ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 ธันวาคม 2565
ฟิลิปปินส์เตรียมตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 2 พันล้านดอลล์
ฟิลิปปินส์ใกล้จะจัดตั้ง กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(sovereign wealth fund) หลังจากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติมาตรการที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หลังจากการยื่นเสนอเพียงสองสัปดาห์ในการประชุมของวันพฤหัสบดี(15 ธ.ค.) ส.ส. 279 คนลงมติเห็นชอบกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Maharlika Investment Fund ขณะที่ 6 คนลงมติไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายนี้ได้ส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีมาร์กอสเพื่อขออนุมัติ
การให้ความเห็นชอบเกิดขึ้นหลังจากผู้บริหารหน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งนายเบนจามิน ดิออคโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังและนายเฟลิเป เมดัลลา ผู้ว่าการธนาคารกลาง สนับสนุนแผนการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง นายเมดัลลากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ความกังวลก่อนหน้านี้ของหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินเกี่ยวกับกองทุนความมั่งคั่งที่วางแผนไว้ได้รับการ “แก้ไขอย่างสมบูรณ์” หลังจากมีการทบทวนข้อเสนอในรัฐสภา
ในช่วงแรกผู้ว่าการธนาคารกลางได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการกำกับดูแลกองทุนความมั่งคั่งที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบต่อความเป็นอิสระของหน่วยงานการเงิน ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขมุ่งไปที่เงินนำส่งรัฐของธนาคารกลางฟิลิปปินส์(Bangko Sentral ng Pilipinas) เพื่อนำมาเป็นทุนจัดตั้งกองทุน
กองทุนความมั่งคั่งของฟิลิปปินส์จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจทางกฎหมายของ BSP ผู้ว่าการกล่าว
ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการยื่นเสนอเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร เฟอร์ดินานด์ มาร์ติน โรมูอัลเดซ ลูกพี่ลูกน้องของประธานาธิบดีมาร์คอส และซานโดร มาร์กอส บุตรชายของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกเหนือจากเงินนำส่งรัฐของธนาคารกลางแล้ว ทุนประเดิมของกองทุนจะมาจาก Land Bank of the Philippines และ Development Bank of the Philippines ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ
ประธานาธิบดีมาร์กอสซึ่งรับรองร่างกฎหมายอย่างเร่งด่วนก่อนหน้านี้กล่าวว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่เสนอจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ
Maharlika Investment Fund มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทุนประเดิมจาก Land Bank of the Philippines และ Development Bank of the Philippines จะมีจำนวน 75 พันล้านเปโซ ส่วนที่เหลือจะมาจากเงินนำส่งรัฐของธนาคารกลางซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 35 พันล้านเปโซในปีนี้
กองทุนมีขนาดลดลงจาก 275 พันล้านเปโซในร่างแรกที่ยื่นเสนอ ที่ใช้เงินจาก Social Security System (SSS) และ Government Service Insurance System (GSIS) หลังจากได้รับการคัดค้านจากสาธารณะ
ฟิลิปปินส์จ่อขึ้นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงปี 2025
ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายในการเป็น ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2025(2568) ช้ากว่าที่รัฐบาลคาดไว้หนึ่งปี นาย อาร์เซนิโอ บาลิซากัน เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(National Economic and Development Authority-NEDA)กล่าวเมื่อวันเสาร์(17 ธ.ค.)ในการกล่าวคำปราศรัยระดับประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า คณะบริหารของเขากำลังต้องการนำฟิลิปปินส์ไปสู่ ”สถานะรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2567″ ด้วย “รายได้อย่างน้อย 4,256 ดอลลาร์ต่อหัว”
“[แต่] เนื่องจากการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในปี 2563 และการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินเปโซในปีนี้ การเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะนี้จะเป็นปี 2025″ นายบาลิซากันกล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่ Dapo Restobar ในเกซอนซิตี้
ภายใต้มาตรฐานฉบับปรับปรุงของธนาคารโลก เขตเศรษฐกิจหรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNI) ต่อหัวอยู่ระหว่าง 4,046 ถึง 12,535 ดอลลาร์
รัฐบาลชุดที่แล้วมีเป้าหมายที่จะนำประเทศไปสู่สถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2563 แต่เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยเนื่องจากการแพร่ระบาด
ในปี 2019 ฟิลิปปินส์ถูกจัดประเภทเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง โดยมี GNI ต่อหัวอยู่ระหว่าง 1,006 ถึง 3,955 ดอลลาร์
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติฟิลิปปินส์ (Philippine Statistics Authority -PSA) แสดงให้เห็นว่า GNI ต่อหัวของประเทศอยู่ที่ 182,438 เปโซ (ประมาณ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับสูงสุดของการระบาดใหญ่ในปี 2563 ที่ 177,546 เปโซ (ประมาณ 3,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดที่ GNI ต่อหัวอยู่ที่ 200,135 เปโซ(ประมาณ 3,600 ดอลลาร์) ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม นายบาลิซากันแสดงความมั่นใจว่า GNI ต่อหัวของประเทศจะสูงถึง 4,456 ดอลลาร์ภายในปี 2568 “เพราะรายได้ต่อหัวที่ระดับนั้น เราจะเข้าเกณฑ์ของการเข้ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง”
เป้าหมายของการบรรลุสถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง บรรจุในแผนพัฒนาฟิลิปปินส์ (hilippine Development Plan -PDP) ปี 2566-2571 ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวของประเทศสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะปานกลาง ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยมาร์กอสเมื่อวันศุกร์
“แผนนี้จัดทำได้เร็วมาก ในเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากการเข้าบริหารของประธานาธิบดีมาร์คอส PDP คือแผนสำหรับการพลิกโฉมทางเศรษฐกิจและสังคม ในอีก 6 ปีข้างหน้า เป้าหมายโดยรวมของเรา คือ การเสริมสร้างการสร้างงานและเร่งการลดความยากจนโดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับสู่เส้นทางการเติบโตสูง ที่สำคัญกว่านั้น แผนนี้พยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจไปสู่สังคมที่เจริญรุ่งเรือง ครอบคลุม และมีความสามารถในการปรับตัว” นายบาลิซากันกล่าว
นายบาลิซากันกลาวว่า แผน PDP พัฒนาจากกรอบวาระทางสังคมและเศรษฐกิจ 8 ข้อของประธานาธิบดีมาร์กอส ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่ประเทศต้องเผชิญ และข้อจำกัดระยะปานกลางต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และยังมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย AmBisyon Natin 2040 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของประชาชนฟิลิปปินส์ในระยะยาว
เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมบางส่วนภายใต้แผนมีดังต่อไปนี้
-
1)การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงต่อปีอยู่ที่ 6.0%-7.0% ในปี 2566 และ 6.5%-8.0% ช่วงปี 2567 ถึง 2561
2)อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 2.5%-4.5% ในปี 2566 และ 2.0%-4.0% ในปี 2567-2561
3)การว่างงานลดลงเหลือ 4.0%-5.0% ในปี 2571 จากค่าเฉลี่ย 5.4% ในปี 2565 ในขณะที่สัดส่วนค่าจ้างและลูกจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการเอกชนสูงขึ้นจาก 49.6% โดยเฉลี่ยในปี 2565 เป็น 53.0%-55.0% ในปี 2571
4)สัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลต่อ GDP ลดลงเหลือ 48.0%- 53.0% ในปี 2571 จาก 63.7% ในปี 2565
5)อัตราความยากจนลดลงจาก 18.1% ในปี 2564 เป็นระดับเลขหลักเดียวที่ 8.8%-9.0% ในปี 2571
อินโดนีเซียเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับ World Class
อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งแรก เพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวในเขตซานูร์(Sanur) ของจังหวัดบาหลี ซึ่งรวมสองภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน และเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างด้านการดูแลสุขภาพของอินโดนีเซีย
โครงการนี้กำลังดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง PT Aviasi Pariwisata Indonesia (Injourney) ผ่านบริษัทในเครือ PT Hotel Indonesia Natour และ Indonesia Healthcare Corporation (IHC)
เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญอันดับต้นๆของกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (SOE) ซึ่งนำเสนอในระหว่างการประชุมนานาชาติ SOE International Conference: Driving Sustainable & Inclusive Growth ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม และเป็นส่วนหนึ่งของ Trade, Investment, and Industry Working Group (TIIWG) Road to G20
Erick Thohir รัฐมนตรีกระทรวง SOE ของอินโดนีเซีย เชื่อว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวซานูร์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
“เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีศักยภาพค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีความสำคัญลำดับต้นๆในการฟื้นฟูกิจกรรมการท่องเที่ยวในบาหลี”
นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับชาวอินโดนีเซียด้วย เนื่องจากจะช่วยให้สามารถเข้ารับการรักษาในประเทศได้ ด้วยบริการด้านสุขภาพระดับโลกที่ใกล้เคียงกับการใช้บริการในต่างประเทศ
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์คาดว่าจะสามารถเป็นจุดหมายปลายทางของชาวอินโดนีเซีย 4-8% ที่ต้องการการรักษาในต่างประเทศ
โดยคาดว่าจะมีผู้จะเข้ารับการรักษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์ประมาณ 123,000-240,000 คนภายในปี 2573
“ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในภูมิภาค โดยมีพลเมืองมากกว่า 2 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศในปี 2562 เพื่อขอรับบริการด้านสุขภาพด้วยมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” แถลงการณ์ระบุ
ในฐานะการลงทุนใหม่เขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์คาดว่าจะรองรับคนงานได้ประมาณ 43,000 คน และภายในปี 2588 คาดว่าจะเพิ่มรายได้เที่เป็นเงินตราต่างประเทศรวมสูงถึง 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบาหลีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 24.6% ในช่วงปี 2563-2567 และการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะสูงถึง 18% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน รักษาการผู้อำนวยการของ Indonesia Heath Corporation (IHC) ระบุว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์จะให้บริการด้านสุขภาพคุณภาพสูงแบบบูรณาการตามมาตรฐานสากลพร้อมการดูแลทางการแพทย์ที่ทันสมัย
IHC ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลของรัฐ มีโรงพยาบาล 75 แห่งและคลินิก 143 แห่งทั่วประเทศ
เขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์จะพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ 41.26 เฮกตาร์ของ PT Hotel Natour Indonesia ด้วยมูลค่าการลงทุน 664 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากความพยายามที่จะรวมบริการด้านสุขภาพเข้ากับการท่องเที่ยว ก็จะเริ่มกระบวนการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์ด้วย ซึ่งรวมถึงการยกระดับโรงแรมจาก 4 ดาวเป็น 5 ดาว
“กระบวนการยกเครื่องนี้จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มของเขตเศรษฐกิจพิเศษซานูร์ ซึ่งมีแนวคิดการบริการแบบครบวงจรแบบบูรณาการ ดังนั้นจึงสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนที่กำลังมองหาบริการทางการแพทย์ระดับโลกจากการเดินทางไปบาหลี” Dony Oskaria ประธานผู้อำนวยการ Injourney อธิบาย
การปรับโฉมจะรวมถึงโรงแรมแกรนด์ อินนา บาหลี บีช ทาวเวอร์, แกรนด์ อินนา บาหลี บีช การ์เดน และการก่อสร้างศูนย์การประชุมที่จุคนได้ 5,000 คน
เวียดนามวางแผนสร้างสนามบินเพิ่มอีก 9 แห่ง
สำนักงานการบินพลเรือน (CAA) ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มสนามบิน 9 แห่งในแผนงานสนามบินของประเทศปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593สนามบินที่เสนออยู่ในจังหวัด ห่า ซาง, เอียนบ๊าย, เตวียนกวาง, ห่าติ๋ญ, กอนตูม, กว๋างหงาย, คั้ญฮหว่า, ดั๊กนง และเต็ยนิญ
ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก CAA ใช้เวลาหนึ่งเดือนในการทำงานโดยตรงกับ 10 จังหวัดเกี่ยวกับข้อเสนอการพัฒนาสนามบินในจังหวัดเหล่านี้ ข้อเสนอหนึ่งสำหรับสนามบินในจังหวัดเสิ่นลา ถูกยกเลิกเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
CAA เรียกร้องให้ท้องถิ่นจัดทำรายงานความเป็นไปได้และแผนการเพิ่มทุนสำหรับการสร้างสนามบิน โดยชี้ว่างบประมาณของรัฐจะไม่จัดสรรให้กับการพัฒนาสนามบินเหล่านี้
ภายใต้แผนพัฒนาสนามบินที่กระทรวงคมนาคมเสนอต่อรัฐบาลนั้น จะมีสนามบิน 28 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573 และ 31 แห่งภายในปี 2593
กระทรวงคมนาคมได้วางมาตรฐาน 6 ข้อสำหรับการพัฒนาสนามบิน ได้แก่ ความต้องการขนส่งสินค้า ความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การป้องกันประเทศและความมั่นคง การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินและการบรรเทาทุกข์ สภาพธรรมชาติและระยะทาง
Pham Huu Son ผู้อำนวยการทั่วไปของ TEDI ซึ่งให้คำปรึกษาด้านการวางแผนสนามบิน กล่าวว่า มาตรฐานเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการสิ้นเปลืองทรัพยากร และเป็นฐานสำหรับนักลงทุนเอกชนในการวัดประสิทธิภาพเมื่อลงทุนพัฒนาสนามบินตามหลักความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(public–private partnerships)
นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ห่างไกลและเกาะหรือท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาการท่องเที่ยว และจากการที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็ว การวางแผนสนามบินจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเรียกร้องให้มีการลงทุนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง
ปัจจุบันมีสนามบิน 22 แห่งในเวียดนาม เป็นสนามบินระหว่างประเทศ 12 แห่งและสนามบินในประเทศ 10 แห่ง ส่วนสนามบินนานาชาติ แห่งใหม่ ล็องถั่ญ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
กัมพูชาดันสีหนุวิลล์ขึ้นแท่นเสิ่นเจิ้น 2
กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังและสถาบันออกแบบผังเมืองแห่งเสิ่นเจิ้นของจีน (Urban Planning Design Institute of Shenzhen-UPDIS) ได้ร่วมกันตรวจสอบรายงานการประเมินและข้อเสนอแผนแม่บทสำหรับการปรับเปลี่ยนจังหวัดพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ต้นแบบ
Vongsey Vissoth ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง พร้อมด้วยตัวแทนของ UPDIS ได้ประชุมร่วมกันเพื่อทบทวนและหารือเกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของร่างรายงานแผนแม่บทและผลการประเมิน ตลอดจนแผนแม่บทฯที่นำเสนอ
“การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนร่างระยะที่สองเพื่อให้แน่ใจว่าแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ประเมินความท้าทายเชิงนโยบายและลำดับความสำคัญของทิศทางการพัฒนาที่สำคัญ” Vissoth กล่าว
“แผนแม่บทและรายงานที่เกี่ยวข้อง 12 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงแผนปฏิบัติการการพัฒนาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนา และเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคส่วน”
กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังและ UPDIS ได้ลงนามในข้อตกลงสัญญาที่ปรึกษาแผนแม่บทเมื่อเดือนตุลาคม 2564 โดยสถาบันจะให้บริการในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อปรับเปลี่ยนสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์
การพัฒนาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะใหญ่ๆ ระยะที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูลและการสำรวจสถานที่ ในขณะที่ระยะที่ 2 เกี่ยวข้องกับการประเมินและข้อเสนอ ระยะที่ 3 เป็นการจัดทำแผนแม่บท ส่วนระยะที่ 4 ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทให้แล้วเสร็จ
แผนแม่บทจะเป็นแผนงานหลักในการพัฒนาเมืองสีหนุวิลล์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดให้เป็น “เมืองเสิ่นเจิ้นแห่งที่สอง” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2558-2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ให้บริการห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อัจฉริยะ
สมัชชาแห่งชาติลาวรับรองแผนการเงินปี’66 ดึงเงินเฟ้อลงมาที่ 9%
สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (NA) สปป.ลาว เมื่อวันศุกร์(16 ธ.ค.)ที่ผ่านมาได้ผ่านร่างแผนการเงินปี 2566 โดยให้คำมั่นว่าจะ ลดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีลงเหลือตัวเลขหลักเดียวที่ 9%จากตัวเลขสองหลักในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 19.69% ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 36.75% จาก 34.05% ในเดือนกันยายนและ 30.01% ในเดือนสิงหาคม
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินกีบ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และการปฏิรูปภายในประเทศที่ล่าช้า ทำให้ลาวเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น จากรายงานของธนาคารโลก
เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง ร่างแผนซึ่งรับรองโดยการประชุมสมัชชาแห่งชาติชุดที่ 9 สมัยสามัญที่ 4 ที่กำลังดำเนินอยู่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งรวมถึงการเติบโตของปริมาณเงิน (M2) ที่ไม่เกิน 26% เมื่อเทียบกับปี 2565 และทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอสำหรับการซื้อสินค้านำเข้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
แผนดังกล่าวยังได้กำหนดเป้าหมายให้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว นำเสนอร่างแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม กล่าวว่า ทางการจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดหาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า
นอกจากนี้ จะมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้นเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ควรเกิน 3% ของหนี้โดยรวม
ดร.บุนเหลือกล่าวว่า ธนาคารกลางจะทบทวนและปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปริมาณเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน
ธนาคารกลางจะยังคงปรับสัดส่วนเงินฝากภาคบังคับให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของระบบธนาคาร ปริมาณเงิน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะยังคงออกพันธบัตรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง
ภายใต้สถานการณ์ที่ระดับราคาสูงขึ้น รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิดและจะคุมราคาสินค้านำเข้า เพื่อป้องกันการขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล
ส่วนการอ่อนค่าของเงินกีบ จะมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการใช้สกุลเงินลาวให้มากขึ้น เพื่อลดความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ เพราะลาวประสบปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถซื้อน้ำมันได้อย่างเพียงพอในช่วงกลางปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำมันลดลงอย่างมาก
ดร.บุนเหลือ กล่าวว่า ลาวจะผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่นกับประเทศคู่ค้าเพื่อลดการใช้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งชี้ไปที่เงินดอลลาร์สหรัฐ
ลาวจะมุ่งไปที่การเชื่อมโยงการทำธุรกรรมอย่างใกล้ชิดกับระบบธนาคารในสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินทุน นอกจากนี้จะพิจารณาการใช้เงินกีบดิจิทัลเพื่อทำให้ธุรกรรมข้ามพรมแดนง่ายขึ้นอีกด้วย
รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะดูแลให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น หลังรายงานชี้ให้เห็นว่า เงินตราต่างประเทศที่มาจากโครงการลงทุนและการส่งออกที่ผ่านระบบธนาคารมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย
ในวันเดียวกัน การประชุมของสมัชชาแห่งชาติซึ่งจะมีไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม ได้อนุมัติแผนงบประมาณปี 2566 และมีกำหนดจะรับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2566 ในปลายเดือนนี้