ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนาม FDI ทะลักกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ไตรมาสแรก

ASEAN Roundup เวียดนาม FDI ทะลักกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ไตรมาสแรก

31 มีนาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 มีนาคม 2567

  • เวียดนาม FDI ทะลักกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ไตรมาสแรก
  • เวียดนามมี 3 ท่าเรือติด 50 อันดับแรกในโลก
  • กัมพูชาชูนโยบายเงินทุนเข้า-ออกเสรี ชวนจีนลงทุนเพิ่ม
  • กัมพูชาไฟเขียวการรถไฟลาว-จีน ศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว
  • กัมพูชา-ลาวตกลงขยายความร่วมมือด้านพลังงาน
  • สปป.ลาวเห็นชอบร่างกฎหมายท่าเรือบก-การลงทุนกระตุ้นการเติบโต

    เวียดนาม FDI ทะลักกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ไตรมาสแรก

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/threemonth-fdi-inflow-into-vietnam-up-134/283573.vnp

    เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 6.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 20 มีนาคม เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากข้อมูลของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ สังกัดกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    โดยมีโครงการใหม่ 644 โครงการซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวม 4.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้รับใบอนุญาตลงทุน เพิ่มขึ้น 23.4% ในแง่จำนวนโครงการ และในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้น 57.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    นอกจากนี้มีการจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนวน 934.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปในโครงการที่มีอยู่แล้ว 248 โครงการ และอีก 466.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐจัดสรรไว้สำหรับการซื้อหุ้นและการสนับสนุนเงินทุน

    สำนักงานการลงทุนต่างประเทศระบุว่า การเบิกใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 7.1% ในไตรมาสแรกแตะ 4.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการเบิกใช้จะยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกต่อไป

    นักลงทุนต่างชาติใส่เงินลงทุนในภาคเศรษฐกิจ 17 ภาคจาก 21 ภาค โดยอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปเป็นผู้นำด้วยทุนจดทะเบียนรวม 3.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อย 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

    ภาคอสังหาริมทรัพย์มาเป็นอันดับสองด้วยทุนจดทะเบียน 1.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาคืออุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการลงทุน 224.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

    การไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศมาจาก 62 ประเทศและเขตปกครอง สิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 51.3% และมีสัดส่วน 41.3% ของFDI ทั้งหมด ตามมาด้วยฮ่องกง (จีน) ด้วยจำนวน 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3 เท่าจากระยะเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วน 17.1% ของการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวม

    เมืองหลวงอย่างฮานอยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของ FDI โดยมีเงินไหลเข้า 970.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามมาด้วยจังหวัดบั๊กนิญทางตอนเหนือที่ 745.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ในแง่ประเทศจีนเป็นผู้นำ 62 ประเทศและขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนามในจำนวนโครงการลงทุนใหม่ คิดเป็น 27.8% ของทั้งหมด ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำในโครงการเพิ่มทุนและเงินสมทบในการซื้อหุ้น ซึ่งคิดเป็น 23% และ 27.8% ตามลำดับ

    เวียดนามมี 3 ท่าเรือติด 50 อันดับแรกในโลก


    เวียดนามมีท่าเรือสามแห่ง ที่ติดอยู่ในรายชื่อท่าเรือที่ให้บริการด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุด 50 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ท่าเรือโฮจิมินห์ซิตี้ ท่าเรือไฮฟอง และท่าเรือก๊ายแม็ป – ทิว๋าย

    Lloyd’s 2023 ซึ่งจัดอันดับท่าเรือตามปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดความยาว 20 ฟุต(twenty-foot equivalent unit:TEU) โดยท่าเรือโฮจิมินห์ซิตี้ติดอยู่ในอันดับที่ 23 ตกลงมาหนึ่งอันดับจากปีที่แล้ว ด้วยเส้นทาง 106 เส้นทางในเอเชีย หนึ่งเส้นทางไปยังอเมริกาและสองเส้นทางไปยังยุโรป ท่าเรือที่มีอายุ 160 ปีแห่งนี้สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากกว่า 7.9 ล้าน TEUในปี 2565 ซึ่งลดลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ท่าเรือไฮฟองตกลงหนึ่งอันดับมาอยู่ในอันดับที่ 31 โดยสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากกว่า 5.6 ล้าน TEU ในปี 2565 ในฐานะศูนย์กลางตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนาม ท่าเรือแห่งนี้อำนวยความสะดวกใน 69 เส้นทางภายในเอเชีย สองเส้นทางไปยังอเมริกา และอีกหนึ่งเส้นทางไปยังยุโรป

    ท่าเรือก๊ายแม็ป – ทิว๋าย ในจังหวัด จังหวัดบ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่า ยังคงรักษาตำแหน่งที่ 32 ไว้ได้ โดยสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เกือบ 5.6 ล้าน TEU ให้บริการเส้นทางเอเชีย 9 เส้นทาง 21 เส้นทางสู่อเมริกา และ 5 เส้นทางสู่ยุโรป

    เวียดนามเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนด้วยท่าเรือสามแห่งที่อยู่ในรายชื่อของLloyd’s 202 ตามมาด้วยมาเลเซียที่มีท่าเรือสองแห่ง ในขณะที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ต่างก็มีท่าเรือหนึ่งแห่ง

    การค้าระหว่างประเทศของเวียดนามส่วนใหญ่อาศัยการขนส่งทางทะเล ปัจจุบันระบบท่าเรือของประเทศสามารถรองรับเรือขนาดระวางน้ำหนักที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ โดยดึงดูดสายการเดินเรือหลักทั่วโลกถึง 40 สาย

    ในปี 2566 การขนส่งสินค้าของเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 2.3 พันล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการหมุนเวียนสินค้าอยู่ที่ 490 พันล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.8%

    ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 การขนส่งสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 13.9% เป็น 416 ล้านตัน โดยมูลค่าการหมุนเวียนสินค้าเพิ่มขึ้น 14% เป็น 88 พันล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางทะเลได้แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่โดดเด่น 21% และ 18.1% ตามลำดับ

    ในปี 2566 กองเรือเดินทะเลของเวียดนามประกอบด้วยเรือ 1,447 ลำ รวมถึงเรือบรรทุกสินค้า 1,015 ลำ รวมน้ำหนักบรรทุกของเรือประมาณ 10.7 ล้าน DWT (Dead Weight Tonnage) เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 3 ในอาเซียนและอันดับที่ 27 ของโลก โดยมีอายุเรือเฉลี่ย 15.5 ปี วิสาหกิจของเวียดนามเป็นเจ้าของเรือติดธงต่างประเทศซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกของเรือรวม 2.5 ล้าน DWT

    กระทรวงคมนาคมระบุว่า กองเรือเดินทะเลของเวียดนามมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสามารถจัดการปริมาณสินค้าในประเทศได้ 100% และมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าส่งออกและนำเข้า 6-8%

    กัมพูชาชูจุดขายเงินทุนเข้า-ออกเสรี ชวนจีนลงทุนเพิ่ม

    ที่มาภาพ: https://english.news.cn/20240328/eb93b629b9f140b5a6d51372ead57e43/c.html
    เมื่อวันพุธ(26 มี.ค.2567) นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ของกัมพูชา เชิญชวนให้จีนลงทุนมากขึ้น โดยกล่าวว่า กัมพูชามีระบอบการลงทุนจากต่างประเทศที่เปิดกว้างและเสรี โดยมีนโยบายสนับสนุนนักลงทุนและธุรกิจ

    นายฮุน มาเน็ต ชี้แจงอย่างชัดเจนระหว่างการพบปะกับคณะผู้แทนธุรกิจจีน โดยกล่าวว่าประเทศกัมพูชาไม่มีข้อจำกัดในการส่งทุนกลับประเทศ และกัมพูชายังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงที่สำคัญ เช่น ทางด่วน สนามบิน และอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงประเทศกับภูมิภาคและโลกได้ดียิ่งขึ้น

    นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมบริษัทจีนที่ลงทุนและทำธุรกิจในกัมพูชา โดยระบุว่าการมีอยู่ของพวกเขาสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของรัฐบาลกัมพูชาอย่างแท้จริง

    สำหรับคณะผู้แทนของบริษัทอุตสาหกรรมจีน 17 แห่ง ที่เข้าพบปะนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ตนั้น นำโดยนายเซิน หมิงหรง(Shen Mingrong) ประธานบริษัท Zhenjiang ZhoungChao New Material Co Ltd และแสดงความสนใจที่จะเปลี่ยนจังหวัดพระสีหนุให้เป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์ต้นแบบ

    นายเซินให้คำมั่นที่จะขยายการลงทุนพร้อมทั้งช่วยดึงดูดนักธุรกิจและผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยรัฐบาลกัมพูชา และสอดคล้องกับ อเนกประสงค์ต้นแบบแผนแม่บทเพื่อเปลี่ยนจังหวัดพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    นายเซินได้ให้ข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรีว่า คณะนักลงทุนอุตสาหกรรมที่ได่รับเชิญให้เข้าร่วมการเดินทางในครั้งนมีความการประชุมที่เชี่ยวชาญด้านการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบการเงินและการธนาคาร สิ่งทอ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรม พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาชนบท การประกันภัย สิ่งแวดล้อม ของเสีย และน้ำ ตลอดจนบริษัทที่ลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษและโลหะ

    นายเซินกล่าวว่า คณะนักธุรกิจพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายของกัมพูชาในการดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบายการจัดการและผลตอบแทนการลงทุน นโยบายการจัดการแรงงานของแรงงานที่มีทักษะทั้งในและต่างประเทศ และยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมพลังงานสีเขียวและ เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน

    นายฮุน มาเน็ตให้ความมั่นใจกับคณะนักธุรกิจจีนว่า รัฐบาลกัมพูชายึดมั่นในนโยบายที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และปฏิบัติได้จริงมาโดยตลอด โดยการรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทุกประเทศ เพื่อให้มั่นใจถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็มอบแพลตฟอร์มการลงทุนที่ดีกว่า และเน้นย้ำว่า รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการส่งเสริมการฝึกอบรมสายอาชีพและด้านเทคนิค ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงการเพิ่มทักษะใหม่และเสริมทักษะเดิม(Upskilling and Reskilling) อย่างต่อเนื่อง

    รัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดนโยบายการไหลเข้าออกของเงินทุนอย่างเสรี และนักลงทุนจะสามารถโอนเงินลงทุนเข้าและออกผ่านระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ให้ความสะดวกและส่งเสริมกระบวนการลงทุนในประเทศ

    “กัมพูชาใช้พลังงานสะอาดประมาณ 60% และกำลังวางแผนที่จะผลักดันการใช้พลังงานสะอาดให้สูงถึง 70% ภายในปี 2573” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    บริษัทอุตสาหกรรม 17 แห่งที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี ได้แก่ Yongsheng Holding Co Ltd, Chinese Investment in Cambodia Association, Sabrina Fashion Industrial Corp, Titan Stone Real Estate Group, Qingdao Huatong State-Owned Capital, Guangdong Huate Gas Co Ltd, Titan Stone Life Insurance Group , China Everbright Environment Group Limited, Nam Liong Group, Shanghai Shirong Paper Industry Co Ltd, Qingdao Huijun Environment Energy Engineering Co Ltd, Informaxx International Investment Co Ltd, R&F Properties HS (Cambodia) Co Ltd, Shanghai Celefit Limited, Alliance Promised Land และ Zhongda บริษัท ยูไนเต็ด โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด

    กัมพูชาไฟเขียวการรถไฟลาว-จีน ศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501463624/kingdom-mulling-high-speed-railway-link-with-lao/
    บริษัท การรถไฟลาว-จีน จำกัด (Laos-China Railway Co., Ltd.-LCRC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับความร่วมมือที่อาจจะเกิดขึ้นในการพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟในกัมพูชาและการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงระหว่างกัมพูชาและสปป.ลาว

    ผู้แทนจากการรถไฟลาว-จีนเสนอโครงการนี้ในการประชุมกับนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ในเวียงจันทน์ ในระหว่างการเยือนลาวอย่างเป็นทางการสองวัน

    นายกรัฐมนตรีขานรับความคิดริเริ่มของบริษัท โดยขอให้บริษัททำงานร่วมกับบริษัท Royal Railway Public Limited. จากการเปิดเผยของนายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา ซึ่งเข้าร่วมพบปะครั้งนี้ด้วย

    “นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ขอให้บริษัททำงานร่วมกับ คิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา ซึ่งมีบริษัทคือ Royal Railway Public Limited ในกัมพูชา” นายเฮงกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใช้เชื่อมโยงใหม่

    ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างกัมพูชาและลาวโดยตรง อย่างไรก็ตาม มีจำนวนเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นภายในทั้งสองประเทศ

    การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและลาวเคยมีการหารือกันมาแล้วโดยอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เฮน และนายกรัฐมนตรีลาว สอนนไซ สีพันดอน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในกรุงพนมเปญ

    ปัจจุบันกัมพูชามีทางรถไฟ 2 สาย คือ พนมเปญ-ปอยเปต และพนมเปญ-พระสีหนุ เครือข่ายทางรถไฟอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการรถไฟหลวง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มรอยัลกรุ๊ป

    กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งระบุว่า รัฐบาลวางแผนที่จะยกระดับระบบรางที่มีอยู่ให้เป็นรถไฟความเร็วสูง

    นายเฮงกล่าวว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นในอนาคต เส้นทางรถไฟระหว่างกัมพูชา-ลาวจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทั้งสองประเทศในด้านการขนส่ง ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าและผู้คนเดินทางไปยังจีน และเชื่อมโยงไปยังเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป

    ในการประชุมที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานชายแดน อำนวยความสะดวกในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

    ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสนับสนุนข้อกำหนดทางเทคนิคในการเลือกสถานที่สำหรับสร้างสะพานเชื่อมระหว่างโตนเล รอบอฟ ในกัมพูชา และซาลามเปา ในลาว โดยเร็วที่สุด

    กัมพูชา-ลาวตกลงขยายความร่วมมือด้านพลังงาน

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501462332/kingdom-laos-agree-to-widen-energy-cooperation/
    เมื่อวันที่25 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต และนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอนของลาว ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามในข้อตกลง 3 ฉบับ และบันทึกความเข้าใจ (MoU) 4 ฉบับ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการค้าพลังงานเพื่อการพัฒนาภาคพลังงานในราชอาณาจักร โดยในข้อตกลง 7 ฉบับนั้น มี 5 ฉบับเกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านพลังงาน

    รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาล สปป. ลาว ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานฉบับใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง นายแกว รัตนะ รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กัมพูชา และพงซับทวี กรุ๊ป เพื่อจัดซื้อพลังงานสีเขียวจากโครงการพลังน้ำ เซกะมาน 2 และพลังงานลม ไฮบริด ในประเทศลาว ให้กับกัมพูชา

    นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กัมพูชากับบริษัทหลายแห่ง รวมถึง Xaysana Group, WIS และ Sisan International Joint Development Sole Ltd ในการซื้อจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำระบบสูบกลับ am Emoun I, II Hydro, ปั๊มกักเก็บและโครงการไฮบริดพลังงานลมจากลาวไปยังกัมพูชา

    การเยือนอย่างเป็นทางการสองวันของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (MFAIC) นางจอม นิมล Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายคิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) และโส นาโร ผู้แทนรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีดูแลกิจการอาเซียน

    สปป.ลาวเห็นชอบร่างกฎหมายท่าเรือบก-การลงทุนกระตุ้นการเติบโต

    นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_64_Govtendorses_y24.php
    รัฐบาลสปป.ลาวได้รับรองเอกสารสำคัญหลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน การพัฒนาชีวิตของพลเมือง และการปกป้องความมั่นคงของชาติ

    ในช่วงท้ายของการประชุมประจำเดือนของรัฐบาลในวันพุธ คณะรัฐมนตรีได้รับรองข้อเสนอทางกฎหมายที่สำคัญหลายข้อในหลักการ รวมถึงร่างการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับท่าเรือบก โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการมีแนวทางที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการการลงทุนของท่าเรือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล

    โดยมีนายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานในการร่วมหารือและรับรองร่างหลักการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นเป็นพิเศษในการกำหนดปัจจัยสำหรับนักลงทุนในประเทศลาวที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศ

    นอกจากนี้ ยังได้ผ่านการร่างแผนแม่บทด้านการผลิตแห่งชาติจนถึงปี 2573 และร่างการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับคนเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการข้ามชายแดนและสนามบินนานาชาติ

    การพิจารณายังรวมถึงแผนแแม่บทเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติจนถึงปี 2573

    สำหรับภารกิจที่กำหนดไว้ในเดือนเมษายน รัฐบาลย้ำถึงความมุ่งมั่นในการจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเงิน ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิตและสร้างความก้าวหน้าในการกระจายการส่งออกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในประเทศลาว เจ้าหน้าที่ให้คำมั่นว่าจะมีการแทรกแซงแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อแก้ไขแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาในผลิตภัณฑ์บางประเภท

    จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติลาว อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมอยู่ที่ 24.9% อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินกีบ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการในประเทศที่ไม่เพียงพอ

    คณะรัฐมนตรียังได้มีมติที่จะเพิ่มรายได้ของรัฐ โดยเน้นไปที่การควบคุมศักยภาพทางเศรษฐกิจในภาคเหมืองแร่และการท่องเที่ยว ในเวลาเดียวกันก็จะมุ่งเน้นไปที่การสำรวจแหล่งรายได้ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเงินกองทุนของรัฐและรักษาความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

    ในขณะที่รัฐบาลกำหนดแนวทางสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม การพิจารณาเหล่านี้เน้นย้ำถึงความทุ่มเทอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนลาวไปสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรือง

    นอกจากนี้ยังได้ทบทวนงานที่ดำเนินการและสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในเดือนมีนาคม และสรุปแผนปฏิบัติการสำหรับเดือนเมษายน