ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่1) : เคนยาใช้กฎหมายแรงสุด – ไต้หวันเดินหน้าสู่ Plastic-free Island

โลกจับมือเร่งแก้ขยะพลาสติก (ตอนที่1) : เคนยาใช้กฎหมายแรงสุด – ไต้หวันเดินหน้าสู่ Plastic-free Island

30 พฤษภาคม 2018


ประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก ที่มาภาพ:http://www.abc.net.au/news/2017-08-28/countries-with-plastic-bag-bans/8850284

โลกตื่นตัวต่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปีและให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการดำเนินในหลายด้าน เช่น หลายประเทศมีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ รวมทั้งสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับพลเมืองโลก ตลอดจนปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) และกำหนดวันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day)

แต่ละปีจะมีแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน กระตุ้นให้พลเมืองโลกลงมือทำเพื่อไม่ให้ สภาพแวดล้อมย่ำแย่ลงไปอีก โดยในปี 2018 นี้ ทั้งวันคุ้มครองโลกและวันสิ่งแวดล้อมโลกต่างใช้แนวคิดเดียวกัน คือ ลดปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งวันคุ้มครองโลกเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา โดยใช้แนวคิด End Plastic Pollution ขณะที่วันคุ้มครองโลก 5 มิถุนายน ปีนี้ ซึ่งจะจัดการประชุมที่อินเดีย ประกาศแนวคิด Beat Plastic Pollution

ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทำลายสุขภาพและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทำลายชีวิตสัตว์ป่า มีผลต่อพื้นที่เกษตรกรรม ทำลายแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่เป็นพาหะเชื้อมาเลเรียและไข้จับสั่น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งขยะพลาสติก 8 ล้านตันที่ไหลลงทะเลในแต่ละปี ซึ่งสหประชาชาติคาดว่าหากยังคงทิ้งขยะกันต่อเนื่องในระดับนี้ต่อปีแล้ว ภายในปี 2050 ในทะเลจะมีถุงพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา ซึ่งจะมีผลต่อการประมงทางทะเล สัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว

สถิติในปี 2011 พบว่ามีการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบต่อนาที

การห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันที่จะลดและกำจัดขยะพลาสติกในทะเล เพราะสัตว์น้ำได้รับสารพิษจากการกัดกินพลาสติกที่ติดมากับเศษอาหาร โดยที่ผ่านมาคาดว่า นกทะเลประมาณ 99% จิกเศษพลาสติกเข้าท้องจากเศษอาหารที่ลอยอยู่ในน้ำ นักวิทยาศาสตร์ยังพบกองขยะขนาดใหญ่จากการพัดพาถุงพลาสติกมาสะสมในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2010 ถุงพลาสติกเพียง 1 ใบคือแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี และก่อให้เกิดเชื้อไข้จับสั่นในประเทศเขตร้อน

นอกจากนี้ การห้ามใช้ถุงพลาสติกยังช่วยลดผลกระทบต่อสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังมีขยะทะเลจากพลาสติกชนิดอื่น เช่น ฝาขวดน้ำ ฝาแก้วกาแฟ และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

เคนยาใช้มาตรการหนักสุด

ที่ผ่านมามีหลายประเทศได้ให้ความสำคัญพยายามที่จะแก้ไขและลดปัญหาขยะพลาสติกมาต่อเนื่อง ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศในโลกที่สาม รวมทั้งได้ใช้มาตรการที่หลากหลาย มีทั้งห้ามใช้ทุกรูปแบบ ห้ามบางส่วน หรือเก็บภาษีถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีราวกว่า 40 ประเทศ ตั้งแต่ จีน อังกฤษ อิตาลี รวันดา มอริเตเนีย

โดยแหล่งที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นที่แรก คือ เกาะแนนทักเก็ต หรือ Nantucket ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในปี 1990 และต่อมาปี 2016 ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

บังกลาเทศเป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบบางทั่วประเทศในปี 2002 หลังจากที่พบว่าเป็นสาเหตุหลักของท่อระบายน้ำอุดตันในช่วงน้ำท่วมใหญ่ จากนั้นหลายประเทศจึงได้ทำตาม

ปี 2017 เคนยาเป็นประเทศล่าสุดที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบ ทั้งห้ามการผลิต จำหน่ายหรือใช้ถุงพลาสติก ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมาก ถุงพลาสติกจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเคนยา ส่งผลให้เคนยาเป็นประเทศที่สหประชาชาติเลือกใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly conference) ครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2017

กฎหมายห้ามการผลิต การใช้ และการจำหน่ายถุงพลาสติกในเคนยาเริ่มมีผลในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของเคนยาในการลดภาวะแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก

กฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกของเคนยาถือว่าเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุดในโลก เพราะผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ จะถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด

ที่มาภาพ : https://www.the-star.co.ke/news/2017/08/28/avoid-sh4m-fi-nes-and-jail-time-plastics-ban-is-here_c1624217

กฎหมายห้ามถุงพลาสติกของเคนยานับว่ามีความเข้มงวดมาก เพราะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ที่ถือถุงพลาสติกได้ แต่รัฐบาลบอกว่าเป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมายคือผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ตำรวจเพียงแค่ยึดถุงเท่านั้น ไม่ได้จับกุม นอกจากนี้ยังมีผลต่อนักท่องเที่ยวด้วย โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเคนยาจะต้องทิ้งถุงใส่สินค้าปลอดภาษีไว้ที่สนามบิน

ในทวีปแอฟริกา ประเทศบอตสวานาได้เก็บภาษีถุงพลาสติกเมื่อ 10 ปีก่อน ต่อมาในปี 2014 แคเมอรูนออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ส่วนเอริเทรียห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี 2005 มอริเตเนียห้ามผลิต ห้ามใช้ และนำเข้าถุงพลาสติกในปี 2013

ปี 2016 โมร็อกโก ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ได้ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก ขณะที่รวันดาห้ามใช้ถุงพลาสติกเด็ดขาดในปี 2008 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ความยั่งยืน 2020 รวมทั้งกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทิ้งถุงพลาสติกไว้ที่สนามบิน ทางด้านแทนซาเนีย ห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศในปี 2006 และล่าสุดเดือนมีนาคม 2017 ตูนิเซียห้ามห้างสรรพสินค้าใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า

แอฟริกาใต้มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกปี 2004 แม้จะไม่ห้ามการใช้ ในปี 2007 ยูกานดาเริ่มประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบน้ำหนักเบา แต่ก็ไม่เคยมีการห้ามใช้อย่างแท้จริง ส่วนไนจีเรียไม่มีการห้ามใช้แต่ใช้วิธีการอื่น โดยมีบริษัทที่ชื่อ From Waste to Wealth เข้ามาดำเนินการ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้หญิงนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถุงที่มีสีสันสวยงามวางขายในตลาดเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่

ทางด้านเอเชีย มีการลดการใช้ถุงพลาสติกหลายวิธี เช่น เก็บภาษี มีการห้ามใช้ เริ่มตั้งแต่บังกลาเทศ หลังจากนั้นคือจีน ที่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ฮ่องกงใช้วิธีเก็บเงินค่าถุงในราคา 50 เซนต์ต่อใบ ขณะที่อินเดียก็มีการสั่งห้ามแต่การปฏิบัติจริงยังมีปัญหา ส่วนประเทศในเอเชียอื่นๆ มีทั้งใช้การห้ามและเก็บภาษี ซึ่งบางประเทศก็ประสบความสำเร็จบางประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศเหล่านี้ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา อิสราเอล และไต้หวัน

ในยุโรป เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ สหภาพอาณาจักร ที่รวมทั้งอังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ ต่างพากันพยายามที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกในวิธีที่ต่างกัน

อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ยังไม่มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกหรือเก็บภาษีถุงพลาสติกทั่วประเทศ มีบางรัฐที่ห้ามการใช้ถุงประเภทใช้แล้วทิ้งได้แก่ แคลิฟอร์เนีย รวมทั้งรัฐในอาณาเขตอย่าง เกาะซามัวร์ เปอร์โตริโก แต่ที่ฮาวายห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วรัฐ ส่วนในแคนาดามีการห้ามเป็นบางเมือง รวมทั้งมอนทรีออล

บางประเทศใช้วิธีการห้ามถุงพลาสติก โดยใช้ความหนาเป็นเกณฑ์ เช่น ฝรั่งเศส ห้ามถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 50 ไมครอน ยูกานดาพยายามที่จะห้ามถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 30 ไมครอน และใช้ภาษีกับถุงลาสติกขนาดใหญ่ในปี 2007 แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้เป็นการทั่วไป จึงไม่มีผลมากนัก

ขณะที่บางประเทศมีทั้งใช้ภาษีและเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ใช้รูปแบบนี้ โดยเริ่มใช้มาตรการภาษีปี 1994 และเป็นแนวทางที่แพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ห้างสรรพสินค้าจะคิดเงินค่าถุง 5 เพนนี ส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลง 85% ส่วนสหภาพยุโรปได้ประกาศเมื่อปี 2014 ว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติกลงประมาณ 80% ในปี 2019

ไต้หวัน มุ่งสู่ Plastic-free Island

ไต้หวันนำเป็นตัวอย่างของโลกที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ง่ายต่อการปฏิบัติตาม

ภายใต้การรับผิดชอบของกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม Environmental Protection Administration (EPA) ที่ได้นำมาตรการต่างๆ มาใช้ จูงใจให้ประชาชนร่วมกันลดการใช้ถุงพลาสติกและลดปริมาณขยะในประเทศ และลดปริมาณขยะในทะเลลง โดยเริ่มตั้งรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก ช่วงแรกใช้เฉพาะหน่วยงานรัฐ โรงเรียนรัฐ โรงพยาบาลรัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายส่ง ห้างสรรพสินค้า ช้อปปิ้งมอลล์ ร้านสะดวกซื้อ และฟาสต์ฟู้ด

ที่มาภาพ:https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3325110

นโยบายการลดใช้ถุงพลาสติกปี 2002 นี้ห้ามใช้ถุงที่มีความหนาน้อยกว่า 0.06 มิลลิเมตร และกำหนดเก็บเงินค่าถุงที่มีความหนา 0.06 มิลลิเมตรขึ้นไป และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 1,200-6,000 ไต้หวันดอลลาร์ รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ประชาชนนำถุงตัวเองมาใส่ของ ซึ่งมีผลให้ลดการใช้ได้จาก 3.435 พันล้านใบเป็น 1.43 พันล้านใบต่อปี

ต่อมาในเดือนมกราคม 2018 ได้ขยายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยห้าม 7 กลุ่มธุรกิจ แจกถุงพลาสติกใส่สินค้าให้กับลูกค้าโดยไม่คิดเงิน ซึ่งประกอบด้วย ร้านเบเกอรี่ ร้านซักแห้ง ร้านเครื่องดื่ม ร้านหนังสือและเครื่องเขียน ร้านถ่ายรูปและอุปกรณ์สื่อสาร ร้านขายยา และร้านที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์

ธุรกิจทั้ง 7 กลุ่มยังคงได้รับอนุญาตให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าแต่ต้องเก็บเงินค่าถุง และสามารถกำหนดราคาถุงได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ก็มีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคนำถุงรีไซเคิลมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะ ซึ่ง EPA คาดว่าจะลดปริมาณถุงพลาสติกลงได้ประมาณ 20 ล้านใบต่อปี และเมื่อถึงเวลาที่มาตรการนี้บังคับใช้ EPA ได้ขยายการห้ามแจกถุงพลาสติกให้ครอบคลุมอีก 7 กลุ่ม รวมเป็น 14 กลุ่มธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตาม

ร้านค้าบางร้านที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การห้ามจากรัฐบาล แต่ก็ร่วมสนับสนุนนโยบายนี้ด้วย โดยให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่นำถุงมาเอง เช่น ร้านที่ขายอาหารเช้า โดย Chen Yu-chen ผู้จัดการร้าน เปิดเผยว่า โดยปกติมักจะแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าราว 5-6 ใบต่อวัน แต่เพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาลและเพื่อส่งเสริมการสร้างความรับรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่นำถุงมาใส่อาหารเอง

ภาพจากร้านอาหารที่แสดงให้ลูกค้าเห็นถึงส่วนลดจากการนำถุงมาเอง ที่มาภาพ:http://focustaiwan.tw/news/asoc/201801040022.aspx

ก่อนหน้าที่มาตรการนี้จะมีผล นาย ลี อิง หยวน รัฐมนตรี EPA เปิดเผยว่า ด้วยแนวทางนี้คาดว่าจะมีร้านค้า 80,000 แห่งยุติการแจกถุงพลาสติกฟรีให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณ 1.5 ล้านใบต่อปี หรือราว 1 ใน 10 ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกโดยรวมของไต้หวันในแต่ละปี แต่หากทุกคนช่วยกันก็จะลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 15 พันล้านใบใน 10 ปี

มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Painless Reduction of Plastics เพื่อทำให้ไต้หวันเป็นเกาะที่ปราศจากถุงพลาสติกหรือ Plastic-free Island ภายใน 10 ปี นอกจากนี้ EPA มีแผนที่จะห้ามผู้ผลิตหรือนำเข้าผงซักฟอกและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ microplastic beads ในปี 2018 และห้ามจำหน่ายผงซักฟอกและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมในราวเดือนกรกฎาคม 2018

ล่าสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 นาย ลี อิง หยวน รัฐมนตรี EPA แถลงข่าวประกาศแผนการลดขยะพลาสติกฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติขยะทะเล โดยร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม ก่อตั้งโครงการ Sea Waste Management Platform พร้อมจะห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งหลายประเภท ซึ่งแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะๆ คือปี 2020 ปี 2025 และปี 2030

ปี 2020 ห้ามธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายสาขา เตรียมหลอดดูด ถุงพลาสติกกล่องพลาสติกใส่อาหาร ภาชนะพลาสติกชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง แก้วเครื่องดื่ม สำหรับการบริโภคภายในร้าน ปี 2025 เริ่มใช้มาตรการเก็บเงินสำหรับแก้วเครื่องดื่ม ภาชนะที่ใส่อาหารหรือที่เตรียมไว้สำหรับการบริโภคภายในร้าน และปี 2030 จะห้ามใช้ภาชนะพลาสติกเต็มรูปแบบอย่างเด็ดขาด รวมทั้งแก้วเครื่องดื่มแบบนำกลับ และห้ามใช้หลอดดูดกับทุกร้านอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวัน

ที่มาภาพ:https://www.livekindly.co/taiwan-cleaner-oceans-single-use-plastics/

สำหรับถุงช้อปปิ้งพลาสติก EPA จะห้ามร้านค้าทุกร้านให้ถุงแก่ลูกค้าฟรีในปี 2020 และในปี 2025 จะปรับค่าถุงให้สูงขึ้น และปี 2030 ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด

ลี อิง หยวน กล่าวว่า การลดการใช้ถุงพลาสติกไม่ใช่หน้าที่ของ EPA แต่เป็นความรับผิดชอบของพลเมืองทุกคนที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สำหรับคนรุ่นหลัง

เรียบเรียงจาก phys.org,The Japan Times, Taiwan Today, climateactionprogramme.org, nation.co.ke, star.co.ke, capitalfm.co.ke, focustaiwan