ThaiPublica > คอลัมน์ > แด่ผู้สร้างโลกวัยเยาว์ให้เราทั้งโลก…โทริยามะ อากิระ

แด่ผู้สร้างโลกวัยเยาว์ให้เราทั้งโลก…โทริยามะ อากิระ

12 มีนาคม 2024


1721955

ข่าวเศร้าทั่วทั้งโลกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เมื่อทางเบิร์ด สตูดิโอ และแคปซูล คอร์โปเรชั่น โตเกียว ได้แจ้งในหน้าเพจอย่างเป็นทางการว่า “โทริยามะ อากิระ ได้ถึงแก่กรรมด้วยวัย 68 ปีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม เนื่องจากเลือดออกใต้สมองเฉียบพลัน เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เขายังมีผลงานอีกหลายหลากที่ยังอยู่ในระหว่างการสร้างสรรค์ด้วยความกระตือรือร้นอย่างมาก และเขายังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตามเขาได้ฝากผลงานมังงะและศิลปะมากมายไว้ให้โลกนี้ ด้วยการสนับสนุนจากผู้คนทั่วโลก เขาจึงสามารถดำเนินการสร้างสรรค์ต่อมาได้มากกว่า 45 ปี เราหวังว่าโลกแห่งการสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของ โทริยามะ อากิระ จะยังคงเป็นที่รักของทุกคนไปอีกนาน”

“เราขอแจ้งข่าวเศร้านี้แก่ท่านด้วยความซาบซึ้งตลอดช่วงชีวิตของเขา พิธีศพจะจัดขึ้นอย่างสงบภายในครอบครัวของเขาและญาติเพียงไม่กี่คน เราขอแจ้งให้ทราบด้วยความเคารพว่าเราจะไม่รับดอกไม้ ของขวัญแสดงความเสียใจ การเข้าเยี่ยม การเซ่นไหว้ และอื่น ๆ นอกจากนี้ของดเว้นการสัมภาษณ์กับครอบครัวของเขา แผนการในอนาคตสำหรับการรวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับผลงานของเขายังไม่มีการตัดสินใจ เราจะแจ้งให้คุณทราบเมื่อได้รับการยืนยัน เราขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับความเข้าใจและการสนับสนุนเช่นเคย”

(ซ้าย) ผลงานของศิลปิน โช ชิบูยะ ที่มาภาพ : https://www.instagram.com/p/C4RL0T6xje8/ (ขวา) เฟคนิวส์

แล้วแทบจะในทันทีก็ปรากฏเฟคนิวส์ขึ้นมากมาย อาทิ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ พิมพ์ปกเป็นสัญลักษณ์ดรากอนบอล เพื่อแสดงความไว้อาลัย หรือ ข่าวว่าแก๊งค้ายาแม็กซิกันประกาศหยุดยิงเพื่อไว้อาลัยแด่ โทริยามะ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามถึงเฟคนิวส์จะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่นิวยอร์กไทม์ได้เขียนบทความไว้อาลัยที่ชื่อว่า “ด้วยโกคู (บ้านเราเรียก โงกุน หรือ หงอคง) โทริยามะ อากิระ ได้สร้างฮีโร่ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และจากทวีปไปสู่ทั่วทุกทวีป” ที่ยกย่องผลงานของโทริยามะว่า “ดราก้อนบอล โดดเด่นที่สุดในบรรดาอนิเมะที่ทรงอิทธิพลทั้งหลาย โกคูคือผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ โทริยามะ เขาอยู่เหนือการเวลาและไม่มีใครเอาชนะได้…โทริยามะเคยเขียนเอาไว้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว โกคู เป็นนิรันดร์ ซึ่งสำหรับแฟน ๆ ทั่วโลกแล้ว ผลงานที่โทริยามะทิ้งเอาไว้ก็เป็นนิรันดร์สำหรับแฟน ๆ ทั่วทั้งโลกด้วยเช่นกัน”

ไปจนถึง เหมาหนิง กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงอย่างเป็นทางการความว่า “เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของนายโทริยามะ อากิระ และความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวของเขา นายโทริยามะ อากิระ เป็นนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียง และผลงานของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีนเช่นกัน…”

ตลอดจนสื่อใหญ่ ๆ ทั่วโลก อาทิ บีบีซี, ฟอร์บ, เลอมงต์ ฝรั่งเศส, สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน, ยอนฮับนิวส์ เกาหลีใต้, อัล-อาราบิยา อาหรับเอมิเรตส์ ต่างร่วมไว้อาลัยแด่เขา รวมไปถึง เจอราร์ด อัลค์มิน รองประธานแห่งบราซิล, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี กาเบรียล แอตทาล แห่งฝรั่งเศสต่างโพสต์ไว้อาลัยบนทวิตเตอร์ ฯลฯ

นักเขียนมังงะชื่อดังมากมายแห่แหนกันโพสต์ทวิต สองคนในนั้นคือคนสนิทอย่าง คิชิโมโตะ มาซาชิ ผู้เขียน Naruto โพสต์ไว้อาลัยว่า

“ผมแทบจะเขียนอะไรไม่ออกเลยกับเรื่องกะทันหันแบบนี้…ผมโตมาพร้อมกับ ดร.สลัมป์ และดราก้อนบอล เป็นเรื่องปกติมากที่เด็ก ๆ สมัยนั้นจะมีมังงะของเขาติดตัว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เวลาเจอเรื่องแย่ ๆ การได้อ่านดราก้อนบอลลทุกสัปดาห์เป็นความผ่อนคลายสำหรับผม…เด็กบ้านนอกที่ไม่มีอะไรเลย เพราะดราก้อนบอลสนุกจริง ๆ พอเข้ามหาลัย ดราก้อนบอล ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผมอยู่หลายปีก็ถึงตอนอวสาน ผมรู้สึกสูญเสียอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนไม่มีอะไรให้ตั้งตารอคอยอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผมได้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ครูผู้สร้างดราก้อนบอล ผมอยากสร้างผลงานแบบครูครับ ผมอยากเป็นเหมือนครูของผม…เขาเป็นเทพเจ้าผู้ชี้ทางสว่างทางรอด และเป็นเทพแห่งมังงะ”

ส่วน โอดะ เออิจิโระ ผู้เขียน One Piece คนสนิทอีกคนก็โพสต์ว่า “มันเร็วเกินไป หลุมนี้ใหญ่เกินไป การจะไม่ได้เจอคุณอีกแล้วทำให้ผมเศร้าใจ ผมชื่นชมคุณมากตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และยังจำครั้งแรกที่คุณเรียกชื่อของผมได้ การดำรงอยู่ของคุณโทริยามะเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่แค่สำหรับนักวาดการ์ตูนเท่านั้น แต่เขาสร้างความกระตือรือร้นให้กับทุกอุตสาหกรรม ผมรักอาจารย์โทริยามะในระดับเป็นเหมือนสายเลือดเดียวกัน ผมอยากจะแสดงความเคารพและขอบคุณต่อโลกแห่งความสร้างสรรค์ที่อาจารย์โทริยามะทิ้งเอาไว้ หวังว่าสวรรค์จะเป็นที่น่ารื่นรมย์เหมือนที่คุณจินตนาการเอาไว้”

แม้ว่า โทริยามะ อากิระ จะมีผลงานมากมายที่เดี๋ยวเราจะสาธยายให้ฟังว่ามากอย่างไร แต่จริง ๆ เขาวาดมังงะขนาดยาวเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ Dr. Slump (ตีพิมพ์ใน Weekly Shonen Jump 1980 – 1984 รวม 236 ตอน ฉบับรวม 18 เล่ม) กับ Dragon Ball (ตีพิมพ์ใน Weekly Shonen Jump 1984 – 1995 รวม 519 ตอน ฉบับรวม 42 เล่ม)

ส่วนมังงะเล่มอื่น ๆ ของเขามีดังนี้ Akira Toriyama’s Hetappi Manga Kenkyujo (มังงะสอนวาดการ์ตูนเบื้องต้น 1982-1984 รวม 12 ตอน), COWA! (1997-1998 รวม 14 ตอน), Kajika (1988 รวม 12 ตอน), Sand Land (2000 รวม 14 ตอน), Jaco Galactic Patrolman (2013 รวม 11 ตอน) รายชื่อข้างต้นเป็นการตีพิม์ต่อเนื่องรายสัปดาห์หรือรายเดือนยกเว้น Go Go Ackman (1993-1994 รวม 11 ตอน) ที่เป็นการตีพิมพ์แบบรายสะดวก และในที่นี่ยังไม่ได้นับรวมเรื่องสั้น ๆ ตอนเดียวจบที่เขาเขียนเป็นระยะ ๆ อีกมากมาย

ผลงานล่าสุดกำลังจะเปิดตัวในปีนี้

สำหรับแฟนด้อมที่รอคอยผลงานของ โทริยามะ เซนเซ ปี 2024 นี้เราจะได้ดูผลงานออริจินัลอนิเมะของเขาด้วยกันถึง 2 เรื่อง เรื่องแรกจะฉายทางช่องดิสนีย์พลัส และฮูลู ในวันที่ 20 มีนาคมเดือนนี้ นั่นก็คือ Sand Land ที่ดัดแปลงมาจากมังงะเล่มเดียวจบในปี 2000 รวมถึงจะมี RPG เกมส์วางจำหน่ายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ด้วย

Sand Land เป็นเรื่องเล่าหลังจากโลกประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและสงครามฆ่าฟันกันเองมาอย่างยาวนานหลายปี โลกถูกทอดทิ้งให้ขาดแหล่งน้ำ แม่น้ำเหือดแห้ง แต่มีราชาจอมละโมบแห่งแดนทะเลทรายมีน้ำประปาส่วนตัวราคาแพงจำหน่ายแก่ชาวประชาในเมือง Sand Land นายอำเภอราโอจึงรวมตัวกับปีศาจบาเซลบับ และสหายโจรออกตามล่าแหล่งน้ำใหม่เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้คน โดยหวังว่าเมื่อแหล่งน้ำกลับคืนสู่ผืนโลก การปกครองอันกดขี่โดยกษัตริย์จอมละโมบจะสิ้นสุดลง

Dragon Ball Daima

Daima ในภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ แล้วไม่มีความหมาย แต่ตัวอักษรที่โทริยามะเลือกมา เป็นการผสมคำสองคำคือ ผู้ยิ่งใหญ่ และ ปีศาจ โดยเทรลเลอร์ประกาศว่าจะเป็นเรื่องราวใหม่ที่ไม่เคยถูกเล่ามาก่อนใน Dragon Ball เป็นไทม์ไลน์พิเศษที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของมังงะเรื่องนี้ ที่จะพาตัวละครทั้งหมดย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก เพื่อร่วมกันปฏิบัติภารกิจพิเศษบางอย่าง กำหนดออนแอร์ทางทีวีในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจากตัวอย่างที่เผยแพร่มาเมื่อเดือนที่แล้ว ติ่งแฟนวิเคราะห์ว่าไทม์ไลน์ของ Daima น่าจะเกิดขึ้นในช่วยปลายจุดจบของ Dragon Ball Z และน่าจะเป็นอีเวนต์ที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากฉบับภาพยนตร์ Dragon Ball Super: Super Hero (2022)

แรกสร้างโลก

โทริยามะ อากิระ เปิดตัวครั้งแรกในนิตยสาร วีคลีย์ โชเน็น จัมป์ ฉบับที่ 52 ในปี 1978 ด้วยผลงานเรื่องสั้นแบบตอนเดียวจบ (one-shot) เรื่อง Wonder Island เนื่องจากเล่มนั้นมีหน้าเหลือ จนต่อมาภายหลังมีการวาด Wonder Island 2 ในฉบับพิเศษเดือนมกราคม 1979 ซึ่งเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ต่อมาถูกตีพิมพ์รวมเล่มไว้ใน Akira Toriyama’s Manga Theater (1983)

โทริชิมะ คาซูฮิโกะ บรรณาธิการคนแรกที่ดูแลผลงานของ โทริยามะ เล่าว่า

“แม้เขาจะมาจากครอบครัวยากจน แต่พ่อแม่ของเขาเป็นคนสบาย ๆ แล้วแม้จะไม่มีเงินซื้ออาหาร พวกเขาก็ยังเต้นวอลซ์ด้วยกันอย่างร่าเริง โทริยามะเติบโตมาจากครอบครัวแบบนี้”

โทริยามะ เกิดในเมืองคิโยสุ นาโงย่า จังหวัดไอจิสมัยเด็ก ๆ เขาคว้ารางวัลประกวดภาพวาดหลายครั้งตั้งแต่ตอนเรียนประถม ทำให้เขาเป็นมือวาดภาพรณรงค์ต่าง ๆ ในโรงเรียน ศิลปินที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษคือ เทะซึกะ โอซามุ และวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมากมายมาจาก One Hundred and One Dalmatians (1961) และ Astro Boy (1952-1968)

เขาเริ่มร่ำเรียนทางศิลปะในโรงเรียนมัธยมเทคนิคคิจิประจำจังหวัดไอจิ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมเทคนิคอิชิโนะมิยะคิจิประจำจังหวัดไอจิ) โทริยามะเล่าว่า “แม้ว่าสมัยมัธยมปลายผมจะอยู่ในชมรมวิจัยมังงะและเป็นประธานชมรม แต่ตอนนั้นผมไม่เคยวาดมังงะเลย เพราะตอนนั้นผมหันเหความสนใจไปทางภาพยนตร์มากกว่า”

หลังจากเรียนจบเขาทำงานเอเจนซี่โฆษณาให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองนาโงย่า เขาเล่าว่า “แม้ว่าผมจะเข้ากับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ได้ง่าย แต่ผมก็มาสายเป็นประจำ และมักถูกตำหนิว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย จนทนทำไปได้สามปีผมก็ลาออก”

หลังลาออกจากงานด้วยวัย 23 ปี เขาต้องการหาเงิน เผอิญไปเจอประกาศประกวดมังงะสมัครเล่นที่เขาอ่านเจอในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง แต่ปรากฎว่าปิดรับผลงานไปแล้ว จนพบว่ามีมังงะอีกฉบับคือ Weekly Shonen Jump ที่เปิดรับผลงานในแบบรายเดือน ตอนนั้น โทริชิมะ คาซูฮิโกะ ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นบรรณธิการสายตรงให้กับโทริยามะ ขณะนั้น โทริชะมะ ชอบผลงานของ โทริยาม่า เป็นอย่างมาก แต่พบว่างานของโทริยาม่าผิดกติกา เพราะเป็นการล้อเลียน Star Wars อย่างไรก็ตามโทริชิมะก็ส่งโทรเลจไปให้กำลังใจ โทริยามะ แล้วให้เขาส่งผลงานกลับมาให้สำนักพิมพ์ กระทั่งมีอยู่ฉบับหนึ่งที่หน้าเหลือ โทริชิมะจึงตัดสินใจตีพิมพ์งานของ โทริยามะ ในเล่มนั้น แต่ปรากฎว่าเมื่อมีการสำรวจคนอ่าน Wonder Island ติดอยู่ในอันดับ 10 รั้งท้าย แต่เขาก็ยังทู่ซี้วาดภาคสองออกมา รวมถึง Today’s Highlight Island ซึ่งเป็นเหตุการณ์ข้างเคียงบนเกาะแห่งเดียวกัน ต่างทะยอยตีพิมพ์เป็นแบบตอนเดียวจบในช่วง 1978-1979 และยังคงประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังบรรณาธิการโทริชิม่าเปิดเผยว่า “ตอนนั้นอาจารย์โทริยามะอยากจะเขียนมังงะเกี่ยวกับหมอ ผมเลยแนะนำเขาไปว่าให้เพิ่มหุ่นยนต์เข้าไปด้วย ซึ่งเขาต้องการหุ่นยนต์ตัวใหญ่ ๆ แต่เวลาวาดมันจะมีภาพทะลุกรอบเยอะมาก เขาจึงคิดจะเปลี่ยนไปเป็นหุ่นยนต์ตัวเล็กแทน แต่ผมไม่ชอบไอเดียนั้นเลยบอกให้เขาทำหุ่นเด็กผู้หญิงจะดีกว่า ขณะที่โทริยาม่าต้องการให้ตัวดำเนินเรื่องคือ ดร.เซ็นเบ้ แล้วให้อาลาเล่ เป็นหุ่นยนต์ที่จะโผล่มาในตอนรับเชิญแค่ตอนเดียว ผมกลับไม่เห็นด้วยแล้วคิดว่าเรื่องนี้ อาลาเล่ น่ารัก น่าจะให้เป็นตัวหลัก ซึ่งสุดท้ายเขาก็ยอม แต่ด้วยความหัวรั้น จึงยืนยันที่จะใช้ชื่อฝ่ายชายเป็นชื่อเรื่อง แล้วเชื่อไหมว่ากว่าเรื่องราวจะมาตบตีกันลงแบบนี้ ตอนนั้นผมต้องพนันกับเขาให้ลองเขียนการ์ตูนตอนเดียวจบ Tomato the Cutesy Gumshoe (1979) เป็นการชิมลาง คือถ้าคราวนี้เขาได้อันดับสูงกว่าที่ 4 ในแบบสำรวจ เขาต้องยอมเปลี่ยนตามคำแนะนำของผม ซึ่งสุดท้าย Tomato ขึ้นอันดับสาม อาลาเล่ เลยได้กลายเป็นตัวเอกในมังงะเรื่องนี้ที่มีชื่อเรื่องว่า Dr. Slump (1980-1984) และหยิบองค์ประกอบหลายสิ่งจากเรื่องสั้นต่าง ๆ ของเขามาใช้ในหมู่บ้านเพนกวิน”

Dr. Slump โด่งดังเป็นอย่างมาก ถึงขนาดทำให้ในปีต่อมา โทริยามะ คว้ารางวัลสูงสุดสำหรับนักวาดมังงะในเวลานั้นจากเวที Shogakukan Manga Award ในสาขามังงะแบบหลายตอนจบ ในปี 1981 อันเป็นปีเดียวกับที่มังงะเรื่องนี้ถูกทำเป็นอนิเมะทางช่องฟูจิทีวีที่ฉายในช่วงไพร์มทางทุกวันพุธ และมีซีรีส์ทีวีฉบับรีบูตในปี 1999 และมังงะของเขามีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายเวอร์ชั่น จนในปี 2008 Dr. Slump ขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มในญี่ปุ่น

แม้ว่าในช่วงแรกโทริยามะอยากจะจบ Dr. Slump ภายในครึ่งปี แต่กลายเป็นว่าความโด่งดังของเขาทำให้เกิดกลุ่มแฟนอย่างเหนียวแน่นรวมตัวกันในนาม โทริยามะ อากิระ โฮซอนไค (สมาคมอนุรักษ์ โทริยามะ อากิระ) ในปี 1982 พวกเขาทำจดหมายข่าวส่งกันในหมู่แฟนด้อมในชื่อ Bird Land Press (สมาคมนี้ต่อมาปิดตัวลงในปี 1987) ในช่วงเดียวกันนั้นเอง โทริยามะเปิดสตูดิโอของตัวเองในนาม เบิร์ด สตูดิโอ ตามชื่อเล่นของเขา “โทริ” ที่แปลว่า “นก” ต่อมาสำนักพิมพ์ชูเอะอิฉะเสนอว่า ถ้าเขาจะอวสาน Dr. Slump เขาต้องมีผลงานใหม่ที่มีแววจะปังกว่าเรื่องเดิม

สู่จักรวาล

ระหว่างนั้นเขาจึงทะยอยร่างไอเดียออกมาเป็นเรื่องสั้นอีกมากมาย โดยหวังว่าจะมีอีกสักเรื่องที่จะกลายมาเป็นเรื่องยาวได้ กระทั่งในปี 1983 ใน Fresh Jump ฉบับเดือนสิงหาคม และตุลาคม เรื่องสั้นของเขาได้ตีพิมพ์แบบ 2 ตอนจบ Dragon Boy ด้วยความที่โทริยามะชื่นชอบ Star Wars และหนังแนวกังฟู เขาจึงแต่งเป็นเรื่องหนุ่มน้อยมังกรผู้เก่งกาจในทางกังฟู และช่วยเจ้าหญิงพลัดถิ่นกลับวัง(แบบเดียวกับ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ช่วยเหลือเจ้าหญิงเลอา และมีผองเพื่อนร่วมเดินทางอย่าง ฮันโซโล, ชิวบัคก้า) วางฉากแบบหนังไซ-ไฟล้ำอนาคตผสมกับกังฟูย้อนยุค แล้วเรื่องสั้นนี้เองที่ต่อมาถูกดัดแปลงกลายเป็น Dragon Balls ที่หยิบเอาวรรณกรรมสุดคลาสสิก Journey to the West หรือที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อ ไซอิ๋ว หรือ ซุนหงอคง มาดัดแปลงกลายเป็น ซอนโกคู (ที่มีร่างฟิวชั่นชื่อว่า โกฮัง แปลว่า ข้าวสวย), ส่วนพระถังซัมจั๋ง ก็กลายมาเป็นหญิงสาวอัจฉริยะ บูลม่า, มีเพื่อนร่วมเดินทางอย่าง ซัวเจ๋ง ก็กลายเป็นหัวขโมย หยำฉา (ชื่อมาจากสำรับอาหารเช้าจำพวกขนมจีบซาลาเปา) และตือโป๊ยก่าย ก็คือเจ้าหมู อู่หลง (ชื่อมาจาก ชาอู่หลง) ช่วยกันตามหาดราก้อนบอลทั้ง 7 ลูก

จากมังงะที่เขียนมานาน 11 ปีตั้งแต่ 1984-1995 ต่อยอดกลายเป็นแอนิเมะทีวีตั้งแต่ปี 1986-1996 ที่มีเรตติ้งสูงกว่า 20% ออกอากาศมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก เฉพาะฉบับมังงะมีการตีพิมพ์มากกว่า 160 ล้านเล่มในญี่ปุ่น ฉบับรวมเล่มอีก 20 ล้านเล่ม และขายได้ทั่วโลกมากกว่า 260 ล้านเล่ม ในปี 2019 มีการสำรวจรายได้ทั้งหมดอันเนื่องมาจากเฟรนไชส์ดราก้อนบอลที่รวมไปถึงเกมส์ มังงะ อนิเมะ พบว่าสูงถึง สองแสนสามหมื่นล้านดอลลาร์ (ราวแปดแสนหนึ่งหมื่นหกพันล้านบาท)

นอกจากผลงานมังงะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แฟน ๆ ต่างรู้ดีคือ โทริยามะ รับผิดชอบออกแบบตัวละครและสัตว์ประหลาดทั้งหมดในซีรีส์เกมส์อาร์พีจี Dragon Quest นับตั้งแต่ปี 1986 โดยขั้นตอนการออกแบบเริ่มจากภาพร่างพื้นฐานโดยผู้สร้างผู้เขียนบท โฮริอิ ยูจิ ขณะที่ โทริยามะ จะเป็นผู้ทำให้เป็นสามมิติ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเปลี่ยนแปลงจากภาพร่างเดิมไปอย่างสิ้นเชิง โทริยามะเล่าว่า “มันค่อนข้างยากมากในช่วงแรก ๆ เพราะผมไม่เคยเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่หลังจาก Dragon Quest II Gods of Evil มันถูกออกแบบให้เล่นง่ายขึ้น แล้วอันที่จริงผมเกลียดการวาดภาพประกอบเกมส์นี้มาก เพราะมันมีตัวละครเยอะแยะมากเหลือเกิน” อย่างไรก็ตามเขาไม่คิดมาก่อนว่าเกมส์นี้จะฮิตมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เขาเล่าติดตลกว่า “ถ้าตอนนั้นผมรู้มาก่อนว่าจะมีภาคใหม่ ๆ ยาวนานมากขนาดนี้ ผมคงปฏิเสธข้อเสนอนี้ไปแล้ว”

(ซ้าย) ผลงานมังงะโดยภรรยาของโทริยามะ (กลาง) โทริยามะและภรรยา ถ่ายภาพกับเฉินหลง (ขวา) ลูกทั้งสองของเขา

ครั้งหนึ่ง โทริยามะ ให้สัมภาษณ์ว่า ผมเข้าสังคมกับผู้คนไม่เก่ง ชีวิตผมไม่ต้องการใครแล้วนอกจากครอบครัว เพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้” ทำให้เขายังคงใช้ชีวิตอยู่ในชนบทมากกว่าจะย้ายไปอยู่โตเกียวอย่างนักวาดคนอื่น ๆ ในแง่ชีวิตส่วนตัว โทริยามะ แต่งงานกับ โยชิมิ คาโต้ เมื่อปี 1982 เธอเป็นอดีตนักวาดมังงะจากนาโงย่า ภายใต้นามปากกา นาชิ มิคามิ และเป็นผู้ช่วยให้กับ โทริยามะ ในเรื่อง Dr. Slump พวกเขามีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นผู้ชายชื่อ ซาสึเกะ ปัจจุบันอายุ 37 ปี ส่วนคนเล็กเป็นลูกสาวชื่อ คิกกะ อายุ 34 ปี

Robotoriyama

ด้วยความเขินอายของ โทริยามะ นับตั้งแต่ปี 1980 เขาสื่อสารกับแฟน ๆ ผ่านตัวละครเหล่านี้ที่ทั้งหมดถูกเรียกว่า โรโบะโทริยามะ (แต่แฟน ๆ ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่ามันชื่อ โทริ-บอท) ตัวละครนี้โผล่มาครั้งแรกใน Dr. Slump เล่ม 3 (10 ธันวาคม 1980) ครั้งหนึ่งมีแฟน ๆ มากกว่า 30 คนส่งคำถามว่าเจ้าหุ่นยนต์นี้เป็นประดิษฐกรรมของดร.เซนเบ้ หรือ ซึ่งเจ้าโรโบะโทริยามะก็ออกมาตอบแฟน ๆ ว่า “ฉันเอง เจ้าโง่ ฉันเองเว้ย!” เป็นอันทราบทั่วกันว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนโทริยามะนั่นเอง

และแม้เขาจะปรากฏบ่อยมากใน Dr. Slump แต่อันที่จริง โรโบะโทริยามะ ปรากฏเพียง 3 ครั้งในมังงะ Dragon Ball ที่มีผู้อ่านทั่วโลกมากกว่า และหลายคนไม่เคยอ่านดร.สลัมป์มาก่อน โดยครั้งแรกปรากฏในบทที่ 3 แอบตัวเล็ก ๆ เกาะอยู่บนยอดต้นปาล์มพูดว่า “ที่นี่ไม่ใช่หมู่บ้านเพนกวิน” ที่ทำเอาแฟน ๆ ต่างชาติที่ไม่เคยอ่านอาลาเล่มาก่อนต่างงุนงนในมุขตลกนี้

อีกครั้งหนึ่งที่ตัวละครนี้ปรากฏตัวในเกมดัง Tobal no.1 ที่เปิดตัวในอเมริกาเหนือเมื่อปี 1996 ซึ่งตัวละครทั้งหมดในเกมนี้ออกแบบโดย โทริยามะ ในเกมจะมีตัวละครลับที่จะถูกปลดล็อคออกมาได้หากทำภารกิจสำเร็จ นั่นก็คือ โรโบะโทริยามะ ภายหลังในปี 2014 สินค้าตัวละครนี้ก็เริ่มออกวางจำหน่ายในรูปฟิกเกอร์หลากหลายแบบ

โทโยทาโร

“การไม่มีธีมเรื่องคือธีมของผลงานผม! ผมคิดว่าผมอยากให้คนอ่านสนุกไปกับมันได้จนจบ ไม่ควรยึดติดกับธีมของเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านคาดเดาไม่ได้ ผมไม่ได้วาดมันเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้คน แต่เพื่อตอบสนองความชื่นชอบส่วนตัวของผมเอง ผมพยายามทำให้เรื่องราวเรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย ๆ สำหรับเด็ก เพราะบทบาทสำคัญของผมคือเพื่อความบันเทิง ดังนั้นผมจะพยายามไม่สั่งสอน หรือเร่งเร้าให้เรื่องไปสู่จุดบีบเค้นจนเกินไป”

ผู้วาดแทน

หลายคนสงสัยว่า โทริยามะ เลิกวาดมังงะมานานแล้ว แต่ทำไมช่วงหลัง ๆ จึงมีมังงะภาคสปินออฟออกมาอาทิ Dragon Ball Heroes: Victory Mission และ Dragon Ball Super นั่นก็เพราะเขามีผู้วาดแทน แล้วคนนั้นก็คือชายผู้มีนามปากกว่า โทโยทาโร
ในวัยเด็กเขามักจะนั่งวาดดราก้อนบอลหลังอาหารเช้า มีหลายคนเชื่อว่าเขาคือผู้วาดโดจิน ภายใต้นามปากกา Toyble ผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพประกอบให้เวอร์ชั่นโดจิน Dragon Ball AF (2000) จนในที่สุดสำนักพิมพ์ชูเออิฉะ จ้างเขาในปี 2012 เพื่อมาวาด Dragon Ball Super ต่อมาเขาวาดมังงะสำหรับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกหลายภาค อาทิ Dragon Ball Z (2015) ทำให้ต่อมาโทริยามะเลือกเขาเป็นศิลปินตัวแทนของเขาอย่างเป็นทางการ

รางวัล

นอกจากรางวัลในปี 1981 ที่เราเล่าไปแล้ว รางวัลใหญ่ ๆ ที่โทริยามะเคยได้รับ คือ รางวัลกรังปรีซ์ ในงาน Japan Media Arts Festival สาขาศิลปะดิจิทัล/หมวดหมู่อินเทอร์แอคทีฟ จาก Dragon Quest VII Warriors of Eden ในผปี 2000, รางวัลพิเศษ ในงาน Angoulême International Comics Festival (งานเก่าแก่และใหญ่สุดในโลกเกี่ยวกับมังงะจัดในฝรั่งเศส) และได้รับเครื่องราชและชั้นยศอัศวิน L’ Ordre des Arts et des Lettres จากประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีคุณูปการทางศิลปะและวัฒนธรรม

โทริยามะเคยให้สัมภาษณ์เพียงใหม่กี่ครั้ง อย่างที่บอกว่าเขาไม่ชอบออกสื่อ แต่ครั้งล่าสุดที่เขาให้สัมภาษณ์ เขากล่าวว่า “อนิเมะหลาย ๆ เรื่องในช่วงหลัง ๆ ของผมวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอาไว้ซับซ้อนมาก แต่เรื่องราวยังคงเรียบง่าย รักษารสชาติแบบคนรุ่นผมที่มาจากยุคโชวะเอาไว้ได้ ดังนั้นผมจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อผู้คนเข้าใจความสนุกสนานของตัวละครเหล่านี้ได้ เป็นความเรียบง่าย ความบริสุทธิ์ เป็นความสนุกที่เข้าใจได้ง่าย…ดังนั้นผมจึงไม่ชอบให้เรื่องของผมจบลงในแบบมืดมน ผมอยากให้ความหวัง ความตื่นเต้น ความสนุกสดใสกับผู้คนมากกว่า”