ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามไม่เน้นปริมาณมุ่งส่งออกข้าวคุณภาพสูง

ASEAN Roundup เวียดนามไม่เน้นปริมาณมุ่งส่งออกข้าวคุณภาพสูง

10 มีนาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 3-9 มีนาคม 2567

  • เวียดนามไม่เน้นปริมาณมุ่งส่งออกข้าวคุณภาพสูง
  • เวียดนามติดท้อปทรีตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่ม EM ที่นักลงทุนสนใจ
  • ลาวเกินดุลการค้าเป็นประวัติการณ์จากการส่งออกไฟฟ้า
  • กัมพูชาส่งออกข้าว 9 หมื่นตันในรอบ 2 เดือน
  • มาเลเซียขยายการเชื่อมโยงทางการค้าผ่าน ACFTA-RCEP
  • ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 30 ถกวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2025

    เวียดนามไม่เน้นปริมาณมุ่งส่งออกข้าวคุณภาพสูง

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20230707/vietnams-rice-export-on-upward-trend-in-h1/74250.html
    การส่งออกข้าวของเวียดนามในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณประมาณ 6.5-7.0 ล้านตันลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 8.1 ล้านตันในปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม(Vietnam Food Association)

    เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากอินเดียและไทย ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะค่อยๆ ลดปริมาณการส่งออกโดยรวมเพื่อมุ่งเน้นไปที่ข้าวคุณภาพสูงและราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อให้มีความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ

    การส่งออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อนหน้าเป็น 663,000 ตัน ตามรายงานที่นำเสนอในการประชุมข้าวระหว่างประเทศในสัปดาห์นี้

    “ความต้องการจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน และแอฟริกาเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเอลนีโญคาดว่าจะคงอยู่อย่างน้อยจนถึงกลางปี ​​2567” รายงานระบุ

    เวียดนามกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า จะลดการส่งออกข้าวต่อปีลงเหลือ 4 ล้านตันภายในปี 2573 ตามเอกสารของรัฐบาลที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวของประเทศ นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่าจะพยายามกระจายตลาดส่งออกข้าว และลดสารตกค้างของผลิตภัณฑ์ยาปราบศัตรูพืช รวมถึงยาฆ่าแมลงในข้าว

    เหงียน หง็อก นัม ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวในการเสวนาเรื่องข้าว(Rice News Convention)เมื่อวันที่ 6 มีนาคมว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามได้เปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและผลิตภัณฑ์พิเศษมากกว่าปริมาณ โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อปีที่ทรงตัว 6.2- 6.3 ล้านตันในปี 2562-2566

    นัมกล่าวว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามแตะระดับ 8.3 ล้านตันในปี 2566 ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่ประเทศเริ่มส่งออกข้าวในปี 2532 ซึ่งสัดส่วนของข้าวที่มีมูลค่าสูงและข้าวพิเศษเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าเพิ่มขึ้น 38.4% จากปีที่แล้ว

    “เอเชียมีส่วนแบ่งทางตลาดหลักของการส่งออกข้าวของเรา แต่อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ได้กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวใหม่ของเวียดนามในปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์กลายเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดเมื่อมีส่วนแบ่งการส่งออกข้าวของเวียดนาม 34% (2.87 ล้านตัน) ในปี 2566” นัมกล่าว

    “ข้าวตรา ST24, ST25, Jasmin 85, Japonica และข้าวเหนียว กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำในการเติบโตของการส่งออกในปี 2562-2566”

    นัมกล่าวว่า อินโดนีเซียแซงจีนในฐานะผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับสองของเวียดนาม รองจากฟิลิปปินส์ ขณะที่มาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี และสวีเดน ก็ได้ติดอยู่ในรายชื่อผู้นำเข้ารายใหม่

    ฟาม ดั๊ต ผู้จัดการธุรกิจของ แอมโปรเทค(Amprotek) บริษัทตรวจสอบและวิเคราะห์ในเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่า ข้าวของเวียดนามค่อยๆ รุกเข้าสู่ฟิลิปปินส์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็น 80% ของมูลค่าการนำเข้าข้าว

    เธอกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ไทยส่งข้าวให้กับฟิลิปปินส์ถึง 90% ของการนำเข้าทั้งหมด แต่ตอนนี้เวียดนามได้ครองตลาดข้าวฟิลิปปินส์ถึง 80% แล้ว

    “ข้าวจากเวียดนาม เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ในแง่ของราคาและคุณภาพที่แข่งขันได้ มีการปลูกพันธุ์ใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำการเกษตร การแปรรูป และหลังการเก็บเกี่ยว” ดั๊ตกล่าว

    “ราคาเฉลี่ย 650 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเป็นข้อได้เปรียบ สำหรับข้าวของเวียดนามในการเข้าถึงตลาดเลือกไว้ การตลาดที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่แตกต่างกัน ช่วยให้ข้าวของเวียดนามประสบความสำเร็จมีส่วนแบ่งการตลาดในการแข่งขันที่รุนแรง” ดั๊ตกล่าว

    แม้มีการส่งออกไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก ข้าวของเวียดนามยังประสบปัญหาในการลดต้นทุนวัตถุดิบและอัตราส่วนการสูญเสียระหว่างการแปรรูปและการเก็บรักษาเพื่อให้ได้เปรียบในการยึดครองตลาดมากขึ้น

    “ต้องมีการดำเนินการทางการตลาดเชิงรุกมากขึ้นและการแก้ปัญหาร่วมกันจากเกษตรกร ผู้ส่งออก และผู้กำหนดนโยบายของเวียดนาม ในการหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการส่งออกข้าว นโยบายการลงทุนและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและสินเชื่อจากธนาคารยังคงมีน้อย” เธออธิบาย

    ดั๊ตกล่าวว่า ผู้ผลิตข้าวบางรายได้เลือกใช้พันธุ์ข้าวบางประเภท เช่น ข้าวแดงและเมล็ดยาวคุณภาพเยี่ยม ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ

    เดช รัตนา หัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ วาเลนซี อินเตอร์เนชันแนล(Valency International) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า คุณภาพข้าวของเวียดนามดีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และคาดว่าตลาดส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว

    เขากล่าวว่า เวียดนามและไทยมีโอกาสที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาด จากการที่ไม่มีอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดข้าวโลก

    เล แองห์ นัม หัวหน้าแผนกส่งออกข้าวของ ทันห์ ลอง กรุ๊ป(Tan Long Group) กล่าวว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงตลาด และผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมจะช่วยให้บริษัทในท้องถิ่นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและมีการเติบโตที่ยั่งยืน

    เขากล่าวว่า ทันห์ ลอง กรุ๊ป มีรายได้ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออก 200,000 ตันในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300,000 ตันในปี 2567

    “เราลงทุน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในโรงสีข้าวจากยุโรป ฮันห์ ฟุก(Hanh Phuc) ที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย บรรจุได้สูงสุด 240,000 ตัน นอกจากนี้ทางกลุ่มยังใช้ระบบความเย็น(cooling system) เพื่อเก็บข้าวไว้ผลิตตลอดทั้งปี” เล แองห์ นัมกล่าว

    “กลุ่มดำเนินระบบโรงสีข้าว 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2567 เราวางแผนที่จะส่งออกข้าวคุณภาพพรีเมียมปริมาณ 1,500 ตันไปยังญี่ปุ่น ซึ่งราคาสูงกว่ามูลค่าส่งออกเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ข้าวอื่นๆ ถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐ”

    สมาคมอาหารเวียดนามเปิดเผยในที่ประชุมว่าเวียดนามจะผลิตข้าวได้ถึง 43.5 ล้านตันในปี 2567 ซึ่งกว่า 7 ล้านตันสำหรับการส่งออก โดยมีรายได้ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ด้านบุย ทิ แทงห์ ทัม ประธานคณะกรรมการบริหารของวีนาฟู้ดส์ 1 (Vinafood 1) ยืนยันว่า ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามชนะการประมูลเพื่อจัดหาข้าว 400,000 ตันให้กับอินโดนีเซีย จากที่ต้องการซื้อทั้งหมด 500,000 ตัน

    อินโดนีเซียเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่อันดับสองของข้าวเวียดนาม ราคาข้าวในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขาดแคลน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อินโดนีเซียประสบปัญหาขาดแคลนข้าวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเพิ่มปริมาณข้าวที่วางแผนจะนำเข้าในปี 2567 อีก 1.6 ล้านตันเป็น 3.6 ล้านตัน ขณะที่เอลนีโญมีผลกระทบด้านลบต่อการผลิตข้าว และอินเดียยังคงยังคงห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ

    เหงียน วัน ด่ง ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัท เวียด ฮุง จำกัด(Viet Hung Co Ltd) กล่าวว่า พันธมิตรรายใหญ่ของเวียดนาม รวมถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ได้ประกาศแผนการเพิ่มการนำเข้าในปีนี้

    อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามไม่สูงเท่ากับช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอีกต่อไป จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม ราคาข้าวประเภทต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

    เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามซื้อขายกันที่ 579 ดอลลาร์ต่อตัน หรือลดลง 84 ดอลลาร์ จากระดับสูงสุด 663 ดอลลาร์ ราคาสูงกว่าราคาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เพียง 46 ดอลลาร์ต่อตัน ก่อนที่โรคไหม้ในข้าวจะเกิดขึ้นทั่วโลก

    ข้าวหัก 5 เปอร์เซ็นต์ของเวียดนาม หลังจากที่ครองตำแหน่งข้าวที่แพงที่สุดในโลกมาเป็นเวลานาน ก็มีราคาถูกกว่าข้าวไทยและปากีสถานถึง 34 ดอลลาร์ และ 20 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ

    ราคาส่งออกข้าวหัก25%ของเวียดนาม ก็ลดลงเหลือ 557 ดอลลาร์ต่อตัน หรือต่ำกว่าข้าวประเภทเดียวกันของไทย 4-5 ดอลลาร์ต่อตัน

    ราคาส่งออกข้าวที่ตกต่ำส่งผลให้ราคาในประเทศลดลงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2567 จาก 9,000 ด่องเป็น 7,300-7,800 ด่องต่อกิโลกรัม

    ราคาข้าวที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งยืนยันว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขาดแคลนอุปทานในโลก

    ด่ง กล่าวว่า ราคาข้าวที่ลดลง เพราะขณะนี้เวียดนามอยู่ในช่วงพีคของฤดูเก็บเกี่ยวและมีอุปทานจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม อีกทั้งผู้นำเข้าก็ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อ

    “พวกเขาเข้าใจตารางการผลิตข้าวของเวียดนาม และพวกเขากำลังรอให้ราคาลดลง” ด่งกล่าว และผู้ส่งออกเวียดนามก็รอเช่นกัน

    เวียดนามติดท้อปทรีตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่ม EM ที่นักลงทุนสนใจ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/property/changes-to-law-to-simplify-home-buying-by-overseas-vietnamese-4706626.html
    ผลสำรวจความตั้งใจของนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2567 ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้โดย ซีบีอาร์อี(CBRE) แสดงให้เห็นว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามติดอยู่ในอันดับที่สองจากสามอันดับแรกในกลุ่มตลาดเกิดใหม่นิยมรองจากอินเดียและแซงหน้าไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนถึงศักยภาพเชิงบวกของเศรษฐกิจเวียดนามและแผนการของชาวต่างชาติที่จะซื้อที่อยู่อาศัยที่นี่

    CBRE บริษัทผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุ กล่าวว่า กระแสการลงทุนในประเทศส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนชาวเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง (จีน) และสาธารณรัฐเกาหลี มูลค่าของแต่ละธุรกรรมมักจะแตกต่างกันระหว่าง 20 – 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ขณะเดียวกัน เงินทุนจากตลาดที่พัฒนาแล้วในอเมริกาเหนือและยุโรป ยังไม่ได้เข้ามาตลาดเวียดนามมากนัก

    นักลงทุนรายบุคคลจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจกับอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ บริษัท CBRE ระบุ โดยชี้ไปที่ข้อมูลของกระทรวงการก่อสร้างที่แสดงให้เห็นว่า ชาวต่างชาติและชาวเวียดนามในต่างประเทศประมาณ 4 ล้านคน มีความต้องการซื้อบ้านในเวียดนามในอนาคต

    เดวิด แจ๊กสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Avison Young ในเวียดนามมองว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเวียดนาม มีศักยภาพมากในการดึงดูดการลงทุนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ปัจจัยต่างๆ เช่น ประชากรวัยหนุ่มสาว การเติบโตทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการบริโภคในภูมิภาค บ่งชี้ถึงแนวโน้มเชิงบวกในระยะยาว

    จากข้อมูลของ Statista ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามมีมูลค่า 4.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ในขณะที่ตลาดในไทยมีมูลค่า 2.51 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

    นักลงทุนส่วนใหญ่ในเวียดนามสนใจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอุตสาหกรรมและสำนักงาน เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการส่งออกของประเทศได้กระตุ้นกิจกรรมการค้า ซึ่งช่วยเพิ่มความต้องการด้านห่วงโซ่อุปทานและการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงสนใจอย่างมากกับอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม CBRE เวียดนาม ระะบุ

    นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์แล้ว ที่ดินเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนภายนอก โและนักลงทุนจำนวนมากกำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาลดลง หรือเจ้าของประสบปัญหาทางกฎหมายหรือเงินทุน ซึ่งแนวโน้มนี้ตอกย้ำถึงความยืดหยุ่นและความน่าดึงดูดของกลุ่มที่อยู่อาศัยในประเทศ CBRE Vietnam ระบุ

    ลาวเกินดุลการค้าเป็นประวัติการณ์จากการส่งออกไฟฟ้า

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/private-lao-firms-set-carry-out-study-power-line-vietnam
    ลาวรายงานการค้าประจำปีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและจากข้อมูลดังกล่าว ลาวมีการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดปี 2566

    ข้อที่เผยแพร่ผ่าน Lao Trade Portal ระบุว่า มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 2565 ขณะที่การนำเข้ารวมมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

    หมวดการส่งออก 5 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ คือ ไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่า 2.382 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือทองคำแท่ง 703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอยู่ที่ 467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แร่ทองคำ 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแร่เหล็กที่ 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การส่งออกเหล่านี้บ่งชี้ถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของลาวซึ่งมีส่วนสนับสนุนการค้าของประเทศ

    ด้านการนำเข้า ดีเซลกลายเป็นสินค้านำเข้าอันดับต้นๆ มูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคืออุปกรณ์เครื่องจักรกล 606 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยานพาหนะทางบก 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และน้ำมันเบนซิน 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสินค้าการนำเข้าแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาสินค้าต่างๆ ของลาวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและความคิดริเริ่มในการพัฒนา

    การเกินดุลการค้าของประเทศทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการค้าทั้งปี เป็นตัวบ่งชี้เชิงบวกท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แม้รายงานการขาดดุลการค้าติดต่อกันนาน 10 เดือนในปี 2566 แต่เมื่อรวมการค้าไฟฟ้า ณ สิ้นปีซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ ก็ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเป็นผลดีต่อลาว

    การส่งออกไฟฟ้าได้ส่งผลให้ลาวเกินดุลการค้าอย่างเห็นได้ชัด ตอกย้ำถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศในการจัดหาทางเลือกพลังงานที่ยั่งยืนให้กับภูมิภาค และชี้ให้เห็นถึงความต้องการแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ในด้านคู่ค้า ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกชั้นนำด้วยมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยจีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และกัมพูชา ประเทศไทยยังติดแหล่งนำเข้าหลักของลาวโดยมีมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือจีน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

    เมื่อมองไปข้างหน้า จีนก็พร้อมที่จะเสริมความแข็งแกร่งในฐานะคู่ค้าชั้นนำของลาว รายงานจากสื่อของรัฐระบุว่าจีนได้ลงทุนใน 17 โครงการมูลค่ารวมเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี ซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

    กัมพูชาส่งออกข้าว 9 หมื่นตันในรอบ 2 เดือน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/567471/rice-tariffs-in-european-market-almost-certain/

    ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 กัมพูชา ส่งออกข้าวสาร 90,153 ตันผ่านผู้ส่งออกข้าว 40 รายไปยังจุดหมายปลายทาง 50 แห่ง จากการแถลงข่าวของสหพันธ์ข้าวกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม

    จุดหมายปลายทาง 50 แห่ง ได้แก่กลุ่มแรก 22 ประเทศในสหภาพยุโรป โดยส่งออกข้าวสาร 51,333 ตัน มูลค่า 38.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสอง 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงติมอร์ตะวันออก ส่งออกข้าวสาร 18,753 ตัน มูลค่า 13.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสาม จีน รวมทั้งฮ่องกงและมาเก๊า 11,083 ตัน มูลค่า 6.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจุดหมายปลายทางอื่นๆ อีก 13 แห่งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอื่นๆ รวม 8,984 ตัน มูลค่า 6.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ข้าวสารที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอม 84.72% ข้าวขาว 11.53% ข้าวสวย 2.17% และข้าวอินทรีย์ 1.70%

    กัมพูชายังส่งออกข้าวเปลือกจำนวน 1,368,322 ตัน มูลค่าประมาณ 3,395.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 65% เป็นการส่งออกผ่านการรับรองของหน่วยงานส่งออก

    มาเลเซียขยายการเชื่อมโยงทางการค้าผ่าน ACFTA-RECP

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-says-rcep-regional-trade-pact-comes-force
    มาเลเซียมุ่งมั่นที่จะขยายการเชื่อมโยงทางการค้าของประเทศ โดยจะดูแลให้ดำเนินการของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area:ACFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ประสบความสำเร็จ

    ดาโต๊ะ ฮาอิริล ยาห์รี ยาคอบ ปลัดกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจ และสร้างความมั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

    ACFTA เป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน และมาเลเซียมุ่งมั่นที่จะยกระดับ ACFTA เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังคงมีความครอบคลุม เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อสมาชิกทุกคน

    “ในฐานะผู้ประสานงานประเทศสำหรับอาเซียน-จีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567-2570 มาเลเซียจะมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยเฉพาะในการสนับสนุนความพยายามในการสรุปการเจรจายกระดับ ACFTA 3.0” ฮาอิริล ยาห์รี กล่าวในการเปิดการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน 2024 (MCS 2024) ที่กัวลาลัมเปอร์วันที่ 8 มีนาคม

    นอกจากนี้ มาเลเซียยังทบทวนและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกเพื่อคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจ

    นอกจากนี้ MITI ยังพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ทั่วโลกต้องการ บนฐานธรรมาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG)

    ในการยกระดับความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ฮาอิริล ยาห์รี ยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยตอกย้ำบทบาทสำคัญของมาเลเซียในห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าระดับโลก

    เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งผู้นำของมาเลเซียและเสริมสร้างระบบนิเวศ แผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ (NIMP) ปี 2030 ได้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาภาคการผลิตเชิงกลยุทธ์ในมาเลเซีย รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    ฮาอิริล ยาห์รีชี้ว่า NIMP 2030 ได้วางกรอบกลยุทธ์ในการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่มีการแข่งขันระดับโลกให้มาจัดตั้งการดำเนินงานในมาเลเซีย

    ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงแข็งขันในการสนับสนุนนักลงทุนให้สำรวจโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับอุตสาหกรรมในท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง

    “ซึ่งรวมถึงโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความสามารถ การทำงานร่วมกันในเทคโนโลยีเกิดใหม่ และการนำแนวทางปฏิบัติด้านการผลิตอัจฉริยะไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ฮาอิริล ยาห์รีกล่าว

    ฮาอิริล ยาห์รีกล่าวว่า MITI ได้รับมอบหมายให้ประสานงาน 58 โครงการภายใต้เสาหลักทางเศรษฐกิจ รวมถึง MCS 2024

    “ความคิดริเริ่มเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเจรจาและการทำงานร่วมกัน อำนวยความสะดวกในการจับคู่ทางธุรกิจ และสำรวจโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโตและความร่วมมือ” ฮาอิริล ยาห์รีกล่าว

    ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 30 ถกวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2025

    ที่มาภาพ: https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=81086
    การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Retreat Meeting:AEM) ครั้งที่ 30 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยนายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ลาว เป็นประธาน ภายใต้สโลแกน “Increasing ASEAN connectivity and strength เพิ่มการเชื่อมโยงและความเข้มแข็งของอาเซียน” ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจากติมอร์ เลสเต ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ และเลขาธิการอาเซียน

    นายมะไลทองกล่าวในที่ประชุมว่า ในนามของรัฐบาล สปป.ลาว มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสู่หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ของ สปป.ลาว

    “การมาพบปะและเข้าร่วมการประชุมของเราในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2025 และการกำหนดวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2045”

    และหวังว่าติมอร์-เลสเตจะเข้าร่วมเป็นครอบครัวอาเซียนในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเพิ่มความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาคของเรา นายมะไลทองกล่าว

    นายมะไลทองกล่าวแสดงความยินดีกับอินโดนีเซียที่ทำหน้าที่ทประธานอาเซียนในปี 2566 ได้เป็นอย่างดีและมีผลงานที่น่าพึงพอใจ ภายใต้การนำของอินโดนีเซีย อาเซียนได้บรรลุภารกิจสำคัญหลายประการในการก้าวไปสู่เป้าหมายการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาเซียน ความพยายามและการปรับตัวในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในปีที่ผ่านมา

    “ปีนี้ สปป.ลาว รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเป็นยุคที่มีโอกาสและความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์ของโลกและภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนซึ่งทำให้เราต้อง เสริมสร้างความสามัคคีเป็นหนึ่งและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและกำหนดแนวทางที่ถูกต้อง ในการแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านั้นและนำสโลแกนของอาเซียนปี 2567 ไปปฏิบัติไปพร้อมกัน คือ “อาเซียน: เพิ่มความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอนาคต” นายมะไลทองกล่าว

    การหารือในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการพัฒนาวาระทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะมีการร่วมกันพิจารณาหัวข้อสำคัญต่างๆ ของปี 2567 เช่น การพิจารณารับแผนงานลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียน การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และความร่วมมือกับโลก

    “เพื่อให้มั่นใจว่าการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของ สปป. ลาว จะประสบความสำเร็จในปี 2567 ผมขอให้สนับสนุนและให้ความร่วมมืออันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอาเซียนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนของเรา” นายมะไลทองกล่าว