ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซีย MoU อินเดียนำเข้าข้าว 1 ล้านตันรับมือเอลนีโญ

ASEAN Roundup อินโดนีเซีย MoU อินเดียนำเข้าข้าว 1 ล้านตันรับมือเอลนีโญ

18 มิถุนายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 มิถุนายน 2566

  • อินโดนีเซีย MoU อินเดียนำเข้าข้าว 1 ล้านตันรับมือเอลนิโญ
  • อินโดนีเซียนำเข้าข้าวเวียดนามเพิ่ม 15 เท่า
  • อินโดนีเซียตั้งเป้าสัดส่วนภาคอุตสาหกรรม 30% ของ GDP
  • อินโดนีเซียวางแผนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 1 ล้านราย
  • การลงทุนใน SEZ อินโดนีเซียไตรมาสแรกทะลุ 8.5 ล้านล้านรูปียะฮ์
  • มาเลเซียดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 74.6 พันล้านริงกิตในปี 2565
  • แรงงานฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับประเทศ 2.48 พันล้านดอลลาร์เม.ย.
  • อินเดีย-เมียนมาคาดสรุปใช้รูปีในการค้าสิ้นเดือนมิ.ย.
  • เมียนมาตั้งเป้าใช้กฎหมายทรัพย์สินการออกแบบผลิตภัณฑ์ในสิ้นปี 2566
  • อินโดนีเซีย MoU อินเดียนำเข้าข้าว 1 ล้านตันรับมือเอลนิโญ

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/285246/trade-minister-inks-mou-on-importing-one-mln-tons-rice-from-india

    นายซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(15 มิ.ย.)ว่า เขาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเข้าข้าวหนึ่งล้านตันจากอินเดียเพื่อรับมือกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ พร้อมกับย้ำว่ากระทรวงการค้าควรหาทางเตรียมการเพื่อรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญ เพราะปริมาณข้าวรองรับประชาชนจะต้องไม่จำกัดแม้จะมีการคาดการณ์ภัยแล้งก็ตาม

    “ด้วยเหตุนี้ ผมได้ (ลงนาม) บันทึกความเข้าใจกับอินเดียแล้ว เพื่อให้เราสามารถซื้อข้าวหนึ่งล้านตันได้เป็นระยะๆ” นายฮาซันกล่าว

    ข้อตกลงนำเข้าข้าวกับอินเดียไม่ได้อยู่ในข้อตกลงของสำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Agency-NFA) ที่ให้ Perum Bulog บริษัทโลจิสติกส์ของรัฐ นำเข้าข้าวในปีนี้

    Perum Bulog ได้รับมอบหมายจาก NFA ให้นำเข้าข้าว 2 ล้านตันตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเต็มเพดาน

    บันทึก MoU ล่าสุดครอบคลุมทั้งราคาและความพร้อมจำหน่ายของข้าวอินเดีย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังไม่ได้กำหนดเรื่องเวลาในการซื้อ

    “นี่เป็นเพียง MoU เพื่อกำหนดราคา สินค้ามีอยู่จริง แต่เราไม่ได้ซื้อมา” นายฮาซันกล่าว “อย่างไรก็ตาม MoU แบบ G-to-G (แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล) มีอยู่แล้ว ปีนี้หากเราต้องการ เราก็สามารถซื้อได้”

    เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (BMKG) ประกาศว่าภาวะเอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจทำให้เกิดภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งในอินโดนีเซีย

    เพื่อรับมือกับภัยแล้งนายสยาห์รุล ยาซิน ลิมโป รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงพันธุ์ใหม่จำนวน 4 ตันที่สามารถปรับตัวเข้ากับภัยแล้งได้

  • Fitch Solutions คาดปี 2566 ตลาดข้าวทั่วโลกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ
  • อินโดนีเซียนำเข้าข้าวเวียดนามเพิ่ม 15 เท่า

    ตั้งแต่ต้นปีนี้ อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากเวียดนามมากขึ้นถึง 15 เท่าของปีที่แล้ว และนำเข้ากาแฟเกือบ 3 เท่า เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยได้ซื้อข้าวมูลค่า 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 9.5% ของการส่งออกของเวียดนามในปีนี้ และกระโดดจากอันดับ 8 มาเป็นอันดับ 3 ในรายชื่อผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุด รองจากฟิลิปปินส์และจีน จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม

    อินโดนีเซียนำเข้ากาแฟจากเวียดนาม เพิ่มขึ้น 185% รวมมูลค่ากว่า 76 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าผักเพิ่มขึ้น 20% มีมูลค่า 2.44 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าอาหารทะเลเพิ่มขึ้น 70% เป็น 7.83 ล้านดอลลาร์

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/indonesia-sharply-increases-agricultural-imports-from-vietnam-4618193.html

    กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียกล่าวว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม รัฐบาลจึงตัดสินใจนำเข้าข้าว 2 ล้านตันในปีนี้

    กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า ผลผลิตกาแฟ ข้าว และอาหารทะเลทั่วโลกทรงตัว เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และมีความเสี่ยงที่จะลดลงอีก ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆต้องเพิ่มปริมาณสำรอง

    อินโดนีเซียตั้งเป้าสัดส่วนภาคอุตสาหกรรม 30% ของ GDP

    นายซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ อินโดนีเซีย ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/285222/aiming-for-manufacturing-sector-gdp-contribution-of-30-minister
    นายซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติประกาศเป้าหมายที่จะให้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินโดนีเซียมีสัดส่วน 30% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2588

    “เราคาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตจะสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น การมีส่วนร่วมต่อ GDP จึงสูงถึง 30%”

    ในระหว่างการเปิดตัว “แผนพัฒนาระยะยาวแห่งชาติปี 2045 ของประเทศอินโดนีเซียปี 2045 (Golden Indonesia 2045 National Long-Term Development Plan – RPJPN)” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายโมโนอาร์ฟาเชื่อว่า หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ของ Golden Indonesia คือ การขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรม

    ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รัฐบาลคาดว่าจะฟื้นฟูและส่งเสริมให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ และเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเคมีพื้นฐานและอุตสาหกรรมโลหะ

    นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับกลาง ซึ่งรวมถึงการขนส่งทางเรือ การบินและอวกาศ ยานยนต์ และการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ และรองเท้า ตลอดจนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้การวิจัยรวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ

    เมื่อพิจารณาถึงข้อได้เปรียบในด้านประชากรของอินโดนีเซีย คนรุ่นใหม่ในอนาคตจะเป็นคนรุ่นที่มีความสามารถสูง มีความเชี่ยวชาญในภาษาท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศและแม้แต่การเขียนโค้ด การเรียนรู้ภาษาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

    “ดังนั้นจึงกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารในการเผชิญหน้ากับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของการก้าวสู่การปรับเปลี่ยน”

    สำนักงานวางแผนพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การดุแลของนายโมโนอาร์ฟา และรัฐบาลกำลังร่างกฎหมาย RPJPN ปี 2568-2588 ซึ่งคาดว่าจะมีการให้สัตยาบันในเดือนกันยายน 2566

    นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าจะมีการนำกฎหมายไปใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ในการวางวิสัยทัศน์และพันธกิจสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2567

    อินโดนีเซียวางแผนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 1 ล้านราย

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/285441/plan-needed-to-produce-1-million-new-young-entrepreneurs-minister
    นายเตเตน มัสดุคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอินโดนีเซียเปิดเผยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างผู้ประกอบการใหม่ 1 ล้านคนจากกลุ่มเยาวชนที่มีการศึกษา โดยจะมีการจัดทำแผนที่ครอบคลุมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

    “ต้องมีการวางแผนเพื่อผลิตผู้ประกอบการใหม่ โดยเฉพาะจากเยาวชน” นายมัสดุคีในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันศุกร์ (16 มิ.ย.)

    รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราส่วนผู้ประกอบการเป็น 3.95% และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ กระทรวงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ โดยนายมัสดุคีชี้ให้เห็นว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการผลิตผู้ประกอบการรายใหม่จากกลุ่มเยาวชนที่มีการศึกษาและจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย พร้อมกับย้ำว่าเยาวชนเกาหลีใต้จะได้รับเกียรติบัตรหากแนวคิดทางธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของพวกเขาได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานประเมิน

    “เกียรติบัตรรับรองนี้ช่วยให้พวกเขาได้รับทุนเพื่อธุรกิจโดยที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากธนาคาร”

    นายมัสดุคีชี้ว่า หากอินโดนีเซียเพิ่มอัตราส่วนผู้ประกอบการเป็น 3.95% หรือ 4% ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพการจ้างงานของอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมาจากผู้ประกอบการรายย่อยถึง 96%

    นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันทุกประเทศในโลกกำลังพยายามเน้นย้ำถึงศักยภาพในประเทศ รวมถึงอินโดนีเซียที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ในภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ และมีมมุมมองทางบวกว่า เยาวชนที่มีการศึกษาจะเรียนต่อเพื่อสร้างและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

    การลงทุนใน SEZ อินโดนีเซียไตรมาสแรกทะลุ 8.5 ล้านล้านรูปียะฮ์

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/285453/sez-investment-reached-rp85-trillion-in-2023-first-quarter-ministry
    กระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจอินโดนีเซียเปิดเผยว่า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) สูงถึง 8.5 ล้านล้านรูปียะฮ์ (568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสแรกปี 2566 โดยมีผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 54 รายและมีการจ้างคนงานกว่า 1.09 ล้าน

    ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยปลัดกระทรวง นาย Moegiarso Susiwijono ซึ่งรักษาการเลขาธิการ สภา SEZ แห่งชาติ

    “หวังว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับที่ประเทศของเรามีบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค และความเชื่อมั่น (ของนักลงทุน) ที่เพิ่มขึ้นในประเทศของเรา” นาย Moegiarso ระบุในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์

    ปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่ 20 แห่งเป็น SEZ ซึ่งประกอบด้วย SEZ อุตสาหกรรม 10 แห่ง และ SEZ การท่องเที่ยว 10 แห่ง

    ในปี 2563 การลงทุนในเขต SEZ มีมูลค่าสูงถึง 113.3 ล้านล้านรูปียะฮ์ (7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเพิ่มขึ้น 51.8% ต่อปี โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจ 269 รายที่เริ่มดำเนินงาน และมีคนงานมากถึง 6.674 ล้านคน

    “แม้ว่าเราจะยังคงเผชิญกับความท้าทายที่ไม่แน่นอนในอนาคต แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ โดยหวังว่าจะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจระดับชาติและระดับภูมิภาค”

    “เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีบทบาทในฐานะแหล่งการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ”

    มาเลเซียดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 74.6 พันล้านริงกิตในปี 2565

    ที่มาภาพ: https://www.businesstoday.com.my/2023/06/16/dosm-malaysias-fdi-recorded-rm74-6-billion-while-dia-registered-rm58-6billion-the-highest-since-2021/
    เงินลงทุนจากต่างประเทศ(Foreign Investment)ไหลเข้าสุทธิของมาเลเซียเพิ่มขึ้น 74.6 พันล้านริงกิตในปี 2565 จาก 50.4 พันล้านริงกิตในปี 2564 ในขณะที่การออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 58.6 พันล้านริงกิต จาก 19.4 พันล้านริงกิต

    “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ของมาเลเซียโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 879.1 พันล้านริงกิต ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับ 782 พันล้านริงกิตเมื่อปีที่แล้ว” สำนักงานสถิติมาเลเซีย (DoSM) กล่าวในแถลงการณ์

    “ข้อมูลที่โดดเด่นของทั้ง FDI และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (DIA) แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยในประเทศที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติให้ลงทุนต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน บริษัทมาเลเซียก็ขยายและกระจายกิจกรรมทางธุรกิจไปในต่างประเทศ” รายงานระบุ

    FDI ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 17.1 พันล้านริงกิต ทำสถิติไหลเข้าสุทธิที่ 49.5 พันล้านริงกิต และเป็น FDI ก้อนใหญ่ที่สุด

    “ภาคการผลิตดึงดูดการลงทุนถึง 66.4% ของการลงทุนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคส่วนไฟฟ้า อุปกรณ์ขนส่ง และภาคการผลิตย่อยอื่นๆ ส่วนภาคบริการมีการลงทุนสูงสุดอันดับสอง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเงิน รองลงมาคือภาคเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นและกองทุนเพื่อการลงทุน”

    ภูมิภาคอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงสุดในปี 2565 แซงหน้าเอเชีย โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิ 42.6 พันล้านริงกิต ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจำนวน 37.8 พันล้านริงกิต

    เอเชียเป็นแหล่ง FDI ที่โดดเด่นด้วยมูลค่าลงทุน 449 พันล้านริงกิต ตามมาด้วยยุโรป 224.5 พันล้านริงกิต และอเมริกา 187.3 พันล้านริงกิต ณ สิ้นปี 2565 โดย“ภาคบริการยังคงเป็นภาคที่รับ FDI มากที่สุด 48.8% หรือ 429.1 พันล้านริงกิต โดยได้แรงหนุนจากกิจกรรมทางการเงินและการค้าส่ง” DOSM ระบุ รองลงมาคือภาคการผลิตซึ่งคิดเป็น 43.5% ของ FDI ทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้า อุปกรณ์ขนส่ง และภาคการผลิตย่อยอื่นๆ

    ส่วนการลงทุนโดยตรงของมาเลเซียในต่างประเทศ(DIA) เพิ่มขึ้น 39.3 พันล้านริงกิตเป็น 58.6 พันล้านริงกิต ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นและผลกำไรยังคงเก็บไว้ในต่างประเทศ

    ภาคบริการยังคงเป็นภาคส่วนหลักของ DIA โดยมีสัดส่วน 72.2% ของการลงทุนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคการเงิน ในขณะที่ภาคเหมืองแร่และเหมืองหินรวมถึงภาคการผลิตมีสัดส่วน 12.5% ​​และ 10.2% ตามลำดับ

    ภูมิภาคเอเชียแซงหน้ายุโรปขึ้นมาเป็นภูมิภาคที่มาเลเซียออกไปลงทุนมากที่สุด ในปี 2565 ด้วยมูลค่า 23.5 พันล้านริงกิต โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ตามมาด้วยยุโรปและอเมริกาด้วยมูลค่า 21 พันล้านริงกิตและ 12 พันล้านริงกิตตามลำดับ

    “โดยรวมแล้ว ประเทศที่ กระแส DIA ไหลไห ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

    ณ สิ้นปี 2565 มูลค่า DIA ของมาเลเซียอยู่ที่ 607.5 พันล้านริงกิตมาเลเซีย เทียบกับ 546.5 พันล้านริงกิตในปี 2564 โดยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทาง 3 อันดับแรกสำหรับนักลงทุน

    หลังผ่านพ้นการระบาดของโควิดและเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว การวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับจากการลงทุนในปี 2565 พบว่า ทั้งนักลงทุน FDI และ DIA ยังคงได้รับผลตอบแทนสูงจากการลงทุน

    โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท FDI ในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 12 เซ็น จาก 13 เซ็น ในปี 2564 สำหรับการลงทุนทุกๆ 1 ริงกิต ขณะที่บริษัทของมาเลเซียได้รับ 8 เซ็นต่อทุกๆ 1 ริงกิตที่ลงทุนในต่างประเทศ

    แรงงานฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับประเทศ 2.48 พันล้านดอลลาร์เม.ย.

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2021/12/27/2150227/ofws-need-better-social-protection
    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์(Bangko Sentral ng Pilipinas-BSP) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี(15 มิ.ย.)ว่า แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (Overseas Filipino Workers-OFWs) ส่งเงินกลับประเทศ เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 2.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    ธนาคารกลางระบุว่า การส่งเงินสดที่เพิ่มขึ้นผ่านธนาคาร มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของการส่งเงินทั้งจากแรงงานที่ทำงานภาคพื้นดินและแรงงานทางทะเล

    ข้อมูลที่เผยแพร่โดย BSP แสดงให้เห็นว่า กระแสเงินสดจากคนงานภาคพื้นดินเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กระแสเงินสดจากแรงงานภาคพื้นทะเลเพิ่มขึ้น 2.7% เป็น 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งเงินสดสูงถึง 10.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับ 10.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเงินส่งกลับมามากจากสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และซาอุดีอาระเบีย

    Michael Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Rizal Commercial Banking Corporation (RCBC) กล่าวว่า การส่งเงินสดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วต่ำกว่าเกือบ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและโอกาสการจ้างงาน

    “การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งเงินกลับของ OFW อาจเกี่ยวข้องกับราคา อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงขึ้นในประเทศที่เข้าไปทำงานของ OFW ซึ่งทำให้การส่งเงินกลับฟิลิปปินส์ลดลงโดยพื้นฐาน”

    Ricafort กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินเปโซของฟิลิปปินส์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็น่าอาจส่งผลให้การส่งเงินสดลดลงในเดือนที่ 4 ของปีนี้

    แม้การส่งเงินสดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาลดลง แต่ Ricafort ยังมองว่า การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ ยังเป็นจุดดีของเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งแม้จะมีความท้าทายก็ตาม

    การส่งเงินกลับจาก OFWs เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในประเทศ เนื่องจากทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น

    “มองไปข้างหน้า การส่งเงินกลับของ OFW จะฟื้นตัวหรือไม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่เข้าไปทำงานว่าจะเร็วขึ้นหรือไม่หลังจากที่ล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ซึ่ง OFW บางส่วนจะสามารถทำงานได้อีกครั้ง รวมไปถึงว่างานที่หายไปนั้นจะกลับมาหรือไม่ และจะกลับไปทำงานเดิมได้หรือไม่ของแรงงาน OFW ที่ได้รับผลกระทบในทางลบในอุตสาหกรรมเเดิมหรือใหม่ หรือประเทศที่เข้าไปทำงานเดิมหรือประเทศใหม่”

    อินเดีย-เมียนมาคาดสรุปใช้รูปีในการค้าสิ้นเดือนมิ.ย.

    ที่มาภาพ: https://www.telegraphindia.com/business/india-and-myanmar-may-conclude-ongoing-talks-on-rupee-trade-by-end-of-june/cid/1944575

    อินเดียและเมียนมาอาจสรุปการเจรจาเรื่องการใช้เงินรูปีในการค้าภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งจะช่วยขจัดอุปสรรคด้านกลไกการชำระเงินท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และส่งเสริมการค้าทวิภาคีอย่างมีนัยสำคัญ

    ธนาคารกลางแห่งเมียนมาและธนาคารกลางอินเดียกำลังเจรจาเพื่อสรุปขอบเขตและรายละเอียด และมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับกลไกการชำระเงิน

    “ผมหวังว่าหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การเจรจาทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้” อ่อง ไหน่ อู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เมียนมา กล่าว

    รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทน 42 คนไปยังเมืองกัลกัตตา กล่าวในการประชุมที่จัดโดย EEPC India และหวังว่า การค้าทวิภาคีอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อการชำระเงินโดยตรงรูปี-จั๊ตเริ่มขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่างธนาคารกลางสองแห่งได้ข้อสรุป

    การค้าสินค้าทั้งหมดของอินเดียกับเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนร่วมกับรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีมูลค่า 1.76 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566 สินค้าส่งออกที่สำคัญของเมียนมาไปยังอินเดีย ได้แก่ น้ำมันพืชและเมล็ดถั่ว ขณะที่เวชภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากอินเดีย

    สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมาหลังจากกองทัพขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2564 และเข้าควบคุมประเทศ

    ธนาคารกลางอินเดียได้อนุญาตให้ Punjab National Bank(PNB) เปิดบัญชี Special Rupee Vostro ในสกุลเงินรูปีอินเดีย สำหรับการชำระการค้าด้วยเงินรูปีอินเดียและจั๊ตของเมียนมา และ PNB ได้ติดต่อธนาคารเมียนมา 2 แห่งเป็นธนาคารตัวแทนเพื่อเปิดบัญชี Special Rupee Vostro แล้ว

    มาเลเซีย-อินเดียตกลงใช้รูปีชำระเงินในการค้า

    มาเลเซียและอินเดียก้าวข้ามเงินดอลลาร์ ด้วยการใช้สกุลเงินรูปีในการชำระเงินทางการค้า
    การประกาศดังกล่าวถูกมองว่าเป็นขั้นตอนชี้ขาดที่มุ่งสู่การลดการใช้เงินดอลลาร์ และการดำเนินการเพื่อปกป้องการค้าของอินเดียจากผลกระทบของสงครามของรัสเซียในยูเครน รวมทั้งผลกระทบและการคว่ำบาตรที่ตามมา

    อินเดียและมาเลเซียตกลงที่จะใช้เงินรูปี อินเดีย ชำระเงินในการค้า กระทรวงการต่างประเทศอินเดียประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566

    การประกาศนี้มีขึ้นหลังการดำเนินการอย่างเป็นทางการในการปกป้องการค้าของอินเดียจากผลกระทบของวิกฤตยูเครน การเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินทุนสำรองที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ได้บ่งชี้ว่าอินเดียยินดีที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การลดการใช้เงินดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศ

    ธนาคาร Union Bank of India ระบุในแถลงการณ์ว่า ธนาคารเป็นธนาคารแห่งแรกในอินเดียที่เลือกการชำระเงินวิธีนี้ โดยการเปิดบัญชี Special Rupee Vostro ผ่าน “ธนาคารตัวแทน” ในมาเลเซีย คือ India International Bank of Malaysia

    “ตอนนี้การค้าระหว่างอินเดียและมาเลเซียสามารถชำระด้วยสกุลเงินรูปีอินเดีย เพิ่มเติมจากรูปแบบการชำระเงินปัจจุบันในสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของธนาคารกลางอินเดียในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่ออนุญาตให้มีการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศในสกุลเงินรูปีอินเดีย ความริเริ่มจากธนาคารกลางอินเดียมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อให้การค้าโลกเติบโตและเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของประชาคมการค้าโลกในเงินรูปีอินเดีย” กระทรวงการต่างประเทศประกาศ

    การค้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เศรษฐกิจรัสเซียถูกคว่ำบาตรโดยมหาอำนาจตะวันตก หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เริ่ม“ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” กับยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และผลจากการคว่ำบาตรและ สงคราม การชำระเงินให้รัสเซียในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทำได้ยากมากขึ้น จึงนำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหาในสกุลเงินของประเทศและการลดการใช้เงินดอลลาร์ทั่วโลก

    เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รัฐบาลได้รายงานต่อราชยสภา หรือสภาสูงของอินเดีย ว่า ธนาคารจาก 18 ประเทศได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางอินเดียให้เปิดบัญชี Special Rupee Vostro (SRVA) เพื่อชำระเงินด้วยเงินรูปีอินเดีย โดยที่มาเลเซียเป็น 1 ใน 18 ประเทศที่มีชื่อตามแถลงการณ์ที่ออกโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

    “India International Bank of Malaysia (IIBM) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ใช้กลไกนี้โดยการเปิดบัญชี Special Rupee Vostro ผ่านธนาคารตัวแทนในอินเดีย เช่น Union Bank of India” ประกาศอย่างเป็นทางการระบุ

    “กลไกนี้จะช่วยให้ผู้ค้าชาวอินเดียและชาวมาเลเซียออกใบแจ้งหนี้การค้าในสกุลเงินรูปีของอินเดีย และดังนั้นสามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการที่ซื้อขายกันได้ดีขึ้น กลไกนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าทั้งสองฝ่าย เนื่องจากสามารถซื้อขายด้วยเงินรูปีอินเดียได้โดยตรง ดังนั้นจึงช่วยประหยัดส่วนต่างในการแปลงสกุลเงิน” เอกสารข่าวจาก Union Bank of India ระบุ

    การค้าทวิภาคีอินเดีย-มาเลเซียแตะ 19.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2564-2565 และการประกาศเมื่อวันเสาร์คาดว่าจะช่วยให้การค้าทวิภาคีสามารถเอาชนะอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินได้ มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอินเดียในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่าการค้าทวิภาคีกับอินเดียมูลค่า 30,100 ล้านดอลลาร์และ 26,100 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

  • ASEAN Roundup คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินภูมิภาค
  • เมียนมาตั้งเป้าใช้กฎหมายทรัพย์สินการออกแบบผลิตภัณฑ์ในสิ้นปี 2566

    ในระหว่างพิธีเปิดตัวสำนักงานสาขาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในย่างกุ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศว่า กระทรวงฯกำลังดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ Industrial Design Property Law ภายในสิ้นปีนี้

    กระทรวงฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ และได้เริ่มให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการแล้วผ่านศูนย์รับคำร้องในกรุงเนปีดอว์ กรุงย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ โดยการจดทะเบียนครั้งล่าสุดมีขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2566

    ในบรรดากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน 4 ฉบับ กฎหมายเครื่องหมายการค้าได้มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อบังคับใช้Industrial Design Property Law และกฎหมายทรัพย์สินทางวรรณกรรมและศิลปะ(Literature and Art Property Law)ภายในสิ้นปี 2566 ตามด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property Law)ในปี2567