ThaiPublica > เกาะกระแส > Keyu Jin ผู้เขียน The New China Playbook ปัญหาของจีนคือเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

Keyu Jin ผู้เขียน The New China Playbook ปัญหาของจีนคือเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

13 มิถุนายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

‘Keyu Jin’ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ของ London School of Economics ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Keyu_Jin

ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Time ‘Keyu Jin’ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ของ London School of Economics อดีตกรรมการ ธนาคาร Credit Swiss ก่อนที่จะล้มละลาย และผู้เขียนหนังสือเพิ่งออกวางจำหน่าย The New China Playbook (2023) กล่าวว่า ฝ่ายตะวันตกเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงต่อจีน ในเรื่องทางเศรษฐกิจ เป้าหมาย และการแข่งขันในโลก หากแต่ละฝ่ายไม่พยายามเข้าใจกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

Keyu Jin ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จาก Harvard และบิดาของเธอ Jin Liqun เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังของจีน เธอกล่าวว่า ปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน คือการเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องการที่จีนจะเข้ามามีบทบาทผู้นำโลกแทนที่สหรัฐฯ บทบาทนี้จะมาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง ตัวเธอเองไม่คิดว่า จีนพร้อมหรือยินดีที่จะทำในสิ่งนี้

โมเดลต่างกัน ตะวันตกกับจีน

ในหนังสือ The New China Playbook ‘Keyu Jin’ เขียนไว้ว่า การเข้าใจระบบและต่อเศรษฐกิจของจีน เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจแบบกว้างๆ หลายสิบปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างโมเดลเศรษฐกิจเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและเงื่อนไขของประเทศ แนวทางดังกล่าวทำให้คนจีนกลุ่มใหญ่ ถูกยกระดับขึ้นเป็นคนชั้นกลาง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จีนยังไม่มีบริษัทเอกชนแม้แต่รายเดียว ทุกวันนี้มีถึง 20 ล้านบริษัท ภาคเอกชนจ้างแรงงานในเมืองถึง 80%

ภาพที่ขัดแย้งกันระหว่างโมเดลเศรษฐกิจการเมืองจีน กับโมเดลกลไกตลาดเสรีของตะวันตก อยู่ที่ว่า เศรษฐกิจกลไกตลาดของตะวันตกประกอบด้วยผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมคือระบบการเงิน โดยรัฐมีบทบาทน้อยทางเศรษฐกิจ

ส่วนความแตกต่างของจีนอยู่ที่ ประการแรก การมาบรรจบรวมกัน ระหว่างผู้บริโภค ธุรกิจ และรัฐ ที่ใช้อำนาจผ่านทางระบบการเงิน คือโมเดลเศรษฐกิจการเมืองแบบผสมของจีน

ประกากรที่สอง จีนมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง และกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ รัฐบาลกลางกำหนดทิศทางทางยุทธศาสตร์ ส่วนระดับท้องถิ่นเป็นฝ่ายดำเนินการ จุดนี้อธิบายว่า ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กับผู้ประกอบที่กล้าเสี่ยง ทำให้จีนมีการปฏิรูป พัฒนาอุตสาหกรรม และสร้างนวัตกรรม

ประการที่สาม สถาบันทางเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เช่น ระบบกฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแล และกฎระเบียบด้านสัญญาการค้า ทำให้หน่วยงานรัฐมีบทบาทมาก ในการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของสถาบันเศรษฐกิจ จีนจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับธุรกิจเอกชน จีนเป็นตัวอย่างของประเทศ ที่กลไกรัฐมีความสามารถสูง สิ่งนี้ช่วยชดเชยการที่สถาบันอื่นๆในสังคมยังอ่อนแอ

ดังนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด หากคิดว่าความสำเร็จของจีน มาจากเศรษฐกิจกลไกตลาด หรือว่ามาจากระบอบรวมศูนย์อำนาจของคอมมิวนิสต์ สิ่งที่เป็นความจริงคือ จุดระหว่างกลางของสองอย่างนี้ สินค้าและปัจจัยการผลิตต่างๆ ดำเนินการบนพื้นฐานกฎอุปสงค์อุปทาน ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าอย่างเสรี และธุรกิจสามารถคิดเรื่องนวัตกรรม

แต่การวางแผนและบทบาทการระดมทรัพยากรของรัฐ ก็มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้อย่างไรภายในเวลาไม่กี่ปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน สามารถกลายเป็นทั้งตลาดผู้บริโภค และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่สุดของโลก การที่สังคมหันมายอมรับเทคโนโลยีการขนส่งรุ่นใหม่ จำเป็นต้องมีการสร้างสถานีชาร์ตแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แบตเตอรี่ไปจนถึงโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และเอาชนะนิสัยวัฒนธรรมการใช้รถยนต์แบบเก่า ดังนั้น ในจีน การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีการต่อต้านทางการเมือง

การผสมผสานระหว่างการชี้นำของรัฐระดับ macro และการดำเนินการของกลไกตลาดในระดับ micro คือสิ่งที่อธิบายพัฒนาการต่างๆของจีน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในเวลาอันสั้น การมุ่งสู่ทิศทางใหม่ของการสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน รวมทั้งอธิบายปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างเรื้อรัง เช่น ค่าเงินหยวนที่ต่ำมายาวนาน ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่เกิดต่อเนื่อง การกดค่าแรง และการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล

ที่มาภาพ : amazon.com

เศรษฐกิจจีนสะท้อน “กฎเลข 72”

The New China Playbook บอกว่า พลังอำนาจของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ความสามารถที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ไม่มีที่ไหนในโลก ที่สิ่งนี้จะมีความชัดเจนได้เท่ากับจีน ในช่วง 40 ปี ประชาชนจีนกว่า 800 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจนสุดขีด ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ครั้งที่ใหญ่สุดในยุคสมัยใหม่

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังสะท้อนพลังของ “กฎตัวเลข 72” (Rule of 72) หากเศรษฐกิจเติบโตได้ปีหนึ่ง 6% เศรษฐกิจจะเพิ่มอีกเท่าตัวภายในเวลา 12 ปี (72 หารด้วย 6 = 12) แต่ช่วงปี 1978-2011 เศรษฐกิจจีนโตปีหนึ่ง 10% หมายความว่า เศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลาทุก 7.2 ปีเท่านั้น

สิ่งที่ยังสะท้อนการเจริญอย่างรวดเร็วของจีน คือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นทันทีทันใดทั่วจีน เช่นถนน เส้นทางรถไฟ และสนามบินต่างๆ

แต่ประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจโลก มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ที่บางประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น บราซิล เม็กซิโก เปรู บอสวานา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย แต่ 60 ปีต่อมา ไม่มีประเทศไหน สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง แต่การเติบโตของจีน พิสูจน์ให้เห็นทั้งความต่อเนื่องและความรวดเร็ว ในเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.5%

มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วใกล้เคียงกับจีน เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้มีขน่าดเล็กกว่าจีนมาก เปรียบได้เท่ากับเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง หรือมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้น ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วน 16% ของ GDP ของโลก คาดกันว่าในต้นทศวรรษ 2030 จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_China#/media/File:

ปัญหาท้าทายในอนาคตของจีน

The New China Playbook กล่าวว่า หลายสิบปีที่แล้ว เมื่อเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้วิเคราะห์ ไม่มีใครมองออกว่า จีนจะก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะวัดด้วยหลักเกณฑ์ใดๆ เช่นหลักนิติธรรม ความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือธรรมาภิบาล จีนล้วนได้คะแนนต่ำมาก นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่ผ่านมา ไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์ใด ที่สามารถหลีกพ้นชะตากรรมการพังทะลายทางเศรษฐกิจ
ส่วนประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่เคยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง สาเหตุหลักคือความสามารถทางผลิตภาพ (productivity) ลดลงไปมาก ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาคอร์รัปชัน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การขาดโครงสร้างพื้นฐาน หรือการขาดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น สภาพดังกล่าวเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” หากจีนติดกับดักนี้ อาจจะเดินตามรอยทางของญี่ปุ่น คือเกิด “ทศวรรษที่สูญเปล่า” เพราะไม่มีการเติบโตเลย

ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีน ที่ลดลงมาอยู่ระดับ 5% ต่อปี ปัญหาท้าทายข้างหน้าของจีนมีอยู่ 2 อย่าง ประการแรก จีนต้องก้าวกระโดดครั้งที่สอง คือรายได้ต่อคนจาก 10,000 ดอลลาร์ มาสู่ 30,000 ดอลลาร์ จุดนี้คือสิ่งที่จะเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ ไม่ง่ายเหมือนกับการก้าวกระโดดครั้งแรกของจีน ที่ภายในเวลา 40 ปี จากการรายได้ต่อคน 380 ดอลลาร์มาที่ 10,000 ดอลลาร์

ปัญหาท้าทายที่สองคือ จีนต้องพิสูจน์ว่า ตัวเองสามารถจัดการปัญหาที่แก้ไขได้ยากของระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี และจากโลกาภิวัตน์ อันได้แก่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น การจ้างงานที่หายไปเพราะการใช้เทคโนโลยี และปัญหาการสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่

ที่ผ่านมา ระบบของจีนสามารถระดมพลัง เพื่อบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนทางอุตสาหกรรมใหญ่ ระบบนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพ ที่จะใช้เป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตแบบยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่จะนำจีนไปสู่ประเทศมั่งคั่ง หรือเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นพอ ที่จะจัดการปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย

แต่หากว่าจีนสามารถเอาชนะการท้าทายที่ใหญ่หลวง 2 อย่างดังกล่าวนี้ได้ จะเป็นการพิสูจน์ความสำเร็จอย่างแท้จริง ของสิ่งที่เรียกว่า “โมเดลการพัฒนาของจีน”

เอกสารประกอบ

Can the US See the Truth About China? March 27, 2023, nytimes.com
The New China Playbook: Beyond Socialism and Capitalism, Keyu Jin, Viking, 2023.