ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปี ขสมก. แก้แบบไหน? ทำไมเหลือแต่ซาก-หนี้ท่วมแสนล้าน!!

10 ปี ขสมก. แก้แบบไหน? ทำไมเหลือแต่ซาก-หนี้ท่วมแสนล้าน!!

4 เมษายน 2023


ผลงาน ขสมก. 10 ปี ขาดทุนสะสม – หนี้ท่วมกว่า 1.3 แสนล้านบาท กระทบโครงสร้างรายได้ จากเดิมมีรายได้หลักจากการเดินรถ นำมาสู่การขอ “งบอุดหนุน” จากรัฐบาล เป็นรายได้หลัก

47 ปี หลังจากวันที่เริ่มก่อตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ “ขสมก.” จนถึงวันนี้ ก็ยังมีปัญหาขาดทุน หารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จนต้องไปขออนุมัติ ครม. กู้เงินเสริมสภาพคล่องทุกๆ ปี ทั้งนี้ เพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างเหมาซ่อมบำรุงรถ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายตามมา ขณะที่การจัดหารถใหม่ทดแทนรถเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ไม่ว่าจะเป็นการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และการจ้างเอกชนมาเดินรถอีก 1,500 คัน ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ขสมก.ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ฐานะการเงินของ ขสมก. จึงยังอยู่ในอาการโคม่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลใน รายงานประจำของ ขสมก. ปี 2564 พบว่า ยอดขาดทุนสะสมและหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปีงบประมาณ 2555 ผลประกอบการของ ขสมก. มียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 85,529 ล้านบาท ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมาถึงปีงบประมาณ 2564 ยอดขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 133,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47,760 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.84%

ส่วนหนี้สินในปีงบประมาณ 2555 มียอดรวมอยู่ที่ 81,928 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเป็น 132,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,414 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.53%

ปิดงบปี ’64 ขาดทุนสะสม 1.34 แสนล้านบาท

ถ้าดู รายงานงบการเงินของ ขสมก. ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 ซึ่งผ่านการสอบทานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบ พบว่า ณ สิ้นปี 2564 ขสมก. มีรายได้รวม 1,838 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงไป 562 ล้านบาท หรือลดลง 23.42% ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 2,319 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 777 ล้านบาท หรือลดลง 25.09% เช่นกัน แต่เมื่อนำมารวมกับดอกเบี้ยจ่ายอีก 623 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50.86 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 8.89% จะมีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 2,942 ล้านบาท จึงทำให้ผลประกอบการของ ขสมก.ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 164 ล้านบาท หรือ ขาดทุนลดลง 12.92% แต่เมื่อนำไปรวมกับผลประกอบการก่อนหน้านี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ขสมก.จึงมียอดขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 134,393 ล้านบาท หนี้สิ้นรวมอยู่ที่ 132,385 ล้านบาท

ทำไมหนี้ท่วม?

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุนสะสม และหนี้สินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ เปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางดูแลกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงได้ ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้จัดงบอุดหนุนมาชดเชยผลขาดทุน หรือ ส่วนต่างของราคารถโดยสารที่รัฐบาลกำหนดกับต้นทุนการเดินรถ แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ใช่บริการสาธารณะ และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาด หรือ ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุนมาจนถึงทุกวันนี้

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขสมก. มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในระดับ 7,796 ล้านบาท/ปี แต่ถ้าไปดูรายละเอียดของโครงสร้างรายได้จะมีประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในช่วง 6 ปีแรก ขสมก. มีรายได้จากการเดินรถเป็นรายได้หลัก แต่พอมาถึงช่วง 4 ปีหลัง ปรากฏว่ารายได้จากการเดินรถมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากปีงบประมาณ 2561 พบว่า ขสมก. มีรายได้จากการเดินรถลดลงมาเหลือ 4,512 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีรายได้จากการเดินรถ 6,982 ล้านบาท รายได้ส่วนนี้ลดลงไป 2,469 ล้านบาท หรือ ลดลง 35% ปีงบประมาณ 2562 มีรายได้จากการเดินรถ 4,573 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ลดลงมาเหลือ 3,799 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ลดลงมาเหลือ 2,518 ล้านบาท ตามลำดับ

โครงสร้างเปลี่ยน! จาก “รายได้เดินรถ” สู่การขอ “งบอุดหนุน” จากรัฐเป็นรายได้หลัก

ส่วนในช่วง 4 ปีหลัง พบว่า ขสมก. มีรายได้จากเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ขสมก. มีรายได้จากเงินอุดหนุน 2,259 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียง 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,450 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 179% , ปีงบประมาณ 2562 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2,252 ล้านบาท , ปีงบประมาณ 2563 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาท 4,476 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 5,063 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65.37% ของรายได้รวม 7,745 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการเดินรถอยู่ที่ 2,518 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.51% ของรายได้รวม และรายได้อื่นๆ อีก 164 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.12% ของรายได้รวมในปีนี้ รวม 10 ปี รัฐบาลจัดงบอุดหนุนให้ ขสมก. ไป 18,408 ล้านบาท นี่คือสถานการณ์รายได้ของ ขสมก.

ปรับลดเที่ยววิ่งรับมือโควิดฯ-ค่าตั๋วหาย 1,106 ล้าน

สำหรับรายได้จากการเดินรถที่ปรับตัวลดลงอย่างมากช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 เป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และทยอยออกมาตรการมาควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา รวมถึงประกาศห้าม หรือ เตือนประชาชนให้งดเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภายในประเทศ เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทำให้ ขสมก. ต้องปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารลง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้รายได้จากการเดินรถลดลง โดยเฉพาะรายได้จากการขายตั๋วรถโดยสาร ปีงบประมาณ 2563 ขสมก. มีรายได้จากการขายตั๋วรถโดยสาร 3,204 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 มีรายได้จากการขายตั๋วรถโดยสาร 2,098 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,106 ล้านบาท หรือ ลดลง 34.51% สอดคล้องกับต้นทุนในการเดินรถที่ลดลง ทั้งในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าล่วงเวลา, ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนทางการเงิน ปรับตัวลดลง แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งประมาณการหนี้สินจากการถูกฟ้องคดี และตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้การค้าในแต่ละงวด

ถึงแม้ ขสมก. จะมีรายได้จากการเดินรถลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีรายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาช่วยเสริม และพยายามปรับลดค่าใช้จ่ายลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลขาดทุนลดลง โดยในปีงบประมาณ 2564 ขสมก. มีต้นทุนหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินรถ 8,032 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.36% ของค่าใช้จ่ายรวม 12,480 ล้านบาท ถัดมาเป็นดอกเบี้ยจ่าย 2,322 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.61% ของค่าใช้จ่ายรวม ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.36% ของค่าใช้จ่ายรวม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 707 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.67% ของค่าใช้จ่ายรวม

เนื่องจาก ขสมก. เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานกว่า 12,000 คน จึงมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน เป็นรายจ่ายหลักรวมอยู่ในต้นทุนการเดินรถ 3,466 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.15 % ของต้นทุนการเดินรถทั้งหมด 8,032 ล้านบาท

ลำดับถัดมาเป็นค่าเชื้อเพลิง เช่น ค่าน้ำมันดีเซล แก๊ส NGV และน้ำมันหล่อลื่น 1,704 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.22% ของต้นทุนการเดินรถ และค่าจ้างเหมาซ่อมตามมาอีก 1,541 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.18% ของต้นทุนการเดินรถ ทั้งนี้ เนื่องจากรถโดยสารประจำการที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นรถเก่ามีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี แบ่งออกเป็นค่าจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารของ ขสมก.เอง 1,186 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.77% ของต้นทุนการเดินรถ และค่าจ้างเหมาซ่อมรถรับอากาศที่ใช้แก๊สอีก 354 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.41% ของต้นทุนการเดินรถ

นอกจากปัจจัยตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว แหล่งข่าวจาก ขสมก.กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำ ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก อีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของกระทรวงคมนาคม กล่าวคือ ตามมติ ครม.เดิม (วันที่ 11 มกราคม 2526) กำหนดให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถเอกชนร่วมบริการต้องมาทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. ดังนั้น ขสมก.จึงมีสถานะเป็นทั้งผู้กำกับ (Regulator) และผู้ให้บริการ (Operation)

ต่อมานโยบายเปลี่ยนในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 1 ได้มีการยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว และโอนอำนาจการกำกับดูแลไปให้กรมการขนส่งทางบก ทำให้ ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น พร้อมกับกำหนดและจัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ โดยให้สิทธิ ขสมก.เลือกเส้นทางเดินรถก่อน และไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเหมือนกับรถเอกชนร่วมบริการทั่วไป แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งแล้ว ต้องบรรจุรถและเดินรถภายใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถ และจะต้องบรรจุรถใหม่เข้าสู่เส้นทางเดินรถ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ปีแรกไม่ต่ำกว่า 30% ของจำนวนรถขั้นต่ำในแต่ละสาย ปีที่ 2 ไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนรถขั้นต่ำในแต่ละสาย ปีที่ 3 ไม่ต่ำกว่า 70% ไปจนถึงปีที่ 7 แต่ถ้าจัดหารถใหม่มาบรรจุเข้าเส้นทางใหม่ไม่ได้ อนุโลมให้นำรถเก่าที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป มาปรับปรุงสภาพใหม่ได้ เช่น ปรับปรุงตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบบังคับเลี้ยว ระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง เบรก ที่นั่ง ระบบปรับอากาศ และไฟสัญญาณต่างๆ เป็นต้น แต่มีเงื่อนไขว่ารถเก่าต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้ ขสมก.ต้องเร่งจัดหารถใหม่มาทดแทนรถเก่าประมาณ 3,000 คัน เพื่อนำมาบรรจุเข้าเส้นทางเดินรถ ตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก ปรากฏช่วงที่ผ่านมา ขสมก.จัดซื้อรถใหม่มาได้แค่ 400 กว่าคัน ไม่พอบรรจุเข้าเส้นทางการเดินรถใหม่

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้ามายื่นขอใบอนุญาตเดินรถในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 77 เส้นทาง ในจำนวนนี้มีเส้นทางเดินรถที่เคยทำเงินให้กับ ขสมก.หลายสายรวมอยู่ด้วย อาทิ สาย 2 , สาย 44 , สาย 8 , สาย 140 เป็นต้น ผลการประมูลปรากฎเอกชนได้เส้นทางเดินไปเกือบหมด ทำให้เส้นทางเดินรถที่เคยสร้างรายได้ให้ ขสมก.มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ขสมก.มีภาระในการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น หากรถอายุเกิน 25 ปี ก็ต้องปลดระวาง ไม่สามารถนำมาวิ่งต่อได้

รถใหม่ก็ซื้อไม่ได้ รถเก่าต้องซ่อมกันไป เส้นทางเดินรถก็หาย รายได้ลด รายจ่ายเพิ่มขึ้น สุดท้าย ขสมก.จะเหลือแต่ซากหรือไม่ เป็นคำถามที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ ขสมก.สามารถดำเนินภารกิจให้บริการรถโดยสารแก่ผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในราคาที่เหมาะสม เชื่อมต่อกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป…

  • ผอ.ขสมก.แจงสหภาพฯ ยันต่อสัญญาให้เอกชนโฆษณาบนรถเมล์ล่วงหน้า 5 ปี ถูกต้องตามกฎหมาย
  • “สหภาพแรงงานฯ ขสมก.จี้ ผอ.แจงต่อสัญญาโฆษณาฯล่วงหน้า 7 วัน ไร้คำตอบส่ง ปปช.
  • คนขสมก.ถามบอร์ดทำไมเร่งขยายสัญญาโฆษณาบน “รถเมล์” ล่วงหน้า 5 ปี
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน