ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแปลง ส.ป.ก. หนองบัวลำภู 9.5 แสนไร่ เป็นโฉนด 15 ธ.ค.นี้ – มติ ครม.จ่าย 120 บาท/ตัน หนุนตัดอ้อยสด

นายกฯแปลง ส.ป.ก. หนองบัวลำภู 9.5 แสนไร่ เป็นโฉนด 15 ธ.ค.นี้ – มติ ครม.จ่าย 120 บาท/ตัน หนุนตัดอ้อยสด

4 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.) ครั้งที่ 1/2566 ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • นายกฯส่งกฤษฎีกาตีความ “ดิจิทัล วอลเล็ต”สัปดาห์นี้
  • แปลง ส.ป.ก.หนองบัวลำภู 9.5 แสนไร่ เป็นโฉนด 15 ธ.ค.นี้
  • เล็งทบทวนงบฯ “ซอฟต์พาวเวอร์” 5,164 ล้าน
  • เปิดมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” เต็มรูปแบบ รับช่วงเทศกาลปีใหม่
  • มติ ครม.จัดงบฯ 8 พันล้าน จ่าย 120 บาท/ตัน หนุนตัดอ้อยสด ลด PM2.5
  • จัดงบฯ 359 ล้าน ดูแลผู้สูงอายุภาคอีสาน
  • เห็นชอบยุทธศาสตร์จัดสรรงบฯปี’68
  • เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.) ครั้งที่ 1/2566 ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ยกระดับรายได้ชาวหนองบัวลำภู

    นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุม ครม. สัญจรนอกสถานที่ครั้งแรก รัฐบาลเลือกมาที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยจังหวัดหนองบัวลำภู เพราะเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำสุด โดยวันนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดประจำลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย หนองคาย และอุดรธานี มาเสนอปัญหา แนวทางและ KPI ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร ที่ดินทำกิน การให้เอกสารสิทธิ์ ฯลฯ

    นายเศรษฐา กล่าวถึงเรื่องความยากจนของจังหวัดหนองบัวลำภูว่า รัฐบาลจะยกระดับรายได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราคาพืชผล การท่องเที่ยว ตลอดจนการแก้ปัญหายาเสพติด

    นายเศรษฐา กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดเหล่านี้ว่า “เรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดเหล่านี้เป็นเมืองรอง มีสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหารการกินที่น่าสนใจ ฉะนั้น ผมสั่งการไปถึงผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ว่า ให้มาดูแลเป็นพิเศษ และกำชับสำนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด ให้ขุดศักยภาพออกมาให้คนไทยทุกคนทราบ เพื่อให้กระตุ้นการท่องเที่ยวใน 4 ถึง 5 จังหวัดนี้ให้เกิดขึ้น”

    นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงสินค้า OTOP ว่า สินค้าของจังหวัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สมควรได้รับการสนับสนุน ดังนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความกรุณาให้สถานีกลางบางซื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายในรูปแบบ Department Store ให้กับสินค้าโอท็อป ส่วนเรื่องการค้าออนไลน์เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าโอท็อปมากขึ้น

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้พิจารณาสร้างฝาย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งทั้งหมด 92 ฝายในจังหวัดหนองบัวลำภู จากนั้นสั่งการให้กรมประมงเอาพันธุ์สัตวน้ำไปปล่อยเพื่อให้ประชาชนสามารถหาปลาได้

    “เหตุผลหนึ่งที่ความเจริญยังไม่มาถึงจังหวัดหนองบัวลำภู เพราะระบบการคมนาคมยังไม่ดีพอ มีการพิจารณาหลายเส้นทาง เพื่อให้เชื่อมต่อหลายจังหวัด เพื่อกระตุ้นความเจริญให้เกิดขึ้นได้” นายเศรษฐา กล่าว

    ส่งกฤษฎีกาตีความ “ดิจิทัล วอลเล็ต”สัปดาห์นี้

    มีคำถามเรื่องความคืบหน้าของดิจิทัลวอลเลต โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “มีการพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังแล้ว จะมีการส่งให้กฤษฎีกาภายในอาทิตย์นี้”

    เล็งทบทวนงบฯ “ซอฟต์พาวเวอร์” 5,164 ล้าน

    เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติใช้งบประมาณ 5,164 ล้านบาท ถือว่าเป็นงบฯที่สูง และเกินจริงไปหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “เดี๋ยวมาพิจารณาอีกที เพราะงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องชี้แจงได้ และเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนด้วย”

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “มีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย ต้องให้เจ้ากระทรวงเห็นชอบ ไม่ใช่แค่กระทรวงวัฒนธรรมกระทรวงเดียว มีหลายกระทรวง”

    แนะแนวทางช่วยคนจนถูกขังคุกแทนค่าปรับ

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของเรือนจำกลางอุดรธานี ถนนศรีสุข ต.หมากแข้ง อ.เมืองอดรธานี จ.อุดรธานี ซึ่งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีข้อสั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและกรมราชทัณฑ์ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่

      (1) มอบหมายกรมราชทัณฑ์จัดทำข้อมูลสถิติเกี่ยวกับผู้ต้องกักขัง กรณีกักขังแทนค่าปรับ อันเป็นการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ดังนั้น จึงเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้มีการทำงานบริการสังคม หรือ สาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1
      (2) การพัฒนาพฤตินิสัย เป็นภารกิจหลักที่แต่ละเรือนจำต้องคัดกรองและสามารถให้ผู้ต้องขังได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเองตามความถนัดและเตรียมความพร้อมในการกลับไปอยู่ในสังคมและไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ
      (3) ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากถูกจำคุกทั้งที่ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม และการจำคุกถือเป็นอุปสรรคในการกลับคืนสู่สังคม จึงมีแนวทางให้มีงานทำและสนับสนุนให้มีการควบคุมตัวภายนอกเรือนจำ ตามหลักข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (Bangkok Rules) มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง มาตรการในการลงโทษโดยไม่ใช้เรือนจำ (Non-Custodial Sanctions and Measures) มุ่งใช้บังคับกับผู้กระทำผิดหญิงที่กระทำความผิดไม่รุนแรง ประกอบกับมีปัจจัยทางกายภาพที่ไม่เหมาะกับการถูกคุมขัง เช่น เยาวชนหญิง และผู้กระทำผิดที่ตั้งครรภ์เป็นต้นโดยข้อกำหนดในส่วนที่ 3 นี้ สามารถใช้บังคับได้ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน จนกระทั่งหลังมีคำพิพากษา และ
      (4) เรือนจำกลางอุดรธานีมีอายุยาวนานถึง 108 ปี และอยู่ในเขตพื้นที่ใจกลางเมือง มีชุมชนและสถานที่ราชการรอบข้าง ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ในเรื่องของการย้ายเรือนจำจึงควรดำเนินการให้สมบูรณ์ โดยการย้ายเรือนจำต้องคำนึงถึงเรื่องของสาธารณูปโภคให้มีความพร้อมทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า จึงมอบหมายอธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ศึกษาข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน

    เปิดมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” เต็มรูปแบบ รับช่วงเทศกาลปีใหม่

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เตรียมเดินทางไป จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง Motorways บางปะอิน – นครราชสีมา และความพร้อมที่จะเปิดให้บริการประชาชนช่วงสีคิ้ว – นครราชสีมา ในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีกำหนดการดังนี้

    เวลาประมาณ 13.15 น. ณ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ตอน 34 อุโมงค์คลองไผ่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการก่อสร้างและผลการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) และความพร้อมการเปิดให้บริการประชาชน ช่วงสีคิ้ว – นครราชสีมา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 แบบเต็มรูปแบบจากทางเข้า – ออก M6 ตอน 24 ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จนถึง ทางเข้า – ออก M6 ตอน 40 ที่ กม.195+943 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 204 ที่ กม.3+230 และรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการก่อสร้างอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณเรือนจำคลองไผ่ ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

    “ที่ผ่านมากรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เปิดให้ใช้ทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) ชั่วคราวสำหรับเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์บริเวณช่วง อ.ปากช่อง – อ.สีคิ้ว – อ.ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กม. ให้บริการกับประชาชนไปแล้วนั้น ปัจจุบันกรมทางหลวงได้เร่งรัดการก่อสร้าง และพิจารณาความพร้อมทุกด้านในการเพิ่มระยะทางของเส้นทางอีก 16 กม. และขณะนี้ กรมทางหลวงโดยสำนักงานทางหลวงที่ 10 (นครราชสีมา) ได้เตรียมความพร้อมเปิดการใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน – นครราชสีมา มอเตอร์เวย์ M6 ระยะทาง 80 กม. ช่วงระหว่าง อ.ปากช่อง – อ.สีคิ้ว – อ.ขามทะเลสอ – ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยจะเปิดทั้งสองทิศทางการจราจร ทั้งขาไปขากลับพร้อมกันตลอด 24 ชั่วโมง ในปลายเดือน ธ.ค. 2566 เพื่อรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย” นายชัย กล่าว

    หนุน “Soft Power” ผ้าไทย ให้ทั่วโลกรู้จัก

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ​ ได้ติดตาามการทำเกษตรแปลงใหญ่ อ.ศรีบุญเรือง  และมอบนโยบาย ดังนี้

    “รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรและเกษตรกรมาโดยตลอด และจะมุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ด้วยการใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ และวัฒนธรรมการเกษตรเข้ามาสร้างโอกาสเพิ่มผลิตผลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยดำเนินนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของประชาชน พร้อมขยายผลและสนับสนุนสินค้าของชุมชน” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการยกระดับผ้าไทย พร้อมช่วยส่งเสริม และผลักดันผ้าไทยให้เป็น Soft Power ที่มีคนรู้จักไปทั่วโลก พร้อมสนับสนุนการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น ดูแลรักษาง่ายเพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับการเปิดตลาดให้กับคนรุ่นใหม่มากขึ้นและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันผ้าไหมไทยในเวทีโลก

    นอกจากนั้น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ รัฐบาลจะส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกันบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องการลดต้นทุนทางด้านการผลิต การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในการตลาดและมีอำนาจต่อรองในการหาปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิตได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งรัฐบาลจะส่งเสริม Young Smart Farmer โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีนวัตกรรม และนำมาใช้ในกระบวนการผลิต การตลาด เพื่อให้มีผลผลิตต่อหน่วยต่อไร่เพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับมาตรฐานของสินค้าเกษตร

    ปลื้มนักกีฬา “เทคบอล” ไทย คว้าแชมป์โลก 2 ประเภท

    นายชัย กล่าวว่า นายกฯ ชื่นชมศักยภาพนักกีฬาเทคบอลไทย ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 2 ประเภท ทั้งคู่หญิงและคู่ผสม ในการแข่งขันเทคบอลชิงแชมป์โลก 2566 (World Teqball Championships 2023) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และถือเป็นชาติแรกนอกทวีปยุโรปที่ได้จัดการแข่งขัน สะท้อนศักยภาพด้านการกีฬาของไทยในเวทีโลก ทั้งนักกีฬาและบุคลากรกีฬา ตลอดจนความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในระดับโลก

    นายชัย กล่าวต่อว่า การแข่งขัน World Teqball Championships 2023 ทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์โลกถึง 2 ประเภท ได้แก่ คู่หญิง “หยก” จุฑาทิพย์ กันทะธง คู่กับ “นิด” สุภาวดี วงศ์คำจันทร์ และคู่ผสม “ต้น ราชนาวี” พักตร์พงษ์ เดชเจริญ คู่กับ “นิด” สุภาวดี วงศ์คำจันทร์ สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และทีมชาติไทยยังได้รับอีก 1 เหรียญเงินจากประเภทหญิงเดี่ยว “หยก” จุฑาทิพย์ กันทะธง และ 1 เหรียญทองแดงจากประเภทคู่ชาย “ต้น ราชนาวี” พักตร์พงษ์ เดชเจริญ คู่กับ “เก่ง บ้านบะขาม” บุญคุ้ม ทิพย์วงค์

    “นายกรัฐมนตรียินดีกับนักกีฬาเทคบอลไทย ที่สร้างชื่อเสียงเป็นประวัติศาสตร์ให้ตนเอง และวงการกีฬาไทย เป็นที่ภาคภูมิใจของพี่น้องคนไทยทุกคน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจกีฬาประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากเห็นเหล่ารุ่นพี่นักกีฬาเป็นต้นแบบให้มีความพยายาม และกล้าที่จะทำตามความฝัน โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาด้านกีฬาของไทยให้เดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง” นายชัย กล่าว

    แปลง ส.ป.ก.หนองบัวลำภู 9.5 แสนไร่ เป็นโฉนด 15 ธ.ค.นี้

    นายชัย กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่าชาวหนองบัวลำภูจะได้อะไรจากการประชุม ครม. จังหวัดหนองบัวลำภูในครั้งนี้ จากพื้นฐานของจังหวัดมีรายได้จีดีพีต่อหัวต่ำที่สุด ดังนั้นต้องเพิ่มรายได้ผ่านทางเศรษฐกิจและการเกษตรเป็นหลัก และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหายาเสพติด

    นายชัย กล่าวถึงการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ โดยต้องเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยว ‘ภูแอ่น’ ในเขตอุทยานแห่งชาติ โดย รัฐบาลจะเติมเสน่ห์ให้โดยใส่เครื่องโหนสลิง หรือซิปไลน์ เพราะโดยปกติเวลาจะเข้าไปต้องจอดรถ และนั่งรถสองแถวเข้าไปกว่า 1 กิโลเมตร แต่เมื่อรัฐบาลสนับสนุนซิปไลน์เข้าไปจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนอยากมาเที่ยว

    “เที่ยวแล้วได้โหนด้วย ได้รู้ว่าบรรยากาศความรู้สึกแบบทาซานเป็นยังไง” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังเชื่อมโยงคมนาคมกลุ่ม 5 จังหวัดของอีสานตอนบน 1 และพัฒนา-ซ่อมแซมถนนที่มาจากจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนากลาง ซึ่งที่ผ่านมาถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

    นายชัย กล่าวถึงภาคการเกษตรว่า รัฐบาลต้องเร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 1.5 แสนไร่ภายในไม่กี่ปีนี้ และบรรเทาหรือขจัดปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ผ่านโครงการต่างๆ เช่น สร้างฝาย 92 ฝาย ทำอุปกรณ์ในลำน้ำ ใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ด้านชลประทานในลำน้ำลำพะเนียง

    “หนองบัวลำภูมีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่เกษตรกรครอบครองนานกว่า 3 ปี ประมาณ 9.5 แสนไร่ วันที่ 15 ธันวาคม 2566 กระทรวงเกษตรฯ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารเป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร แปลว่า ซื้อขายได้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดศูนย์ออกแบบ เรียนรู้ พัฒนาและต่อยอดการทอผ้าขิดสลับหมี่ หรือผ้าฝ้ายแกนไหม โดยสร้างศูนย์เพิ่มอีก 4 ศูนย์ จากเดิม 3 ศูนย์ ซึ่งจะมีบทบาทการขับเคลื่อนใก้เกิดการยกระดับฝีมือการทอผ้า และทำให้จังหวัดมีความโดดเด่น

    นายชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะให้งบฯฝึกอบรมชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน (ชรบ.) เพิ่มอีก 6,000 คน จากปัจจุบันที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีจิตอาสากระจายอยู่ 3,800 คน เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และดูแลหาคนติดยาเสพติด และช่วยนำคนมารักษา

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายคารม พลพรกลาง , นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จังหวัดหนองบัวลำภู
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    จัดงบฯ 359 ล้าน ดูแลผู้สูงอายุภาคอีสาน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณโครงการภิบาล และคุ้มครอง สิทธิผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า เพื่อให้รองรับสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสมบูรณ์ คือ มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งเพื่อสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในชุมชน (Ageing in Place) อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 ณ มิถุนายน 2566 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สูงอายุทั้งหมด 4,053,610 คน คิดเป็นร้อยละ 18.64 และจากข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,188,077 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มติดสังคม จำนวน 3,089,474 คน (ร้อยละ 96.9) กลุ่มติดบ้าน จำนวน 84,945 คน (ร้อยละ 2.66) และกลุ่มติดเตียง จำนวน 13,658 คน (ร้อยละ 0.42) และมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น สมาชิกในครอบครัวมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตระหนักถึงการสร้างกลไกในระดับพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ

    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน และการสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมบนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและการสร้างระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

      1.โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนและเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติทางด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศ
      2.กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 4,053,610 คน ประกอบด้วย ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ พื้นที่ละ 2 คน จำนวน 322 พื้นที่ผู้สูงอายุที่ได้รับคัดกรองสุขภาพ จำนวน 3,188,077 คน ได้แก่ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง
      3. พื้นที่ดำเนินการ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ในพื้นที่ 322 อำเภอ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี

    “งบประมาณรวมทั้งสิ้น 359,352,000 บาท แบ่งเป็น งบดำเนินงาน 198,352,000 บาท ได้แก่ 1.ค่าจัดอบรม ค่าตอบแทนผู้บริบาล ค่าจัดกิจกรรม และค่าติดตามงาน 2.งบลงทุน 161,000,000 บาท ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยประโยชน์ผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เป้าหมายแผนพัฒนาภาคกลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ และลดภาระการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวส่งเสริมการมีรายได้ด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน” นายคารม กล่าว

    เห็นชอบยุทธศาสตร์จัดสรรงบฯปี’68

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ) พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาในช่วงเดือนมกราคม 2567 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบรายละเอียดคำของบประมาณต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า โครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ พ.ศ. 2568 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ประกอบด้วย

    1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่งคง
    2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
    3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริงสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
    4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
    5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

    จัดงบฯ 8 พันล้าน จ่าย 120 บาท/ตัน หนุนตัดอ้อยสด ลด PM2.5

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM (โครงการฯ) กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้

      1. อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี1 และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด
      2. ค่าใช้จ่ายโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เป็นจำนวนเงิน 7,775.01 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
      3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. รวมจำนวนเงิน 215.59 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.76 ต่อปี) จำนวน 214.59 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท ทั้งหมด 200,000 ราย อีก 1 บาท

    สาระสำคัญ

    อก. รายงานว่า

      1. รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา) ระบุว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย และขอรับการจัดสรรงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาท
      2. อก. จึงได้จัดทำโครงการฯ (ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566) เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.52 โดยช่วยเหลือเฉพาะซาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการที่เสนอมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการในลักษณะเดียวกันที่เคยดำเนินการในฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 และปี 2564/2565 (อัตราการให้ความช่วยเหลือ 120 บาทต่อตันเท่ากัน) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

    แจงความก้าวหน้างานมหกรรมพืชสวนในปี’69

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้สามารถดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้แก่สมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ (AIPH) ตามกำหนดกรอบระยะเวลาก่อน 6 เดือน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2569 และพิธีเปิดงาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ซึ่งเกิดประโยชน์กับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569

    ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 4 มกราคม 2565 อนุมัติหลักการให้ประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ในพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี พื้นที่รวม 1,030 ไร่ พร้อมอนุมัติงบประมาณและผู้มีอำนาจลงนามโครงการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท

    รายงานความก้าวหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. การปรับผังแม่บท (Master plan) ให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีการตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการออกแบบผังแม่บท (Master plan) โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรองผังแม่บท โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบงบประมาณ 2,500 ล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพ ตามความเหมาะสมและคุ้มค่า ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินการเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569

    2. การขอใช้พื้นที่การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 นอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแดแล้ว ยังต้องดำเนินการขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ในการเข้าใช้พื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตให้จังหวัดอุดรธานี เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าแล้ว อยู่ระหว่างออกใบอนุญาตตามแบบ ป.84-4 พร้อมกับชำระเงินค่าบำรุงป่า หรือปลูกสร้างสวนป่าและค่าปลูกป่าทดแทน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เพิ่มเติม