ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว: เรื่องบ้านๆที่ไม่ใช่แค่เรื่องในบ้าน

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว: เรื่องบ้านๆที่ไม่ใช่แค่เรื่องในบ้าน

3 ธันวาคม 2021


ปิติคุณ นิลถนอม

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวใหญ่ในหน้าสื่อต่างๆที่แทรกเข้ามาท่ามกลางข่าวโควิด การเปิดประเทศ และน้ำท่วม ที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ การตัดสินของศาลฎีกาให้จำคุกมารดาของอดีตภรรยาอดีตนักยิงปืนทีมชาติไทย เป็นเวลา 25 ปี ข้อหาจ้างวานฆ่าลูกเขย รวมถึงทีมที่ลงมือต่างก็ต้องโทษทั้งประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งสังคมทราบดีว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการที่ฝ่ายชายใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายหญิงเป็นอาจิณ จนทำให้มีการตัดสินใจยุติปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว

ข่าวนี้สร้างความหดหู่ใจให้สังคมไม่น้อย เพราะหากมองด้วยเลนส์ของคนในครอบครัวแล้ว คงจะทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส คนนึงต้องเสียชีวิต คนนึงต้องมีแผลในใจที่ถูกข่มเหงทำร้าย และต้องสูญเสียเวลาอันมีค่าที่จะอยู่กับคุณแม่ไปโดยไม่อาจมีวันรู้ได้เลยว่าจะได้กลับออกมาพบกันอีกหรือไม่ เพราะคุณแม่ก็ชราภาพพอสมควรแล้ว คุณแม่เองก็ต้องสูญเสียอิสรภาพ รวมถึงลูกก็ต้องสูญเสียทั้งบิดาไปยังไม่มีวันหวนกลับ
ยังไม่นับรวมผลร้ายต่อตัวลูกหลานที่เห็นภาพความรุนแรงดังกล่าวตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อชีวิตของพวกเขา เนื่องจากทางวิทยาศาสตร์มีงานวิจัยสนับสนุนแล้วว่าสภาพแวดล้อมที่รุนแรงจะก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ

สาเหตุประการหนึ่งที่ฝ่ายชายมักใช้อำนาจบาตรใหญ่และความรุนแรงไม่ว่าจะทางกาย การข่มเหงด้วยวาจา หรือใช้พฤติกรรมใดอันเป็นการข่มขู่คุกคาม จนทำให้เป็นการทำร้ายจิตใจของฝ่ายหญิง อาจเป็นเพราะธรรมชาติที่ผู้ชายมีความแข็งแรงทางกายภาพมากกว่า รวมถึงบริบทวัฒนธรรมต่างๆ ที่ฝ่ายชายมักจะเป็นใหญ่ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย แอฟริการวมถึงกลุ่มประเทศมุสลิม ด้วยความคิดที่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและมองอิสตรีเหมือนสิ่งของ ซึ่งมักนำไปสู่ความคิดที่ว่าจะทำอะไรกับเธอเหล่านั้นก็ได้ แม้กระทั่งการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมความเชื่อผิดๆที่สะสมกันมา แม้กระทั่งโลกในยุคดิจิตอลอย่างปัจจุบันแนวความคิดที่ตกยุคดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่

องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้ให้คำนิยามคำว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงคือการกระทำใดๆอันเป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลทางกายภาพ ทางเพศ หรือทำร้ายจิตใจให้เกิดทุกข์ทรมาน การข่มขู่เช่น การคุกคามเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและส่วนตัว ซึ่งในภาพรวมของโลกนั้นมีรายงานว่าสตรีและเด็กผู้หญิงอายุ 15-49 ปี ถึง 1 ใน 5 เคยถูกคู่สมรสทำร้ายทางกายหรือทางเพศ โดยใน 49 ประเทศยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว ส่วนในเมืองไทยกรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่ปี 2559 – 2563 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 1,400 รายต่อปี และความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี จากผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงเมษายน 2563 พบว่ามี 87% เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 9 % เป็นความรุนแรงทางเพศ 4% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ

นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าในช่วงการแพร่ระบาดของ covid 19 มีสถิติที่ผู้หญิงถูกคู่สมรสหรืออดีตคู่สมรสทำร้ายมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องมาจากความเครียดโดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ในครอบครัว รวมถึงการใช้ยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีสถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมาอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ และสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่มา: https://healthsciences.usask.ca/news-and-announcements/announcements/2020/march-sdg-spotlight-goal-5.php

ส่วนของปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ภาคประชาสังคมที่ทำงานอย่างหนักเกี่ยวกับประเด็นการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในหลายแห่งได้อธิบายปัญหาไว้ในทำนองที่สอดคล้องกันว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงนั้นมีอยู่หลายประการ อาทิ ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดีเพราะไม่รู้ว่าจะถูกทำร้ายเพิ่มหรือไม่หากฝ่ายชายล่วงรู้ว่ามีการแจ้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงบางครั้งก็ไปเจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมรับแจ้งความ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องในครอบครัวและพยายามจะไกล่เกลี่ยโดยบอกให้เห็นแก่ลูกหรือครอบครัว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงฝ่ายหญิงแม้แต่น้อย อันเป็นการขัดต่อหลักการใช้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางหรือ Survivor-centered approach ซึ่งบางท่านให้มุมมองว่าหากฝ่ายหญิงต้องการจบความสัมพันธ์ก็ต้องตามใจ เพราะการทู่ซี้ให้ใช้ชีวิตร่วมกันต่อ โดยที่อีกฝ่ายไม่ถูกดำเนินคดีและแก้ไขพฤติกรรมให้ดีขึ้น ก็รังแต่เป็นการส่งเสริมให้ความรุนแรงดังกล่าวมากขึ้น และรอวันที่จะระเบิดออกมา

หลักการใช้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางหรือ Survivor-centered approach
เน้นการช่วยเหลือผู้หญิงอย่างเป็นระบบโดยเน้นการร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ เพื่อดูแลทั้งด้านสุขภาพกายใจ
ความปลอดภัย และการดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : https://www.slideserve.com/nanda/gbv-in-humanitarian-settings

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของตัวเจ้าหน้าที่ที่ในบางครั้งไม่มีองค์ความรู้หรือทักษะในการจัดการ เพราะไม่ได้ศึกษาและฝึกฝนมา เช่น การให้เหยื่อและผู้กระทำผิดมาเผชิญหน้ากันทั้งๆที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาทั้งทางกายและจิตใจ การใช้คำพูดที่เป็นการซ้ำเติมเหยื่อ เป็นต้น ซึ่งหากมีการปรับปรุงให้มีความมั่นใจว่าเมื่อแจ้งภาครัฐแล้วจะได้รับการช่วยเหลือที่ดีอย่างทันท่วงที ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อกล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมมากขึ้น

ผู้หญิงที่อยู่ในสถานที่ที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล และสถานีตำรวจ รวมถึงไม่มีช่องทางอื่นที่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองและรักษาพยาบาลได้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหญิงต้องทุกข์ทนกับปัญหา และหากมองในมุมของตัวบทกฎหมายแล้ว ในบางประเทศยังมีกฎหมายที่กดขี่ผู้หญิงอยู่ เช่น ในประเทศยูกันดาก่อนมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2021 ผู้หญิงไม่มีสิทธิเป็นผู้สืบสันดานรับมรดกจากบิดามารดา คงจะมีเฉพาะแต่ลูกหลานที่เป็นผู้ชายเท่านั้น จึงทำให้ผู้หญิงแทบจะไม่มีโอกาสมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆเลย การแต่งงานแล้วอยู่กับผู้ชายย่อมต้องพึ่งพาอาศัยรายได้ของฝ่ายชายเป็นสำคัญ และหากสุดท้ายต้องเลิกรามักจะถูกไล่ออกจากบ้านแบบสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่ที่ทำกิน

ในมุมของสังคมก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน คือทัศนคติของคนในชุมชนรอบข้างก็มักจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของตัว หรือหากเข้าไปยุ่งแล้วเมื่อเขาคืนดีกันก็กลายเป็นหมา ความคิดเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครอยากจะยุ่ง และเป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะหากความรุนแรงอยู่ข้างบ้านแต่ไม่รู้สึกอะไรย่อมเป็นการเติมน้ำมันลงบนกองไฟโดยไม่รู้ตัว

ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงอยากพาทุกท่านไปสำรวจว่าในโลกของเรามีความพยายามจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาลำพังของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นปัญหาของโลกนี้เลยก็ว่าได้

ดังจะเห็นได้จากความพยายามของชาวโลกตั้งแต่ปี 2000 ที่สมาชิกสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษหรือ MDG ซึ่งในเป้าหมายที่ 3 ก็ได้พูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไว้ พอครบ 15 ปีตามกำหนดแล้ว ในปี 2015 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลกก็ให้ความเห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยมีเป้าหมายหนึ่งที่อุทิศให้กับการแก้ไขปัญหานี้เลย คือเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ และเป้าหมายย่อยที่ 5.2 ที่ต้องการขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่นซึ่งแน่นอนประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลกต่างรับเอาหลักการดังกล่าวไปแปลงเป็นเป้าและแผนการทำงานในประเทศตน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 โดยจะต้อง “ปิดจ๊อบ” ให้สำเร็จภายในปี 2030

ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หน่วยงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันในกระบวนการยุติธรรม ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ตรวจสอบภาครัฐหรือ auditor ที่เอาเข้าจริงแล้วใครๆ ก็คงนึกไม่ถึงว่าจะเข้าไปร่วมวงไพบูลย์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากที่ประชุมใหญ่ของหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกหรือ International Organization of Supreme Audit Institutions (INTOSAI) ได้ขานรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2016 ตามเอกสารที่เรียกว่าปฏิญญาอาบูดาบี และมีพัฒนาการมาโดยลำดับ เช่นในปี 2017 มูลนิธิเพื่อการส่งเสริมการตรวจสอบและความพร้อมรับผิดแห่งแคนาดา ได้พัฒนาคู่มือการตรวจสอบความเท่าเทียมทางเพศ ปี 2019 หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกมีฉันทามติร่วมกันผ่านปฏิญญามอสโกในการมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบและประเมินเป้าหมายของชาติที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย ซึ่งในปีเดียวกันเองโดยการตรวจสอบแห่งประเทศฟิจิได้ทำการตรวจสอบประเด็นประสิทธิภาพของการประสานงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงแก่ผู้หญิงจนนำไปสู่การรายงานต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภา

ภาพปกรายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน
ประเด็นการประสานงานเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงของ Office of the Auditor-General of Fiji
ที่มา : http://www.parliament.gov.fj/

ส่วนในประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้ว่ามีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ที่ได้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขหลังมีข้อตรวจพบที่ระบุในรายงานว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินจำนวนมากให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย”

พัฒนาการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของผู้ตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกคือการพัฒนาคู่มือการตรวจสอบที่เรียกว่า IDI’s SDG Audit Model (ISAM) โดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เรียกว่า INTOSAI Development Initiatives (IDI) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกนำไปใช้ทำการตรวจสอบและรายงานผล ทั้งนี้กรณีศึกษาที่นำมาใช้คือการตรวจสอบกระบวนการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่ชายกระทำต่อหญิงคู่ชีวิต

ในปัจจุบันหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐแห่งประเทศยูกันดา (Office of the Auditor General of Uganda) ได้ใช้คู่มือการตรวจสอบ ISAM เพื่อตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพว่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศที่จะจัดการกับปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ (Elimination of Intimate Partner Violence Against Women) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายย่อยที่ 5.2 ของ SDG นั้นเป็นไปตามแผนหรือไม่ มีจุดใดที่ต้องแก้ไข และมีการกำหนดเป้าหมายของประเทศไว้เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจสอบจะออกในช่วงปีหน้า และจะกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้กับทุกประเทศทั่วโลกในการตรวจสอบและเสนอแนะรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

Ms. Keto Kayemba ผู้ช่วยผู้ว่าการของ Office of the Auditor General of Uganda ให้สัมภาษณ์ว่าทำไมถึงตรวจสอบประเด็นความรุนแรงในชีวิตคู่ (ซ้าย) โครงการตรวจสอบการปฏิบัติเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ชาติด้านการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายย่อยที่ 5.2 (ขวา) ที่มา : https://www.idi.no/work-streams/relevant-sais/auditing-sdgs/audit-sdgs-implementation/cooperative-audit-sdg-implementation/sdg-5-2-eipvw

โครงการตรวจสอบข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากธรรมชาติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติมีความซับซ้อน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจัดกระจายอยู่ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมถึงมีที่ตั้งอยู่ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในการตรวจสอบให้เกิดมรรคเกิดผลจึงต้องใช้วิธีที่เรียกว่า Whole-of-the Government Approach ซึ่งจะดูภาพรวมทั้งหมด ไม่ดูเพียงหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมีหน่วยงานและโครงการที่มุ่งไปสู่จุดหมายที่หลากหลาย โดยจะเน้นการดูความสอดคล้องต้องกัน (coherent and integration) ของทุกหน่วยงานเพื่อให้เกิดพลังในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน (synergy) ไม่ให้มีสภาวะลักลั่น ซ้ำซ้อนและย้อนแย้งกัน เพื่อไม่ให้การทำงานของหน่วยงานหนึ่งไปส่งผลกระทบเชิงลบต่ออีกหน่วยงานหนึ่ง (trade-off) และจะดูทั้งนโยบายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานดังกล่าว ทั้งแนวระนาบ (horizon) คือหน่วยงานกระทรวงทบวง กรม และแนวดิ่ง (vertical) คือ ความสอดคล้องกันระหว่างรัฐบาล ส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังดูไปถึงว่าภาครัฐมีการดึงภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านหรือไม่ เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมของสังคมทั้งหมด (whole of the society) รวมถึงพิจารณาว่าให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกระทำและทุกข์ทนกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลจากสถานพยาบาล สถานีตำรวจ รวมถึงหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ ให้มีโอกาสในการสะท้อนถึงปัญหาเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทราบปัญหาที่ตรงจุด ตามหลักการเข้าถึงผู้ที่อยู่ไกลที่สุดก่อน (reach furthest behind first)

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จำแนกกลุ่มเปราะบางไว้ 5 ลักษณะ คือ จากสภาพภูมิศาสตร์ การถูกกีดกัน ได้รับผลจากความรุนแรง การบริหารของรัฐ สภาพเศรษฐกิจสังคม ที่มา :https://www.oecd-ilibrary.org/sites/9789264309333-25-en/index.html?itemId=/content/component/9789264309333-25-en

ผู้ตรวจสอบภาครัฐจะใช้หลักการข้างต้นในการตรวจสอบเป้าหมายของชาติที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อประเมินผลว่ารัฐบาลใกล้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ เหลืออีกไกลแค่ไหน และทำอย่างไรถึงจะถึงฝั่งฝัน โดยจะดูตั้งแต่นโยบายและแผน วิธีการปฏิบัติตามแผน รวมถึงการติดตามและประเมินผล ซึ่งจากคู่มือต่างๆ รวมถึงประสบการณ์และแนวทางที่ผู้ตรวจสอบภาครัฐทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนกันสามารถฉายภาพแนวทางการจัดการปัญหาที่ควรทำดังนี้

เมื่อเกิดเหตุ ตำรวจต้องรับแจ้งความ แยกผู้กระทำผิดออกจากเหยื่อ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและบำบัดฟื้นฟูแก้ไขพฤติกรรมให้กลับมาเป็นคนปกติ หากเกินเยียวยาก็จะต้องตัดออกจากสังคม ในฝั่งของผู้เสียหายนั้นหน่วยงานด้านความยุติธรรมจะต้องมีระบบการคุ้มครองพยานที่เข้มแข็ง โรงพยาบาลต้องรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ และต้องมีประสานงานกัน เช่น เมื่อมีการมารักษาที่โรงพยาบาล หากเห็นว่าเป็นการบาดเจ็บจากการทำร้ายร่างกายมาทางโรงพยาบาลก็จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ในพื้นทั้งส่วนภูมิภาคหรือสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้วแต่กรณี รวมถึงภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานในด้านนี้อยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือในทุกมิติทั้งการบำบัดฟื้นฟู การให้คำปรึกษา และการประกอบอาชีพและรายได้ ซึ่งจะทำงานร่วมกันได้อย่างสอดรับกันก็ต่อเมื่อมีการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลของทุกภาคส่วนข้างต้นเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการปิดช่องว่างของหน้างานที่ไม่มีเจ้าภาพ และใช้เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผล รวมทั้งความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาในแต่ละราย รวมถึงประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพรวมเพื่อสรุปผลและปรับปรุงแผนการทำงานต่อไป

นอกจากนี้ฐานข้อมูลที่สมบูรณ์จะทำให้มีการจำแนกข้อมูลออกมาในแบบต่างๆ (data disaggregation) เช่น กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ ภูมิลำเนา ฯลฯ ได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้สำนักงานสถิติต้องเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานข้างต้น และสำนักงบประมาณก็จะต้องจัดสรรงบประมาณให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการจะต้องสำรวจหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาระดับสูงเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ที่ให้เกียรติฝ่ายหญิงและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง หากเห็นผู้ถูกละเมิดก็จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ และสร้างค่านิยมให้กับสังคมว่าการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือต้องเลิกรากับสามีเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความล้มเหลวในชีวิต เพื่อให้สังคมมองผู้หญิงใหม่ อันจะทำให้เป็นการลดแรงกดดันต่อผู้หญิงลง เพราะมีหลายกรณีที่ผู้หญิงต้องจำทนอยู่กับฝ่ายชายต่อเพื่อรักษาคำว่าสถาบันครอบครัวไว้ตามบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าล้มเหลวในชีวิต

นอกเหนือจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐแล้ว การประสานพลังกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันกับประเด็นการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงซึ่งอยู่ในพื้นที่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สามารถเข้าไปสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเคียงคู่กับภาครัฐได้ ซึ่งย่อมจะเสริมส่วนขาดของภาครัฐที่มีกฎระเบียบมากมายทำให้เป็นการอุดช่องว่างในเรื่องของความล่าช้าได้เป็นอย่างดี

การรับฟังความเห็นเพื่อจัดการกับปัญหาจากกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลระบบบริการสาธารณะจะนำไปสู่การจัดการระบบที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าถึงความช่วยเหลือผ่านช่องทางที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที

สิ่งต่างๆข้างต้นจะสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงทุกคนว่าจะได้รับความคุ้มครองที่เท่าทันต่อสถานการณ์ และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะหากมีการบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติตามแผนงานในหน้าที่อย่างเข้มข้นแล้ว ย่อมเป็นการเสริมพลังให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะออกมาขอความช่วยเหลือ อาจกล่าวได้ว่าระบบที่ดีย่อมทำให้มั่นใจว่าการออกมาเรียกร้องจะส่งผลที่ดีต่อตนและลูก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง หาใช่การจัดการกับปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ที่จัดการกับปัญหาแบบต่างคนต่างทำโดยปราศจากความเข้าใจ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายหญิงไม่กล้าที่จะออกมาปกป้องตนเอง เพราะไม่มั่นใจว่าจะส่งผลร้ายต่อตนและลูกหรือไม่

โดยสรุปควรจะต้องมีทั้งกฎหมาย นโยบาย ที่เอื้ออำนวยให้หน่วยงานทำงานสอดคล้องกันและเสริมพลังซึ่งกันและกัน มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลร่วมกันโดยมีระบบติดตามประมวลผลที่เป็นปัจจุบัน ไม่ให้เกิดภาวะลักลั่น ซ้ำซ้อน ย้อนแย้งกัน และต้องมีทรัพยากรทั้งคนที่มีศักยภาพ งบประมาณที่เพียงพอ การดึงภาคส่วนต่างๆมาช่วย และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังถือว่าเป็นอีกแนวทางในการส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือทัศนคติของคนในสังคมที่ต้องไม่ทนต่อความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง รวมถึงความเชื่อที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของผัวเมียไม่ใช่เรื่องของเรา และความคิดที่ว่าชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นสารตกค้างมาจากศตวรรษก่อนที่จะต้องทำให้หมดไป โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะหากยังมีความคิดอย่างนี้อยู่ ความหวังที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นคงเป็นเรื่องยากเกินทน

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.thairath.co.th/scoop/flashback/2214945
https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2986603
http://sdgs.nesdc.go.th/SDG5
https://www.thinkstep-anz.com/resrc/un-sustainable-development-goals-sdg-focus/5-gender-equality/
https://healthsciences.usask.ca/news-and-announcements/announcements/2020/march-sdg-spotlight-goal-5.php
https://www.who.int/data/gho/data/indicators/indicator-details/GHO/proportion-of-ever-partnered-women-and-girls-aged-15-49-years-subjected-to-physical-and-or-sexual-violence-by-a-current-or-former-intimate-partner-in-the-previous-12-months
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/violence-against-women
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30715
https://unstats.un.org/sdgs/metadata/?Text=&Goal=5&Target=5.2
https://www.idi.no/news/idi-news/gender-equality-is-a-must
https://www.idi.no/cross-cutting-priorities/inclusiveness-and-gender
รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนักนายกรัฐมนตรี
https://www.pasai.org/s/CAAF-SDG-GENDER-EQUALITY-AUDITING-GUIDE-JUNE-2017.pdf
http://www.parliament.gov.fj/wp-content/uploads/2019/09/Report-of-the-Auditor-General-Elimination-of-Violence-Against-Women.pdf
https://www.unwomen.org/en/news/stories/2021/8/feature-uganda-critical-law-reforms-passed-in-parliament-to-end-violence-against-women
https://www.slideserve.com/nanda/gbv-in-humanitarian-settings
https://twitter.com/BusayapaS/status/1277607677003169792
https://www.unodc.org/unodc/en/frontpage/2021/February/unodc-and-un-women-take-a-survivor-centred-approach-to-police-services-during-global-pandemic.html
https://www.oecd-ilibrary.org/sites/9789264309333-25-en/index.html?itemId=/content/component/9789264309333-25-en
https://www.idi.no/work-streams/relevant-sais/auditing-sdgs/audit-sdgs-implementation/cooperative-audit-sdg-implementation/sdg-5-2-eipvw
http://intosaijournal.org/covid19-gender-lens-on-auditing/
https://thaipublica.org/2019/11/pitikhun-nilthanom-05/
https://thaipublica.org/2021/06/pitikhun-nilthanom-17/