ThaiPublica > คอลัมน์ > จุดตายเศรษฐกิจไทย

จุดตายเศรษฐกิจไทย

24 เมษายน 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาโตไม่เต็มศักยภาพต่อเนื่องมาหลายปี 2566 ที่ผ่านมาขยายตัว 1.8% ชะลอตัวจาก 2.5% ในปีก่อนหน้า อัตราขยายตัวดังกล่าวถือว่าถอยหลังอย่างมีนัยสำคัญหากเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่เศรษฐกิจเคยขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ต่อปี (2549-2557) หลายเดือนที่ผ่านมานักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ ออกมาระบุสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาพฟื้นช้าและโตน้อยถี่เป็นพิเศษ พวกเขาระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีต้นตอจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง และการส่งออกที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ

เมื่อเร็วๆนี้ ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค แบงก์ชาติ แถลงผลศึกษาของแบงก์ชาติ พบว่าสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหลังโควิดโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาจาก 2 ปัจจัย คือ หนึ่ง ปัจจัยเชิงวัฎจักรระยะสั้น โดยช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวจากภาคบริการซึ่งมีผลให้ส่งออกไทยชะลอตัวลง สอง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันรุนแรงขึ้น

โดยขยายความต่อว่า เช่น สินค้าที่เคยทำได้ดีภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าว ที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยทรงตัวนานกว่า 20 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 25% ปี 46 มาอยู่ที่ 13% ในปี 65 โดยไทยเสียแชมป์และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกกุ้งของไทยลดลงจาก 14% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2565 เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกต่ำอยู่แล้ว และระยะหลังยังถูกจีนและเวียดนามตีตลาด จนส่วนแบ่งเหลือเพียง 0.8% ในปี 2565 แม้กระทั่งสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในไทยก็ถูกแทนที่ด้วยสินค้าจีน เช่น มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าจากจีนปี 2566 เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดที่ 14% …(ไทยรัฐออนไลน์ 5 ก.พ. 2567 )

เรื่องเดียวกันสำนัก KKP Research ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยชี้ว่า การส่งออกที่เคยเป็นหัวหอกเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปีกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ จากความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง และผลกระทบจากปัจจัยจีน

ประเด็นความสามารถในการแข่งขัน KKP Research แยกเป็น 3 จุดเสี่ยง เริ่มจาก

หนึ่ง ไทยเป็นโรงงานผลิตสินค้าในโลกเก่าที่ตลาดปัจจุบันมีความต้องการลดลง และไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาของใหม่มาแทนที่ได้ เช่น รถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนกำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive หรือ HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยโซลิดสเตตไดรฟ์ (solid state drive หรือ SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการในตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว

สอง ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ สมาร์ทโฟน เซมิคอนดักเตอร์ และเอสเอสดี ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

สาม แม้ไทยมีโอกาสในกลุ่มสินค้าเกษตร ที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิตและมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น ผลไม้เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ แต่ข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของไทยกำลังถูกอินเดียและพม่าเบียดชิงตลาดไปเรื่อยๆ

ส่วนผลกระทบจากปัจจัยจีน KKP Research วิเคราะห์ผลจากการที่เศรษฐกิจไทยถูกจีนตีกระหนาบมากขึ้นไว้หลายประเด็น เช่น เดิมไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิดจีนผลิตเองต้นทุนต่ำกว่า และส่งออกสินค้าบริโภคขั้นสุดท้ายมาขายที่ไทยโดยตรง เคเคพีฯ มองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวกระทบส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ภาคการผลิตแข่งยากขึ้น เพราะสินค้าจากจีน เช่น กลุ่มกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์

KKP Research สรุปผลกระทบจากการที่ไทยยังผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมและเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดสินค้ายุคเศรษฐกิจใหม่น้อย รวมทั้งปัจจัยจีนไว้หลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง คือข้อเสนอของสำนักนี้ต่อการตีฝ่าความท้าทายที่กระหนาบเศรษฐกิจไทยเข้ามาในเวลานี้

อีกด้าน ดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯ สภาพัฒน์ หน่วยงานที่ทำหน้าออกแบบทิศทางประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ผ่านสื่อไว้หลายครั้งโดยระบุว่า ถ้าอยากให้ (เศรษฐกิจ) โตขึ้นไประดับ 5% ต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (ความสามารถในการทำงานที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น) ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโต

เลขาฯ สภาพัฒน์ยังชี้ว่า ผลิตภาพแรงงานจะเพิ่มได้ต่อเนื่อมีการปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่งไทยทำมาแล้วในปี 2526 ที่เริ่มโครงการ อีสเทิร์นซีบอร์ด (โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก) ปรับโครงสร้างจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และรถยนต์ แต่ผ่านไป 41 ปี ยังไม่มีการปรับโครงสร้างใหม่

เขาชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนลดลงมาจากช่วงเศรษฐกิจดีซึ่งสัดส่วนเคยอยู่ที่ 20% ต่อจีดีพี ตอนนี้เหลือแค่ 3.2% ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมราว 40 ชนิด แต่อนาคตเป็นไปได้ที่จะเหลือแค่ 10 ชนิดหากไม่ปรับตัว เพราะอุตสาหกรรมในระบบตอนนี้ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อความแตกต่าง

ในสถานการณ์ที่ตลาดเก่าถูกชิงส่วนแบ่ง แต่ตลาดใหม่ยังเข้าไม่ถึง หากไม่ชิงไหวตัว จุดอ่อนจะเปลี่ยนเป็นจุดตาย จุดตายเศรษฐกิจ