ThaiPublica > สู่อาเซียน > Rare Earth… “เดิมพัน” ที่ลาวต้องนำไปแลกกับ “เงินทุน”

Rare Earth… “เดิมพัน” ที่ลาวต้องนำไปแลกกับ “เงินทุน”

18 เมษายน 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถบรรทุกกรดกำมะถันจนพลิกตะแคงที่บ้านพูช้างคำ นครหลวงพระบาง ที่มาภาพ : ลาวพัฒนา

8 เมษายน 2567 MRC (Mekong River Commission) หรือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเรื่องผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำคาน แม่น้ำโขง และลำห้วยธรรมชาติในเขตบ้านพูช้างคำ นครหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง หลังจากไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เพิ่งเกิดเหตุสารเคมีอันตรายรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำหลักทั้ง 2 สาย

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.30 น. ของวันที่ 3 เมษายน รถบรรทุกสารเคมีขนาด 22 ล้อคันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุเสียหลักพลิกตะแคงบริเวณริมทางโค้งที่บ้านพูช้างคำ ทำให้สารเคมีที่บรรทุกมากับรถรั่วออกจากถัง และไหลลงร่องน้ำริมถนน ซึ่งเป็นทางระบายน้ำลงสู่ลำห้วยธรรมชาติที่ไหลต่อไปยังแม่น้ำคาน และไปบรรจบกับแม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่งบริเวณหน้าวัดเชียงทอง

สารเคมีที่บรรทุกมากับรถคันนี้ คือกรดกำมะถัน สูตรทางเคมีคือ H2SO4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงต่อวัตถุเกือบทุกชนิด หากสูดดมหรือสัมผัส จะทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังบริเวณที่ถูกสัมผัสมีอาการไหม้ ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลพุพอง หากสูดดมหรือสัมผัสมากเกินไปมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ปริมาณกรดกำมะถันที่บรรทุกมากับรถคันที่เกิดอุบัติเหตุมีน้ำหนักรวม 30 ตัน หลังเกิดอุบัติเหตุ มีกรดกำมะถันรั่วไหลออกมาเกินครึ่ง หรือมากกว่า 15 ตัน เมื่อกรดกำมะถันเหล่านี้ไหลลงร่องระบายน้ำได้ไม่นาน มีผู้พบเห็นปลาจำนวนมากลอยขึ้นมาตายบนผิวน้ำของแม่น้ำคาน

วันที่ 4 เมษายน ผู้บริหารบ้านพูช้างคำได้นำแท่งแบริเออร์มาตั้งปิดกั้นการไหลของน้ำในลำห้วยธรรมชาติ เพื่อบรรเทาการปนเปื้อนของกรดกำมะถันที่จะไหลลงสู่แม่น้ำคานและแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ห้องว่าการนครหลวงพระบางได้มีหนังสือด่วนแจ้งถึงผู้บริหารท้องถิ่น สั่งห้ามประชาชนในทุกพื้นที่ของนครหลวงพระบาง ไม่ให้ลงอาบน้ำ เล่นน้ำในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง รวมถึงห้ามนำปลาที่ลอยตายอยู่ในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขงไปบริโภคหรือขายต่ออย่างเด็ดขาด

แผนที่แสดงจุดเกิดอุบัติเหตุ และตำแหน่งจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ ที่มาภาพ : MRC

อุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียง 10 วัน ก่อนถึง “บุนปีใหม่ลาว” หรือเทศกาลสงกรานต์ งานใหญ่ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวนับหมื่นคน เดินทางมาเที่ยวหลวงพระบาง

ตามข้อมูลของ MRC จุดที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำคาน 300 เมตร ห่างจากจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำคานกับแม่น้ำโขงที่หน้าวัดเชียงทอง 6 กิโลเมตร

จุดสำคัญ 3 แห่ง ที่อยู่ใต้ลงไปตามแนวลำน้ำโขงจากหน้าวัดเชียงทองซึ่ง MRC ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ เขื่อนไซยะบูลี ที่อยู่ห่างลงไป 105 กิโลเมตร สถานีเชียงคาน (ประเทศไทย) ห่างลงไป 235 กิโลเมตร และสถานีสตรึงแตรง (กัมพูชา) ที่ห่างลงไป 935 กิโลเมตร

ข่าวกรดกำมะถันไหลปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำคาน-แม่น้ำโขง แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลายหน่วยงานในจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม ไปจนถึงมุกดาหาร ทั้งประมงจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ต่างตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นเฝ้าระวัง เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำโขงไปตรวจวิเคราะห์ วัดปริมาณสารปนเปื้อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลกระทบมาถึง

ที่หลวงพระบาง ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน MRC ได้ตั้งจุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 9 จุด เริ่มจากบริเวณที่สารเคมีไหลออกจากร่องระบายน้ำลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ 1 จุด ในแม่น้ำคาน 4 จุด และแม่น้ำโขงอีก 4 จุด พร้อมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่วิชาการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบอย่างละเอียดทุกวัน

ทีมงานวิชาการของ MRC ลงตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ 3-7 เมษายน 2567 ที่มาภาพ : MRC

จากผลการวิเคราะห์น้ำที่ได้เก็บตัวอย่างมาตั้งแต่วันที่ 3-7 เมษายน พบว่า ณ วันที่ 7 เมษายน 2567 น้ำในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง ได้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ไม่มีการปนเปื้อนของกรดกำมะถัน ส่วนน้ำในลำห้วยธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทาง ยังคงมีการปนเปื้อนอยู่เล็กน้อย เพราะถูกแท่งแบริเออร์กักไว้

MRC ระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังและคอยเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์หาระดับการปนเปื้อนต่อไปอีกสักระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในหลวงพระบาง และทุกพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้ลงไปตามแนวแม่น้ำโขง…

หลังเกิดอุบัติเหตุที่บ้านพูช้างคำ 1 วัน สื่อในลาวได้เผยแพร่เอกสารของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เลขที่ 00696 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นใบรับรองการเคลื่อนย้ายสารเคมี (ภายในประเทศ) เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ระบุว่า บริษัทลาวซินอาน พัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขนส่งกรดกำมะถัน น้ำหนักรวม 2,000 ตัน จากแขวงอุดมไซไปยังแขวงเชียงขวาง โดยจะใช้รถบรรทุกในการขนส่ง 58 เที่ยว ใบรับรองฉบับนี้มีอายุถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2567

ในใบรับรองระบุชื่อผู้รับกรดกำมะถันทั้ง 2,000 ตัน ได้แก่ บริษัทกว่างจินซิน แสงสะหว่าง ขุดค้นแร่หายาก จำกัด เพื่อนำกรดกำมะถันทั้งหมดไปใช้ในโครงการขุดค้นและสกัดแร่หายาก (rare earth) ของบริษัทในเขตบ้านปุง เมืองคูน แขวงเชียงขวาง

อุบัติเหตุที่บ้านพูช้างคำ แขวงหลวงพระบาง ถือเป็นครั้งที่ 2 ในชั่วเวลาเพียง 1 เดือน ที่เกิดกรณีสารเคมีอันตรายจากโครงการขุดค้นและสกัด rare earth ของนักลงทุนจีน รั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสำคัญที่ประชาชนลาวจำเป็นต้องกินต้องใช้ ในพื้นที่ภาคเหนือของลาว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 มีประชาชนแจ้งไปยังหน่วยงานปกครองท้องถิ่นเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ว่า พบเห็นปลาจำนวนมากลอยตายเป็นแพอยู่ในลำน้ำห้วยมัน สายน้ำธรรมชาติที่ไหลมาบรรจบกับลำน้ำแว่น ที่บ้านเมืองแว่น เมืองซำเหนือ นอกจากนี้ยังพบว่าสีของน้ำในลำน้ำมีความขุ่นกว่าปกติ จึงอยากให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เพราะชาวบ้านสงสัยว่าเป็นผลกระทบจากโครงการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทเหมืองแร่จากจีนที่ขึ้นไปตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้เคียงกับลำน้ำทั้ง 2 สาย

บริเวณที่พบปลาตาย อยู่ในพื้นที่ขุดค้น rare earth ของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 กิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท Beijing Platinium World Technology Development จากจีน กับบริษัทผาแดงรุ่งเรือง สำรวจและขุดค้นแร่ธาตุ จำกัด ของลาว ได้รับสัมปทานจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 บนพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านอุไท เมืองหัวเมือง และอีก 45 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านสบซาย บ้านทับผึ้ง บ้านหัวพุ และบ้านเมืองแว่น เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ใช้เงินลงทุน 300 ล้านหยวน เริ่มเปิดหน้าดินเพื่อขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นักวิชาการภาคสนามจากแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงหัวพัน เข้าไปสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่บ้านเมืองแว่น พบว่าทางตอนเหนือของลำน้ำห้วยมันมีลำน้ำสาขาสายหนึ่งชื่อว่าห้วยตะบุน ที่ไหลลงมาจากโครงการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 และบนยอดเนินที่เป็นต้นน้ำห้วยตะบุนนั้น บริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ได้ขุดอ่างเก็บน้ำไว้ 3 อ่าง เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบอย่างละเอียด

อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ที่มาภาพ : โทละโข่ง

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ สื่อในลาวได้รายงานโดยอ้างข้อมูลจากคลิปของนักวิชาการในพื้นที่ผู้หนึ่ง ยืนยันว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาตายในลำน้ำห้วยมัน เพราะได้รับสารเคมีที่รั่วไหลมาจากโครงการขุดค้น rare earth โดยจากการนำตัวอย่างน้ำไปตรวจอย่างละเอียดพบว่ามีการปนเปื้อนของกรดออกซาลิก ซึ่งเป็นกรดที่มีความรุนแรงและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และมักถูกนำมาใช้ในกระบวนการสกัดเพื่อแยกหา rare earth จากดิน

นักวิชาการรายนี้คาดว่า การปนเปื้อนของกรดออกซาลิก เกิดขึ้นจากระบบการจัดเก็บของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้กรดเกิดรั่วไหลลงสู่สายน้ำธรรมชาติ

วันที่ 3 มีนาคม ชาวบ้านเมืองแว่นได้ล่ารายชื่อ ทำหนังสือร้องทุกข์ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาแห่งชาติ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแผนการและการลงทุน เจ้าแขวงหัวพัน สภาประชาชนแขวงหัวพัน เจ้าเมืองซำเหนือ และหัวหน้าแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงหัวพัน

ในหนังสือระบุว่าประชาชนจาก 14 บ้าน ของเมืองซำเหนือ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการนี้ เพราะไม่สามารถนำน้ำจากห้วยตะบุน, ห้วยมัน, น้ำแว่น ไปบริโภคได้ และยังมีอีก 22 บ้าน ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม จึงขอเรียกร้องทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ลงมาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านทั้งหมดโดยด่วน

วันที่ 4 มีนาคม สอสะหวัน บานคำมี หัวหน้าแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงหัวพัน ได้ชี้แจงผ่านรายการรอบบ้านผ่านเมือง ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ว่า จากการตรวจสอบพบว่า อ่างเก็บน้ำของโครงการเกิดรั่วซึมและมีรอยแตก ทำให้มีน้ำจากอ่างไหลลงสู่ห้วยตะบุน และไหลต่อไปยังห้วยมัน กับน้ำแว่น ทำให้ปลาตาย

วันที่ 6 มีนาคม 2567 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ มีหนังสือแจ้งการด่วนถึงผู้อำนวยการ บริษัทลาว-จีนพัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 จำกัด ให้ระงับการขุดค้นและสกัด rare earth รวมถึงทุกกิจกรรมที่บริษัทกำลังทำอยู่ที่บ้านเมืองแว่น, บ้านหัวพุ เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนว่าการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัท ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารพิษลงไปในลำน้ำห้วยตะบุน, ห้วยมัน, น้ำแว่น ทำให้ปลาตาย และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน และด้านล่างของโครงการได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำบริโภค จึงต้องให้บริษัทระงับการดำเนินงานในทุกกิจกรรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ แก้ไขสภาพลำน้ำให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

rare earth เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นสำหรับนำไปผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงหลากหลายชนิด จึงเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญทั้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในทุกวันนี้

จีนเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออก rare earth ได้มากที่สุดในโลก โดยมีแหล่งผลิตอยู่ในหลายประเทศ แต่การขุดค้นและสกัด rare earth มักก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างมาก หลายประเทศจึงไม่นิยมขุดค้นและสกัดหา rare earth เอง แต่ใช้วิธีซื้อต่อจากจีน

รัฐบาลลาวได้เปิดให้บริษัทเหมืองแร่จากจีนหลายแห่ง เข้าไปสำรวจ ขุดค้น และสกัด rare earth ในประเทศมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี พื้นที่ขุดค้นส่วนใหญ่อยู่ในแขวงเชียงขวางและหัวพัน

อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทลาว-จีน พัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ที่มาภาพ : โทละโข่ง

ปลายเดือนมีนาคม 2567 หลังเกิดกรณีกรดออกซาลิกจากพื้นที่ขุดค้นแร่หายากของบริษัทลาว-จีนพัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในเมืองซำเหนือ คำแพง ไซสมแพง เจ้าแขวงหัวพัน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนส่วนกลางของลาวที่เดินทางขึ้นไปทำข่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่แขวงหัวพันต้องพัฒนาการกำกับดูแลโครงการขุดค้นแร่ธาตุภายในแขวงให้ดีขึ้น

คำแพง ไซสมแพง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ามาก่อนถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าแขวงหัวพัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2565 ในแขวงหัวพันสามารถผลิตและจำหน่าย Rare Earth ได้ 6,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25.84 ล้านดอลลาร์

วันที่ 5 เมษายน 2567 พูวง หลวงไซซะนะ รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด และแผนควบคุมสิ่งแวดล้อม ของโครงการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทจีเอ็มเอ็ม ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งมีพื้นที่สัมปทาน 5 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านเหมือดและบ้านลุน เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน และโครงการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทลาวเอชพี 2 มายนิ่ง ซึ่งมีพื้นที่สัมปทาน 5 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านถ้ำลาและบ้านนากูด เมืองเฮี่ยน แขวงหัวพัน ซึ่งจัดโดยกรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงหัวพัน

หนังสือจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ แจ้งระงับการขุดค้นและสกัด rare earth ของบริษัทลาว-จีนพัฒนาแร่หายากภาคเหนือ 2 ในเมืองซำเหนือ

……

เหตุการณ์สารเคมีอันตรายจากโครงการขุดค้น rare earth ที่ไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งที่แขวงหลวงพระบางและหัวพัน เป็นเพียง 2 กรณีที่ปรากฏเป็นข่าว และได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ยังไม่มีข้อมูลใดที่ยืนยันได้ 100% ว่า นอกจาก 2 กรณีข้างต้นนี้แล้ว ยังมีกรณีที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่อื่นที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว หรือในอนาคต ยังจะมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ เกิดขึ้นอีกหรือไม่

ทุกวันนี้ ลาวกำลังมีปัญหาขาดแคลนทั้งเงินทุนและเม็ดเงินในระบบงบประมาณของรัฐ การยอมเปิดพื้นที่ในประเทศให้บริษัทต่างชาติเข้าไปขุดค้นทรัพยาธรรมชาติที่มีอยู่หลากหลาย จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น

แม้ว่าเดิมพันที่ลาวต้องนำไปวางไว้ คือสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน…

  • Rare Earth อีกหนึ่งขุมทรัพย์ของจีน…ในลาว