ThaiPublica > คอลัมน์ > ชีวิตและเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่?

ชีวิตและเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่?

31 สิงหาคม 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ชีวิตและเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่?

คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นโยงกับความเป็นไปของสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงจากนี้ไป

สถานการณ์ระบาด…สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศระหว่าง การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อรายวันเลยจุดสูงสุดมาแล้ว และกำลังลดลงมา

การประกาศของ นพ.เกียรติภูมิ มีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 หมื่นรายต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ซึ่งเป็นทิศทางที่สวนกลับสถานการณ์ในช่วงก่อนหน้า ที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันของไทยทำนิวไฮต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนดันยอดติดเชื้อโควิด-19 รายวันของไทยทะลุหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะยานเกิน 1 ล้านคน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันซ้ำว่าปีนี้สามารถจัดหาวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 124 ล้านโดส แยกเป็น ซิโนแวค 31.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสและไฟเซอร์อีก 31.5 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมี ซิโนฟาร์ม ที่จัดหาโดย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 11 ล้านโดส และ โมเดอร์นาที่โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าผ่าน องค์การเภสัชกรรม อีก 5 ล้านโดส รวมแล้วปีนี้ไทยจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดไม่น้อยกว่า 140 ล้านโดส มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนหน้า 100 ล้านโดส

นพ.โอภาส การาย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงยืนยันซ้ำว่า ปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 ตามเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ข้อมูลและก้าวหน้าของสถานการณ์ข้างต้น แม้ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ถือเป็นสัญญาณบวกแรกๆจากสมรภูมิโควิดที่ดุเดือดมากในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา และยังบ่งชี้ว่าชีวิตขยับเข้าใกล้ความเป็นปกติเข้าไปอีกนิด

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ…ในช่วงแปดเดือนที่ผ่านมา สถาบันต่างๆ พร้อมใจกันปรับคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้ลง อย่างน้อย 2 ครั้ง หลังสถานการณ์ระบาดทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนับจากเดือนมิถุนายน เป็นต้นมา โดย แบงก์ชาติหั่น จีดีพี ลงมาเหลือ 0.7 % จากเดิมมองไว้ 1.8 % คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)ให้ติดลบ 1.5 % จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวระหว่าง 1.5-3 %

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกมาสแกนอาการเศรษฐกิจไทยให้สื่อมวลชน ชมผ่านจอเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเสนอแนะ ให้รัฐบาล ยืนหยัดรับบทหนัก ประคับประคองและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิดต่อไป เพราะภาคส่วนอื่นยังไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้

อีกทั้งยังเสนอให้รัฐเร่งเติมเงินเข้าระบบ ด้วยการกู้เพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 7 ของ จีดีพี โดยอ้างว่า “การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ จีดีพี กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้นและจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม”

เหตุผลที่ ดร.เศรษฐพุฒิ เชื่อว่าการกู้เพิ่มจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น ทั้งที่รัฐบาลกู้มาแล้ว 2 รอบคือ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งเริ่มใช้ เพราะหลัง จับเศรษฐกิจไทยทำทีซี สแกนแล้วพบว่าอาการเศรษฐกิจไทย เปรียบเหมือนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงว่าเชื้อกำลังจะลงปอด จากอาการ 4 ด้านหลักๆคือ

หนึ่ง รายได้จากการจ้างงานระหว่างปี 2563-2564 หายไปราว 1.8 ล้านล้านบาท หากลากยาวไปถึงปีหน้า (2565) ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งแบงก์ชาติเรียกอาการนี้ว่า “หลุมรายได้”

สอง การจ้างงานได้รับผลกระทบรุนแรงโดยเฉพาะภาคบริหารและธุรกิจสายป่านสั้น อาทิ คนเสมือนว่างงาน (มี งานทำไม่ถึง 4 ชม.ต่อวัน) ตอนนี้มี 3 ล้านคนถึงสิ้นปีคาดจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน (ก่อนโควิด-19มีอยู่ราว 1 ล้านคน) คนว่างงานเกิน 1 ปี ตัวเลขล่าสุด 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากช่วงก่อนหน้า คนว่างงานไม่เคยมีงานทำมาก่อน 2.9 แสนคนหรือนักศึกษาจบใหม่ (ก่อนโควิด-19 ตัวเลขอยู่ที่ 8.5 หมื่นคน) และแรงงานที่ย้ายกลับบ้านเพิ่มจาก 5 แสนคนเป็น 1.6 ล้านคน และแรงงานกลุ่มนี้ที่ทำรายได้ๆน้อยกว่าตอนอยู่ในเมือง

สาม การฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมแบบ เค-เชฟ เช่นภาคส่งออกฟื้นกลับมาอยู่เกินระดับก่อนโควิด-19มาเยือนแล้วแต่อีกหลายภาคส่วนยังไม่เห็นแสงสว่างด้วยซ้ำ และสี่ ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากกว่าประเทศอื่นเนื่องจากพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าชาวบ้าน

นอกจากนี้ แบงก์ชาติ ยังประเมินด้วยว่าเศรษฐกิจคงไม่ฟื้นตัวเร็ว จากสถาการณ์ระบาดที่รุนแรงขึ้นจากไวรัสกลายพันธุ์ เดลต้า ภาคท่องเที่ยวฯเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยคงไม่กลับมาเป็นปกติในเร็ววันนี้ อีกทั้ง มาตรการล็อกดาวน์ ซ้ำเติมฐานะการเงินของ ภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ เปราะบางมากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นอย่างที่คิดคือเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาสสุดท้ายปีนี้เป็นได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น

“ภาครัฐต้องดูแลหลุมรายได้ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาทตลอดปี 2563 – 2564 โดยเฉพาะช่วงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินการต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้และไม่ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวตอนหนึ่ง

สรุปรวมแล้วเหตุผลที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ มองว่าการกู้เพิ่มของรัฐอีก 1 ล้านล้านบาท คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่จะลดผลกระทบจากอาการ “หลุมรายได้” ของเศรษฐกิจไทยและยังเป็นตัวช่วย เร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนประเด็น “หนี้สาธารณะ” ซึ่งเชื่อมโยงกับวินัยการคลังและเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ จีดีพีลดลงเร็วกว่าไม่กู้ ? โดยอธิบายว่า แม้การกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท จะดันให้สัดส่วนหนี้สาธารณะขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 70 ของ จีดีพี ในปี 2567 แต่จะลดเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะกลับมาฟื้นตัว แต่ถ้ารัฐบาลไม่กู้เพิ่มแม้ สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง และปรับลดลงไม่ได้นักในระยะยาว

ผู้ว่าแบงก์ชาติมั่นใจว่าการกู้เพิ่มจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพการคลังของไทย แต่มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลางเพื่อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี กลับลงมาในระยะข้างหน้าโดยยกตัวอย่าง “มาตรการที่รัฐบาลควรทำถ้าจะกู้เพิ่ม” คือ การปฏิรูปการจัดเก็ฐภาษีเช่นขยายฐานภาษี นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ควบคุมรายจ่ายประจำ เพิ่มสัดส่วนงบลงทุนเป็นต้น

ดร.เศรษฐพุฒิมองว่าการกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะหากรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แล้วรัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 1 จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 60 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงประมาณร้อยละ 0.39 ต่อ จีดีพี

สุดท้ายแล้ว ข้อเสนอกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านของ ดร.เศรษฐพุฒิ จะได้ไปต่อ หรือแค่เล่าสู่กันฟังในวังบางขุนพรหมคงต้องติดตามกัน แต่ข้อเสนอที่สุดท้าทายจากแบงก์ชาติให้ใช้หนี้ แก้หนี้ ทะลวงเพดานหนี้สาธารณะเพื่อบูธเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาในภาคเศรษฐกิจจากพิษวิกฤติโควิดได้ดี และยังบอกเป็นนัยๆด้วยว่า เศรษฐกิจคงไม่ฟื้นตัว กลับคืนสู่สภาวะปกติในเร็ววัน