ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียติด 10 อันดับแรกของโลกที่ ‘คนรวยมาก UHNWIs’ เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด

ASEAN Roundup มาเลเซียติด 10 อันดับแรกของโลกที่ ‘คนรวยมาก UHNWIs’ เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด

4 มิถุนายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2566

  • มาเลเซียติด 10 อันดับแรกของโลกที่ ‘คนรวยมาก UHNWIs’ เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด
  • เกณฑ์จัดกลุ่มคนรวยสิงคโปร์สูงสุดในเอเชีย
  • คนรวยเวียดนามเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 5 ปี
  • FDI ไหลเข้าภาคการแปรรูปการผลิตเวียดนาม
  • อินโดนีเซียเปิดตัว Golden Visa 10 ปีสำหรับต่างชาติที่ต้องการพำนักในบาหลี
  • กลุ่มธุรกิจอังกฤษลงทุน 9 พันล้านดอลลาร์เหมืองแร่-แบตเตอรี่ EV ของอินโดนีเซีย
  • ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับฟิลิปปินส์
  • รัฐสภาฟิลิปปินส์อนุมัติกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

มาเลเซียติด 10 อันดับแรกของโลกที่ ‘คนรวยมาก UHNWIs’ เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด

ที่มาภาพ : https://www.imf.org/en/News/Articles/2018/03/07/NA030718-Malaysias-Economy-Getting-Closer-to-High-Income-Status

มาเลเซียเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มี คนรวยมาก หรือ ultra-high-net-worth individuals(UHNWIs) ซึ่งวัดจากเกณฑ์ความมั่งคั่งสุทธิขั้นต่ำ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 139 ล้านริงกิต เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในปีที่แล้วจากรายงาน ของไนท์แฟรงค์( Knight Frank ) บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์

ปี 2560 มาเลเซียมีคนรวยกลุ่ม UNHWIs จำนวน 491 คน ในปี 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 659 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 721 คนในปี 2565

ในรายงานฉบับล่าสุดของไนท์แฟรงค์ The Wealth Report (Wealth Sizing Model) ระบุว่า กลุ่มคนรวย UHNWIs ของโลกเติบโตทำลายสถิติที่ 9.3% ในปี 2564 ก่อนจะลดลง 3.8% ในปี 2565

แม้ว่าจำนวน UHNWIs ทั่วโลกจะลดลงจาก 602,553 คนในปี 2564 เป็น 579,625 คนในปี 2565 แต่จำนวน UHNWIs ในมาเลเซียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่แล้ว

ขณะที่จำนวน UHNWIs ในเอเชียลดลง 6.5% จาก 160,890 คนในปี 2564 เหลือ 150,362 คนในปี 2565

แต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็น 3 ใน 10 ประเทศแรกที่กลุ่มคน UHNWIs เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งสามประเทศมีจำนวนคนรวยเพิ่มขึ้นประมาณ 7 ถึง 9% ระหว่างปี 2564-2565 กลุ่มคนรวยมากในมาเลเซียเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2565 ด้วยอัตราเติบโต 9.4% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโต 9.0% ในอินโดนีเซียและ 6.9% ในสิงคโปร์

กลุ่มคนรวยมาก UHNWIs ของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 659 คนในปี 2564 เป็น 721 คนในปี 2565 ในขณะที่ UHNWIs ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 510 คนเป็น 556 คน และ UHNWIs ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 4,206 คนเป็น 4,498 คน

ประเทศต่างๆ ในเอเชียที่มีคนรวยมาก หรือ UNHWI ลดลงในช่วงปี 2564 ถึง 2565 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ลดลงจาก 319 เหลือ 312 คน) ไทย (944 คน ลดลงเหลือ 888 คน) และเวียดนาม (ลดลงจาก 1,196 คน เหลือ 1,059 คน)

สำหรับประเทศเอเชียอื่นกลุ่มคน UHNWIs ก็ลดลงเช่นกันในระหว่างปี 2564 ถึง 2565 โดยในจีนแผ่นดินใหญ่ (ลดลงจาก 93,500 เป็น 88,024) ญี่ปุ่น (24,489 เป็น 22,259) ไต้หวัน (ลดลงจาก 7,324 เป็น 6,618) เกาหลีใต้ (ลดลงจาก 6,960 เป็น 6,295) และฮ่องกง (ลดลงจาก 6,050 เป็น 5,686)

รายงานของไนท์แฟรงค์ครอบคลุมคนรวยหรือ UHNWIs ใน 44 ประเทศหรือพื้นที่ทั่วโลก ทั้งแอฟริกา อเมริกา เอเชีย ออสตราเลเซีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

โดมินิก ฮีตัน-วัตสัน Associate Director, International Residential, Knight Frank Property Hub กล่าวว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่ “เติบโตโดดเด่นและมีนัยสำคัญ” เมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางจำนวนคนรวย UHNWIs ทั่วโลกที่ลดลงโดยรวม

“UHNWIs ของมาเลเซียพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากภาคส่วนที่หลากหลาย เช่น การแพทย์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี การต้อนรับ การเงิน และอสังหาริมทรัพย์” โดมินิก ระบุในแถลงการณ์ และกล่าวว่า การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความมั่งคั่ง

โดยตลาดที่อยู่อาศัยระดับไพร์ม 100 แห่งทั่วโลกมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.2% และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนระดับหรูเติบโต 16% ในปี 2565

เกณฑ์จัดกลุ่มคนรวยสิงคโปร์สูงสุดในเอเชีย

ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area/

รายงานของ Knight Frank ระบุว่า หากต้องการเข้ากลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% แรกในสิงคโปร์ จะต้องมีทรัพย์สินสุทธิ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.74 ล้านเหรียญสิงคโปร์)ขึ้นไป

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากรายงานความมั่งคั่ง( The Wealth Report)ของไนท์แฟรงค์ซึ่งอัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2023

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเกณฑ์ความมั่งคั่งสูงสุดในเอเชีย หากต้องการติดอยู่ใน 1% แรกของความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคลเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ฮ่องกงมีเกณฑ์ความมั่งคั่งสูงสุดเป็นอันดับสอง คือ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์) สำหรับ 1% แรกของความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคล

ตามมาด้วยญี่ปุ่น 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์) จีน 960,000 เหรียญสหรัฐ (1.29 ล้านเหรียญสิงคโปร์) มาเลเซีย 485,000 เหรียญสหรัฐ (656,673 เหรียญสิงคโปร์) และฟิลิปปินส์ 57,000 เหรียญสหรัฐ (77,176 เหรียญสิงคโปร์)

ส่วนจำนวนเศรษฐีในสิงคโปร์หรือ HNWIs ซึ่งมีความมั่งคั่งสุทธิสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,354,035 ดอลลาร์สิงคโปร์) เพิ่มขึ้นจาก 519,619 คนในปี 2564 เป็น 570,548 คนในปี 2565 ตามรายงานของไนท์แฟรงค์ นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2570 จำนวน HNWIs ในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 815,699 คน

รายงานไนท์แฟรงค์ นิยามบุคคลที่มีมูลค่าสุทธิสูง(high-net-worth individuals) หรือ HNWIs ว่าหมายถึง บุคคลที่มีมูลค่าสุทธิ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป รวมถึงที่อยู่อาศัยหลักด้วย

ในปี 2565 สิงคโปร์มีคนรวยที่จัดอยู่ในกลุ่ม “รวยมาก”หรือ ultra-high-net-worth individuals (UHNWIs) วัดจากมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิสูงกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (40,611,750 ดอลลาร์สิงคโปร์)จำนวน 4,498 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 4,206 คนในปี 2564 และคาดการณ์ว่าจำนวน UHNWIs จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 5,293 คนในปี 2570

คนรวยเวียดนามเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 5 ปี

ภาพต้นแบบ:https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-seeks-uk-assistance-for-hcmc-financial-center-4482640.html

คนรวยหรือประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่ม ultra-high-net-worth individuals หรือ UHNWIs ของเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากรายงาน The Wealth Report ของไนท์แฟรงค์(Knight Frank)

จำนวนคนรวยในเวียดนามซึ่งวัดจากความมั่งคั่งสุทธิ 30 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 583 คนในปี 2560 เป็น 1,059 คนในช่วงปลายปี 2565 และคาดว่าจะสูงถึง 1,295 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้กลุ่มบุคคลที่มีมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ high-net-worth individuals(HNIs) ก็ขยายตัวถึง 70% และคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 112,250 คนในปี 2570

คริสทีน ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยของไนท์แฟรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จำนวนเศรษฐี (ultra-high-net-worth individuals)หรือ UHNWIs ในเอเชียแปซิฟิกลดลง 5.7% ในปี 2565 หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 7.5% ในปีก่อนหน้า แต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็น 3 ใน 10 ประเทศแรกที่กลุ่มคน UHNWIs เติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งสามประเทศมีจำนวนคนรวยเพิ่มขึ้นประมาณ 7 ถึง 9% ระหว่างปี 2564-2565

คริสติน ลี กล่าวว่า “เมื่อมองระยะยาว เรื่องราวของความมั่งคั่งยังคงน่าสนใจ เนื่องจากภูมิภาคนี้จะยังคงเป็นผู้นำในการขยายตัวของความมั่งคั่งที่ไม่สิ้นสุด พร้อมโอกาสอีกมากมายสำหรับ UHNWIs ”

จำนวนคนรวยหรือ UHNWIs ของโลกหดตัวลง 3.8% ในปี 2565 หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 ความผันผวนของจำนวนผู้มีรายได้สูงสุดบ่งชี้ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 แต่พลิกกลับ ในปี 2565

ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไนท์แฟรงค์คาดการณ์ว่า กลุ่มคน UHNWIs ทั่วโลกจะขยายตัว 28.5% เป็นเกือบ 3 ใน 4 ของล้านคนจาก 579,625 คนในปี 2565 ส่วนกลุ่มคน HNWIs ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะสูงเกิน 100 ล้านคนทั่วโลก

วิคตอเรีย การ์เร็ตต์ หัวหน้าฝ่ายตลาด ที่พักอาศัยในเอเชียแปซิฟิกของไนท์แฟรงค์ กล่าวว่า 10 อันดับทำเลทั่วโลกสำหรับการคาดการณ์การเติบโตนั้นส่วนใหญ่มาจากประทศยุโรปและเอเชีย

การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะยังมาจากความเป็นเมืองเป็นหลัก และแนวการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยจะยังคงถูกกำหนดโดยทำเลกลางเมืองที่สำคัญ

“ด้วยการขยายตัวของเมืองในอัตราที่สูง นักลงทุนสามารถคาดหวังการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นและการรักษาความมั่งคั่ง” วิคตอเรียกล่าว

FDI ไหลเข้าภาคการแปรรูปการผลิตเวียดนาม

ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/vietnams-five-month-fdi-rises-sharply-nationwide-post125805.html

การไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในเวียดนามตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งรวมถึงการลงทุนใหม่และการลงทุนเพิ่มเติม และการซื้อหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 10.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (FIA) ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนรายงาน

ในจำนวนนี้ มีการใส่เงินมากกว่า 5.26 พันล้านเหรียญสหรัฐในโครงการใหม่ 962 โครงการ ในแง่จำนวนโครงการมูลค่าเพิ่มขึ้น 27.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้น 66.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

จากข้อมูลของหน่วยงาน มี 1,278 ธุรกรรมของการใส่ทุนเพื่อการซื้อหุ้นในช่วงกือบ 5 เดือนมีมูลค่ารวมเกือบ 3.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.6% ในแง่จำนวนธุรกรรม แต่เพิ่มขึ้น 67.2% ในด้านมูลค่า

อย่างไรก็ตาม มีโครงการจดทะเบียนเพื่อปรับการลงทุนจำนวน 485 โครงการ ด้วยเงินทุนเพิ่มเติมเกือบ 2.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงถึง 59.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ภาคการแปรรูปและการผลิตเป็นผู้รับการลงทุน FDI รายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่ากว่า 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 61.2% ของคำมั่นทั้งหมด รองลงมา คือ การเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ในบรรดา 82 ประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว สิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยมูลค่ากว่า 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 23.3% ของตัวเลขสะสม

ญี่ปุ่นและจีนเป็นอันดับสองและสามด้วยมูลค่าเกือบ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐและ 1.61 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ผู้ลงทุนรายใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ ไต้หวัน (จีน) ฮ่องกง (จีน) และสาธารณรัฐเกาหลี

การลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ 50 เมืองจาก 63 เมืองและจังหวัดของเวียดนาม โดยฮานอยได้รับการลงทุนมากที่สุด มีมูลค่าประมาณ 1.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 17.2% ของทั้งหมด รองลงมาคือจังหวัด บั๊กซาง ทางตอนเหนือ และเมืองโอจิมินห์ ซิตี้ จังหวัดบิ่ญเซือง และ ด่ง นาย ทางตอนใต้

อย่างไรก็ตามโฮ จิมินห์ซิตี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของจำนวนโครงการใหม่และโครงการที่ปรับแล้ว และการใส่ทุนสำหรับการซื้อหุ้น

อินโดนีเซียเปิดตัว Golden Visa 10 ปีสำหรับต่างชาติที่ต้องการพำนักในบาหลี

ภาพต้นแบบ: https://th.hotels.com/go/indonesia

อินโดนีเซียประกาศว่าในเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเปิดตัว ‘Golden Visa’ ซึ่งวีซ่าประเภทใหม่นี้ออกแบบมาเป็นนโยบายให้พำนักโดยการลงทุน ซึ่งเจ้าหน้าที่หวังว่าจะช่วยดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศมากระตุ้นเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคมที่ทำเนียบรองประธานาธิบดี นายซานดิอาก้า อูโน(Sandiaga Uno) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย ประกาศว่าเตรียมที่จะเปิดตัว Golden Visa

นายอูโนกล่าวว่า นโยบายใหม่นี้จะช่วยดึงดูดผู้มีความสามารถระดับโลกในภาคดิจิทัล สุขภาพ การวิจัย และเทคโนโลยี และ “เราหวังที่จะไม่เพียงเพิ่มการลงทุน แต่เพิ่มการจ้างงานด้วย” ทั้งนี้นนายอูโนมีภารกิจที่จะสร้างงานใหม่ 4.4 ล้านตำแหน่งในภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในปี 2567

ในการประกาศ Golden Visa ของนายอูโน ได้ระบุถึง รูปแบบของประเภทวีซ่าใหม่ และแจ้งว่ากำลังเตรียมการอยู่ โดยจะมีการประกาศเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ พร้อมบอกว่า Golden Visa จะมีอายุ 5 และ 10 ปี และผู้ถือวีซ่าจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ

สิทธิประโยชน์พิเศษเหล่านี้อาจรวมถึงกระบวนการยื่นคำร้องขอวีซ่าและเรื่องการย้ายถิ่นฐานที่ง่ายและรวดเร็วขึ้น การเคลื่อนย้ายทั่วโลกที่สะดวกมากขึ้นด้วยการเข้าออกประเทศอินโดนีเซียหลายครั้ง ระยะเวลาพำนักนานขึ้น สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินภายในประเทศ และการเป็นช่องทางด่วนสำหรับการขอสัญชาติ

นายอูโนยังคาดหวังว่า Golden Visa ใหม่จะกระตุ้นให้พลเมืองต่างชาติเข้ามาอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะบาหลี

โดยกล่าวว่าวีซ่าจะ “ [เป็นประโยชน์]อย่างยิ่ง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะยาว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะจูงใจผู้ประกอบการด้านดิจิทัล อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีคุณภาพเพราะอยู่กันนานขึ้น พวกเขาจะลงทุนไม่เพียงแค่ในทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังจะสร้างงานอีกด้วย”

สิ่งที่ยังไม่ได้ประกาศคือ ข้อกำหนดในการยื่นขอ Golden Visa และที่สำคัญที่สุดคือค่าใช้จ่าย ขณะที่มีนโยบายให้พำนักจากการลงทุนอยู่แล้วหลายสิบนโยบายในหลายเมืองต่างๆ ทั่วโลก

โครงการวีซ่าจำนวนมาก มีตั้งแต่เมืองต่างๆ ทั่วทะเลแคริบเบียน ยกตัวอย่างเช่น แอนติกาและบาร์บูดา หากมีการบริจาคขั้นต่ำ 100,000 เหรียญให้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ พลเมืองนานาชาติสามารถยื่นขอสัญชาติได้

แอนติกาและบาร์บูดา ก็มีตัวเลือกการลงทุนอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับข้อเสนอในเกรเนดา ซึ่งชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 220,000 เหรียญสหรัฐและห้ามขายเป็นเวลา 4 ปี ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ยื่นขอจะต้องลงทุนหรือบริจาคแบบไหน

สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ Golden Visa ของอินโดนีเซียจะแตกต่างจาก Second Home Visa ที่ค่อนข้างใหม่อย่างไรหลังจากประกาศเมื่อปีที่แล้ว Second Home Visa มีเป้าหมายไปยังผู้มีรายได้สูงที่ต้องการสร้างพักอาศัยในอินโดนีเซียเป็นเวลา 5-10 ปี ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า Second Home Visa ไม่ได้ดึงดูดให้มายื่นขอมากเท่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองคาดหวังไว้

ขั้นตอนการยื่นขอวีซ่ากำหนดให้ผู้ยื่นต้องฝากเงิน 130,000 เหรียญสหรัฐเข้าบัญชีธนาคารของรัฐก่อนที่จะลงทุนในทรัพย์สินหรือธุรกิจใด

มีบางคนบอกว่า ผู้คนจำนวนมากที่ต้องการอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียวีซ่าไม่สามารถเข้าถึงได้วีซ่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้เกษียณอายุ digital nomads(กลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์จากส่วนไหนของโลกก็ได้โดยอาศัยเพียงแค่แลปท็อปและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น) หรือผู้ประกอบการ

ด้านเว็บไซต์ VisaGuide.World ให้ข้อมูลว่า อินโดนีเซียมีแผนผลักดันให้โครงการ Golden Visa ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Second Home Visa มีส่วนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายอูโนย้ำว่าโครงการให้พำนักผ่านการลงทุนนี้ถือว่าเป็นพรมแดงปูรับต่างชาติที่วางแผนจะลงทุนในภาคเศรษฐกิจของประเทศ

“เราจะให้นักลงทุนที่มีความสามารถพิเศษและผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียไปสู่อินโดนีเซียที่ก้าวหน้า” นายอูโนชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้ในการบรรยายสรุปของกระทรวงการท่องเที่ยวและความคิดสร้างสรรค์ที่อาคาร Sapta Persona ในกรุงจาการ์ตา

นอกจากนี้มีการชี้แจงว่า Second Home Visa เป็นวีซ่าที่ให้กับชาวต่างชาติที่วางแผนจะทำให้อินโดนีเซียเป็นบ้านหลังที่สองเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ในขณะที่ Golden Visa จะมอบให้เป็นพิเศษสำหรับชาวต่างชาติที่มีความสามารถเฉพาะทาง เช่น ด้านสุขภาพ ดิจิทัลและการลงทุน

นายอูโน กล่าวว่า Golden Visa จะใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทางการอินโดนีเซียเปิดตัว Second-Home Visa ซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติพำนักอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลา 5 ถึง 10 ปี

การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการยืนยันโดย นายยาซอนนา เลาลี(Yasonna Laoly) รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซียได้ยืนยัน โครงการ Golden Visa โดยย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมายังอินโดนีเซีย

“ชาวต่างชาติเพียงแค่ยื่นคำร้องเพียงครั้งเดียวต่อการขอหนึ่งวีซ่า ใบอนุญาตพำนักจำกัด(Limited Stay Permit)หนึ่งใบ และใบอนุญาตกลับเข้ามาใหม่(Re-Entry Permit)หนึ่งใบ พร้อมกัน จากนั้นเมื่อพวกเขาเข้าสู่อินโดนีเซียผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ใบอนุญาตให้พำนักSecond-Home Limited Stay Permit ของพวกเขาจะออกโดยอัตโนมัติและส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอีเมลของพวกเขา”

เจ้าหน้าที่ในอินโดนีเซียยืนยันว่าชาวต่างชาติหรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์ยื่นขอ Second-Home visaผ่านแอป Directorate General of Immigration

หลังจากเปิดตัววีซ่าอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเดินทางมาถึง (electronic visa on arrival:e-VoA) ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 7.4 ล้านคนเดินทางอินโดนีเซีย โครงการนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในขั้นตอนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชำระเงิน VoA ก่อนเดินทางมาถึง

กลุ่มธุรกิจอังกฤษลงทุน 9 พันล้านดอลลาร์เหมืองแร่-แบตเตอรี่ EV ของอินโดนีเซีย

ที่มาภาพ:https://auto.economictimes.indiatimes.com/news/industry/british-consortium-to-invest-usd-9-billion-in-indonesia-mining-ev-batteries-minister-says/100666509

กลุ่มบริษัทในอังกฤษซึ่งรวมถึง Glencore บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่จะลงทุนประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ในภาคเหมืองแร่และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอินโดนีเซียรัฐมนตรีระบุเมื่อวันพุธ(31 พ.ค.) ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรพยายามเชิญชวนบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง

อินโดนีเซียซึ่งมีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการผลิตแบตเตอรี่และยานพาหนะสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก

นายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอา รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเงินลงทุนจำนวน 9 พันล้านดอลลาร์ แต่กล่าวว่า การลงทุนจะเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาค บันตาเอ็ง บนเกาะสุลาเวสี ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานลม โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในเดือนกันยายน

กระทรวงยืนยันว่ากลุ่มบริษัทในอังกฤษประกอบด้วยบริษัทต่างๆ เช่น Glencore, Aneka Tambang ธุรกิจเหมืองของรัฐอินโดนีเซีย, บริษัทวัสดุ Umicore และบริษัทพลังงาน

“การลงทุนมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์ หากเป็นไปตามแผน หากเร่งได้ เราก็จะทำ” นายบาห์ลิลกล่าวกับผู้สื่อข่าว

รัฐบาลอินโดนีเซียห้ามการส่งออกแร่นิกเกิลที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปตั้งแต่ปี 2563 เพื่อประกันว่ามีอุปทานสำหรับนักลงทุนที่มีอยู่และที่มีศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็พยายามชักชวนผู้ผลิต EV ทั่วโลก เช่น Tesla และ BYD Group ของจีน

ขณะที่รัฐมนตรีของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ใกล้บรรลุข้อตกลง EVกับ BYD Group และ Tesla

อินโดนีเซียกำลังสรุปข้อตกลงกับ BYD Group ผู้ผลิตรถยนต์ของจีน และ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐ เพื่อลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ รัฐมนตรีอาวุโสระบุเมื่อวันอังคาร(30 พ.ค.)

อินโดนีเซียกำลังส่งเสริมการลงทุนอย่างแข็งขันในแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนิกเกิลที่มีอยู่มหาศาล เมื่อเป็นผู้ส่งออกแร่นิกเกิลรายใหญ่ ได้สั่งห้ามการส่งออกเพื่อประกันว่ามีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับนักลงทุน

“ผู้ผลิตรถยนต์ (ไฟฟ้า) รายใหญ่ที่สุดในโลกจะลงทุนที่นี่ BYD Group อันดับหนึ่งของโลก Tesla อันดับสอง ฮุนได(Hyundai) และรายอื่น ๆ พวกเขากำลังสรุปข้อตกลงกับอินโดนีเซีย” นายลูฮุต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงาน กล่าวในการประชุมร่วมกับส่วนราชการระดับจังหวัด แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในที่ประชุม

BYD Group และ Tesla ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

ฮุนได ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้เปิดตัวโรงงานในอินโดนีเซียเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศแห่งแรกของอินโดนีเซีย

SGMW Motor Indonesia ซึ่งเป็นอยู่ในการร่วมทุนของ SAIC Motor Corp Ltd, General Motors Co และ Wuling Motors Holdings ได้สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในอินโดนีเซีย

ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับฟิลิปปินส์

ที่มาภาพ: https://asean.org/rcep-agreement-enters-into-force-for-philippines/

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้กับฟิลิปปินส์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 หรือ 60 วันหลังจากได้มอบสัตยาบันสารกับเลขาธิการอาเซียนในฐานะผู้เก็บรักษาความตกลง RCEP

วุฒิสภาฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบัน RCEP เมื่อวันที่21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership)ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นความคิดริเริ่มที่นำโดยอาเซียน และทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศภาคี ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของ GDP ของโลก และขนาดตลาดที่ประชากรของภาคีรวมกันมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก RCEP ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์

การมีผลบังคับใช้ของความตกลง RCEP สำหรับรัฐที่ลงนามทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนของภาคีสำหรับตลาดระดับภูมิภาคที่เปิดกว้าง เสรี ครอบคลุม และปฏิบัติตามระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ ภายใต้ความตกลง RCEP ธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) จะได้รับประโยชน์ไม่เพียงแต่จากข้อผูกมัดในการเข้าถึงตลาดที่ทำโดยภาคีเท่านั้น แต่ยังได้รับจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีเสรีมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ทางเลือกในการจัดหาแหล่งผลิตซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังปรับปรุงกฎและระเบียบวินัยที่อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมลดลง และส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้นในที่สุด

รัฐสภาฟิลิปปินส์อนุมัติกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มาภาพ: https://milkeninstitute.org/report/philippines-sovereign-wealth-funds-case

รัฐสภาของฟิลิปปินส์อนุมัติ การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(sovereign wealth fund)มูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์ในวันพุธ (31 พ.ค.) เพื่อกระตุ้นการเติบโตและขจัดความยากจน

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้เรียกร้องให้มีการผ่านร่างกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งยื่นโดยลูกชายและลูกพี่ลูกน้องของเขาเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อให้รัฐบาลที่แบกรับภาระหนี้สินสามารถหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

รัฐบาลแห่งชาติจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของ Maharlika Investment Fund โดยดึงเงินทุนประเดิมจากธนาคารกลาง รายได้ที่เก็บธุรกิจเกม และธนาคารของรัฐสองแห่ง

สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนจะได้รับอนุญาตให้ลงทุนด้วย

สภาผู้แทนราษฏรฟิลิปปินส์ลงมติเห็นชอบกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Maharlika Investment Fund ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565

นาย ออเรลิโอ กอนซาเลส รองประธานสภาผู้แทนราษฏรได้ประกาศร่างกฎหมายฉบับวุฒิสภาที่ได้รับอนุมัติในระหว่างการประชุม ซึ่งจะถูกส่งไปยังนายมาร์กอส เพื่อลงนามเป็นกฎหมาย

ข้อเสนอเดิมกองทุนจะมีมูลค่า 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกนำมาจากเงินบำนาญของรัฐสำหรับพนักงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจุดชนวนให้สาธารณชนเกิดความกังวลว่าเงินออมเพื่อการเกษียณอายุอาจตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายระบุว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญไม่ต้องนำมาสมทบเข้ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

“ผมขอให้เพื่อนร่วมชาติของเราไม่ต้องกังวล มาตรการป้องกันทั้งหมดได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว” นายมิเกล ซูบิรี ประธานวุฒิสภากล่าวกับผู้สื่อข่าว

วุฒิสมาชิกมาร์ค วิลลาร์ ผู้เขียนหลักของร่างกฎหมายวุฒิสภากล่าวว่า กองทุนจะช่วยในการพัฒนาสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้การเติบโตแข็งแกร่งขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น และความยากจนลดลง

“กองทุนจะช่วยให้รัฐบาลจัดการงบประมาณและลดแรงกดดันด้านการคลังในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ” นายวิลลาร์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร

กองทุนจะได้รับอนุญาตให้ทำการลงทุนได้หลากหลาย รวมถึงในหุ้นกู้ ตราสารทุน กิจการร่วมค้า และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

นักเคลื่อนไหวและผู้ที่คัดค้านตั้งคำถามถึงความจำเป็นของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในประเทศที่ยากจนและแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทุจริต กลุ่มธุรกิจยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลของประเทศกำลังขาดดุลงบประมาณจำนวนมากอยู่แล้ว และกฎหมายที่เสนอนี้เสี่ยงต่อการลดอันดับเครดิต

กองทุนความมั่งคั่งของรัฐแบบเดิมมักเกิดจากผลกำไรของรัฐบาลที่ได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมัน หรือแร่ธาตุ