ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯจัด 9 มาตรการ บูรณาการแก้ปัญหา PM2.5 – มติ ครม.มอบคลังศึกษา ‘กาสิโน’ เสนอ ครม.ใน 30 วัน

นายกฯจัด 9 มาตรการ บูรณาการแก้ปัญหา PM2.5 – มติ ครม.มอบคลังศึกษา ‘กาสิโน’ เสนอ ครม.ใน 30 วัน

9 เมษายน 2024


เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ บริเวณโถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯจัด 9 มาตรการ บูรณาการแก้ปัญหา PM2.5
  • ชี้ ‘เมียนมา’ นำเครื่องบินลงจอด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
  • หวัง กนง. ลดดอกเบี้ย
  • แถลงดิจิทัล วอลเล็ตพรุ่งนี้ ‘ไม่มีเซอร์ไพรส์’
  • สั่งกวาดล้างขบวนการลับลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
  • ตั้ง คกก.ตรวจสอบกากสังกะสีปนแคดเมียม
  • มติ ครม.มอบคลังศึกษา ‘กาสิโน’ ชง ครม.พิจารณาใน 30 วัน
  • ยกเว้นยื่นใบ ตม. 6 เพิ่มอีก 12 ด่าน
  • อนุมัติงบฯ ‘บัตรทอง’ ปี’68 เกือบ 2.4 แสนล้าน
  • ชง “เมืองโบราณริมทะเลสาบสงขลา” ขึ้นบัญชีมรดกโลก
  • เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ชี้ ‘เมียนมา’ นำเครื่องบินลงจอด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

    นายเศรษฐา ตอบคำถามเรื่องจุดยืนประเทศไทยต่อเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารเมียนมาทำหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอนำเครื่องบินเดินทางมายังสนามบินแม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย. ว่า “ตามที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงไปก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เราต้องมีการทำงานกัน ต้องยอมรับว่า ข้อมูลการเจรจาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงหลายๆ ฝ่าย”

    หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่า นายกรัฐมนตรีคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายมากแค่ไหน โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “จุดยืนเรื่องนี้ผมยังเหมือนเดิม เพราะเราเดือดร้อนในเรื่องนี้มามาก ก็มีความคาดหวังว่า กนง.ต้องลดดอกเบี้ยได้”

    แถลงดิจิทัล วอลเล็ตพรุ่งนี้ ‘ไม่มีเซอร์ไพรส์’

    เมื่อถามเรื่องการประชุมคณะดิจิทัล วอลเล็ตในวันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา กล่าวว่า “วันนี้ตอนเย็นจะมีการซักซ้อมความเข้าใจอีกที่หนึ่งจะกลับมาหลังจากที่ไปเปิด วปอ.จูเนียร์ (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) ในตอน 14.00 น.จะกลับเข้าทำเนียบอีกครั้ง”

    ถามต่อว่าการแถลงในวันพรุ่งนี้จะมีเซอร์ไพรส์หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มีเซอร์ไพรส์ครับ ไม่มีเซอร์ไพรส์ ตอบมาตั้งนานแล้ว โดยวันที่ 10 เมษายนนี้จะมีการแถลงข่าวอย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีเซอร์ไพรส์ เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ทุกอย่าง ขั้นตอนถูกต้อง รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน”

    เมื่อถามว่าจะมีการใช้เงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ใครพูดครับ ใครพูดครับ ผมจะแถลงข่าวในวันที่ 10 เมษายนนี้”

    “พรุ่งนี้มีการประชุมเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้สับสนกัน ผมจะให้ข้อมูลในวันที่ 10 เม.ย.ในวันพรุ่งนี้” นายเศรษฐา ย้ำ

    สั่ง มท.- กปน. แก้น้ำประปาขาดแคลนใน 3 เดือน

    ด้านนายชัย รายงานว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค เร่งทบทวนปรับแผนการผลิตน้ำประปา และพัฒนาโครงข่ายท่อส่งน้ำประปา ให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวมทั้งขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

    “นายกฯ เห็นว่า ไทยกำลังเปิดต้อนรับการลงทุน และการท่องเที่ยว แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่สำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี เป็นต้น” นายชัย กล่าว

    ขอทุกหน่วยดูแล ปชช.ช่วงหยุดสงกรานต์

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ กล่าวขอให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยในวันที่ 10 เมษายนนี้ นายกฯ จะไปตรวจดูความเรียบร้อยของการเตรียมการรับมือการเดินทาง ณ สถานีขนส่งหมอชิต พร้อมกับสั่งการไปแต่ละหน่วยงาน ดังนี้

    กระทรวงคมนาคม (คค.) เตรียมความพร้อมการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และให้ คค. และ ตำรวจทางหลวง ร่วมกันวางแผน จัดเส้นทาง และระบายการจราจรให้มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และ

    กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สะอาดและพร้อมใช้งาน

    กระทรวงมหาดไทย (มท.) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รณรงค์และดำเนินการเข้มงวด “ห้ามดื่มแล้วขับ” เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เตรียมความพร้อมช่วยเหลือดูแลผู้บาดเจ็บทางจราจร

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ย้ำให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงท่องเที่ยวฯ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยสถานที่จัดกิจกรรมในจุดต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในจุดเล่นน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว และบ้านเรือน โดยสายด่วน 191 ต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่รับสายตลอดเวลา และแก้ปัญหาให้รวดเร็ว

    “ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนและปฏิบัติงาน เพื่อช่วยกันดูแล อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยอย่างเต็มความสามารถ” นายชัย กล่าว

    สั่งกวาดล้างขบวนการลับลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ยังได้สั่งการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มเด็กนักเรียนและวัยรุ่น ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันออกมาตรการป้องกัน รวมถึงจัดให้มีมาตรการตรวจตราที่เข้มงวด โดยเฉพาะในสถานศึกษา และการจำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน

    จัด 9 มาตรการ แก้ปัญหา PM2.5

    นายชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาการเผาและฝุ่น PM2.5 ว่า นายกฯ กำชับให้ยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 โดยให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการทำงานผ่าน 9 มาตรการ ดังนี้

      1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยทหารในพื้นที่ ระดมกำลังลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบเผาป่าทุกกรณี

      2. มท. และ สตช. กำกับดูแลกวดขัน บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด

      3. ให้ มท. สั่งการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา

      4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาเล็ก (PM2.5) และให้ประกาศ Work From Home (WFH) ตามความจำเป็น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

      5. ให้ กษ. พิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ หากพบว่ามีการเผาในพื้นที่เกษตรของตนเอง

      6. ให้ กษ. เพิ่มความถี่การปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง โดยเร่งด่วน และร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอ เพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่า

      7. ให้ สธ. จัดชุดเคลื่อนที่/หน่วยปฏิบัติการลงเยี่ยมบ้าน ดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง ทันที และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปาะปราง โดยเฉพาะเยาวชน และผู้สูงอายุ

      8. ให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบกลางให้แก่จังหวัดให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤต ปี 2567 ตามความเหมาะสม และจำเป็นเร่งด่วน และ

      9. กรณีหมอกควันข้ามแดน นายกฯ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ยกระดับความร่วมมือ และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ยังมีการเผาป่าอยู่มาก ให้มีการลดการเผาป่าอย่างทันที เพิ่มศูนย์ Hotline ระหว่างกันในการแจ้งจุดเผาป่า ตั้ง KPI ที่ชัดเจน โดยในช่วงบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมบูรณการการทำงานกำจัดไฟป่าของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี รมว. ทส. เป็นประธาน และจะมีการแถลงต่อไป

    ตั้ง คกก.ตรวจสอบกากสังกะสีปนแคดเมียม

    นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และตรวจสอบการขนย้ายกากสังกะสีปนแคดเมียม โดยให้ครอบคลุมทั้งการหาข้อเท็จจริง ข้อบกพร่องในแต่ละขั้นตอนพร้อมหามาตรการแก้ไข และการกำกับการขนย้ายกากแคดเมียมที่ยึดอายัดไว้ ตลอดจนกากแคดเมียมที่เหลืออยู่ และการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ต้องดำเนินการจัดการให้ถูกต้อง และจะต้องเคลื่อนย้ายกลับไปยังหลุมฝังกลบต้นทางที่จังหวัดตากอย่างปลอดภัย

    สั่งเกษตรออกใบรับรอง ดูแลมาตรฐานน้ำมันปาล์มส่งออก

    นายชัย กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ กล่าวถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากปาล์มของไทยที่ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรในต่างประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดในการออกใบรับรองคุณภาพ (certification) ให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มของไทย รวมไปถึงน้ำมันปาล์มให้มีมาตรฐานที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตลอดจนขอให้มีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ (usage) จากการปลูกปาล์มให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    กำหนดมาตรฐานทุเรียนส่งออก

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า

      1. เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยผลิตและส่งออกสูงแต่มักพบปัญหาการเร่งตัดทุเรียนเพื่อการบริโภคสดก่อนถึงอายุเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ทุเรียนไม่แก่ออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและทำลายสภาวะการค้าในภาพรวม ดังนั้น เพื่อให้มีหลักปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องมีหลักปฏิบัติสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน เพื่อช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและเวทีการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของทุเรียนไทยเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก กษ. โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551

      2. ในคราวประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ และเห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับ

      3. กษ. ได้นำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ มาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับต่อไป ตามมาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติให้เมื่อคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นด้วยกับรายละเอียดของร่างมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรใดและกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ ให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรนั้นเป็นมาตรฐานบังคับ โดยก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับ ให้ มกอช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนดให้เป็นมาตรฐานทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานทั่วไป โดย มกอช. ได้นำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (www.acfs.go.th) เว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เป็นเวลา 45 วัน และแจ้งเวียนประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นเวลา 60 วัน รวมทั้งจัดทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ รวมจำนวน 233 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว รวมจำนวนทั้งสิ้น 32 ราย เห็นด้วย 28 ราย และไม่เห็นด้วย 4 ราย

      4. ในคราวประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเป็นมาตรฐานบังคับ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ โดยมอบ มกอช. จัดทำร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป (ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน) ก่อนดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ (กำหนดให้สินค้าเกษตรต้องเป็นไปตามมาตรฐาน)

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

    กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เลขที่ มกษ. 9070 – 2566 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เป็นมาตรฐานบังคับ เช่น ผู้ประกอบการโรงรวบรวม หรือ โรงคัดบรรจุต้องมีมาตรการการตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน ก่อนรับเข้าสู่การจัดการ ต้องตรวจพินิจลักษณะภายนอกของผลทุเรียนทุกผลจากทุกรุ่น มีการคัดแยกผลทุเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และทำการแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่ติดป้ายบ่งบอกชัดเจน ห้ามนำเข้าสู่การจัดการ และห้ามนำไปจำหน่ายเพื่อบริโภคสดและต้องบันทึกข้อมูลการคัดแยก และการจัดการกับผลทุเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ไว้เป็นหลักฐาน มีการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ต้องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน โดยนำผลทุเรียนที่ผ่านการคัดแยกแล้วว่าเป็นผลทุเรียนแก่มาตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ซึ่งน้ำหนักจะต้องผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด ผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวต้องมีความรู้ความชำนาญ และมีหลักฐานแสดงว่าได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบเรื่องการเก็บผลทุเรียนแก่ หรือ ได้รับการประเมินความสามารถ โดยโรงรวบรวมหรือโรงคัดบรรจุหรือได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบเรื่องการเก็บเกี่ยว ผลทุเรียนแก่จากหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่ภาครัฐให้ความเห็นชอบ โดยกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    คลอด กม.คุ้มครองลูกจ้างอาชีพทำงานบ้าน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับการงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ข้อเท็จจริงกระทรวงแรงงานเสนอว่า

      1. ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชยัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคสอง

      2. กระทรวงแรงงาน ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ระหว่างวันที่ 12-27 พฤษภาคม 2566 รวมทั้งจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายด้วยแล้ว

    สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

    ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจอยู่ด้วย ดังนี้

      1. ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ แต่วันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (มาตรา 23)

      2. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (มาตรา 27 วรรคหนึ่ง)

      3. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน (มาตรา 34)

      4. ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด (มาตรา 39/1 วรรคหนึ่ง)

      5. ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน (มาตรา 41)

      6. ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ (มาตรา 43)

      7. ให้นายจ้างแจ้งการจ้างและแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน (มาตรา 45 (1) (3) และวรรคสอง)

      8. ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนารับการอบรม รับการฝึกหรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนและให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน (มาตรา 52)

      9. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลา เพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน (มาตรา 59)

      10. ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มาตรา 36)

      11.ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (มาตรา 90)

    ยกเว้นยื่นใบ ตม. 6 เพิ่มอีก 12 ด่าน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม. 6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยกร่างประกาศ มท. เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม 2567 อีกทั้งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และลดความแออัดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้

      1. ขยายให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 เป็นการชั่วคราวต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – 15 ตุลาคม 2567

      2. กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 จำนวน 7 ด่าน ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ. หนองคาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองลึก จ.สระแก้ว ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลก จ. นราธิวาส ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ. ยะลา และด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา

      3. กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา ได้รับการยกเว้นการยื่นแบบ ตม. 6 จำนวน 5 ด่าน ดังนี้ (กำหนดเพิ่มเติม) ตรวจคนเข้าเมือง จ.ภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมือง จ. ระยอง ตรวจคนเข้าเมือง จ. ชลบุรี ตรวจคนเข้าเมือง จ. กระบี่ และตรวจคนเข้าเมือง จ.สุราษฎร์ธานี

    โดยที่แบบ ตม. 6 เป็นเอกสารที่เก็บข้อมูลของคนต่างด้าวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ จึงมอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศ มท. ฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลาที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อ ครม. พิจารณายกเลิกประกาศ มท. ดังกล่าวต่อไปได้

    อนุมัติงบฯ ‘บัตรทอง’ ปี’68 เกือบ 2.4 แสนล้าน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 235,842,800,900 บาท ประกอบด้วย

    1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ จำนวน 47,157,000 คน วงเงิน 181,297,444,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 15,772,291,400 บาท คิดเป็นร้อยละ 9.53 คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,844.55 บาทต่อผู้มีสิทธิซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

    2. ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,519,721,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 689,724,500 บาท รวงวงเงิน 4,209,445,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 192,349,800 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.79

    3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 13,506,166,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 698,867,600 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.46

    4. ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่ งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,169,228,400 บาท งบบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน วงเงิน 78,642,000 บาท และงบบริการเพื่อลดการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหือ (Asthma) วงเงิน 51,053,900 บาท รวมวงเงิน 1,298,924,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 101,308,600 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.46

    5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท

    6. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย (1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 236,509,300 บาท (2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 249,320,700 บาท (3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 695,990,900 บาท (4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 851,210,000 บาท (5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท (6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 40,512,000 บาท และ (7) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาล วงเงิน 73,739,600 บาท รวมวงเงิน 2,180,228,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 117,440,100 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.69

    7. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

      7.1) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,522,207,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 28,394,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.11

      7.2) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,900,246,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 139,692,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.06

      7.3) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,968,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 256,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.05

    8. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 522,923,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 119,885,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.65

    9. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,371,000 คน วงเงิน 25,383,960,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,339,915,100 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.57 ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

    สำหรับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2,238,836,200 บาท นั้นเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะมอบให้หมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการและบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิถาพ ในด้านการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว มาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าวด้วย

    อนึ่ง เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการบริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวอักทั้งค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10.76 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และพิจารณาให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน แล่ะมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ รวมถึงเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนในท้องถิ่น และเห็นควรที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารจัดการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หากมีงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงานหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนัยมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ รายละเอียดวงเงินที่ สงป. พิจารณาจัดสรรรแยกตามรายการบริการโดยละเอียด สรุปได้ ดังนี้

    มอบคลังศึกษา ‘กาสิโน’ ชง ครม.พิจารณาใน 30 วัน

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษาความเป็นไปได้ และรายละเอียดเสนอต่อครม.ภายใน 30 วัน

    ทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมในกลุ่ม Fun economy มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมตั้งแต่การท่องเที่ยว กีฬา สถานบันเทิง ธุรกิจการจัดประชุมและจัดนิทรรศการ (MICE) ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น Meeting, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing) และ Exhibitions ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรม Fun economy ได้โดยผ่านการส่งเสริมให้มีสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่และเพิ่มเติมรายได้เข้าประเทศ ในขณะเดียวกันสถานบันเทิงครบวงจรจะเป็นการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันถูกกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย และมีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง

    คณะกรรมาธิการฯ จึงได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบในด้านต่าง ๆ หากรัฐจะมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ขึ้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

    1. ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีสถานบันเทิงครบวงจร โดยศึกษาถึงผลกระทบในภาพรวม ทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะส่งผลต่อนโยบายของการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านศาสนาและจริยธรรม จากการมีสถานบันเทิงแบบครบวงจรในประเทศไทย

    ข้อสังเกต

  • การมีสถานบันเทิงครบวงจรจะทำให้รัฐสามารถควบคุมหรือกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบางประเภทที่มีผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวมได้ดีขึ้น เช่น ธุรกิจกาสิโน หรือการเล่นพนันถูกกฎหมาย และจะทำให้เกิดประโยชน์และผลกระทบ ดังนี้
    • 1) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นย

      2) ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสถานบริการครบวงจร ตลอดจนเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่

      3) อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน โดยอาจระบุในเงื่อนไขใบอนุญาตให้มีคนไทยทำงานในสถานที่ดังกล่าวไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

  • การสร้างการรับรู้และความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง
    • 1) ควรมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น จัดทำเวทีประชาคมในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน

      2) ควรมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการศึกษาผลกระทบของการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรอย่างละเอียดรอบด้าน

      3) หากมีการเปิดแอปพลิเคชันให้มีการรับฟังความคิดเห็น ควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นด้านผลกระทบทั้ง 6 ด้านรวมทั้งแนวทางในการเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

      4) กรมสุขภาพจิตควรจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเป็นกลไกการลดผลกระทบจากการพนัน

      5) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรมีการดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อแสวงหาวิธีการป้องกันหรือลดผลกระทบ โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมทางศาสนา
      6) ควรมีมาตรการป้องกันดูแลผลกระทบอย่างเหมาะสม

    2. ด้านโครงสร้างทางธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรและการเก็บรายได้เข้ารัฐ การศึกษาถึงโครงสร้างทางธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันกันสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตต่าง ๆ จากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรหรือสถานบันเทิงที่มีสถานกาสิโนรวมอยู่ด้วย เพื่อนำมาเป็นรายได้เข้ารัฐ สำหรับนำไปขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต่อไป

    ข้อสังเกต

  • รูปแบบของการตั้งสถานบันทิงครบวงจร หากรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนเองแล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณที่รัฐจะต้องจัดหามาใช้ในการลงทุนดังกล่าว แนวทางที่จะช่วยลดปัญหาจึงอาจจะต้องเป็นในรูปแบบการให้ใบอนุญาตกับเอกชนตามระยะเวลาที่กำหนด
  • ควรพิจารณาถึงรูปแบบการลงทุนที่เปิดกว้าง โดยรัฐลงทุนร่วมกันกับเอกชน หรือการให้สัมปทานหรือให้ใบอนุญาตกับเอกชน จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ
  • พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะตั้งเป็นสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ต้องอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสามารถรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก
  • ควรมีการตั้ง “ภาษีกาสิโน” ขึ้นมาโดยเฉพาะ และควรมีการกำหนดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียม ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และเป็นการเฉพาะต่างหากจากอัตราภาษีปกติทั่วไปที่มีอยู่
  • ควรจัดตั้งหน่วยงานในการกำกับดูแลการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบเชิงวัฒนธรรม มาตรการทางกฎหมายสำหรับสถานประกอบกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบ มาตรการทางสังคมในลักษณะการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
  • ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลดผลกระทบจากการพนันและสถานบันเทิงครบวงจร โดยจัดสรรเงินรายได้จากธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรและการพนันเข้ากองทุน
  • 3. ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงครบวงจร การศึกษาถึงรูปแบบ วิธีการ รวมถึงระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลอดจนการเล่นการพนันที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย หรือยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

    ข้อสังเกต

  • ควรมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงการร่างกฎหมายเฉพาะในกิจการสถานบันเทิงครบวงจร ควรปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงครบวงจรอย่างเป็นระบบ
  • ชง “เมืองโบราณริมทะเลสาบสงขลา” ขึ้นบัญชีมรดกโลก

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา โดยทะเลสาบสงขลาเป็น 1.) ทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่มีการตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก 2.) ถือเป็นต้นกำเนิดของวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำกร่อย ความเชื่อ ประเพณี การตั้งถิ่นฐาน และเมืองต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ และ 3.) ทะเลสาบสงขลาถือเป็นทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) กล่าวคือ เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติที่อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม นอกจากนั้น การตั้งถิ่นฐานหรือชุมชนหลายแห่งที่พบในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลามีการปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทะเลสาบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานนั้นพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนและเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนี้ สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่จากชุมชนเมืองโบราณที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้อย่างดี เนื่องจากยังปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก

    พื้นที่องค์ประกอบ ประกอบด้วย 4 พื้นที่ ดังนี้ (1) เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง (2) เมืองโบราณสทิงพระ (3) เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า และ (4) เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง โดยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ สามารถเข้าหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการนำเสนอ ดังนี้ เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์

    ทั้งนี้ไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให่เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

    โดย ทส. เห็นว่า การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ เช่น กระต้นให้เกิดการอนุรักษ์และความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

    รับทราบแนวปฏิบัติซื้อ-ขายข้าว G to G

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติในการเจรจา และการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government: G to G) ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นบข. ครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติฯ โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ตลอดจนการยกระดับราคาข้าวเปลือกให้แก่เกษตรกรในช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่ยังคงอยู่ภายใต้หลักการเดิมที่ ครม. ได้เคยมีมติรับทราบไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ

    ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักการสำคัญในการเจรจา และการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G และการเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G โดยมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศประสานรายละเอียดกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อในเบื้องต้น

    การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถระบายผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ในปริมาณมากและในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยรัฐบาลไทยจะทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลต่างประเทศที่มีความต้องการซื้อข้าวโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยระบายผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ในปริมาณมาก ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อรองรับผลผลิตส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ

    ตั้งบอร์ดกองทุนอ้อย-น้ำตาล 15 คน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 15 คน เนื่องจากกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

      1. นายประยูร อินสกุล (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      2. นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย (ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง) ผู้แทนกระทรวงการคลัง
      3. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ (ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์
      4. นายใบน้อย สุวรรณชาตรี (รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม
      5. นางสาวประนิอร เตียวตรานนท์ (ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1) ผู้แทนสำนักงบประมาณ
      6. นายสุรจิต ลักษณะสุต (ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค สายองค์กรสัมพันธ์) ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย
      7. นายมนตรี วิศณุพรประสิทธิ์ ผู้แทนชาวไร่อ้อย
      8. นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ ผู้แทนชาวไร่อ้อย
      9. นายเอกชัย อริยมงคลชัย ผู้แทนชาวไร่อ้อย
      10. นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูล ผู้แทนชาวไร่อ้อย
      11. นายประพันธ์ศักดิ์ ว่องไพฑูรย์ ผู้แทนโรงงาน
      12. นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้แทนโรงงาน
      13. นายปริวัฒก์ กาญจนธนา ผู้แทนโรงงาน
      14. นายวรพจน์ จันทรา ผู้แทนโรงงาน
      15. นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 9 เมษายน 2567 เพิ่มเติม