันตรี รักษ ปันยารชุน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นบุตรเขยของจอมพล ป.) แถวสี่แยกอโศก แล้วมุ่งหน้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ”

“จอมพล ป. เดินทางฝ่าสายฝนตลอดทั้งคืน พอเช้าวันที่ 17 กันยายน 2500 ก็ถึงแหลมงอบ อำเภอไพลิน จังหวัดตราด ก่อนใช้เงิน 2,000 บาท เช่าเรือประมงขนาดเล็กเพื่อโดยสารข้ามฝั่งไปเกาะกง ประเทศกัมพูชา”

ลูกสาวจอมพล ป. บันทึกไว้ว่า “ณ ท่าเรือไม้ริมอ่าวไทยที่แหลมงอบ จอมพล ป. เดินย่ำผืนแผ่นดินบ้านเกิดเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนต้องอำลาไปแบบไม่มีวันได้กลับมาอีกตราบจนสิ้นลมหายใจ”

โคมไฟเหนือเพดานชั้นสอง ตึกไทยคู่ฟ้า

สนธิ พักค้าง 4 เดือน-สมชาย นายกฯไม่ได้อยู่ทำเนียบ

กลางฤดูฝนเมื่อ 16 ปีก่อน นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำขบวนเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ประจำการในตึกไทยคู่ฟ้า และทีมงานนักรบศรีวิชัย กางเต็นท์นอนในทำเนียบ กว่า 4 เดือน (26 สิงหาคม 2551-3 ธันวาคม 2551) ส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เป็นคนแรกและคนเดียวใสประวัติศาสตร์ ที่ไม่เคยได้เข้าทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่ง 75 วัน

สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศว่า “ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน และเป็นมานานแล้ว ซึ่งเราจะไม่ออกจากทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้รับชัยชนะ เราจะทำให้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล และทำความชั่วร้าย ไม่สามารถจะอยู่ได้ พวกเราจะปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาล และขอให้ทุกคนเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกันให้มาก ๆ ใครจะมาปราบพวกเราก็ให้มันรู้ไป”

บันไดทางขึ้นไปสู่ห้องทำงาน และห้องนอน ของนายกรัฐมนตรี ในปัจจุบัน
โถงทางเดินเชื่อมระหว่างห้องต่าง ๆ ในตึกไทยคู่ฟ้า

เศรษฐา นายกฯคนที่ 30 นอนพัก แต่ยังไม่ได้ค้างคืน

หลังรับตำแหนงนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า มีแผนที่จะนอนพักค้างคืน ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล และได้มีการรีโนเวตห้องในชั้นสองเป็นห้องนอน ปรับปรุงห้องน้ำ-เปลี่ยนกระจกหน้าต่าง พร้อมขนเครื่องนอนเต็มรูปแบบเข้าสู่ตึกไทยคู่ฟ้า

ฤกษ์เข้าพักค้างคืนในตึกไทยคู่ฟ้า ถูกกำหนดทั้งวันที่ 2 มกราคม 2567 และ 7 มกราคม 2567 หรือวันที่ 9 มกราคม 2567 รวมทั้งวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2567 และวันที่ 24 มกราคม 2567

ระหว่างนั้นมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยทำการอัญเชิญรูปปั้น “องค์นรสิงห์จำลอง” ที่ตั้งสักการะบูชา อยู่ที่บริเวณระเบียงด้านหน้าชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ไปตั้งบูชาไว้ที่ชั้น 1 ตึกแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ระหว่างทางเชื่อมจากตึกไทยคู่ฟ้าไปยังตึกนารีสโมสร

เศรษฐา บอกกำหนดการเข้าพักค้างคืนในตึกไทยคู่ฟ้าว่า “ก็ 3-4 วันต่ออาทิตย์ ถ้ามีภารกิจตอนค่ำกินข้าวอะไรกับใครก็กลับมา ก็มาสั่งงานก่อนนอนได้อีกหน ที่บอกว่าเทหมดหน้าตักจริง ๆ ก็ต้องทำงานกันหนักจริง ๆ เข้าใจว่าปกติแต่ละคนมีขีดที่จะรับงานแตกต่างกันไป รับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็เวียนกันมาทำงาน บางคนบ้านอยู่ฝั่งธนฯ บางคนบ้านอยู่สุขุมวิท ก็อาจจะใช้เวลาต่างกันไป ก็เวียนกันมา ไม่มีปัญหา บอกได้ว่าไหว ไม่ไหว”

ช่วงวันที่ 4 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ กับสุทธิชัย หยุ่น รายการคุยนอกกรอบ พร้อมนำชมห้องนอนบนตึกไทยคู่ฟ้าตอนหนึ่งว่า “วันนี้ได้นอนพักงีบไปแล้วครั้งหนึ่ง…”

กระทั่งถึงฤกษ์วันที่ 24 มกราคม 2567 ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง เนื่องจาก “นายกรัฐมนตรี มีอาการป่วย ไข้หวัด อ่อนเพลีย และไอ” แต่ยังได้รับการยืนยันว่า “หายดีแล้วจะกลับมานอนค้างคืนอย่างแน่นอน”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า “วันแรกที่จะนอนทำเนียบรัฐบาลคือวันที่ 24 มกราคม 2567 นี้ ทั้งนี้ เหตุผลที่เลือกวันดังกล่าวนั้น เพราะเป็นวันที่มีฤกษ์ดี และเป็นวันที่ไม่ได้เดินทาง เคยบอกไปแล้วระหว่างวันที่ 14-19 มกราคม 2567 มีภารกิจเดินทางไปร่วมประชุม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์”

รัฐบาลเศรษฐา ผ่านไป 6 เดือนกว่า ยังไม่มีกำหนดการของนายกรัฐมนตรี ในการเข้าพักค้างคืนในทำเนียบรัฐบาล