ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวยื่นหารือ MRC สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งที่ 6 ในแม่น้ำโขง กัมพูชาสรุป FTA กับจีนเดือนหน้า

ASEAN Roundup ลาวยื่นหารือ MRC สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งที่ 6 ในแม่น้ำโขง กัมพูชาสรุป FTA กับจีนเดือนหน้า

17 พฤษภาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 พฤษภาคม 2563

  • ลาวยื่นหารือ MRC ก่อนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งที่ 6 ในแม่น้ำโขง
  • กัมพูชาสรุป FTA กับจีนเดือนหน้า
  • เวียดนามงดออกใบอนุญาตสายการบินชั่วคราว
  • มาเลเซียไตรมาสแรกโต 0.7% สวนคาดการณ์
  • รมต.แรงงานอาเซียนหารือผลกระทบโควิด-19 กับแรงงาน
  • ลาวยื่นหารือ MRC ก่อนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งที่ 6 ในแม่น้ำโขง

    ภาพโครงการเขื่อนสานะคาม ที่มาภาพ: http://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/laos-to-undertake-prior-consultation-for-sanakham-hydropower-project/

    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ยื่นแผนก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้ให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เพื่อเริ่มกระบวนการหารือล่วงหน้า

    เขื่อนแห่งใหม่นี้จะเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 6 จากเขื่อนที่จะสร้างในแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดใน สปป.ลาว ที่อยู่ในแผน 9 แห่ง

    สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคามนี้เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 6 ซึ่งจะเปิดใช้งานตลอดทั้งปีเพื่อผลิตไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์

    ในแผนที่เสนอให้กับ MRC ซึ่งจะนำไปพิจารณาร่วมประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งไทย กัมพูชา และเวียดนามนั้น รัฐบาลลาวได้ให้ข้อมูลผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านวิศวกรรมและด้านเทคนิค ซึ่งครอบคลุมการประเมินผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการศึกษาผลกระทบต่อตะกอนและการประมง

    การก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้จะเริ่มในปลายปีนี้และแล้วเสร็จในปี 2028 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีเดียวกัน กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขายให้กับประเทศไทย

    ดร.อัน พิช ฮัตดา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า ลาวยื่นเสนอโครงการนี้ให้เป็นการใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำเดียวกันตลอดทั้งปีในแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่จะมีขึ้น การยื่นเสนอมานี้จะทำให้ประเทศสมาชิกและสาธารณชนได้มีข้อมูลรายละเอียดและผลการศึกษษของการใช้น้ำของโครงการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ

    กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการใช้น้ำในแม่น้ำโขง (ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement (PNPCA)) ภายใต้ PNPCA นั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำ การใช้น้ำในหน้าแล้งในพื้นที่เดียวกัน หรือระหว่างหน้าฝนระหว่างลุ่มแม่น้ำบางแห่ง จะต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ซึ่งโครงการที่จะยื่นขอปรึกษาหารือล่วงหน้ามีตั้งแต่โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่อาจจะมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม กระแสน้ำ และคุณภาพของแม่น้ำโขงสายหลัก

    ในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ คณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งได้รับการการสนับสนุนด้านเทคนิคและการบริหารจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะพิจารณาประเด็นทางเทคนิคของโครงการ ประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตตามชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ และเสนอแนะมาตรการเพื่อลดความกังวลนั้น คณะกรรมการร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อได้ข้อตกลงจากข้อเสนอที่ยื่นมาและมีคำตัดสินพร้อมเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ การตัดสินใจนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกการใช้น้ำที่เสนอและการใช้น้ำเมื่อเริ่มโครงการ

    กระบวนการหารือโดยปกติกินเวลา 6 เดือน แต่อาจจะขยายได้หากคณะกรรมการร่วมเห็นสมควร ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการไม่ได้เป็นการตัดสินอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการ แต่สามาาถเสนอให้ปรับเปลี่ยนได้

    เขื่อนสานะคาม มีขนาดยาว 350 เมตร สูง 58 เมตร ติดเครื่องผลิตไฟฟ้า 12 เครื่อง ตั้งอยู่ระหว่างไซยะบุรีและเวียงจันทน์ และอยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาวเหนือจังหวัดเลยของไทยขึ้นไป 2 กิโลเมตร ห่างจากทะเล 1,737 กิโลเมตร ทอดยาวไปทางตอนเหนือของกระแสน้ำ 25 กิโลเมตรในอำเภอสานะคาม ห่างจากนครเวียงจันทน์ 155 กิโลเมตร และห่างจากโครงการเขื่อนปากเล 84 กิโลเมตร

    จากข้อมูลที่สนอเข้ามา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคามนี้มีมูลค่า 2.073 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินส่วนหนึ่ง 27 ล้านดอลลาร์จะใช้ไปในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะก่อสร้างขึ้นโดยบริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคามไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด จากจีน

    กัมพูชาสรุป FTA กับจีนเดือนหน้า

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/cambodia-banks-ftas-boost-economy

    กัมพูชาคาดจะสรุปข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนได้ภายในเดือนหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งหมายของประเทศในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์หลายด้านเพื่อส่งเสริมการส่งออก และการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับหลายประเทศทั่วโลก

    นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชุมเพื่อเตรียมนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเจรจา FTA กล่าวว่า ความตกลงแบบทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรเป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการกระจายการค้า

    นายพันกล่าวว่า FTA มีความสำคัญในการนำประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค “ข้อตกลงนี้นี้มีเป้าหมายที่จะขยายและเพิ่มการเข้าถึงตลาดสำหรับการส่งออกให้กว้างขึ้น”

    นายลอง เขมวิเชฐ โฆษกกระทรวงเปิดเผยว่า การจัดทำข้อตกลง FTA แบบทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ จะทำให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์

    ปัจจุบันกัมพูชาร่วมในข้อตกลง FTA หลายฉบับผ่านกรอบความตกลงของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน “แต่การทำข้อตกลง FTA นี้เป็นก้าวแรกที่เตรียมไปสู่การทำข้อตกลง FTA ที่ถาวรมากขึ้น”

    ก่อนหน้านี้กัมพูชาได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากประเทศพันธมิตร แต่เป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประเทศที่ให้ ซึ่งสามารถถอนสิทธิประโยชน์เมื่อไรก็ได้

    “เพื่อเลี่ยงการถอนสิทธิประโยชน์กะทันหัน เราต้องมีการเจรจาข้อตกลงที่มีผลผูกพันตามกฎหมายกับประเทศพันธมิตร”

    ปัจจุบันกระทรวงมีคณะทำงานศึกษาและเจรจาข้อตกลง FTA จำนวน 8 คณะ

    จีนเป็นประเทศแรกที่เจรจา FTA กับกัมพูชา และเพิ่งปิดการเจรจารอบสองในเดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนหน้า

    สำหรับความเป็นไปได้ในการเจรจาอีก 2 ข้อตกลง คือ การเจรจากับเกาหลีใต้และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียที่มีสมาชิก 5 ประเทศได้แก่ เบลารุส อาร์เมเนีย รัสเซีย คาซักสถาน และคีร์กิซสถาน ขณะที่อังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มองโกเลีย และอินเดีย ยังไม่เริ่มการเจรจา

    นายไก เศรีวัท นักวิจัยจาก Royal Academy of Cambodia ให้ความเห็นว่า ข้อตกลง FTA จะเพิ่มโอกาสทางการส่งออก และเป็นข้อได้เปรียบของประเทศที่ลงนามเพราะไม่ต้องเสียภาษี และภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน ข้อตกลง FTA มีความจำเป็น

    “การทำความตกลงทางการค้าจะทำให้รัฐบาลมีโอกาสส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดประเทศพันธมิตร และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น” แต่กัมพูชาต้องเพิ่มการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพราะ FTA หนุนการค้ากับประเทศอื่น

    ในปีที่แล้วการนำเข้าการส่งออกมีมูลค่า 36.7 พันล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกมีมูลค่า 14.53 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 12.7% การนำเข้ามีมูลค่า 22.19 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 18.6% กัมพูชาขาดดุลการค้ามากขึ้นในปีก่อนมีจำนวน 7.66 พันล้านดอลลาร์

    เวียดนามงดออกใบอนุญาตสายการบินชั่วคราว

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/535536/competition-in-airline-industry-set-to-intensify.html

    เวียดนามจะไม่พิจารณาการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งสายการบินใหม่ชั่วคราว เนื่องจากจะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ก่อน

    นายเหงียน วัน ธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศว่า การพิจารณาใบอนุญาตจัดตั้งสายการบินใหม่จะมีขึ้นอีกครั้งหลังจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว

    ปัจจุบันรัฐบาลมุ่งไปที่การเปิดเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศ และสนับสนุนสายการบินที่ดำเนินธุรกิจอยู่

    ขณะนี้มีสายการบินสองแห่งที่รอการพิจารณาอนุมัติ ได้แก่ ไคต์แอร์ จากกลุ่มธุรกิจบริการ เถียน มินห์ และ เวียดแทรเวลแอร์ไลน์ จากบริษัทท่องเที่ยวเวียดแทรเวล

    เวียดนามมีสายการบินพาณิชย์ที่ให้บริการ 5 ราย ได้แก่ เวียดนามแอร์ไลน์, เจ็ตสตาร์แปซิฟิก, เวียดเจ็ตแอร์, บริษัทเวียดนามแอร์เซอร์วิสเซส และแบมบูแอร์เวย์ แต่ได้กลับมาทำการบินในประเทศแล้ว

    ในช่วงโควิด-19 ระบาด เวียดนามได้สั่งห้ามทำการบินทั้งเที่ยวบินในและต่างประเทศในเดือนมีนาคมและเมษายน ส่งผลให้สายการบินรายใหญ่ 2 แห่ง คือ เวียดนามแอร์ไลน์และเวียดเจ็ตขาดทุน แต่ได้กลับมาทำการบินในประเทศแล้ว ยกเว้นเที่ยวบินต่างประเทศที่ยังคงงดบิน

    มาเลเซียไตรมาสแรกโต 0.7% สวนคาดการณ์

    นูร์ ชัมเซียะห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/banking-finance/malaysia-to-require-banks-to-report-exposure-to-climate-risks

    เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาสแรกขยายตัว สวนทางกับการคาดการณ์ว่าจะหดตัว เพราะผลกระทบต่อการส่งออกและความต้องการในประเทศจากการระบาด

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ขยายตัว 0.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 1.5% แต่ก็ต่ำกว่าที่ขยายตัว 3.6% ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน

    การส่งออกเดือนมีนาคมลดลง 4.7% เมื่อมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ถือว่าหดตัวอย่างมากจากที่ขยายตัว 11.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 4.9% ลดลงมากในรอบเกือบ 10 ปี เงินเฟ้อทั่วไปยังคงชะลอตัวในปีนี้และติดลบ 0.2% จากราคาน้ำมันที่ลดลง

    ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ระบุว่า การระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคที่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจและความต้องการลดลง ซึ่งมาเลเซียเองก็เช่นกัน

    “การระบาดของไวรัสสร้างวิกฤติเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน” นูร์ ชัมเซียะห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์

    เศรษฐกิจมาเลเซียได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ทรุดตัว และความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศทั้งน้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ

    ธนาคารกลางได้ใช้มาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นปีด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% มาที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์คือ 2.0% และผ่อนคลายการดำรงสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนระบบธนาคาร

    นูร์ ชัมเซียะห์ กล่าวว่า ธนาคารกลางไม่สามารถคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจทั้งปี 2020 ได้เนื่องจากมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัส ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว 2% หรืออย่างดีก็ขยายตัวเพียง 0.5%

    ในเอกสารที่เผยแพร่ ธนาคารกลางคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในไตรมาสสอง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี

    รมต.แรงงานอาเซียนหารือผลกระทบโควิด-19 กับแรงงาน

    ที่มาภาพ: https://www.mol.go.th/news

    วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วม ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนสมัยพิเศษ เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ผ่านระบบทางไกล พร้อมด้วยนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อตอบรับกับคำมั่นของผู้นำที่ได้มีการรับรองปฏิญญาการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษเกี่ยวกับโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อเดือนเมษายน 2563 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน สาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนสมัยพิเศษ คือ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับมาตรการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานทุกกลุ่ม และการบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดต่อภาคธุรกิจ เช่น ภาคการท่องเที่ยว การโรงแรม

    โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงแรงงานโดยมุ่งเน้นนโยบายด้านต่างประเทศ สร้างเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 การเข้าถึงสิทธิของแรงงานไทยในต่างประเทศ มาตรการกักตัวเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ฯลฯ นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้กล่าวถึงนโยบายป้องกันและฟื้นฟูของแต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น การส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ การชะลอการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน การส่งเสริมการจ้างงานระยะสั้นสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการส่งเสริมการปรับปรุงและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีขีดความสามารถในการปรับตัว สำหรับแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดการเคลื่อนย้ายประชากร และอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยและต้องขยายอายุใบอนุญาตการทำงานให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

    ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้ร่วมรับรองหลักการของแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานทุกกลุ่ม การให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามแต่นโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อแรงงานต่างด้าว อนึ่ง กระทรวงแรงงานจะเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

    ในตอนท้ายที่ประชุมได้ร่วมหารือกับนายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย