ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (32)…ภาพวาดของศิลปินนิรนามทำเงินได้ 1 ล้านบาท

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (32)…ภาพวาดของศิลปินนิรนามทำเงินได้ 1 ล้านบาท

23 มีนาคม 2024


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ลุงหมีขอเล่าถึงความประทับใจกับผลงานภาพวาดของศิลปินนิรนามคนหนึ่ง และความชื่นชมต่อความมีนำ้ใจของผู้คนในวงการสถาปัตยกรรมที่ช่วยกันประมูลภาพของศิลปินผู้นี้ไปด้วยเงินจำนวน 1 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ในการประมูลภาพจัดขึ้นในกลุ่มคนกันเองโดยสถาปนิกชั้นนำของประเทศ (ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมและผู้นำของบริษัทออกแบบมีชื่อ) ท่านได้กล่าวเปิดงานถึงที่มาของการจัดประมูลภาพว่า มีสถาปนิกหญิงอาวุโสท่านหนึ่งมาหารือว่ามีรูปภาพแนวลายเส้นของศิลปินที่ไม่มีใครรู้จักคนหนึ่ง ผู้ทำงานเป็นนักเขียนแบบและวาดภาพ perspective (ภาพของอาคารที่จะเกิดขึ้นตามการออกแบบ) ในสำนักงานสถาปนิกแห่งหนึ่งตลอดชีวิตการทำงานตั้งแต่เรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง

จุดน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างผลงานรูปวาดคือ ด้วยความเป็นคนชอบวาดรูปลายเส้น เขาจึงวาดรูปไว้เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส หลายรูปทยอยวาดอย่างปราณีตหลายเดือนกว่าจะเสร็จ

ในการวาดไม่ได้ซื้อกระดาษวาดรูปอย่างดีมาใช้ แต่วาดลงไปบนกระดาษเขียนแบบของสำนักงานนั่นแหละ บางภาพจึงวาดบนด้านหลังของร่างแบบที่ไม่ใช้แล้ว หลายรูปเมื่อวาดเสร็จก็พลิกกระดาษด้านหลังมาวาดอีกรูปหนึ่ง (กระดาษ 1 ใบจึงมี 2 รูป)

เจ้าตัวไม่คิดจะเผยแพร่ผลงานให้คนเห็น แต่วาดรูปไปเรื่อยๆ เพราะรักการวาดรูป จึงทำเป็นงานอดิเรกวาดรูปแก้เหงา

ตอนนี้น้องคนนี้กำลังป่วยเป็นโรคร้ายแรงต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาพยาบาล สถาปนิกหญิงอาวุโสซึ่งเป็นญาติกับผู้เขียนภาพและได้รับมอบให้ช่วยเก็บภาพวาดรวม 24 ภาพไว้ จึงดำริว่าหากสามารถขายรูปเหล่านี้ออกไปยังผู้รักงานศิลปะ ก็น่าจะได้เงินจำนวนหนึ่งมาช่วยในการรักษาตัวของผู้เขียนรูป

ท่านสถาปนิกผู้ใหญ่ผู้จัดงานเล่าต่อว่า เมื่อได้เห็นภาพทั้งหมดแล้วรู้สึกประทับใจมากเพราะท่านเองก็เป็นนักวาดภาพลายเส้นซึ่งคนรู้จักกันดี ท่านมองออกทันทีว่าเป็นภาพวาดที่แสดงถึงฝีมือที่ดีมากๆ ควรมีคนรักงานศิลปะช่วยกันซื้อออกไปเก็บรักษา โดยท่านจะจัดงานประมูลภาพขึ้นมาเป็นครั้งแรก และจะชักชวนเพื่อนฝูงและผู้ร่วมงานในวงการสถาปัตย์และศิลปกรรมมาร่วมช่วยกันประมูลภาพเพื่อนำเงินที่ได้สมทบเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่ศิลปินนิรนามผู้นี้

ทีมจัดงานได้ทำแผ่นพับแนะนำรูปวาดที่จะประมูลไว้ดังตัวอย่างบางรูป

ผู้มาร่วมงานประมูลรูปมีประมาณ 30 คนโดยเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้วเพราะอยู่ในวงการสถาปัตย์ด้วยกัน มีระดับผู้ใหญ่ของวงการ ได้แก่ นายกสมาคมสถาปนิกสยามและนายกสภาสถาปนิกรวม 4 คน คณบดีคณะสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัย 2 คนและมีนักสะสมรูปภาพบางคนมาร่วมงานตามคำเชิญด้วย

บรรยากาศของงานเริ่มด้วยผู้สนใจประมูลเดินชมผลงานก่อน เมื่อผู้จัดงานกล่าวเปิดงานบนเวทีแล้ว ทีมงานก็ลำเลียงรูปภาพมาให้ประมูลทีละรูป โดยฉายภาพขยายบนจอให้ผู้ชมเห็นรูปชัดขึ้น โดยมีพิธีกรช่วยแนะนำจุดเด่นของรูปนั้นๆ

การประมูลภาพเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน มีทั้งการแข่งประมูลจริงจังจนราคารูปขึ้นไปสูง มีบางคนขอร้องเพื่อนฝูงอย่าประมูลแข่งเพราะตัวเองมีงบประมาณจำกัดแต่อยากได้รูปมาก และมีการรวมเงินช่วยกันประมูลด้วย (แล้วคงเอารูปไปแบ่งกันดู)

ทุกรูปที่ประมูลตั้งราคาเบื้องต้นไว้ที่ 3 พันบาท ถึง 5 พันบาท แต่เริ่มรูปแรกราคาประมูลก็จบที่ 6 หมื่นบาทแล้ว ทั้ง 24 รูปมีผู้ประมูลรับไปหมด โดยราคาต่ำสุดที่ 2 หมื่นบาทและสูงสุดที่ 1 แสนบาท รวมเป็นเงินประมูลได้ทั่งหมด 1 ล้านบาทกับเศษเล็กน้อย (หรือเฉลี่ยรูปละ 5 หมื่นบาท)

ผลประมูลครี้งนี้นับว่าเหนือความคาดหมายของผู้จัดงานมาก เพราะตั้งเป้าเบื้องต้นไว้ว่าว่าถ้าได้เงินสัก 3-4 แสนบาท ก็น่าพอใจแล้วเพราะผู้เขียนเป็นศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก

ลุงหมีคิดว่าความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากเหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่ง เป็นฝีมือของผู้เขียนที่สร้างผลงานที่มีความงดงามและคุณค่าทำให้ผู้ประมูลยินดีรับรูปไปเก็บไว้ดูชม และสอง เป็นจิตใจที่ดีงามน่าชื่นชมของผู้ประมูลรูปที่เต็มใจจะช่วยเหลือผู้ร่วมวิชาชีพสถาปัตย์ด้วยกันเท่าที่จะทำได้

ลุงหมีขอปิดท้ายบทความขนาดยาวครั้งนี้ด้วยการนำเสนอรูปบางรูปที่ลุงหมีเองประทับใจเป็นพิเศษ

ขอเริ่มจากรูปขาวดำซึ่งผู้วาดใช้อุปกรณ์เพียง 2 อย่าง คือ ปากกาเขียนแบบ rotring ใช้เขียนลายเส้นกับ ดินสอดำใช้แรเงา ลุงหมีขอเลือกมา 3 รูปคือ รูปสิงห์โตคำราม รูปโคลสอัพด้านหน้าของช้าง และรูปเด็กน้อยแทะกินอ้อย

สำหรับรูปสี ผู้เขียนใช้อุปกรณ์เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด คือ สีไม้ ( ดินสอสี) กับสีเมจิก รูปที่ลุงหมีขอนำเสนอ 2 รูป คือ เด็กหญิงชาวเขา กับภาพเหมือนของหลวงปู่บุญฤทธิ์ เกจิอาจารย์สายวัดป่าผู้มีลูกศิษย์เคารพนับถือมากมาย