ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมไฮเทค ช่วยมาเลเซียและปีนัง ก้าวหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

อุตสาหกรรมไฮเทค ช่วยมาเลเซียและปีนัง ก้าวหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

18 มีนาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นิคมอุตสาหกรรมคูลิม (Kulim Industrial Park) ที่มาภาพ :https://www.khtp.com.my/6-dedicated-zones/

บทความของ nytimes.com ชื่อ Malaysia Rises as Crucial Link in Chip Supply Chain เขียนไว้ว่า ที่นิคมอุตสาหกรรมคูลิม (Kulim Industrial Park) ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับเกาะปีนัง บริษัทไฮเทคของออสเตรียชื่อ AT&S กำลังก่อสร้างโรงงาน ที่จะเริ่มการผลิตอย่างเต็มที่ในปลายปี 2024 AT&S เป็นซับพลายเออร์รายใหญ่ให้กับ Apple

การลงทุนของ AT&S เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของกระแสการย้ายการลงทุนของบริษัทยุโรปและสหรัฐฯ ออกจากจีนมายังมาเลเซีย ประเทศที่ถือเป็นศูนย์กลางการประกอบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ Intel ของสหรัฐฯ และ Infineon ของเยอรมัน ต่างก็ลงทุนในมาเลเซีย รายละ 7 พันล้านดอลลาร์

Nvidia ผู้ผลิตชิปสำหรับ AI ร่วมลงทุนกับบริษัทมาเลย์ YTL เป็นเงิน 4.3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันมาเลเซียเป็นศูนย์ AI และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ส่วน Texas Instruments, Ericsson, Bosch และ Lam Research ต่างก็ขยายการผลิตที่มีอยู่แล้วในมาเลเซียให้มากขึ้น

อานิสงค์จากกลยุทธ์ “จีน+1”

บทความของ nytimes.com ชี้ให้เห็นว่า ความรุ่งเรืองของมาเลเซีย ที่มาจากการลงทุนของบริษัทต่างชาติด้านไฮเทค สะท้อนถึงความขัดแย้ง และการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังกลายเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อ (1) การกำหนดโฉมหน้าใหม่ของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลก และ (2) ต่อการตัดสินใจของบริษัทข้ามชาติ ในการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด และข้อจำกัดการค้าที่นับวันมีเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ EV จำเป็นต้องหาทางสร้างความเข้มแข็งของตัวเอง ในด้านห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการรักษาความสามารถในกำลังการผลิต

บริษัท AT&S มีโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ (circuit board) ใช้สำหรับ AI และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ อยู่แล้วในออสเตรีย อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน ที่ AT&S มีโรงงานใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะมองหาแหล่งที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ ผู้บริหาร AT&S กล่าวว่า หลังจากลงทุนในจีนมานาน 20 ปี ก็ถึงเวลาแล้วที่จะกระจายการผลิตออกจากจีน

ที่มาภาพ : Malay Mail2

ความได้เปรียบของมาเลเซีย

ตั้งแต่ปี 2020 เมื่อมีคำเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ AT&S เริ่มมองหาสถานที่ตั้งโรงงานการผลิตแห่งใหม่ที่อยู่นอกประเทศจีน โดยได้ทำการสำรวจแหล่งที่จะตั้งโรงงานใหม่ใน 30 ประเทศ แต่ในที่สุดก็เลือกมาเลเซีย

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในจุดทางยุทธศาสตร์ของทะเลจีนใต้ มีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจมายาวนาน ทั้งกับจีนและสหรัฐฯ ทำให้ภูมิภาคนี้ได้เปรียบที่จะเป็นฐานการผลิต ประเทศไทยและเวียดนาม เป็นทางเลือกที่สองของ AT&S โดยมีการเสนอมาตรการสนับสนุนต่างๆ

แต่มาเลเซียมีความได้เปรียบกว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น มาเลเซียเกาะกระแสเทคโนโลยีมาตั้งทศวรรษ 1970 โดยพยายามดึงการลงทุนของยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Intel และ Litronix สร้างเมืองปีนังให้เป็นเขตการค้าเสรี การยกเว้นภาษี สร้างนิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้า รวมทั้ง แรงงานค่าแรงไม่สูง ประชากรจำนวนมากพูดภาษาอังกฤษ และรัฐบาลมีเสถียรภาพ

นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar Ibrahim เยี่ยมชมโรงงานของ Greatech ในปีนัง ที่มาภาพ : https://www.nst.com.my/lifestyle/bots/2024/02/1014359/penang-startups-and-companies-par-technology-giants

ศูนย์กลางไฮเทคของปีนัง

หนังสือชื่อ Catching the Wind เขียนถึงการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจของปีนังไว้ว่า นับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ปีนังได้พัฒนาตัวเองกลายมาเป็นเกาะที่เป็นศูนย์กลางการประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทข้ามชาติ แต่เมื่อพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง ก็ประสบปัญหาสำคัญหลายอย่าง

ประการแรก ทั้งมาเลเซียโดยรวมและปีนังโดยเฉพาะ ประสบปัญหาติดกับดักรายได้ปานกลาง ค่าแรงสูงขึ้นโดยผลิตภาพไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งกับประเทศที่แรงงานมีทักษะมากกว่า และประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า

ประการที่ 2 แม้ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะหันเหมาทางเอเชีย แต่ประเทศอำนาจเศรษฐกิจที่เกิดใหม่ เช่น จีนกับอินเดีย ก็กลายเป็นคู่แข่งการประกอบการผลิตในสินค้า ที่ปีนังเคยมีความเป็นเลิศมาก่อน

ปี 2010 บทวิเคราะห์ของบริษัท McKensie ชื่อ How to Compete and Grow อธิบายว่า ประเทศรายได้ปานกลางอาจต้องมีอุตสาหกรรมหลากหลายและขนาดใหญ่ แต่ประเทศรายได้สูงจะอาศัยอุตสาหกรรม ที่ใช้ความเชี่ยวชาญและมีมูลค่าสูง ไม่กี่ประเภทเท่านั้น
ดังนั้น หากมาเลเซียต้องการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ให้สูงขึ้น มาเลเซียจำเป็นต้องสร้างความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะหาความเป็นเลิศของอุตสาหกรรมใหม่ๆในหลายสาขา รายงานของธนาคารโลกปี 2009 เคยเสนอไว้ว่า ปีนังมีฐานทรัพยากรมนุษย์ที่จำกัด ทำให้ต้องเน้นความชำนาญด้านการผลิตมูลค่าสูง ปีนังควรจะเลียนแบบเมืองบาร์เซโลนาของสเปน ที่เน้นเรื่องไฮเทค

การพัฒนาอุตสาหกรรมของปีนังเกิดจากการลงทุนผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทข้ามชาติ Fairchild เป็นบริษัทข้ามชาติรายแรก ที่ย้ายการผลิตแผงวงจรรวม (IC) มาที่ปีนังในปี 1971 ตามมาด้วย Intel Hitachi Mitsubishi และ Hewlett Packard ในช่วงปี 1983-1993 บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้ขยายการผลิตมาที่ปีนัง

แม้ความสำเร็จของปีนังด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะไม่สูงเท่าความสำเร็จของไต้หวันและเกาหลีใต้ แต่ปีนังก็สามารถสร้างระบบนิเวศด้านไฮเทค เช่น การยกระดับจากการประกอบการผลิต มารวมถึงการทดสอบแผงวงจร และการออกแบบแผงวงจรรวม เป็นต้น

จุดแข็งจากฐานการผลิตชิป

จากพื้นฐานในอดีตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้มาเลเซียสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศ บริษัทข้ามชาติรู้ว่า มาเลเซียมีระบบนิเวศด้านนี้ที่มีการพัฒนามาอย่างดี เช่น การศึกษา แรงงาน และห่วงโซ่อุปทาน นอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล

Tengku Zafrul Aziz รัฐมนตรีการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ก็กล่าวว่า การลงทุนต่างประเทศในมาเลเซียเริ่มดีขึ้นในปี 2019 เพราะมีการใช้เซมิคอนดักเตอร์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์ ในรถยนต์คันหนึ่งมีตัวชิปถึง 5,000 ตัว

ความสนใจในการเลือกมาเลเซีย ให้ที่เป็นแหล่งผลิตตัวชิปเพิ่มเติม หรือกลยุทธ์ “จีน + 1” มาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานโลก บริษัทอเมริกัน ยุโรป และแม้แต่จีนเอง ต้องการกระจายการผลิตออกจากจีน สหรัฐฯต้องการมีระบบห่วงโซ่อุปทานของตัวเองที่มั่นคง สำหรับการผลิตด้านสำคัญ เช่น พลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ EV รวมทั้งความวิตกเรื่องไต้หวัน ประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สุดของโลก

Tengku Datuk Seri Zafrul Abdul Aziz รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศมาเลเซีย ที่มาภาพ : https://www.ditp.go.th/ja/post/137516

หนทางออกจากกับดัก

บทความของ Nikkei เรื่อง How Malaysia is finding its way out of the middle-income trap กล่าวว่า ปี 2022 เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโต 8.7% สูงสุดในรอบ 22 ปี และ 3.7% ในปี 2023 รายได้ต่อคนในปี 2022 อยู่ที่ 11,780 ดอลลาร์ หากเศรษฐกิจเติบโต 5.5% ต่อปี และเงินริงกิตไม่ได้อ่อนค่าลงอย่างมาก มาเลเซียจะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางใน 2-3 ปีข้างหน้า กลายเป็นประเทศรายได้สูงในที่สุด

มาเลเซียเป็นประเทศรายได้สูงระดับบนเมื่อปี 1996 ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนจะติดกับดักรายได้ปานกลาง เมื่อไม่สามารถหลุดพ้นเป็นเวลานาน 15 ปี ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง จะประสบปัญหาเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ถูกขนาบข้างด้วยประเทศพัฒนาแล้วทางเทคโนโลยี กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานที่มีค่าแรงถูกอยู่มากมาย มาเลเซียตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

ในปี 1991 นายกรัฐมนตรีมหาเธียร์เสนอ “วิสัยทัศน์ 2020” เป้าหมายให้มาเลเซียเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 30 ปี ช่วง 10 ปีก่อนหน้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997 เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตปีหนึ่ง 10% แต่หลังจากวิกฤติ เศรษฐกิจเติบโต 5-6% ในปี 2023 เมื่อนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมประกาศแผนเศรษฐกิจเรียกว่า Madani Plan อันวาร์ประกาศว่า “นับจากวิกฤติปี 1997 เป็นต้นมา มาเลเซียตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของต้นทุนสูง ค่าแรงต่ำ ผลกำไรต่ำ และขาดความสามารถในการแข่งขัน”

บทความของ Nikkei วิเคราะห์ว่า จะมองเห็นสาเหตุที่มาเลเซียไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ได้อย่างชัดเจน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันกับเกาหลีใต้ สามประเทศนี้มีจำนวนประชากรไม่ต่างกันมาก ปี 1981 รายได้ต่อคนของไต้หวันอยู่ที่ 2,691 ดอลลาร์ เกาหลีใต้ 1,883 ดอลลาร์ และมาเลเซีย 1,920 ดอลลาร์

ไต้หวันเป็นประเทศรายปานกลางระดับบนในปี 1986 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ในสองปีต่อมา ไต้หวันเป็นประเทศรายได้สูงในปี 1993 และเกาหลีใต้ในปี 1995 ทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้ใช้เวลา 7 ปี ในการยกฐานะจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ไปสู่ประเทศรายได้สูงทั้งไต้หวันกับเกาหลีใต้แตกต่างจากมาเลเซีย คือไม่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในปี 2022 รายได้ต่อคนของมาเลเซียอยู่ที่ 12,465 ดอลลาร์ ต่ำกว่าของไต้หวัน ซึ่งอยู่ที่ 32,687 ดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 32,418 ดอลลาร์

มีสาเหตุหลายประการที่อธิบายความแตกต่างนี้ ประการแรก ไต้หวันกับเกาหลีใต้ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ซับซ้อนเหมือนมาเลเซีย ทำให้ต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจสังคมที่ละเอียดอ่อนแบบมาเลเซีย

ประการที่ 2 ไต้หวันกับเกาหลีใต้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนมาเลเซียมีทรัพยากรธรรมชาติเช่น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปาล์ม

ประการที่ 3 ไต้หวันและเกาหลีใต้มีประชาธิปไตย ก่อนการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1989 ทำให้สามารถเกาะแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนมาเลเซียมีการเลือกตั้งแต่ได้รับเอกราช มาเลเซียต้องรอจนถึงปี 2018 ที่ได้รัฐบาลมาจากพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ที่ไม่ได้ครองอำนาจมายาวนาน

ประการที่ 4 ไต้หวันมีธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ในต่างประเทศ เช่น Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ส่วนเกาหลีใต้มี Samsung Electronics ที่จะมาขับเคลื่อนการเติบโต แต่มาเลเซียล้มเหลวที่จะพัฒนาธุรกิจระดับนานาชาติของตัวเองขึ้นมา อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จึงมาจากการลงทุนต่างประเทศ

กล่าวโดยรวม มาเลเซียขาด “พลังพลวัตทางเศรษฐกิจ” (economic dynamism) แต่มาเลเซียแตกต่างจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน หรือสิงคโปร์กับฮ่องกง ที่มีจุดแข็งเฉพาะตัว หากสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง มาเลเซียจะเป็นประเทศ “ธรรมดา” ประเทศแรก ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ

เอกสารประกอบ
Malaysia Rises as Crucial Link in Chip Supply Chain, March 13, 2024, nytims.com
Catching the Wind: Penang in a Rising Asia, Institute of Southeast Asian Studies, 2012.
How Malaysia is finding its way out of the middle-income trap, December 24, 2023 Asia.nikkei.com