ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-28 ตุลาคม 2566
FDI รุกขยายโครงการในเวียดนาม
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ Foreign Direct Investment (FDI)ที่จดทะเบียนใหม่ในเวียดนามเพิ่มขึ้น 54% ในรอบ 10 เดือน
โดย ณ วันที่ 20 ตุลาคม มีการทุ่มเม็ดเงินกว่า 15.29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในโครงการ FDI ใหม่จำนวน 2,608 โครงการ เพิ่มขึ้น 54% ในแง่มูลค่าลงทุน และเพิ่มขึ้นในแง่จำนวนโครงการ 66.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี
หน่วยงานการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Agency:FIA) ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนรายงานว่า FDI รวมมีมูลค่ามากกว่า 25.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้น 14.7%
ในจำนวนนี้ มีการใส่เงินมูลค่ากว่า 5.33 พันล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับโครงการเดิมจำนวน 1,051 โครงการ แม้เงินทุนที่ใส่เพิ่มเติมจะลดลง 39% แต่จำนวนโครงการยังคงเพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมั่นใจในบรรยากาศการลงทุนของเวียดนาม จึงตัดสินใจขยายโครงการ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติใช้เงินกว่า 5.13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในการจัดสรรเงินลงทุนและซื้อหุ้นของบริษัทในประเทศผ่านธุรกรรม 2,836 รายการ เพิ่มขึ้น 35.4% และลดลง 5.4% ตามลำดับ
ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเบิกเงินประมาณ 18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับโครงการ FDI เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากข้อมูลของ FIA
ภาคเศรษฐกิจมากถึง 18 จาก 21 ภาคส่วนได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรก ในบรรดาอุตสาหกรรมเหล่านี้ อุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตโดดเด่นด้วยมูลค่าลงทุนเกือบ 18.84 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 73.1% ของทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 45.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ (เกือบ 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 44.8%) การเงิน-การธนาคาร (เกือบ 1.54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 61.4 เท่า) และการค้าส่ง-ค้าปลีก (เกือบ 907 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.3%)
อุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิตยังครองอันดับหนึ่งในแง่ของโครงการใหม่ (32.8% ของทั้งหมด) และโครงการที่มีเงินทุนเพิ่ม (54.4%) ในขณะเดียวกัน ภาคการค้าส่งและการค้าปลีกก็รายงานการจัดสรรเงินทุนและธุรกรรมการซื้อหุ้นมากที่สุด (41.6%)
ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา 108 ประเทศและเขตปกครองพากันส่งเงินเข้าสู่เวียดนาม สิงคโปร์ติดอันดับต้นด้วยมูลค่าเกือบ 4.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นมากกว่า 18% ของทั้งหมด และลดลง 13% ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ที่มีมูลค่าเกือบ 3.93 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็น 15.2% เพิ่มขึ้น 0.5%) และฮ่องกง (จีน) ที่มีมูลค่าเกือบ 3.54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นมากกว่า 13.7% และเพิ่มขึ้นเกือบ 2.6 เท่า)
ในขณะที่จีนเป็นผู้นำในด้านจำนวนโครงการใหม่ (คิดเป็น 21.7%) เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 1 ในแง่ของโครงการที่มีการใส่เงินทุนเพิ่ม (25.7%) และการจัดสรรเงินทุนและธุรกรรมการซื้อหุ้น (28.2%)
นักลงทุนเอเชียยังคงครองกระแส FDI ที่หลเข้าเวียดนามในช่วงเวลา 10 เดือนแรก โดยสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 81.7% ของมูลค่าทั้งหมด
ในบรรดา 55 จังหวัดและเมืองที่มี FDI ไหลเข้ามา จังหวัดกว๋างนิญ ดึงเงินทุนได้มากที่สุดด้วยมูลค่าเกือบ 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 12% ของเงินไหลเข้าทั้งหมดและเพิ่มขึ้น 41.3% จากปีก่อนหน้า เมืองไฮฟองครองอันดับสองด้วยมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 10.9% และเพิ่มขึ้น 2.14 เท่า ตามมาด้วยฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ และจังหวัดบั๊กซาง
นครโฮ จิมินห์ มีผลงานในดีที่สุดในการดึงดูดโครงการใหม่ (38%) โครงการที่มีการใส่เงินทุนเพิ่ม (25.3%) และธุรกรรมการจัดสรรเงินทุนและการซื้อหุ้น (66.6%) FIA ระบุ
ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมของเวียดนามคึกคัก
ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมของเวียดนามกำลังร้อนแรง เนื่องจากมีการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม โรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากรายงาน CBRE Vietnam ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ราคาเช่าอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมอาจเพิ่มขึ้น 6-10% ต่อปีทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ของเวียดนามในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่สูงจากภาคส่วนต่างๆ
จากรายงานตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของ CBRE เวียดนามประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2566 อัตราการถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้สูงถึง 81.9% ในขณะที่การใช้ที่ดินอุตสาหกรรมสูงถึง 190 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 5.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
ราคาเช่าที่ดินโดยเฉลี่ยในตลาดระดับบน(tier-1 market) อยู่ที่ 189 เหรียญสหรัฐฯต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี ธุรกรรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากกิจการของจีนและญี่ปุ่น โดยลงทุนในสาขาเครื่องกล เคมีภัณฑ์ พลาสติก ยาง และอิเล็กทรอนิกส์
ในภาคเหนือ อัตราการถือครองที่ดินในตลาดระดับบน อยู่ที่ 80.2% ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี การเช่าที่ดินอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ คอนแทคเลนส์ และโรงงานผลิตพลาสติก
ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน มีการใช้ที่ดินมากกว่า 700 เฮกตาร์ หรือสูงกว่าตัวเลขของทั้งปี 2565 ถึง 18% ส่วนราคาค่าเช่าที่ดินสวนอุตสาหกรรมภาคเหนือมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
มีการส่งมอบพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานมากกว่า 1.2 ล้าน ตารางเมตรสู่ตลาดในช่วงระยะเวลา 9 เดือน โดยมีราคาเช่าเฉลี่ย 4.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ ตารางเมตร สำรับพื้นที่คลังสินค้า และ 4.9 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับพื้นที่โรงงานในตลาดภาคใต้
นักลงทุนจากประเทศจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของจำนวนลูกค้าที่กำลังมองหาพื้นที่อุตสาหกรรมผ่าน CBRE
จากการที่เวียดนามยังคงกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และจีน ผู้เช่าจากประเทศเหล่านี้จะเป็นผู้นำตลาดอุตสาหกรรมในอนาคต
ฝ่าม หง็อก เถียน ทันห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและให้คำปรึกษาของ CBRE เวียดนาม กล่าวว่า ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 3 โดยธุรกรรมจำนวนมากมาจากบริษัทโลจิสติกส์
ฝ่าม หง็อก เถียน ทันห์ กล่าวว่า ในอนาคต การพัฒนาที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีขั้นสูงจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและธุรกิจต่างๆ การเพิ่มกฎเกณฑ์สีเขียวจะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้า ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนานิคมสาหกรรมสีเขียวในอนาคต
ในขณะเดียวกัน จาง เล หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาของ JLL Vietnam ชี้ให้เห็นสัญญาณเชิงบวกในตลาดคลังสินค้าในภาคใต้ ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยมีอัตราเข้าใช้สุทธิประมาณ 86,000 ตารางเมตร
ในไตรมาสที่ 4 จะมีการเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จรูปมากกว่า 460,000 ตารางเมตร เข้าในตลาดทางใต้ ซึ่งจะทำให้ยอดรวมเป็น 2.3 ล้านตารางเมตรภายในสิ้นปีนี้
ในระยะสั้น การบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคลังสินค้า
เวียดนามทำเงิน 1.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกทุเรียน
การส่งออกทุเรียนของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 1.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 14 เท่า จากสถิติของกรมศุลกากรในช่วงเดียวกัน การส่งออกผักและผลไม้มีมูลค่ารวม 4.21 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 72.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทุเรียนแซงหน้าขนุน แก้วมังกร แตงโม กล้วย และลิ้นจี่ จนกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากต่างประเทศใหญ่ที่สุด ในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนาม โดยคิดเป็น 38.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของอุตสาหกรรม
จีนเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 2.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น 160% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ปัจจุบันทุเรียนเวียดนามส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นหลัก เวียดนามมีพื้นที่ปลูก 422 แห่งและมีโรงงานบรรจุภัณฑ์ 153 แห่งที่สามารถส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนได้
พื้นที่ปลูกอื่นๆ อีก 64 แห่งและโรงงานบรรจุภัณฑ์ 15 แห่งกำลังดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ทางการจีนออกรหัสสำหรับการส่งออก นอกจากนี้รหัสพื้นที่ที่กำลังเพิ่มขึ้นกว่า 600 แห่งและโรงงานบรรจุภัณฑ์ 50 แห่ง จะนำไปใช้ขอรหัสเพื่อการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่การปลูกทุเรียนที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตทุเรียนที่สูงขึ้น สร้างความกังวลให้กับทางการเวียดนาม
พื้นที่ปลูกทุเรียนของเวียดนามได้ขยายตัวโดยเฉลี่ย 24.5% ต่อปีตั้งแต่ปี 2553 มาเป็น 131,000 เฮกตาร์ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในบรรดาพืชหลักของประเทศ ทำให้ทางการมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานล้นตลาด
พื้นที่สูงตอนกลางมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่เกือบ 70,000 เฮกตาร์ รองลงมาคือบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางตะวันออกเฉียงใต้ และบริเวณชายฝั่งตอนกลาง จากการระบุของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท
หวู ดึ๊ก กง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการเกษตรและชนบทจังหวัดดั๊กลัก( Dak Lak Agriculture and Rural Development) กล่าวว่า มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า 28,600 เฮกตาร์ในของพื้นที่ราบสูงทางตอนกลางของจังหวัดดั๊กลัก และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 30,000 เฮกตาร์ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วเกินไปและก่อให้เกิดความกังวล
จังหวัดเลิมด่ง ทางตอนกลาง ได้ออกคำเตือนแก่เกษตรกรเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วผิดปกติ
ตั้งแต่ปี 2564 พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 44% เป็น 19,700 เฮกตาร์ ปัจจุบันผลผลิตทุเรียนของจังหวัดเลิมด่งมีปริมาณ 115,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 225,000 ตันภายในปี 2570
ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เกษตรกรจำนวนมากได้ปรับพื้นที่ปลูกข้าวและขนุนหลายพันเฮกตาร์เพื่อปลูกทุเรียน ซึ่งส่งผลให้กระทรวงเกษตรออกคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของอุปทานล้นตลาด
เหงียน ยือ เกือง หัวหน้าหน่วยพืชสวนของกระทรวงกล่าวว่า เมื่อมีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทุเรียนจะมีคุณภาพต่ำ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรและแบรนด์ทุเรียนเวียดนาม
ปัญหาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการทำสวนทุเรียน ได้แก่ การขาดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้ค้า การสร้างแบรนด์ที่อ่อนแอ คนงานไม่มีคุณสมบัติ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กระทรวงเกษตรระบุ
เจ้าหน้าที่ได้ขอให้เกษตรกรและธุรกิจต่างๆ อย่าขยายการปลูกทุเรียนบนที่ดินที่ไม่เหมาะสม และอย่าปลูกทุเรียนแทนพืชผลที่ปลูกอยู่ในปัจจุบัน
ลาวเตรียมขึ้นอัตราภาษี VAT ปี 2567 เพื่อเพิ่มรายได้
กระทรวงการเงินของลาวกำลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและสนับสนุนเศรษฐกิจภาษีมูลค่าเพิ่มที่กำหนดไว้ที่ 10% จะกลับไปใช้อัตราเดิมซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553-2564 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ลาวใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับการนำเข้าสินค้าและบริการ
กระทรวงฯได้ชี้ให้เห็นหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มูลค่าปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่คาดการณ์ไว้ ธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มก็จำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และรัฐบาลต้องเพิ่มรายได้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ และทำให้สกุลเงินกีบมีเสถียรภาพ
ร่างกฎหมายใหม่เพื่อปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567
นอกจากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กระทรวงการเงินยังพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีด้วย มาตรการเหล่านี้รวมถึงการเร่งพัฒนากลไกในการคืนภาษีให้กับธุรกิจที่จ่ายไปแทนการยกเว้นภาษี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการสูญเสียทางการเงินของรัฐบาลผ่านการยกเว้นภาษีพร้อมทั้งให้การสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น
อินโดนีเซียเผยมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ออกมาตรการเมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศ หลังจากให้ความมั่นใจแก่ภาคธุรกิจต่างๆว่า เงินรูปียะฮ์ห์ที่อ่อนค่าล่าสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงปลอดภัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากร คาดว่าจะชะลอตัวในปีนี้ จากการส่งออกตกต่ำเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงและการค้าโลกที่อ่อนแอลง ในขณะที่สินค้าหลัก เช่น ข้าว มีราคาแพงขึ้นสำหรับอินโดนีเซียที่ต่อสู้กับภัยแล้ง
ในแถลงการณ์ สำนักประธานาธิบดีกล่าวว่า รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 11% สำหรับการซื้อบ้านที่มีมูลค่าน้อยกว่า 2 พันล้านรูปียะฮ์ (126,000 เหรียญสหรัฐฯ) จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นจะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ระบุเวลาละเอียด
นอกจากนี้ รัฐบาลจะขยายเวลาโครงการแจกจ่ายข้าวออกไปอีก 1 เดือนจนถึงเดือนธันวาคม ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมากกว่า 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นความพยายามที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาผลจากราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักสูงขึ้น
ในการพบปะกับนักลงทุนในการสัมมนาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวิโดโด ได้เตือนถึงความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง และการไหลออกของเงินทุนเป็นผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
“หากเราเห็นเปอร์เซ็นต์ของการอ่อนค่าของสกุลเงินของเรา มันก็จะยังคงปลอดภัยสำหรับภาคเศรษฐกิจจริง ปลอดภัยสำหรับภาคการเงิน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ” ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าว
เงินรูปียะฮ์ลดลงมากถึง 4.7% จากจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนลดความเสี่ยง และทำให้ธนาคารกลางของอินโดนีเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่ามีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีกหากค่าเงินยังอ่อนลงอีก
แม้ค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นมากถึง 0.66% ในวันอังคารมาที่ 15,825 รูปียะฮ์ต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังคงอยู่ใกล้ระดับที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563
“เราต้องมีการประมาณการและเตรียมพร้อมสำหรับระยะยาว” ประธานาธิบดีกล่าวและว่า งบประมาณของประเทศมีมากพอที่จะรองรับวิกฤติได้จนถึงปี 2567 เนื่องจากกระทรวงการคลังถือเงินสดไว้ถึง 616 ล้านล้านรูปียะฮ์(38.84 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ณ วันที่ 13 ต.ค.
รัฐบาลวางแผนที่จะโอนเงินให้หลายล้านครัวเรือนล้านเพื่อรับมือกับราคาอาหารที่สูงขึ้น จากการรายงานของสื่อ โดยอ้างคำพูดของนายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงไม่ให้คำตอบเมื่อขอให้ยืนยัน
ราคาอาหารหลัก เช่น ข้าว น้ำตาล และพริก เพิ่มขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งทำให้ผลผลิตในอินโดนีเซียลดน้อยลงในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงต่ำ
รองนายกฯและรมต.กระทรวงการต่างประเทศเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไทย – เวียดนาม ในปีนี้
ในการเยือนครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้พบหารือกับนายเล หว่าย จุง ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยเห็นว่า ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนามมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ไทยและเวียดนามจำเป็นต้องร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ระหว่างประเทศมีความเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็ว
ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามในด้านต่าง ๆ รวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) เพื่อสะท้อนความสำคัญลำดับต้นที่ทั้งสองฝ่ายให้กับความสัมพันธ์ในการหารือวาระต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายได้สนับสนุนให้แลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพปี ๒๕๖๗ นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เยือนไทยด้วย
ในด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของสองประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่แล้วในการจัดการปัญหาด้านความมั่นคงต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์
ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ
(1) ในส่วนของการค้า ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อมูลค่าการค้าทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา และจะเดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
(2) ในด้านการลงทุน ฝ่ายเวียดนามขอบคุณนักลงทุนจากไทยที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาของเวียดนาม และยืนยันจะให้การสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 9 ในเวียดนาม นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายเวียดนามให้ลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
(3) ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและการเชื่อมโยงการเดินทางทางบกระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนาเส้นทางเดินเรือชายฝั่งไทย-กัมพูชา-เวียดนาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการจัดการประชุมและนิทรรศการ (MICE) ระหว่างสองประเทศ
ในระยะต่อไป ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการนำแนวคิด “Three Connects” ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในระหว่างอดีตประธานาธิบดีเวียดนามเยือนไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม ดังนี้
(1) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Connecting Supply Chains) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่อยอดความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่างระบบเศรษฐกิจของไทยและเวียดนาม และแสวงหาแนวทางการเชื่อมโยงและขยายห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศ
(2) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น (Connecting Local Economies) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับจังหวัดในภาคกลางและใต้ของเวียดนาม รวมทั้งจะส่งเสริมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นของสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม
(3) การเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Connecting Sustainable Growth Strategies) สองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว มากยิ่งขึ้น
ในด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน ฝ่ายไทยจะสานต่อโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในเวียดนาม และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาเวียดนามในมหาวิทยาลัยของแต่ละฝ่าย เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างเยาวชนสองประเทศ นอกจากนั้น จะสนับสนุนความร่วมมือในอุตสาหกรรมบันเทิง ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายและการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสองฝ่าย
ในประเด็นระดับภูมิภาค สองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ในระดับภูมิภาคที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและมีความห่วงกังวลร่วมกัน โดยไทยและเวียดนามจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพของอาเซียน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค
นอกจากนี้ ระหว่างการเยือน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับทีมประเทศไทยประจำกรุงฮานอย ผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม รวมถึงได้เข้าร่วมงานเปิดตัวการกลับมาให้บริการของสายการบินไทยในเส้นทางบินระหว่างไทยกับเวียดนามด้วย