ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปรีดี บุญซื่อ” ชี้จีดีพีโต 2 % อีก 36 ปีไทยถึงจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

“ปรีดี บุญซื่อ” ชี้จีดีพีโต 2 % อีก 36 ปีไทยถึงจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

3 มีนาคม 2024


มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ปรีดี บุญชื่อ” ในหัวข้อ “กลยุทธ์การก้าวข้าม กับดักรายได้ปานกลาง” ทำไมไทยก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ชี้สาเหตุขาดพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ระบุหากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยโต 2 % ต้องใช้เวลาอีก 36 ปี ถึงจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลาฯ จัดงานเปิดตัวหนังสือ The Art of Escaping Middle-Income Trap : ศาสตร์และศิลป์การหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” เขียนโดย “ปรีดี บุญซื่อ” เป็นหนังสือเล่มรวมบทความที่เขียนประจำให้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าในช่วงปี 2559-2565 เป็นบทความที่นำเสนอแนวทางการพัฒนาในโมเดลต่างๆของประเทศรายได้ปานกลางที่ประสบความสำเร็จในการก้าวกับดัก ดังกล่าว ไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อิตาลี โดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าสูง คู่ขนานกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการสร้างสินค้าวัฒนธรรม(Solt Power) ทั้งนี้เพื่อเป็นบทศึกษา บทเรียนความสำเร็จของประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรเรียนรู้ให้เราได้ก้าวข้าม “กับดัก” นี้สู่ความสำเร็จ-สู่ความรุ่งเรืองของประเทศชาติ

ดร.พีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่าเป้าหมายในการนำเสนอวิชาการในปีนี้ เพื่อทำให้เกิดการค้นคว้าและแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทยที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำมานาน

“ผมเชื่อว่างานวิชาการว่าด้วย ‘กลยุทธ์การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง’ที่นำเสนอโดยนายปรีดี บุญซื่อ  และวิจารณ์โดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์  อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอาจารย์วิทยากร เชียงกูล  มหาวิทยาลัยรังสิต จะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์บ้านเมืองในการแก้ปัญหาความยากจน”

ดร.พีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา

ประเทศกำลังพัฒนาต้องเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

นายปรีดี บุญซื่อ นักเขียนอิสระ กล่าวถึงปัญหาการติดกับดักรายได้ปานกลางของไทยว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานของประเทศไทยในอนาคต ที่จะต้องทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงให้ได้

หากย้อนไปเมื่อปี 1960 ประเทศไทยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจครั้งแรก รายได้ของคนไทยอยู่ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่ตอนนี้ 60 กว่าปีผ่านมาถึงปัจจุบันขึ้นมาเป็นกว่า 7,000 กว่าเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

“สมัยก่อนเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เราจะเห็นว่าชนบทแทบจะไม่มีมอเตอร์ไซค์เลย ไม่ต้องพูดถึงรถปิกอัพ แต่ทุกวันนี้บ้านในชนบทมีมอเตอร์ไซค์ 1 คัน 2 คัน มีรถปิคอัพ มีรายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตรวมของประชาชน มันอาจจะไม่สะท้อนของคนแต่ละคน แต่สะท้อนภาพโดยรวม”

เช่นเดียวกับ ประเทศจีน เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตสูงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจีน 800 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจย เพราะเศรษฐกิจโต มีการจ้างงาน คนมีรายได้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้  เพราะฉะนั้นประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยที่ติดกับดักรายได้ปานกลางต้องเอาชนะให้ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตของประเทศ และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  หากเอาชนะสิ่งนี้ได้ มาตรฐานคนโดยรวมก็จะดีขึ้น ความยากจนจะลดลง เข้าไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 ทำไมไทยไม่หลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

นายปรีดีกล่าวว่า ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนามี 2 เรื่องใหญ่ ๆ ปัญหาแรกคือทำอย่างไรเราจะหลุดพ้นจากความยากจน ประเด็นนี้ประเทศไทยหลุดพ้นไปแล้ว แต่ประเทศอย่าง อินเดีย, บังคลาเทศ เขากำลังเจอปัญหานี้อยู่ ปัญหาที่สองคือ ทำอย่างไรจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง อันนี้เป็นปัญหาที่ประเทศไทยเรากำลังประสบอยู่

ข้อมูลของธนาคารโลกตั้งแต่ปี 1960 จนถึง ปี 2022 พบว่ามีประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง  100 ประเทศ ซึ่งคำว่ารายได้ปานกลางของธนาคารโลกหมายความว่า รายได้ต่อคน 1,000- 12,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  ถ้าต้องการให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง ประชากรต้องมีรายได้เกิน 12,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีขึ้นไป

ปรีดี บุญซื่อ นักเขียนอิสระ

“นับจากปี 1960 จนมาถึงปัจจุบันมีประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางแล้วมี 22 ประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป อิสราเอล ญี่ปุ่น โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ส่วนประเทศในเอเชียได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน”

นายปรีดีบอกว่ากรณีประเทศเอเชียที่หลุดพ้นกับดักขึ้นไปประเทศรายได้สูง อย่าง เกาหลีใต้,ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยประเทศที่น่าจะดูเป็นบทเรียน คือ ไต้หวันกับเกาหลีใต้ เนื่องจากในสมัยสงครามโลกเกาหลีใต้มีรายได้ต่อคนประมาณ 60 เหรียญสหรัฐ ไม่ต่างจากเอธิโอเปียในสมัยนั้น

แต่จากปี 1960 ถึงทุกวันนี้ รายได้ของประชากรเกาหลีใต้อยู่ที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ เพิ่มประมาณ 500 กว่าเท่า ขณะที่รายได้ต่อหัวของไทยนับจากปี 1960 เพิ่มขึ้นประมาณ 70 เท่า จาก 100 เหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 7,000 เหรียญสหรัฐ

“เกาหลีใต้สามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเทศรายได้สูง มีรายได้เพิ่มขึ้น 500 เท่าแตกต่างจากไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นเลยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ไทยเอาชนะความยากจนแล้ว แต่มาถึงจุดหนึ่งไทยก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลางสักที”

นายปรีดีบอกว่าหากเปรียบเทียบการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเส้นทาง จะพบว่าเส้นทางของประเทศที่มีรายได้ปานกลางเพื่อพัฒนาให้เป็นประเทศมั่งคั่งเป็น ‘เส้นทางใหญ่หรือเป็นซูเปอร์ไฮเวย์’ แต่ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง เส้นทางที่จะพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง จะเป็นคอขวด แคบลง

“ในบรรดา 22 ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง และมีแนวโน้มที่สามารถหลุดกับดักรายได้ปานกลางได้ในอนาคตในอีก 1-2 ปี ก็คือ จีน ขณะนี้รายได้ประชากรของจีนเกิน 12,000 เหรียญ/คน หากเกิน 13,500 เหรียญสหรัฐ จีนก็เข้าสู่ประเทศรายได้สูงแล้ว นอกจากจีนยังมีอีกหลายประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางและตั้งเป้าหมายจะต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เช่น มาเลเซีย แต่มาเลเซียจะเดินไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างไรเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะคนมาเลเซียไม่อยากทำงานโรงงาน จะเห็นว่าแรงงานมาเลเซียส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างชาติทั้งนั้น”

“การพัฒนาให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อุตสาหกรรมต้องเป็นตัวนำ เพราะอุตสาหกรรมผลิต ผลิตสินค้าไปขายได้ทั่วโลก ถ้าไปอิงการท่องเที่ยวมันได้แค่ส่วนหนึ่ง เพราะว่ามีข้อจำกัด คือ คนต้องมาเที่ยวบ้านเรา ถึงจะใช้จ่ายเงิน ไม่เหมือนกับที่ผลิตมอเตอร์ไซด์ ของเล่นเด็ก ส่งออกได้ ขายทั่วโลก เพราะฉะนั้นมาเลเซียคืออีกประเทศที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง”

โดยมาเลเซียประกาศในปี 2006 ว่าในปี 2020 มาเลเซียต้องเป็นประเทศรายได้สูง แต่เป้าหมายดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเมื่อเจอปัญหาโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

“ถ้าไม่มีโควิด มาเลเซียคงสามารถพัฒนาทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ผมเชื่อว่าในเร็วนี้ อีก 1-2 ปี มาเลเซียน่าจะสามารถพัฒนาตัวเองไปถึงเป้าหมายได้ เพราะนอกจากเรื่องความสามารถทางเศรษฐกิจแล้ว วิสัยทัศน์ของผู้นำก็เป็นเรื่องสำคัญ”

อีก 36 ปี ไทยอาจจะหลุดพ้นความกับดักรายได้

ส่วนกรณีประเทศไทย นับตั้งแต่ในปี 1960-1969 มีการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่องประมาณ 5- 7 %  และในปี 1980-1989 เศรษฐกิจไทยต่อมากกว่า 7 % แต่พอมีวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนตัวลง

“หลังวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจเราทรุดตัวมาตลอด ถ้าไม่มีต้มยำกุ้ง ผมคิดว่าจนถึงขณะนี้ประเทศไทยสามารถพัฒนาตัวเองเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้แล้ว กล่าวคือในทางเศรษฐศาสตร์เขาเรียกกฎ 72 โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทุก ๆ 12 ปี ถ้าเอา 72 หารด้วยจีดีพี กรณีที่ไม่มีวิกฤติต้มยำกุ้งและเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7% ไทยอาจจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางแล้ว เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจชะลอตัว และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้โตเฉลี่ยปีละ 2 % เอาไปหาร 72 เราจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 36 ปี จึงจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ ปัจจุบันเรามีรายได้เฉลี่ย 7,500 เหรียญสหรัฐ เราอาจใช้เวลา 36 ปี ถึงจะมีรายได้เฉลี่ยต่อประชากร 14,000 เหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่า ประเทศไทยเราขาดโอกาสตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง การเติบโตอ่อนตัวลงๆเรื่อยๆ”

“แต่พอมีวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว เรามีคู่แข่งที่เป็นแหล่งการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นจีน เปิดประเทศตั้งแต่ปี 1980  และในปี 2000  จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก WTO เวียดนามเขาเปิดประเทศ 1990 นักลงทุนต่างประเทศมีทางเลือกที่ไม่มาเมืองไทย ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ถนัดในเรื่องการค้า ทำศูนย์การค้า ขายปลีก ซื้อถูกขายแพง แต่ไม่ถนัดเรื่องอุตสาหกรรม นายทุนไทยไม่ถนัดเรื่องอุตสาหกรรม เราถึงต้องพึ่งนายทุนต่างชาติ มาลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรม อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าสาขานำของเรา ที่จะสร้างรายได้ขึ้นมา เราไม่ถนัด โดยเฉพาะเรื่องไฮเทคเราไม่ถนัดเลย ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างชาติอย่างเดียว”

นายยปรีดี ยังบอกว่า ความหมายของกับดักรายได้ปานกลางคือประเทศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโตต่ำอย่างต่อเนื่องเพราะไม่มีขีดคความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่นขณะนี้ประเทศไทยผลิตเสื้อผ้าแข่งกับบังคาเทสและกัมพูชาไม่ได้แล้ว ขณะที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีความสามารถนวัตกรรมได้เช่นกัน คือมันติดอยู่ตรงกลาง

“เศรษฐกิจไม่โต เพราะ 1. ความสามารถแข่งขันลดลงไป 2. ความสามารถในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าก็มีน้อย  เพราะฉะนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงลดลง ต้องไปอาศัยแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศ ต้องอาศัยการท่องเที่ยวเข้ามา ขณะที่คนในประเทศไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำงาน หันไปทำงานบริการ ค้าขาย หาบเร่  ขายของออนไลน์ เพราะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมลดลง การจ้างงานก็ลดลง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้”

โมเดลต่างประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นายปรีดี เล่าถึงบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ที่สามารถก้าวข้ามการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานปลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

เริ่มจาก “ญี่ปุ่น” หลังสงครามโลกครั้งที่สองสามารถฟื้นตัวในปี 1960 ใช้เวลาประมาณ 15 ปี เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยกระทรวงที่มีบทบาทมากที่สุดคือกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม เป็นตัวนำอุตสาหกรรม และการจัดสรรทรัพยากรโดยใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวนำ เพื่อทำให้ญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ

“อิตาลี” อาศัย 3 เสาหลักในการยกระดับเศรษฐกิจประเทศ  โดยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิตาลีใช้เวลา 20 ปี ยกระดับขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เขาอาศัยเสาหลักอย่างอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น ผลิตอัญญมณี และผลิตสินค้าคุณภาพ ที่ใช้การดีไซน์ ต้นทุนไม่สูง ทำให้สามารถชิงตลาดโลกได้

“บริษัทไฟฟ้าของอิตาลีกับบริษัทผลิตเครื่องหนัง  เริ่มจากเอสเอ็มอี ขนาดเล็กๆ คนงานไม่กี่คน แต่พอสหภาพยุโรปรวมกัน อิตาลีได้อานิสงค์เป็นตลาดใหญ่ทันที ทำให้เขาสามารถสร้างรายได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยได้”

“เกาหลีใต้” จากเดิมรายได้ของประชากรอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ใช้เวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1950  สามารถพัฒนาตัวเองเป็นประเทศรายได้สูงประชากรมีรายได้ 35,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี โดย รัฐบาลเกาหลีใต้เป็น หัวหอกในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรม อู่ต่อเรือ  ปิโตรเคมี และสินค้าวัฒนธรรม”

ส่องประเทศตั้งเป้าหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นายปรีดี บอกว่า ประเทศที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอีก1-2 ปีข้างหน้าเขาใช้ยุทธศาสตร์อะไรบ้าง เช่น

จีน ใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า  โรงงานอุตสาหกรรมโลก เปิดประเทศรับการลงทุน และการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ เป็นโรงงานโลกในการผลิตสินค้าทุกอย่าง  จีนอาศัยยุทธศาสตร์แบบนี้ เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

อินเดีย ตั้งเป้าหมาย 2050 เป็นประเทศรายได้สูง ปัจจุบันอินเดียมีรายได้ 2,300 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  ต้องการให้ได้ 10,000 เหรียญต่อคน  แต่อินเดียจะทำอย่างไรเพราะมีประชากรจำนวนมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคน ขณะที่อินเดีย ไม่ใช่ทางเลือกที่นักลงทุนต่างชาติจะไปลงทุนเหมือน จีน

“อินเดียเป็นประเทศที่ปิดประเทศมานาน  ทุกวันนี้อินเดียไม่เน้นการผลิต ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ซับพลายเชนโลก  ไม่มีบทบาทซึ่ง เวียดนาม หรือจีน  เพราะฉะนั้นอินเดียกำลังหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองมีรายได้สูงในปี 2050 แต่จะทำอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม นายปรีดี เห็นว่า อินเดียอาจจะเลือกแนวทางการพัฒนาการบริการในสินค้าไฮเทค จากการที่ผู้ว่าแบงก์ชาติของเขาออกมา บอกว่าอินเดียจะต้องหันมาพึ่งภาคบริการที่แฝงอยู่ธุรกิจสินค้าไฮเทคในปัจจุบัน 

“เราอาจจะไม่รู้ว่าทุกวันนี้สินค้าไฮเทคมีสินค้าบริการอยู่ในนั้น แต่เป็นสินค้าบริการที่มีมูลค่าสูง เหมือน รถยนต์เขาบอกว่า 20-30 % เป็นซอฟต์แวร์ ต่างจากเมื่อก่อน รถใช้น้ำมันไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งอินเดียต้องพัฒนาบุคคลกรที่เป็นวิชาชีพเหล่านี้รวมไปถึงการขายบริการออนไลน์เพราะอินเดีย เป็นศูนย์กลางให้บริการเรื่องcall centerและระบบออนไลน์มันทำให้งานสร้างมูลค่าเพิ่มออนไลน์สูงขึ้นได้”

ลาตินอเมริกา ประกาศยกระดับประเทศระดับรายได้สูง ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่สามารถนำเอาเอสเอ็มอี ขึ้นมาสร้างรายได้สูงขึ้น โดยต้องเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต หรือ Global Supply Chain เพื่อทำให้เอสเอ็มมีการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ เวลาเราพูดเอสเอ็มอี เราจะมองว่ามันสนองตลาดท้องถิ่น แต่ต้องสร้างเอสเอ็มอีที่มูลค่าสูงใน  Global   Supply Chain”

เวียดนาม บอกได้คำเดียว ว่ามีความพยายามจะสร้างให้ตัวเองในยุทธศาสตร์ที่ทำให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ   Global Supply Chain การค้าเสรีร่วมกับ 20 ประเทศ มียกเว้นภาษีและมีโรงงานมาลงทุนและผลิตที่เวียดนาม

นอกจากนี้เวียดนามยังอาศัยประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้นักลงทุนเลือกที่จะมาลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะบริษัทตะวันตก ที่ย้ายการผลิตมาที่เวียดนาม

อินโดนีเซีย ในปี 2013 โจโก วีโดโด ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย ประกาศ วิสัยทัศน์ที่เรียกว่า Golden Indonesia ปี 2045   ซึ่งเป็นปีที่อินโดนีเซียครบรอบ 100 ปี ต้องเป็นให้ประเทศเป็นประเทศมีรายได้สูงให้ได้

“ทุกวันนี้อินโดนีเซียรายได้ประชากรต่ำกว่าไทยครึ่งหนึ่ง  แต่เขาคิดว่าทำได้ ทำให้ไปสู่ประเทศรายได้สูง เพราะเขามีศักยภาพ และประชากร 60% เป็นวัยทำงาน เพราะฉะนั้นเขาจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเรื่องความสามารถ สองวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนต่อเนื่อง สาม การพัฒนาที่ครอบคลุมถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์ในเรื่อง สวัสดิการ และสี่ การสร้างองค์กรหลักที่มีธรรมาภิบาล”

ไทยจะหลุดกับดักรายได้ปานกลางอย่างไร

สำหรับประเทศไทย นายปรีดี บอกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง โดยมองว่าน่าจะใช้โมเดลของอิตาลี ในการพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง จาก 3 เสาหลักคือ อุตสาหกรรมอาหาร  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพราะอิตาลี มีมรดกโลก 42 แห่ง มากกว่าเมืองจีน  เนื่องจากอิตาลี เก่าแก่อยู่ตั้งแต่ยุคอณาจักรโรมัน และสาม คือการพัฒนาเอสเอ็มอี  เสื้อผ้า อัญญมณี ของอิตาลีมีชื่อเสียง มีแบรนด์ดังทั่วโลก ซึ่งไทยสามารถเดินตามแนวทาง นี้ได้

“ไทยมีจุดเด่นเรื่องการบริการที่มีคุณภาพ  มีซอฟต์ พาวเวอร์ ที่เรียกว่าความเป็นไทย มีวัฒนธรรม ขณะที่ธุรกิจบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข  รวมทั้งธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง จากความเป็นไทยที่ใส่ใจและดูแลมากกว่าหลายประเทศ  เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเราจะเห็นว่าทุกวันนี้สายการบินทั่วโลกประกาศรับสมัครแอร์คนไทย เพราะการบริการที่มีคุณภาพ”

นายปรีดี กล่าว สรุปว่า ประเทศไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจต้องเติบโตต่อเนื่องในระดับ 4 % ขึ้นไป หากเศรษฐกิจจะโตต่อเนื่อง 4 % ไทยต้องใช้เวลา 28 ปีในการที่เราจะเป็นประเทศรายได้สูง

สองเราต้องผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการสร้างเสเอ็มอีของเราให้ อยู่ในห่วงโซ่ Global Supply Chain มีเงินทุนให้เอสเอ็มอีไปซื้อกิจการของต่างประเทศ อย่าง เยอรมัน อิตาลี แล้วมาสร้างแบรนด์ไทย  เนื่องจากขณะนี้ประเทศที่มีความมั่งคั่งไม่อยากทำงานอุตสาหกรรม แต่อยากไปทำงานภาคบริการแล้ว

สามต้องอาศัยความขัดแย้งของมหาอำนาจให้เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับเวียดนามซึ่งเขาทำได้ ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าไชน่า บวก 1 มีนักลงทุนหนีมาลงทุนในประเทศเขาจำนวนมาก

“สรุปคือไทยต้องเอาชนะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อยกระดับคุณภาพประเทศ คุณภาพของชีวิตคน”

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

 แนะทุ่มงบประมาณพัฒนา 5 เส้นทางสู่ประเทศรายได้สูง

ส่วน “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าได้ติดตามงานเขียนของ “ปรีดี  บุญซื่อ” ตั้งแต่เป็นคอลัมนิสต์ที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมาตลอด

ความจริงแล้วเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศรายได้สูง กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยระบุว่าประชากรต้องมีรายได้สูงประมาณ 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปั ขณะนี้ประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี คาดว่าในปี 2080  ไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง

เส้นทางในการพัฒนาที่จะเดินไปถึงจุดนั้นกำหนดเอาไว้ 5  ด้าน คือ 1. ต้องเป็นประเทศที่มีเกษตรเพิ่มมูลค่า 2. ต้องมีอุตสาหกรรมและบริการ 3. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทยเชื่อมโลก 4. ต้องเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของการท่องเที่ยว  5.ต้องมีการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่

“เรียกว่าแม่น้ำ 5 สาย ถ้าจะเดินทางให้สำเร็จได้ก็ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ 5 % ต่อปี แต่ดูเหมือนว่า 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติเริ่มต้นจากปี 2561  แต่เศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้เข้าใกล้ 5 % เลย เพราะฉะนั้นถ้าต้องารให้เศรษฐกิจขยายตัวพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางในปี 2080 คงต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้น แต่ดูแล้วอาจจะต้องขยายเวลาไปมากกว่านั้น กว่าที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้”

นายสถิตย์ บอกว่า การกำหนดให้เป็นประเทศรายได้สูงมาจากธนาคารโลกที่อยากให้ทุกคน ไปถึงจุดนั้น แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้วสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น คือคนในประเทศจะโตไปพร้อมๆกันเพราะปัจจุบันที่บอกว่าคนไทยมีรายได้เฉลี่ย 7,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี มันไม่ใช่ว่าทุกคนมีรายได้ขนาดนั้น ยังมีคนจนจำนวนมากที่มีรายได้ต่ำกว่านั้นและยากจน

“ในปี 2080  เราต้องการเป็นประเทศรายได้สูงมีรายได้ 15,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี  แต่ผมมองว่าต้องให้คนทั่วไปมีรายได้ที่ดีขึ้นด้วย หรือทำให้คนจนเป็นคนชั้นกลางมากขึ้น ไม่งั้นก็กลายเป็นว่า ตัวเลขเฉลี่ยระหว่างคนที่รวยมากกับคนที่จนจำนวนมาก เราต้องพัฒนาไปพร้อมกันระหว่างทำให้ประเทศมีรายได้สูงและการเฉลี่ยรายได้ไปให้ประชาชนทั่วไปเป็นชนชั้นกลางในประเทศมากขึ้น”

นายสถิตย์ เสนอว่า ประเทศไทยจะเดินไปสู่ประเทศรายได้สูงต้องทำในสิ่งที่ สอดคล้องกับรากฐานของไทยโดยเรื่องแรกที่ต้องดำเนินการ คือ 1.เกษตรทันสมัยเพราะไทยมีเกษตรกรประมาณ 9 ล้านคน มีครอบครัวเกษตรกรที่เกี่ยวข้องประมาณ 21-22 ล้านคนประมาณ หรือเรียกว่า 1ใน 3 ของประชากรไทยอยู่ในภาคเกษตร

“ต้องให้ความสนใจภาคเกษตร เราต้องไม่ทิ้งภาคเกษตรไว้ข้างหลัง ทำให้คนจำนวนมากในภาคเกษตรปรับตัวและมีรายได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ประเทศไทยมีทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับ 8 ของโลกจึงเห็นว่า แทนที่จะเดินตามอุตสาหกรรมและบริการอย่างที่หลายประเทศทำไป แต่เราต้องพัฒนาจุดแข็งของภาคเกษตร และพัฒนาภาคเกษตร ใหทันสมัยนั่นคือก้าวสู่เกษตรทันสมัย

“ต้องพัฒนาเกษตกร 2 ส่วนคือ ความเป็นภาคเกษตรที่ทันสมัย จะต้องมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยตั้งแต่ พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ระบบการส่งน้ำ รวมไปถึงการแปรูป การสร้างนวัตรรมสมัยใหม่ แปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ได้ราคาสูงขึ้น”

เรื่องที่สองคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต  เราไม่สามารถเป็นอุตสาหกรรมแบบในอดีตที่พึ่งพาแรงงานราคาถูก เพราะคนไทยไม่อยากใช้แรงงานราคาถูก  ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยีและบริการ อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์  เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์อีวีที่คนส่วนใหญ่ใช้

นอกจากนี้ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้เข้าไปสู่ห่วงโซ่การผลิตของโลก โดยเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ไทยมีจุดแข็ง เพราะความเป็นแพทย์ของคนไทยเป็นเรื่องศิลปศาสตร์มีจิตใจอ่อนโยน รวมถึงพยาบาลไทยที่มีความเอาใจใส่ ดูแลแบบไทย ซึ่งอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางของโลกได้

ส่วนในเรื่องที่สามเห็นว่า ไทยอาจจะต้องใช้โมเดลแบบเดียวกับญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือที่เรียกซอฟต์พาวเวอร์ ที่ไทยมีวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สามารถแข่งขันได้  เพราะไทยมี 5 F 1. Food อาหาร  2.Fashion แฟชั่น 3. Film ภาพยนต์  4. Festival งานประเพณี หรือ เทศกาลต่างๆ  5.Fight ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย

“การพัฒนาสิ่งเหล่านี้จะทำได้ต้องมีงบประมาณลงทุนของภาครัฐ แต่ปัจจุบันงบลงทุนภาครัฐมีเพียง 20 % ของงบประมาณ ซึ่งน้อยไป ควรจะ 25 % ของจีดีพี ถึงจะเติบโต ที่สำคัญคือเกษตรกรทันสมัย ก็ต้องกระจายออกไปไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง เพราะเดิมกระจุกความเจริญอยูที่กรุงเทพฯ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานต้องกระจายออกไป กระจายอำนาจสู่ทองถิ่นให้มากขึ้นเพราะท้องถิ่นจะรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เขาต้องการ และการพัฒนาท้องถิ่นโตขึ้นจะทำให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางแล้ว ยังทำให้ทุกคนมีความกินดีอยู่ดีโดยทั่วถึ งสร้างความเจริญให้กับประเทศและสร้างคูณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคมด้วย”

อาจารย์ วิทยากร เชียงกูล มหาวิทยาลัยรังสิต

ไทยต้องปฏิรูป “ผู้นำให้มีวิสัยทัศน์”

อาจารย์ วิทยากร เชียงกูล  มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศรายได้ปานกลางมาจากเป็นภาษาของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ส่งเสริมทุนนิยมและมีความคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจคือการสร้างความเจริญเติบโตสูงขึ้น  การเพิ่มจากรายได้ต่ำ  ปานกลาง ไปสู่สูงคือ จุดพื้นฐานของเขาและนี้คือความเจริญเติบโตในการพัฒนา

แต่ความจริงแล้วมีข้อจำกัดหลายอย่างกับแนวคิดแบบนี้ แม้ว่าบางส่วนจะเป็นความจริง แต่แนวคิดนี้ก็ดูหยาบเกินไป เพราะคำว่าการมีรายได้ ที่หมายถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ไม่ได้สนใจเรื่องการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงเลย

กรณีประเทศไทยมีการกระจายรายได้ค่อนข้างเลวร้ายหรืออยู่ในอันดับที่ต่ำมากของโลก  และคนจนมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยจำนวนมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของรายได้นำเอาคนรวยมามาเฉลี่ย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น นี้คือข้อจำกัดในการมอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจจะโตได้ต้องมีการลงทุน มีการค้าขาย เพราะว่าไม่สามารถปิดประเทศได้ เพราะประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก แม้ว่าเหตุผลในส่วนนี้จะมีความจริง

แต่ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจในประเทศไม่มีความหมาย เพราะว่า ถ้าเข้าใจไปทางเดียว เราก็จะพยายามแข่งขัน แม้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตก็จำเป็นในทางเศรษฐศาสตร์  แต่ว่าปัญหาของทุนนิยมคือการเอากำไร ทำลายทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กดขี่ขูดรีดคน  พอแข่งขันทุนนิยมเราก็ไปกดขี่ประเทศอื่น แล้วที่ประสบความสำเร็จคือการกดขี่ประเทศอื่นเพื่อให้ได้กำไร

ความจริงอีกส่วนหนึ่งคือ ทำไม เกาหลีใต้พัฒนาได้เพราะว่าเขามีการปฏิรูปหลายอย่างคือ ปฏิรูปการเกษตร การศึกษา และการเมือง มีความเอาจริงเอาจังในการสร้างบุคลากรที่เพิ่มความสามารถ

“ไทยเป็นประเทศที่มีขนาดกลางๆค่อนข้างใหญ่ ในแง่ประชากร พื้นที่เกษตรเพาะปลูกใหญ่มากเป็นอันดับที่ 18 ของโลก และการตลาดภายในของไทยก็ไม่น้อยกว่าอังกฤษและฝรั่งเศส  แต่เศรษฐกิจไทยเล็กกว่าเพราะเราไม่กระจายรายได้สู่ประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ”

ปัญหาของไทยไม่ได้มองที่ทุนนิยมอย่างเดียว เพราะว่าเราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจภายในให้ใหญ่ขึ้นไปอีกได้ หรือไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกและอุตสาหกรรมอย่างเดียว เราสามารถทำได้หลายอย่าง พึ่งพาตลาดภายในได้ การพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถให้มีรายได้สูง ขึ้นอยู่หลายอย่าง วัฒนธรรมสำคัญการส่งเสริมการอ่าน เรื่องปฏิรูป เป็นเรื่องสำคัญ

“ผมคิดว่าเราต้องมองในเรื่องเศรษฐกิจการเมืองด้วยเพราะว่าประเทศไทยไม่ได้ติดกับดักรายได้ปานกลางแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ประเทศไทยติดกับดักสติปัญญาปานกลางด้วย เราไม่สามารถแข่งขันได้ความคิดบางอย่างอาจจะล้าหลัง ต้องปฏิรูปเรื่องการศึกษา ปฏิรูปวิสัยทัศน์ของผู้นำได้อย่างไร เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน”