ThaiPublica > คอลัมน์ > ปีเตอร์ ซาวิลล์ กราฟิกเหนือกาลเวลา

ปีเตอร์ ซาวิลล์ กราฟิกเหนือกาลเวลา

14 เมษายน 2024


1721955

ลายกราฟิกคุ้นตาที่เราเชื่อว่าคุณน่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างตลอด 45 ปีนี้ แต่มันคืออะไร บทความนี้มีคำตอบ ด้วยผลงานกราฟิกเหนือกาลเวลาโดยผู้ออกแบบนามว่า ปีเตอร์ ซาวิลล์ ศิลปินชาวแมนเชสเตอร์ อังกฤษ ผู้แจ้งเกิดจากการออกแบบปกอัลบัมวงพังค์ก่อนจะลามกระจายกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่แห่งแวดวงนักออกแบบร่วมสมัย เกิดเป็นแฟชั่นและอะไรอีกมากมายที่ยังคงความคลาสสิกมาจนถึงรุ่นเรา

ซาวิลล์ยังคงทำงานดีไซน์อยู่จนทุกวันนี้ ผลงานมากมายรอบตัวเรามาจากฝีมือของเขา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เลอค่าอมตะ Christian Dior, แบรนด์ลูกคุณหนูสุดไฮโซ Burberry, แบรนด์หรูสุดสตรอง Ferragamo, แบรนด์สุดเท่มีสไตล์ Calvin Klein, แบรนด์คลาสสิกดีไซน์ไม่เคยตกยุค Lacoste, แบรนด์คุณภาพราคาเอื้อมถึง Uniqlo, แบรนด์เก๋าแกร่ง Yohji Yamamoto, แบรนด์สุดฮิต adidas , แบรนด์ล้ำสุดเก๋ Raf Simons, ชุดทีมเหย้าทีมชาติอังกฤษ, เฟอร์นิเจอร์สิ่งทอ Kvadrat ไปจนถึงออกแบบถ้วยรางวัลสำหรับเว็บโป๊ยอดฮิต Porn Hub ฯลฯ

ผลงานยุคหลังของซาวิลล์

ซาวิลล์ร่ำเรียนกราฟิกมาจากแมนเชสเตอร์ โปลีเทคนิค ในช่วงปี 1975-1978 แล้วเพียงหนึ่งปีหลังจากเรียนจบผลงานของเขาก็กลายเป็นตำนาน เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เมื่อช่วงเวลานั้นเขาจับมือกับ โทนี วิลสัน ผู้ประกาศข่าว, มาร์ติน ฮานเน็ตต์ โปรดิวเซอร์เพลง, ร็อบ เกรตตัน ผู้จัดการวงดนตรี และอลัน เอราสมุส ร่วมกันก่อตั้งค่ายเพลง Factory Records โดยมีซาวิลล์เป็นหัวเรือสำคัญในส่วนของงานออกแบบกราฟิก ซึ่งพวกเขาจะเรียกงานออกแบบแต่ละชิ้นว่า FAC โดยลำดับตามเวลาที่ปรากฎ เช่น ผลงาน FAC 1 เป็นโปสเตอร์อีเวนต์รวมศิลปินหลายคนของค่ายในปี 1978 แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามปรากฎตัว T ตามหลัง กลายเป็น FACT นั่นหมายถึงการออกแบบปกอัลบัม หรือยุคหลัง ๆ มี FACD หมายถึงปกแผ่นซีดี ไปจนถึง FACDVD หมายถึงปกแผ่นดีวีดี

อาทิ ผลงานอันลือลั่นที่สุดที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ที่ดูเหมือนเส้นกราฟขยุกขยุย อยู่ในลำดับ FACT 10 เป็นปกอัลบั้ม Unknown Pleasures ของวง Joy Division ที่วางแผงเมื่อเดือนมิถุนายน 1979 ปรากฎเป็นลวดลายสุดพิศวงที่หลายคนงงไปเลยว่าภาพแบบนี้มันเป็นปกอัลบั้มได้ด้วยหรือ ไม่มีรูปศิลปินเลย แถมไม่มีแม้แต่ตัวหนังสือสักตัว แบบนี้แล้วใครจะอยากซื้อ แต่กลายเป็นว่าในการปั๊มป์แผ่นเสียงล็อตแรกหมื่นอัลบั้ม มันถูกขายออกอย่างรวดเร็วมากกว่าห้าพันแผ่นภายในสองสัปดาห์ จนต้องปั๊มป์แผ่นเพิ่มอีกหมื่นชุดในอีกหกเดือนต่อมา

และเราอยากจะบอกว่าภาพนี้ ซาวิลล์ไม่ได้วาดขึ้นเอง (อันต่อมากลายเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงนักออกแบบ ที่ตั้งคำถามถึงขอบเขตของการออกแบบ หลายรายโต้เถียงว่าการหยิบงานคนอื่นมาแบบนี้ก็ได้หรือ) แต่เขาดึงมาจากภาพประกอบในหนังสือสารานุกรม Cambridge Encyclopedia of Astronomy มันเป็นเส้นกราฟบันทึกสัญญาณพัลซาร์ หรือสัญญาณคลื่นแม่เหล็กที่ถูกปล่อยออกมาจากห้วงอวกาศแล้วชี้มายังโลก ปรากฎเป็นจังหวะสัญญาณ ในทีนี้ภาพที่ซาวิลล์นำมาใช้นั้น เป็นสัญญาณที่ถูกส่งออกมาทุก 1.337 วินาที ของดาวที่พังทะลายลงชื่อเดิมของสัญญาณนี้เรียกว่า CP1919 (ย่อมาจาก Cambridge Pulsar ที่ RA 19 ชม . 19 นาที ปัจจุบันถูกเรียกว่า PSR J1921+2153 หรืออีกชื่อว่า PSR B1919+21) มาจากดาวนิวตรอนหมุนรอบตัวเองที่อยู่ในกลุ่มดาววัลเปคูลา (มีความหมายว่า “สุนัขจิ้งจอก” เป็นกลุ่มดาวจาง ๆ บนท้องฟ้าทางเหนือ ถูกค้นพบในช่วงศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ใจกลาง Summer Triangle อันประกอบด้วยดาวฤกษ์สามดวงทำมุมเป็นรูปสามเหลี่ยม ได้แก่ดาว Deneb , Vega และAltair)

ดาวดวงนี้ได้ปล่อยคลื่นสัญญาณวิทยุข้ามจักรวาลมายังโลกเรา อันนับเป็นพัลซาร์แรกที่ถูกตรวจจับได้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนในปี 1967 โดย โจเซลิน เบลล์ เบอร์เนล ที่ในเวลานั้นเธอยังเป็นเพียงนักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยซาวิลล์เพียงแต่กลับภาพจากเส้นสีดำบนพื้นขาวมาเป็นสีขาวบนพื้นดำ วางบนปกอัลบัมที่ไม่มีตัวอักษรใดใดปรากฎอยู่เลย กลายเป็นสัญญาชีพ ร่องรอยลี้ลับ ที่ส่งมาจากดาวที่แตกดับไปแล้วอันไกลโพ้น แล้วนับแต่นั้นมาผลงานชิ้นนี้ก็โด่งดังไปทั่วโลกกลายเป็นหนึ่งในไอคอนสำคัญทางกราฟิกที่อยู่เหนือกาลเวลา และเป็นแรงบันดาลใจต่อมาให้กับงานออกแบบยุคหลังมากมายจนถึงปัจจุบันนี้

ภาพต้นฉบับในสารานุกรม

ข้อโต้แย้ง

ในปี 1974 มีนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สองคนคว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์มาได้ คือ แอนโทนี ฮิวอิช และมาร์ติน ไรล์ จากผลงานดาราศาสตร์วิทยุและพัลซาร์ ต่อมา เฟรด ฮอยล์ เพื่อนนักดาราศาสตร์ของฮิววิช แย้งว่ารางวัลนี้ควรมอบให้ โจเซลิน เบลล์ เบอร์เนล เพราะเธอเป็นผู้ตรวจจับพัลซาร์แรกได้ในปี 1967 ซึ่งเวลานั้นแอนโทนี ฮิวอิช จริง ๆ แล้วเป็นที่ปรึกษาตอนที่เบอร์เนลเรียนในระดับปริญญาเอกด้วย คือง่าย ๆ ว่าเหมือนกับอาจารย์ฮุบอ้างผลงานลูกศิษย์ไปหน้าตาเฉย

อย่างไรก็ตามในปี 2018 โจเซลิน เบลล์ เบอร์เนล ได้รับรางวัล Breakthrough Prize สาขาฟิสิกส์พื้นฐาน เป็นเงินมูลค่าสามล้านเหรียญสหรัฐจากผลงานนี้ ด้วยคำยกย่องว่า “เป็นรางวัลสำหรับการสนับสนุนพื้นฐานในการค้นพบพัลซาร์ และความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจมาตลอดช่วงชีวิตในหมู่ชุมชนวิทยาศาสตร์” ต่อมาเธอนำเงินจำนวนนี้มาจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักเรียนฟิสิกส์หญิงที่มีพื้นเพมาจากชนกลุ่มน้อยหรือเป็นผู้ลี้ภัยและตั้งใจจะร่ำเรียนเป็นนักฟิสิกส์วิจัย กองทุนนี้บริหารงานโดยสถาบันฟิสิกส์ (IOP) ในลอนดอน

ล่าสุดในปี 2021 เธอเป็นผู้หญิงคนที่สอง (รองจาก โดโรธี ฮอดจ์กิน ในปี 1976) ที่คว้ารางวัลเหรียญคอปลีย์ อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุด(และเก่าแก่ มอบครั้งแรกในปี 1731) จากราชสมาคมอังกฤษ ที่มอบให้กับผู้มีผลงานโดดเด่นและยั่งยืนในสาขาวิทยาศาสตร์ทุกแขนง ปัจจุบันเบอร์เนลมีอายุ 80 ปี

ผลงานออกแบบยุคแรก ๆ ของซาวิลล์

ในปี 2004 ซาวิลล์กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของเมืองแมนเชสเตอร์ บ้านเกิดเขาเอง โดยมีบทบาทเชิงกลยุทธ์ในการฟื้นฟูเมืองและวัฒนธรรมของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเทศกาลระดับนานาชาติต่าง ๆ ภายในเมืองแมนเชสเตอร์ ในปี 2008 เขารับหน้าที่รีแบรนด์ระบบรถราง Metrolink ปรับลุคใหม่ด้วยกราฟิกเอกลักษณ์สไตล์เขา ต่อมาปี 2010 เขาได้งานออกแบบชุดทีมชาติฟุตบอลอังกฤษ ก่อนที่ในปี 2013 เขาจะคว้า 3 รางวัลใหญ่ภายในปีเดียวกันนั้น เริ่มด้วย D&AD รางวัลสูงสุดด้านโฆษณา, ตามด้วยรางวัล Royal Designer for Industry และรางวัล London Design Medal และปี 2020 เขาได้รับเครื่องราชระดับผู้บัญชาการ Order of the British Empire (CBE)

อันเป็นชั้นยศที่ได้จากราชวงศ์อังกฤษ โดยไล่เรียงจากลำดับสูงสุดไปต่ำสุดคือ GBE, KBE หรือ DBE, CBE, OBE และ MBE เครื่องราชฯนี้ใช่ว่าทุกคนจะยินดีที่ได้รับ ในอดีตมีผู้ปฏิเสธรับเครื่องราชฯ อาทิ ศิลปินนักร้องดัง เดวิด โบวี่, ผู้ประกาศข่าวดาวตลกนักแฉจิกกัดการเมืองและราชวงศ์ จอห์น โอลิเวอร์, ศิลปินจิตรกรรม ฟรานซิส เบคอน, โทนี แฮร์ริสัน กวีและนักเขียนบทละคร, หรือสละรางวัลภายหลัง อาทิ รพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนและกวีรางวัลโนเบล สละชั้นยศอัศวิน KBE เพื่อประท้วงการสังหารหมู่ ณ เมือง อมฤตสาร์ รัฐปัญจาบ, จอห์น เลนนอน ได้รับในระดับ MBE ต่อมาคืนเครื่องราชย์เพื่อประท้วงเรียกร้องสันติภาพ โดยเลนนอนวิจารณ์ว่า “เราได้รับสถานะนี้จากการให้ความบันเทิง มีผู้กล้าหาญมากมายได้รางวัลนี้เพราะการฆ่าคนในสงคราม”

แต่ซาวิลล์ไม่ใช่คนในกรอบ ย้อนกลับไปตอนปี 2013 ขณะที่เขาอายุ 57 ปี ต้นปีนั้น Lacoste แบรนด์ตราจระเข้มีดำริจะจัดงานครบรอบ 80 ปี จึงจ้างซาวิลล์มาออกแบบอะไรสักอย่างพร้อมกับสั่งว่า “จะทำอะไรก็ได้แต่ห้ามยุ่งกับโลโก” ซาวิลล์ตอบตกลง พร้อมกับตอกกลับไปว่า “นั่นแหละคือสิ่งที่ผมจะทำ ผมเลยทำลายตราจระเข้อันสูงส่งของพวกเขาให้ยับไปเลย ด้วยวิธีทางดิจิทัล แตกมันออกเป็น 80 วิธี…จระเข้งี้เละเทะเลย” เขาหัวเราะ “ผมหลงรักแบรนด์นี้ และผมต้องทำอะไรสักอย่าง สิ่งหนึ่งที่ผู้คนพูดถึงมันในทางไม่ดีคือ คุณสามารถผลิตอะไรออกมาขายก็ได้ตราบเท่าที่มีไอ้ตัวจระเข้เขียว ๆ ใหญ่ ๆ …ผมเลยคิดว่า คงน่าจะเจ๋งดีถ้าสินค้าที่ผลิตออกมา มันจะไม่เป็นรูปจระเข้อย่างที่สาวกคาดหวัง”

ซาวิลล์อ้างว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่เคยอยากเป็นนักออกแบบกราฟิกเลย เขาเล่าว่า “มีหลายครั้งที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะเกษียณตัวเอง หรือลาออกจากงานไปหางานอื่นทำดี ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งในการประชุมระหว่างที่เราถกเถียงกันไม่ลง ชายหัวโต๊ะพูดกับผมว่า ‘ใจเย็น ๆ เราทุกคนมาทำสิ่งนี้กันก็เพื่อจะได้เงิน’ แต่ในใจผมคิดว่า ไม่เลย ผมไม่ได้ต้องการจะออกแบบสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ได้เงิน หน้าที่ของผมคือพยายามปรับปรุงให้บางอย่างมันดีขึ้น ความคิดเรื่องหาเงินมันไม่ได้มีคุณค่าอะไรในนั้นเลย”

แล้วซาวิลล์ก็ย้อนเล่าความหลังให้ฟังว่า “ปัญหาของผมเริ่มต้นทันทีที่ผมได้เจอ โทนี่ วิลสัน ในปี 1978 ตอนนั้นวิลสันกำลังเริ่มทำค่ายเพลง Factory Records ส่วนผมกำลังทึ่งกับปกแผ่นเสียงวงจากเยอรมัน Autobahn อัลบัม Kraftwerk เวอร์ชั่นของอังกฤษที่เป็นกราฟิกเรียบ ๆ แล้ววิลสันก็บอกกับผมว่า ‘ค่ายเพลงของเราไม่ใช่บริษัท แต่มันคือโอกาสสำหรับพวกเราในแมนเชสเตอร์’ ตอนนั้นวิลสันเป็นผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เขาไม่จำเป็นต้องหาเงินด้วยงานอื่นใดอีกแล้วเลย การจะลงทุนกับค่ายเพลงอินดี้คือสิ่งที่คนทั่วไปตราหน้าว่าโง่เขลา ส่วนวงดนตรีในค่ายอย่าง Joy Division พวกเขาก็ยุ่งเกินไปกับการหาลูกเล่นใหม่ ๆ สำหรับเครื่องดนตรีล้ำ ๆ ของพวกเขา…สรุปไม่มีใครว่างพอจะมาสั่งงานผมได้เลยว่าพวกเขาต้องการอะไรกันแน่ ผมถูกทิ้งให้อยู่กับงานออกแบบ แน่นอนว่าผมมีแนวทางของผมชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการอะไร แต่พวกเขาก็ตอบไม่ได้ด้วยว่าสิ่งที่ผมทำมันใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการหรือไม่”

ครั้งหนึ่งในปี 1986 เขาเคยถูกว่าจ้างให้ออกแบบอัลบั้มด้วยเงินสูงถึงสองหมื่นปอนด์ (ราวหนึ่งล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนในปีนั้น) แล้วหลังจากทำงานด้านนี้มาหลายปี เขาก็ตัดสินใจย้ายไปแอลเอในปี 1993 ที่เขาเล่าว่า “หลังจากผมใช้ชีวิตในสหรัฐเพียงแค่สามเดือน ผมยากจนลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครจ้างผมเลย มีแค่งานฟรีให้กับร้านขายของมือสอง ผมเหลือเงิน 3 ดอลลาร์ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวในแอลเอปี 1994 เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมาก ๆ ผมพบว่าคนฐานะชนชั้นกลางที่ร่ำรวย นิสัยไม่ดีแบบผม ตอนนี้ต้องการเงินแค่ 20 ดอลลาร์ต่อวันเพื่อจ่ายค่าน้ำมันรถและประทังชีวิต แต่ก็ยังไม่มีปัญญาจะหามาได้ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังประสบภัยพิบัติ ในที่สุดผมก็ตัดสินใจกลับอังกฤษ”

แล้วกลายเป็นว่าท่ามกลางกระแสบริทป๊อปที่ก่อขึ้นในตลาดช่วงนั้นอีกครั้ง ซาวิลล์กลายเป็นที่ต้องการอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่แค่งานกราฟิก แต่รวมไปถึงงานออกแบบอุตสาหกรรม และงานแฟชั่นด้วย

คุณอาจจะตกใจเมื่อพบว่าตลอดเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ ผลงานของซาวิลล์ถูกต่อยอดไปเป็นอะไรมากมาย ไม่ว่าจะด้วยตัวเขาเอง หรือด้วยฝีมือของศิลปินอื่น ๆ นี่คือความยั่งยืนโดยแท้ แต่ถ้าถามกลับไปที่ซาวิลล์ เขาให้ความเห็นว่า “ผมเคยมีช่วงเวลาสองปีเต็ม ๆ ในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อสร้างแบรนด์ให้กับเมืองแมนเชสเตอร์ แต่อันที่จริง ‘การสร้างแบรนด์’ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ ‘คุณเข้าใจคำว่าเมืองแล้วหรือยัง’ แบรนด์ของเมืองแมนเชสเตอร์ ก็คือตัวเมืองแมนเชสเตอร์เอง

คำถามคือ เมื่อคุณได้ยินคำว่า แมนเชสเตอร์ ผู้คนจะเข้าใจเกี่ยวกับมันว่าอะไร การออกแบบฟ้อนต์ตัวอักษรหรือ ไม่เลย กราฟิกเป็นเพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ เท่านั้นเอง หากคุณย่างกรายเข้าไปในเมืองแมนเชสเตอร์ อะไรหรือคือกราฟิกประจำเมือง เราไม่เคยเห็นเลย คุณไม่เคยเห็นโลโก้ของเมืองด้วยซ้ำ แต่เราต่างรู้กันว่าเมื่อพูดถึงแมนเชสเตอร์ มันคือเมืองทางตอนเหนือของอังกฤษ เมืองอย่างซิดนีย์มีโลโก้มั้ย ผมไม่รู้หรอก ไม่สนใจด้วย แต่ผมสามารถบอกได้ว่าอะไรที่ผมประทับใจเกี่ยวกับเมืองซิดนีย์ นั่นแหละคือแบรนด์ ดังนั้นการร่วมงานกับแมนเชสเตอร์คือมันเป็นเรื่องของ ผู้คน คิดอย่างไรเกี่ยวกับเมืองนี้ เอ่ยถึงมันด้วยน้ำเสียงแบบใด”

ซาวิลล์ทิ้งท้ายให้ฟังว่า “ดังนั้นถ้าจะให้ผมสรุป การออกแบบกราฟิกก็คือ…’เพื่อผู้อื่น และเพื่อผู้อื่น’ ในความหมายที่บริสุทธิ์ที่สุด คุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะการจะออกแบบมันให้มีหน้าตาเป็นเช่นไรคุณต้องทำตัวเป็นกลางโดยสิ้นเชิง มันอาจจะเป็นสิ่งที่คุณถนัด ก็จริงอยู่ แต่จริง ๆ แล้วใครจะบ้ายอมจ่ายเงินสองสามพันปอนด์ต่อวันเพื่อจ้างคุณมาออกแบบ ผมตอบได้เลยว่าไม่ ไม่ว่าจะการจัดวางรูปแบบ การหาองค์ประกอบ การวางตำแหน่งภาพให้เป๊ะ ด้วยไอเดียสุดปัง บลา ๆ ๆ แนวคิดคม ๆ ที่คุณคิดว่าฉลาดล้ำแล้ว หรือการใช้ฟ้อนต์ตัวอักษรอะไรก็ช่างเหอะ จริง ๆ แล้วไม่มีใครยอมจ่ายเงินสองร้อยห้าสิบปอนด์ต่อชั่วโมงเพื่อขยะเหล่านี้หรอก แล้วอันที่จริงเดี๋ยวนี้มีคนหนุ่มสาวไฟแรงจำนวนมหาศาล สามารถอดหลับอดนอนทั้งคืนเพียงเพื่อออกแบบอะไรที่แตกต่างออกไปด้วยไอเดียสุดประหลาดมากมาย”

“คุณจะทำตามกระแสนิยม หรือจะทำตามใจตัวเอง ผมไม่รู้หรอก แต่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า สิ่งที่เราออกแบบอยู่ตอนนี้ มัน…เพื่อคนอื่นแล้วหรือยัง”