ThaiPublica > เกาะกระแส > มาเลเซียในยุคสมัยของมหาธีร์ 2.0 การปฏิเสธที่จะเป็น “อาณานิคมหนี้สิน” ของจีน

มาเลเซียในยุคสมัยของมหาธีร์ 2.0 การปฏิเสธที่จะเป็น “อาณานิคมหนี้สิน” ของจีน

28 สิงหาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ:Yahoo Finance

ในการเดินทางไปเยือนจีนเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคมที่ผ่านมา ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย ได้แถลงว่า มาเลเซียได้ประกาศยกเลิกโครงการสำคัญ 2 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับจีน ที่มีมูลค่า 22 พันล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 7 แสนล้านบาท มหาธีร์แถลงอย่างไม่คลุมเครือทั้งต่อผู้นำจีน และต่อสื่อมวลชนต่างๆว่า

“เราไม่ต้องการสถานการณ์ ที่เกิดลัทธิอาณานิคมแบบใหม่เกิดขึ้นมา หากมีเพียงแค่การค้าที่เสรีและเปิดกว้างเท่านั้น ประเทศยากจนจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศมั่งคั่ง จึงแต่ต้องเป็นการค้าที่ยุติธรรมด้วย ที่ผมสนับสนุนการค้าเสรีร่วมกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เพราะผมคิดว่า สิ่งนี้คือหนทางที่จะเป็นไปสำหรับทั้งโลก”

ทัศนะดังกล่าว สะท้อนความเห็นของมหาธีร์ ที่เคยกล่าวว่า “เราไม่ได้อะไร” จากการลงทุนของจีน และเคยเตือนว่า โครงการดังกล่าว จะเป็นการขายประเทศให้กับต่างชาติ ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งระงับโครงการรถไฟชายฝั่งตะวันออก (East Coast Rail Link) ที่ลงนามในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก มูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์ ที่กำลังก่อสร้างโดยบริษัทจีนชื่อ China Communication Construction

โครงการ East Coast Rail Link

หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่า โครงการที่ถูกยกเลิกไป ประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่กวนตัน (Kuantan) ที่มีขนาดใหญ่โตชนิดที่เรือบรรทุกเครื่องบิน สามารถแล่นเข้ามาเทียบท่าได้ กับโครงการ East Coast Rail Link (ECRL) ทั้ง 2 โครงการ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลของจีน

ECRL เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จากเมืองท่าแคลง (Klang Port) ทางช่องแคบมะละกา ฝั่งตะวันตก ไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย โดยการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจของรัฐต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่น รัฐปะหัง (Pahang) รัฐตรังกานู (Terengganu) และรัฐกลันตัน (Kelantan) กับพื้นที่ตอนกลาง และท่าเรือแคลง เมืองมะละกา

รัฐบาลมาเลเซียลงนามสัญญากับบริษัทจีน China Communication Construction Company (CCCC) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ในเดือนสิงหาคม 2017 นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการก่อสร้าง ในสมัยของนายกฯนาจิบ ราซัก มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ประโยชน์มากสุด จากการลงทุนของจีน คิดเป็นมูลค่าถึง 34.2 พันล้านดอลลาร์ ที่ไปเชื่อมโยงกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

แต่มหาธีร์ โมฮัมหมัดได้วิจารณ์โครงการนี้ว่า เป็นประโยชน์กับจีนฝ่ายเดียว “เมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องของสัญญาที่ให้กับจีน จะเป็นของการกู้ยืมเงินกู้จำนวนมากจากจีน และผู้รับเหมาจากจีน ก็จะใช้คนงานจากจีน ใช้ทุกของอย่างที่นำเข้าจากจีน แม้แต่การชำระเงินก็ไม่ได้ทำที่นี่ แต่จ่ายกันที่จีน สัญญาลักษณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผมชื่นชมยินดี”

มหาธีร์ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างเช่นโครงการ Forest City ที่ใช้เงินลงทุน 100 พันล้านดอลลาร์ สร้างบนพื้นที่เกาะที่ถมขึ้นมาใหม่ ทางใต้ของรัฐยะโฮร์ ติดกับสิงคโปร์ โครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐยะโฮร์กับบริษัทจีนชื่อ Country Garden Holding มหาธีร์เห็นว่า เป็นโครงการที่เกินกำลังซื้อของคนมาเลย์ และคงจะเป็นที่พักอาศัยของคนจีนที่มั่งคั่งเป็นส่วนใหญ่

มหาธีร์กล่าวว่า “ผมไม่ต้องการเห็นเมืองทั้งเมือง ที่สร้างในมาเลเซีย แล้วเจ้าของโครงการนำคนต่างชาติมาอยู่ สิ่งนี้คือเรื่องที่ผมต่อต้าน ผมจะต่อต้าน แม้การลงทุนในแบบนี้ จะมาจากอินเดีย จากประเทศอาหรับ หรือจากยุโรป”

แต่มหาธีร์ก็กล่าวกับ South China Morning Post ว่า “บางครั้ง ผมกลายเป็นโฆษกของจีน เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน จะมีคนถามว่า คิดอย่างไรกับจีน กลัวจีนหรือไม่ ผมก็จะตอบกลับไปว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องไปกลัว เราเป็นเพื่อนบ้านกันมานานกว่า 2,000 ปี คุณยังไม่เคยถูกพิชิตเลย ผมถือว่าจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเสมอมา และยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ไม่ว่าเราจะผลิตอะไร มาเลเซียเป็นประเทศการค้า เราจึงจำเป็นต้องมีตลาด ดังนั้น เราไม่อาจจะไปทะเลาะกับตลาดที่ใหญ่อย่างนั้น”

แต่มหาธีร์เองเห็นว่า การริเริ่มโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ที่มีโครงการด้านทะเลรวมอยู่ด้วย ถือเป็นด้านที่เป็นคุณประโยชน์ เป็นการริเริ่มที่สนับสนุนการพัฒนาท่าเรือให้เกิดขึ้นทั่วเอเชีย และไม่เชื่อว่าสี จิ้นผิง มีเจตนาที่จะกีดกันเรือชาติอื่น ที่จะแล่นผ่านช่องแคบมะละกา และทะเลจีนใต้

“อาณาจักรหนี้สิน”

หนังสือพิมพ์ The Sun ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม รายงานข่าวว่า จีนกำลังใช้นโยบาย “การทูตแบบกับดักหนี้สิน” หรือ “การล่าอาณานิคมโดยหนี้สิน” กับประเทศขนาดเล็ก โดยประเทศเหล่านี้ต้องกู้เงินจากจีน ที่เกินความสามารถในการชำระหนี้ อย่างเช่น ปากีสถาน จิบูติ มัลดีฟส์ จนถึงฟิจิ ล้วนมีภาระหนี้สินจำนวนมากกับจีน เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ถูกกดดันให้ยอมสละอำนาจการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ หรือไม่ก็อนุญาตให้จีนเข้าไปตั้งฐานทัพทางทหาร

ตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว คือกรณีของศรีลังกา ที่มีหนี้เงินกู้กับจีน 1 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ต้องยอมโอนการเช่าท่าเรือฮัมบันโทต้า (Hambantota) เป็นเวลา 99 ปี ให้แก่บริษัทที่เป็นของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า ท่าเรือของประเทศจิบูติ ในแอฟริกาตะวันออก จะตกอยู่ในกำมือของบริษัทจีน ท่าเรือนี้อยู่ติดกับฐานทัพจีนในประเทศนี้ และเป็นฐานทัพแห่งเดียวของจีนในต่างประเทศ

ที่มาภาพ: thesun.co.uk

ศรีลังกายังมีกรณีการลงทุนของจีน ในการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ในเขตฮัมบันโทต้า ชื่อ Mattala Rajapaksa International Airport สนามบินใหม่อยู่ห่างจากกรุงโคลอมโบ 250 กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยอาศัยเงินกู้จากจีน 190 ล้านดอลลาร์ แต่นิตยสาร Forbes กล่าวว่า ทุกวันนี้ แทบจะกลายเป็นสนามบินร้าง คนที่เข้าไปสนามบิน มีแต่พวกนักท่องเที่ยว ที่ไปเที่ยวป่าสงวนแห่งชาติ แล้วก็แวะเข้าไปดูความงามของสนามบิน

จีนยังให้เงินกู้แก่โครงสร้างพื้นฐานในอีกหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย มอนเตเนโกร และลาว เป็นเงินนับพันล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศเหล่านี้ มีหนี้สินเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หลายโครงการเชื่อมโยงกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน เมื่อเร็วๆนี้ จีนยังขยายอาณาจักรหนี้สิน ไปยังประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น เงินกู้สร้างท่าเรือขนาดใหญ่ให้กับวานูอาตู (Vanuatu) ที่สามารถรองรับเรือบรรทุกเครื่องบิน

ที่มาภาพ: thesun.co.uk

สถาบันวิจัย Lowy Institute ของออสเตรเลียก็รายงานว่า นับจากปี 2006 เป็นต้นมา จีนทุ่มเงินราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ ให้กับประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น ปาปัวนิวกินี เป็นหนี้ 637 ล้านดอลลาร์ ฟิจิเป็นหนี้ 634 ล้านดอลลาร์ หมู่เกาะซามัว 231 ล้านดอลลาร์ และตองกา เป็นหนี้ 116 ล้านดอลลาร์ กรณีของตองกาเทียบได้กับ 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ ตองกากำลังร่วมมือกับประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิก ที่จะขอให้จีนยกเลิกหนี้

มหาธีร์เองก็เคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times ถึงกลยุทธ์ของจีนในเรื่องนี้ว่า “พวกเขารู้ว่า การให้เงินกู้จำนวนมากแก่ประเทศยากจน ในที่สุดแล้ว พวกเขาอาจต้องเอาโครงการนั้นมาเป็นของตัวเอง”

เอกสารประกอบ
“We Cannot Afford This”, Hannah Beech, August 20, 2018, nytimes.com
Empire of Debt, August 17, 2018, thesun.co.uk
The story behind the world’s emptiest international airport, Wade Shepard, May 28, 2016, forbes.com