ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > อนาคตมลพิษขยะพลาสติก: สถานการณ์โลกและสิ่งที่ไทยต้องปลดล็อก

อนาคตมลพิษขยะพลาสติก: สถานการณ์โลกและสิ่งที่ไทยต้องปลดล็อก

30 ตุลาคม 2018


รายงานล่าสุดของ “กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดเผยรายชื่อแบรนด์ผู้ผลิตที่สร้างมลพิษพลาสติกมากที่สุด จากการ “ตรวจสอบแบรนด์” หรือ “แบรนด์ออดิท” ว่าด้วยมลพิษพลาสติกครั้งแรกในไทย นับเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวระดับโลก Break Free From Plastic ที่มีเป้าหมายคืออนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของคลื่นความตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน

แม้บรรดานักเคลื่อนไหวต่างรู้ว่าการยกเลิกการใช้พลาสติกทั้งหมดจะไม่มีวันเกิดขึ้น แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรจึงจะจำกัดการใช้และสามารถลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง นี่คือปัญหาระดับโลกที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้น การมองหาหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่พลิกมิติของการแก้ปัญหาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ทุกๆ 1 นาทีจะมีขวดพลาสติกถูกซื้อ 1 ล้านใบ

“ในทุกๆ 1 นาทีจะมีการซื้อขวดพลาสติก 1 ล้านใบ และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อถึงปี 2021” รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของเดอะการ์เดียนระบุ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ จะมีการขายขวดพลาสติกออกไปถึงมากกว่าห้าแสนล้านใบ

ถึงกับมีการประเมินว่าหากมีการนำขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มที่ใช้มาวางเรียงต่อกันก็จะได้ความยาวถึงครึ่งทางของการเดินทางจากโลกไปสู่ดวงอาทิตย์ โดยข้อมูลจากรายงานของ Euromonitor International ระบุว่า ในปี 2016 เราใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม มากถึง 4 แสน 8 หมื่นล้านขวดทั่วโลก เติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่โลกเคยใช้อยู่ที่ปีละประมาณ 3 แสนล้านขวด

ปริมาณของการใช้ขวดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาเดียวของขยะขวดพลาสติก แต่ยังพบว่ากระบวนการในการจัดการขวดพลาสติกนั้นยังเป็นปัญหามาก ถ้าดูจากสถิติประเทศไทยปี 2560 ในรายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่าของขวดพลาสติก PET ในประเทศไทย โดยกอน แอดเวนเชอริน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในทวีปเอเชีย ระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีไม่ถึงครึ่งของขยะขวดพลาสติกที่ได้รับการจัดการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม นั่นหมายความว่า ยังมีขวดพลาสติกที่เหลือเกือบแสนตันต้องถูกนำไปฝังกลบและบางส่วนก็เล็ดลอดออกไปสู่ทะเลกลายเป็นขยะทะเลที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก

ในมุมมองของผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “อินโดรามา เวนเจอร์ส” ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืนและทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรรามา เวนเจอร์ส ยืนยันว่า “พลาสติก PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดในหลายรูปแบบ หากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วย ยิ่งมีการนำพลาสติก PET กลับมาใช้ใหม่ได้มากเพียงใด ก็จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงมากตามไปด้วย”

ปลดล็อกกฎหมายบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล

ข้อเสนอในการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ในประเทศไทยจึงเป็นโจทย์เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) ที่น่าสนใจ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย และ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้เริ่มทำงานเรื่องนี้ด้วยกัน ในด้านนวัตกรรมรีไซเคิลที่ปลอดภัยและการสร้างความมั่นใจกับภาครัฐเพื่อปลดล็อกกฎหมายที่ยังห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” เพราะกฎหมายนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยยังต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“วีระ อัครพุทธิพร” อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ในฐานะศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญที่สามารถร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฯ ได้จับมือกับภาครัฐร่วมประสานงานให้สมาชิกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดหรือแคปซีลได้สำเร็จ ในวันนี้เราเห็นว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลมีความก้าวหน้าไปมากจนสามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มและอาหารได้อย่างปลอดภัย และหลายประเทศก็มีการใช้ขวดเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมาอย่างปลอดภัยเป็นเวลานานมากแล้ว เราจึงอยากมีส่วนร่วมรณรงค์ในประเด็นนี้เช่นกัน

rPET ใช้ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแง่การนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อลดปริมาณการผลิตพลาสติกผลิตใหม่ โดยในขั้นตอนของการรีไซเคิล rPET ทำโดยการนำขวดพลาสติก PET มาทำความสะอาดในอุณหภูมิที่สูงหลายขั้นตอน เพื่อกำจัดเชื้อโรคและขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ก่อนที่จะสับพลาสติกอย่างละเอียดเพื่อไปหลอมให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสุด และนำไปผลิตเป็นขวด rPET ต่อไป

การรีไซเคิลขวด PET ยังช่วยประหยัดพลังงานโดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency: EPA) เปิดเผยว่า ด้วยอัตราการรีไซเคิลขวด PET ในขณะนี้ช่วยประหยัดพลังงานได้เทียบเท่ากับการใช้พลังงานของ 165,000 ครัวเรือนในสหรัฐฯ

ปี 2016 อัตราการรีไซเคิลขวด PET ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 28.4% หากแต่ละปีการรีไซเคิลขวด PET ของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 25% มีการประมาณการว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบกับแก๊สโซลีนถึง 131 ล้านแกลลอน

ความเคลื่อนไหวระดับโลกและการตื่นตัวของแบรนด์ชั้นนำ

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้การยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยเยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรปถึง 94% ขณะที่ในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 83%

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ณ เวทีการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส มูลนิธิ Ellen MacArthur ได้ประกาศรายชื่อแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ที่หันมาส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลได้ และย่อยสลายได้เต็ม 100% ภายในปี 2025 จำนวน 11 แบรนด์ ได้แก่ Amcor, Ecover, evian, L’Oréal, Mars, M&S, PepsiCo, The Coca-Cola Company, Unilever, Walmart, and Werner & Mertz

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวดังกล่าว นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกซึ่งใช้ขวดพลาสติก PET เป็นจำนวนมาก บริษัทฯ มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ โดยหนึ่งในพันธกิจตามวิสัยทัศน์ “World Without Waste” ซึ่งทางบริษัทแม่ประกาศเมื่อต้นปีนั้น บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องเริ่มทำงานทั้งการวางแผนการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างอินโดรามา เวนเจอร์ส การนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐ และการเชิญชวนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมผ่านทางสมาคมฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

นอกจากนี้ในงานวิจัย Grandview Research ยังประเมินว่า ธุรกิจ rPET ระดับโลกขยายตัวและมีขนาดตลาดสูงถึง 8,491.4 กิโลตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบรรจุภัณฑ์อาหารและการบริโภคเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารมากขึ้นด้วย

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวในระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ ความเคลื่อนไหวของแบรนด์ชั้นนำ ต่อความพยายามในการแก้ปัญหาที่อาจนำไปสู่คำตอบในการคลี่คลายปัญหาขยะพลาสติก จากปัจจุบันสู่อนาคต และเป็นโจทย์ที่ท้าทายของไทยเช่นเดียวกัน