เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดงาน “NESDC Social Forum 2023 : Together We Thrive” มุ่งขับเคลื่อนสังคมไทยรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและเทคโนโลยี พร้อมเปิดพื้นที่สนทนา สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิด ให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน โดยเชิญวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ อัยย์ทัชชา พลศรีเลิศ (จ๋า ลดา) จากเพจ Ladies of Digital Age (LDA), พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ (ภูเขา) และบุญรอด อารีย์วงษ์ (บุญรอด) จากช่อง Poocao Channel, ประสาน อิงคนันท์ จากเพจมนุษย์ต่างวัย และอดีตพิธีกรรายการกบนอกกะลา และสิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สังคมผู้สูงอายุ เมกะเทรนด์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี หรือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้โฉมหน้าประเทศไทยในอนาคตแตกต่างไปจากเดิม
นายดนุชา กล่าวถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เริ่มจากเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่งผลต่อความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการเกิดอาชีพใหม่ๆ แต่ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกงานในกลุ่มคนที่ปรับตัวไม่ทัน ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลให้ไทยขาดกำลังคนในเชิงปริมาณ ทำให้ต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการนำกลุ่มผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสังคมไทยก็เปิดกว้างมากกับอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับสิทธิและการเลือกปฏิบัติ
จากเหตุผลที่กล่าวมานำไปสู่การจัดงาน NESDC Social Forum 2023 : Together We Thrive โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) สร้างความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสังคมไทยในอนาคต (2) เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อรับรู้ความหลากหลายของคนทำงานในสังคม และ (3) เวทีเพื่อการพูดคุย ร่วมกันคิดและทำ วาดภาพอนาคตเพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจและสังคมไทยไปพร้อมกัน
5 ฉากทัศน์สังคมไทยในอนาคต
นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ กล่าวในหัวข้อ ‘ฉากทัศน์สังคมไทยในอนาคต’ โดยฉายภาพการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ด้าน
(1) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Change) เนื่องจากโลกมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านการแพทย์ หรือการใช้แชทบอทมาใช้ในการบริการ-ยานยนต์ไร้คนขับ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังมีเอไอ (AI : Artificiial Intteligence) ที่สามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้ อีกประเด็นคือ Virtual and Augmented Reality เป็นการจำลองโลกเสมือนในเหตุการณ์จริง ต่อมาคือ Quantam Computing เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีรายงานคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีอุปกรณ์ (Device) ถึง 15,000 ล้านเครื่องที่เชื่อมต่อกับ IOT และจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2573 ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนคือ 5G
ส่วนประเทศไทยก็มีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การเรียนออนไลน์ การใช้ Telemedicine ในด้านการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีช่วยให้เกิดการทำงานนอกสถานที่ ระบบชำระเงิน (Payment) มีการเดินทาง สั่งอาหาร และใช้หุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานในรูปแบบ Kiosk
นางสาววรวรรณ กล่าวถึงความท้าทายด้านเทคโนโลยีว่า แรงงานไทยอาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ผลคือเสี่ยงตกงาน โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำๆ และมีประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล เพราะคนแต่ละกลุ่มเข้าถึงโอกาสด้านดิจิทัลต่างกัน (Digital Divide) รวมถึงปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ ขณะที่โอกาสคือ คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โอกาสการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โอกาสการเข้าถึงสถานพยาบาล และการเชื่อมต่อที่ไร้ขีดจำกัด
(2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Changes) จากสถิติพบว่า 20 ปีที่ผ่านมามีภัยพิบัติทั่วโลก 7,348 ครั้ง ผลกระทบกว่า 4,200 ล้านคน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2.97 ล้านล้านเหรียญ ส่วนประเทศไทยได้รับผลกระทบอันดับ 8 ของโลก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาภัยพิบัติเพิ่มขึ้น 3 เท่า
ความท้าทายคือ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตเสียหายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะภัยแล้งและอุทกภัย และอาจขาดแคลนอาหารในระยะยาว สูญเสียบ้านเรือน เกิดการย้ายถิ่น ส่งผลต่อความมั่นคงต่อชีวิต ยังส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพและความเหลื่อมล้ำ โดยปัจจุบันเกษตรกรไทยกว่าร้อยละ 40 อยู่ใต้เส้นความยากจน ส่วนโอกาสคือ โอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ธุรกิจสีเขียว หรือแพลนท์เบส (Plant-based)
(3) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic Change) ประชากรโลกเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น จากสถิติระบุว่า ในปี 2022 มีประชากรโลก 8,000 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 โดยประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ในปี 2561 ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 20 ของประชากร แต่ในปี 2580 จะมีผู้สูงอายุร้อยละ 30 ประชากรวัยเด็กเหลือร้อยละ 14 ส่วนวัยแรงงานเหลือร้อยละ 50 โจทย์สำคัญคือประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะ ‘รวยก่อนแก่’ แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยอาจมีผลกระทบที่ตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น และประเด็นการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม)
นางสาววรวรรณ กล่าวถึงความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรว่า ความหลากหลายของแรงงานอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงและสมองเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนโอกาสคือ ความหลากหลายทางประชากรอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โอกาสธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์
(4) การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) จากสถิติระบุว่า ในปี 1914 โลกมีประชากรในเมืองเพียง 10% แต่ปี 2014 เพิ่มเป็น 50% และปี 2050 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 75% หรือประมาณ 4,200 ล้านคน ส่วนประเทศไทยปี 1950 มีคนอยู่ในเมือง 16% ปี 2018 เพิ่มเป็น 50% และคาดว่าปี 2050 จะเพิ่มเป็น 70%
ความท้าทายประเด็นนี้คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัย การเดินทาง การพักผ่อน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน การมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงขยะมูลฝอย ความไม่ปลอดภัยในสังคม น้ำเสีย ชุมชนแออัด และความยากจน ส่วนโอกาสคือ คนเมืองมีโอกาสที่คุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจเมืองดีขึ้น บริการทางการศึกษา การทำงานหรือการหางานง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เมืองในอนาคตต้องเป็นเมืองที่ตอบสนองกับคนทุกกลุ่ม
(5) ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อำนาจทางการทหาร ส่งผลกระทบการเมืองและระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาการยึดครองพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ เห็นได้ชัดคือ รัสเซีย-ยูเครน, อำนาจทางเศรษฐกิจสองขั้วใหญ่คือตะวันออกกับตะวันตก สหรัฐอเมริกากับประเทศจีนต้องพยายามหาพันธมิตรเพื่อคานอำนาจกัน, อำนาจทางวัฒนธรรม หรือ soft power
“ไทยมีสองขั้วอำนาจ จะวางตำแหน่งอย่างไร ไทยเลือกข้างไม่ได้เพราะทั้งสหรัฐฯ กับจีนเป็นประเทศมหามิตร ความท้าทายคือสร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจสองขั้วอย่างไร และโอกาสคือ การสร้างห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) โดยย้ายจากฝั่งตะวันตกมาตะวันออก และโอกาสในการสร้าง T-Pop จาก soft power” นางสาววรวรรณ กล่าว
“เราอยากเห็นสังคมที่อยู่เป็น ประเทศเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เราอยู่ท่ามกลางหลากหลายประเทศบนโลก แต่จะทำอย่างไรให้อยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเป็นสังคมที่เปิดรับความหลากหลาย อยู่อย่างเข้าใจและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เราอยากเห็นสังคมที่อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่สุข นำไปสู่สังคมที่เติบโตไปด้วยกัน”