ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” สงสัยม็อบ นศ. มีคนชักใย-มติ ครม. ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจรับมือโควิด-19 นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ

“บิ๊กตู่” สงสัยม็อบ นศ. มีคนชักใย-มติ ครม. ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจรับมือโควิด-19 นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ

13 สิงหาคม 2020


นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ถ่ายภาพร่วมกันก่อนประชุม ครม.

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยในวันนี้ช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. ได้มีการถ่ายภาพหมู่พร้อมกันของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 หลังจากได้มีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

ชี้ ครม. ใหม่-เก่า พร้อมทำเพื่อ ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวานนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานกำลังใจให้ทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ให้ทุกคนมีความสุขมีความพึงพอใจและได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีทั้งเก่าและใหม่ก็พร้อมรับกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวมาเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานอย่างเคร่งครัดและเต็มขีดความสามารถ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการมอบหมายงานให้แก่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจใน ครม. ชุดใหม่ว่า วันนี้ได้มีการต้อนรับและรับมอบงาน ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง เรื่องนโยบายของรัฐบาลในช่วงปีที่ 2 และนโยบายทั่วไปของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องทำงานสอดประสานกับยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 1 ในระหว่างปี 2561-2565 แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดในการจัดทำรายงานโครงการงบประมาณให้เหมาะสมจากที่เรามีอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยตนได้มอบเป็นเอกสารให้ไป

ทั้งนี้ ปัญหาอันดับแรกที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วคือเรื่องรายได้ของประชาชน ปัญหาการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้พยายามสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแต่ตัวเลขการท่องเที่ยวยังคงไม่ดีขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก จึงต้องค่อยๆ ดำเนินการ โดยเน้นย้ำว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นทางด้านสุขภาพ

“หลายประเทศก็ยังไม่เข้ามาเพราะว่าเขาต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศเขาก่อน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศของเขาเหมือนกัน ซึ่งเราทำมาก่อนแล้วพร้อมกับเขา แต่ปริมาณการท่องเที่ยวของเรามันน้อยแค่เพียง 2 ล้านคนเท่านั้นที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ขณะที่ต่างประเทศมีคนจำนวนมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาเราพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศกว่า 20 ล้านคน ดังนั้นทำให้ตัวเลขลดลงแน่นอนเราต้องค่อยๆ ขยับขยายตรงนี้ไป แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นทางด้านสุขภาพมาตรการต่างๆ ที่ออกไปเพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น ขอความเข้าใจซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นไปตามลำดับ”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไปถึงการมีคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคณะทำงานระดับจังหวัด โดยคณะทำงานระดับจังหวัดจะเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมตามความต้องการของพื้นที่ โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง เพื่อตรวจสอบแผนงานโครงการไม่ให้เกิดความล้าช้า แล้วสรุปรายงานให้ตนทราบเป็นระยะ ไม่อย่างนั้นปัญหาก็ขึ้นมากระทบรัฐบาลทันทีแก้ปัญหาอะไรไม่ได้พอกพูนไปเรื่อยๆ

“วันนี้ก็มีการถ่ายรูปร่วมกัน ผมได้ลองใส่เพลงเข้าไป เรารู้ถึงไม่มีใครรู้ก็ตาม เรารู้ตัวเราเองว่าเราทำอะไร ไม่ทำอะไร อะไรดีไม่ดีเรารู้ทั้งหมดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้มันทำงานได้ให้มันสำเร็จมีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพได้ นั่นคือความยากง่ายในการบริหารราชการแผ่นดิน มันไม่ได้ง่ายมากนัก บางทีคิดชั้นเดียวไม่ได้ต้องมีหลายชั้น การทำโครงการต่างๆ มีหลายชั้นหลายกฎหมายและมีความต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนจนถึงรัฐบาลนี้หลายโครงการมีความต่อเนื่องกันอยู่เพราะงั้นเราต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด”

สั่งสอบที่ปรึกษา รมช.คมนาคม ให้โอกาสแจง ปมรับใต้โต๊ะ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีการเรียกรับเงิน 2 ล้านบาทและรถหรูในโครงการพัฒนาที่ดินท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ได้มีการดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจแล้ว โดยยืนยันว่าความเป็นธรรมกับทุกคน ใครที่กระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

“ใครผิดใครถูกก็ไปว่ากันมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรี ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มีความขัดแย้งกันภายในอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นเรื่องของการแอบอ้างหรือเปล่านั้นการเสนอข่าวบางทีเสนอไปล่วงหน้า ก็ต้องไปดูหลักฐานพยานและวัตถุพยานต่างๆ การแอบอ้างมีจำนวนมากขอเตือนไว้อย่าไปเชื่อ อ้างว่านายกฯ อย่างนั้น รองนายกฯ อย่างนี้ รัฐมนตรีอย่างนั้น ต้องไปดูสิว่าจริงหรือเปล่าที่เขาทำ เขาเรียกร้องจริงหรือเปล่า ทุกท่านมีโอกาสชี้แจงทั้งหมด”

สงสัยม็อบ นศ. มีคนชักใย เชื่อนักวิชาการดีมีอีกมาก ไม่หวั่น 105 อ. หนุนม็อบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่มีการโพสต์สื่อโซเชียลมีเดีย อ้างว่ารัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ติดตาม ว่า เรื่องดังกล่าวใครเขียนก็ได้ พร้อมถามกลับว่า แล้วมีการจับกุมหรือยัง และเมื่อมีการทำผิดแล้วละเมิดกฎหมายจะทำอย่างไร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยที่รัฐบาลไม่บังคับใช้กฎหมาย

“มี 2 ทางเสมอ รัฐบาลก็ระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ใช้โอกาสนี้ในการทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า การชุมนุมตามสิทธิพื้นฐานทำได้แต่ละเมิดกฎหมายได้ไหมต้องไปดูกฎหมายก็มีอยู่ ทำอะไรก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ผมก็ไม่อยากจะไปพูดให้เกิดปัญหาอีกก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม”

ต่อคำถามถึงกรณีที่นักวิชากร 105 คน ออกแถลงการณ์ กรณีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “ก็เป็นเรื่องของท่าน เพราะประเทศไทยไม่ได้มีคนเก่งเพียงเท่านี้ ซึ่งตนไม่แปลกใจเมื่อเห็นรายชื่อนักวิชาการเหล่านั้น เพราะแนวความคิดของเขาในการขับเคลื่อนของเขาในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้”

“เราคงไม่ได้มีนักวิชาการเพียงแค่ 105 คนในประเทศไทยเราคงไม่มีคนเก่งเพียงเท่านี้ เรามีอีกตั้งเป็นหมื่นเป็นพัน เพราะฉะนั้นคนเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างไรก็ต้องว่ากันมา ข้อสำคัญก็ต้องไม่เป็นการเข้าร่วมหรือล่วงละเมิด อย่างนั้นไม่ใช่ประเทศไทยมันเกินไปในขณะนี้ประชาชนรับไม่ได้เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำถูกทำดีก็ควรจะขับเคลื่อน คือการร่วมมือการสร้างอนาคตของเราไปด้วยกัน”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของการจัดกิจกรรมต้องไปดูว่าใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากแล้วมาจากไหน ต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องของกลไกการทำงานปกติ ตนไม่ต้องไปสั่ง ตนบังคับไม่ได้อยู่แล้ว ตนเพียงให้แนวคิดหรือหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มา: www.thaigov.go.th/

“ความเดือดร้อนของประชาชนในวันนี้คงไม่ใช่เรื่องนั้นเรื่องเดียวที่เขาขอร้องมา ยังคงมีเรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาสถานการณ์โควิดฯ เรื่องของสุขภาพ เยอะแยะไปหมด ประเทศไทยจะมีปัญหามากในเรื่องของความเหลื่อมล้ำกันกระจายรายได้เรื่องเศรษฐกิจใหม่ และวันนี้เจอโควิดฯไปอีก เรื่องเหล่านี้ไม่สำคัญกว่าหรือ มันอาจสำคัญใกล้เคียงกันหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจแต่วันนี้ประชาชนโดยรวมของประเทศกว่า 60 ล้านคนเขาเดือดร้อนอยู่และเด็กก็กำลังเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ฉะนั้นก็ขอให้แสดงความคิดเห็นในทางบวกจะดีกว่าเพราะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ในอนาคต ไม่อย่างนั้นจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลยจะมีความขัดแย้งกันไปตลอดเวลา”

พอใจ “คดีบอส” ระดับหนึ่ง – ให้ดีประชาชนต้องยอมรับ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า คดีดังกล่าววันนี้มีความก้าวหน้าในหลายอย่างด้วยกัน ในหลายด้าน ทั้งด้านอัยการ ด้านตำรวจ และคณะทำงานของ ศ. ดร.วิชา มหาคุณ ซึ่งได้รายงานพูดคุยกับตนเป็นประจำอยู่แล้ว สำหรับกรรมการตรวจสอบคดีในส่วนของตำรวจไป ตนได้ให้ดำเนินการชี้แจง และก็ได้กำชับไปให้ความร่วมมือในทุกประเด็น

“ถามว่าพอใจไหม จะพอใจได้ต่อเมื่อมีการสิ้นสุดการพิจารณาคดีที่ประชาชนยอมรับถึงจะพอใจตอนนี้แค่พอใจในระดับหนึ่งที่มีการออกมาขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้”

ในหลวง ห่วงใยปัญหา คลอง-บึง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกังวลในขณะนี้ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยท่านรับสั่งผ่านท่านราชเลขานุการในพระองค์เกี่ยวกับเรื่องบึงเก็บน้ำต่างๆ ที่ต้องเร่งรัดในการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งยังคงติดปัญหาเรื่องการทิ้งดินจากการขุดลอก เนื่องจากมีปริมาณดินจำนวนมาก เรื่องดังกล่าวอาจต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อหาทางแก้ไข ว่าจะดำเนินการแบ่งย่อยโครงการได้หรือไม่ หรือจะนำดินเหล่านั้นมาสร้างภูมิทัศน์ใหม่ๆ เป็นพื้นที่ภูเขาเล็กๆ รอบๆ บึง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด

เรื่องต่อไปคือเรื่องของการดูแลคูคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในเรื่องของน้ำเสีย เรื่องการให้บริการประชาชนในการสัญจรทางน้ำใน เรื่องขยะหรือผู้อยู่อาศัยริมคลองต่างๆ รัฐบาลก็รับสนองพระราโชบายเรื่องเหล่านี้อยู่ซึ่งดำเนินการมาเป็นลำดับเป็นขั้นตอน และได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สำหรับปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบเป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่ต้นทาง เนื่องจากมีคลองสาขาถึง 101 สายที่ระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบ ซึ่งระบบระบายน้ำที่ต้นทางเหล่านั้นยังคงเป็นระบบเก่าต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไข ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ทิ้งขยะ จะแบ่งเบาภาระได้พอสมควร หากไม่เริ่มที่ประชาชนร่วมมือก็ไปไม่ได้ ไม่ว่าวิธีใด

“ขนาดผมเร่งขนาดนี้ยังติดปัญหาอยู่เยอะแยะต้องไปปลดล็อกหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย วันนี้ได้มีการเสนอกฎหมายเพิ่มอีกหลายตัวเข้าไปในสภาให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อช่วยฝ่ายบริหารในการทำงาน มันต้องทำงานร่วมกันจะก้าล่วงกันไม่ได้ อำนาจฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายกระบวนการยุติธรรมมันแยกกันอยู่แล้ว แต่ต้องร่วมมือกันในประเด็นที่ต้องสอดประสานร่วมกันเท่านั้นเอง แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ต้อนรับ ครม. ใหม่ ขอทุกคนร่วมมือทำงานตามแนว “ไทยสร้างชาติ”

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการก่อนการประชุม ครม. เริ่มต้นจากต้อด้กล่าวต้อนรับ ครม. ใหม่ทุกคน และพูดกับ ครม. ทุกคน ว่าขอให้ร่วมมือกันทำงานเราจะทำดีเพื่อแผ่นดินและให้เป็นไปตามแนวทางรวมไทยสร้างชาติ ขอให้ทุกปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละอดทนเข้มแข็ง ที่สำคัญต้องสามัคคีเพื่อให้บ้านเมืองของเราอยู่รอดปลอดภัย และฟื้นจากสถานการณ์โควิดได้ในเร็ววัน

“ท่านนายกฯ ยังได้แหย่รัฐมนตรีใหม่ว่าอาจไม่ได้ติดตามบทบาทในสภา ไม่เคยเจออภิปรายหรือชี้แจง ขอให้ทำเต็มที่ ไม่ต้องกังวลช่วยกันชี้แจง เพราะรัฐบาลทำงานด้วยความโปร่งใส สามารถตอบคำถามได้ทุกอย่างอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ยังฝากให้รัฐมนตรีทุกคนประชาสัมพันธ์งานโอทอป ที่จัดขึ้นโดยผ่านมา 3–4 วัน เป็นไปด้วยดี และโครงการโอทอปได้สานต่อมาทุกยุคทุกสมัยในรัฐบาลนี้ก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแปรรูปการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งตลาดต่างประเทศในประเทศ และตลาดออนไลน์

“นายกฯ ฝากให้ทุกส่วนราชการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเรื่องการพัฒนาแบรนด์สินค้าแบรนด์โอทอปที่แบรนด์ท้องถิ่นรวมถึงลิขสิทธิ์จากที่ได้ไปเดินเที่ยวงานติดตามข้อมูลพบว่า สินค้าโอทอปที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของไทยไม่พูดถึงแบรนด์หรือลิขสิทธิ์ ราคาจึงไม่สูง แต่เมื่อต่างชาติไปทำเป็นแบรนด์และเพิ่มมูลค่าทำให้สินค้าหลักร้อยกลายเป็นหลักพันหลักหมื่น จึงฝากทุกกระทรวงพัฒนาแบรนด์และเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย แจ้งข่าวดีไทยติดอันดับ 8 โลกเรื่องสิทธิเด็ก”

สุดท้ายท่านนายกฯ เล่าให้ ครม. ฟังเรื่องการจัดอันดับสิทธิมนุษยชนเด็กไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 8 ของโลกจาก 182 ประเทศ ซึ่งมีการประเมินจาก 5 ด้าน ก็คือ ด้านสิทธิดำรงชีวิตของเด็ก สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในการศึกษา การคุ้มครองและเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะดูแลสิทธิเด็กถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยนายกฯ ขอบคุณทุกกระทรวงทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคประชาชนด้วยที่ช่วยดูแลเรื่องสิทธิเด็กจนทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในอันดับ 8 ของโลก

แจงเร่งตั้งราชการทดแทนที่เกษียณอายุ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่าช่วงนี้เป็นช่วงจะมีข้าราชการเกษียณอายุราชการ โดยในระดับปลัดกระทรวงมีอยู่ 9 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่งประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งในระดับเลขาธิการ หรือซี 11 อีก 3 ตำแหน่ง คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ และมีเลขาธิการในกระทรวงศึกษาธิการอีก 3 ตำแหน่ง คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา

“รวมไปถึงตำแหน่งที่ไม่ต้องเข้าสู่ ครม. ที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีคือผู้บัญชาการทหารต่างๆ โดยท่านนายกให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบจากรองนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงภายในสัปดาห์นี้หรือภายในอาทิตย์หน้า โดยให้รัฐมนตรีเสนอชื่อปลัดกระทรวงเข้ามาเพื่อพิจารณา”

อนุมัติวันหยุดชดเชยสงกรานต์ 4 และ 7 ก.ย.

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติวันหยุดชดเชย โดยให้วันศุกร์ที่ 4 และจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากเป็นเดือนที่ไมมีวันหยุดราชการเลยและเป็นการหยุดยาวที่ช่วยให้กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงเหมาะสมที่จะหยุดในช่วงเวลาดังกล่าว

อัดฉีดเงินเพิ่ม 1.18 หมื่นล้าน กันภัยแล้ง-น้ำท่วม

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1.18 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการอนุมัติเพิ่มเติมจากที่ ครม. ได้อนุมัติไปก่อนนี้แล้ว เนื่องด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนและคาดการณ์การสถานการน้ำเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ปี 2562 /63 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวม 69 จังหวัด แบ่งเป็น เขตประปา จำนวน 31 จังหวัด นอกเขตประปา 38 จังหวัด และมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร รวม 56 จังหวัด แบ่งเป็นในเขตประปา จำนวน 36 จังหวัด นอกเขตประปา 20 จังหวัด

สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติครั้งนี้ยังคงเป็นไปเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการการทำงานกับหลายกระทรวง กำหนดเป็นโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในสภาวะปัจจุบัน  ซึ่งเป็นการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ มีลักษณะงาน เช่น ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ขุดแหล่งเก็บน้ำใหม่ งานซ่อมแซมและปรับปรุง  กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและวัชพืช การจัดครุภัณฑ์ บ่อน้ำบาดาล เป็นต้น สามารถจำแนกออกตามหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ 5 หน่วยงาน ดังนี้

  1. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 8 โครงการ งบประมาณรวม 763.14 ล้านบาท ดังนี้ โครงการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำนวน 2 แห่ง งบประมาณ 54 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงคลองเปรมประชากร จำนวน 2 แห่ง งบประมาณ 64 ล้านบาท, โครงการพัฒนาหนองเล็งทราย จังหวัดพะเยา จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 137.9 ล้านบาท, โครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย จำนวน 83 รายการ งบประมาณ 164.2 ล้านบาท, โครงการขุดบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะเป็น Deep Pool จุดที่ 4 งบประมาณ 150 ล้านบาท, โครงการจัดหาเรือกำจัดวัชพืช จำนวน 50 รายการ งบประมาณ 25 ล้านบาท, โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเหยี่ยน พร้อมระบบระบายน้ำ ท้ายอ่างเก็บน้ำ งบประมาณ 70 ล้านบาท และโครงการขุดลอกลำน้ำอิงตอนบน พร้อมอาคารประกอบ งบประมาณ 98 ล้านบาท
  2. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 โครงการ งบประมาณรวม 1 หมื่นล้านบาท ดังนี้ โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 18,927 รายการ งบประมาณ 9.95 พันล้านบาท และโครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 805 ลำ งบประมาณ 135.4 ล้านบาท
  3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ งบประมาณรวม 884.5 ล้านบาท ดังนี้  โครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 1,000 แห่ง งบประมาณ 64 ล้านบาท และโครงการจัดหาครุภัณฑ์ชุดเจาะสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล จำนวน 10 ชุด งบประมาณ 820.5 ล้านบาท
  4. กองทัพบก กระทรวงกลาโหม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกแก้มลิงภายในชุมชนรถไฟ งบประมาณ 5.8 ล้านบาท
  5. กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 17 รายการ งบประมาณ 146.1 ล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อดำเนินโรงการแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ

ครม. ตีกลับต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ในการประชุม ครม. ได้ให้มีการถอนเรื่องผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งกระทรวงมหาดไทยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ออกไปก่อนเพื่อให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งเข้ารับทำหน้าที่ 6 คน ได้พิจารณารายละเอียดและให้จัดวาระเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้ง

นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเหตุผลที่ ครม. ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าในการประชุม ครม. ครั้งนี้มีผู้ที่เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ใน ครม. ชุดใหม่หลายคน จึงต้องมีการศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ก่อนจึงให้มีการบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ภายหลัง สำหรับสัญญาระหว่าง กทม.กับบริษัทเอกชนที่จะมีการเสนอให้ ครม. พิจารณา ครม. ยังไม่สามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ทำได้เพีงแต่ตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และจะเป็นมติของ ครม. โดยในเรื่องนี้มีคณะกรรมการที่มีการทำงานในรายละเอียดต่างๆมาก่อนหน้านี้แล้ว

“ผมเข้าใจว่าในเรื่องนี้ ครม. ไม่สามารถที่จะเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมได้ เพียงแต่เป็นมติว่า ครม. เห็นชอบหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมี ครม. ใหม่นายกรัฐมนตรีก็อยากให้ ครม. ใหม่ที่เข้ามามีโอกาสได้ศึกษาเรื่องนี้ก่อน แล้วค่อยบรรจุวาระเข้ามาใหม่”

โดยรายละเอียดในการพิจารณาที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ ครม. พิจารณา เป็นรายละเอียดในการต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เป็นระยะเวลาอีก 30 ปีแลกกับภาระหนี้ของ กทม. กว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกำหนดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.) เศรษฐกิจไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้เห็นชอบถึงกระบวนการเจรจาทั้งหมดได้กระทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกขั้นตอนและอัยการสูงสุดได้ยืนยันทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยและ กทม. รายงานให้ทราบ

ทั้งนี้การต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เป็นการต่ออายุสัมทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยสัมปทานรถไฟฟ้าที่บีทีเอสได้รับครอบคลุมเส้นทางช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นช่วงที่เอกชนได้รับสัมปทานลงทุนและบริหารการเดินรถ 30 ปี และอายุสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2572

ในขณะที่ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร และจ้างบีทีเอสเดินรถ และส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และโอนโครงสร้างพื้นฐานให้กรุงเทพมหานคร

อนึ่ง ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้จะการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยาย การลงทุนระบบอาณัติสัญญา และการรับโอนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางจาก รฟม. รวม 73,000 ล้านบาท (ไม่รวมภาระดอกเบี้ย) ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครเลือกใช้วิธีการจ้างให้บีทีเอสเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ และต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่บีทีเอสได้รับสัมปทานลงทุนทั้งหมด 30 ปี สิ้นสุดปี 2572 ต่อไปอีก 30 ปี ถึงปี 2602 จะทำให้บีทีเอสได้รับสัมปทานรวม 60 ปี ส่วนอัตราค่าโดยสารเบื้องต้นยืนยันให้ใช้ราคาไม่เกิน 65 บาทตลอดสายซึ่งเป็นราคาที่กรุงเทพมหานครได้มีการนำเสนอมาตั้งแต่แรกเนื่องจากราคานี้เป็นราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถจ่ายได้สำหรับการเดินทาง

ขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เพิ่มอีกพื้นที่

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 บริเวณ คือ 1) กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 2) กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และ 3) บริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยาย บริเวณที่ 4 คือ พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

การขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รวมทั้งการท่องเที่ยวในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้แผนการดำเนินงานต่างๆ ที่มีอยู่เดิม อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ขึ้น โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ รวม 9 ครั้ง และคณะกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติเห็นชอบแล้ว

โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิม 3 บริเวณ คือ กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่ม “พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,335.9 ไร่ ตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม วัดบางขุนพรหม(ธนาคารแห่งประเทศไทย) และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายสาขา รวมวงเงินประมาณ 22,022.04 ล้านบาท ประกอบด้วย 8 สาขา 18 แผนงาน เช่น สาขามรดกวัฒนธรรม มี 2 แผนงาน คือ การคุ้มครองและบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งมรดก และการส่งเสริมฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม วงเงิน 4,182 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ในส่วนของงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานเอง และ 2) ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์รายพื้นที่ เป็นการนำยุทธศาสตร์ฯ รายสาขา มาบูรณาการใน 12 พื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณเพิ่มเติม ประกอบด้วย 12 พื้นที่  เช่น บริเวณพระบรมมหาราชวัง (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน) บริเวณ ย่านบางลำพู บริเวณวัดดุสิตาราม-บางยี่ขัน เป็นต้น ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการการทำงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการหลัก

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนและจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สำนักวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมืองและการควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ในส่วนที่จำเป็นไปบังคับใช้ต่อไป จึงไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชน เพราะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อน

ครม. สัญจร “ระยอง” 24-25 ส.ค. 63

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่าการจัดการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/63 และตรวจราชการระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) มีประเด็น ตรวจราชการสาคัญของกลุ่มจังหวัดฯ ใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนาความพร้อมของพื้นที่ฯ มุ่งสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2) การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล 3) การปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว 4) การแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษและพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 6) การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว

ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจรับมือโควิด-19

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) “หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ”  โดยมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

คณะกรรมการดังกล่าวจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระกรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาหอการค้า  สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทยและนักธุรกิจชั้นนำ ร่วมเป็นกรรมการ

สำหรับอำนาจหน้าที่สำคัญในการจัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจทั้งระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตหลังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สิ้นสุดลง  รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้และความเข้าใจ โดยอาจมีผู้เหมาะสมทำหน้าที่ผู้ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ในนามของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ตามที่ประธานกรรมการมอบหมายด้วย

นอกจากนี้ ภายใต้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” ยังให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ ผอ. สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยมีคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด  ได้แก่

  • คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้ง SMEs
  • คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว  เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง
  • คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ  ด้วย

“คณะกรรมการเหล่านี้เป็นการสะท้อนความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาพรวมและเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเร่งรัด จึงได้ผนึกกำลังเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

อนุมัติงบเงินกู้อีก 3 โครงการ 1,132 ล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติ 3 โครงการ วงเงินรวม 1,132 ล้านบาท ตามผลการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 2 โครงการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. โครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม งบประมาณ 203 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าลงทุนของโครงการ วงเงินรวม 154.13 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากร วงเงิน 49.83 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ วว. โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บัณฑิตและประชาชน จำนวน 250 ราย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างน้อย 30 ราย

ประโยชน์ของโครงการ คือ 1) ทดแทนการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศ เป็นมูลค่าประมาณ 337.50 ล้านบาท 2) สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภาคการเกษตรและผลผลิตท้องถิ่น รวม 1,875 ล้านปี (เฉลี่ยปีละ 125 ล้านบาทต่อปี) 3) ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอาหารได้ 141.75 ล้านบาท และ 4) ลดต้นทุนการแปรรูปของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน 167.06 ล้านบาท

  1. โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตกด้วย BCG โมเดล (Bioeconomy Circular Economy Green Economy: BCG Model) หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม งบประมาณ 115 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีและวิธีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตไปใช้อย่างน้อย 50 ราย เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำที่มีการนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิต 5 เทคโนโลยี และพัฒนาปัจจัยการผลิต 5 ผลิตภัณฑ์

ประโยชน์ของโครงการ คือ ด้านสังคมและการเกษตร 1) พื้นที่เกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการใช้สารชีวภัณฑ์ 33,350 ไร่ 2) ลดต้นทุนการผลิตของเกษตร 172.5 ล้านบาท (ตลอดอายุโครงการ 15 ปี) เฉลี่ย 11.5 ล้านบาทต่อปี 3) ลดปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีของเกษตรกร ด้านเศรษฐกิจ 1) ลดการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช 241.5 ล้านบาท (ตลอดอายุโครงการ 15 ปี) เฉลี่ย 16.1 ล้านบาทต่อปี 2) ยกระดับศักยภาพด้านการผลิตหัวเชื้อชีวภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ทางการเกษตร และ 3) เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ

  1. โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ของกรมป่าไม้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 863 ล้านบาท

ประโยชน์ของโครงการ คือ 1) สร้างงานสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 7,554 แห่ง ทั่วประเทศ คิดเป็นจำนวนคน 31,148 คน 3) พื้นที่ป่าไม้ได้รับการป้องกัน รักษา โดยการมีส่วนร่วมในรูปแบบเครือข่ายไฟป่า จำนวน 2,182 เครือข่าย 4) เพิ่มการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดี จำนวน 70 ล้านกล้า  5) มีเรือนเพาะชำชุมชน จำนวน 40 เรือน พร้อมกล้าไม้พันธุดีไม่น้อยกว่า 200,000 กล้า 6) มีการพัฒนาข้อมูลการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3,000 หมู่บ้าน และ 7) ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชน จำนวน 2,000 แห่ง

อนุมัติ เงินพิเศษ 7 เดือน 3,622 ล้านบาท ให้ อสม.-อสส.

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนยกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง จำนวน 3,622 ล้านบาท ให้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จากเดิมที่ได้อนุมัติหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ในโครงการส่งเสริมการควบคุมโรคไวรัสโคโลนา 2019 (โควิด-19) ในชุมชน โดยนายกฯได้เร่งรัดการจ่ายเงินให้เร็วที่สุด ซึ่งอนุมัติตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 63 จำนวน 7 เดือน เดือนละ 500 บาท กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท อสม. และ อสส. รวมไม่เกิน 1,054 คนต่อเดือน

เคาะ ขสมก. กู้ 7,895 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องปี 64

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7,895 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. เคยมีมติอนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินรวม 70,502 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้

  • มติ ครม. วันที่ 8 ส.ค. 2560 อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมของรถปรับอากาศ ประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,833 ล้านบาท
  • มติ ครม. วันที่ 19 ก.ย. 2560 อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 26,782 ล้านบาท
  • มติ ครม. วันที่ 6 ก.พ. 2561 อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 มี.ค. 2661 วงเงิน 2,962 ล้านบาทและอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,013 ล้านบาท
  • มติ ครม. วันที่ 7 ส.ค. 2561 อนุมัติให้กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 15,374 ล้านบาท
  • มติ ครม. วันที่ 16 ต.ค. 2561 อนุมัติให้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 9,217 ล้านบาท
  • มติ ครม. วันที่ 4 มิ.ย. 2562 ครม. อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 11,319 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ขสมก. มีหนี้สินค้างชำระรวม 122,102 ล้านบาท มีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก. เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริงและไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นได้ตามสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียดหนี้แยกเป็นดังนี้ หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน  57,673 ล้านบาท, หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 56,318 ล้านบาท, หนี้ค่าเชื้อเพลิง 113 ล้านบาท , หนี้ค่าเหมาซ่อม 252 ล้านบาท, หนี้ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน 1,560 ล้านบาท , หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน 4,362 ล้านบาท และหนี้สินอื่นๆ  1,822 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประมาณการเงินสดรายรับรายจ่ายของ ขสมก. ประจำปีงบประมาณ 2564 มีดังนี้ ประมาณการรายรับเงินสด 9,579 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายเงินสด 42,665 ล้านบาทส่งผลให้ติดลบจำนวน 33,085 ล้านบาท ดังนั้น ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 7,895 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานและทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอในการให้บริการขนส่งสาธารณะ แยกเป็นนำไปใช้ชำระค่าเชื้อเพลิง 3,219 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,642 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,033 ล้านบาท

โดยที่กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. เร่งจัดทำและดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมโดยเร็วและไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า เห็นควรให้ ขสมก. เร่งรัดดำเนินการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่ปรับปรุงใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะแนวทางในการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย  และการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน  เพื่อลดภาระของรัฐบาล

รับลูก ป.ป.ช. มอบ 4 หน่วยงานนำสายสื่อสารลงดิน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  โดย ป.ป.ช. เสนอแนะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมดำเนินการในการนำสายสื่อสารลงดิน ทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธสาสตร์การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ โดยหน่วยงานข้างต้นจะเข้ามาทำหน้าที่แทนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร มีมูลค่าของโครงการ 25,000 ล้านบาท ระยะทางรวม 2,450  กิโลเมตร ภายหลัง กสทช. พบว่า การดำเนินการของบริษัทกรุงเทพธนาคมดังกล่าว อาจขัดต่อประกาศ กสทช. ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีท่อร้อยสายต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้ท่อร้อยสายของตน แต่ทางบริษัทกรุงเทพธนาคม ประกาศในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอว่า จะมอบอำนาจให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นคนดำเนินการ ซึ่งในข้อกฎหมายไม่สามารถทำได้ และยังพบอีกว่าราคาค่าใช้จ่ายดำเนินการท่อร้อยสายที่บริษัท กรุงเทพธนาคมเสนอสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัททีโอที ประมาณการค่าใช้จ่ายไว้ถึง 6.2 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอแนะให้บริษัทกรุงเทพธนาคมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ และให้รวมถึงบริษัท หรือนิติบุคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกิน 50 %

เห็นชอบ ตั้ง คกก. ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มุ่งแก้ปัญหาระดับพื้นที่

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งเป็นบัญชาจาก นายกรัฐมนตรี ในการทำงานรูปแบบใหม่ (new normal) โดยจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด ซึ่งในระดับประเทศมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ส่วนรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผอ.สำนักงบประมาณ  เป็นคณะกรรมการ และเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม เพื่อติดตามเร่งรัด ช่วยเหลือ เยียวยาและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่เร่งด่วน  เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม รวมเร็ว ทันเหตุการณ์

ขณะที่ระดับจังหวัดจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด โดยให้คณะรัฐมนตรี 29 คนเป็นที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะโดยไม่แทรกแซง สนับสนุนการปฏิบัติงาน ประสานงวานกับหน่วยงาน และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรงเพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่อไป ซึ่งจะมีการแบ่งรัฐมนตรี 1 คนดูแล 2 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าฯ เป็นรองประธาน ตำรวจท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายนายกฯ

“อนุทิน” ขึ้นแทนรองนายกฯ อันดับ 3 – แบ่งงาน “บิ๊กป้อม” คุม 6 กระทรวง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ดังนี้

  1. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย,สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
  2. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) , กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมประชาสัมพันธ์ ฯ เป็นต้น
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
  4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
  5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น
  6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้

  1. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้
  • พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • นายวิษณุ เครืองาม
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย
  • นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

2. ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

อ่านมิติ ครม. ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2563 เพิ่มเติม