ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ธนาคารโลกแนะโอกาสเศรษฐกิจไทย-มาเล-ฟิลิปปินส์ ในอุตฯ รีไซเคิลพลาสติก

ธนาคารโลกแนะโอกาสเศรษฐกิจไทย-มาเล-ฟิลิปปินส์ ในอุตฯ รีไซเคิลพลาสติก

26 มีนาคม 2021


รถขนขยะขวดพลาสติกทำความสะอาดแล้วมาส่งโรงงาน

รายงานจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การจัดการขยะพลาสติกที่ดีขึ้นสามารถขจัดมลพิษ ทางทะเลและปลดล็อกเศรษฐกิจหมุนเวียนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ได้

25 มีนาคม 2564 กลุ่มธนาคารโลกได้แถลงผลการศึกษาจากชุดโครงการสำรวจโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกหมุนเวียนและการจัดการกับขยะในทะเล การศึกษานี้ใช้หลักการห่วงโซ่คุณค่าพลาสติกในการประเมินอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกและบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงความพยายามในการรีไซเคิลผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน

โดยผลการศึกษาในทั้ง 3 ประเทศพบว่า จากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดนั้น มีปริมาณน้อยกว่า 1 ใน 4 ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ ส่งผลให้มูลค่าของพลาสติกในระบบสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 75 หรือเทียบเท่ากับ 6 พันล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปีในทั้งสามประเทศรวมกัน การที่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งแทนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล แสดงให้เห็นถึงช่องทางของโอกาสทางธุรกิจที่ยังสามารถพัฒนาได้อย่างมีนัยสำคัญหากสามารถจัดการกับอุปสรรคทางการตลาดได้

“ขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ในประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นับเป็นภัยคุกคามต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การท่องเที่ยวและการประมง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของสังคม” Ndiamé Diop ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้งสามประเทศ ในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความต้องการเม็ดพลาสติกที่มาจาการรีไซเคิลทั้งหมด รวมถึงการยกระดับการแข่งขัน สำหรับบริษัทต่างๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก โดยการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางและโอกาสที่ทั้งสามประเทศจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ

การศึกษานำเสนอขนาดและระดับของอุตสาหกรรมการผลิตและรีไซเคิลพลาสติกของแต่ละประเทศโดยมุ่งเน้นไปที่เม็ดเรซินที่นำมารีไซเคิลได้สี่ประเภท ทีมนักวิจัยได้หารือกับกลุ่มผู้ผลิตเรซิน เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้บริษัทแปรรูป บริษัทที่รวบรวมวัสดุพลาสติก และบริษัทรีไซเคิลในห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อรวบรวมและพัฒนาข้อมูลพื้นฐานสำหรับเรซินเป้าหมายแต่ละประเภท อีกทั้งยังทำการวิเคราะห์เพื่อประเมินศักยภาพและโอกาสทางการตลาดสำหรับเรซินแต่ละประเภท พร้อมทั้งระบุถึงปัจจัยคุกคามที่ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าในวัสดุของแต่ละประเทศอีกด้วย

ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศต่างมีอุปสรรคที่เป็นลักษณะเฉพาะในการรีไซเคิลพลาสติก แต่ก็พบว่ามีแนวปฏิบัติร่วมที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการเพื่อช่วยให้ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย สามารถเพิ่มมูลค่าของพลาสติกได้ โดยทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกพลาสติกหลังจากเก็บรวบรวมมาจากผู้บริโภค
  • กำหนดปริมาณเป้าหมายในการรีไซเคิลจากประเภทการใช้พลาสติกหลักๆ ทั้งหมดของผู้บริโภค
  • กำหนดมาตรฐาน “การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล” สำหรับพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์
  • ส่งเสริมให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิล (เชิงจักรกลและเชิงเคมี)
  • ดำเนินการตามข้อกำหนดเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมขยะ
  • จำกัดการทิ้งขยะพลาสติกในรูปแบบของการฝังกลบและการทิ้งเศษขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น

“การศึกษาเหล่านี้นับว่าสามารถตอบสนองความต้องการด้านข้อมูลเฉพาะของแต่ละประเทศ เกี่ยวกับวิธีการผลิต การใช้ และการจัดการพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษานี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการขยะพลาสติกในฐานะทรัพยากรที่มีมูลค่า ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาการจัดการขยะเท่านั้น”

การศึกษาในประเทศไทยและมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจาก “PROBLUE” ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนตั้งอยู่ที่ธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนและบูรณาการในมหาสมุทรที่สะอาดและอุดมสมบูรณ์ ส่วนการศึกษาของฟิลิปปินส์ได้รับการสนับสนุนจาก Korea Green Growth Trust Fund (KGGTF) กองทุนร่วมระหว่างกลุ่มธนาคารโลกและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินการให้กู้ยืมของธนาคารโลก ทั้งนี้ การศึกษาในทั้งสามประเทศดำเนินการโดยทีมวิจัยจาก GA Circular ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิจัยและกลยุทธ์การจัดการและการรีไซเคิลขยะ