รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลธนาคารโลก ในปี 2020 เศรษฐกิจรวม (GDP) ของมาเลเซียมีมูลค่า 336,664 ล้านดอลลาร์ หรือ 67% ของเศรษฐกิจไทย รายได้ต่อคนอยู่ที่ 10,200 ดอลลาร์ พอๆกับรายได้ต่อคนของจีน ส่วนไทยอยู่ที่ 7,189 ดอลลาร์ รายได้ต่อคนของมาเลเซียขาดไปแค่ 1,335 ดอลลาร์ ก่อนจะถึงหลักเกณฑการก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง
มาเลเซียใช้การพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัย เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มาสู่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมมีหลายขั้นตอน เริ่มจากการผลิตทดแทนการนำเข้า มาสู่การผลิตเพื่อส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโตรวดเร็ว ต่อมา มุ่งที่การยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ห่วงโซ่คุณค่าการผลิตของโลก และผลิตที่ใช้ความรู้เข้มข้นมากขึ้น เป็นต้น
สู่ประเทศรายได้สูงภายใน 5 ปี
รายงานของธนาคารโลกชื่อ Aiming High: Navigating the next stage of Malaysia’s development (2021) คาดการณ์ว่า มาเลเซียจะก้าวเข้าสู่จุดเริ่มต้นการเป็นประเทศรายได้สูง ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า คือในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี 2024-2028 การก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางนี้ จะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของมาเลเซีย จากความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ดอกผลที่ได้จากการพัฒนาคือ ภายในช่วงเวลาของคนเพียงหนึ่งรุ่น มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนมาเลย์เพิ่มสูงขึ้น ความยากจนแบบสุดขั้วลดลงเหลือน้อยกว่า 1%
แม้เศรษฐกิจมาเลเซียจะถดถอย เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มาเลเซียได้ก้าวมาอยู่ชายขอบที่จะก้าวพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” แล้ว
จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก ฉากทัศน์ (scenario) ที่มาเลเซียจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางมีอยู่ 3 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน (base-line) จะเกิดขึ้นในปี 2025 หากเศรษฐกิจยังขยายตัวในอัตราที่สะท้อนศักยภาพของประเทศ กรณีสูง (high case) เกิดขึ้นในปี 2024 หากเศรษฐกิจขยายรวดเร็ว และกรณีต่ำ (low case) ในปี 2028 หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นานกว่าที่คาดการณ์ไว้
โมเดลของมาเลเซีย
รายงาน Aiming High กล่าวว่า นับจากได้รับเอกราชในปี 1957 มาเลเซียประสบความสำเร็จ ในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาคนรุ่นเดียว โดยยกระดับจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ สู่รายได้ปานกลางระดับบน ช่วงปี 1960-2017 หรือในระยะ 57 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจมาเลเซียเปลี่ยนจากการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตร (plantation agriculture) มาเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่ม 6.9% ต่อปี ประชากรน้อยกว่า 1% มีรายได้วันหนึ่งต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ และ 2.7% ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย เกิดจากโมเดลที่เรียกว่า “การเติบโตที่ทุกคนมีส่วนแบ่งที่เที่ยงธรรม” หรือ Growth with Equity โมเดลนี้ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ
(1)การเติบโตที่มุ่งโลกภายนอกและการผลิตใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้มาเลเซียบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก การค้าที่มุ่งตลาดโลก ทำให้สินค้ามาเลเซียมีความยืดหยุ่นปรับตัว ความต้องการสินค้ามีเสถียรภาพ ผู้ผลิตพัฒนาเฉพาะด้าน และเผชิญการแข่งขัน ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้ที่จะสร้างนวัตกรรม จุดนี้สะท้อนออกมาที่ฐานะนำของมาเลเซียในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสัดส่วน 38% การส่งออก และจ้างงานกว่า 300,000 คน ปีนังกลายเป็นศูนย์กลางของโลก ด้านการประกอบการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์
(2)การลงทุนในทรัพย์พยากรมนุษย์ เพื่อยกผลิตภาพแรงงาน เป็นนโยบายสนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น การขยายการศึกษาพื้นฐาน และการรักษาพยากาล ทำให้กลุ่มคนฐานะยากจนได้ประโยชน์จากโอกาสการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การเข้าศึกษาระดับมัธยมสูงถึง 90% บริการสาธารณสุขพื้นฐาน ทำให้อายุเฉลี่ยประชากรเพิ่มจาก 59 ปีในปี 1960 เป็น 75 ปีในปี 2019
(3)ธรรมภิบาลทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การบริหารเศรษฐกิจโดยรวมอย่างราบรื่นและเข้มแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธรรมภิบาลดังกล่าวสะท้อนออกมาที่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ภาคการเงินมีความมั่นคง และมีความหลากหลาย การได้เปรียบดุลชำระเงินต่อเนื่อง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับบริหารจัดการได้
ระยะเปลี่ยนผ่านสู่รายได้สูง
เอกสารธนาคารโลก Aiming High วิเคราะห์ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซีย มีอัตราที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว การจ้างงานที่ใช้แรงงานมีทักษะสูงของมาเลเซีย ก็ยังมีสัดส่วนต่ำกว่าประเทศรายได้สูงดังกล่าว
ช่วงปี 1967-1997 เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตในอัตราปีหนึ่ง 9% เป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก แต่นับจากวิกฤติการเงินเอเชียปี 1997 เป็นต้นมา ในช่วง 10 ปีต่อมา เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตปีหนึ่ง 4% ต่ำ กว่าการเติบโตของประเทศที่เคยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รายได้สูง อัตราการเติบโตระดับนี้ จะทำให้มาเลเซียต้องใช้เวลา 28 ปี จึงจะมีรายได้ต่อคนเท่ากับเกาหลีใต้ และ 43 ปีจึงจะเท่ากับสิงคโปร์
นอกจากนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ การคาดหวังของคนมาเลย์ชั้นกลาง ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง คนมาเลย์ทั่วไปเชื่อว่า เศรษฐกิจไม่ได้สร้างงานที่มีคุณภาพและรายได้สูง ได้ในจำนวนที่มากพอ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้แบ่งปันอย่างยุติธรรมให้แก่คนในสังคม ในเขตตัวเมืองค่าครองชีพเพิ่มสูงมากกว่ารายได้
ทำตัวอย่างไรเมื่อเป็นชาติพัฒนาแล้ว
รายงาน Aiming High กล่าวว่า เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตในอัตราที่ต่ำ ตั้งแต่ก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า โมเดลการเติบโตแบบเดิม ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูง แต่การเติบโตที่ต่ำสะท้อนว่า เศรษฐกิจมาเลเซียยังเปลี่ยนแปลงไม่พอจากการลงทุนแบบเดิม (factor accumulation) มาเป็นการสร้างนวัตกรรม และการเติบโตที่มาจากผลิตภาพที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ บริบทระหว่างประเทศในช่วงที่มาเลเซียจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูง ก็ต่างจากสมัยที่ “เสือเศรษฐกิจเอเชีย” ก้าวขึ้นมามีฐานะประเทศรายได้สูง ที่การเมืองระหว่างประเทศเอื้ออำนวยมากกว่า มาเลเซียต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจโลกถดถอย การปะทุขึ้นมาของสงครามการค้า ระบบห่วงโซ่การผลิตโลกเริ่มพังลง ไม่รู้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน และผลกระทบจาก new normal จะเป็นอย่างไร
ดังนั้น การรักษาการเติบโตที่ต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่จำเป็น สำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา ที่รวมถึงความมั่งคั่งที่ทุกคนมีส่วนแบ่ง หากไม่มีการเติบโตที่ต่อเนื่อง ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะเริ่มสูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นการลดของความยากจนหรือการบริการสาธารณสุข หากประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์แก่คนส่วนน้อย การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็จะยากลำบากขึ้น
เมื่อรายได้ต่อคนเพิ่มมากขึ้น คนชั้นกลางก็จะเรียกร้องรัฐบาลที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบมากขึ้น การบริการของรัฐที่มีคุณภาพสูง และการมีหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การล้มเหลวที่จะตอบสนองการคาดหวังของสังคมดังกล่าว จะเป็นผลเสียต่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ คนมาเลย์สมัยใหม่จะคาดหมายให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลที่บริหารประเทศ บ่อยครั้งมากขึ้น
ทุกวันนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียเป็นมิตรต่อธุรกิจ มากกว่าเป็นมิตรต่อประชาชน คุณภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ และการทำงานของสถาบันของรัฐในมาเลเซีย ยังมีความแตกต่างอย่างมาก จากลักษณะการเติบโตและสถาบันรัฐของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มาเลเซียกำลังจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคตอีกไม่นาน
เอกสารประกอบ
Aiming High: Navigating the next stage of Malaysia’s development, World Bank Group, 2021.