ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำงานที่บ้านแบบ Work from Home “เวิร์ก” หรือ “ไม่เวิร์ก”

ทำงานที่บ้านแบบ Work from Home “เวิร์ก” หรือ “ไม่เวิร์ก”

28 พฤษภาคม 2020


ว่าที่ร้อยเอก ปิติคุณ นิลถนอม

“รวมกันเราอยู่แยกหมู่เราตาย” คำนี้คงใช้ไม่ได้ในยุคสมัยนี้ เพราะการรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันอาจทำให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Corona Virus Disease (COVID-19) แพร่กระจายจนไม่อาจควบคุมได้

สำหรับผู้เขียนแล้ว ช่วงชีวิตเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยประสบพบเจอโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่มีสภาพร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราในวงกว้างเหมือนสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อนหน้านี้ COVID-19 อาจเป็นเรื่องที่อยู่ห่างจากพวกเรา เพราะเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ที่มีลักษณะเป็น outbreak หรือ epidemic แต่สถานการณ์กลับรุนแรงขึ้นจนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศ “ยกระดับ” ให้เป็นโรคที่มีการระบาดใหญ่หรือ pandemic เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้ผู้ติดเชื้อถึงแก่ความตายได้ สามารถติดจากคนสู่คน และแพร่ระบาดไปหลายทวีปทั่วโลก ส่วนในประเทศได้มีการประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

แม้มีหลายโรคที่เกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เช่น โรค SARS ที่เกิดขึ้นในปี 2003 หรือ MERS ในปี 2012 แต่มันก็ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยขนาดนี้

ภาพแสดงการเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อ MERS, SARS และ COVID-19
ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-20-472SP

COVID-19 เริ่มกระชับวงล้อมเข้ามาอยู่ใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นๆ เหมือนเป็นแขกที่มายืนอยู่หน้าประตูบ้าน เรียกได้ว่า “หายใจรดต้นคอ” พวกเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากป้องกันตัวไม่ดีก็อาจจะพลาดท่าเสียทีให้กับมันได้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ประมาทไม่ได้เลย

มาตรการต่างๆ ถูกงัดออกมาเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ โดยเฉพาะมาตรการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้อยู่ในศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขจะบริหารจัดการได้ เช่น ควบคุมจำนวนผู้ติดโรคไม่ให้เกินกำลังของแพทย์ รวมถึงจำนวนเตียงของประเทศนั้นๆ ผู้คนต่างพร้อมใจกันติดแฮชแทก #FlattenTheCurve เพื่อรณรงค์ให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อลง มาตรการสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือแคมเปญที่เรียกว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่มุ่งหวังให้ทุกคนอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปไหนโดยไม่จำเป็นเพื่อเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม

การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) หรือการแยกตัวออกมาจากสังคม (self-isolated) อาจเป็นเรื่องย้อนแย้งกับความเป็นเผ่าพันธุ์ Homo sapiens อย่างเราที่เป็นสัตว์สังคม ซึ่งมีธรรมชาติในการรวมกลุ่มกัน และใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือ ระหว่างกัน จนสามารถเอาชนะมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่น และพัฒนาโลกใบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

Aristotle นักปราชญ์ชาวกรีก เคยกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งโดยธรรมชาติ จะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น มีความสัมพันธ์กัน พึ่งพากัน ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังได้

การแยกตัวออกจากสังคมอาจเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสำหรับความเป็นมนุษย์ หรือบางนัยอาจถือเป็นการถูกลงโทษด้วยซ้ำไป เช่น การปัพพาชนียกรรม หรือ excommunication ที่สันตะปาปาใช้ลงโทษขับไล่ผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจของตนออกจากสังคมศาสนจักร ในยุคที่ศาสนจักรมีอิทธิพลเหนืออาณาจักร กรณีที่โด่งดังมากในประวัติศาสตร์คงหนีไม่พ้นการที่สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 และสันตะปาปาพอลที่ 3 ได้ทำการปัพพาชนียกรรมแก่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1530 และ 1535 ตามลำดับ สาเหตุเพราะพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ประกาศแยกตัวออกจากศาสนจักรนิกายโรมันแคทอลิก และตั้งนิกาย Church of England หรือ Anglicanism หลังจากที่พระสันตะปาปาไม่อนุญาตให้หย่าขาดจากพระนางแคทเทอรีน

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์
ที่มาภาพ : https://www.biography.com/news/henry-viii-biography-facts

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวกับสังคมชาวพุทธ เช่น การที่พระสงฆ์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ที่มีอยู่ 13 ประการ เช่น ทำน้ำอสุจิเคลื่อน การถูกเนื้อตัวสตรี ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล ซึ่งถือเป็น “ครุกาบัติ” หรืออาบัติหนัก และมีโทษร้ายแรงรองจากอาบัติปาราชิก พระสงฆ์ผู้ต้องอาบัตินี้แล้วต้องแจ้งต่อพระสงฆ์ผู้มีพรรษาแก่กว่าอย่างน้อย 4 รูป จากนั้นต้องแยกออกจากหมู่สงฆ์ เพื่อไปอยู่ปริวาสกรรม หรือ “อยู่กรรม” โดยการกักตัวเอง เสมือนเป็นโทษ “จำคุก” ของพระสงฆ์ หลังจากครบกำหนดจึงจะกลับเข้ามาในหมู่สงฆ์ และให้หมู่สงฆ์จำนวน 20 รูปสวดอัพภานเพื่อรับรองว่าพ้นจากอาบัติแล้วและให้กลับสู่สังคมของสงฆ์ได้

อย่างไรก็ตาม ในบริบทปัจจุบันแล้วการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการแยกตัวออกมาจากสังคม ไม่ใช่เรื่องการลงโทษหรือการฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด หากเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติของโรคร้ายนี้ เพื่อชะลอการแพร่เชื้อและลดจำนวนผู้ได้รับเชื้อโรคลงให้อยู่ในศักยภาพของระบบสาธารณสุข ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระหว่างการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เรากำลังช่วยกันนั้น การร่วมมือกันในด้านต่างๆ ยังคงต้องมีอยู่ เพราะการคงอยู่ของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือ แต่ในวันนี้ความร่วมมือจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่เหมาะสมกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

โชคดีเหลือเกินที่เราอยู่ในโลกการปฏิวัติข้อมูล “Data Revolution” การแยกจากกันของพวกเราจึงมีเครื่องมือที่ทำให้เรารวมกลุ่มกันเป็นสังคมได้ เพื่อร่วมกันทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จ ได้ผลผลิตตามแผนงานที่วางไว้ ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่คนละที่คนละทางกันก็ตาม

ในสถานการณ์ปัจจุบัน แค่มีเพียงแค่คอมพิวเตอร์หรือแม้แต่สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง กับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็สามารถใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ทำงานได้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด หากต้องการประชุมก็ทำได้ด้วยความสะดวกผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Zoom หรือ Microsoft Teams หรือหากต้องการส่งเอกสารให้กันก็สามารถอัปโหลดข้อมูลสู่ cloud อย่าง Drive หรือ Dropbox ของทีมงานได้อย่างง่ายดาย

ในวันนี้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ “work from home (WFH)” กันแทบทุกแห่ง หากอาชีพหรือตำแหน่งนั้นๆ สามารถ WFH ได้ ซึ่งถือเป็น “ความธรรมดาแบบใหม่” หรือ “new normal” ของการทำงานในปัจจุบัน คำถามที่เกิดขึ้นคือพวกเรา WFH กันมาได้ระยะนึงแล้ว แล้วสรุป WFH จริงๆแล้วมัน “เวิร์ก” หรือไม่ จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานถดถอยลงหรือไม่

ในเรื่องนี้เว็บไซต์ Inc.com ได้เคยเผยแพร่ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดและ Gallup ว่าทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำนวนคนลาออกน้อยลง ในทางตรงกันข้ามยังดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมงานด้วย พนักงานมีสุขภาพดีเพราะไม่ต้องรับมลพิษจากการเดินทาง รวมถึงส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทต่ำลงโดยเฉพาะค่าเช่าออฟฟิศ ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงต้นทุนที่เป็นค่าตอบแทนพนักงานด้วย ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานสถิติแรงงาน หรือ Bureau of Labor Statistics กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ที่เปิดเผยว่าในแต่ละปีพนักงานลาป่วย 2.8 ล้านวันทำการ คิดเป็นค่าเสียโอกาสของบางบริษัทเป็นเงินถึงราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อวัน

ในปี ค.ศ. 2016 องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Government Accountability Office (GAO) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงาน (performance audit)การทำงานแบบ WFH หรือ Telework ของหน่วยงานของรัฐบาลกลางว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เพียงใด

การทำงานแบบ WFH หรือ telework ของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกานั้นเป็นรูปแบบการทำงานที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานในสถานที่ทางเลือก เช่น ที่บ้านหรือที่อื่นใด รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ดังปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรของรัฐบาลกลาง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการสร้างสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือ work-life-balance อีกทั้งเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะโดยการประหยัดพลังงานในการเดินทาง รวมถึงลดผลกระทบที่จะสร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำงานได้แม้ในภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดร้ายแรง และสามารถทำให้หน่วยงานของรัฐวางแผนการทำงานของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี ค.ศ. 2010 นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการทำงานทางไกล หรือ Telework Enhancement Act of 2010 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกรอบและแนวปฏิบัติให้ผู้บริหารของหน่วยงานของรัฐสามารถวางแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่บ้านได้ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายของหน่วยงานในการให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อเป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลและการรายงานประจำปี

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ขณะลงนามในรัฐบัญญัติ Telework Enhancement Act 2010
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2010 ที่มาภาพ : http://www.ifsanet.org/obama-signs-telework-bill-into-law/

นอกจากนี้ยังกำหนดให้สำนักบริหารงานบุคคล หรือ Office of Personnel Management (OPM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกับสำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เป็นผู้รวบรวมผลการปฏิบัติงาน WFH และรายงานต่อสภาคองเกรสในแต่ละปี

ในปี ค.ศ. 2013 มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน (ร้อยละ 45 จากจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด) ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการอนุมัติให้ทำงานที่บ้านได้ คณะกรรมาธิการการกำกับดูแลและปฏิรูปรัฐบาลของสภาคองเกรส (Committee on Oversight and Government Reform) จึงได้มีการร้องขอให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสหรัฐอเมริกาหรือ GAO ทำการตรวจสอบผลการดำเนินงานว่า ต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานที่บ้านนั้นคุ้มค่าหรือไม่

โดย GAO ได้เลือกตรวจสอบหน่วยงานของรัฐบาลกลางจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงคมนาคม (Department of Transportation หรือ DOT) องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) สถาบันประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC) องค์กรบริหารงานทั่วไป (General Services Administration หรือ GSA) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (Merit Systems Protection Board หรือ MSPB) และกระทรวงเกษตร (United States Department of Agriculture หรือ USDA) โดยคำนึงถึงขนาดของหน่วยงานและจากข้อมูลที่หน่วยงานนั้นๆ รายงานมาว่าสามารถประหยัดต้นทุนได้จากการทำงานที่บ้าน

ในการตรวจสอบ GAO ใช้วิธีการตรวจสอบเอกสารและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ จากการตรวจสอบ มีข้อตรวจพบว่าประโยชน์ที่ได้จากการทำงานทางไกลหรือทำงานที่บ้านคือ ความต่อเนื่องในการทำงาน ลดอัตราการลาออก ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้น มีความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่วนต้นทุนที่เกิดขึ้นคือการฝึกอบรมการใช้โปรแกรมในการทำงานทางไกล และต้นทุนในการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน

ภาพแสดงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานทางไกลหรือ WFH
ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-16-551 utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=gpi
กระทรวงเกษตรสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปีงบประมาณ ค.ศ. 2011-2014 ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-16-551?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=gpi

อย่างไรก็ตาม พบว่าหน่วยงานที่เลือกตรวจสอบนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอในการวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานทางไกล มีเพียง 2 จาก 6 หน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนบางส่วนของหน่วยงานไว้

GAO จึงได้เสนอแนะให้ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานบุคคล (OPM) จัดทำชุดคำถามเกี่ยวกับการประหยัดต้นทุนเพื่อเก็บข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบการจัดทำรายงานประจำปีที่จะเสนอสภาคองเกรส ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่เกิดขึ้น (cost-benefit analysis) ให้มีความชัดเจนต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ซึ่งสำนักงานบริหารงานบุคคล (OPM) ก็เห็นพ้องกับข้อแนะนำของ GAO

ในขณะที่ GAO ตรวจสอบหน่วยงานอื่นอยู่นั้น GAO เองก็ถูกผู้ตรวจการประจำ GAO หรือ Inspector General ทำการตรวจสอบการทำงานแบบทางไกลหรือ WFH ของเจ้าหน้าที่ GAO ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าไม่มีใครอยู่เหนือการถูกตรวจสอบเลย

ผู้ตรวจการฯ ได้ตรวจสอบการปฏิบัติตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการทำงานทางไกลว่า GAO ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่จะมีสิทธิในการทำงานที่บ้าน หรือไม่ เพียงใด

ผู้ตรวจการฯ พบว่า นโยบายของ GAO ให้หัวหน้างานสามารถใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านได้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่รายนั้นจะมีผลงานในการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานหรือปฏิบัติงานบกพร่อง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในปี ค.ศ. 2017 มีเจ้าหน้าที่จำนวนถึง 20 คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการทำงานที่กำหนด แต่ยังคงปฏิบัติงานที่บ้านอยู่ แม้ว่า GAO จะมีการออกแนวทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของหัวหน้างานในการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ผู้ใดทำงานที่บ้านได้ก็ตาม แต่แนวทางดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าหัวหน้างานควรจะใช้ดุลยพินิจอย่างไรจึงจะเกิดความเหมาะสม เช่น ไม่มีข้อกำหนดว่าไม่ควรอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านหากระดับสมรรถนะการทำงานของเจ้าหน้าที่รายนั้นไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ผ่านเกณฑ์ เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานไม่ได้มาตรฐานหรือปฏิบัติงานบกพร่อง ย่อมไม่สามารถวางแผนการทำงาน ตลอดจนสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และส่งงานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งการปล่อยให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานที่บ้าน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการบรรลุเป้าหมายการทำงานของทีมงานในที่สุด

นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ทำงานที่บ้านของที่ปรึกษารายปี หรือเจ้าหน้าที่อาวุโส ตามที่กำหนดในรัฐบัญญัติ และไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการในการควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายการทำงานที่บ้านของหน่วยงาน

ผู้ตรวจการฯ จึงได้มีข้อเสนอแนะให้ GAO ปรับปรุงตามข้อตรวจพบข้างต้น และเน้นย้ำว่าการอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านนั้น จะต้องสอดคล้องกับรัฐบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการทำงานทางไกล และนโยบายของหน่วยงานอย่างเคร่งครัดต่อไป ซึ่ง GAO ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ

โดยสรุปการทำงานที่บ้านนั้น “เวิร์ก” แน่นอนหากเรามีวินัยในการทำงานเพื่อสร้างผลผลิตให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้นอกจากจะได้ช่วยองค์กรแล้ว เรายังได้ชื่อว่าช่วยสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ ในการต่อสู้กับภัยร้ายนี้ด้วย

นอกจากนั้น ช่วงเวลานี้ยังเป็นโอกาสในวิกฤติที่เราจะหันมาให้เวลาอยู่กับตัวเอง เปิดโอกาสให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เคยเสื่อมโทรมจากมลพิษที่เกิดจากพวกเราได้ฟื้นฟู

ผู้เขียนขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ทุกท่าน ตลอดจนจิตอาสาที่ออกมาช่วยเหลือกัน และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้นะครับ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.ifsanet.org/obama-signs-telework-bill-into-law/
  • https://www.gao.gov/products/GAO-20-472SP
  • https://thaipublica.org/2019/10/pitikhun-nilthanom-04/
  • https://www.biography.com/news/henry-viii-biography-facts
  • https://www.gao.gov/products/GAO-16-551?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=gpi
  • https://www.inc.com/geoffrey-james/case-closed-work-from-home-is-worlds-smartest-management-strategy.html
  • https://www.gao.gov/key_issues/federal_telework/issue_summary#t=0
  • https://www.gao.gov/products/OIG-19-1