ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเท่าเทียมทางเพศกับการก้าวสู่ความเป็นเลิศของนักกีฬาหญิง

ความเท่าเทียมทางเพศกับการก้าวสู่ความเป็นเลิศของนักกีฬาหญิง

30 พฤศจิกายน 2019


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

“แม้จะเป็นก้าวเล็กๆของมนุษย์ธรรมดาคนนึง แต่ก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ (That’s one small step for a man, one giant leap for mankind)”

ผู้เขียนคิดถึงคำพูดของ Neil Armstrong เมื่อครั้งเหยียบดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 1962 หลังเกิดปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่มีมนุษย์สามารถวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ได้ภายในเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก

1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที เป็นตัวเลขสถิติที่คนทั่วโลกพูดถึงกัน หลังชายชาวเคนยาวัย 34 ปี นามว่า Eliud Kipchoge เจ้าของคำพูดที่ว่า “No human is limited” ได้วิ่งเข้าเส้นชัยในการวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตร รายการ INEOS 1:59 Challenge ที่สวนสาธารณะ Prater ในกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2562 แม้สมาพันธ์กรีฑาโลกจะไม่รับรองสถิติดังกล่าวเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรฐานของสมาพันธ์กรีฑานานาชาติ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเพราะกำแพง 2 ชั่วโมงได้ถูกทำลายลงแล้ว โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=MoxFkJlVZlA

Eliud Kipchoge ขณะเข้าเส้นชัยและสร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอน 42.195 กม. ได้ภายในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ที่มาภาพ : https://www.dailymail.co.uk/sport/othersports/article-7565337/Eliud-Kipchoge-begins-attempt-beat-two-hour-marathon-barrier-Vienna.html

ข้ามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกมาที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ในอีกเพียงหนึ่งวันถัดมาหลัง Kipchoge สร้างประวัติศาสตร์ Brigid Kosgei นักวิ่งหญิงชาวเคนยา วัย 25 ปี ก็วิ่งในรายการชิคาโกมาราธอน และเข้าเส้นชัยในเวลา 2 ชั่วโมง 14 นาที 04 วินาที ทำลายสถิติโลกที่อยู่ยั้งยืนยงมา 16 ปีลงได้ (เจ้าของสถิติเก่าคือ Paula Radcliffe ชาวอังกฤษ ทำไว้ที่ลอนดอนมาราธอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ด้วยเวลา 2:15:25) นอกจากนั้นยังมีชายพิการขาขาดทั้ง 2 ข้างชาวเคนยานามว่า Marko Cheseto ใช้ขาเทียมที่เรียกว่า double-amputees วิ่งเข้าเส้นชัยและทำลายสถิติโลกในการวิ่งมาราธอนของคนพิการที่ใช้ขาเทียมทั้งสองข้างได้อีก ด้วยระยะเวลา 2 ชั่วโมง 37 นาที 23 วินาที เรียกได้ว่าเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งการทำลายสถิติโลกของกีฬามาราธอนอย่างแท้จริง

Brigid Kosgei นักวิ่งหญิงชาวเคนยา ถ่ายรูปคู่กับ Paula Radcliffe ชาวอังกฤษ เจ้าของสถิติเก่า หลังทำลายสถิติโลกที่อยู่ยั้งยืนยงมา 16 ปีลงได้ (ซ้าย) Marko Cheseto ทำลายสถิติโลกประเภทใช้ขาเทียมทั้งสองข้าง (ขวา) ที่มภาพ : https://www.runnersworld.com/news/a29430378/chicago-marathon-results-womens-winner/ และ https://twitter.com/marathonmarko/status/1184255513044885504/photo/1

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าไม่กี่วันก่อนที่ Kipchoge จะทำลายกำแพง 2 ชั่วโมง ก็มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่เมืองสตุ๊ตการ์ท สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีพรมแดนติดกับออสเตรียเช่นกัน

ในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลก Simone Biles นักยิมนาสติกหญิงแอฟริกัน-อเมริกัน จากสหรัฐอเมริกัน ได้รับเหรียญรางวัลยิมนาสติกโลกเหรียญที่ 25 (เป็นเหรียญทอง 19 เหรียญ) ในชีวิตนักกีฬาของเธอ ทำให้เธอเป็นบุคคลคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกมากที่สุด ก่อนนี้ไม่เคยมีนักกีฬาชายหรือหญิงคนใดเคยทำได้มาก่อน

Simone Biles นักยิมนาสติกหญิงอเมริกัน เป็นคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกมากที่สุด ที่มาภาพ: https://gramho.com/media/2162919595827189551

กรณีของ Simone แม้สร้างประวัติศาสตร์ได้แต่ก็เป็น ข่าวที่ “แผ่ว” มากเหลือเกิน จนหลายคนอาจจะไม่ทราบเลยด้วยซ้ำไปว่ามีการทำลายสถิติโลกดังกล่าวอยู่ เรื่องนี้มองอีกนัยหนึ่งมีความสำคัญมาก ความแตกต่างของเพศสภาพ และร่างกายนั้น โดยปกติแล้วจะนำมาเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติไม่ได้ แม้การนำเสนอข่าวอาจจะไม่ได้มีนัยยะประการใดที่จะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างชายหรือหญิง เพราะต้องยอมรับว่าข่าวของ Kipchoge มันยิ่งใหญ่จริงๆ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่าชายหรือหญิง เพศที่สาม หรือแม้แต่คนพิการก็ควรจะได้รับการปฏิบัติ การยอมรับและการชื่นชมในความสำเร็จจากคนในสังคมไม่แตกต่างกัน

คำถามถัดมาคือเหตุใดนักกีฬาหญิงชาวอเมริกัน ถึงได้ประสบความสำเร็จสูงสุดในเวทีโลกถึงขนาดนี้ ทั้งฟุตบอลที่เราทราบกันดีว่าเป็นทีมที่ไร้เทียมทาน รวมถึงยิมนาสติกที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ทั้งๆที่ว่ากันไปแล้วมันไม่ใช่กีฬายอดนิยมในสหรัฐอเมริกาเลย
ในเรื่องนี้คำตอบคือ ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม ในแบบที่ “จับต้องได้” แต่กว่าจะมีมาตรการนี้ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวในเรื่องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมมาอย่างหนักหน่วง

ย้อนกลับไปก่อน ค.ศ. 1920 สุภาพสตรีชาวอเมริกันยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ชายเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงคะแนนและมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สังคมเห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนกองทัพและประเทศในช่วงสงคราม ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 19 หรือ Nineteenth Amendment (Amendment XIX) ให้พลเมืองสตรีชาวอเมริกันมีสิทธิเลือกตั้ง (Women’s Suffrage) ในระดับชาติได้เป็นครั้งแรก ในสมัยของประธานาธิบดี Woodrow Wilson

แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว แต่ความเท่าเทียมในด้านอื่น รวมถึงในด้านกีฬาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ดังจะเห็นได้จากกรณีเมื่อปี ค.ศ. 1967 ที่หญิงสาวรายหนึ่งชื่อ Kathrine Switzer พยายามเข้าแข่งขันวิ่งรายการบอสตันมาราธอนซึ่งในขณะนั้นยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าแข่งขันได้ Kathrine ได้ใช้ชื่อย่อว่า K.V. Switzer ในการสมัครแข่งขัน ซึ่งในระหว่างวิ่งนั้นเจ้าหน้าที่สนามได้พยายามขัดขวางเธอ และดึง Bib เบอร์วิ่งของเธอออก แต่เจ้าหน้าที่รายนั้นก็ถูก Thomas Miller แฟนหนุ่มของ Kathrine ผลักล้มลงไป ทำให้เธอได้วิ่งต่อจนจบ เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่วิ่งบอสตันมาราธอนสำเร็จ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1972 รายการนี้ถึงเปลี่ยนกฎให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันได้

Kathrine ในการวิ่งบอสตันมาราธอนเมื่อปี ค.ศ. 1967 (ซ้าย) Kathrine ในอีก 50 ปีต่อมาระหว่างวิ่งบอสตันมาราธอน เมื่อปี ค.ศ. 2017 (ขวา) ที่มาภาพ : https://time.com/4742299/boston-marathon-kathrine-switzer-50th-anniversary/

ปี ค.ศ. 1972 ที่มีการเปลี่ยนกฎให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันบอสตันมาราธอนได้นี้เองเป็นปีเดียวกับปีที่รัฐบาลบาลกลางพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสในการพัฒนาตนเองเหมือนๆกับผู้ชาย และในที่สุดสภาคองเกรสได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขสิทธิในสถานศึกษาขึ้น หรือ Education Amendments 1972 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในสถาบันการศึกษา นิยมเรียกกันว่า “Title IX” (ไทเทิล 9) โดยต่อมาเปลี่ยนชื่อให้เป็นเกียรติแก่ผู้เสนอกฎหมายว่า Patsy T. Mink Equal Opportunity in Education Act หลังนาง Pasty อดีตสมาชิกสภาคองเกรสได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2002

กฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศในสถานศึกษาที่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาล ในการนี้กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่งเปิดโอกาสในการเลือกเล่นกีฬาอย่างเท่าเทียมกันทั้งนักเรียนหญิงและชาย อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยพบว่าในทางปฏิบัตินั้นยังคงเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากสถานศึกษาบางแห่งปล่อยปละละเลย และไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง

ในปี ค.ศ. 2011 ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ออกแนวทางเพื่อเตือนสถานศึกษาถึงหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิในโรงเรียนตาม Title IX นอกจากนี้ยังได้มีการออกแนวทางเพื่อความชัดเจนขึ้นในการปฏิบัติตาม Title IX ว่าต้องคุ้มครองรวมไปถึงกลุ่มนักเรียน LGBT หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

ในเรื่องนี้หัวหอกสำคัญที่เห็นปัญหาและมุ่งที่จะแก้ไข ตลอดจนส่งเสริมให้บทบัญญัติข้างต้นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง คือองค์กรตรวจเงินแผ่นดินสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Government Accountability Office (GAO) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าสถานศึกษาของรัฐมีการดำเนินงานตาม Title IX อย่างไร เพื่อที่จะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปรับปรุงแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

GAO ได้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะที่เกิดประโยชน์ในการแก้ไข หรือพัฒนาการปฏิบัติตาม Title IX เรื่อยมา โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2017 และ 2018 GAO ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมในการเล่นกีฬาในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีผลการตรวจสอบที่น่าสนใจดังนี้

ตารางแสดงผลการตรวจสอบเรื่องความเท่าเทียมในการเล่นกีฬาในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของ GAO ที่มา – สรุปข้อมูลจาก https://www.gao.gov/assets/690/687164.pdf และ https://www.gao.gov/assets/700/691715.pdf
ภาพแสดงข้อตรวจพบของ GAO ที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-17-754R?utm_source=blog&utm_medium=social&utm_campaign=watchblog

การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ตลอดจนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของ GAO เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชายในการเล่นกีฬาตั้งแต่เป็นเด็กๆ เรียกได้ว่า “อยากเล่นต้องได้เล่น” จุดนี้เองทำให้ผู้หญิงมีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านกีฬาที่มีความชอบและมีความถนัด ทำให้ผลิตนักกีฬาหญิงที่มีความสามารถได้มากมาย จนสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

“นอกจากเรื่องกีฬายังมีอีกหลายประเด็นที่มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสตรี ที่ GAO ได้เสนอแนะรัฐบาลกลาง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของสถาบันการเงิน หรือการเข้าไปนั่งในคณะกรรมการบริหารบริษัทจดทะเบียน การส่งเสริมให้เข้าสู่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น จนมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น จนล่าสุด NASA ได้ส่งนักบินอวกาศหญิง 2 คนออกไป Space walk ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีผู้ชายออกไปด้วย”

นอกเหนือจาก GAO แล้ว องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ และเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุง พัฒนาบริการสาธารณะและโครงการภาครัฐให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทรัพยากรของรัฐเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเสมอภาคกัน

องค์กรตรวจเงินแผ่นดินขยายบริบทการตรวจสอบจากเดิมที่เน้นการตรวจสอบตามหลัก 3Es คือมีความประหยัด (economy) มีประสิทธิภาพ (efficiency) มีประสิทธิผล (effectiveness) หรือไม่ ต่อมามีการขยาย E ที่ 4 และ 5 คือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (environment) มากน้อยเพียงใด และมีความเท่าเทียมกัน (equality) หรือไม่ และมีการขยายไปถึง E ที่ 6 ด้วย คือหน่วยงานภาครัฐมีจริยธรรม (ethics) ได้มาตรฐานหรือไม่ เพียงใด ดร. สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ได้เขียนอธิบายถึงหลัก 6 Es ไว้ในบทความเรื่อง องค์กรตรวจเงินแผ่นดินกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ที่สนใจโปรดดูที่นี่

ในการประชุมองค์การสถาบันตรวจสอบสูงสุดนานาชาติ (International Congress of Supreme Audit Institutions (INCOSAI)) หรือการประชุม สตง. โลก ครั้งที่ 23 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันถึงเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย โดยหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาขององค์การสถาบันตรวจสอบสูงสุดนานาชาติ หรือ INTOSAI Development Initiatives (IDI) ได้จัดงานเสวนาพิเศษในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

ในการเสวนาดังกล่าวองค์กรตรวจเงินแผ่นดินทุกประเทศมีเจตจำนงร่วมกันที่จะทำการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างให้รัฐบาลปรับปรุงบริการสาธารณะและโครงการภาครัฐให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทรัพยากรของรัฐเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเสมอหน้ากันไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกได้พูดคุยและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ในการเสวนาดังกล่าวมีประเด็นสำคัญเช่น การทำหน้าที่ประเมินผลการทำงานของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และการที่องค์การตรวจเงินแผ่นดินจะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง (leading by example) ในการบริหารงานภายในของตน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้หน่วยงานอื่นเห็น เรียกได้ว่าจะต้องเป็นองค์กรต้นแบบนั่นเอง

ที่ประชุมยังเห็นสอดคล้องต้องกันว่าการผลักดันให้รัฐบาลจัดทำโครงการที่จะตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) อันเป็นพันธกรณีของทุกประเทศที่จะต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย 17 เป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 ให้ได้นั้น ความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้

ในส่วนของประเทศไทยนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เช่น ในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555

โดยกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กองทุนฯ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,111.06 ล้านบาท โดยรายงานผลการตรวจสอบที่เผยแพร่ต่อประชาชนระบุว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินจำนวนมากให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย” พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป ผู้สนใจรายละเอียดโปรดดู ที่นี่

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากประชากรในประเทศมีศักยภาพสูงแล้วย่อมส่งผลต่อการพัฒนาชาติด้วย แต่ประชาชนจะมีศักยภาพเช่นว่านั้นได้ย่อมต้องมีโอกาสในการเลือกทางเดินในการใช้ชีวิตและพัฒนาตนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง โอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเอง รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกีฬา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือด้านอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้เลยในการพัฒนาคนซึ่งส่งผลโดยตรงถึงการพัฒนาชาติ กรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่มีการบังคับใช้กฎหมาย Title IX เพื่อพัฒนาด้านกีฬาของนักเรียนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็กเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าความเท่าเทียมกันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงสามารถพัฒนาด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศได้ในที่สุด ความสำเร็จของนักยิมนาสติกหญิงชาวอเมริกันอย่าง Simone Biles น่าจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด

ในปัจจุบัน องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกเห็นพ้องกันว่าความเท่าเทียมกันเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้พยายามอย่างหนักที่จะเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลเพื่อให้จัดทำบริการสาธารณะหรือโครงการที่ส่งเสริมความเท่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ความเท่าเทียมกันไม่อาจสำเร็จได้ด้วยรัฐบาลหรือองค์กรตรวจเงินแผ่นดินโดยลำพัง แท้จริงแล้วต้องใช้พลังของสังคมทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จลงได้

แต่สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือทัศนคติของคนในสังคมที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย ความคิดที่ว่าชายเป็นใหญ่ ควรจะต้องหมดไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ฉากผู้ชายทำร้ายผู้หญิงที่เห็นในละครน้ำเน่าบางเรื่องก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าการที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ เป็นเพราะการแต่งตัวของเธอเอง สิ่งนี้ก็สะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคมอยู่ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม หากแนวคิดแบบนี้ยังไม่เลือนหายไปจากสังคมความเท่าเทียมก็คงเป็นเพียงคำโก้หรูที่พูดเพื่อให้ดูดีเท่านั้นเอง

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน

https://www.youtube.com/watch?v=MoxFkJlVZlA

https://www.dailymail.co.uk/sport/othersports/article-7565337/Eliud-Kipchoge-begins-attempt-beat-two-hour-marathon-barrier-Vienna.html

https://time.com/4742299/boston-marathon-kathrine-switzer-50th-anniversary/

https://www.runnersworld.com/news/a29430378/chicago-marathon-results-womens-winner/

https://twitter.com/marathonmarko/status/1184255513044885504/photo/1

https://gramho.com/media/2162919595827189551

https://www.gao.gov/products/GAO-17-754R?utm_source=blog&utm_medium=social&utm_campaign=watchblog

https://www.gao.gov/products/GAO-18-425?utm_source=blog&utm_medium=social&utm_campaign=watchblog

https://thaipublica.org/2019/06/sutti-10/

http://www.idi.no/en/all-news/idi-news/item/412-gender-equality-is-a-must

https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/inspection-results/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5.pdf