เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาที่กรุงมนิลาได้มีการเปิดตัวโครงการระดับภูมิภาคระยะเวลา 5 ปีว่าด้วย การลดมลพิษและการอนุรักษ์ชลนิเวศในทะเลเอเชียตะวันออก(Reducing Pollution and Preserving Environmental Flows in East Asian Seas )ผ่านการดำเนินการจัดการลุ่มแม่น้ำแบบบูรณาการ หรือ Integrated River Basin Management (IRBM) เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติและนวัตกรรมสำหรับชุมชน อุตสาหกรรม และรัฐบาลในการทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหลายแห่งก่อตั้งขึ้นริมแม่น้ำ เช่น โฮจิมินห์ซิตี้ของเวียดนามริมแม่น้ำไซง่อน กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียริมแม่น้ำแกลง จาการ์ตาของอินโดนีเซียริมแม่น้ำซิลิวุง เมโทรมะนิลาในฟิลิปปินส์ริมแม่น้ำปาซิก
แม่น้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชและสัตว์ต่างๆ เป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับผู้คนนับล้าน เมื่อแม่น้ำหลายสายไหลผ่านพื้นที่และเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ก็จะพัดพาของเสียและตะกอนไหลลงสู่ทะเล
ข้อมูลจากแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อสู้กับขยะในทะเล(ASEAN Regional Action Plan on Combatting Marine Debris) พลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 80% ของขยะทะเลทั้งหมดในมหาสมุทร
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Global Environment Facility (GEF) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme :UNDP) โครงการจะจัดตั้งกลไก IRBM ในลุ่มแม่น้ำสายหลักของสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
“โครงการนี้จะรวมความรู้เกี่ยวกับการเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างแม่น้ำและทะเล แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและจะมีการแบ่งปันจุดอ่อน เพื่อให้แม่น้ำสายอื่นนำไปปรับใช้และหลีกเลี่ยง” ดร. อินทวี อักขราธ ประธานคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (ASEAN Working Group on Water Resources Management) อธิบาย
ดร.คาร์ลอส พริโม เดวิ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการและปลัดกำกับดูแลของสำนักงานควบคุมลุ่มแม่น้ำ DENR ของฟิลิปปินส์ ประเทศเจ้าภาพในการเปิดตัว กล่าวว่า “การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำและบริการจากระบบนิเวศอื่นๆ ที่ลุ่มแม่น้ำมีให้ ต่อไปได้ แม้จะมีภัยคุกคามจากเหตุการณ์รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
“การใช้น้ำในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความท้าทายด้านคุณภาพและปริมาณน้ำคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องมีอย่างมาก” ดร. เซลวา รามาจันทรัน ผู้แทน UNDP ประจำฟิลิปปินส์กล่าวและว่า “เรายินดีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการกำกับดูแลน้ำจืดในลุ่มน้ำที่อยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของประเทศ แก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน เช่น มลพิษ การจัดการลุ่มน้ำ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ”
“โครงการนี้เป็นพันธสัญญาถึงการดำเนินการร่วมกันของอาเซียนและมองไปข้างหน้าเพื่อยกระดับการจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคของเรา” นายเอกภพ พันธุวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนกล่าว
ความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับทะเลเอเชียตะวันออก (PEMSEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินการของโครงการ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลจากต้นทางสู่ทะเล ตลอดจนสร้างขีดความสามารถในการวางแผน และเสริมสร้างกลไกการจัดการลุ่มน้ำ
“เรามองว่าโครงการนี้เป็นการต่อยอดงานตามปกติของ PEMSEA ในการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ เนื่องจากแม่น้ำเป็นท่อธรรมชาติที่นำไปสู่ชายฝั่งและท้องทะเลของเรา” ไอมี กอนซาเลซ Gonzales ผู้อำนวยการบริหารของ PEMSEA อธิบาย “เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะปรับแนวทางการจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการให้เป็นกรอบชัดเจน รวมทั้งการจัดทำรายงานสถานะของลุ่มน้ำซึ่งจะเป็นครั้งแรกในภูมิภาค ได้ใช้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมในพื้นที่นำร่องที่ได้รับการคัดเลือกภายในลุ่มน้ำที่กำหนด และคงความเสมอภาคทางเพศและความครอบคลุมทางสังคมตั้งแต่การออกแบบ การวางแผน ตลอดจนการดำเนินการในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และลุ่มน้ำ”
การเปิดตัวจัดขึ้นพร้อมกับกับงาน Project Inception Workshop และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการครั้งแรกเพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการในการดำเนินโครงการ และอื่นๆ โดยมีผู้แทนจากคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักเลขาธิการอาเซียน, UNDP, PEMSEA และพันธมิตรดำเนินโครงการเข้าร่วม