ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯโยน ‘ทวี ’ แจงอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112 – มติ ครม.ผ่าน กม.ให้สัญชาติไทย ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ 10 ล้านคน

นายกฯโยน ‘ทวี ’ แจงอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112 – มติ ครม.ผ่าน กม.ให้สัญชาติไทย ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ 10 ล้านคน

6 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯโยน ‘ทวี สอดส่อง’ แจงอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112
  • เล็งออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แก้ปมปืนเถื่อน
  • เตือนชาวนาภาคกลาง งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2
  • ยกเว้นวีซ่าเจ้าหน้าที่ – ทูตลิทัวเนีย
  • มติ ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ. ให้สัญชาติไทย ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ 10 ล้านคน
  • ผ่านร่าง กม.โอนที่ สปก.ใช้หนี้สถาบันเกษตรกร
  • เคาะ 9 มาตรการ รับมือภัยแล้ง – ฝนทิ้งช่วง
  • ป.ป.ส.โชว์ผลงานจับพ่อค้ายา 2 แสนราย ยึดทรัพย์ 1.1 หมื่นล้าน
  • ยกเว้น VAT ซื้อ – ขายสินทรัพย์ดิจิทัล
  • เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เล็งออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แก้ปมปืนเถื่อน

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) ว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้สั่งการให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการศึกษาถึงการกำหนดมาตรการ ให้ผู้ที่ถือปืนเถื่อน ที่ไม่จดทะเบียนให้นำปืนมาคืนภาครัฐในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดจำนวนปืน โดยไม่มีความผิดเพื่อเป็นการลดจำนวนปืนที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเดี๋ยวจะมีการออกเป็นพระราชกำหนดขึ้นมา เป็นเรื่องนี้และนิรโทษกรรมก่อน แล้วถึงจะนำปืนมาคืนได้ ตรงนี้ถือเป็นมาตรการสำคัญอีกมาตรการหนึ่ง และยังมีเรื่องการลดมาตรการปืนสวัสดิการ เพื่อทำให้การเข้าถึงอาวุธปืนที่เป็นภัยอันตรายต่อประชาชนลดน้อยลงด้วย

    สั่ง พม.ดูแลคนพิการที่มาติดต่อราชการ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังได้สั่งการให้กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลหน่วยงานราชการต่าง ๆ อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการให้เขาสามารถเข้ามาใช้งานในสถานที่ราชการได้สะดวกขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมปลอดภัย

    ยกเว้นวีซ่าเจ้าหน้าที่ – ทูตลิทัวเนีย

    เรื่องถัดมา นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางการทูต และราชการระหว่างประเทศของสาธารณรัฐลิทัวเนีย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างของสองประเทศ

    มอบกฤษฎีกาฯ สอบทาน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์ ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงเสนอกฎหมายลำดับรองให้คณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและตรวจสอบ ร่างของรัฐบาล ประชาชนและสภา เพื่อให้เกิดความรัดกุมและไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ และนำมาเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยตั้งอยู่บนหลักการให้ปรากฏบนความหลากหลายทาง วัฒนธรรม หรือ “Multicultural Society” เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้ง เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

    วอน ส.ส.ในพื้นที่ชายแดน ช่วยตรวจของเถื่อน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากนี้ตนยังได้กำชับให้หน่วยงานด้านความมั่นคงให้ดูแลเรื่องลักลอบนำสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะเป็นหมูเถื่อน ยางพาราเถื่อน ช่วงหลังเราเข้มงวด ทำให้เกิดออกดอกออกผลที่ดีมาก ทำให้สินค้าทางการเกษตรมีราคาดีขึ้น เพราะของเถื่อนเข้ามาไม่ได้ จึงตอกย้ำไปว่า ขอให้ ส.ส.ในพื้นที่ให้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ , ศุลกากร , ด่านเกษตร ตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากเจอพฤติกรรม หรือ ตรวจพบสิ่งผิดกฎหมายให้แจ้งไปที่หน่วยงานเหล่านี้ เพื่อจะได้บริหารจัดการอย่างเต็มที่

    โยน ‘ทวี สอดส่อง’ แจงปมอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีอัยการสูงสุดเตรียมพิจารณาอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 หลังจากได้รับการพักโทษ นายเศรษฐา หันมาย้อนถามว่า เรื่องอะไร จากนั้นก็ตอบว่า “เรื่องของนายทักษิณ อยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งท่านจะแถลงอีกทีหนึ่ง”

    เตือนชาวนาภาคกลาง งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเป็นห่วงการทำนาปรังรอบที่ 2 ของชาวนาในภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแจ้งเตือน ชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้งดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เนื่องจากน้ำที่สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งมีเพียงพอสำหรับการทำนาปรังเพียง 1 รอบเท่านั้น ส่วนภาคอื่น ๆ ปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ถึงแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญ แต่น้ำต้นทุน หรือ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งกักเก็บไว้ในช่วงฤดูฝน ยังมีเพียงพอที่จะนำใช้สำหรับการอุปโภค และบริโภค รวมทั้งใช้ในการเกษตรได้ ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือ น้ำน้อย กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2567 จากนั้นก็จะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา หรือ น้ำมาก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ผ่านร่าง กม.โอนที่ สปก.ใช้หนี้สถาบันเกษตรกร

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือ โอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ….

    นายชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ครม. มีมติ (15 ส.ค. 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ และเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566

    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ได้แก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวง เป็น ร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. …. ซึ่ง กษ. (ส.ป.ก.) ได้ยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และโดยที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ กษ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้

    1. กำหนดบทนิยาม เช่น “ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

    2. การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิฯ ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้สิทธิในที่ดินตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก รวมทั้งได้กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม เป็นต้น

    3. การแบ่งแยก หรือ โอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ สามารถโอนสิทธิในที่ดินแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อชำระหนี้ทั้งหมด หรือ บางส่วนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิที่ประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมต่อไป ยังคงเหลือที่ดินบางส่วนมาใช้ประกอบเกษตรกรรม และกำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถาบันเกษตรกร ภายหลังจากที่ได้รับโอนสิทธิในที่ดิน โดยจะต้องใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม และจะทำการแบ่งแยกหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือ นำไปให้บุคคลอื่นเช่าไม่ได้

    4. การแบ่งแยก หรือ โอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ อาจแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินบางส่วน หรือทั้งหมดคืนให้ ส.ป.ก. โดยขอรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ประสงค์จะทำการแบ่งแยก หรือ โอนสิทธิในที่ดิน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

    ไฟเขียว พ.ร.บ. ให้สัญชาติไทย ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ 10 ล้านคน

    ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เรียบร้อยแล้ว จากนี้เป็นเรื่องที่จะเข้าสภาดำเนินการต่อไป ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สืบเนื่องจากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน เรื่องการส่งเสริมทุกเผ่าพันธุ์ให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ประกอบกับเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ในทั่วทุกภูมิภาค

    นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

    “จากการศึกษาก่อนที่จะออกมาเป็นร่างกฎหมายฉบับนี้ พบว่ามีปัญหาหลายมิติ ปัญหาหนึ่งคือ การที่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้สัญชาติไทย เขาจึงไม่มีสิทธิเท่ากับคนไทย เหมือนเราทิ้งเขาไว้ข้างหลัง จึงจำเป็นต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เขาได้รับการคุ้มครองในฐานะพลเมือง ให้เขาได้สัญชาติไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดำเนินการต่อ เรื่องที่ทำมาหากินเนื่องจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เกือบทุกส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจึงจะให้ความคุ้มครองว่าเคยอยู่ตรงไหนให้อยู่ตรงนั้น แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องประกอบอาชีพในพื้นที่โล่งเตียนอยู่แล้ว ต้องไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า” นายเสริมศักดิ์

    ขณะเดียวกันจะให้เจ้าของพื้นที่ที่คอยอยู่ดูแลพื้นที่ป่าให้ได้อยู่ต่อไปในลักษณะคนกับป่าอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมอาชีพ สิทธิ คุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย การท่องเที่ยว และSoft Power หากเราทำได้สมบูรณ์เรียบร้อย พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ 10 ล้านคน จากเดิมที่เคยเป็นภาระของรัฐบาลจะเป็นพลังสำคัญของรัฐบาล ในการดูแลการบุกรุกทำลายป่า และหากได้เป็นคนไทย 100% ก็จะเกิดความรักประเทศไทย ปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองไทยที่สมบูรณ์

    ทั้งนี้จะมีการลงทะเบียนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้รู้ถิ่นที่อยู่ชัดเจน และต่อไปอาจต้องให้เข้าระบบทะเบียนราษฎรเพื่อให้ได้มีสัญชาติไทย ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญที่สุดของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหากเข้าสภาฯคงต้องเร่งพิจารณาให้ทันสมัยประชุมนี้ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล และเป็นความต้องการของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เชื่อว่า ส.ส.ทุกพรรคจะให้ความสำคัญ และร่วมกันผลักดันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นประโยชน์ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ได้ลิดรอนสิทธิประชาชนแต่อย่างใด

    เคาะ 9 มาตรการ รับมือภัยแล้ง – ฝนทิ้งช่วง

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 (9 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 จำนวน 3 ด้าน 9 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    ด้านน้ำต้นทุน (Supply)

      มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
      มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

    ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)

      มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
      มาตราการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)
      มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
      มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)

    ด้านการบริหารจัดการ (Management)

      มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง)
      มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
      มาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)

    สำหรับ การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ (1) การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ (2) การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ (3) การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค (4) การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และ (5) การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร

    “การดำเนินการมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ให้ สทนช. ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการและความพร้อมของโครงการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ 5 ประเภทของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย” นายคารม กล่าว

    ป.ป.ส.โชว์ผลงานจับพ่อค้ายา 2 แสนราย ยึดทรัพย์ 1.1 หมื่นล้าน

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป และเห็นชอบให้นำความเห็น หรือข้ อเสนอแนะของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า รายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติดประจำปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย ผลการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศปีพ.ศ. 2565 รวม 194,203 คดี ผู้ต้องหา 200,669 ราย ยึดทรัพย์สินจำนวน 11,003 ล้านบาท และผลการจับกุมพบว่า นอกจากปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การค้ายาเสพติดเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มการค้าทุกระดับสามารถจัดหายาเสพติดได้หลายชนิดโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อซื้อขาย ควบคู่กับการใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์และขนส่งสินค้าที่มีผู้ให้บริการอยู่หลายราย ทำให้ยากต่อการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ การกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยการเรียกเก็บทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด การกักขังหน่วงเหนี่ยว และการเสนอผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากคดียาเสพติด เนื่องจากอำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นอำนาจพิเศษจากกฎหมายทั่วไป การดำเนินการใด ๆ จะกระทบต่อสิทธิของบุคคลพึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นของผู้ใช้อำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้ดุลพินิจความละเอียดรอบคอบ การครองตน ครองงาน การมีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันกรณีที่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น อำนาจในการตรวจค้นในเวลากลางคืน การมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือเรียกเอกสารหรือวัตถุใด ๆ และการควบคุมตัวผู้ถูกจับกุม โดยปัจจุบันได้มีระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2565 กำหนดคุณสมบัติและการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และการกำกับดูแลเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (มีผลใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2566) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวไป ในการปฏิบัติงานจริงมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และเหตุการณ์เฉพาะหน้า

    รวมทั้งยังไม่มีช่องทางที่สะดวกในการแจ้งการควบคุมตัวกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันทีตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ปัจจุบันระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566) เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัว เร่งเตรียมการให้พร้อมรองรับการปฏิบัติงาน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีมาตรการและกลไกที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับรายงานดังกล่าว

    รายงานผลปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2565 ของสำนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าวนี้

    สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็น หรือข้อเสนอแนะว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด มาตรการในการควบคุมตรวจสอบการแสวงหาประโยชน์จากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ควบคู่กับการใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์ และขนส่งสินค้าที่มีผู้ให้บริการอยู่หลายรายที่เป็นช่องทางในการติดต่อ ซื้อขายยาเสพติด ส่วนกรณีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจค้น การใช้อำนาจในการมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคล หรือเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งข้อมูลเอกสาร รวมทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติ จัดให้มีการศึกษาอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดช่องทางในการแจ้ง การควบคุมตัวกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันทีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

    ป.ป.ช.แจงผลงานภายใต้อนุสัญญาฯต่อต้านทุจริต

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้ กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อด้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รวมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับในการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย งานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน และสำนักงานอัยการสูงสุด นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่อไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป

    สำหรับผลการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ สรุปได้ ดังนี้

      (1) กฎหมายและการดำเนินการของไทยในภาพรวมมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยได้รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ในความรับผิดชอบขององค์กรซึ่งกำหนดและกำกับนโยบายเพื่อป้องกันการทุจริตของไทย โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดฯ มีความเห็นว่า นโยบายการป้องกันการทุจริตของประเทศควรริเริ่มและพัฒนามาจากการถอดบทเรียนจากการปราบปรามการทุจริตระดับชาติเพื่อให้การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตมีความสอดคล้องเหมาะสมและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการทุจริตหลายหน่วยงานอาจก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระระดับชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีความรับผิดชอบทั้งด้านป้องกันและด้านปราบปรามการทุจริต และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินภารกิจดังกล่าวโดยปราศจากอิทธิพลและการแทรกแซงใด ๆ อันเป็นไปตามหลักสากลและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
      (2) การประเมินติดตามฯ เป็นการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีความสอดคล้องรองรับตามพันธกรณีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดฐานความผิดการให้และรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศการกำหนดหลักการริบทรัพย์สินตามหลักมูลค่าการกำหนดความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่หากมีการหลบหนี ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
      (3) ไทยยังคงมีประเด็นตามข้อบทบังคับแห่งอนุสัญญาฯ ที่ยังต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น เช่น การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ การกำหนดบทลงโทษสำหรับนิติบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด การห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสินบนมาลดหย่อนภาษี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อด้านการทุจริต 2 ประเด็น ดังนี้

        1) การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ (Special Investigative Techniques) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ครอบคลุมถึงการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบทที่ 50 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อบทบังคับ เช่น การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการอำพราง และการใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการสะกดรอย เพื่อให้เข้าถึงและได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและไต่สวนคดีทุจริตอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

        2) มาตรการชะลอการไต่สวนนิติบุคคล (Non-Trial Resolutions) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มาตรการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 เพื่อนำหลักการชะลอการไต่สวนนิติบุคคลมาใช้บังคับ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเพิ่มกลไกการชะลอการดำเนินคดีกับนิติบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยส่งเสริมให้นิติบุคคลเข้ามาให้ถ้อยคำหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเพื่อให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ภาครัฐหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในด้านการลงทุนให้เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ยั่งยืน และคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีการดำเนินการเทียบเท่ามาตรฐานสากลสอดคล้องตามอนุสัญญาฯ รวมถึงหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

    “ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ทั้ง 4 หมวด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการยกระดับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ โดยจะส่งผลให้กฎหมายไทยมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานรวมทั้งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ทั้งนี้ การอนุวัติการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตในระดับประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานในกำกับของราชการฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ” นายคารม กล่าว

    รับทราบผลงาน กกพ.ปี 2566-67

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,095.162 ล้านบาท และประมาณการรายได้ 1,095.460 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามความในมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยครั้งนี้ กกพ. ได้จัดทำแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายและประมาณการรายได้ พ.ศ. 2567 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาของแผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

    แผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีทั้งสิ้น 5 วัตถุประสงค์หลักดังนี้

    วัตถุประสงค์ที่ 1 ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

    วัตถุประสงค์ที่ 2 ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรม ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

    วัตถุประสงค์ที่ 3 กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนา

    วัตถุประสงค์ที่ 4 ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วมเข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และ

    วัตถุประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาลและได้มาตรฐานสากล

    โดยสำนักงาน กกพ. ได้ประมาณการงบประมาณสำหรับการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน พัฒนาระบบการกำกับอัตราค่าบริการพลังงาน พัฒนากฎระเบียบการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,095.162 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงานรายปี จำนวน 1,095.460 ล้านบาท

    ผ่าน พ.ร.ฎ. 3 ฉบับ เวนคืนที่ดินสร้างรถไฟสายสีส้ม – ตัดถนน 2 สาย

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 3 ฉบับ ดังนี้

      1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แขวงชนะสงคราม แขวงบ้านพานถม แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แขวงชนะสงคราม แขวงบ้านพานถม แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร แขวงวัดโสมนัส แขวงคลองมหานาค แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต แขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
      2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ….
      3. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ….

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 1 นั้น เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความจำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชน และ เพื่อดำเนินกิจการขนส่งมวลชนตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพ ลักษณะ และการเข้าใช้ประโยชน์บน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่อการวางแผนหรือออกแบบกิจการขนส่งมวลชนในบริเวณโครงการรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ทั้งนี้ มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนประมาณ 380 แปลง รวมทั้งมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 400 หลัง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามข้อ 1 โดย รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

    ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 2 เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 290 สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนบ้านบึงขามทะเลสอ – บ้านหนองบัวศาลา บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) ที่ตำบลหนองงูเหลือม – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 สายหัวทะเล – วารินชำราบ ที่ตำบลพระพุทธ รวมทางแยกต่างระดับ (INTERCHANGE 2) จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน โดยดำเนินการบูรณะซ่อมแซมให้ได้มาตรฐาน หรือให้เหมาะสมกับสภาพการให้บริการในปัจจุบันเพื่อรองรับปริมาณการจราจร ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง การค้า และการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงพื้นที่สำคัญและลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมืองนครราชสีมา ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรและขนส่ง โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองนครราชสีมา แก้ปัญหาจุดตัดกับทางรถไฟและรองรับปริมาณจราจรทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 68.90

    ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ตามข้อ 3 เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3329 ทางสายตาคลี – หนองหลวง ตอนตาคลี – หนองหลวง ที่ กม. 11 + 341 เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ บนทางหลวงหมายเลข 3329 จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางหลวงกับทางรถไฟ อีกทั้งยังเป็นการรองรับรถไฟสายทางคู่ สายลพบุรี – ปากน้ำโพ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการเดินทาง (Mobility) บริเวณดังกล่าว และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่ง รวมทั้งโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ ฉบับที่ 3 ดังนั้น โครงการก่อสร้างทางหลวงดังกล่าว จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 75.50

    ยกเว้น VAT ซื้อ – ขายสินทรัพย์ดิจิทัล

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

      1. ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange)1 และขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมถึงนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ด้วย
      2. ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโทเคนดิจิทัล (Token Digital) ในประเภทของโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ได้กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน (เดิมยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น) รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการโอนขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

    ทั้งนี้ ในการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะไม่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมจากที่สูญเสียอยู่ในปัจจุบัน ส่วนการขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมถึงการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีนี้จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมไม่มากเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายรับของผู้ขายต้องถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน หากยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณปีละ 70 ล้านบาท

    ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนั้นมีรายละเอียดดังนี้

      1) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
      2) การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
      3) นักลงทุนในประเทศไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้น
      4) ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา

  • คลังยกเว้น VAT ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งเป้าไทย “Digital Asset Hub”
  • อนุมัติ MOU ขนสินค้าผ่านแดนไทย-กัมพูชา

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

      1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) เฉพาะการอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)
      2. เห็นชอบในการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยอธิบดีกรมศุลกากรของประเทศไทย (เทย) และกัมพูชา โดยไม่ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม ทั้งนี้ กรมศุลกากร กค. จะดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือแสดงเจตนารมณ์ในการยินยอมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โดยไม่ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป
      3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ การเปิดจุดผ่านแดนใหม่หรือด้วยเหตุผลอื่นใด ถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กค. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
      [จะมีการลงนามและรับรองร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ]

    ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

      1. กำหนดให้คู่ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนของการผ่านแดน โดยสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากรหากได้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการผ่านแดนอย่างครบถ้วน แต่ประเทศภาคีสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาระที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือค่าบริการอื่น ๆ ได้
      2. สินค้าต้องห้ามและสินค้าต้องกำกัดในการผ่านแดนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายหรือข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนของประเทศที่มีการผ่านแดน เช่น ความมั่นคง การปกป้องคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์
      3. สินค้าผ่านแดนจะต้องขนส่งผ่านที่ทำการพรมแดนที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาคผนวกดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่ภาคี ทั้งนี้ เส้นทางภายในประเทศสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะถูกกำหนดโดยภาคีแต่ละฝ่าย
      4. ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตรระหว่างหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฝ่าย
      5. การแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยภาคีอีกฝ่ายจะต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เสนอมาทั้งหมดจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย
      6. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามและให้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
      7. ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่เสนอจะยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่าย โดยให้แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะยังมีผลบังคับใช้ในการดำเนินการ หรือการทำข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ

    ตั้ง ‘โอภาส การย์กวินพงศ์’ คุมบอร์ดองค์การเภสัชฯ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งนายสุรชาติ เทียนทอง ให้ดำรงตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ให้การแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้ง นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้ง นางสาวปรมาภรณ์ บริบูรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ขอลาออก และดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ประธานกรรมการ
      2. นายพงศธร พอกเพิ่มดี (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) กรรมการ
      3. นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ
      4. นางสาวกรรภคมณฑ์ โสภาศพิรุณศักดิ์ กรรมการ
      5. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ กรรมการ
      6. นายกุลเศขร์ ลิมปิยากร กรรมการ
      7. นางสาวจรสพร เฉลิมเตียรณ กรรมการ
      8. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กรรมการ
      9. นางนงลักษณ์ โกวัฒนะ กรรมการ
      10. นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการ
      11. นายพงศ์เกษม ไข่มุกต์ กรรมการ
      12. นางศศิวิมล มีอำพล กรรมการ
      13. นายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ กรรมการ
      14. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ กรรมการ

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเติม