ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เบื้องหลังเกมการเมือง ซ่อนแผนรัฐบาลแห่งชาติ งบ- เงินกู้-กฏหมายนิรโทษฉลุย คาดปีใหม่ผู้ต้องหาเกือบ 2พันคน พ้นคุก

เบื้องหลังเกมการเมือง ซ่อนแผนรัฐบาลแห่งชาติ งบ- เงินกู้-กฏหมายนิรโทษฉลุย คาดปีใหม่ผู้ต้องหาเกือบ 2พันคน พ้นคุก

9 สิงหาคม 2013


ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th
ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th

ตามเส้นทาง กฏหมายนิรโทษกรรม หลังผ่านวาระเดือดที่ 1 แล้ว กรุยทางแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ-ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ-คาดเทศกาลปีใหม่ ธ.ค. 2556 ผู้ต้องหาเกือบ 2,000 คน พ้นคุก/เผยวาระรัฐบาลเพื่อไทยใน-นอกสภาร้อนแรงแดงเดือด เงิน-งบฯ เต็มเพดาน อาวุธการเมืองครบมือ

ในที่สุด พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ก็ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระแรกในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 หลังถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายยื้ออยู่นานกว่า 8 ชั่วโมง

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาวาระกฎหมายนิรโทษกรรม “ฉบับวรชัย” 5 วัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ออกสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เรื่องการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งของประเทศ

ก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงวาระปฏิรูปประเทศ 7 วัน มีข่าวในแวดวงที่ปรึกษานักการเมือง-ทีมยุทธศาสตร์ชุดเล็ก-ลับ ของพรรคเพื่อไทย และบรรดาผู้มีบารมีเหนือพรรคร่วมรัฐบาล อย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา หรือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แห่งพรรคชาติพัฒนา ต่างรับรู้โดยทั่วกันว่าจะมีข่าวเซอร์ไพรส์ทางการเมือง ที่จะทำให้ฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องตะตกลึง

และก่อนที่จะมีการกระจายข่าวมีนัยยะว่าจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ทางการเมือง 7 วัน มีการชุมนุมมังกรการเมือง และนักธุรกิจระดับสูงติดอันดับโลกของเมืองไทย ไปร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กรุงปักกิ่งต่อเนื่องถึงเขตปกครองพิเศษเกาะฮ่องกง

ทุกวงที่อยู่ในวงเล็ก-ลับ นำความในออกมาบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า “พ.ต.ท.ทักษิณส่งสัญญาณว่าจะมีเรื่องใหญ่ เซอร์ไพรส์ทางการเมือง ที่ทำให้คนในเพื่อไทย หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างง่ายดาย และจะชนะเลือกตั้งอีกครั้ง”

จากนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทย กลับมากางยุทธศาสตร์ วางแผนทางการเมืองทั้งใน-นอกสภา วางกลไกการเมืองทั้งใน-นอกระบบ อย่างมีขั้นตอน

ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net
ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net

แผนการดังกล่าว มีทั้งเชิด-ชู ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกแถลงการณ์ แต่ให้ใช้คีย์เวิร์ดทางการเมืองที่เป็น “คำซ้าย-คำใหญ่” แนวเดียวกับคำปาฐกถา ที่มองโกเลีย เช่น การเซตประเทศใหม่, การเริ่มนับหนึ่งใหม่ทางการเมืองพร้อมกันทุกฝ่าย ทุกคู่ความขัดแย้ง เพื่อล้างคราบ-ล้างแผลการรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ทว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวถูกแปลงสารโดยทีมตึกไทยคู่ฟ้าปีกขวา เป็นคำระดับ “ให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย” แทน

เบื้องหลังแผนการดังกล่าว มีการระบุชื่อบุคคลที่จะเผยแพร่ความคิดเรื่องปฏิรูป “2 เทพ 2 อุ กับ 1 บรรหาร” เป็นหัวขบวน คือ ในฝ่ายรัฐบาลให้ใช้นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กับนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายแนวร่วม “2 อุ” คือ 2 อดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอดีตประธานรัฐสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน กับนายอุกฤษ มงคลนาวิน

พร้อมกับหยิบยกบุคคลแนวร่วมระดับตำนาน ที่เคยริเริ่มให้มีการปฏิรูปการเมือง ในปี 2540 ทั้ง อดีตนายกรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ชื่อไม่อาจซื้อใจชนชั้นนำ ทำให้ชื่อของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540, ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตนายกรัฐมนตรีในโผสถานการณ์พิเศษ และ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน จึงถูกกำหนดเค้าโครงขึ้นในแผนการจัดทำโครงสร้างอำนาจครั้งใหม่

จากนั้นปรากฏชื่อของคณะผู้จัดทำโครงสร้างอำนาจเพื่อบริหารประเทศใหม่ อาทิ สภาปฏิรูปการเมือง, คณะที่ปรึกษาอาวุโส พร้อมดึงชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เข้ามาปรากฏในข่าว

พร้อมๆ กับการเปิดแนวทางให้มีการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ภายใต้หลักการ “ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมจัดการ บริหารประเทศ เพื่อลดความขัดแย้ง” ตามนัยยะของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ในอยู่ในอาญาถูกเว้นวรรคการเมืองอีก 5 เดือน ที่เปิดหน้าออกมาประกาศทางอ้อม ด้วยแนวคิดดังๆ เป็นการโยนก้อนหินถามทางว่า…

“ถ้าให้ทุกคนเข้ามาบริหารงานของประเทศชาติจะได้หรือไม่ หรือให้บางคณะ บางพรรคการเมืองส่งตัวแทนมาร่วมบริหารงานประเทศชาติ จะเป็นไปได้หรือไม่ เอาสักปีเดียว แล้วไปลงสนามเลือกตั้งใหม่…หากผมเป็นเทวดา ผมสั่งตามนี้แล้ว เรื่องนี้” เขาตอบคำถามเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า “มันก็คือๆ”

ดังนั้น การงานของแกนนำพรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา จึงต้องมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย “จัดรัฐบาลแห่งชาติ” พร้อมๆ กับการปลดปล่อยนักโทษการเมือง ภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ

หลังจากสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการวาระ 1 แล้ว จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน จากตัวแทนรัฐบาล 3 คน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วมกันพิจารณาแปรญัตติ

จากนั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง โดยกำหนดให้สมาชิกเสนอคำแปรญัตติภายใน 7 วัน คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ 45-60 วัน

ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ. วาระ 2 และวาระ 3 แล้วส่งต่อให้มีการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน โดยวุฒิสภาสามารถลงมติได้ 3 แนวทาง คือ

แนวทางแรก เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีการแก้ไข ถือว่าผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

แนวทางที่สอง ไม่เห็นชอบและให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว แล้วส่งคืนกลับไปยังสภา ซึ่งสภาจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไป 180 วัน หากสภาลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

แนวทางที่สาม กรณีหากวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างกลับไปยังสภา แล้วตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา

แต่หากไม่มีอุปสรรค ระหว่างเส้นทางนิรโทษฯ คาดว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจสามารถนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

หากมีอุปสรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศใช้ต้นทุน 64 ปีของพรรคเป็นเดิมพัน จะคัดค้านจนถึงที่สุด จึงอาจใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “กรณี ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ให้เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้ง 2 สภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หลังพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา”

ในทัศนะของนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา เชื่อว่ากฏหมายฉบับนี้จะ “ผ่าน”

คดีการเมือง

หากกฏหมายผ่านทั้ง 3 วาระ และเป็นไปตามเส้นทางที่ฝ่ายเพื่อไทยวาดหวังไว้ อานิสงส์จะเกิดกับบุคคลที่อยู่ในข่ายคดีการเมืองตั้งแต่กันยายน 2549-พฤษภาคม 2553 อันประกอบด้วย ผู้ถูกจับกุมในคดีการเมือง 1,833 คน นับเป็น 1,151 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 1,644 คน จำคุก 5 คน และเป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 150 คน ในจำนวนนี้ได้ประกันตัวไปแล้ว 137 คน ยังอยู่ในเรือนจำอีก 13 คน และผู้ที่ถูกออกหมายจับทั่วประเทศอีกราว 100 คน

โดยในระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะให้ระงับการสอบสวน

ระดับอัยการ กรณียังไม่ฟ้องให้ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง กรณีถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้ขอถอนฟ้อง

ระดับศาล กรณีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อน พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา

ระดับที่ถูกรับโทษจำคุก ให้กรมราชทัณฑ์ สั่งให้การลงโทษสิ้นสุดลง และปล่อยตัวบุคคลผู้นั้น

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมในประเทศไทยโดยกฎหมายนับตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 มีมาแล้ว 21 ครั้ง แต่ถ้านับรวมที่นำเสนอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 309 และกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือเกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษในกรณีเดียวกันอีก 3 ฉบับ เข้าไว้ด้วยก็จะเป็น 25 ครั้ง

ทว่าเส้นทางรัฐบาลเพื่อไทย-รัฐบาลแห่งชาติ ไม่ได้ง่ายแค่ฝ่าด่านกฎหมายนิรโทษกรรม-ตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เท่านั้น หากว่ายังต้องฝ่าด่านหิน การพิจารณางบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2557 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท, วาระงบประมาณเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท, และการอุทธรณ์แบบแบ่งรับ-แบ่งสู้ คำสั่งศาลปกครองกรณี 3.5 แสนล้านบาท ที่จ่อคิวรออยู่

นอกจากนี้ยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 4 ร่าง รวม 11 มาตรา จ่อคิวพิจารณา หลังจากพิจารณางบประมาณ-เงินนอกงบประมาณ ผ่านแบบเต็มพิกัด จะมีอาวุธทางการเมืองอีก 4 ร่าง เป็นเครื่องมือและอาวุธทางการเมือง แบบครบมือ

ทั้งร่างแก้ไขเรื่อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ม.190 ว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม ที่มาของ ส.ว โดยแก้ไขให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถลงรับสมัครเลือกตั้งใหม่ได้ หากเป็นไปตามนี้ฝ่ายเพื่อไทย จะได้แนวร่วมในรัฐสภาอีกกว่า 70 เสียง

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองและการใช้อำนาจของอัยการสุงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ในการยุบพรรคการเมือง

และร่างกฏหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เข้ามาบรรจุวาระเพื่อลงมติในวาระสาม แล้วให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ทุกร่าง-ทุกกฎหมาย-ทุกฉบับ ล้วนต้องฝ่าด่านพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมนอกสภาที่ยกระดับการชุมนุมจาก “ผ่าความจริง” เป็น “ล้มรัฐบาล” ทั้งแนวร่วมหน้ากากขาว, องค์กรพิทักษ์สยาม-กองทัพประชาชน, กลุ่มไทยสปริง, และแนวร่วมคนไทยรักชาติรักแผ่นดิน ในนามม็อบต่อต้านระบอบทักษิณ ที่พร้อมไหลไปรวมกัน ทุกที่-ทุกเวลา

นอกจากนี้ ยังมีวาระที่เป็นท่าไม้ตายของฝ่ายค้าน คือ วาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในปลายสมัยการประชุมสามัญทั่วไป ที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจัดเรื่อง “จำนำข้าว” แบบชี้เป็น-ชี้ตายรัฐบาล ตั้งแต่ยื่นถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สะเทือนถึงเก้าอี้รัฐมนตรีทั้ง 35 คน

ทั้งโรดแมปการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เส้นทางออกกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 2.5 ล้านล้าน กับงบเงินกู้อีก 2 ล้านล้าน และเงินกู้แก้น้ำท่วมอีก 3.5 แสนล้าน ล้วนเป็นเดิมพันชีวิตของ 2 พี่น้อง 2 นายกรัฐมนตรี จากตระกูลชินวัตรและเครือข่าย