ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามติด 25 อันดับแรกเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581

ASEAN Roundup เวียดนามติด 25 อันดับแรกเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581

7 มกราคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2566-6 มกราคม 2567

  • เวียดนามติด 25 อันดับแรกเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581
  • เวียดนามมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้
  • เวียดนามเป้าหมายของนักลงทุนที่เน้นต้นทุนการผลิตต่ำ
  • ฟิลิปปินส์ FDI แซงหน้ามาเลเซียและไทยขึ้นอันดับ 3 อาเซียน
  • นักลงทุนต่างชาติแห่ทำธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาว
  • อินโดนีเซียเล็งรายได้ 25 พันล้านดอลล์จากนโยบายฟรีวีซ่า

    เวียดนามติด 25 อันดับแรกเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581

    ที่มาภาพ: https://vietnam.travel/places-to-go/southern-vietnam/ho-chi-minh-city
    รายงาน WORLD ECONOMIC LEAGUE TABLE 2024 ของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ หรือ Centre Economics and Business Research (Cebr) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศในลอนดอน คาดการณ์ว่าอันดับของเวียดนามในทำเนียบเศรษฐกิจโลก (World Economic League Table :WELT) จะอยู่อันดับที่ 21 ในปี 2581

    Cebr ยังคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีของเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.7% ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 ในช่วง 9 ปีหลังจากนั้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวโดยเฉลี่ย 6.4% ในแต่ละปี ในอีก 15 ปีข้างหน้า Cebr คาดการณ์ว่าเวียดนามจะขยับขึ้นอย่างรวดเร็วในการจัดอันดับ WELT จากอันดับที่ 34 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 21 ในปี 2581 ด้วยความได้เปรียบด้านประชากร ทำให้ประเทศเวียดนามสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในปี 2588 ด้วยจำนวนประชากรที่มากและค่อนข้างอายุน้อย เวียดนามจึงมีโอกาสที่จะแซงหน้าประเทศส่วนใหญ่ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ตามหลังเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่จะติด 1 ใน 25 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581

    ในการจัดอันดับ WELT ครั้งล่าสุดนี้ Cebr กล่าวว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ใน WELT ระหว่างปี 2566 ถึง 2581 ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะตอกย้ำจุดยืน โดยการพัฒนาตำแหน่งของตนภายในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก ดำเนินการปฏิรูปภายในประเทศ และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตที่สามารถทำได้ผ่านกระบวนการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพทั้งในภาครัฐและเอกชน

    สำหรับฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 นั้น Cebr คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีจะเร่งตัวขึ้นเป็นค่าเฉลี่ยที่ 6.2% อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของการคาดการณ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะลดลงเหลือเฉลี่ย 6.1% ต่อปี ในอีก 15 ปีข้างหน้า ฟิลิปปินส์จะไต่อันดับขึ้นอย่างรวดเร็วในการจัดอันดับ WELT โดย Cebr คาดการณ์ว่าอันดับของฟิลิปปินส์จะขยับจากอันดับที่ 33 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 23 ในปี 2581 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 10 อันดับในการจัดอันดับ

    รายงานเน้นย้ำว่า ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญ และคาดว่าจะไต่ขึ้น 10 อันดับและ 13 อันดับตามลำดับภายในปี 2581 พร้อมโอกาสอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วม 25 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก

    สำหรับประเทศอื่นๆในอาเซียน CERB คาดว่า การแข่งขันระดับประเทศระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่อง เศรษฐกิจสิงคโปร์แซงหน้าเศรษฐกิจมาเลเซียมาแล้วในปี 2558 แต่คาดการณ์ว่ามาเลเซียที่ปัจจุบันตามหลังสิงคโปร์ 3 อันดับ จะกลับมาแซงหน้าสิงคโปร์อีกครั้งในปี 2570 โดยได้แรงหนุนจากทั้งโครงสร้างประชากรและฐานเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นรวมกัน และจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 35 ของโลกภายในปี 2580 และขึ้นสู่อันดับที่ 33 ในปี 2581

    เมื่อมองไปข้างหน้าถึงปี 2581 อันดับของสิงคโปร์ใน WELT คาดว่าจะค่อยๆ เลื่อนลงจากอันดับที่ 32 ในปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 37 ในปี 2581 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม ท่ามกลางภูมิทัศน์ระดับโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและความกดดันด้านประชากรของประชากรสูงอายุและ อัตราเจริญพันธุ์ต่ำ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งและมีพลวัตมากที่สุดในโลก โดยมีกรอบสถาบันที่แข็งแกร่ง กำลังแรงงานที่มีทักษะสูง และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางการค้า การเงิน และเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

    ด้านอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก คาดว่าจะขยับขึ้นจากที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลกในปี 2565 และเป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับที่ 11 ของโลก ระหว่างปี 2566 ถึง 2581

    เมื่อมองไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียคาดว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญใน WELT โดยขยับจากอันดับที่ 16 มาเป็นอันดับที่ 11 ระหว่างปี 2566 ถึง 2581 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่ยั่งยืนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลผลิต แม้อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉลี่ย 4.5% ในอีกห้าปีข้างหน้า ในช่วงปี 2572 ถึง 2581 คาดว่ายังคงชะลอตัวลงอีก โดยมีอัตราการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% ต่อปี

    ประเทศไทยในปี 2566 อยู่ในอันดับ 31 เมื่อมองไปข้างหน้า Cebr คาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP ต่อปีจะเร่งตัวขึ้นเป็นเฉลี่ย 3.1% ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 ส่งผลให้ประเทศไทยไต่อันดับจากอันดับที่ 31 ไปทีอันดับ 23 ในปี 2571 แต่หลังจากนั้นจะถอยมาอยู่อันดับที่ 27 ภายในปี 2581 สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว เช่น ประชากรสูงวัย การเติบโตของผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการก้าวสู่สถานะประเทศรายได้สูงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

    ส่วนกัมพูชาปี 2566 ติดอันดับที่ 103 Cebr คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีในกัมพูชาจะเร่งตัวขึ้นเป็นเฉลี่ย 6.3% ระหว่างปี 2567 ถึง 2581 เส้นทางการเติบโตที่โดดเด่นนี้จะทำให้กัมพูชาแซงหน้าคู่แข่งหลายรายใน WELT ซึ่งCebr คาดการณ์ว่าอันดับของกัมพูชาจะดีขึ้นจากอันดับที่ 103 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 92 ภายในปี 2581 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 11 อันดับในการจัดอันดับ

    ด้านสปป.ลาว Cebr คาดว่า อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 4.2% ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 ในทศวรรษต่อๆ ไป Cebr คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ในแต่ละปี ระหว่างปี 2566 ถึง 2581 Cebr คาดการณ์ว่าอันดับของสปป.ลาว ใน WELT จะเลื่อนขึ้นอย่างมาก โดยอันดับจะเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 138 ในปี 2566 เป็น 117 ภายในปี 2581 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 21 อันดับในการจัดอันดับ

    ส่วนเมียนมา ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 Cebr คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 2.8% ในช่วงที่เหลือของการคาดการณ์ การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตอีกเล็กน้อยเป็นเฉลี่ย 2.9% ต่อปี ในอีก 15 ปีข้างหน้า อันดับของเมียนมาคาดว่าจะค่อยๆ ขยับขึ้นใน WELT จากอันดับที่ 88 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 86 ในปี 2581

    และสุดท้ายบรูไนดารุสซาลาม Cebr คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีจะอยู่ที่เฉลี่ย 3.1% ระหว่างปี 2567 ถึง 2571 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดและการขยายตัวของธุรกิจปลายน้ำในกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การท่องเที่ยวและการเกษตร จากนั้นคาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นเฉลี่ย 3.2% ระหว่างปี 2572 ถึง 2581 ส่วนในอีก 15 ปีข้างหน้า อันดับบรูไนดารุสซาลามคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงจากอันดับที่ 135 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 140 ในปี 2581 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความท้าทายเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การขาดแคลนน้ำมันและก๊าซสำรอง จำนวนประชากรสูงวัย และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม

    เวียดนามมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้

    ที่มาภาพ: https://lecvietnam.com/en/operations/news/cai-mep-thi-vai-has-a-chance-to-rise-from-2020-164.html
    เวียดนามจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการเติบโต การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการสร้างความสมดุลที่สำคัญของเศรษฐกิจในปี 2567 นายเจิ่น วัน เซิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวขณะเป็นประธานการแถลงข่าวของรัฐบาลในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 5 มกราคม

    นายเซินกล่าวว่าปี 2567 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเวียดนาม นอกเหนือจากการสนับสนุนปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตแบบดั้งเดิม เช่น การลงทุน การส่งออก และการบริโภค แล้ว ยังจำเป็นต้องส่งเสริมสิ่งใหม่ๆ เช่น ความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว เซมิคอนดักเตอร์ และไฮโดรเจน อีกทั้งรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะลดรายจ่ายงบประมาณของรัฐลง 5% และเพิ่มรายได้งบประมาณอย่างน้อย 5%

    กระทรวงและหน่วยงานท้องถิ่นจะยังคงปรับปรุงขั้นตอนการบริหารและกฎระเบียบทางธุรกิจต่อเนื่อง นายเซินกล่าว โดย เป้าหมายในปี 2567 คือการลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการบริหารลงอย่างน้อย 10% รวมทั้งยกระดับการดำเนินการให้แข็งขันขึ้นในการจัดการทรัพยากรและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อป้องกันภัยพิบัติและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการบูรณาการระหว่างประเทศจะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงผลลัพธ์ที่น่ายินดีของประเทศในปี 2566 โดยเศรษฐกิจขยายตัวในแต่ละไตรมาสเป็น 5.05% ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตสูงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นประมาณ 430 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ตลาดการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยลดลงประมาณ 2% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ภาคเกษตรกรรมยังคงมีความแข็งแกร่งโดยมีอัตราการเติบโต 3.83% ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ภาคบริการขยายตัว 6.82% และรายได้จากการขายปลีกสินค้าและบริการผู้บริโภครวมเพิ่มขึ้น 9.6% ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในแต่ละไตรมาส โดยมีอัตราการเติบโต 3.02% ต่อปี

    รายรับจากงบประมาณของรัฐเกินประมาณการประมาณ 8.12% ทำให้สามารถจัดสรรเงินประมาณ 560 ล้านล้านด่อง (22.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับการปฏิรูปเงินเดือนในอีก 3 ปีข้างหน้า (2567-2569)

    ในขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่าเกือบ 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การค้าและการลงทุนทั่วโลกหดตัว การเบิกเงินลงทุนของ FDI จริงอยู่ที่เกือบ 23.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา บ่งชี้ว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนสนับสนุน GDP ประมาณ 16.5% ทำให้เวียดนามเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน

    เวียดนามเป้าหมายของนักลงทุนที่เน้นต้นทุนการผลิตต่ำ

    นิคมอุตสาหกรรม บิ่ญเซือง ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-seeks-new-investor-incentives-as-cross-border-tax-rules-loom-4584136.html
    ประเทศเช่นเวียดนามและอินโดนีเซียอาจได้รับผลประโยชน์ จากบริษัทที่เริ่มมองหาศูนย์การผลิตที่มีต้นทุนต่ำในเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีอัตรากำไรต่ำ ซาวิลลส์ เอเชีย แปซิฟิก(Savills Asia Pacific) ระบุ

    หลังจากการหยุดชะงักเป็นเวลาสามปี ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศก็กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยต้นทุนการขนส่งไม่ว่าทางทะเลหรือทางอากาศส่วนใหญ่กลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้วเรือคอนเทนเนอร์ไม่ต้องเข้าคิวนอกท่าเรือหลักอีกต่อไป และธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ได้อ้างถึง “ความล่าช้าของซัพพลายเออร์” ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุดอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะธุรกิจจะกลับมาปกติสำหรับภาคโลจิสติกส์ การผลิต และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

    ความตึงเครียดด้านโรคระบาดและภูมิรัฐศาสตร์ได้แสดงถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และชี้ให้เห็นว่าต้องมีความแข็งแกร่งสำคัญกับการฟื้นฟูอีกครั้ง

    ในขณะเดียวกัน ต้นทุนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกสถานที่

    แจ็ค ฮาร์คเนส ผู้อำนวยการฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและลอจิสติกส์ระดับภูมิภาคของซาวิลส์ กล่าวว่า ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีนหมายความว่า จะไม่มีความคุ้มค่าด้านต้นทุนเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อมีการให้แรงจูงใจธุรกิจในประเทศเพื่อให้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมทั้งข้อกังวลด้านความมั่นคงอีกด้วย

    “บริษัทที่ฝังตัวอยู่ในจีนแล้วอาจจะไม่ถอนตัวออก แต่อาจมีการชะลอตัวในการจัดตั้งโรงงานใหม่ที่นั่น”

    ฮาร์คเนสชี้ให้เห็นว่า บริษัทหลายแห่งที่มีโรงงานในจีนกำลังมองหาสถานที่เพิ่มเติมมากกว่าการตั้งโรงงานใหม่แทนโรงงานเดิม ตัวอย่างเช่น แอปเปิ้ล ที่ได้ประกาศแผนการที่จะกระจายธุรกิจออกจากจีน ในขณะที่ซีเมนส์กล่าวว่ากำลังมองประะเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    “กระบวนการนี้กำลังถูกเร่งให้เร็วขึ้นในภาคส่วนที่ถือว่ามีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อนโยบายอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

    “นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลต่ออำนาจของรัฐต่อบริษัทเทคโนโลยีจีนบางแห่ง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า การขยายกิจการไปทางฝั่งตะวันตกของบริษัทจีนจะถูกจำกัด”

    จอห์น แคมป์เบล รองผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายบริการอุตสาหกรรมของซาร์วิลลส์ เวียดนาม(Savills Vietnam) กล่าวว่า เวียดนามทางตอนเหนือและทางใต้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน โดยทางเหนือมีความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูง ในขณะที่ทางภาคใต้จะมีความหลากหลายมากกว่า

    ในแง่ของสัญชาติ มีบริษัทในยุโรปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกของข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) อีกทั้งยังคงมีความสนใจอย่างมากจากผู้ผลิตในเอเชีย โดยบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันที่ชอบภาคเหนือ ขณะที่ภาคการผลิตมีความเชื่อมั่นในภาคใต้

    แคมป์เบล คาดหวังว่า ครึ่งปีหลังจะดีขึ้นมาก หลังจากการชะลอตัวทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี โดยความท้าทายของภาคการผลิต เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง แต่ขณะนี้กลับมาฟื้นตัวแล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ผลิต นักลงทุน และบริษัทโลจิสติกส์ ซึ่งนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศจะพลิกฟื้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนธันวาคม

    ฟิลิปปินส์ FDI แซงหน้ามาเลเซียและไทยขึ้นอันดับ 3 อาเซียน

    ที่มาภาพ: https://milkeninstitute.org/report/philippines-sovereign-wealth-funds-case
    นายเซเฟริโน โรดอลโฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (DTI) กล่าวว่า (Net FDI) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิของฟิลิปปินส์ แซงหน้า FDI ที่ไหลเข้ามาเลเซียและไทยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566

    ในการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวการค้าเมื่อวันศุกร์(5 ม.ค.) นายโรดอลโฟกล่าวว่า การไหลเข้าสุทธิของ FDI สุทธิ ของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในปีที่แล้วลดลงมนอัตราเลขสองหลัก ขณะที่ FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 2.25%

    นายโรดอลโฟกล่าวว่า การไหลเข้าสุทธิของ FDI สุทธิของประเทศที่ลดลง 15.93% ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปีที่แล้ว ถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งลดลง 18.75% ประเทศไทย ลดลง 50.75% และมาเลเซีย ลดลง 61.31%

    การไหลเข้าสุทธิของ FDI สุทธิในปีที่แล้วที่ลดลงน้อยกว่าขอมาเลเซีย และไทย ทำให้ฟิลิปปินส์แซงหน้ามาเลเซียและไทย นายโรดอลโฟ ซึ่งเป็นประธานบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าว

    ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 การไหลเข้าสุทธิของ FDI ของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 5.88 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าของมาเลเซียที่ 4.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ และของไทยที่ 4.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    ยกเว้นสิงคโปร์ ข้อมูลล่าสุดทำให้ฟิลิปปินส์มีการไหลเข้าสุทธิของ FDI สุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเวียดนามที่ 15.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอินโดนีเซียที่ 16.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    “และจากภาวะอย่างนี้ เราบอกได้เลยว่าเราหวังว่าเมื่อครบวาระของประธานาธิบดี เราจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหญ่เป็นอันดับสองของ FDI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายโรดอลโฟกล่าว

    นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ความปรารถนาของฝ่ายบริหารของมาร์กอสนี้จะเป็นจริง เมื่อมองจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการเชิญชวน โดยเฉพาะในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ อาร์ มาร์กอส จูเนียร์ และภารกิจการส่งเสริมลงทุนออกนอนประเทศของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน (investment promotion agencies -IPA) เช่น พลังงานหมุนเวียน การแปรรูปแร่ และการผลิต

    นายอัลเฟรโด ปาสกาล รัฐมนตรีกระทรวงDTI และประธาน BOI กล่าวว่า IPA ตั้งเป้าที่จะอนุมัติการลงทุนมูลค่า 1.3 ล้านล้านเปโซ ถึง 1.5 ล้านล้าน เปโซในปี 2567

    “เพราะว่า FDI ของเราแตะระดับ 1.26 ล้านล้านเปโซแล้ว ดังนั้นในปี 2567 น่าจะมีอย่างน้อย 1.3 ถึง 1.5 ล้านล้านเปโซ” นายปาสกาลตอบเมื่อถูกถามถึงเป้าหมายอนุมัติการลงทุนของ BOI ในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าจะเพิ่มขึ้น 3% ถึง 19% จากการลงทุนทั้งปีที่ได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการบีโอไอในมูลค่า 1.26 ล้านล้านเปโซ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 ล้านล้าน PHP ในปีที่แล้ว

    เบื้องต้น BOI ตั้งเป้าหมายปีที่แล้วไว้ที่ 1 ล้านล้านเปโซ ต่อมาได้ปรับเพิ่มเป้าหมายเป็น 1.5 ล้านล้านเปโซในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

    ภายใต้โครงการ National Expenditure Program (NEP) บีโอไอตั้งเป้าหมายอนุมัติการลงทุนเพียง 995.59 พันล้านเปโซ

    นางเอรีส์ คากาทาน ผู้อำนวยการ BOI กล่าวว่า การอนุมัติการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายไป 272 พันล้านเปโซ มิฉะนั้นแล้วการอนุมัติลงทุนก็จะเป็น 1.532 ล้านล้านเปโซ โดยชี้ว่าคณะกรรมการได้หารือเกี่ยวกับโครงการมูลค่า 272 พันล้านเปโซแล้ว แต่การดำเนินการอย่างเป็นทางการถูกระงับเนื่องจากรอการปฏิบัติตามข้อกำหนดบางประการในภาคพลังงาน

    ผู้อำนวยการบีโอไอ นายเออร์เนสโต เดลอส เรเยสกล่าวว่า การลงทุนที่สามารถจดทะเบียนได้ในปีนี้น่าจะมีมูลค่า 930 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ เนื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินการภายใต้ One-Stop Action Center for Strategic Investments (OSAC-SI) หรือช่องทางสีเขียว( green lane)

    โดยการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 3.70 แสนล้านเปโซใน OSAC-SI ได้รับใบรับรอง Green Lane Certificate of Endorsement แล้ว ขณะที่การลงทุนมูลค่า 3.60 แสนล้านเปโซยังอยู่ระหว่างการประเมิน และ 200 พันล้านเปโซเป็นคำขอที่กำลังเข้ามาจาก SP New Energy Corp. (SPNEC) ซึ่งจัดว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    ประธานาธิบดีมาร์กอสลงนามคำสั่งบริหารฉบับที่ 18 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติและหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นทุกแห่งเร่งดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาต ใบอนุญาต และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับโครงการที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก

    นักลงทุนต่างชาติแห่ทำธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาว

    ที่มาภาพ: https://laosez.gov.la/index.php/en/where-invest/sezs-in-laos
    ในปี 2566 มีบริษัทต่างชาติประมาณ 178 แห่งได้เข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ทั่วประเทศ ทำให้เกิดโอกาสในการทำงานมากกว่า 3,600 ตำแหน่งสำหรับคนงานทั้งในและต่างประเทศ

    นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วยบริษัทในภาคบริการ 127 แห่ง ในภาคอุตสาหกรรม 18 แห่ง การค้า 30 แห่ง และเกษตรกรรม 3 แห่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมเป็นเงินกว่า 520 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีทุนจดทะเบียนรวมกัน 178 ล้านเหรียญสหรัฐ

    นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษยังร้านค้าและสถานประกอบการอีกกว่า 2,645 แห่ง ซึ่งสร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 174 พันล้านกีบ (มากกว่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้กับงบประมาณของรัฐบาล โดยธุรกิจเหล่านี้จ้างคนงาน 3,644 คน แบ่งเป็นแรงงานลาว 3,572 คน และแรงงานต่างด้าว 72 คน

    นายสอนปะเสิธ ดาลาวง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ( Promotion and Management Office of the Special Economic Zones:OSEZPM) กล่าวว่า จำนวนคนงานลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจนี้กระตุ้นให้แรงงานบางส่วนออกไปแสวงหาโอกาสการจ้างงานในประเทศเพื่อนบ้าน

    การนำเข้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 302 ล้านเหรียญสหรัฐ

    อย่างไรก็ตาม ขณะที่องค์กรต่างๆ ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สปป.ลาวก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากฉ้อโกงทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่จากลาวและจีนร่วมกันจับกุมผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางออนไลน์ 462 รายในปฏิบัติการที่ดำเนินการภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำและอำเภอต้นเปิง จังหวัดบ่อแก้ว

    ในการปฏิบัติการในเดือนกันยายน2566 ตำรวจลาวและจีนยังได้ควบคุมตัวบุคคล 164 รายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมฉ้อโกงทั่วพื้นที่ต่างๆ ของลาว ในจำนวนนี้ มีผู้ถูกจับกุม 77 รายในนครหลวงเวียงจันทน์ 46 รายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในจังหวัดบ่อแก้ว 22 รายในแขวงเวียงจันทน์ และ 19 รายในสะหวันนะเขต

    ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจากทั้งประเทศในเอเชียและประเทศตะวันตก รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ซึ่งได้ใช้มาตรการการคว่ำบาตรต่อบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และกิจกรรมฉ้อโกงในประเทศลาว ซึ่งผู้คนถูกหลอกว่าจะมีรายได้สูง แต่กลับต้องเผชิญกับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในรูปแบบอื่นๆ

    เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นายสอนปะเสิธกล่าวว่า OSEZPM มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแล โดยการแก้ไขและจัดทำร่างกฎหมาย ข้อตกลง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น

    อินโดนีเซียเล็งรายได้ 25 พันล้านดอลล์จากนโยบายฟรีวีซ่า

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/indonesia-eyes-25b-additional-revenue-from-visafree-entry-policy
    ภาคการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียอาจสร้างรายได้เพิ่มเติมได้ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านการใช้นโยบายฟรีวีซ่า เจ้าหน้าที่อาวุโสกล่าวเมื่อวันพุธ(3 ม.ค.)

    รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะขยายนโยบายนี้ไปยังนักท่องเที่ยวจาก 20 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมจำนวนนักท่องเที่ยวและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านทางภาคการท่องเที่ยว นโยบายนี้ไม่รวมสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จำนวน 9 รายที่ได้รับประโยชน์จากข้อกำหนดที่คล้ายกันภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคแล้ว

    ในขณะที่อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายรายได้ 200 ล้านล้านรูปียะฮ์ (12.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2567 รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซานดิอากา อูโน กล่าวว่า ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อนโยบายการเข้าเมืองแบบไม่ต้องขอวีซ่ามีผลบังคับใช้

    “เราคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-25 พันล้านเหรียญสหรัฐ” ซานดิอากากล่าวระหว่างงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ในกรุงจาการ์ตา

    การประมาณการนี้มาจากการประเมินว่านักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีสิทธิ์จะใช้จ่ายอย่างน้อย 5,000 เหรียญสหรัฐต่อคนระหว่างการเข้าพักในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ซานดิอากา ชี้ว่า อาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษหลังจากการดำเนินนโยบายเพื่อให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อไปถึงระดับนี้

    นโยบายนี้มุ่งเป้าหมายไปที่ประเทศที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาและเงินมากขึ้นในอินโดนีเซีย

    ในบรรดา 20 ประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณา มี 18 ประเทศที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมถึงออสเตรเลีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ อิตาลี และสเปน

    ส่วนอีกสองประเทศที่เหลือจะนำไปใช้กับประเทศในตะวันออกกลาง

    ในเดือนกันยายน กระทรวงยุติธรรมได้ริเริ่มการดำเนินการ “golden visa”สำหรับชาวต่างประเทศ โดยอนุญาตให้พำนักได้สูงสุด 10 ปีโดยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุนในประเทศ

    บริษัทที่ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะได้รับใบอนุญาตให้พำนักเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ใบอนุญาต 10 ปีต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับนักลงทุนรายย่อย วงเงินที่กำหนดคือ 350,000 เหรียญสหรัฐ และ 700,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ