ThaiPublica > เกาะกระแส > เทียบภารกิจเยือนต่างประเทศ “ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา” นายกฯ เซลส์แมน 6 เดือน 14 ประเทศ

เทียบภารกิจเยือนต่างประเทศ “ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา” นายกฯ เซลส์แมน 6 เดือน 14 ประเทศ

22 กุมภาพันธ์ 2024


‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2566 เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ทั้งเป็นการเดินทางไปปาฐกถา การเยือนอย่างเป็นทางการ และการไปประชุมระดับนานาชาติ โดยใช้โอกาสดังกล่าวเปิดการเจรจา เชิญชวนนักลงทุนแล้ว 14 ประเทศ ในช่วง 6 เดือน

เทียบกับสไตล์การบริหารยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เดินทางปฏิบัติราชการในต่างประเทศ 2 ปี 57 ครั้ง เยือนต่างประเทศ 36 ประเทศ

นายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศตัวว่า จะเป็นนายกฯ “เซลส์แมนประเทศไทย” ช่วง 6 เดือนของการเป็นรัฐบาล จึงมีกำหนดการเดินทางต่างประเทศแทบทุกทวีป เพื่อขายไอเดียและดึงดูดนักลงทุนเข้าโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน มูลค่าลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท คู่ขนานกับการเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสน ล้าน แจกประชาชนคนละ 10,000 บาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents

ไตรมาสแรก 2567 เดินสาย 5 ประเทศ

สำหรับปีนี้ เปิดมาเดือนแรก นายกรัฐมนตรีเปิดการเดินทางเป็นทริปแรก ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum หรือ WEF) ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 เดินทางไปเยือนศรีลังกา

ในเดือนหน้า มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เตรียมเดินทางไปปฏิบัติราชการ 3 ประเทศ เริ่มจากออสเตรเลีย ต่อด้วยเยอรมนี และฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น 10 วัน ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการวางแผนการเดินทางและประสานงานกับเวทีการประชุม รวมทั้งการพบปะชักจูงนักลงทุน

4 เดือนแรก ไปมาแล้ว 10 ประเทศ

หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 2566 ภารกิจที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญลำดับต้นๆ คือการเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ เพื่อชักจูง-เชิญชวนนักลงทุน ในเวทีทุกระดับ เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ก็เริ่มวางแผนเดินทางทันที

เริ่มจากคิวแรก วันที่ 18-24 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UN GA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

คิวที่ 2 วันที่ 28 กันยายน 2566 เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา พบกับสมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตุลาคม 2566 เดือนเดียว 7 ประเทศ

หารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents

คิวที่ 3 วันที่ 8-9 ตุลาคม 2566 เดินทางไปพบผู้บริหารและนักธุรกิจของฮ่องกง

คิวที่ 4 วันที่ 10 ตุลาคม 2566 เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ณ พระราชวังอิสตานา นูรุล อิมาน ประเทศบรูไน

คิวที่ 5 วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เข้าคารวะ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย อย่างเป็นทางการ

คิวที่ 6 วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ พร้อมหารือทวิภาคีกับ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ณ มหาศาลาประชาชน 19 ตุลาคม 2566 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents

คิวที่ 7 วันที่ 16-18 ตุลาคม 2566 เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation หรือ BRF) โดยนายกฯ ได้พบปะหารือทวิภาคีกับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ

คิวที่ 8 วันที่ 19-21 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐาเดินทางไปกรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ พร้อมเข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

คิวที่ 9 วันที่ 29-30 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ปิดฉากปี 2566 บนเวทีเอเปค-อาเซียน สมัยพิเศษ

คิวที่ 10 วันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรีเดินทางไปนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting)

คิวที่ 11 วันที่ 14-19 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ประชุมหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents

สไตล์เพื่อไทย ยุคยิ่งลักษณ์ 2 ปี 36 ประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนประเทศออสเตรเลีย ที่มาภาพ : http://www.thaisydney.com

สไตล์การบริหารราชการแผ่นดินของพรรคเพื่อไทย (พ.ท.) นับตั้งแต่ยุค นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติราชการต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ รักษาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ทำให้ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ปี ระหว่าง สิงหาคม 2554 ถึงตุลาคม 2556 มีการเดินทางเยือน 36 ประเทศ ข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ 27 ประเทศ และเข้าประชุมระหว่างประเทศ 21 เวที รวมการเดินทางต่างประเทศ 57 ครั้ง

  • สถิติ 3 ผู้นำใช้เงินภาษีเปลือง เดินทางต่างประเทศ “บารัก โอบามา-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-กัสตูร์แห่งอินโดนีเซีย”
  • ส่วนนโยบายบริหารเศรษฐกิจในประเทศ ที่โดดเด่นยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่เป็นนโยบายเร่งด่วน เช่น นโยบายรับจำนำข้าว บัตรเครดิตพลังงาน และบัตรเครดิตชาวนา และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา คือ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และโครงการแลนด์บริดจ์

    โดยการเยือนต่างประเทศ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • state visit เป็นการเยือนระดับสูงสุดในระดับการเยือนทั้งหมด ต้องได้รับการเชิญจากประมุขของรัฐ
  • official visit เป็นการต้อนรับระดับสูงสุดของรัฐ มีการเลี้ยงต้อนรับอย่างเป็นทางการของประเทศเจ้าบ้าน
  • working Visit เป็นการเดินทางเยือนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือในประเด็นเฉพาะเจาะจง หรือเพื่อเข้าร่วมประชุม
  • อาจเป็นเพราะทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีทีมร่วมทำงานการเมือง-เศรษฐกิจ ทีมเดียวกันจากพรรคไทยรักไทยเดิม มาถึงพรรคเพื่อไทย ลักษณะการบริหารจึงมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งเรื่องเส้นทาง-ลำดับการเยือนต่างประเทศ และสไตล์การบริหารเศรษฐกิจ-การเมือง

    รวมการเดินทาง 16 ทริป 14 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เยือน 8 ครั้ง ประชุม 7 ครั้ง รวม 48 วัน

    1. 18-24 กันยายน 2566 ประชุม UNGA78 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
    2. 28 กันยายน2566 เยือนพนมเปญ กัมพูชา
    3. 8-9 ตุลาคม2566 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
    4. 10 ตุลาคม 2566 เยือนบรูไน
    5. 11 ตุลาคม 2566 เยื่อนสหพันธรัฐมาเลเซีย
    6. 1 ตุลาคม 2566 เยือนสิงคโปร์
    7. 17-19 ตุลาคม 2566 ประชุม BRF+เยือนจีนอย่างเป็นทางการ / ปักกิ่ง
    8. 20-21 ตุลาคม 2566 ประชุม ASEAN-GCC Summit ริยาด ซาอุฯ
    9. 30 ตุลาคม 2566 เยือนเวียงจันท์ สปป ลาว
    10. 12-19 พฤศจิกายน 2566 ประชุม APEC2023 ซานฟรานซิสโก สหรัฐ
    11. 14-18 ธันวาคม 2566 ประชุม ASEAN-Japan สมัยพิเศษ / โตเกียว ญี่ปุ่น
    12. 15-19 มกราคม 2567 ประชุม WEF2024 / ตาวอส สวิสเซอร์แลนด์
    13. 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 เยือนศรีลังกา
    14. 4-6 มีนาคม 2567 ประชุม ASEAN-Australia เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
    15.7-12 มีนาคม 2567 เยือนฝรั่งเศส
    16. 12-13 มีนาคม 2567 เยือนเยอรมนี