ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามลดเพดานถือหุ้นธนาคารของกองทุนเหลือไม่เกิน 10%

ASEAN Roundup เวียดนามลดเพดานถือหุ้นธนาคารของกองทุนเหลือไม่เกิน 10%

21 มกราคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-21 มกราคม 2567

  • เวียดนามลดเพดานถือหุ้นธนาคารของกองทุนเหลือไม่เกิน 10%
  • เวียดนามดึง FDI กว่า 39,100 โครงการทุนสิ้นปี 2566
  • เวียดนามปักหมุดจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำ
  • เวียดนามอนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหิน
  • ลาวลดเวลาจดทะเบียนธุรกิจใหม่เหลือ 3 วันผ่านออนไลน์
  • BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนวางแผนลงทุน 1.3 พันล้านดอลล์ในอินโดนีเซีย

    เวียดนามลดเพดานถือหุ้นธนาคารของกองทุนเหลือไม่เกิน 10%

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/state-bank-of-vietnam-faces-pressure-on-exchange-rate-2043316.html
    เมื่อวันพฤหัสบดี (18 ม.ค. 2566) สภานิติบัญญัติของเวียดนามอนุมัติกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะลดสัดส่วนเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนในธนาคารในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงที่ตลาดจะปั่นป่วน แต่อาจทำให้การลงทุนในธนาคารมีความน่าสนใจน้อยลง

    ภายใต้การปฏิรูป ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ ผู้ถือหุ้นสถาบัน เช่น กองทุนเพื่อการลงทุนหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ จะได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นของธนาคารได้ไม่เกิน 10% ลดลงจากเพดานขีดจำกัด 15% ในปัจจุบัน

    สมาชิกสภานิติบัญญัติกว่า 90% เห็นด้วยกับกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม

    การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดเผยในช่วงปลายปี 2565 ถึงการฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ นางเจือง มาย หลั่น (Truong My Lan) ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 12.5 พันล้านดอลลาร์จาก Saigon Joint Stock Commercial Bank (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม เป็นผลจาการที่มีอำนาจควบคุมธนาคารอย่างเบ็ดเสร็จผ่านนอมินี

    ผู้ที่สนับสนุนกฎใหม่คาดหวังว่า การจำกัดความเป็นเจ้าของที่เข้มงวดยิ่งขึ้น อาจทำให้การยักย้ายถ่ายเทในลักษณะที่คล้ายกันเกิดได้ยากขึ้น แต่ผู้ที่คัดค้านเตือนว่าอาจจะไม่ได้ผลเนื่องจากเพดานการถือหุ้นที่มีอยู่ไม่ได้ป้องกันการฉ้อโกง

    นักวิจารณ์ รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติยังเตือนในระหว่างการถกเถียงอย่างเปิดเผยว่า การปฏิรูปอาจส่งผลกระทบให้ลดการลงทุนในธนาคาร ในช่วงเวลาที่ระบบธนาคารของเวียดนามเผชิญกับสินเชื่อเสียที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่จะส่งต่อมาจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ

    มาตรการใหม่นี้ขัดกับคำร้องขอที่ได้รับหลายครั้งจากนักลงทุนต่างชาติให้ยกเลิก หรือยกเลิกเพดานที่ 30% สำหรับการถือครองของธนาคารต่างชาติทั้งหมดที่ใช้อยู่

    เพดานดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนภายใต้การปฏิรูป แต่การจำกัดการถือหุ้นสถาบันที่เข้มงวดมากขึ้น อาจยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างประเทศเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมักจะถือในระดับใกล้เพดานสูงสุดในปัจจุบันมากกว่านักลงทุนในประเทศ

    เมื่อคำนึงถึงข้อกังวลเหล่านี้บางส่วนแล้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติกฎหมายจึงตัดสินใจที่จะไม่ลดเพดานการเป็นเจ้าของรายบุคคลลงอีก และยังคงจำกัดไว้ที่ 5% แม้ว่าจะมีแผนเบื้องต้นที่จะลดเพดานลงเหลือ 3% ก็ตาม

    กฎใหม่ยังให้อำนาจมากขึ้นแก่ธนาคารกลางของเวียดนามในการแทรกแซงอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการถอนเงินสดจำนวนมากจากธนาคาร หรือธนาคารมีสัญญาณว่ามีปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ

    กรณีอื้อฉาวของ SCB นำไปสู่การแห่ถอนเงิน และกดดันให้ธนาคารกลางต้องเข้าควบคุม

    เวียดนามดึง FDI กว่า 39,100 โครงการทุนสิ้นปี 2566

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/more-japanese-firms-opt-for-vietnam-after-china-4210051.html
    เวียดนามดึงดูดโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment:FDI) 39,140 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกว่า 468.91 พันล้านเหรียญสหรัฐน ณ สิ้นปี 2566 ตามรายงานของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    โฮจิมินห์ซิตี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของพื้นที่ทั่วประเทศที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ด้วย 12,398 โครงการ และทุนจดทะเบียน 57.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 31.67% ของจำนวนโครงการทั้งหมด และเกือบ 13% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รองลงมาคือฮานอยมี 7,363 โครงการและมีทุนจดทะเบียน 41.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจังหวัดบิ่ญเซืองตอนใต้ มี 4,217 โครงการ และมูลค่า 40.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    จุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญอื่นๆ ในเวียดนาม ได้แก่ ด่ง นาย, บ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า, ไฮ ฟอง, บั๊ก นิญ, ทัญฮว้า, ล็องอาน และ กว๋างนิญ

    ในขณะเดียวกัน 10 เมืองที่มีปริมาณ FDI ต่ำที่สุดในเวียดนาม ได้แก่ ลายเจิว, เดียน เบียน, ห่าซาง, กาวบั่ง, บั๊กกั่น, ซาลาย, เซินลา, ก่าเมา, เตวียนกวาง และ ด่งท้าบ

    ในปี 2566 เพียงปีเดียว เวียดนามดึงดูด FDI มูลค่า 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้ ไฮฟอง กว๋างนิงห์ บั๊กซาง ฮานอย บั๊กนิญ บิ่ญเซือง และด่งนาย

    จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ที่ผ่านมา เงินทุน FDI ที่ไหลเข้าสู่เวียดนามยังคงมุ่งเน้นไปที่จังหวัดและเมืองที่มีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดีและทรัพยากรมนุษย์ที่มั่นคง การปฏิรูปการบริหาร และพลวัตในการส่งเสริมการลงทุน

    นายเจิ๊น โกว๊ก เฟือง(Tran Quoc Phuong) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนกล่าวในการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตำแหน่งและบทบาทของเวียดนามต่อกระแส FDI ทั่วโลกได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่อง

    เวียดนามไม่เพียงแต่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจ โดยทุน FDI ที่จดทะเบียนในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 32% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังลงทุนในเชิงรุกในต่างประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและในอุตสาหกรรมใหม่

    นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล การเติบโตสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และภาคเศรษฐกิจใหม่ เช่น การผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์ การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเหมืองแร่ การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงเพื่อคว้าโอกาสจากการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศสำคัญๆ ได้ดียิ่งขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุน FDI ทั่วโลก ข้อตกลงการค้าเสรี และการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ

    อย่างไรก็ตามนายเฟืองกล่าวว่า การลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามในสถานการณ์ใหม่ ยังคงเผชิญกับข้อด้อยในแง่ของสถาบัน นโยบาย คุณภาพการลงทุน และประสิทธิภาพ โดยชี้ว่าเวียดนามดึงดูด FDI ในโลกได้ดี แต่ความเชื่อมโยงระหว่างภาค FDI และองค์กรในประเทศยังคงอ่อนแอ และไม่ได้ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแข็งแกร่ง และยกระดับตำแหน่งในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

    เวียดนามปักหมุดจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-resolved-to-become-leading-investment-destination-pm-4702143.html
    นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์เชิญชวนให้นักลงทุนนำเงินทุนและเทคโนโลยีล้ำสมัยมาสู่เวียดนามมากขึ้น

    เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายจิ๋งห์เป็นประธานในการสัมมนาหัวข้อ “เวียดนาม – ผู้นำการลงทุนที่ยั่งยืนในอาเซียน” หรือ Vietnam – leading sustainable investment in ASEAN ในเมืองดาวอส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 54 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World EConomic Forum-54)

    งานนี้จัดขึ้นร่วมกันโดยกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม คณะผู้แทนถาวรของเวียดนามในกรุงเจนีวา องค์กร Young Presidents’ Organisation (YPO) และมูลนิธิ VinaCapital

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์เชื่อว่า หลังจากการประชุม WEF-54 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Rebuilding Trust” ความไว้วางใจระหว่างประเทศ ในหมู่ธุรกิจ และระหว่างประเทศและธุรกิจต่างๆ จะถูกนำมารวมกันและส่งเสริม รวมถึงความเชื่อมั่นในเวียดนาม

    ผู้นำได้บรรยายสรุปแก่ผู้เข้าร่วม ถึงปัจจัยพื้นฐานบางด้านที่ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน และตอกย้ำถึงประสบการณ์อันมีค่าของประเทศ เช่น การมุ่งเน้นเอกราชของชาติและลัทธิสังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแข็งแกร่งของความสามัคคีในชาติอันยิ่งใหญ่และความสามัคคีระหว่างประเทศ ผสมผสานความเข้มแข็งของประเทศกับยุคสมัย การใช้ลัทธิมาร์กซ-เลนินอย่างสร้างสรรค์ อุดมการณ์ ประเพณีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และยืนหยัดในความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวว่า เวียดนามกำลังสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม รัฐสังคมนิยมที่ควบคุมด้วยกฎหมายของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน และเศรษฐกิจแบบตลาดที่มุ่งเน้นสังคมนิยม

    เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นเศรษฐกิจของประเทศต้องมีกฎระเบียบของรัฐเมื่อจำเป็น พร้อมเน้นว่าเวียดนามถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประเด็นเป็นตัวขับเคลื่อนและทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และเป้าหมายของการพัฒนา เวียดนามจะไม่แลกความเท่าเทียมทางสังคม สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เวียดนามยังคงแน่วแน่ในนโยบายต่างประเทศในเรื่องเอกราช การพึ่งพาตนเอง สันติภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือและการพัฒนา การกระจายความสัมพันธ์และพหุภาคี การบูรณาการระหว่างประเทศอย่างครอบคลุม เข้มข้น กว้างขวางและมีประสิทธิภาพ และเป็นเพื่อน พันธมิตรที่เชื่อถือได้ และเป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับนโยบายการป้องกันประเทศ “สี่ไม่” หรือ four no’s” defense policy

    นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เวียดนามได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศต่างๆ มากกว่า 190 ประเทศ รวมถึงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์หรือยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมกับสมาชิกถาวรทั้ง 5 รายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสมาชิกกลุ่มประเทศ G20 จำนวนมากทั้งที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่ และลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements :FTA) จำนวน 16 ฉบับ กับกว่า 60 ประเทศ

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงภายในปี 2588 นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า เวียดนามจะก้าวไปอีกขั้นในการยกระดับความก้าวหน้า 3 ประการของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ การฝึกอบรมบุคลากรคุณภาพสูง และความสมบูรณ์แบบของสถาบัน

    ในขณะเดียวกัน จะมีการใช้กลไกและสิ่งจูงใจสำหรับ ภาคส่วนที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และเกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี AI และการเปลี่ยนแปลงสีเขียว

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ย้ำถึง ความพยายามของเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การกระตุ้นการเติบโต การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และหลักประกันว่าหนี้สาธารณะ รัฐบาล และต่างประเทศ และยังบริหารจัดการการใช้จ่ายที่เกินไปได้

    แม้จะมีความวุ่นวายทั่วโลก แต่เวียดนามยังคงดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างต่อเนื่องด้วยจิตวิญญาณของการประสานผลประโยชน์ของรัฐ ประชาชน ธุรกิจ และนักลงทุน และแบ่งปันความเสี่ยง นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ยืนยัน โดยชี้ว่าเป็นความสมดุลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

    ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้นักลงทุนนำเงินทุนและเทคโนโลยีล้ำสมัยมาสู่เวียดนามมากขึ้น และเสนอแนวคิดเพื่อช่วยให้ประเทศรวมสถาบันต่างๆ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการ โดยให้คำมั่นว่ารัฐบาล กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ พร้อมสำหรับการหารือและการเจรจา

    บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมประทับใจต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมที่โดดเด่นของเวียดนามในปี 2566 ด้วย GDP ที่เติบโต 5.05% และควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ ตลอดจนปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมาก พร้อมเชื่อว่าเวียดนามจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

    โทมัส เซอร์วา ซีอีโอของกลุ่มบาราโคดาของฝรั่งเศส กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจที่สุด โดยมีทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงมากมาย และกลุ่มของเขาต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างศูนย์นวัตกรรมและพัฒนา AI ในเวียดนาม

    เวียดนามอนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหิน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-to-cap-coal-exports-at-two-mln-tons-in-2022-4435060.html
    ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินภายในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588 ได้รับการอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรี เจือง ห่ง ฮา โดยคาดว่าผลผลิตถ่านหินจะอยู่ระหว่าง 45 ถึง 50 ล้านตันภายในปี 2573 และระหว่าง 38 ถึง 40 ล้านตันในปี 2574-2588

    ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว อุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นไปที่การสำรวจ เพื่อยกระดับทรัพยากรถ่านหินที่มีอยู่ควบคู่ไปกับเหมืองถ่านหินแห่งใหม่

    เป้าหมายที่กำหนดไว้จากยุทธศาสตร์ คือ การเริ่มดำเนินการนำร่องในลุ่มแม่น้ําแดงก่อนปี 2583 เพื่อดำเนินการขุดในระดับอุตสาหกรรมก่อนปี 2593 หากการนำร่องประสบความสำเร็จ

    นอกจากนี้จะมีการพัฒฯาตลาดถ่านหินที่มีผู้ขายและผู้ซื้อจำนวนมาก ในขณะที่แหล่งถ่านหินและซัพพลายเออร์จะมีความหลากหลายเพื่อดำเนินธุรกิจตลาดถ่านหินที่มีการแข่งขันอย่างเต็มที่หลังจากปี 2573

    การส่งออกและนำเข้าถ่านหินจะดำเนินการตามความต้องการของตลาด และเป็นไปตามทิศทางของรัฐบาลเพื่อตอบสนองความต้องการถ่านหินในประเทศโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า

    ในส่วนของแนวทางแก้ไขเพื่อให้บรรลุตามยุทธศาสตร์นั้น ประกาศคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรีระบุว่า กรอบกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหินจะเสร็จสมบูรณ์สอดคล้องกับระยะการพัฒนาตลาดพลังงาน เพื่อการใช้ประโยชน์และการใช้ทรัพยากรถ่านหินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง แนวปฏิบัติระหว่างประเทศ และ แนวโน้มการพัฒนาของประเทศ

    อีกทั้งจะมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและโปร่งใสเพื่อขจัดอุปสรรคทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าราคาถ่านหินจะโปร่งใสด้วยการกำหนดจากตลาด

    ขณะเดียวกัน รัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยเฉพาะที่ดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพจะถูกปรับโครงสร้างใหม่ พร้อมเจรจาขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรระหว่างประเทศในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยุติธรรม(just energy transition)ในอุตสาหกรรม สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

    ลาวลดเวลาจดทะเบียนธุรกิจใหม่เหลือ 3 วันผ่านออนไลน์

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/01/17/laos-enhances-business-infrastructure-with-streamlined-approval-process/
    รัฐบาลลาวได้อนุมัติกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดเพื่อลดเวลาการจดทะเบียนสำหรับธุรกิจใหม่จาก 10 เหลือ 3 วัน ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจด้วยกระบวนการอนุมัติที่คล่องตัว เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

    กฎระเบียบใหม่นี้ได้รับอนุมัติจากนายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ลาว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เพื่อปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

    แพลตฟอร์มดังกล่าวซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หรือ 45 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการของลาว แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้คาดว่าจะปฏิวัติกระบวนการลงทะเบียน ทำให้และผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าผู้ยื่นจดทะเบียนจะยังมีทางเลือกในการจดทะเบียนด้วยตนเอง แต่ทางเลือกออนไลน์มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งกระบวนการและเพิ่มความสะดวก

    เอกสารความยาว 16 หน้าซึ่งตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการของลาว ได้สรุปขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยื่นจดทะเบียนออนไลน์ เมื่อส่งใบคำขอและตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการดำเนินการลงทะเบียนจะแจ้งให้ผู้ยื่นจดทะเบียนทราบผ่านทางอีเมลหรือ SMS เกี่ยวกับวันที่ออกใบจดทะเบียน

    ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ การจดทะเบียนธุรกิจจะออกให้ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่แจ้งให้ผู้ยื่นทราบ

    อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจมาพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ลาวต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ค่าเงินอ่อนค่า และหนี้สาธารณะที่ไม่ยั่งยืน

    ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน บริหารจัดการด้วยนโยบายสินเชื่อ จัดสรรเงิน 4.5 ล้านล้านกีบ (225 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในเดือนกันยายน 2566 เพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    นโยบายดังกล่าวครอบคลุมการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 2.5% ต่อปี ธนาคารจึงสามารถเสนอสินเชื่อเหล่านี้แก่ธุรกิจได้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6% ต่อปี แม้นโยบายจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ความคืบหน้าก็ยังช้ากว่าที่คาดไว้

    นับตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จากคำขอ 81 ฉบับที่ยื่นผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง มีเพียง 13 คำขอเท่านั้นที่ได้รับการพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์โดยคณะกรรมการนโยบายสินเชื่อ และมีการลงนามในสัญญา 2 ฉบับและได้รับเงินกู้ หนึ่งรายถูกปฏิเสธ เหลืออีก 10 รายรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    คณะกรรมการชี้ว่า การที่คืบหน้าช้านั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การประสานงานที่ไม่ราบรื่นระหว่างสมาชิก เอกสารที่ธนาคารพาณิชย์จัดเตรียมไม่เพียงพอ และการไม่มีข้อเสนอจากภาคธุรกิจมากนัก

    แม้ภาคธุรกิจของลาวอาจจะก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่รัฐบาลลาวยังคงพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า

    BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนวางแผนลงทุน 1.3 พันล้านดอลล์ในอินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/chinese-ev-manufacturer-byd-announces-13-billion-investment-in-indonesia

    ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน Build Your Dreams (BYD) วางแผนที่จะลงทุน 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (20.3 ล้านล้านรูปียะฮ์ ) เพื่อสร้างโรงงานผลิตในอินโดนีเซียที่มีกำลังการผลิต 150,000 คัน

    “การลงทุน 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีกำลังการผลิต 150,000 คัน ผมชื่นชมความมุ่งมั่นของ BYD ในการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ผมหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต ประกาศการลงทุนผ่านวิดีโอเมื่อวันพฤหัสบดี(19 ม.ค.)

    BYD เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ได้แก่ BYD Seal, BYD Atto 3 และ BYD Dolphin สู่ตลาดอินโดนีเซีย งานเปิดตัวจัดขึ้นที่ Taman Mini Indonesia Indah (TMII) จาการ์ตาตะวันออก

    “ขอขอบคุณสำหรับการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ที่ TMII เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รวมตัวกันที่นี่ในต้นปี 2567 เพื่อเปิดตัวรถยนต์โดยสาร BYD อย่างเป็นทางการในอินโดนีเซีย” นายหลิว เสวียเลี่ยง (Liu Xueliang) ผู้จัดการทั่วไปของ BYD ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

    นายหลิว เสวียเลี่ยง กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเหล่านี้ผ่านการทดสอบระดับโลก และจำหน่ายไปยังเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก

    บริษัท บีวายดี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ศูนย์กลางเทคโนโลยีทางตอนใต้ของจีน แซงหน้าบริษัทเทสลา ในเท็กซัส ในฐานะผู้ขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2566 บีวายดีขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 526,409 คันในช่วงสามเดือน แซงหน้าเทสลาที่จำหนายได้ 484,507 คัน

    บริษัทกำลังขยายสู่ตลาดใหม่ๆ บริษัทส่งออกมากกว่า 4 เท่าเป็น 242,765 คันในปี 2566 คิดเป็น 8% ของยอดขาย และบีวายดีได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในฮังการี ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งแรกในยุโรป