ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ขอชาวนารวมกลุ่มให้เข้มแข็ง – สัปดาห์หน้าลุยปัญหาข้าวโพด – เคาะ 4 มาตรการ รับสังคมสูงวัย – ต่ออายุรถไฟ รถเมล์ฟรี

นายกฯ ขอชาวนารวมกลุ่มให้เข้มแข็ง – สัปดาห์หน้าลุยปัญหาข้าวโพด – เคาะ 4 มาตรการ รับสังคมสูงวัย – ต่ออายุรถไฟ รถเมล์ฟรี

8 พฤศจิกายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทีมาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ขอชาวนารวมกลุ่มให้เข้มแข็ง-สัปดาห์หน้าประชุมแก้ปัญหาราคาข้าวโพด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือกรณีราคาข้าวตกต่ำว่า ต้องทำให้ครบทุกจังหวัด จากเดิมมี 23 จังหวัด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวหอมปทุม ซึ่งอยากให้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบ และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ออกมาช่วยบรรเทาให้ชาวนา วันนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องหนี้สินชาวนา ต้องมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเสถียรภาพของการเงินการคลังด้วย เพราะจะใช้เงินแก้ปัญหาปลายเหตุ หรือใช้เงินจำนวนมากในคราวเดียวไม่ได้ อาจทำให้สิ่งอื่นวุ่นวายไปด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนามาอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนชาวนามีมาก หากกลุ่มใดที่รวมกลุ่มแล้ว หรือกลุ่มใดที่รัฐบาลช่วยเหลือได้ทันที ก็จะทำให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ได้รับรายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า มีการรับซื้อข้าวเพิ่มเติมมากกว่า 600 ตัน โดยบริษัทต่างๆ ช่วยกัน ถือว่าเป็นความร่วมมือแก้ปัญหา ตรงนี้หากทำได้อย่างยั่งยืนก็จะดีและจะสอดคล้องกับเรื่องของสหกรณ์ ที่จะผลิตและสีข้าวกันเอง ต้องรวมกลุ่มให้ได้

“หากจะขายข้าวกันแบบทุกวันนี้ คงไม่เพียงพอ เพราะได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่จะทำให้เข้มแข็งขึ้นได้ ขณะเดียวกันสหกรณ์ที่มีกว่า 3 พันแห่ง ต้องเข้มแข็งให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมามีปัญหาต้องเข้าไปฟื้นฟู ซึ่งเราได้ตรวจสอบมาตลอด ถ้าเราสามารถสร้างความเข้มแข็งในการสีข้าวเองได้ ก็จะเป็นโรงสีของสหกรณ์การเกษตร บวกกับโรงสีภาคเอกชน นำไปสู่การบริโภคในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ กลไกมีเยอะ รัฐบาลพยายามทำทุกอย่าง” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าจะเริ่มดำเนินการประชุมเพื่อหามาตรการแก้ไขราคาเรื่องข้าวโพดอีกครั้ง เพราะต้องมีเรื่องโควตาต่างๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ราคาข้าวโพดตกต่ำมีผลต่อผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ด้วย

สถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น เน้นพูดคุย ไม่สร้างความกดดัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ในด้านของการพูดคุยถือว่าก้าวหน้าในการพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ไม่อยากให้มีการแถลงทุกครั้งเมื่อมีการพูดคุย เพราะอาจทำให้เกิดการกดดันกันไปมา จึงขอให้เป็นหน้าที่ของกลุ่มพูดคุยซึ่งมีหลายกลุ่มงาน เพราะไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่

ขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาตใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวง โดยจากที่ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า (คปต.สน.) ไปดูแลแล้ว ยังให้ คปต.สน. เป็นผู้รายงานสถานการณ์กลับมาที่ตน และย้ำว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ขณะเดียวกันต้องรับฟังความต้องการของฝ่ายนั้นด้วย

“ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขทุกวิถีทาง แต่วันนี้มีการกดดันกันการพูดคุยก็ยากลำบาก แล้วมันจะจบได้อย่างไร เพราะเมื่อมี คปต.สน. ก็มากดดันรัฐบาลอีก คนเดือดร้อนจะทำอย่างไร ผมขอว่าจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ขอให้ดูรายละเอียดกันด้วย ถ้าไม่ทำก็พูดกันง่าย ปัญหาบ้านเราอยู่ที่ประชาชนจำนวนมากที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก เพียงแต่เราต้องฟังเหตุผลกันบ้างว่าจะหาทางร่วมมือกันให้ได้ จะกดดันทะเลาะกันไปมาไม่เกิดประโยชน์อะไร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ขอพระราชวินิจฉัยเพลงสรรเสริญพระบารมี

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณี ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล พร้อมคณะ เสด็จเข้าพบและนำมิวสิควิดีโอเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ตัดต่อเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วมาจัดฉายให้ได้ชมเป็นตัวอย่างว่า ถือว่าดี แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องนำกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องจากมีการนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาถ่ายทอดด้วย โดยพระองค์ท่านจะทรงพิจารณาความเหมาะสมว่าจะเผยแพร่ได้ในช่วงใด

เร่งหามือระเบิด จนท. ทางหลวง – ชี้การโมโหไม่เกิดประโยชน์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึง กรณีเกิดเหตุใช้ระเบิดข่มขู่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง จ.สระบุรี หลังเข้มงวดการใช้นโยบายปรับปรุงเครือข่ายด่านชั่งน้ำหนักถาวรและด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ทั่วประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าได้สั่งเร่งตามหาผู้รับผิดชอบจะไม่มีการผ่อนผัน เพราะทำให้ถนนชำรุด เสียเงินมหาศาล ดังนั้นต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันการแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่ทำให้ถนนพัง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการซ่อมแซม

สำหรับกรณีการใช้ความรุนแรงที่เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ระยะนี้ (เช่น ต่อยเจ้าหน้าที่บนทางด่วน, ดาราหนุ่มเจ้าของมินิคูเปอร์ทำร้ายคู่กรณี) เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่อยากให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี

“ผมไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก ต้องรู้จักระงับยับยั้งชั่งใจ และมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องรู้จักเห็นใจคนอื่นบ้าง การโมโหกันไปมาไม่เกิดประโยชน์” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับมติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

เคาะ 4 มาตรการ รับสังคมสูงวัย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ใน 4 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างมีการจ้างงานผู้สูงอายุผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้าง โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยรัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากมาตรการดังกล่าวประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี
  • มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีที่พักอาศัยปลอดภัย และเหมาะสมในความดูแลของแพทย์และพยาบาล โดยมีแนวทางดำเนินงานใน 3 รูปแบบ (บุตรที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาจะได้รับสิทธิในการเข้าจองโครงการก่อนเป็นลำดับแรก) ได้แก่

การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ได้จัดกาที่ใน จ.ชลบุรี 50 ไร่ จ.นครนายก 14 ไร่ จ.เชียงราย 64 ไร่ ในอัตราค่าเช่ารวมที่ 24 บาทต่อตารางวา และ จ.เชียงใหม่ 7.5 ไร่ ที่จะมีอัตราค่าเช่าแตกต่างออกไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นพื้นที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูง ซึ่งให้สิทธิเช่าได้เป็นระยะเวลา 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี

การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่อื่น โดยการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในรูปแบบของบ้านเอื้ออาทรต่างๆ

การสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนโดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธอส. สนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Pre-finance) ในวงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage: RM) เพื่อให้ผู้สูงอายุนำสินทรัพย์ที่ตนมีกรรมสิทธ์มาเปลี่ยนเป็นรายได้ ซึ่งมูลค่าเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มูลค่าบ้าน และอัตราดอกเบี้ย โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นผู้นำร่อง เมื่อผู้กู้เสียชีวิตทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นของธนาคาร เพื่อทำการบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป และในอนาคตจะมีการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อค้ำประกันความเสี่ยงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว
  • การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ นโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนต่างๆ หรือเงินบำเหน็จ บำนาญ อยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงาน เพื่อให้นโยบายในด้านดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดทิศทางในการกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศ

รวมไปถึงได้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวม 11.7 ล้านคน โดยนายจ้างและลูกจ้างกันส่งเงินเข้ากองทุนฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง  หรือไม่เกิน 1,800 บาท หรือนายจ้างและลูกจ้างส่งเงินเพิ่มได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง แต่กรณีลูกจ้างมีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทที่มีอยู่ราว 50% จะให้นายจ้างเป็นคนส่งเงินฝ่ายเดียว

ทั้งนี้การตั้ง กบช. จะส่งผลให้แรงงานในระบบโดยเฉพาะลูกจ้างเอกชนส่วนใหญ่มีรายได้หลังเกษียณเพิ่มขึ้นจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ และช่วยเพิ่มระดับเงินออมของประเทศให้สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 68,000 ล้านบาท

“จากข้อมูลในปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราสัดส่วนผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี คิดเป็น 14% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2568 มาตรการดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และมีโอกาสได้ทำงานต่อ รวมถึงบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว” นายกอบศักดิ์กล่าว

และเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าว ที่ประชุมได้ อนุมัติหลักการของร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

อนุมัติเพิ่มช่วยชาวนา วงเงินรวม 1.8 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 59/60 สำหรับชาวนาผู้ปลูกข้าวเจ้าและข้าวปทุมธานี 1 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยกำหนดพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จากเดิมกำหนดที่ 23 จังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิ รวมงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ 18,041 ล้านบาท

โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า และข้าวหอมปทุม 1 รวม 1 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ 2 ล้านตัน โดยข้าวเปลือกเจ้า ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า จะได้รับเงินรวม 10,500 บาทต่อตัน คิดเป็น เงินจากสินเชื่อ 7,800 บาท (90% ของราคาตลาด 7,800 บาท) รวมเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท ไม่เกิน 12,000 บาทต่อครัวเรือน และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท

ส่วนข้าวปทุมธานี 1 ชาวนาที่ร่วมโครงการจะได้รับเงินรวม 11,300 บาทต่อตัน จากเงินสินเชื่อ 7,800 บาท (90% ของราคาตลาด 87,00 บาท) รวมจากเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว และค่าเก็บรักษาข้าวฯ

“งบประมาณที่ใช้ดำเนินการ 18,041 ล้านบาทนั้น แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 7,096 ล้านบาท และงบประมาณที่ต้องจ่ายขาด 10,945 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งฉางและค่าฝากเก็บ 1,500 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน 331 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 78 ล้านบาท และช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 9,034 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว

ปรับมาตรการนำเข้าข้าวสาลี ช่วยชาวไร่ข้าวโพด

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นเพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้ข้าวสาลี ที่นำเข้ามาเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้า พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 คือ นำเข้าข้าวสาลี 1 ตัน จะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ที่หน้าโรงงาน

“เนื่องจากราคาข้าวโพดตกต่ำ ที่ผ่านมาเรามีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 7-8 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้ปีละ 4-4.5 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบอื่น เช่น ข้าวสาลีเข้ามาเพื่อทดแทน แต่เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวสาลีตกต่ำลงมาจนถูกกว่าราคาข้าวโพดในประเทศแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการหันไปนำเข้าข้าวสาลีมากขึ้น โดยที่ในปี 2558 นำเข้ามาประมาณ 3.9 ล้านตัน สำหรับปีนี้ 9 เดือนแรกนำเข้ามาแล้ว 2.77 ล้านตัน” นายณัฐพรกล่าว

ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี ครั้งที่ 21 รัฐรับภาระต่อ 2 พันล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง หรือโครงการรถเมล์ รถไฟฟรี (ครั้งที่ 21) ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2560 และได้อนุมัติงบประมาณชดเชยให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงินรวม 2,268 ล้านบาท ในการให้บริการแก่ประชาชน

  • ขสมก. จัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง ภาระค่าใช้จ่าย จำนวน 1,783 ล้านบาท
  • ร.ฟ.ท. จัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 152 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน มีภาระค่าใช้จ่าย 585 ล้านบาท

“ในอนาคตรัฐบาลคาดหวังว่าจะให้สิทธิประโยชน์ด้านการเดินทางนี้เฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรกำลังตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 และกระทรวงคมนาคมจะได้ออกบัตรให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อจะได้มาใช้สวัสดิการเหล่านี้ โดยเมื่อสิ้นสุดการต่ออายุมาตรการในรอบนี้แล้ว คือตั้งแต่พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป จะเริ่มให้ใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยได้” นายณัฐพรกล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้มีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ค่าการตลาด หรือกำไรของผู้ค้าหน้าปั๊มลดลง 20% โดยยืนยันไม่มีผลต่อราคาค้าปลีก

เห็นชอบร่างกฎหมาย หนุน Thailand Future Fund

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติ เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย พ.ศ. …. เพื่อรองรับ สนับสนุน และกำกับการดำเนินงานกองทุน Thailand Future Fund ตามนโยบายของรัฐบาล

โดยมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โดยให้กองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ เป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ มีหน้าที่หลักในงานธุรการให้กองทุน

กำหนดให้เงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ มี 2 บัญชี โดยบัญชีที่ 1 เป็นไปเพื่อคุ้มครองการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครอง โดยจะมีเงินทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นเงินสำรองจำนวน 9,000 ล้านบาท จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนจากกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ ส่วนบัญชีที่ 2 เพื่อเป็นเงินทุนสำรองกองทุนเพื่อการสนับสนุนฯ โดยจะมีการจ่ายสมบทให้บัญชีที่ 1 ทุกครั้งที่มีการจ่ายออกไป

เห็นชอบออมสินปล่อยกู้ผู้ประกอบการ 3 จว.ชายแดนใต้

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทบทวนโครงการตามมติ ครม. ในปี 2557 ที่ให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งรายงานวันที่ 6 ตุลาคม 2559 มีวงเงินเบิกใช้จำนวน 18,971 ล้านบาท คงเหลือค้างเบิกอีกจำนวน 6,029 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเองเชื่อในวงเงินคงเหลือดังกล่าวแก่ผู้ประกอบกิจการต่อไป

ด้าน ธอส. ได้ขอขยายกรอบวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิม 1,500 ล้านบาท เป็น 2,500 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความครอบคลุม เนื่องจากรายงาน ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2559 มีการยื่นกู้ทั้งสิ้น 1,088 บัญชี รวมวงเงินขอกู้ 1,887 ล้านบาท ซึ่งเกินจากกรอบวงเงินสินเชื่อเดิม

เพิ่มโทษทำร้ายร่างกายคดีอาญา

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ให้แก้ไขอัตราโทษปรับในภาค 2 ความผิด

โดยการแก้ไขอัตราโทษปรับในครั้งนี้ จะมีการเพิ่มอัตราโทษปรับในสัดส่วนอัตราโทษจำคุก โดยโทษจำคุก 1 ปี ต่ออัตราโทษปรับเดิมคือ 2,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ มีการเพิ่มเติมโทษปรับฐานทำร้ายร่างกายฯ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงโทษจำคุกเท่านั้น จึงได้กำหนดเพิ่มเติม โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปีขึ้นไป เพิ่มปรับตั้งแต่ 1 หมื่น – 2 แสนบาท และโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปีขึ้นไป เพิ่มปรับ 4 หมื่นบาท – 2 แสนบาท

อนึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2558 ซึ่งได้แก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษภาค 3 เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า แต่ขณะเดียวกันอัตราโทษปรับการทำผิดในภาค 2 ไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มขึ้นไปด้วย จึงเกิดความไม่สอดคล้อง ดังนั้น จึงให้ปรับในภาค 2 เพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับภาค 3 นอกจากนี้มีการพิจารณาความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ที่มีบทเฉพาะโทษจำคุก แต่ไม่ได้กำหนดโทษปรับเอาไว้ ทำให้ศาลพิจารณาลงโทษจำคุกได้สถานเดียว อาจไม่เหมาะสมกับการกระทำความผิด