ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมมาตรการดึงดูดและรักษาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่

ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมมาตรการดึงดูดและรักษาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่

3 มีนาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2567

  • เวียดนามเตรียมมาตรการดึงดูดและรักษาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่
  • FDI ไหลเข้าเวียดนามกว่า 4.29 พันล้านดอลลาร์ใน 2 เดือนแรก
  • เวียดนามจะตั้ง Offshore Financial Centre ที่ดานัง
  • เวียดนามจะสรุปกรอบกฎหมายคุมสินทรัพย์ดิจิทัลพ.ค 2568
  • ออเดอร์ทะลักเวียดนามส่งออกผักผลไม้เพิ่มขึ้น
  • อินโดนีเซียเตรียมนำเข้าข้าวเพิ่ม 1.6 ล้านตัน
  • อินโดนีเซียจะเริ่มผลิตเซลล์แบตเตอรี่ EV ครั้งแรกในเดือนเมษายน
  • อินโดนีเซียมองอุตสาหกรรมยานยนต์มีศักยภาพเติบโต
  • ลาวเสนอขายไฟฟ้าพลังงานลม 4,150 เมกะวัตต์ให้เวียดนาม

    เวียดนามเตรียมมาตรการดึงดูดและรักษาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่

    ประชุมคณะรัฐมนตรีเวียดนาม 2 มี.ค.2567 ที่มาภาพ:https://hanoitimes.vn/vietnam-eyes-measures-to-keep-hold-of-big-tech-firms-326224.html

    โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และการปฏิรูปสถาบัน เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่เวียดนามต้องดำเนินการทันทีให้มีความก้าวหน้าเพื่อดึงดูดและรักษานักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ นายเจิ่น ก๊วก เฟือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนกล่าว ในการแถลงข่าวของรัฐบาลในวันที่ 2 มีนาคม 2567

    นายเฟืองชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และมีความต้องการที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งสูง ดังนั้น เวียดนามจำเป็นต้องเร่งความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่

    กฎหมายที่ดินได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเมื่อต้นปี 2567 โดยมีมาตรการมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนในภาคที่ดิน นายเฟืองเชื่อว่าควรมีการออกแนวทางสำหรับการดำเนินการตามกฎหมาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อให้ตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุน

    สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เวียดนามต้องต้องผลักดันให้ก้าวหน้าโดยเร็วเพื่อรักษานักลงทุนรายใหญ่คือ ในด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เวียดนามตั้งเป้าที่จะมีแรงงานที่มีทักษะสูง 100,000 คน รวมถึงวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คน เพื่อใช้ประโยชน์จากการลงทุนในภาคส่วนนี้

    นายเฟือง กล่าวว่า กระทรวงการวางแผนและการลงทุน และกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม กำลังเร่งดำเนินการเพื่อยื่นแผนดังกล่าวต่อรัฐบาลเร็วๆ นี้

    “นักลงทุนต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง แม้เวียดนามจะมีข้อได้เปรียบจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่มากมาย แต่ปัจจุบัน เวียดนามยังอยู่ในช่วงได้ประโยชน์จากโครงสร้างประชากร และต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับคุณสมบัติและทักษะของแรงงาน” นายเฟืองกล่าว

    และด้านที่สามการปฏิรูปสถาบันก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง นายเฟืองชี้ว่า นโยบายล่าสุดเกี่ยวกับที่ดิน การประกวดราคา การตรวจคนเข้าเมือง และวีซ่า และอื่นๆ มีผลกระทบเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม กรอบการทำงานของสถาบันในปัจจุบันต้องใช้นโยบายที่ครอบคลุมและส่งเสริมมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกิดใหม่ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงและเซมิคอนดักเตอร์

    “นโยบายต้องได้รับการออกแบบอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่า มีความน่าดึงดูดใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่” นายเฟืองกล่าว

    ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่าเกือบ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ทุนจดทะเบียนใหม่เพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้วเป็น 3.6 พันล้านดอลลาร์ จากการให้ข้อมูลของนายเฟือง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้น 55% ในจำนวนโครงการใหม่ และเงินลงทุนขนาดใหญ่ (400-600 ล้านดอลลาร์)

    “สิ่งนี้ส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเวียดนาม นอกจากนี้ การเพิ่มทุนจำนวนมากและโครงการใหม่ๆ จะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโต” นายเฟืองกล่าว

    ก่อนการแถลงข่าว ในวันเดียวกันในการประชุมรัฐบาลประจำเดือน นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ได้สั่งให้กระทรวงและภาคส่วนต่างๆ วิเคราะห์สิ่งที่ต้องทำเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อดึงดูดและรักษาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง โดยเน้นย้ำว่า “เป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จในปีนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตลอดระยะเวลา 5 ปี [2564-2568]

    เวียดนามกำลังดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น บริษัทหลายแห่ง เช่น Apple, Boeing และ Google ได้แสดงความสนใจอย่างมากในการลงทุนในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโอกาสมากมายที่เกิดจากแนวโน้มการโยกย้ายทุนยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ในเวียดนาม เนื่องจากขาดแรงงานคุณภาพสูง และการดำเนินการตามนโยบายภาษีขั้นต่ำทั่วโลกที่เริ่มต้นในต้นปี 2567

    ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเป็นผู้นำในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอุตสาหกรรมระดับชาติที่สำคัญในอีก 30-50 ปีข้างหน้า

    ภายในปี 2573 เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (การออกแบบ บรรจุ และการทดสอบ) ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

    รายงานจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงภาวะการณ์ที่ดีขึ้นในภาคส่วนต่างๆเป็นส่วนใหญ่ในช่วงสองเดือนแรกของปี ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 3.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการจัดเก็บรายได้ตามงบประมาณได้ถึง 23.5% ของประมาณการ ดุลการค้าเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

    ธุรกิจกว่า 41,000 แห่งได้รับการคืนสถานะหรือกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นายเหงียน จี ดุง รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจต่างๆ ยังคงเข้าถึงเงินทุนได้ยาก ยังขาดนโยบายที่สนับสนุน และเผชิญกับขั้นตอนการบริหารที่ช้า

    “บริษัทและโครงการอสังหาริมทรัพย์บางแห่งยังคงเผชิญกับอุปสรรคทางกฎหมายที่กำลังได้รับการแก้ไขอย่างช้าๆ” นายเหงียน จิ ดุงกล่าว

    ความท้าทายเหล่านี้สร้างแรงกดดันในการจัดการการเติบโต การรักษาเสถียรภาพของสภาพเศรษฐกิจมหภาค และการบรรลุความสมดุลที่สำคัญในด้านการลงทุน การบริโภค และสวัสดิการในปีนี้

    ดังนั้น ายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กระทรวงและภาคส่วนต่างๆ จะต้องเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อฟื้นฟูปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตแบบดั้งเดิม (การลงทุน การส่งออก การบริโภค) และส่งเสริมปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านงทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสีเขียว และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน

    FDI ไหลเข้าเวียดนามกว่า 4.29 พันล้านดอลลาร์ใน 2 เดือนแรก

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/hai-phong-to-build-second-coastal-economic-zone/268147.vnp
    เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investent:FDI)มากกว่า 4.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากข้อมูลของสำนักงานการค้าต่างประเทศ

    ในช่วงดังกล่าว โครงการใหม่ 405 โครงการที่มีทุนจดทะเบียนรวม 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับใบอุญาตลงทุน เพิ่มขึ้น 55.2% ในแง่ปริมาณ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    ขณะเดียวกัน มีโครงการ 159 โครงการที่มีการปรับปรุงทุน เพิ่มขึ้น 19.5% โดยมีมูลค่ารวม 442.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลง 17.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    เงินสมทบทุนและการซื้อหุ้นลดลง 68% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหลือ 255.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเบิกจ่ายเงิน FDI มากถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

    ฮานอย กว๋างนิญ ท้ายเงวียน บ่บ่าเสียะ-หวุงเต่า บั๊กนิญห์ ด่งนาย บั๊กซาง โฮจิมินห์ซิตี้ ไฮฟอง และฮุงเอียน ติดอันดับประเทศในแง่ของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งสิบเมืองมีส่วนแบ่ง FDI รวมกันถึง 81.7% ของเงินทุนต่างประเทศในช่วงเวลานั้น หน่วยงานการค้าต่างประเทศ ระบุ

    เมืองหลวงอย่างฮานอยเป็นผู้นำทุกเมืองท้องถิ่นในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ด้วยมูลค่าเกือบ 914.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

    ในบรรดา 48 ประเทศและเขตปกครองที่มีการลงทุนในเวียดนามในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด โดยเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากกว่า 2.08 พันล้านดอลลาร์สหรีฐ ตามมาด้วยฮ่องกง (จีน) ญี่ปุ่น และจีน

    นักลงทุนได้อัดฉีดเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจ 16 ภาคจาก 21 ภาคส่วน ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตเป็นผู้นำด้วยการลงทุนรวมเกือบ 2.54 พันล้านดอลลาร์สหรีฐ ตามมาด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ (1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) การค้าส่งและการค้าปลีก (125.2 ล้านดอลลาร์สหรีฐ) และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เกือบ 76.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    ในช่วงสองเดือน ภาคส่วนที่ลงทุนโดยต่างประเทศมีการเกินดุลการค้ามากกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมน้ำมันดิบ) ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลการค้าของภาคในประเทศจำนวน 4.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เวียดนามมีโครงการที่ยังดำเนินการ 39,553 โครงการ มีทุนจดทะเบียนรวม 473.1 พันล้านดอลลาร์สหรีฐ จนถึงขณะนี้มีการเบิกใช้เงินทุนไปแล้วเกือบ 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เวียดนามจะตั้ง Offshore Financial Centre ที่ดานัง

    ที่มาภาพ: http://culinaryvietnam.com/2018/02/ideal-da-nang-vietnam-travel-guide-know-see/
    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนกำลังพยายามผลักดันโครงการเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศในเมืองดานัง ที่อยู่ตอนกลางของประเทศ

    โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกระทรวงในการแก้ไขข้อมติหมายเลข 119/2020/QH14 ว่าด้วยการนำร่องการปกครองเมืองและนโยบายการพัฒนาบางอย่างในเมืองดานัง โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของเวียดนาม โดยเฉพาะในเมืองดานัง เพื่อดึงดูดกระแสเงินทุนจากตลาดการเงินเดิมๆ

    ศูนย์กลางดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินนอกอาณาเขต(offshore financial centre) โดยมีระบบภาษีและการกำกับดูแลที่แข่งขันได้สูง และจะเชื่อมโยงกับตลาดการเงินในประเทศที่พร้อมสำหรับการเปิดเสรีบัญชีทุน

    โครงการนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีในเมือง เพื่อรองรับกิจกรรมการผลิต โลจิสติกส์ และการค้า โดยจะเชื่อมโยงกับท่าเรือ Lien Chieu และจะมีสิทธิจูงใจด้านการลงทุนและนโยบายพิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญให้กับดานัง

    คณะกรรมการประชาชนเมืองดานังจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนและอนุมัติแผนแม่บทสำหรับเขตการค้าเสรีเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทใหญ่ของเมือง

    นอกจากนี้ ยังได้รับมอบหมายให้ทำงานเตรียมการ รวมถึงการเคลียร์ที่ดิน และการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะพร้อมสำหรับการก่อสร้าง

    ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในเขตการค้าเสรี จะสามารถเช่าและเช่าที่ดินต่อได้เช่นเดียวกับที่ทำในเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่อำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับเขตการค้าเสรีอยู่ที่รัฐบาล

    เขตการค้าเสรีคาดว่าจะนำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคกลาง รวมถึงดานัง และอำนวยความสะดวกในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมือง

    เวียดนามจะสรุปกรอบกฎหมายคุมสินทรัพย์ดิจิทัลพ.ค 2568

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnam-govt-to-finalize-legal-framework-for-digital-assets-in-may-326185.html
    กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้พัฒนากรอบกฎหมายเพื่อห้ามหรือควบคุมสินทรัพย์เสมือนและองค์กรที่ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568 โครงการริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ประเภทนี้

    การจัดทำกรอบกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการระดับชาติในการต่อสู้กับการฟอกเงินและการจัดหาอาวุธ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขอให้ธนาคารกลาง ประเมินความเสี่ยงในการฟอกเงินของการประกอบการคาสิโน การพนัน และสินทรัพย์เสมือน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน

    ปัจจุบันไม่มีคำจำกัดความเฉพาะของสกุลเงินเสมือนและสินทรัพย์เสมือนในเวียดนาม กฎระเบียบในปัจจุบันระบุวถึงแนวคิดของเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับการชำระเงินตามกฎหมายเท่านั้น และมีอยู่ในรูปแบบของบัตรเติมเงินและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-wallets)ที่ออกโดยธนาคาร

    สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยม เช่น Bitcoin และ Ethereum ถือเป็นสินทรัพย์เสมือนทั่วไป ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารกลางศึกษาและนำร่องสกุลเงินเสมือนหลายครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการฟอกเงินในระบบธนาคาร หน่วยงานกำกับดูแลได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า สกุลเงินเสมือนไม่ใช่วิธีชำระเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือสื่อกลางในการชำระเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายในเวียดนาม กฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งผ่านความเห็นชอบในสิ้นปี 2565 ยังไม่ได้ทำให้สกุลเงินเสมือนและสินทรัพย์เสมือนต่างๆ ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง การซื้อ การขาย และการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เสมือนในเวียดนามนั้นดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายระหว่างประเทศหรือการจัดการโดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟอกเงินสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อสองปีที่แล้ว รัฐสภาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำกรอบทางกฎหมายสำหรับสินทรัพย์ประเภทใหม่นี้โดยทันที

    ตามข้อมูลจาก Vietnam Blockchain Association (VBA) ในเดือนกันยายน 2566 เวียดนามได้รับสินทรัพย์เสมือนจริงมูลค่าเกือบ 91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในหนึ่งปี (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงตุลาคม 2565) กิจกรรมที่ผิดกฎหมายคิดเป็นมูลค่า 956 ล้านดอลลาร์

    บางประเทศได้เริ่มใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับสกุลเงินเสมือนเพื่อปกป้องผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วสหภาพยุโรป (EU) ผ่านกฎหมาย Markets in Crypto-Assets Regulation(MiCA) เพื่อป้องกันอาชญากรทางการเงินจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ก้าวหน้าสูง ส่วนสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ยังได้ใช้กฎระเบียบมากมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการปฏิบัติตามกฎหมายในการต่อสู้กับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายผ่านสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์เสมือน

    แผนของรัฐบาลกำหนดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพัฒนาแผนเฉพาะสำหรับด้านที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน เช่น การใช้เงินสดและทองคำในระบบเศรษฐกิจสำหรับการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์และการทุจริต

    แผนปฏิบัติการที่กล่าวมาข้างต้นมีเป้าหมายที่จะให้เวียดนามพ้นออกจากบัญชีเฝ้าระวังประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน (Grey List)ของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน(Financial Action Task Force:FATF) ก่อนเดือนพฤษภาคม 2568 โดยเร็ว กลุ่มGrey List ประกอบด้วย 20 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซีเรีย ปานามา และหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดย FATF ในการต่อสู้กับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย

    ออเดอร์ทะลักเวียดนามส่งออกผักผลไม้เพิ่มขึ้น

    ที่มาภาพ:https://www.vietnam.vn/en/rong-cua-xuat-khau-nong-san-sang-trung-quoc/
    การส่งออกผักและผลไม้ ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 38% มีมูลค่ารวม 749.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองเดือนแรก และคาดว่าจะสูงสุดที่เกือบ 7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยภาคส่วนนี้จะยังคงมีแนวโน้มที่สดใสในปี 2567 เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากรายงานว่า ยอดสั่งซื้อเต็มจนถึงสิ้นไตรมาสแรก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวด่ง

    ทุเรียนเพียงอย่างเดียวจะสร้างรายได้ 3.5 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามและกรมศุลกากรของจีนลงนามในพิธีสารเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ของเวียดนามที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเมื่อปีที่แล้ว จากความเห็นของนาย ดัง ฟุก เหงียนเลขาธิการทั่วไป ของสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม

    แม้ว่าการขนส่งไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะยังมีอุปสรรคจากความตึงเครียดในทะเลแดงในอนาคต แต่การส่งออกไปยังจีนจะยังเติบโต โดยได้แรงหนุนจากทุเรียน แก้วมังกร ขนุน กล้วย และมะม่วง

    นายฟุง ดึ๊ก เทียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของเวียดนามอีก 4 ประเภทจะส่งไปยังจีนผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการในระยะต่อไป ประกอบด้วยสมุนไพร มะพร้าว ผลไม้แช่แข็ง และแตงโม ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนาม

    จากสถิติของกรมศุลกากร การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทุเรียนมีมูลค่าส่งออกสูงสุดแซงหน้าแก้วมังกร

    ผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย

    จีนยังคงเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 250% ในมูลค่า และมีส่วนแบ่งตลาด 65% เมื่อเทียบกับปี 2565

    อินโดนีเซียเตรียมนำเข้าข้าวเพิ่ม 1.6 ล้านตัน

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2023/12/22/indonesia-secures-rice-import-commitments-from-india-thailand
    รัฐบาลได้เพิ่ม โควตานำเข้าข้าวอย่างเป็นทางการ 1.6 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับว่ามีการนำเข้าข้าว 3.6 ล้านตันในปีนี้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้อนุญาตให้ Bulog ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องการควบคุมราคาและกระจายสินค้าประเภทอาหารและ ผลผลิตทางการเกษตร นำเข้าข้าวจำนวน 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้มี 500,000 ตันกำลังอยู่ระหว่างการขนส่ง

    นายอารีฟ ซูลิสตโยผู้อำนวยการฝ่ายนำเข้าของกระทรวงการค้า กล่าวว่า โควต้าการนำเข้าข้าวเพิ่มได้รับการอนุมัติในระหว่างการประชุมประสานงานแบบจำกัดของกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567

    “มีการจัดสรรเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้าข้าวจำนวน 1.6 ล้านตัน” นายอารีฟกล่าวเมื่อวันอังคาร

    จากการเปิดเผยของนายอารีฟ โควต้าการนำเข้าข้าวเพิ่มทำให้ต้องปรับเปลี่ยนใบอนุญาต( Neraca Komoditas หรือ Commodity Balance) ที่ใช้ก่อนหน้านี้ “สำหรับเพิ่มอีก 1.6 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสมดุลสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นจึงไม่ได้อนุมัติการนำเข้า กล่าว

    ก่อนหน้านี้ บายู กฤษณมูรติ ผู้อำนวยการ Bulog กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ว่า ข้าว 500,000 ตันกำลังถูกลำเลียงมายังอินโดนีเซีย และจะมาถึงก่อนฤดูเก็บเกี่ยว และมีการคาดการณ์ว่าฤดูเก็บเกี่ยวจะเลื่อนออกไปเป็นเดือนเมษายน-พฤษภาคม

    ขณะเดียวกัน นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจกล่าวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ว่า การตัดสินใจนำเข้ามีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่ามีข้าพอต่อความต้องการข้าวในประเทศ เนื่องจากการผลิตลดลงจากการเก็บเกี่ยวล่าช้าออกไปสองเดือน

    อินโดนีเซียจะเริ่มผลิตเซลล์แบตเตอรี่ EV ครั้งแรกในเดือนเมษายน

    ที่มาภาพ: https://hligreenpower.com/
    กระทรวงการลงทุนของประเทศอินโดนีเซียระบุเมื่อวันพฤหัสบดี(29 ก.พ.)ว่า อินโดนีเซียเตรียมเริ่มการผลิตเซลล์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนปีนี้

    ทีน่า ทาลิสา เจ้าหน้าที่พิเศษความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคของกระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า เซลล์แบตเตอรี่ EV สามารถใช้พลังงานได้ถึง 300 วัตต์ต่อชั่วโมง และจะผลิตโดย PT HLI Green Power มีกำลังการผลิตสูงสุด 10 กิกะวัตต์

    “ตั้งแต่เดือนเมษายน โรงงาน PT HLI Green Power จะเริ่มการผลิตจำนวนมาก และมากกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะส่งออกไปยังเกาหลีใต้เป็นหลัก จากนั้นไปยังอินเดีย”

    ทาลิสากล่าวว่า เซลล์แบตเตอรี่ใช้วัตถุดิบ ทั้งนิกเกิล แมงกานีส โคบอลต์ และลิเธียม

    อินโดนีเซียเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีแร่นิกเกิลสำรองประมาณ 72 ล้านตัน หรือ 52% ของปริมาณแร่นิกเกิลทั้งหมดทั่วโลก ตามข้อมูลปี 2563 จากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของประเทศ นิกเกิลเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ EV

    อินโดนีเซียมองอุตสาหกรรมยานยนต์มีศักยภาพเติบโต

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/1376308/car-sales-in-indonesia-increased-100-percent-in-july
    อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากการมห้ความเห็นของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานและการประสานงานการขนส่ง

    นายรัชมัต ไกมุดดิน (Rachmat Kaimuddin) รัฐมนตรีช่วยประสานงานที่กำกับดูแลการพัฒนาภาคส่วน EV กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์(1 มกราคม)ว่า จากข้อมูล World Population Review ที่พบว่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อัตราส่วนการเป็นเจ้าของรถยนต์ของอินโดนีเซียยังค่อนข้างต่ำ ปัจจุบัน อัตราส่วนการเป็นเจ้าของรถยนต์ของอินโดนีเซียอยู่ที่ 82 คันต่อ 1,000 คน

    ในขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ซึ่งมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 7,000 เหรียญสหรัฐ อัตราส่วนการเป็นเจ้าของรถยนต์อยู่ที่ 280 ต่อ 1,000 คน ส่วนประเทศจีน ซึ่งมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราส่วนอยู่ที่ 221 คันต่อประชากร 1,000 คน

    “หาก GDP ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ต่อหัว) ในปี 2573 อัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์อาจสูงถึง 150 หรือ 200 คันต่อ 1,000 คน”

    นายไกมุดดินเน้นย้ำอีกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและตลาดรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ปัจจุบัน ประมาณ40% ของยานยนต์ที่ผลิตโดยอินโดนีเซีย ได้ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

    โดยให้รายละเอียดว่าการส่งออกรถยนต์ของอินโดนีเซียไปยังอาเซียนคิดเป็น 54% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ 18% ไปยังตะวันออกกลาง ตามมาด้วย 15% ไปยังอเมริกาเหนือ อีก 6% ไปยังอเมริกาใต้ และ 4% ไปยังเอเชียตะวันออก ตลอดจน 1% ไปยังแอฟริกา

    ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2566 มีการส่งออกรถยนต์จำนวน 571,000 คัน ไปยังประเทศปลายทางมากกว่า 90 ประเทศ

    “ด้วยศักยภาพมหาศาล อินโดนีเซียมีโอกาสที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล”

    ลาวเสนอขายไฟฟ้าพลังงานลม 4,150 เมกะวัตต์ให้เวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/03/01/laos-proposes-selling-over-4000-mw-of-wind-power-to-vietnam/
    การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity:EVN) ได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนฟาร์มกังหันลม 7 รายในลาวที่ต้องการ ขายไฟฟ้าให้กับเวียดนามโดยมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 4,150 เมกะวัตต์ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าว

    นักลงทุนลาวจะเสนอขายพลังงานลมมากกว่า 682 เมกะวัตต์ก่อนปี 2568 ในขณะที่ปริมาณที่เหลือจะส่งหลังจากนี้ กระทรวงฯระบุในรายงานล่าสุด

    พลังงานลมที่นำเข้าจากลาวจะส่งมายังเวียดนามผ่านสายส่งในจังหวัดกว๋างจิตอนกลาง หมายความว่าปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นี้เป็นส่วนใหญ่

    อย่างไรก็ตาม พลังงานลมที่นักลงทุนลาวต้องการขายให้กับเวียดนามจะเกินกำลังการผลิตของโครงข่ายไฟฟ้าของจังหวัด เนื่องจากสายไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์ และ 110 กิโลวัตต์ ส่วนใหญ่ในท้องถิ่นนั้นโดยปกติรับได้ระหว่าง 80% ถึง 100% ของกำลังการผลิตที่ออกแบบไว้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม จังหวัดสามารถรับไฟฟ้าได้สูงสุด 300 เมกะวัตต์ ส่วนเดือนที่เหลือของปีสามารถรับไฟฟ้าได้ในระดับที่ต่ำกว่า

    จากข้อมูลของ EVN ด้วยโครงสร้างพื้นฐานกริดและสายเชื่อมต่อเพิ่มเติม และการดำเนินงานของสถานีไฟฟ้าย่อย Huong Hoa ขนาด 500 กิโลวัตต์ จังหวัดสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศลาวได้เพียง 2,500 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ากำลังการผลิตรวมที่นักลงทุนลาวต้องการขายให้เวียดนามถึง 1,650 เมกะวัตต์

    ปีที่แล้ว EVN ได้ยื่นเอกสารต่อกระทรวงฯเกี่ยวกับข้อเสนอนำเข้าพลังงานลมจากลาวไปยังจังหวัดกวางจิ

    EVN ขอให้กระทรวงฯทบทวนและส่งข้อเสนอนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมเจื่องเซินต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงการวางแผนเพิ่มเติมสำหรับสายส่ง ราคาซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้จะอยู่ที่ 6.95 เซนต์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง

    กระทรวงฯกล่าวว่าได้รับเอกสารขอความคิดเห็นจากกระทรวงและหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับข้อเสนอซื้อพลังงานลมจากโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์จากแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว มาที่เวียดนาม ตามที่ EVN เสนอ ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในไตรมาสที่สี่ของปี 2568

    เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการแล้วเสร็จของโครงการในปี 2568 นักลงทุนของโครงการคือ Vietnam Laos Energy Investment and Development Corporation ได้ส่งเอกสารไปยัง EVN เพื่อเสนอที่จะขายไฟฟ้าจากโครงการนี้ให้กับเวียดนาม นักลงทุนแนะนำให้ลงทุนในโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งหมดเพื่อเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าของเวียดนามโดยใช้เงินทุนของโครงการ

    ในการดำเนินการก่อนหน้านี้ ในรายงานต่อกระทรวง EVN ระบุว่ารัฐบาลลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะนำเข้าไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์จากลาวไปยังเวียดนามภายในปี 2563

    โดยคาดว่าจะมีปริมาณไฟฟ้านำเข้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดย ณ เดือนตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอนำเข้าไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ ในประเทศลาว โดยมีกำลังการผลิตรวม 2,689 เมกะวัตต์

    EVN ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าลาว 26 แห่ง รวม 19 ฉบับ มีกำลังการผลิตรวม 2,240 เมกะวัตต์ กระทรวงฯ ระบุในจำนวนดังกล่าว มีโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 7 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวม 806 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเพิ่มเติมอีก 1,171 เมกะวัตต์ภายในปี 2568