ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงานวิจัยใหม่พบโคคา-โคล่า สร้างมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้าสูงสุดในโลก

รายงานวิจัยใหม่พบโคคา-โคล่า สร้างมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้าสูงสุดในโลก

29 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://www.dal.ca/news/2024/04/25/plastic-waste-producers-dalhousie-study.html

งานวิจัยใหม่ยืนยันว่าการผลิตพลาสติกมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับมลพิษจากพลาสติก การศึกษาพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้าทั่วโลกมาจากเพียง 56 บริษัท โดย Coca-Cola สร้างมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้ามากที่สุดในโลกในสัดส่วน 11%

บทความวิจัยที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ Science Advances เผยให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการผลิตพลาสติกและมลภาวะจากพลาสติก โดยการผลิตพลาสติกของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1% นั้นสัมพันธ์กับมลภาวะจากพลาสติกที่เพิ่มขึ้น 1% ในสภาพแวดล้อม

เอกสารข่าวของ 5 Gyresการศึกษาพบว่าบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่ม Fast-moving consumer goods หรือ FMCG(สินค้าที่จำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่่า รวมถึง สินค้าที่ไม่คงทน ได้แก่ น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ) มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้มากกว่าบริษัทที่ผลิตของใช้ในครัวเรือนและบริษัทค้าปลีก การศึกษานี้ถือเป็นการวัดปริมาณที่ชัดเจนครั้งแรกของความสัมพันธ์ระดับโลกระหว่างการผลิตพลาสติกและมลพิษ

การวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายสิบแห่งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย ชิลี สวีเดน แคนาดา และสหราชอาณาจักร พบว่า

บริษัทระดับโลก 56 แห่งมีส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้าทั้งหมด บริษัทโคคา-โคล่า (Coca-Cola) สร้างมลพิษมลพิษจากพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้ามากที่สุดในโลกในสัดส่วน 11% ตามด้วย เป๊บซี่โค(PepsiCo) 5%, เนสท์เล่(Nestle) 3%, ดานอน(Danone) 3% และ อัลเตรีย/ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล(Altria/Philip Morris International) 2%

บริษัทชั้นนำเหล่านี้เป็นผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบ

การวิเคราะห์ข้อมูล 5 ปีได้ใช้ข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกว่าเป็นขยะประเภทไหน และมาจากแบรนด์หรือผู้ผลิตใด(brand audit ) ของ #BreakFreeFromPlastic จากกิจกรรมการตรวจสอบ 1,576 รายการใน 84 ประเทศ brand audit เป็นโครงการริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์ของพลเมืองที่อาสาสมัครกิจกรรมทำความสะอาด (clean up) และบันทึกแบรนด์ที่พบในมลพิษจากการเก็บรวบรวมขยะ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อาสาสมัครมากกว่า 200,000 คนส่งข้อมูลผ่านแอป Break Free From Plastic หรือ TrafficBlitz ของ 5 Gyres

ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างการผลิตพลาสติกและมลพิษของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค ในภูมิภาคต่างๆ และระบบการจัดการขยะที่แตกต่างกันในวงกว้าง แสดงให้เห็นว่าการลดการผลิตพลาสติกในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่ม FMCG เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก

งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ในวันที่ 24 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงการประชุมสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 4(INC-4) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567 ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เพื่อสนับสนุนสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่มีเป้าหมายสูง ซึ่งครอบคลุมบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบขององค์กร จัดลำดับความสำคัญของมาตรการลดการผลิตพลาสติก และส่งเสริมการใช้ซ้ำ และระบบเติม

  • “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ไทยพร้อมหรือยังที่จะยุติขยะมลพิษ
  • องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องอาเซียนแสดงบทบาทผู้นำเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก
  • บรรดาผู้เขียนร่วมในบทความชิ้นนี้ต่างพากันให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดย

    วิน คาว์เกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย จาก Moore Institute for Plastic Pollution Research กล่าวว่า “ครั้งแรกที่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตกับมลพิษ รู้สึกตกใจมาก มันคือความจริงของฝันร้ายที่เลวร้ายที่สุด มันหมายความว่าผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายเล็กแค่ทำตามกฎ แม้ว่าแบรนด์ใหญ่ๆ จะบอกกันว่าพวกเขากำลังทำอยู่ แต่ก็ไม่เห็นผลกระทบเชิงบวกจากความพยายามของพวกเขา ในทางกลับกัน มันทำให้ผมมีความหวังว่าบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคFMCG จะลดการผลิตพลาสติกลง และเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่คงทนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม”

    ดร.ลิซ่า เอร์เดิล ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม(Science & Innovation) จาก 5 Gyres Instituteกล่าวว่า “การศึกษาของเราเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของความรับผิดชอบขององค์กรในการจัดการกับมลพิษจากพลาสติก เราในฐานะบุคคลทั่วไปไม่ได้มีส่วนวิกฤติการณ์พลาสติก ความรับผิดชอบอยู่ที่บริษัทระดับโลก 56 แห่งที่ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด และขอเรียกร้องให้ผู้นำโลกที่ INC-4 ให้ความสำคัญกับข้อมูลวิทยาศาสตร์ และพิจารณาการเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างการผลิตพลาสติกและมลพิษในระหว่างการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก”

    ซิบิล บุลล็อก Associate Campaign Manager จาก Break Free From Plastic กล่าวว่า “การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้ยืนยันว่านักเคลื่อนไหวและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากพลาสติก ได้พูดมาหลายปีแล้วว่า ยิ่งมีการผลิตพลาสติกมากขึ้นเท่าไร ก็จะพบพลาสติกในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น เป็นอีกครั้งที่ผู้ก่อมลพิษจากพลาสติกเช่น บริษัทโคคา-โคล่า, เป๊บซีโค และ เนสท์เล่ ยังไม่สามารถลดมลพิษพลาสติกได้ตามที่มุ่งมั่น เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลก ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ลดการผลิตพลาสติกลงอย่างมากและหยุดยั้งบริษัทต่างๆ จากสร้างขยะให้ท่วมโลกด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว”

    ดร.ฆอร์เฆ่ เอ็มมานูเอล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ฝ่ายวิจัย จาก สถาบันสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ทางทะเล และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และการออกแบบ (Institute of Environmental & Marine Sciences, and College of Engineering & Design) แห่ง Silliman University กล่าวว่า “การวิจัยพบบริษัทข้ามชาติชั้นนำ 56 แห่งที่มีส่วนร่วมในขยะพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้าระดับโลก การศึกษาที่ผ่านมาได้จัดอันดับประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ไนจีเรีย ฯลฯ เป็นหนึ่งในแหล่งขยะพลาสติกอันดับต้น ๆ ที่ลงสู่มหาสมุทร ซึ่งได้นำไปสู่การบอกเล่าเรื่องราวในโซเชียลมีเดียที่ตำหนิประเทศยากจนว่าก่อมลพิษพลาสติกทั่วโลก โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1960 บริษัทต่างๆ ได้ถมประเทศกำลังพัฒนาด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวราคาถูกแทนที่แบบดั้งเดิมที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และระบบการเติมและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน จากกรณีของฟิลิปปินส์ ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่บทบาทขององค์กรและระดับโลกแทนการผลิตพลาสติก”

    ดร.แคธี ลิสลิส นักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral fellow) จาก CSIRO แห่งหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (Australia’s national science agency) กล่าวว่า “งานวิจัยนี้ถือเป็นครั้งแรกในการประเมินการมีส่วนร่วมของผู้ผลิตทั่วโลกต่อมลพิษพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวมีส่วนสำคัญต่อมลพิษพลาสติกที่มีแบรนด์สินค้า ข้อมูลนี้ช่วยเป็นแนวทางในการจัดการกับการผลิตพลาสติกและลดขยะพลาสติกที่ไปจบในสิ่งแวดล้อม”