ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อคืนหลับสบายหรือเปล่า? :เรื่องวุ่นๆในกองทัพมะกัน

เมื่อคืนหลับสบายหรือเปล่า? :เรื่องวุ่นๆในกองทัพมะกัน

15 เมษายน 2024


ปิติคุณ นิลถนอม

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีข่าวกรณีปืนใหญ่เรือหลวงชลบุรีลั่นใส่เรือหลวงคีรีรัฐ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ กรณีดังกล่าวต้องรอผลการสอบสวนว่าสาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ เหตุสุดวิสัย หรือแม้แต่จะเป็นความผิดพลาดของกำลังพลเอง

ที่มาภาพ https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8140041#google_vignette

เรื่องทำนองนี้ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในหน้าสื่อเมื่อสมัยก่อน แต่ประมาณไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมามีเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ เช่นกรณีเรือหลวงสุโขทัยเมื่อปลายปี 2565 หรือกรณีรถถังสกอเปียนพลิกคว่ำขณะฝึกร่วมที่ลพบุรีจนมีกำลังพลและนักเรียนนายร้อยเสียชีวิตเมื่อต้นปีเดียวกัน

จังหวะที่มีข่าวเรือรบปืนลั่นใส่กันนี้เอง มีรายงานขององค์กรตรวจสอบภาครัฐแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Government Accountability Office (GAO) เผยแพร่สู่สาธารณะพอดิบพอดี โดยกล่าวถึงเรื่องความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและยุทโธปกรณ์ของกองทัพซึ่งมีความน่าสนใจมาก

ปฐมเหตุของเรื่องนี้เกิดจากการศึกษาของกระทรวงกลาโหม (department of defense) ที่พบว่าความเหนื่อยล้าจากการอดตาหลับขับตานอนของกำลังพล มีผลต่อการทำงานและก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมายในหลายปีที่ผ่านมา ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตและยุทโธปกรณ์ของกองทัพทั้งที่เป็นเรือ ยานพาหนะหรืออากาศยาน เสียหายไปมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สภาคองเกรสซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนจึงขอให้ GAO ในฐานะที่เป็น “หมาเผ้าบ้านแห่งสภาคองเกรส (Congressional Watchdog)” ตรวจสอบและสอบทานอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่ารายงานของกระทรวงกลาโหมถูกต้อง และจะได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรทำอย่างไรในประเด็นการจัดการกับปัญหาการนอนไม่พอหรือไม่มีประสิทธิภาพและการจัดการกับความเหนื่อยล้าของทหารทุกเหล่าทัพของกระทรวงกลาโหม

GAO ตั้งวัตถุประสงค์และคำถามหลักว่ากำลังพลมีการนอนหลับพักผ่อนทั้งเชิงปริมาณที่เป็นชั่วโมงการพักผ่อน และคุณภาพการนอนที่ดีหรือไม่ และกระทรวงกลาโหมจัดการกับปัญหาดังกล่าวดีพอหรือไม่

GAO ทำการตรวจสอบเอกสารแนวปฏิบัติ (fatigue-related guidance) ของกระทรวงกลาโหมที่วางแนวทางไว้มากมายเพื่อให้กำลังพลห่างไกลจากสภาวะเหนื่อยล้าที่เกิดจากการนอนไม่พอ (sleep deprivation) เช่น การกำหนดชั่วโมงการนอนขั้นต่ำ การรณรงค์ให้จำกัดการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน การส่งเสริมให้กำลังพลใช้แอพพลิเคชั่นรักษานาฬิกาชีวภาพของร่างกาย (วงจรเซอร์คาเดียน – circadian rhythm) เพื่อให้รักษาเวลาการกินการนอน

นอกจากนี้ GAO ได้ทำเซอร์เวย์และสัมภาษณ์เชิงลึกด้วย โดยทำการสุ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกำลังพลทุกเหล่าทัพ ได้แก่ ทหารบก เรือ อากาศและนาวิกโยธิน ทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักบิน ผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือกำลังพลที่อยู่ตามฐานปฏิบัติการต่างๆ

จากการตรวจสอบพบว่าการนอนหลับพักผ่อนมีผลต่อสมรรถนะในการทำงาน และความพร้อมรบ (military readiness) รวมถึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงานจนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของกองทัพ

ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/gao-24-105917

“…ครั้งหนึ่งผมเคยขับรถถังแล้วรู้สึกเหมือนจะหลับในแต่ก็พยายามข่มตาไม่ให้หลับ ได้แต่คิดว่าถ้าหลับในไปแล้วไปชนเพื่อนทหารคนอื่นตายคงเป็นเรื่องที่แย่แน่ๆ…”

“…เท่าที่จำได้วันเกิดเหตุผมรู้สึกเพลียมาก ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นข้างหน้าช้ากว่าปกติ จนเครื่องบินที่กำลังแท็กซี่อยู่ในรันเวย์เกือบจะไปชนกับเครื่องบินลำอื่น…”

“…ในวันเกิดเหตุรู้สึกตัวว่าสมองประมวลผลช้ามาก สาเหตุเกิดจากคืนก่อนหน้านั้นนอนน้อย รู้เลยว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอมีความเสี่ยงสูงมากที่จะก่ออันตรายให้กับตนเองและเพื่อนร่วมงาน…”

ข้อความข้างต้น เป็นการเป็นข้อความตัวอย่างที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก สะท้อนให้เห็นว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างสูงที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนี้ยังพบว่า แม้จะมีแนวปฏิบัติให้กำลังพลพักผ่อนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืน แต่จากข้อมูลที่กระทรวงกลาโหมเคยสำรวจ 10 ปีย้อนหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า กำลังพลส่วนใหญ่นอนพักผ่อนเพียง 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามของ GAO ที่พบว่าแม้บางคนจะนอนพักผ่อนตามเวลาที่กำหนด แต่ก็นอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพเพราะสภาพแวดล้อมในการนอนไม่ดี เช่น มีแสงสว่างมากเกินไป มีเสียงดังจากอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอุณหภูมิในห้อง และคุณสมบัติของที่นอนด้วย

สาเหตุประการสำคัญเกิดจากกระทรวงกลาโหมไม่ได้กำหนดหรือมอบอำนาจในการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดโดยเคร่งครัด ทั้งในระดับกระทรวงหรือกองทัพ และในระดับที่เป็นผู้นำหน่วยย่อย GAO ระบุว่าหากไม่มีการกำหนดไว้ให้ชัดเจนก็จะไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้

นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบงานวิจัยของกองทัพที่จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการนอนไม่พอจนเกิดเหตุร้าย และพบว่าในแต่ละกองทัพมีการจัดซื้ออุปกรณ์ Wearable device ให้กับกำลังพล เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเก็บข้อมูลและแจ้งเตือนให้กำลังพลรักษาสุขภาพให้อยู่ในระดับที่ดี รวมถึงใช้ข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์การนอนหลับพักผ่อนและสุขภาพของกำลังพล ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา smart watch กำไลสุขภาพ health tracker รวมถึงสายคาดอกเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ heart rate monitor อย่างไรก็ตามช่วงปี ค.ศ 2017 ถึง 2023 มีหน่วยงานภายในกองทัพ ทั้งทัพบก ทัพเรือ นาวิกโยธิน และทหารอากาศ ที่ทำวิจัยในลักษณะเดียวกันมากถึง 130 โครงการวิจัย ทำให้เกิดสภาวะเบี้ยหัวแตก คือผลการวิจัยอยู่กระจัดกระจาย จึงขาดฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สามารถนำไปวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

สุดท้ายได้มีการเสนอแนะให้กระทรวงกลาโหมทบทวนโครงสร้างการกำกับดูแลเรื่องสวัสดิภาพของพนักงานในการนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้า โดยแนะนำให้มีการมอบอำนาจให้กับผู้บังคับหน่วยย่อยลงไปอย่างชัดเจนว่าใครมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล และต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติเพื่อประเมินผลด้วย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ทำการรวบรวมรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องไว้ในถังกลางเดียวกันเพื่อความเป็นเอกภาพในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล ซึ่งกระทรวงกลาโหมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

…เรื่องนอนเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่คนมักไม่ใส่ใจ แต่จริงๆแล้วมันสำคัญถึงขั้นคอขาดบาดตายเลยก็ว่าได้หากผู้นั้นต้องทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กลไกใดๆ เรื่องนี้คงไม่จำกัดแค่แวดวงทหารเท่านั้นแต่รวมถึงเราๆที่ต้องขับรถในแต่ละวัน จึงต้องหมั่นเตือนตัวเองให้พักผ่อนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ ซึ่งจากงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ว่าการอดตาหลับขับตานอนส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าจนไม่มีสติเทียบเท่ากับการดื่มเหล้า (alcohol intoxication) เลยทีเดียว ผู้เขียนเองอยู่ในวัยหลักสี่แล้ว อาการนอนไม่หลับตอนกลางคืนก็เกิดขึ้นค่อนข้างถี่ จนมีผลทำให้ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงกลางวันอยู่บ่อยครั้ง เห็นทีต้องเตือนตัวเองเช่นกัน…

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.thaipbs.or.th/news/content/338031
https://www.thaipbs.or.th/news/content/324551
https://www.gao.gov/products/gao-24-105917