ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ไทยพร้อมหรือยังที่จะยุติขยะมลพิษ

“สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ไทยพร้อมหรือยังที่จะยุติขยะมลพิษ

26 มีนาคม 2024


ก๊อกพลาสติก ผลงานประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ของ Benjamin Von Wong ตั้งที่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงไนโรบี ประเทศ เคนยาที่มาภาพ: https://www.unep.org/environmentassembly/unea5

คนไทยทุกคนประสบปัญหาจากมลพิษพลาสติกไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ มีเครือข่ายอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก มีชุมชนจำนวนมากที่มีรายได้จากการขายพลาสติก สังคมไทยมีความเชื่อมโยงกับวงจรชีวิตพลาสติกในแทบทุกขั้นตอน การเจรจาเพื่อจัดตั้ง “สนธิสัญญาพลาสติก” จึงมีนัยสำคัญต่อสังคมไทยอย่างมาก ในปี 2567 อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจรจาจัดตั้ง “ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ความตกลงปารีส

องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation หรือ EJF), กรีนพีช ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 เพื่อสื่อสารและเชิญชวนสังคมไทยมาร่วมกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับนี้ และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีความมุ่งมั่นและคำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด อีกทั้งยังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม

ในช่วงแรก นายปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยนโยบายพลาสติก Environmental Justice Foundation ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลก ว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2565 การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

การร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) มุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก มาตรการกำกับการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว สารเคมีและสารเติมแต่งที่น่าห่วงกังวล การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) และกลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยจุดมุ่งหมายหลักคือการยุติปัญหามลพิษพลาสติกที่ไร้พรมแดน

นายปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยนโยบายพลาสติก Environmental Justice Foundation (ซ้าย)

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจนกว่าการจัดทำสนธิสัญญาจะแล้วเสร็จนั้น คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) จะต้องเจรจาผ่านการประชุม 5 รอบ ซึ่งระหว่างปี2565 ถึง 2566 ได้มีการประชุม INC มาแล้วสามครั้ง ในประเทศอุรุกวัย ฝรั่งเศส และเคนยา ตามลำดับ โดยการประชุม INC ครั้งที่ 2 (INC-2) ที่ฝรั่งเศสได้นำไปสู่การจัดทำ “ร่างเอกสารฉบับแรก” (Zero Draft Text) ต่อมาในการประชุม INC-3 ที่เคนยา ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ร่างดังกล่าวถูกใช้เป็นเอกสารหลักในการเจรจา แต่เนื่องจากมีหลายประเด็นที่แต่ละประเทศยังตกลงกันไม่ได้ ร่างเอกสารฉบับแรกจึงขยายใหญ่ขึ้น โดยยังไม่มีแนวทางใดๆ ที่ถูกตัดทิ้งถาวร ร่างเอกสารฉบับแรกที่ถูกขยายขึ้นเรียกว่า “ร่างเอกสารฉบับแรกฉบับปรับปรุง” (Revised Zero Draft Text)

“ซึ่งเป็นร่างที่น่าจับตามองเนื่องจากเป็นร่างที่จะถูกนำมาเจรจาในการประชุมครั้งที่ 4 INC-4 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567 ที่เมืองออตตาวา แคนาดา ซึ่งจะเป็นการเจรจาก่อนการเจรจารอบสุดท้าย (INC-5) ที่กำหนดว่าจะจัดที่ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปลายปี 2567”

การเจรจารอบสุดท้าย (INC-5) มีความสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเจรจาเพื่อร่าง “สนธิสัญญา” รอบสุดท้ายและจะต้องแล้วเสร็จและจะกลายเป็นร่างฉบับแรก (First Draft) หลังจากนั้นในปี 2568 กำหนดว่าจะมีการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอย่างเป็นทางการและเปิดให้มีการลงนาม

ด้วยเหตุนี้ การประชุม INC-4 ที่จะถึงนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะเป็นจังหวะที่ผู้แทนประเทศทั่วโลกต้องตัดสินใจและเลือกว่าจะเดินไปในทิศทางไหน เพื่อให้ร่างเอกสารฉบับแรกฉบับปรับปรุงกลายเป็น “ร่างแรก” ของ “สนธิสัญญา” หรือถ้าตัดสินใจไม่ได้ การเจรจาก็จะอาจจะล่าช้าจนไม่สามารถร่างเสร็จได้ภายในปี 2568

สำหรับขั้นตอนบังคับใช้หลังการลงนาม โดยปกติแล้วกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนใหญ่ลงนามแล้วต้องมีการให้สัตยาบัน การลงนามเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงว่าจะปฏิบัติตาม ที่ผ่านมากระบวนการการให้สัตยาบันของประเทศไทยจะใช้เวลาพอสมควร การที่จะให้สัตยาบันได้ประเทศต้องมีการออกกฎหมาย กำหนดว่าให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดระหว่างประเทศได้ รวมทั้งต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วย นายปุณญธรกล่าว

สนธิสัญญาพลาสติกโลก…ไทยพร้อมหรือยัง

นายปุณญธรกล่าวว่า ร่างเอกสารฉบับแรกฉบับปรับปรุงที่จะใช้ในการประชุม INC-4 มีโครงสร้างที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก โดยกำหนดให้มีมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้งาน การใช้ซ้ำ การรึไซเคิล การจัดการขยะ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบแล้ว อย่างไรก็ตาม การเจรจาในรอบต่อๆ ไปก็อาจทำให้โครงสร้างดังกล่าวเปลี่ยนได้เช่นกัน

หนึ่งในประเด็นที่มีการโต้เถียงกันมากที่สุดคือการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่โลกต้องตั้งเป้าลดการผลิตวัสดุที่ส่งผลกระทบและคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน บางประเทศก็ยังไม่ต้องการให้ลด ขณะที่บางประเทศก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามเป้าที่กำหนด และบางประเทศขอกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงการมีมาตรการให้ทุกประเทศที่ลงนามเลิกผลิตหรือใช้พลาสติกบางประเภท เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไมโครพลาสติกแต่งเติม หรือมาตรการในการเลิกใช้สารเคมีบางประเภทในพลาสติก ซึ่งบางประเทศมีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดให้เลิกใช้ เพียงแต่ควบคุมก็พอ

นายปุณญธรกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยก็มีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 ที่ครอบคลุมพลาสติก 7 ประเภท แต่มีการควบคุมเพียง 1 ประเภทคือ ห้ามใช้ไมโครบีดในเครื่องสำอาง (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562)

และมีคำถามอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ควรต้องบังคับให้ทุกประเทศตั้งเป้าในการจัดตั้งระบบใช้ซ้ำและระบบเติมหรือไม่ ต้องบังคับให้ทุกประเทศมีระบบการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) หรือไม่ ต้องมีมาตรฐานในการรีไชเคิลและการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นสากลหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่เหล่าผู้แทนของประเทศทั่วโลกจะต้องไปแลกเปลี่ยนและถกกันที่แคนาดาในเดือนเมษายนนี้

อีกทั้งยังมีการคาดว่าในร่างสนธิสัญญาจะมีเรื่องการเลิกใช้ ลด ควบคุม สารเคมีในพลาสติกบางประเภท ซึ่งเจาะจงไปที่สารเคมีแต่งเติม และการที่มีข้อนี้ เพราะจากงานวิจัยในปี 2566 พบว่ามีสารเคมีที่ใช้ในพลาสติกประมาณ 13,000 ชนิด แต่สารเคมีที่ถูกกำกับโดยมาตรการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมี 128 หรือ 1 ของสารเคมีที่ใช้ในพลาสติกทั้งหมด ที่เหลือยังไม่มีกฎหมายควบคุม “ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะพบสารปนเปื้อนในพลาติก” และยังมีงานวิจัยบล่าสุดในเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า พบ สารเคมีประมาณ 16,000 ชนิดที่อาจใช้หรือมีอยู่ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์พลาสติก และมีเพียง 6% ที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนเรื่องการรีไซเคิลในร่างสนธิสัญญานี้กำหนดให้ตั้งเป้าหมายการรีไซเคิล ซึ่งในด้านนี้ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้บางแล้ว จากแผนปฏิบัติการกำจัดขยะพลาสติกฉบับล่าสุดของกรมควบคุมมลพิษ จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้พลาสติกรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 30% สนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล และส่งเสริมให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิล

“ประเทศไทยมีมาตรการและส่งเสริมพวกนี้ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวลคือข้อกำหนดในร่างนี้ครอบคลุมถึงอันตรายจากการรีไซเคิลด้วย ซึ่งจากการศึกษาประเทศไทยยังมีช่องที่จะดำเนินการได้อีก เป้าหมายของมาตรานี้ในข้อกำหนดคือไม่ใช่แค่รีไซเคิลได้ แต่ต้องรีไซเคิลปลอดภัย”

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับพลาสติกทางเลือก หมายถึงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพบางประเภทก็ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรก็ย่อยสลายไม่ได้ทางชีวภาพเช่นกัน ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเมื่อพูดถึงพลาสติกต่างๆ

สำหรับประเทศไทย มีการส่งเสริมพลาสติกชีวภาพพอสมควร คือบริษัทหรือโรงงานที่ซื้อพลาสติกชีวภาพสามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ 2.5 เท่า

อีกมาตราในข้อกำหนดระหว่างประเทศคือ การตั้งเป้าจัดทำระบบการใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม แต่การที่จะทำได้ นายปุณญธรกล่าวว่า ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตู้เติมน้ำ ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ หรือตู้เติมแชมพูตามห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer reseponsibility หรือ EPR) ที่อาจจะต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเป็นค่าเก็บ ค่ารีไซเคิล ขยะที่เกิดขึ้น

“ขณะนี้กฎหมาย EPR ยังไม่มีในไทย แต่หลายประเทศอาเซียนมีแล้ว ซึ่ง EPR มีได้หลายรูปแบบ เช่น การคืนบรรจุภัณฑ์ ระบบการจัดเก็บมัดจำขวด การออกแบบผลิตภัณฑ์” นายปุณญธรกล่าว

ร่างข้อตกลงสนธิสัญญายังรวมไปถึงการจัดการมลพิษพลาสติก การจัดการขยะ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อตกลงอาจจะระบุว่า ต้องมีมาตรการที่จัดการมลพิษพลาสติกที่เป็นรูปธรรม ต้องมีมาตรฐานใหม่ ต้องมีการฟื้นฟู รวมทั้งแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ และประเด็นสุดท้ายที่มีการพูดกันมากคือ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ต้องเป็นธรรมกับทุกส่วน ซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับหลายด้าน

ในช่วงที่สองเป็นการเสวนาโดยวิทยากรที่ขับเคลื่อนการยุติมลพิษพลาสติก ประกอบด้วย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีช ประเทศไทย (Greenpeace Thailand), ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation Thailand และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ดำเนินรายการโดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และเลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และเลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า การลงมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลเมื่อปี 2565 สร้างความตื่นตัวให้กับโลก และมองว่าไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้เพราะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะขยะทะเลที่ส่งผลกระทบทุกประเทศและคล้ายกับขยะประเภทอื่น พลาสติกไม่เพียงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจด้วย ประเด็นสำคัญคือไม่ได้ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรและมีหลายโมเดลมาก ของไทยเองก็ได้มีมาตรการที่ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ (oxo) ไปแล้ว 4 ชนิด การเสวนาในวันนี้น่าจะเป็นให้ข้อมูลล่าสุดถึงสถานการณ์การแก้ไข และหากสนธิสัญญาผ่านการตกลงจะมีนัยต่อไทยอย่างไร

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในระดับโลกมีการผลักดันการแก้ไขแบบสมัครใจมาก่อนแล้ว ที่โดดเด่นคือ Ellen MacArthur Foundation ที่ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมหสประชาชาติริเริ่มโครงการ Global Commitment ผลักดันให้แบรนด์ ห้างค้าปลีกรายใหญ่ รัฐบาลประเทศต่าง มาให้คำมั่นว่าภายในปี 2025 จะลดการใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) เพิ่มพลาสติกรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้ หรือใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้ ซึ่งโครงการเริ่มมาตั้งปี 2018 จนถึงปี 2023 มีความคืบหน้าแต่ทั่วโลกยังผลิตพลาสติกใหม่เพิ่มขึ้น แม้มีองค์กรมาให้คำมั่นร่วมพันราย

“ในรายงาน 5 ปีระบุว่า แม้มีความคืบหน้าแต่ยังเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งตลาด จึงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้อย่างแท้จริง สุดท้ายรายงานระบุว่าต้องมาช่วยกันผลักดันสนธิสัญญา เพราะยังเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ ต้องมาช่วยกันให้สินธิสัญญาเกิดขึ้น และมีการออกกฎระเบียบในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” ดร.สุจิตรากล่าว

อุปสรรคที่ทำให้การผลักดันแบบสมัครใจคืบหน้าไม่มาก สิ่งท้าทายหลักคือ การส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ reuse เพราะหากภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน การนำกลับมาใช้ซ้ำ การเติม refill แม้ภาคธุรกิจอยากจะทำ ก็ทำไม่ค่อยได้ อีกทั้งบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่เป็นพลาสติกยังไม่มีแนวทางที่จะปรับวัสดุโดยที่คุ้มค่าต่อต้นทุน และระบบจัดเก็บมารีไซเคิลก็มีปัญหาค่อนข้างมาก

สำหรับประเทศไทย ดร.สุจิตรากล่าวว่า พลาสติกเริ่มเป็นประเด็นของโลกในปี 2015 จากบทความงานวิจัยที่มีการจัดดับประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 เป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการ มีมาตรการ มีโรดแมป มีแผนปฏิบัติการ

ส่วนการห้ามใช้พลาสติก 7 ชนิด ของไทยไม่ได้มีกฏหมายรองรับ เป็นการเลิกใช้แบบสมัครใจ ขอร้องให้เลิกการใช้ เลิกการผลิต ซึ่งในธุรกิจหลักทำไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ยกเว้นการห้ามใช้ไมโครบีด ซึ่งสำนักคณะกรรมการงานอาหารและยา (อย.) มีกฎหมายเครื่องสำอางอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีระบบติดตามตรวจสอบว่าเครื่องสำอางในตลาดปัจจุบันมีส่วนผสมของไมโครบีดหรือไม่

“ในระดับโลกยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นของไทยแผนปฏิบัติการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ จะแก้ไขอะไรได้ อีกทั้งกฎหมายของไทยยังไม่พร้อม โดยกฎหมายเกี่ยวกับขยะของไทย เน้นที่ปลายทางคือผู้บริโภคที่สร้างขยะ แต่ไม่มีกฎหมายท้องถิ่นกำหนดมาขนเพื่อไปกำจัด ส่วนการผลิตก็ยังไม่กฎหมายมาครอบคลุม” ดร.สุจิตรากล่าว

“กฎหมายของไทยได้ทิ้งภาระขยะทุกประเภท ที่ไม่ใช่เกิดจากโรงงาน ให้กับท้องถิ่น และยังไม่มีกฎหมายให้ท้องถิ่นมีการจัดการ รวมทั้งจัดเก็บค่าบริการเก็บขยะที่ต่ำมาก”

นอกจากนี้ไทยยังไม่มี 4 เครื่องมือเชิงนโยบายในการจัดการขยะพลาสติก ตาม OECD ที่จะเป็นกลไกหลักในการกำจัดขยะพลาสติก ได้แก่ ระบบความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR), ระบบมัดจำคืนเงิน (DRS) ภาษีเตาเผา และเก็บค่าขยะตามปริมาณที่ทิ้ง ซึ่งก็ต้องช่วยกันผลักดันให้มีเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานร่างกฎหมาย CE/EPR บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตั้งเป้าประกาศใช้ปี 2569 และร่างกฏหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2570 แต่ยังไม่ได้นำสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาประเมินร่วมด้วย

จากซ้าย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่มาภาพ:เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ไทยเจอมลพิษพลาสติกทุกรูปแบบ สมัครใจเอาไม่อยู่ต้องมีกฎบังคับ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหามลพิษพลาสติกในทุกรูปแบบและสถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อย ทั้งจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาไปจนถึงการนำเข้าขยะพลาสติก

ในปี 2561 สหประชาติเปิดแคมเปญระดับโลกไม่ทิ้งขยะในทะเล แต่ไม่สามารถทำให้ทั่วโลกลดขยะพลาสติกลงได้และปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไม่ลดลง

“นี่เป็นต้นทางจะชักชวนด้วยความสมัครใจไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีกฎหมายระดับโลกเข้ามาคุม” เพ็ญโฉมกล่าว

สำหรับประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่รับขยะผ่านการคัดแยกอย่างดีมาจากประเทศที่มีระบบการตัดแยกขยะที่ดี ทั้งจากสหรัฐ ยุโรป เมื่อจีนห้ามนำเข้าขยะ ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ในปี 2561 เกิดเหตุการณ์จับกุมโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ที่มีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก ปี 2561 ปีเดียวไทยนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นขยะสกปรกด้วยสูงถึง 500,000 ตัน จากก่อนหน้าอยู่ในระดับ 50,000-60,000 ตัน ขญะมาจาก 80 ประเทศที่มีความเจริญทั้งนั้น

“จากการวิจัย 5 ปีตั้งแต่ปี 2560-2564 พบว่ามีทั้งหมด 80 ประเทศที่ส่งขยะพลาสติกมาที่ไทย” เพ็ญโฉมกล่าว

ประเทศไทยยังมีมลพิษที่มาในรูปแบบโรงงานรีไซเคิลทั้งอิเล็กทรอนิกและพลาสติก โรงงานรีไซเคิลของจีนซึ่งบางส่วนไม่ได้มาตรฐานย้ายมาอยู่ในไทยจำนวนมาก การรีไซเคิลมีอันตรายมาก เพราะมีกระบวนการที่ปล่อยมลพิษสู่ดิน น้ำ อากาศสูงมาก โรงงานรีไซเคิลเป็นแหล่งหนึ่งที่มีการปล่อย PM2.5 สูงที่สุด แต่รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงภาคอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่มลพิษที่ต่ออากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมอันตรายกว่า PM2.5 จากภาคเกษตรและไฟป่ามาก เพราะมีสารเคมีหลายชนิด ส่วนหนึ่งมาจากการเผาขยะพลาสติก มลพิษนี่ยังไม่รวมถึงเชื้อเพลิงที่ใช้ในการรีไซเคิล ยิ่งมีโรงงานรีไซเคิลมากขึ้นมลพิษก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ผิดทาง ด้วยการเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ่า เป็นอันตรายเพราะเป็นแหล่งปล่อยไดออกซินโดยตรง และยิ่งมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอีก 70 แห่งและมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ยังน่ากังวลต่อสารเคมีที่ใช้ในพลาสติกต่างๆ ซึ่งหลายประเภทเป็นสารก่อมะเร็ง

“ทั้งหมดนี่คือรูปแบบมลพิษจากพลาสติก และยังมีอีกหลายมุมขยะพลาสติกที่ต้องดูกันใแ้แจ่มแจ้ง แล้วมาดูกันว่าสนธิสัญญาพลาติกจะตอบโจทย์ปัญหาที่เรากำลังเจอหรือไม่ รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลไทย และอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีผลต่อสนธิสัญญา” เพ็ญโฉมกล่าว

กรีนพีซกดดันผู้ผลิตให้รับผิดชอบ

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีช ประเทศไทย กล่าวว่า กรีนพีชได้ทำงานในด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิต การใช้ซ้ำ การเติม มาหลายปีแล้ว มีการรณรงค์ในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และในบางประเทศก็กดดันผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจากการทำงานมานานก็เห็นว่าหากยังคงทำงานแบบภาคสมัครใจ ปัญหามลพิษพลาสติกในปัจจุบันจะไม่ได้รับการแก้ไข จึงได้บอกเสมอว่าอยากเห็นการมีกฎหมายที่เป็นข้อบังคับ เพราะหากไม่มีภาคบังคับก็จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน

พิชามญชุ์กล่าวว่า การขยายความรับผิดชอบทางสาธารณะของผู้ผลิตในเรื่องมลพิษพลาสติก ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์ และการจัดการของเสียได้ดีมากขึ้น ได้ดำเนินการผ่านกิจกรรม brand audit ซึ่งมุ่งเน้นตรวจสอบแบรนด์สินค้า จากขยะที่พื้นที่ไม่มีการจัดการจากภาครัฐ เช่น บริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อเห็นภาพจริงของปัญหา ว่าความหลากหลายทางชีวภาพได้รับผลกระทบ

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีช ประเทศไทย (ขวา) ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation Thailand (ซ้าย) ที่มาภาพ:เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศ

สามทางเลือกตั้งแต่เข้มสุดถึงทำแบบเดิม

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติก Environmental Justice Foundation Thailand กล่าวว่า จากการศึกษาร่างสนธิสัญญาพบว่ามีทางเลือกให้เลือก ทางเลือกแรกเข้มงวดที่สุด มีเป้าหมายระดับโลก มีกรอบเวลา มีภาคผนวกให้ตกลงกันว่าจะลดป็นต้องใช้พลาสติกไหนบ้าง แล้วทำให้สำเร็จตามที่สนธิสัญญาเขียนไว้ ทางเลือกที่สองเป็นการลดพลาสติกที่ให้แต่ประเทศกำหนดเป้าหมายเอง และทางเลือกที่สามคือทำเหมือนเดิม เพราะแต่ละประเทศมีแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว

“ความน่ากังวลคือ คู่เจรจาแต่ละประเทศเลือกไม่เหมือนกัน มีทั้งคนที่ต้องทำแบบเข้มงวด บางส่วนต้องการแบบกลางๆ และอีกส่วนหนึ่งที่ยังต้องการแบบเดิม มองว่าการจัดการพลาสติกเป็นแค่การจัดการขยะ สนธิสัญญานี้อาจจะไม่ใช่ยาแรงอย่างที่คาดหวัง แต่ยังมีโอกาสเพราะยังมีการเจรจาครั้งที่ 4” ศลิษากล่าว

ศลิษากล่าว EJF ได้มาทำงานด้านพลาสติกในปี 2020 ด้วยโครงการนำร่องเพื่อนำผลมาเป้นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเลือกพลาสติกที่เป็นปัญหาแต่ยังจำเป็นต้องใช้ คือ อวนประมง ที่เป็นขยะกองใหญ่ เรือลำเล็กขนาด 1 ตันกรอสทิ้งขยะอวน 5 กิโลกรัมต่อเดือน ทั้งประเทศมีเรือ 60,000 ลำ และยังมีเรือขนาดใหญ่ไปจนถึง 100 ตันกรอส ซึ่งหมายถึง 300,000 กิโลกรัมต่อปี

ขยะอวนจัดการยาก เนื่องจากมักมาเป็นกองใหญ่ที่พันกัน และบางประเภทไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะมีสารแต่งเติม หรือสารเคลือบบางอย่าง บางอย่างรีไซเคิลยากมาก แต่รีไซเคิลเป้นทางเลือกที่ดีกว่าฝังกลบ หรือเผา แต่ต้องมีวิธีการจัดการ

ที่มาภาพ : เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศ

แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล 10 ข้อ

หลังการเสวนา องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กรได้อ่านแถลงการณ์ต่อการเจรจาจัดตั้ง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ว่า การยุติมลพิษพลาสติกจึงเป็นพันธกิจสำคัญของพวกเราทุกคน ซึ่งต้องไม่หยุดอยู่ที่การจัดการขยะ แต่ต้องรวมไปถึงการยุติมลพิษตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และการลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง

ช่วงเวลานับจากนี้จนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาคมโลกจะบรรลุพันธกิจนี้ สืบเนื่องจากที่ในปี พ.ศ. 2565 สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 5/14 (UNEA Resolution 5/14) ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกอย่างแพร่หลายว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” โดยตั้งเป้าว่าจะร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567

สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกสำคัญในการกำกับให้ทุกประเทศแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกอย่างจริงจัง ช่วงการเจรจาจัดตั้งนี้จึงเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนและทุกประเทศทั่วโลกจะได้มีส่วนร่วมในการยุติมลพิษพลาสติกไปด้วยกัน

พวกเรา องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อยุติมลพิษพลาสติกจากหลากหลายมิติในประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation หรือ EJF), กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เสนอให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาเพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ทะเยอทะยาน มีการตั้งกรอบเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน มีกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน โปร่งใส และเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาท และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย 10 ประการดังต่อไปนี้

    1. ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้
    2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
    3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน
    4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility หรือ EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกและค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
    5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
    6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
    7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
    8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา
    9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
    10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“การยุติมลพิษพลาสติกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้ เพราะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน และสุขภาพของมนุษย์ทุกคนมากขึ้นทุกวันตามปริมาณ โดยเฉพาะกลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบ ปัจจุบันแม้ปัญหาจะได้รับการพูดถึง แต่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากต้นเหตุยังขาดเจตจำนงทางการเมือง สนธิสัญญาฉบับนี้จึงสำคัญมากที่จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาแก้ไขมลพิษพลาสติกจากต้นตอ ลดการผลิตและยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นและมากเกินควร อย่างมีประสิทธิภาพ ทะเยอทะยาน แต่ยุติธรรม และมีกรอบเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโส/ผู้จัดการโครงการพลาสติกภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ Environmental Justice Foundation

“เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็ง และมุ่งไปที่การลดการผลิตพลาสติกอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 เพื่อให้เรายังคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับปัญหามลพิษพลาสติกในเวทีเจรจาที่กำลังจะมีขึ้น โดยการให้คำมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังสามารถเริ่มกำหนดนโยบายที่จะช่วยลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศได้ โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pays principle หรือ PPP) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตพลาสติกตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า การรับคืน การสร้างระบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าว

“มลพิษพลาสติกเป็นปัญหาที่กว้างใหญ่และซับซ้อนมากกว่าปัญหาขยะพลาสติก โดยที่มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อพิษภัยต่อสุขภาพได้ลึกซึ้งและร้ายแรงกว่ามากนัก ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ นอกจากนั้น ยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของผลิตภัณฑ์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มักมีพลาสติกซึ่งมีการใช้สารเติมแต่งชนิดต่างๆ ปะปนอยู่ด้วย สารเติมแต่งเหล่านั้นเมื่อผ่านกระบวนการผลิต หรือบำบัดหรือย่อยสลาย จะปลดปล่อยสารมลพิษที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ รวมถึงสรรพชีวิตบนโลกด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว