ThaiPublica > เกาะกระแส > โอกาสทองของเวียดนาม เมื่อภูมิรัฐศาสตร์คือปัจจัยที่จะสร้างความมั่งคั่ง

โอกาสทองของเวียดนาม เมื่อภูมิรัฐศาสตร์คือปัจจัยที่จะสร้างความมั่งคั่ง

13 กุมภาพันธ์ 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Vietnam WTO Center

เว็บไซต์ wallstreetjournal.com ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024 รายงานว่า ในปี 2023 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจากปี 2022 ที่ขาดดุล 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเพราะการขาดดุลการค้ากับจีนลดลงถึง 100 พันล้านดอลลาณ์ มาอยู่ที่ 281 พันล้านดอลลาร์

เนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนรุนแรงขึ้น ผู้ผลิตจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิต จากจีนไปประเทศอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีศุลกากรสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศว่า หากชนะเลือกตั้ง จะเก็บภาษีสินค้าจากจีนทั้งหมด 70% หรือมากกว่านี้ ทำให้ปี 2023 สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับเม็กซิโกเพิ่มเป็น 151 พันล้านดอลลาร์ และกับเวียดนาม 104 พันล้านดอลลาร์

โอกาสทองของเวียดนาม

บทความของ The Economist ฉบับ 27 มกราคม 2023 เรื่อง Few countries are better placed than Vietnam to get rich บอกว่าจากเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ เวียดนามวางตำแหน่งของตัวเองอยู่กึ่งกลางระหว่าง จีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้มหาอำนาจทั้งสองพยายามดึงมาเป็นพรรคพวก ปี 2023 เวียดนามเป็นประเทศเดียว ที่ต้อนรับการมาเยือนเป็นทางการ ทั้งจากสี จิ้นผิงและโจ ไบเดน

ภูมิรัฐศาสตร์ของเวียดนามมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากที่ตั้งของประเทศ และภาวะเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เมื่อเวียดนามเริ่มเปิดประเทศในกลางทศวรรษ 1980 รายได้ต่อคนของเวียดนามมีแค่ 616 ดอลลาร์ หรือครึ่งหนึ่งของเคนยา นโยบายส่งเสริมธุรกิจทำให้รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น 6 เท่า ปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ดอลลาร์ต่อคน

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเวียดนามมีเป้าหมายให้เวียดนามเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2045 จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะเวียดนามไม่เคยประสบกับสภาพแวดล้อมของโลก ที่เป็นเอื้ออำนวยแบบนี้มาก่อน

ภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยขับเคลื่อน

The Economist บอกว่า ภูมิรัฐศาสตร์คือปัจจัยที่ขับเคลื่อนการลงทุนต่างประเทศ เข้ามาที่เวียดนาม เนื่องจากสหรัฐฯต้องการที่จะยุติการเชื่อมโยง (decouple) กับจีน และบริษัทเอกชนของทุกประเทศต่างก็มองเห็นว่า กระแสลมกำลังพัดไปในทิศทางไหน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่บริษัทผู้ผลิตจะถอนตัวออกจากจีน

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการกีดกันการค้า บริษัทผู้ผลิตก็สร้างโรงงานการผลิตเพิ่มอีกประเทศหนึ่ง ที่เป็นมิตรกับตะวันตก เป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “จีน+1” นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตยังต้องการลดผลกระทบจากสถานการณ์ ที่มาจากนโยบายของรัฐบาลจีน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ทำให้บริษัทผู้ผลิตเห็นถึงปัญหา ที่การผลิตของตัวเองกระจุกตัวอยู่ในจีน

บริษัทที่ส่งสินค้าไปประเทศตะวันตก ต่างย้ายการผลิตมาเวียดนาม Samsung และ Apple มีโรงงานผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีในเวียดนาม บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนย้ายการผลิตมาล้อมรอบโรงงานเหล่านี้ รวมทั้งซับพลายเออร์จากจีน ผู้บริหารบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่งบอกว่า ลูกค้าเราเรียกร้องให้ย้ายมาผลิตที่เวียดนาม เนื่องจากเหตุผลภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ ค่าแรงในจีนก็เพิ่มสูงขึ้น

เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดปี 2024 ที่มาภาพ : Visual Capitalist

รายงานของบริษัทวิเคราะหลักทรัพย์ CLSA กล่าวว่า ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 การลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง เมื่อเทียบสัดส่วนกับ GDP เวียดนามมีมากกว่า 2 เท่าของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

แต่ที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ก็ไม่ได้ราบเรียบ ปี 2019 เศรษฐกิจเติบโต 7% ปี 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงมาที่ 2.9% ปี 2021 อยู่ที่ 2.5% ปี 2022 พุ่งมาที่ 8% และ 4.7% ในปี 2023 ส่วนในปี 2024 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.8%
แต่ CLSA มองว่า เวียดนามยังอยู่ในฐานที่จะดึงดูการลงทุนต่างประเทศ เวียดนามเปิดกว้างทางการค้ามากกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีฐานะใกล้เคียงกัน การค้าต่างประเทศของเวียดนามมีสัดส่วนสูงถึง 186% ของ GDP เทียบกับอินโดนีเซีย 45% ฟิลิปปินส์ 72% และไทย 134%

รายงานของ The Economist กล่าวว่า แรงงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม ที่มีจำนวนมากและอายุยังน้อย เป็นแรงงานที่ขยัน ค่อนข้างมีการศึกษาดี และมีค่าแรงครึ่งหนึ่งของแรงงานจีนในมณฑลชายฝั่งทะเล แรงจูงใจให้แก่นักลงทุนของเวียดนาม ก็มีความชัดเจน เช่นการยกเว้นภาษี และที่ดินราคาถูก แม้จะเป็นประเทศปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวแบบจีน แต่นักลงทุนต่างประเทศไม่มีความวิตกหวาดกลัวเหมือนในจีน

ความเสี่ยงทางการเมือง

The Economist วิเคราะห์ว่า เวียดนามมีปัญหาใหญ่ในเรื่องการเมือง รัฐบาลประสบปัญหายากลำบากในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นายเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์เวียดนาม ไม่ได้พบปะกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จากอินโดนีเซีย ทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ เหงียน ฟู้ จ่อง จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2026 ความไม่แน่นอนในเรื่องใครจะมาเป็นนำประเทศคนต่อไป ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

ตัวอย่างเช่นเรื่องพลังงาน เวียดนามประสบความสำเร็จในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือง บ้านในชนบทเกือบ 100% มีไฟฟ้าใช้ ในปี 1993 มีเพียง 14% แต่การเติบโตด้านอุตสาหกรรมทำให้ความต้องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น แต่แหล่งพลังงานไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน บรรดานักลงทุนต่างชาติต้องการแจ้งผู้บริโภคและผู้หุ้นว่า โรงงานผลิตของตัวเองใช้พลังงานสะอาด แต่เวียดนามต้องต่อสู้อย่างมากในเรื่องนี้

เวียดนามยังอาศัยแหล่งพลังงานจากถ่านหินที่สูง ทำให้อากาศที่ฮานอยมีคุณภาพเลวร้ายกว่าเซี่ยงไฮ้ ในปี 2020 เวียดนามอาศัยพลังงานจากถ่านหินมากถึง 31% ของทั้งหมด เวียดนามมีเป้าหมายให้ในปี 2050 การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สิ่งนี้จะเป็นจริงได้ เมื่อเวียดนามอาศัยประโยชน์จากพลังงานกระแสลม ตามชายฝั่งทะเลที่ยาว 3,000 กม.

ผู้นำเวียดนามก็เข้าใจดีถึงผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อเวียดนาม พื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำโขง บริเวณส่วนใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม ประสบปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนในที่สุดก็จะถูกทะเลท่วมบ่า เจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งเห็นว่า หากเวียดนามต้องการเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางอุตสาหกรรม เวียดนามต้องหันไปหาพลังงานสะอาด รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า VinFast

เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการค้าโลกอย่างมาก และสภาพแวดล้อมธุรกิจโลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นโยบายการลดหย่อนภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติอาจดึงดูดการลงทุนได้น้อยลง เพราะกลุ่มประเทศร่ำรวยหรือ OECD ตกลงที่จะใช้ภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ดังนั้น บริษัทข้ามชาติที่ไม่เสียภาษีเลยหรือเสียน้อยในเวียดนาม อาจต้องเสียมากขึ้นในประเทศตัวเอง

ที่มาภาพ : appleinsider.com
ในเวลาเพียงคนรุ่นเดียว เวียดนามสามารถก้าวจากประเทศยากจนสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับกลาง ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่วิตกกังวลต่อปัญหาตวามขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯที่เพิ่มมากขึ้น แต่เวียดนามกลับมองสิ่งนี้เป็นโอกาส โดยมีนโยบายเป็นมิตรกับสองมหาอำนาจ

ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทะเลจีนใต้ และการมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,000 กม. ทำให้เวียดนามได้ประโยชน์มากกว่าประเทศเอเชียอื่นๆ ที่นักลงทุนจะใช้นโยบายลดความเสี่ยงเรียกว่า “จีน+1” การเข้ามาลงทุนของยักษ์ใหญ่ไฮเทค เช่น Apple และ Samsung ทำให้เวียดนามสามารถยกระดับห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น จนปัจจุบัน สินค้ารายการใหญ่สุดที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอ แต่เป็น iPhone

เอกสารประกอบ
Vietnam’s golden moment, Jan 27-Feb 02, 2024, the Economist.