ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ลาวเดินหน้าเขื่อนหลวงพระบาง

ASEAN Roundup อินโดนีเซียก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ลาวเดินหน้าเขื่อนหลวงพระบาง

5 กรกฎาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2563

  • อินโดนีเซียก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง
  • ฟิลิปปินส์รายประชากรได้ต่อหัวเพิ่ม
  • เวียดนามอนุมัติรายชื่อรัฐวิสาหกิจแปรรูป
  • เมียนมากำหนดวันเลือกตั้ง 8 พ.ย. 63
  • กัมพูชาส่งออกข้าวขยายตัว 42% ใน 6 เดือน
  • ลาวเดินหน้าเขื่อนหลวงพระบาง-ประเทศเพื่อนบ้านขอประเมินรอบคอบ
  • อินโดนีเซียก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง

    ที่มาภาพ :https://www.thejakartapost.com/academia/2019/09/03/jakarta-will-become-the-capital-of-southeast-asia.html
    อินโดนีเซียได้เข้าสู่การเป็น ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง หรือ Upper-middle Income Country อย่างเป็นทางการแล้ว จากเดิมที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำจากการจัดกลุ่มประเทศด้วยเกณฑ์รายได้ ของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ผลการประเมินล่าสุด

    ธนาคารโลกจัดกลุ่มประเทศจากรายได้ประชาชาติต่อหัวหรือ Gross National Income (GNI) per capita โดยในปี 2019 อินโดนีเซียมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 4,050 ดอลลาร์ มากกว่าเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และสูงขึ้นจาก 3,840 ดอลลลาร์ในปี 2018

    กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับจะต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 4,046 – 12,535 ดอลลาร์ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 1,036- 4,045 ส่วนประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่า 1,036 ดอลลาร์จัดว่าเป็นประเทศรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเกิน 12,535 ดอลลาร์ขึ้นไปจัดว่าเป็นประเทศรายได้สูง

    “การที่อินโดนีเซียเลื่อนสถานะขึ้นแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและสามารถรักษาการเติบโตได้ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” กระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์ “และจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าของอินโดนีเซีย”

    ธนาคารโลกได้ใช้เกณฑ์นี้ในการประเมินว่า แต่ละประเทศสามารถใช้บริการต่างๆของธนาคารโลกได้

    ในช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียมีความคืบหน้าในการขจัดความยากจน โดยอัตราความยากจนลดลงต่ำกว่า 10% ขณะเดียวกันชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 20% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนราว 52 ล้านคน จากข้อมูลในรายงาน Aspiring Indonesia-Expanding the Middle Class ที่จัดทำโดยธนาคารโลก

    อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า 45% ของประชากรหรือจำนวน 115 ล้านคนยังนับว่าเป็นชนชั้นกลาง เพราะหลุดพ้นความยากจนแต่ยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเต็มที่

    “รัฐบาลยังเดินหน้าปฎิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถในด้านอุตสาหกรรมและลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต” แถลงการณ์กระทรวงการคลังระบุ

    การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 1% ในกรณีฐาน และกรณีเลวร้ายจะหดตัว 0.4% ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีอินโดนีเซียจะเป็น 0% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียโตต่ำสุดในรอบ 19 ปีเพราะจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 2.97% มีคนตกงานกว่า 3.06 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะมีคนตกงานราว 5.5 ล้านคนและ 4 ล้านคนจะตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน

    ฟิลิปปินส์รายประชากรได้ต่อหัวเพิ่ม

    ที่มาภาพ: https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/philippines-covid-19-will-devastate-poor

    ฟิลิปปินส์ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ แม้ รายได้ประชาชาติต่อหัว ของประชากรจะเพิ่มขึ้น

    ธนาคารโลกได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจำแนกประเทศจากรายได้ประชากรต่อหัว ใน 4 กลุ่มคือ กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ กลุ่มประเทศรายได้สูง และจัดแต่ละประเทศให้เข้ากลุ่มตรงกับสถานะโดยใช้รายได้ต่อหัวของประชากร

    ฟิลิปปินส์มีรายได้ประชาชาติต่อหัวในปี 2019 จำนวน 3,850 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากจาก 3,170 ดอลลาร์ ในปี 2018 แต่ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ เพราะเกณฑ์ประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำได้ปรับขึ้นจาก 1,026-3,995 ดอลลาร์

    รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางถึงสูงภายในปี 2022

    นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก อุมาร์ เซรายุดดิน และนาดา ฮามาเดะห์ ระบุว่า เกณฑ์วัดมีการปรับเปลี่ยนทุกปีเพื่อสะท้อนเงินฟ้อ
    ดังนั้นข้อมูล GNI ที่่ใช้ในปีนี้ไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากการะบาดของไวรัสโควิด-19

    เวียดนามอนุมัติรายชื่อรัฐวิสาหกิจแปรรูป 124 แห่ง

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามในคำสั่งอนุมัติ รายชื่อรัฐวิสาหกิจ 124 แห่งเพื่อการแปรรูปในปีนี้ ซึ่ง 120 แห่งจะแปรรูปโดยหน่วยงานตัวแทนของรัฐ(บริษัทสังกัดกระทรวงและคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด) และอีก 4 แห่งจะถูกโอนเข้าบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งรัฐ(State Capital Investment Corporation:SCIC) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม หากหน่วยงานตัวแทนดำเนินการไม่สำเร็จก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน

    ฮานอยมีรัฐวิสาหกิจที่ต้องแปรรูปสูงสุด 28 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทใหญ่ เช่น ผู้ผลิตรองเท้า บริษัทเสื้อผ้าและเครื่องนุ่มห่ม 19 แห่ง

    นอกจากนี้ยังมี 14 รัฐวิสาหกิจที่ต้องโอนไปยัง SCIC ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม ขณะที่ 69 รัฐวิสาหกิจต้องระงับการลงทุนไปจนถึงสิ้นปีเพื่อทบทวนซึ่งรวมถึง 54 แห่งในธุรกิจน้ำ เพราะต้องปรับโครงสร้างในปี 2021-2025

    รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคง คณะกรรมการประชาชนฮานอย SCIC เบียร์ฮานอย กิจการร่วมทุนแอลกอฮอลล์และเครื่องดื่ม บริษัทเวียดนามโทรทัศน์ดาวเทียมดิจิทัล บริษัทร่วมทุนโทรทัศน์เวียดนามทาวเวอร์ อินเวสเม้นท์ และกิจการอื่นที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่อนุมัติครั้งนี้ให้ดำเนินการตามแผนที่ได้รับความเห็นชอบจากทางการ

    การอนุมัติรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปครั้งนี้ เพื่อผลักดันการลดการลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องถือหุ้นลง และเพื่อผลักดันแผนการลงทุนภาครัฐในปี 2016-2020 อีกทั้งเป็นการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะเน้นไปที่ภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

    นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้กระทรวงและประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดดำเนินการแปรรูปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

    นายดินห์ เทียน ดุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในหลายกระทรวงและระดับท้องถิ่นมีความล่าช้า เช่น ในกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กับกระทรวงการก่อสร้าง

    เมียนมากำหนดวันเลือกตั้ง 8 พ.ย. 63

    นางออง ซาน ซูจี ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2015 ที่มาภาพ:http://mizzima.com/news-election-news-youth-elections/suu-kyi-says-her-role-rohingya-controversy-%25E2%2580%2598not-set-one-community

    คณะกรรมการการเลือกตั้ง เมียนมาได้กำหนดให้มี การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่จัดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเรือนในรอบ 6 ทศวรรษ

    การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน มีขึ้นในปี 1960 ขณะที่ยังคงใช้ชื่อเบอร์มา ส่วนรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่นำโดยพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(Union Solidarity and Development Party:USDP) ซึ่งบริหารประเทศในปี 2011-2015 ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 พฤศจิกายน 2015

    คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยว่า ตัวแทนที่มีคุณสมบัติครบสำหรับการเลือกตั้งจะได้รับการเชิญมาลงทะเบียนกับคณะกรรมการช่วงวันที่ 20 กรกฎาคมถึงวันที่ 7 สิงหาคม และคณะกรรมการจะเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 11-17 สิงหาคม เพื่อพิจารณาว่ามีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่จะเป็นผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

    ปัจจุบันเมียนมาพรรคการเมืองจดทะเบียนทั้งหมด 94 พรรค ซึ่งจะแข่งขันชิงที่นั่ง 1,171 ที่นั่งทั้งในรัฐสภาแห่งสหภาพ และในสภาแห่งรัฐและสภาภูมิภาค

    ประธานาธิบดี อู วิน มินท์ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ นาง อองซาน ซูจี ทั้งคู่จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(National League for Democracy:NLD) ก็จะลงรับสมัครเลือกตั้งด้วย พรรค NLD ทำหน้าที่รัฐบาลบริหารตั้งแต่ปี 2016 หลังชนะพรรค USDP ที่ก่อตั้งโดยอดีตนายทหารระดับสูง อย่างขาดลอยในการเลือกตั้งปี 2015 ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันครบวาระตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

    ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ที่ทำงานกับรัฐบาลไม่สามารถเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองได้ คณะกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศว่า รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม หากลงสมัครรับเลือกตั้ง

    รัฐธรรมนูญยังมีบทเฉพาะกาลห้าม อองซาน ซูจี รับตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรค NLD และกลุ่มชาติพันธ์ไม่ประสบความสำเร็จในเดือนมีนาคม เพราะมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาทีไ่ด้รับการแต่งตั้งจากสายทหารและจากพันธมิตรในพรรค USDP

    คณะกรรมการเลือกตั้งจะประกาศวันหาเสียงหลังจากการกลั่นกรองผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 มีการอนุญาตให้หาเสียงได้ 60 วันเลือกตั้ง

    ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกมีจำนวน 37 ล้านคน แต่ไม่รวมทหารและครอบครัว

    กัมพูชาส่งออกข้าวขยายตัว 42% ใน 6 เดือน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50739927/rice-exports-surge-by-42-percent-in-the-first-six-months-of-2020/

    การส่งออกข้าวของกัมพูชาในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 42% จากการเปิดเผยของ กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง

    นายเวง สาคอน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเปิดเผยว่า กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 397,660 ตันในเดือนมกราคม-มิถุนายนปีนี้ เพิ่มขึ้น 42.25% จาก 281,538 ตันในปี 2019 ซึ่งเป็นการส่งออกไปกว่า 56 ประเทศ โดยที่ 24 ประเทศอยู่ในสหภาพยุโรป จีน และอีก 6 ประเทศในอาเซียน ส่วนที่เหลือเป็นประเทศอื่น 28 ประเทศ

    “การส่งออกขาวสารในรอบ 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นในหลายตลาดเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน” นายสาคอนกล่าว

    การส่งออกข่าวสารไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นกว่า 45% ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 25.20% อาเซียนเพิ่มขึ้น 47.7% และประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น 79.26%

    ลาวเดินหน้าเขื่อนหลวงพระบาง-ประเทศเพื่อนบ้านขอประเมินรอบคอบ

    mี่มาภาพ: http://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/pr-luang-prabang-hpp-20200701/

    สปป.ลาวเดินหน้าโครงกาสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ที่หลวงพระบาง หลังจากที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ได้ดำเนินการกระบวนการหารือล่วงหน้า(prior consultation process) 6 เดือนเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่กัมพูชา ไทยและเวียดนามขอให้สปป. ลาวทำการประเมินผลกระทบข้ามแดนอย่างรอบคอบและให้ความสำคัญกับมาตรการที่เสนอเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จาก แถลงการณ์ MRC วันที่ 1 กรกฎาคม

    ในการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการร่วมของ MRC เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนามซึ่งได้รับแจ้งระบุว่า ชื่นชมรัฐบาลลาวที่ได้ส่งโครงการเพื่อขอคำปรึกษาล่วงหน้าและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม รวมทั้งเต็มใจที่จะรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่ทั้งสามประเทศยอมรับอำนาจอธิปไตยและสิทธิของสปป. ลาวในการตัดสินใจในการพัฒนาโครงการหลวงพระบาง ทั้งสามประเทศขอให้สปป. ลาวพิจารณาตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในแบบฟอร์มตอบกลับอย่างเป็นทางการ

    “ควรมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามแดนเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงแผนการและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ควรกำหนดกลยุทธ์การจัดการตะกอนและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ชัดเจน” ข้อเสนอแนะในแบบฟอร์มตอบกลับจากกัมพูชา

    “มีข้อเสนอต่อสปป. ลาวและผู้พัฒนาโครงการ เพื่อจัดตั้งกองทุนและวางมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านเศรษฐกิจสังคม ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม” ข้อเสนอแนะในแบบฟอร์มตอบกลับจากไทย

    “ผลกระทบสะสมของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำกระแสหลักของแม่น้ำโขงทั้งหมดควรได้รับการประเมินอย่างครอบคลุม” ข้อเสนอแนะในแบบฟอร์มตอบกลับจากเวียดนาม

    เวียดนามยังได้ระบุว่า คณะกรรมาธิการ MRC และรัฐบาลของสปป.ลาว ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงในการให้เอกสาร ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการยกระดับวิธีการประเมินผลกระทบ และผลกระทบสะสมและผลกระทบข้ามพรมแดน”

    เพื่อสรุปกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ คณะกรรมการร่วมได้ออกแถลงการณ์ที่แสดงถึงจุดยืนของ MRC โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาวพิจารณาและตอบสนองต่อความเห็นและข้อเสนอแนะในรายงานการทบทวนทางเทคนิคและแบบฟอร์มตอบกลับอย่างเป็นทางการของประเทศที่ได้รับแจ้ง

    “แถลงการณ์สะท้อนถึงความกังวลและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่รวบรวมจากการหารือระดับภูมิภาคและระดับประเทศ มีมาตรการในการหลีกเลี่ยง ลดและบรรเทาผลกระทบข้ามแดนที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้ความสำคัญกับการประสานงานการดำเนินงานของเขื่อน”ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะกรรมการร่วมสำหรับปี 2020 และประธานการประชุมให้ความเห็น

    ในการตอบกลับอย่างเป็นทางการ สปป.ลาว ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่จะจัดการกับผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นตามที่หลายฝ่ายให้ความเห็นและย้ำว่าจะปรับปรุงโครงการ

    “รัฐบาลของสปป. ลาวยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดการกับข้อกังวลที่สำคัญและเปิดรับการมีส่วนร่วม การแบ่งปันข้อมูล การเยี่ยมชมพื้นที่และการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้ามแดนเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญและให้ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ทุกฝ่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” นายชาญธเนศ บัวลาพา สมาชิกคณะกรรมการร่วมจากสปป.ลาว และหัวหน้าคณะผู้แทนสปป.ลาวกล่าวต่อที่ประชุม

    ตัวอย่างเช่น ความปลอดภัยของเขื่อน นายชาญธเนศกล่าวา“ ลาวได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยเขื่อนแห่งใหม่ซึ่งตรงตามและสูงกว่ามาตรฐานสากล และโครงการใหม่ทั้งหมดรวมทั้งโครงการหลวงพระบางจะต้องสอดคล้องกับแนวทางที่เข้มงวดมากขึ้นนี้”

    นอกจากนี้ได้จัดตั้งกลไกในการตรวจสอบโครงการระหว่างการพัฒนา

    ในการประชุม คณะกรรมการร่วมได้ให้ความเห็นชอบแผนงานที่จะดำเนินการหลังผ่านกระบวนหารือ หรือที่เรียกว่า Joint Action Plan (JAP) เพื่อดำเนินการตามคำชี้แจงรวมทั้งเสนอกลไก และแพลตฟอร์มสำหรับการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการรายงานอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการพัฒนาและการดำเนินโครงการ

    “JAP เป็นพื้นที่สำหรับ MRC ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง สปป. ลาวและผู้พัฒนาโครงการ เพื่อเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นและความรู้เกี่ยวกับโครงการหลวงพระบาง ตลอดระยะการพัฒนาและวงจรการดำเนินงาน” ดร. อัน พิช หัตดา เลขาธิการสำนักงานประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

    รัฐฐาลสปป.ลาวได้เสนอโครงการเขื่อนหลวงพระบางเข้าสู่กระบวนการหารือล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และเป็นเขื่อนลำดับที่ 5 ที่ได้นำเสนอต่อกระบวนการหารือล่วงหน้า โดยกระบวนการหารือล่วงหน้าครั้งที่ 6 เริ่มขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2019 และกำหนดจะเสร็จสิ้นวันที่ 7 เมษายน 2020 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับต้องใช้เวลาหรือนาน คณะกรรมการร่วมจึงไม่สามารถสรุปได้จนกระทั่งการประชุมวันที่ 30 มิถุนายน

    สำหรับ ข้อเสนอแนะจากไทยมีดังนี้