ThaiPublica > เกาะกระแส > ปรับ ครม.เศรษฐา-ครบ 6 เดือน สับเปลี่ยนกำลัง 3 บอร์ดคุมเศรษฐกิจ-ตลาดทุน-ธปท.

ปรับ ครม.เศรษฐา-ครบ 6 เดือน สับเปลี่ยนกำลัง 3 บอร์ดคุมเศรษฐกิจ-ตลาดทุน-ธปท.

5 มีนาคม 2024


คณะรัฐมนตรี เศรษฐา 1 นับเป็นรัฐบาลที่ใช้เวลาในการจัดตั้งนานที่สุด ถึง 109 วัน หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รัฐมนนตรี ในวันที่ 1 กันยายน 2566

เมื่อเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เร็วที่สุด เพียง 11 วัน นับจากวันเลือกตั้ง 27 กรกฏาคม 2529 ถึงวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ รัฐบาลใหม่ 7 สิงหาคม 2529

กว่านายเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก็ต้องใช้เวลา หลังเลือกตั้งถึง 100 วัน ด้วยจำนวนเสียงโหวตจาก 11 พรรค 314 เสียง รวมเสียงที่ประชุม 2 สภา 482 เสียง

คณะรัฐมนตรี เศรษฐา 1 จำนวน 34 คน เข้าปฏิบัติหน้าที่ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11 กันยายน 2566

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่’เพื่อไทย’ พลิกขึ้นมาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 7 พฤษภาคม 2557 หลังดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี 275 วัน

แต่เป็นการกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาล ในขณะที่พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 22 ปี

พรรคเพื่อไทยต้องพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วอนุรักษนิยม ในนามของพรรค “2ลุง” คือ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

ภารกิจทางการเมืองหลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง ของนายเศรษฐา คือกำหนดการเดินทางไปเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดตัวเข้าสนามการเมือง ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เขาใช้เวลาพียง 175 วัน ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหารได้สำเร็จตามที่เคยฝันไว้ เทียบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เวลา 49 วัน ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

6 เดือน 19 วัน คิกออฟปรับ ครม.

สิ้นเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลเศรษฐา 1 ปฏิบัติหน้าที่ครบ 202 วัน หรือ 6 เดือน 19 วัน เดือนเมษายน 2567 น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน สไตล์ “ทักษิณ” ที่มีอัตราการปรับ ครม. เฉลี่ยทุก 6 เดือน

คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ สามารถแต่งตั้งได้ 36 คน รวมนายกรัฐมนตรี แต่ “เศรษฐา 1” มีการแต่งตั้งเพียง 34 ราย ดังนั้นการปรับ ครม. “เศรษฐา 1/1” มีรัฐมนตรีหน้าใหม่ได้อย่างน้อย 2 ราย

ไม่ควรลืมว่า ก่อนนำรายชื่อ 34 ราย ขึ้นทูลเกล้าฯ มีรัฐมนตรี 2 ราย ที่ถูกแกนนำพรรคเพื่อไทยระบุว่า “เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ” จึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบ และปรากฏว่าชื่อ 2 รายดังกล่าว ต้องถูกถอดออกจากโผ ครม. เศรษฐา 1

ต่อมาเป็นที่เปิดเผยกันในพรรคเพื่อไทยว่า 2 รายชื่อดังกล่าวคือ 1.นายพิชิต ชื่นบาน ทนายประจำตัว 2 อดีตนายกรัฐมนตรีบ้าน “ชินวัตร” และ 2. นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร 3 สมัย จากพรรคพลังประชารัฐ

ชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ปรากฏตัวอยู่ในโผ ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชื่อนายไผ่ ลิกค์ ปรากฏในโผ เป็นว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อยู่ในทำเนียบรัฐบาลมา 33 ปี เคยกล่าวเรื่อง “ขั้นตอนการเป็นรัฐมนตรี” ไว้ว่า ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรี ส่งรายชื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบคุณสมบัติ
2.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จัดการพิมพ์ร่างประกาศพระบรมราชโองการ ประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อ แล้วเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือกราบบังคมทูล
3.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง รับไปดำเนินการ
4.บางกรณีนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯส่งรายชื่อด้วยตัวเอง จะทรงรับไว้และเคยพระราชทานคืนภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าส่งให้สำนักราชเลขธิการ จะใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน
5.เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรายชื่อรัฐมนตรี ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธยในหน้าแรกของประกาศพระบรมราชโองการ แล้วให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เชิญกลับไป
6.ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้น การปรับ ครม. “เศรษฐา1/1” จึงเป็นที่คาดหมายว่า ชื่อของคนที่เคยอยู่ในโผ อาจได้เวลาปรากฏตัว เข้ามาอยู่ในโผเป็นว่าที่รัฐมนตรีอีกครั้ง

ส่วนรัฐมนตรี ที่คาดหมายกันว่า อาจจะถูกปรับ-เปลี่ยน มีทั้ง ชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปัจจุบัน ควบ 2 ตำแหน่ง ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายภูมิธรรม จะรู้ตัวหรือไม่-ไม่แน่ชัด แต่เขาให้สัมภาษณ์ เปิดเกมการปรับ ครม.เป็นคนแรกๆ ไว้ ว่า “การปรับ ครม. จะเห็นความชัดเจน หลังสภาผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 และการปรับ ครม. เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม หากนายกฯ เห็นสมควรจะปรับ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

วาระหลังสภาผู้แทนราษฎร ผ่านความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 อยู่ในไทม์ไลน์ปรับ ครม. “ทักษิณสไตล์” คือเข้าเขต 6 เดือนพอดี

อีกชื่อที่บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย พูดเกือบเป็นเสียงเดียวกันคือ นายสุทิน คลังแสง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ปูนบำเหน็จ-รางวัล สำหรับคนที่จงรักภักดีกับพรรคเสมอมา

ข่าวเขย่าตำแหน่งนายสุทิน เปิดมาจากแหล่งข่าวกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนการควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นควบกระทรวงกลาโหม เพื่อภารกิจบางอย่างหลังจาก ‘ทักษิณ’ พ้นจากโทษจำคุก” จากนั้นกระแสก็เคลื่อนไปที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมๆ กับการค้นหาชื่อ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

นายสุทิน แบ่งรับ-แบ่งสู้กับกระแสแรงรอบตัวว่า “กระแสการปรับ ครม. ก็ออกมาให้เห็นตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการคาดหมายไปต่าง ๆ นานา โดยในขณะนี้ยังไม่ได้ยินข่าวนั้น แต่สำหรับตน ได้รับสัญญาณที่ดี เป็นสัญญาณบวก สัญญาณที่สร้างกำลังใจ สัญญาณที่สามารถให้การทำงานเดินหน้าได้”

ส่วนชื่อว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ จากที่เคยคาดหมายกันไว้ว่า อาจจะเป็น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ก็เปลี่ยนทางไปที่ชื่ออื่น เมื่อนายศุภวุฒิ ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานบอร์ดสภาพัฒน์ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย พูดต่อ ๆ กันมาว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มาจนถึงยุคเพื่อไทย ส่วนใหญ่คนที่เคาะสุดท้ายมักเป็น “ทักษิณ” ทุกครั้ง และต้องเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจ-ใกล้ชิดบ้านชินวัตร เท่านั้น

ในโผ “เศรษฐา 1” มีชื่อ ‘ศุภวุฒิ’ อยู่ในฐานะว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่จนแล้วจนรอด ชื่อก็ไม่ลงตัว จนนายกรัฐมนตรี ต้องควบ 2 เก้าอี้ ท่ามกลางความไม่เห็นชอบของแกนนำพรรค แต่เป็นมีเหตุผลทางการเมืองที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

7 ตำแหน่งใหม่ ลุ้นเข้า “เศรษฐา 1/1”

6 เดือนแรกของคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” มีชื่อที่น่าจะอยู่ในการปรับเข้า-ปรับออก 7-9 ตำแหน่ง ดังนี้
1.รองนายกรัฐมนตรี
2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลางโหม
5.ตำแหน่งของ นายพิชิต ชื่นบาน
6.ตำแหน่งของ นายไผ่ ลิกค์
7.รายชื่อที่เว้นว่างไว้ แต่งตั้งไม่ครบ อีก 2 คน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สัปเปลี่ยนกำลังบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ตลาดทุน-ธปท.-สภาพัฒน์

6 เดือนของรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่เพียงเตรียมสับเปลี่ยนกำลังรัฐมนตรี 7-9 ตำแหน่ง แต่ช่วงที่ผ่านมา มีการสับเปลี่ยนกำลังบอร์ด และส่งเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ไปเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่สำคัญไปแล้วหลายแห่ง อาทิ นายวิม รุ่งวัฒนจินดา ทีมงานนายกรัฐมนตรี ไปเป็นคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รวมทั้ง แต่งตั้ง นางสาวสุทิษา ประทุมกุล ทีมงานนายกรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ส่วนในบอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็มีส่วนผสมของฝ่ายเพื่อไทย รวมทั้งกรรมการในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ที่สำคัญ มีการเปลี่ยนประธานบอร์ดตามวาระ ในองค์กรที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ-การลงทุน อาทิ การแต่งตั้ง นายพิชัย ชุณหวิชร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และแต่งตั้งนายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธานบอร์ดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และในไตรมาส 3/2567 ก็จะมีการเปลี่ยนประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สว.หมดวาระ ทางโล่งฝ่ายบริหาร

มีไทม์ไลน์การเมืองที่สำคัญอีก 1 วาระ ที่เกี่ยวพันกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา คือ วาระการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิก 250 คน ที่จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567

จากนั้นจะมีกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้ระบบเลือกกันเองของแต่ละกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดหมายว่า ประมาณวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 จะสามารถประกาศผลการเลือก สว. ได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองทุกพรรค ต่างส่งคนของตัวเองเขาชิงตำแหน่ง

หากได้ฝ่ายของการเมืองเข้าคุมวุฒิสภา การจะผ่านกฎหมายสำคัญ และการเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของพรรค ก็จะราบรื่นยิ่งขึ่นในช่วงหลังของปีที่ 1 ของรัฐบาล

ส่วนอนาคตของนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งไข่ ร่างกฏหมายยังไม่เข้าสู่กระบวนการของคณะรัฐมนตรี ก็จะเป็นดัชนีชี้ขาด ในการกำหนดผลงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่คาดหมายว่า น่าจะผ่านได้ในช่วง สว.ชุดใหม่

การปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ “เศรษฐา1/1” จึงต้องมีสารพัดปัจจัย-ตัวชี้วัด ในการกำหนดว่าใครจะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี เหนือสิ่งอื่นใด ที่มากกว่าผลงาน คือบุญคุณ-กิจกรรมการเมืองที่มีต่อความนิยมพรรคเพื่อไทย และหัวใจในการเคลื่อนเกมการเมืองที่ผู้ร่วมกำหนดเกมคือ “ทักษิณ ชินวัตร”