ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup จีนลดภาษีนำเข้า 9 ประเทศอาเซียนภายใต้ RCEP เริ่ม 1 ม.ค.นี้

ASEAN Roundup จีนลดภาษีนำเข้า 9 ประเทศอาเซียนภายใต้ RCEP เริ่ม 1 ม.ค.นี้

26 ธันวาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 ธันวาคม 2564

  • จีนลดภาษีนำเข้า 9 ประเทศอาเซียนภายใต้ RCEP เริ่ม 1 ม.ค.นี้
  • อินโดนีเซียพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวใหญ่สุดในโลก
  • เวียดนามนักลงทุน FDI รายใหญ่สุดในกัมพูชา
  • สิงคโปร์ติดท้อป 10 ประเทศรับ FDI
  • เมียนมาใช้หยวนเป็นสกุลเงินสำหรับการชำระเงินเพื่อการค้ากับจีน
  • ธนาคารคานาเดียจับมือปตท.กัมพูชาบริการชำระเงินดิจิทัล
  • จีนลดภาษีนำเข้า 9 ประเทศอาเซียนภายใต้ RCEP เริ่ม 1 ม.ค.นี้

    ภาพต้นแบบจาก https://vnexplorer.net/rcep-a-key-priority-in-vietnams-trade-integration-strategy-a2020124767.html

    กระทรวงการคลังจีน เปิดเผยว่า จีนจะลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าหลายประเภทที่นำเข้าจาก 9 ประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เพื่อดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญ ที่จะส่งเสริมการเติบโตของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

    สำนักงานคณะกรรมการภาษีศุลกากรของคณะมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งมีสำนักงานในกระทรวงได้ประกาศเมื่อวันพุธ(15 ธ.ค.)ว่า ด้วยการให้ความเห็นชอบและอนุมัติจากคณะมนตรีแห่งรัฐ ภาษีศุลกากรของจีนสำหรับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะลดลงในวันที่ 1 มกราคม

    คณะกรรมการฯระบุว่า ตารางเวลาสำหรับการลดภาษีนำเข้าจากสมาชิก RCEP รายอื่นๆ จะประกาศในภายหลัง

    ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การดำเนินการครั้งนี้ ส่งผลให้กว่า 90% ของการค้าสินค้าระหว่างสมาชิก RCEP จะปลอดภาษี และจะได้รับผลบวกกับโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ

    ความตกลง RCEP ถือเป็นครั้งแรกที่จีนและญี่ปุ่นตกลงที่จะลดภาษีศุลกากรในการค้าทวิภาคี ในปี 2565 จีนจะยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับ 24.9% ของสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น และสินค้านำเข้าของญี่ปุ่นประมาณ 55.5% จากประเทศจีนจะปลอดภาษี

    ฉุย ฟาน ศาสตราจารย์แห่ง School of International Trade and Economics แห่ง University of International Business and Economics กล่าวว่า การปรับลดภาษีศุลกากรระหว่างสมาชิก RCEP จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออก

    กลุ่มประเทศสมาชิกยังจะส่งเสริมการบูรณาการของอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจของสมาชิกในการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ศาสตราจารย์ฉุยกล่าว

    นอกจากนี้ จีนจะใช้ อัตราภาษีชั่วคราวสำหรับสินค้านำเข้า 954 รายการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

    หนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการภาษีศุลกากรของคณะมนตรีแห่งรัฐระบุว่า อัตราภาษีชั่วคราวนี้จะต่ำกว่าอัตราภาษีของประเทศในกลุ่มชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง(Most-Favored-Nation:MFN)

    สินค้าที่ใช้อัตราภาษีใหม่นี้ เช่น ยาฉีดเรเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งชนิดใหม่ จะลดลงเหลือ 0% ในปีหน้า และภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทก็จะลดลงด้วย เช่น เสื้อผ้าเด็กและอุปกรณ์สกี รวมไปถึง งานศิลปะ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สายไฟแรงสูงสำหรับรถไฟความเร็วสูง และส่วนประกอบเซลล์เชื้อเพลิง

    ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จีนจะลดอัตราภาษีศุลกากรของ MFN สำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ 62 รายการซึ่งอัตราเฉลี่ยจะลดลงจาก 3.4%เป็น 1.7%

    เมื่อประเมินการพัฒนาของอุตสาหกรรมภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงในสภาวะอุปสงค์และอุปทาน จีนจะขึ้นภาษีนำเข้าและส่งออก สำหรับสินค้าบางประเภทภายในขอบเขตของภาระผูกพันตามภาคยานุวัติต่อองค์การการค้าโลก(World Trade Organization:WTO)ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม

    ตัวอย่างเช่น จะกำหนดอัตราภาษีส่งออกที่สูงขึ้นสำหรับฟอสฟอรัสและทองแดงพอง เพื่อผลักดันการยกระดับและการพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้สูงขึ้น

    เพื่อเป็นไปตามข้อตกลงการค้าเสรีและข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับประเทศหรือภูมิภาคอื่น จีนจะกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทจาก 29 ประเทศและภูมิภาค

    หนังสือเวียนระบุว่า จีนจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในปีหน้า ซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตและแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตกับจีนเรียบร้อยแล้ว

    สวี เจียงกวง ศาตราจารย์ประจำ School of Public Administration and Policy แห่ง Renmin University of China กล่าวว่า การลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าทางการแพทย์และสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ภาษีศุลกากรสำหรับส่วนประกอบสำคัญบางอย่าง เช่น อุปกรณ์กราไฟท์ที่มีความบริสุทธิ์สูงและสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงที่ลดลง จะสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตและลดต้นทุนการผลิต

    อินโดนีเซียพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวใหญ่สุดในโลก

    ที่มาภาพ:https://www.rfa.org/english/news/china/green-12212021142031.html
    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้วางศิลากฤกษ์เพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม “สีเขียว” หรือ Green Indonesian Industrial Estate
    มูลค่า 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐบนเกาะบอร์เนียว ด้วยเงินลงทุนจากประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีน

    Green Indonesian Industrial Estate จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก ด้วยพื้นที่ 30,000 เฮกตาร์ (116 ตารางไมล์) ในจังหวัดกาลิมันตันเหนือ มีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับ มอลตา ประเทศที่เป็นเกาะ และเป็นศูนย์กลางการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซิลิโคนสำหรับ และสินค้า

    รัฐบาลตั้งเป้าว่าปี 2024 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโจโกวี การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Green Indonesia ที่ตั้งอยู่ในเขตบุลังกัน จะเสร็จสมบูรณ์

    “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของอินโดนีเซียเริ่มต้นจากที่นี่” ประธานาธิบดีโจโกวี กล่าวในพิธีเปิดการก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรมใหม่นี้จะสร้างงานและมีส่วนสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาล

    “นี่เป็นความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซีย นักลงทุนอินโดนีเซีย นักลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนักลงทุนจากจีน ทั้งหมดร่วมกัน”

    “สิ่งที่จะผลิตในกาลิมันตันเหนือนั้นเป็นสินค้าสำเร็จรูปเกือบทั้งหมด ดังนั้นจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มอย่างมากสำหรับประเทศของเรา เพราะเราจะขายในรูปของสินค้าสำเร็จรูป” ประธานาธิบดีโจโกวีกล่าว

    นายลูฮุต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการการเดินเรือและการลงทุนกล่าวว่า โครงการะมีมูลค่าสูงถึง 1,848 ล้านล้านรูเปียะห์ (อย่างต่ำ 129 พันล้านดอลลาร์) จนถึงตอนนี้ นักลงทุนรายใหญ่อย่างน้อย 10 รายจากประเทศจีนได้ให้คำมั่นที่จะลงทุนในนิคม

    “พวกเขาเป็นนักลงทุนที่มีประวัติการลงทุนที่ดีมาก และได้ลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในการผลิตนิกเกิลขั้นปลายในอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

    นิกเกิล ซึ่งเป็นโลหะที่ขุดได้ในภูมิภาคสุลาเวสีและโมลุกกะของอินโดนีเซีย ใช้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ พบว่า บริษัทที่เชื่อมโยงกับจีน ที่ครองอุตสาหกรรมถลุงนิกเกิลในอินโดนีเซีย ได้แก่ PT Sulawesi Mining Investment, PT Virtue Dragon Industry, PT Huadi Nickel Alloy และ PT Harita Nickel

    ในเดือนพฤษภาคม บริษัท Zhejiang Huayou Cobalt ของจีนกล่าวว่าจะร่วมมือกับ EVE Energy ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างโรงงานนิกเกิลและโคบอลต์มูลค่า 2.08 พันล้านดอลลาร์บน ฮัลมาเหรา และเกาะในแถบโมลุกกะ

    ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 9,000 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะป้อนพลังงานให้กับนิคมในอนาคต

    Kayan Hydro Energy กำลังสร้างโรงงานมูลค่า 17.8 พันล้านดอลลาร์ด้วยเงินทุนจาก Power Construction Corporation of China (PCR)
    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2019 และการก่อสร้างเขื่อน 5 แห่ง ได้ดึงดูดนักลงทุนรายอื่นๆ

    จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองในอินโดนีเซีย โดยการลงทุนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นเกือบ 4.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 จาก 2.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017

    จีนได้สนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่างๆ ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีหน้า

    จากการศึกษาของ AidData ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนกันยายน อินโดนีเซียเป็นหนี้ “หนี้ที่ซ่อนอยู่” ถึง 17.28 พันล้านดอลลาร์กับจีน มากกว่า 4 เท่าของ 3.90 พันล้านดอลลาร์หนี้สาธารณะที่มีการรายงาน

    แต่ อิสกันดาร์ สิมอรังกีร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจกล่าวว่า นี่ไม่ใช่หนี้ที่ซ่อนอยู่ “มันเป็นการลงทุนของบริษัทจีน”

    เวียดนามนักลงทุน FDI รายใหญ่สุดในกัมพูชา

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/50993634/vietnam-should-promote-new-investment-wave-in-cambodia-says-president/

    เวียดนามเป็นนักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รายใหญ่ที่สุดจากอาเซียนในกัมพูชาด้วยโครงการที่ดำเนินการอยู่ 188 โครงการ และทุนจดทะเบียนรวม 2.85 พันล้านดอลลาร์

    ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามได้ลงทุนใน 4 โครงการใหม่ในกัมพูชาด้วยทุนจดทะเบียนเกือบ 90 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.6 เท่าเมื่อเทียบปีต่อปี จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ในการประชุมระหว่างประธานาธิบดีเหงียน ซวน ฟุกของเวียดนามและสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อวันอังคาร(21 ธ.ค.)

    ประธานาธิบดีฟุกเสร็จสิ้นการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธ(22 ธ.ค.)

    ในช่วง 11 เดือนแรกของปี การค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 84% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ระดับกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์

    หนึ่งในการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามคือ Metfone ซึ่งเป็นแบรนด์โทรคมนาคมที่ดำเนินการโดย Viettel Cambodia ซึ่งจากก่อตั้งมา 15 ปี บริษัทมีพนักงาน 3,000 คนในปัจจุบัน

    ปัจจุบัน Metfone เป็นแบรนด์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชาด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ 9 ล้านราย หรือ 60% ของประชากร คิดเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดโทรคมนาคม

    Metfone มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับรัฐของกัมพูชามากที่สุดรวม 820 ล้านดอลลาร์จนถึงปัจจุบัน

    Thagrico บริษัทด้านเกษตรในเครือ Truong Hai Auto Corporation (Thaco) ได้ลงทุน 388 ล้านดอลลาร์เพื่อปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ต้นยาง และสวนผลไม้ การส่งออกจากฟาร์มกัมพูชาคาดว่าจะสูงถึง 250,000 ตันในปีนี้ มีมูลค่า 151 ล้านดอลลาร์ สร้างงาน 15,900 คน และคาดว่าการส่งออกกล้วยจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์

    บริษัทวางแผนที่จะลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ในปีหน้าในด้านการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ และอีก 500 ล้านดอลลาร์หากจำเป็น

    บริษัทเวียดนามยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น โดย Viettel เสนอให้กัมพูชาพัฒนาทรัพยากร 4G เพิ่มเติมเพื่อให้ Metfone สามารถขยายและให้บริการ 4G และ 5G ได้ ขณะที่ Thagrico ขอให้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า

    ประธานาธิบดีฟุกที่พบปะกับผู้ประกอบการกัมพูชาเวียดนามในวันที่ 22 ธันวาคมระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ได้แนะนำให้เวียดนามยกระดับขนาดและคุณภาพของการลงทุนในกัมพูชา เพื่อส่งเสริมการลงทุนคลื่นลูกใหม่

    ประธานาธิบดีฟุกชี้ว่าสาขาที่มีศักยภาพ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง เกษตรกรรม การค้าปลีก การท่องเที่ยว และบันเทิง

    ประธานาธิบดีฟุกได้ยกย่องชุมชนธุรกิจเวียดนามในกัมพูชาที่ฝ่าฟันความยากลำบากอันเนื่องมาจากโควิด-19 พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดกัมพูชา โดยเฉพาะการเกษตร รวมทั้งยังได้ชื่นชมแนวโน้มการลงทุนใหม่ของเวียดนามที่เน้นความยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาดและการปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก

    ในการประชุม บริษัทที่เข้าร่วมจำนวนมากได้แสดงความกังวลต่อจำนวนพนักงานที่รู้ภาษาเวียดนามในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร และโทรคมนาคม
    และมีข้อเสนอให้รัฐเวียดนามและรัฐบาลเพิ่มทุนให้นักเรียนกัมพูชาไปเรียนที่เวียดนาม เพื่อเอื้ออำนวยในด้านทรัพยากรบุคคลสำหรับธุรกิจเวียดนามในกัมพูชา

    นอกจากนี้ยังเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องมีนโยบายพิเศษในการช่วยเหลือนักลงทุนเวียดนามในกัมพูชา โดยเฉพาะในด้านการเกษตร การเพาะปลูกต้นไม้อุตสาหกรรม และการทำฟาร์มทางน้ำ

    สิงคโปร์ติดท้อป 10 ประเทศรับ FDI

    ที่มาภาพ:https://blogs.imf.org/2021/12/16/the-worlds-top-recipients-of-foreign-direct-investment/?utm_medium=email&utm_source=govdelivery

    ผลการสำรวจล่าสุดของ Coordinated Direct Investment Survey พบว่าประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment :FDI)10 อันดับแรกของโลกภายในปี 2020 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก จีน และสหราชอาณาจักร เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และเยอรมนี โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่รายงานเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 6% จากปี 2019 ถึง 2020 (ในกลุ่มเศรษฐกิจที่รายงานข้อมูลสำหรับทั้งปี 2019 และ 2020)

    แม้จะมีความไม่แน่นอนจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด -19 แต่อันดับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

    การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2019 ถึง 2020 นำโดยการเพิ่มขึ้นของยุโรปและเอเชียแปซิฟิก ในยุโรป สหราชอาณาจักรและเยอรมนีอยู่ในอันดับต้นๆ โดยคิดเป็น 18%และ 15%ตามลำดับ ในเอเชียแปซิฟิก การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีน จีนมีการลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศมากที่สุด ขณะเดียวกัน อันดับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในแอฟริกาลดลงเล็กน้อยจากปี 2019 ส่วนใหญ่มาจากอันดับที่ต่ำลงของไนจีเรีย

    สหรัฐอเมริกาครองอันดับผู้นำในฐานะผู้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในปี 2019 และรั้งตำแหน่งผู้นำไว้ได้ในปี 2020 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการลงทุนโดยตรงที่สูงขึ้นจากญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ทั้ง 3 ประเทศมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

    เขตปกครองที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่น เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ และไอร์แลนด์ ยังคงเป็นกลุ่มนักลงทุนโดยตรงอันดับต้นๆ และกลุ่มเศรษฐกิจที่ได้รับการลงทุน ตลอดจนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนประเภทต่างๆ ซึ่งรวมถึงช่องทางผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ(special purpose entities )

    Coordinated Direct Investment Survey เป็นการสำรวจอันดับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกเพียงฉบับเดียว ซึ่งจัดทำขึ้นทุกปีโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่นำเสนอข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์การลงทุนทางตรงระดับทวิภาคีในกลุ่มเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายสะท้อนการกระจายการลงทุน โดยตรงทั้งขาเข้าและขาออกตามภูมิศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งช่วยให้เข้าใจถึงขอบเขตของโลกาภิวัตน์ได้ดีขึ้น และสนับสนุนการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงด้านต่างประเทศและผลกต่อเนื่องของการเชื่อมโยงกันมากขึ้น

    เมียนมาใช้หยวนเป็นสกุลเงินสำหรับการชำระเงินเพื่อการค้ากับจีน

    การค้าชายแดนเมียนมา-จีน ด่านมูเซ ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/muse-border-trade-almost-hangs-down-because-of-covid-19/
    เมียนมาจะเริ่มใช้ เงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินสำหรับการชำระเงินอย่างเป็นทางการเพื่อการค้าระหว่างประเทศกับจีนในปีหน้า รวมทั้งจะเริ่มกลับไปดำเนินโครงการร่วมกันอีกครั้ง ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนให้ใกล้ชิดมากขึ้น

    รัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งได้ยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ระบุในแถลงการณ์ว่า พอใจกับความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตร หรือ kinship กับจีน ที่ได้สนับสนุนทางการเงินและวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

    แถลงการณ์ซึ่งออกโดยกระทรวงสารสนเทศและการลงทุน ยังได้ระบุโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ร่วมกับจีน พร้อมกับกล่าวว่า เป็นความสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งแผนงานรถไฟและท่าเรือ

    โกลบอล ไทมส์ สื่อของรัฐบาลจีนรายงานเกี่ยวกับแผนการใช้เงินหยวนของเมียนมาไว้ก่อนหน้านี้ ระบุว่า การใช้เงินหยวนของเมียนมาเพื่อแก้ไขการขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์และสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ จากสภาะเศรษฐกิจตกต่ำ

    การยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา และการปราบปรามผู้ประท้วงที่มีผู้เสียชวิตหลายร้อยคน ได้รับเสียงตำหนิจากประเทศทางตะวันตกและทำให้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทางการทหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

    นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การโดดเดี่ยวเมียนมาจากนานาชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมียนมาหันไปใกล้ชิดกับจีน ซึ่งไม่ได้วิจารณ์รัฐประหารเมียนมา แต่ย้ำหลายครั้งให้หลายฝ่ายในเมียนมาขจัดความแตกต่างและผลักดันการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตย

    ในแถลงการณ์ เมียนมาระบุว่า โครงการนำร่องการใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศ จะยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับจีนและจะสนัสนุนการค้าชายแดนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

    กระทรวงยังระบุว่า เศรษฐกิจที่ตกต่ำในปีนี้ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์นานาชาติได้ประมาณการไว้ และเมียนมายังคาดว่าเรษฐกิจปี2021-2022 จะขยายตัวเล็กน้อย

    ธนาคารคานาเดียจับมือปตท.กัมพูชาบริการชำระเงินดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50991324/canadia-bank-plc-and-ptt-cambodia-partner-on-digital-payment-services-2/

    ธนาคารคานาเดีย ผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของกัมพูชาและ บริษัท ปตท.(กัมพูชา) จำกัด หรือ PTT (Cambodia) Limited บริษัทน้ำมันและการค้าปลีกระดับสากล ได้ลงนามในข้อตกลงพันธมิตรด้านบริการชำระเงินดิจิทัลและโครงการการจัดหาเงินทุนแก่ผู้ขาย ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเสริมสร้างการดำเนินธุรกิจได้ทั่วราชอาณาจักร

    นาย เรย์มอนด์ เซีย ไซ กวาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร CANADIA และนายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ปตท.กัมพูชา ลงนามในข้อตกลงเมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม ในพิธีลงนามที่จัดขึ้นที่อาคาร CANADIA Tower

    ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารคานาเดียและ ปตท. จะสำรวจโอกาสในการร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านโซลูชันการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โซลูชันการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และเครือข่ายเอทีเอ็มในการดำเนินงานของ ปตท. ทั่วประเทศ นอกจากบริการชำระเงินดิจิทัลแล้ว ธนาคารคานาเดีย จะเสนอแพ็คเกจเงินทุนให้กับตัวแทนจำหน่ายปตท.

    PTT Direct Debit Services โดยธนาคารคานาเดีย พร้อมให้บริการตัวแทนจำหน่าย ปตท. ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยบริการตัดบัญชีโดยตรง ตัวแทนจำหน่าย ปตท. สามารถชำระเงินสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของปตท. ผ่านระบบ PTT E-Order โดยการโอนเงินจากบัญชีธนาคารคานาเดียไปยังบัญชีของปตท.ที่มีกับธนาคารคานาเดียเพียงแค่คลิก เท่านั้น บริการดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์และบริการของ ปตท. และช่วยให้การทำธุรกรรมทางธนาคารกับธนาคารคานาเดีย รวดเร็วขึ้นมาก