ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯนัดประชุมบอร์ดดิจิทัลฯใน 2 สัปดาห์ – มติ ครม.ให้ สทบ.กู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้าน นำร่อง “โคแสนล้าน”

นายกฯนัดประชุมบอร์ดดิจิทัลฯใน 2 สัปดาห์ – มติ ครม.ให้ สทบ.กู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้าน นำร่อง “โคแสนล้าน”

19 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ครม. นอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายก ฯพร้อมตอบปม ‘ทักษิณ’ หากสภาฯจี้ถาม
  • นัดบอร์ดดิจิทัล วอลเล็ตประชุมใน 2 สัปดาห์
  • เคาะ 13 โครงการ พัฒนาภาคเหนือตอนบน 300 ล้าน
  • มอบ คค.ศึกษาแผนก่อสร้าง ‘สนามบินพะเยา’
  • จี้พลังงานออกกฎหนุนเอกชนซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวโดยตรง
  • มติ ครม.ให้ สทบ. กู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้าน นำร่อง “โคแสนล้าน”
  • เพิ่มงบฯสร้างทางหลวง ‘บางปะอิน – โคราช’ อีก 1,741 ล้าน
  • ผ่านร่าง กม.ขออนุญาตทำประมงพาณิชย์
  • ตั้ง ‘ประสพ เรียงเงิน’ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
  • เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ ศิลปะวัฒนธรรม (ตึกแฝด) มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เคาะ 13 โครงการ พัฒนาภาคเหนือตอนบน 300 ล้าน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบการปฏิบัติราชการของ ครม.ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ รวม 13 โครงการ โดยเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด จำนวน 9 โครงการ กรอบวงเงิน 155 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการที่เสนอจากภาคเอกชนจำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 145 ล้านบาท

    มอบ คค.ศึกษาแผนก่อสร้าง ‘สนามบินพะเยา’

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้มีข้อหารือในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเร่งให้จัดตั้งสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด ภายในไตรมาส 4/2567 เพื่อประกาศให้จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินพะเยา

    ขยายถนน ‘บ้านฮวก’ หนุนการค้าไทย-ลาว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กรมทางหลวงเร่งประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำเรื่องขอผ่อนผันมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการขยายเส้นทางจราจร บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จังหวัดพะเยา และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุมคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ไทย-ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการสั่งซื้อวัว เป็นแสนๆ ตัว

    บูรณาการ ‘เกษตร-พาณิชย์-อุตฯ’ แก้ลำไยล้นตลาด

    นายเศรษฐา กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยว่า ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ บูรณาการผลิตลำไยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ปริมาณการผลิตสมดุลกับความต้องการของตลาด และมีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลาย ทำให้ราคาลำไยมีเสถียรภาพ และไม่ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด

    เร่งศึกษาความร่วมมือการค้าไทย-แอฟริกา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทย และกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งมี operation สูง เช่น ไนจีเรีย ซัมบับเว ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีแหล่งทรัพยากรมาก

    เยี่ยมชมอุทยาน ‘TK Park’ พะเยา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า จากการที่ไปตรวจเยี่ยมอุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK Park) จ.พะเยา ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างอาชีพให้เยาวชนได้ มีการนำองค์ความรู้มาบ่มเพาะกัน จึงขอสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์กรความรู้ ของกระทรวงมหาดไทย เร่งแก้กฎเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนต่อไป

    ไม่ประกาศเชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ – ห่วง ปชช. – นักท่องเที่ยว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่อง PM2.5 และการเตรียมความพร้อมกับเทศกาลสงกรานต์ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “รัฐบาลทำอยู่เต็มที่อยู่แล้ว…ก็มี พ.ร.บ. ภัยพิบัติ แต่ที่ไม่ประกาศ เพราะเป็นห่วงนักท่องเที่ยว…จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ด้วย การทำมาค้าขายกันมันก็กระทบทั้งหมด และมันมี Criteria ว่าถึงจุดไหนจะประกาศได้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้มันก็ช่วยบรรเทาได้เยอะพอสมควร”

    “แน่นอนไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้บอกว่า อากาศที่เชียงใหม่ดีแล้ว เราก็ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง” นายเศรษฐา กล่าว

    นัดบอร์ดดิจิทัล วอลเล็ตประชุมใน 2 สัปดาห์

    เมื่อถามถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท นายเศรษฐา ตอบว่า ตนได้ถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ทราบว่าคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องได้มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งจะมีการประมวลข้อมูล และส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาข้อเสนอแนะทั้งหมด และจะมีการนัดประชุมใหญ่ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

    ถามต่อว่า ดิจิทัลวอลเลตเป็นนโยบายหลักของพรรคพรรคเพื่อไทย จะต้องมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลนอกรอบหารือในเรื่องนี้อีกหรือไม่ โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “แน่นอน ก่อนที่จะหารือ ก็ต้องนำผลการประชุมจากคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะต้องสรุปอยู่ ไม่อยากให้มีความสับสนในแง่ของข้อมูล”

    ถามอีกว่า ประชาชนยังมีความหวังอยู่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “มีความหวังครับ ใช่ครับ”

    สั่ง รมต.เตรียมพร้อม รับศึกอภิปราย

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่างประจำปีงบประมาณ 2567 โดยนายเศรษฐา ตอบว่า ภายหลังการประชุม ครม. สัญจร ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมว่า ทุกคนต้องเตรียมพร้อมเข้าไปนั่งร่วมประชุม ซึ่งมี 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการพิจารณางบประมาณวาระ 2 และวาระ 3 และเรื่องที่ สว. จะเปิดอภิปรายด้วย รวมถึงเรื่องของ สส. ที่จะอภิปรายแบบไม่ลงมติด้วย ขอให้ทุกคนได้สแตนด์บายให้พร้อม

    พร้อมตอบปม ‘ทักษิณ’ หากสภาฯจี้ถาม

    ถามต่อว่า จะมีการนำเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาอภิปรายด้วย นายเศรษฐา ตอบว่า “ถ้าถามมา ก็ต้องตอบกลับ แต่ผมไม่ทราบว่าจะถามว่าอะไร แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ยึดมั่นตามหลักกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่าอาจมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจมีสองมาตรฐาน ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมว่าเราอย่าไปสันนิษฐานดีกว่า ว่าไปตั้งคำถามว่าอย่างไร เมื่อตั้งคำถามมาในสภา หน้าที่ฝ่ายบริหารก็ต้องตอบ”

    จี้พลังงานออกกฎหนุนเอกชนซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวโดยตรง

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องมาตรการ Direct PPA ซึ่งสืบเนื่องจาก รมว.พาณิชย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากลุ่มนักธุรกิจสหรัฐอเมริกามาเยี่ยมนายกฯ และให้ความสนใจเรื่องพลังงานสะอาด แต่อยากขอความชัดเจนว่า ถ้าเอกชนจะสนใจซื้อพลังงานสะอาดโดยตรงจากผู้ผลิตจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในกฎระเบียบ

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงพลังงาน เร่งรัดทำมาตรการเพื่ออนุญาตและส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน และให้นำมาตรการนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติโดยเร็ว

    “ต่อไปนี้ ในอนาคตเมื่อมีมาตรการแล้ว เอกชนที่มาลงทุน และต้องการพลังงานสะอาด จะสามารถซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตภาคเอกชนได้” นายชัย กล่าว

    เบรก พณ.ออกประกาศห้ามนำเข้าข้าวโพดประเทศเพื่อนบ้าน

    นายชัย กล่าวถึงปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในภาคเหนือ 17 จังหวัด เนื่องจากเป็นปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนและให้ความสนใจมาก ขณะเดียวกันภาครัฐมีนโยบายการบรรเทาและขจัดปัญหา และรัฐบาลทราบดีว่านอกจากเกิดจากไฟป่าและการเผาแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ การเผาพืชผลการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะข้าวโพด

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ต้องการกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 โดยมีข้อสั่งการว่า ให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 เพื่อกำหนดให้ข้าวโพดจากต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผา เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรเด็ดขาด

    อย่างไรก็ตาม นายชัย เสริมว่า ที่ประชุมแสดงความเห็นถึงการออกประกาศดังกล่าวว่า การออกประกาศนี้อาจจะไปขัดกับข้อตกลงการค้าโลก (WTO) ที่มีข้อบัญญัติว่า ข้อห้ามใด ๆ ก็ตามที่ห้ามกับประเทศคู่ค้า ต้องปฏิบัติแบบเดียวกันในประเทศ และอาจเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นว่า ประกาศดังกล่าวจะใช้ได้เมื่อ พ.ร.บ. อากาศสะอาด บังคับใช้ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันผ่านวาระ 1 ของสภาแล้ว ดังนั้น ประกาศห้ามนำเข้าข้าวโพด จึงต้องชะลอลงจนกว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะบังคับใช้

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายคารม พลพรกลาง รองโฆษก , นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม.นอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ ศิลปะวัฒนธรรม (ตึกแฝด) มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ สทบ. 5,000 ล้าน นำร่อง “โคแสนล้าน”

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) รับไปตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียด และงบประมาณอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญของเรื่อง

    สทบ. รายงานว่า

    1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน และชุมชนสำหรับสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพ ด้านการผลิต การแปรรูปและการบริการของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของหมู่บ้านและชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ในหมู่บ้านและชุมชนโดยมุ่งเน้นทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านและชุมชน สร้างโอกาสให้ประชาชน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยการมอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง

    2. สทบ. ได้มีการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) อย่างต่อเนื่องโดยมีการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

      2.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1 (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) เป็นผลมาจาก กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 1,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ตัว วงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท สนับสนุนงบประมาณเพื่อการกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท งบบริหารโครงการวงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณ 55 ล้านบาท โดยเจียดจ่ายจากงบบริหารโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

      2.2 โครงการโคล้านครอบครัว [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบในหลักการโครงการ] โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว โดยดำเนินการภายใต้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินงบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ตามต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริง อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี (ในช่วงระหว่างปี 2567 – 2570) และอนุมัติให้ สทบ. ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงินให้ ธ.ก.ส. และงบบริหารโครงการ

      2.3 โครงการโคเงินล้าน (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการ “โคเงินล้าน” นำร่อง ระยะที่ 1 กำหนดเป้าหมายดำเนินการในการส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 400 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ วงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากรายได้สะสมของ สทบ. วงเงินงบประมาณ 25 ล้านบาท

    3. สทบ. แจ้งว่า จากการดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของ สทบ. ที่ผ่านมา พบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้

      3.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1

        3.1.1 ประสบปัญหาโคตายจากโรคระบาด3
        3.1.2 สมาชิกไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่กำหนดรวมกรณีเกษตรกรเสียชีวิต ซึ่งอาจแก้ไขโดยให้ทายาท/สมาชิกรายอื่นที่สนใจมารับช่วงต่อ

      3.2 โครงการโคล้านครอบครัว

        3.2.1 ระยะเวลาดำเนินโครงการโคล้านครอบครัวมีจำกัดทำให้บางกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ทัน
        3.2.2 การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารล่าช้า

    4. โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง (ข้อเสนอของ กทบ.ในเรื่องนี้) ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ๆ ละ 50,000 บาท โดยจะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ และรัฐจัดหาตลาดเพื่อรองรับ ต่อยอดและขยายผลในการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ในด้านการผลิต การแปรรูปและการจัดจำหน่าย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 240,000 บาท ต่อครัวเรือน จากต้นทุน 50,000 บาทหรือ 4.8 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี (โค 2 ตัว เฉลี่ยราคาโคตัวละ 25,000 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อตัว) รวมทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ให้มีการลงทุนไปทั่วโลก โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการ ดังนี้

      4.1 กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่น ๆ แล้วชำระหนี้ได้

      4.2 วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง

      4.3 งบประมาณโครงการ จากวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท

      4.4 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลากู้ สินเชื่อระยะยาวระยะเวลาการชำระคืนเงินในปีที่ 3 นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา4

      4.5 จำนวนเป้าหมายและวงเงินสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนหมู่บ้านฯ กำหนดเป้าหมายโครงการให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท ดำเนินการโดยให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินในฐานะนิติบุคคลที่กำหนดตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

      4.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เกิดการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พัฒนาด้านการตลาดในประเทศและการส่งออกไปตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก สร้างความเข้มแข็งและการยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม ลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว ดังนี้
      ลำดับที่ รายละเอียด รายได้จากการขายโค (บาท)

        1. แม่โคปลด 18,000
        2. โค 1 ปี 20,000
        3. โค 2.5 ปี 25,000
        4. โค เพิ่งคลอด 7,000
        5. โค 4 ปี 20,000
        6. โค เพิ่งคลอด 7,000
        7. โค 2 ปี ตั้งท้อง 3 เดือน 23,000
        รวม 120,000

    5. กทบ. [รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน] ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยขอรับชดเชยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กรอบวงเงิน 400 ล้านบาท ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมอบหมายให้ สทบ. ประสานกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อขอความเห็นการดำเนินโครงการในลักษณะกึ่งการคลังที่รัฐจะต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้ธนาคารของรัฐเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการ เพื่อทำให้การดำเนินโครงการสามารถขับเคลื่อนได้บรรลุวัตถุประสงค์ ขอให้ประธาน กทบ. มีอำนาจปรับเปลี่ยนตามความเห็น กค. และสำนักงบประมาณ

    เพิ่มงบฯสร้างทางหลวง ‘บางปะอิน – โคราช’ อีก 1,741 ล้าน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ตามปริมาณงานและวงเงินค่างานจริง ซึ่งไม่เกินกรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน 10 ตอน ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ ทล. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยการดำเนินการจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำหรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รองรับไว้ ให้ ทล. ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับภาระงบประมาณส่วนที่คงขาดอยู่ให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รองรับตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    นายคารม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา (โครงการฯ) แบ่งเป็นจำนวน 40 ตอน ปัจจุบันมีงานก่อสร้าง 16 ตอนที่พบปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรมเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้างและได้ข้อยุติว่าการปรับรูปแบบของโครงการฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว โดยการปรับรูปแบบของโครงการฯ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นจากค่างานตามสัญญาจากเดิม 59.410.2475 ล้านบาท เป็น 66,165.9010 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจำนวน 6,755.6535 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณเฉพาะในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.7107 ล้านบาท (คงเหลือที่ต้องขอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 1,784.9429 ล้านบาท) พร้อมทั้งให้ ทล. ตรวจสอบงานก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ทล. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานโครงการฯ ในส่วนของงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการก่อสร้างก่อนลงนามในสัญญาแก้ไขดังกล่าว (ซึ่งยังไม่มีการจ่ายค่างานในส่วนที่ดำเนินการไปก่อน) จำนวน 14 ตอน พบว่า มีงานก่อสร้างบางตอนที่วงเงินลดลง (จากเดิมวงเงินรวม 1,784.9429 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 1,740.9882 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอในครั้งนี้) ทั้งนี้ การเพิ่มค่างานของทั้ง 16 ตอน จะทำให้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม 59,410.2475 ล้านบาท เป็น 66,121.9464 ล้านบาท แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 (69,970 ล้านบาท)

    นายคารม กล่าวต่อว่า ที่ระชุม ครม.พิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 20 ตอนที่ 21 ตอนที่ 23 ตอนที่ 24 ตอนที่ 32 และตอนที่ 39 วงเงิน 1,740.9882 ล้านบาท และพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (ก่อหนี้ผูกพันฯ) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ดังนี้

      1) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 3 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 และตอนที่ 32

      2) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2566 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 5 ตอนที่ 20 และตอนที่ 24 และ

      3) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 และตอนที่ 39

    เพิ่ม จนท.ให้ รพ.มหาวิทยาลัยพะเยา 4 ปี 731 อัตรา วงเงิน 208 ล้าน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (แผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังและบุคลากร และภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยพะเยาจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลัก อย่างประหยัด และคุ้มค่า และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ระดับ M1 ขนาด 200 เตียง ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S (2) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของเขตสุขภาพที่ 1 ในเขตพื้นที่ล้านนาตะวันออก (จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) เป็นหน่วยให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง รวมทั้งพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุในเขตบริการ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อเพื่อลดความแออัดในเขตสุขภาพที่ 1 (3) พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิกสำหรับนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาให้มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นแหล่งฝึกบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา และ (4) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง

    “สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ แล้ว เห็นว่า แผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น (1) ควรทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภาระงาน เช่น การขยายสถานที่บริการ ควรฝึกวิชาชีพเฉพาะทางหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น (2) ควรวิเคราะห์ปริมาณงานเฉลี่ย (3) การของบประมาณตามแผนความต้องการอัตรากำลังฯ ควรคำนึงถึงภาระผูกพันในการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อรองรับการขอเพิ่มอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้ปรับระยะเวลาของแผนอัตรากำลังฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571” นายคารม กล่าว

    ยกเว้นภาษีค่าตอบแทนที่ได้รับจาก สธ.ช่วงโควิดฯระบาด

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอก ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากระทรวงการคลัง) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่ สธ. จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไดรับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ออกไปอีก 1 ปีภาษี (สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2566)

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

    1. กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้

      1.1 ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งสธ.จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

      1.2 ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง สธ. จ่ายให้เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

      1.3 ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง สธ. จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาลตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

    2. กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2566

    ผ่านร่าง กม.ขออนุญาตทำประมงพาณิชย์

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ดังนี้

      1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้พิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการประมง ตลอดจนพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ แล้วดำเนินการต่อไปได้

      2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า

    1. ปัจจุบันกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ การโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต และการยกสิทธิการทำการประมง โดยกรมประมงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567 – 2568 พ.ศ. 2567 กำหนดห้วงเวลาให้ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2567 – 2568 มายื่นคำขอรับใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถานที่ที่กำหนด (ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์มีอายุ 2 ปี ซึ่งจะสิ้นอายุทั้งหมดในวันที่ 31 มีนาคม 2567) ซึ่งในข้อ 5 ของประกาศฯ กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ต้องแสดงหรือแนบเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ ประกอบกับกฎกระทรวงฯ ข้อ 6 (9) กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง ตามมาตรา 98 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (สร. 3) ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

    2. ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในแต่ละรอบปีการประมงจะมีเรือประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ไม่สามารถออกทำการประมงได้ หรือ ได้รับใบอนุญาตแต่ไม่สามารถออกทำการประมงได้อันเกิดจากปัจจัยบางประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจราคาสัตว์น้ำที่ตกต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการไม่คุ้มทุนในการออกทำประมง และเมื่อไม่มีการออกเรือ ก็มิได้ปรับปรุงหรือดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม จึงทำให้สภาพเรือไม่มีความพร้อม ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่จะได้รับหนังสือ สร. 3 ซึ่งกรมประมงได้พิจารณาทบทวนเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการออกหนังสือ สร. 3 เป็นการกำหนดให้มีมาตรฐานในการจับ การดูแลสัตว์น้ำ การแปรรูป การขนส่ง รวมถึงการขนถ่าย ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หนังสือ สร. 3 จึงเป็นเอกสารรับรองความพร้อมของเรือประมงในการออกทำการประมง ไม่ใช่เอกสารที่รับรองสิทธิในขอรับใบอนุญาตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวประมงและการใช้ทรัพยากร ดังนั้น จึงเห็นควรให้ตัด ข้อ 6 (9) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามมาตรา 98 ออก

    นอกจากนี้ ปัจจุบันกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2562 ยังมีความไม่สอดคล้องกับบริบทการทำการประมงของชาวประมงในปัจจุบัน ประกอบกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือขอให้ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีบัญชามอบหมายให้กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

    3. กษ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ขึ้น มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์ การโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การยกสิทธิการทำการประมงให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น และกำหนดหลักเกณฑ์การทดแทนเรือประมง ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ผ่านระบบกลางกฎหมาย http://www.law.go.th ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 และเวทีการประชุม ณ กรมประมง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ด้วยแล้ว

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

      1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562

      2. กำหนดให้กรณีผู้ขออนุญาตได้ยื่นคำขอไว้ตามห้วงเวลาที่กำหนด และไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เนื่องจากผู้ขออนุญาตหรือเรือประมงมีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับใบอนุญาตทำการประมง และต่อมาภายหลังลักษณะต้องห้ามได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้พิจารณาออกใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรได้ไม่เกิน 90 วัน (เดิม ไม่ได้กำหนดการขยายระยะเวลาการชำระ) นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากร เนื่องจากผู้ขออนุญาตไม่สามารถมาชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรการประมงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

      3. กำหนดให้นำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนได้ กรณีเรือลำเดิมที่ได้รับอนุญาต จม ไฟไหม้ อันเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย (เดิม กำหนดเฉพาะเหตุเรือประมงชำรุดทรุดโทรม)

      4. กำหนดให้สามารถเพิ่มเครื่องมือทำการประมงภายหลังได้รับใบอนุญาตทำการประมง โดยให้การขอเพิ่มเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

      5. กำหนดให้การขอรับโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ให้สามารถดำเนินการได้ในกรณีผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของเรือเดิมเสียชีวิต (กำหนดขึ้นใหม่)

      6. กำหนดให้ลดเอกสารบางรายการที่หน่วยงานรัฐ สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ระหว่างหน่วยงาน และไม่เกี่ยวข้องกับการขอรับอนุญาต เช่น หนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงตามความในมาตรา 98 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อลดภาระให้ชาวประมง

      7. กำหนดให้กรณีที่ไม่สามารถทำการประมงในพื้นที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำการประมง ให้ขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำการประมงได้ โดยขนาดของเรือและเครื่องมือทำการประมงที่จะอนุญาตให้เปลี่ยนพื้นที่การทำการประมงต้องไม่มีผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะไปทำการประมง และเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

    ไฟเขียวร่างแถลงการณ์ประชุม ครม.สังคม – วัฒนธรรมอาเซียน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วม สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 (Joint Statement of the Thirty – First ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงาน ตามแผนงานประชาคมสังคม และวัฒนธรรม พ.ศ. 2568 (ASCC Blueprint 2025) และสนับสนุนการดำเนินการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างเต็มที่ภายใต้หัวข้อหลัก “อาเซียน : การยกระดับความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” โดยมี 2 หัวข้อหลักคือ “การยกระดับการเชื่อมโยง” และ “การยกระดับความยืดหยุ่น”

    หัวข้อ “การยกระดับการเชื่อมโยง” มีการให้ความสำคัญใน 4 ประการ ได้แก่ (1) การบูรณาการและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การสร้างอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (3) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลแห่งอนาคต (4)วัฒนธรรมและศิลปะ : การส่งเสริมบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียนเพื่อให้เกิดความบูรณษการและความยั่งยืน ในขณะที่หัวข้อ “การยกระดับความยืดหยุ่น” มีการให้ความสำคัญใน 5 ประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2588 (ASEAN Community Vision 2045) (2) การเสิรมสร้างความเป็นกลางของอาเซียน (3) การส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม : ความยืดหยุ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) สตรีและเด็ก : การส่งเสริมบทบาทของสตรีและเด็กต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในภูมิภาคอาเซียน และ (5) สุขภาพ : การเปลี่ยนความยืดหยุ่นของอาเซียนต่อการพัฒนาของอาเซียนในบริบทใหม่

    เนื่องจากเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงต้องขอรับความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 31 ในวันที่ 24 มีนาคม 2567 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้แทน ร่วมรับรองในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

    “ความร่วมมือครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย ยังถือเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนตลอดจนแสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์ในการดำเนินความร่วมมือ และรับรองในหลักการเอกสารผลลัพธ์ในด้านต่าง ๆ ที่จะได้นำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไปอีกด้วย” รองโฆษกรัดเกล้าฯ กล่าว

    เห็นชอบความร่วมมือทางทหารไทย – สาธารณรัฐเช็ก

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้

    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทย กับ กห. แห่งสาธารณรัฐเช็กว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ)

    2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

    3. หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม [รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเช็ก (นางสาวยานา เชร์โนโควา) มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ณ ศาลาว่าการกลาโหม]

    สาระสำคัญของเรื่อง

    กห. รายงานว่า

    1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 มิถุนายน 2556) เห็นชอบให้ กห. จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทยกับ กห. สาธารณรัฐเช็ก (Memorandum of Understanding between the Ministry of Defence of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Defence of the Czech Republic on Mutual Cooperation) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ (ซึ่งได้สิ้นสุดการมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566)

    2. สาธารณรัฐเช็กได้มีหนังสือเสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่มาให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อพิจารณาถ้อยคำและสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ จนได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่มีสาระสำคัญคงเดิม โดยมีการปรับเพิ่มในส่วนของประเด็นขอบเขตความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร และระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ จากเดิม มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะขยายอัตโนมัติเป็นเวลา 5 ปี เป็น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มิได้มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับส่วนที่ 1 วรรค 2 ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า บันทึกความเข้าใจนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใด ๆ ภายใต้กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    ไฟเขียวโรดแมปความเป็นหุ้นส่วนไทย – สหราชอาณาจักร

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

    1. ร่างแผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร (ร่างแผนฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างแผนฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้ กต. พิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก

    2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในร่างแผนฯ (จะมีการลงนามในร่างแผนฯ ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร) สาระสำคัญของเรื่อง

    กต. รายงานว่า

    1. ไทยกับสหราชอาณาจักรมีกำหนดครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 170 ปี ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีกลไกการหารือทวิภาคีที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือด้านการค้าที่สำคัญในระดับรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทยในภูมิภาคยุโรป และในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 817,220 คน เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยาวนาน และความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ทั้งสองประเทศจึงเห็นพ้องที่จะจัดทำร่างแผนฯ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย – สหราชอาณาจักร สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ และใช้เป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

    2. ร่างแผนฯ มี 8 สาขา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

    ทั้งนี้ ร่างแผนฯ ฉบับนี้ไม่มีเจตนาที่จะสร้างภาระผูกพันทางกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

    3. ประโยชน์ที่ได้รับ: ร่างแผนฯ จะเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ ตลอดจนขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรให้ก้าวหน้ามีผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

    4. กต. แจ้งว่า ร่างแผนฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับในร่างแผนฯ ระบุว่า ไม่มีเจตนาที่จะสร้างภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างแผนฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    ตั้ง ‘ประสพ เรียงเงิน’ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบและอนุมัติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางชนิดา เกษมศุข ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวัฒนธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

      2. นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2567 เพิ่มเติม