ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่งแรงงานชง ครม. “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 12 ธ.ค. นี้ – มติ ครม. ไฟเขียวซื้อ “TESG” ลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท

นายกฯสั่งแรงงานชง ครม. “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 12 ธ.ค. นี้ – มติ ครม. ไฟเขียวซื้อ “TESG” ลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท

21 พฤศจิกายน 2023


เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ขีดเส้น DSI ล่าตัวการคดี “หมูเถื่อน-STARK-MORE”สัปดาห์หน้า
  • สั่งแรงงานชง ครม. “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 12 ธ.ค. นี้
  • จี้ “ธรรมนัส” แจกข้าวสายพันธุ์ใหม่ให้ชาวนา
  • มติ ครม. ไฟเขียวซื้อกองทุน “TESG” ลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท
  • ยกเลิก กม. “ตีเช็คเด้ง” ผิดเฉพาะคดีแพ่ง ไม่ติดคุก
  • ปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือสูงสุด 855 บาท/วัน
  • เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐาไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว แต่ได้มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

    ชูด่านศุลกากรหนองคายต้นแบบ “One Stop Service”

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ขอให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ให้อำนวยความสะดวกโครงการนำร่อง ซึ่งจะทำให้การค้าชายแดนสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ นโยบาย “One Stop Service” โดยโครงการดังกล่าวนี้ให้ใช้ด่านศุลกากร จ.หนองคาย เป็นต้นแบบ

    “จากการที่นายกฯ ได้ไปลงพื้นที่และพบว่า การที่แต่ละหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลการค้าชายแดน ก่อให้เกิดความล่าช้าในการวิ่งขอใบอนุญาต ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอื่นๆ บางครั้งรถบรรทุกขนสินค้าไปแล้วก็เสียเวลาข้ามด่าน เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ต้นทุน และทำให้ประสิทธิภาพลดลงหรือต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น” นายชัยกล่าว

    นายชัยกล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และนำโครงการด่านศุลกากรเป็นต้นแบบการทำงาน เพราะหากประสบความสำเร็จจะทำให้ต่ำทุนต่ำลง การค้าชายแดนจะคึกคักมากขึ้น

    ชวน รมต. ร่วมงาน “Thailand Biennale”

    นายชัยกล่าวต่อว่า นายกฯ เชิญชวนให้รัฐมนตรีทุกคนหาเวลาไปเยี่ยมชมงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ หรือ “Thailand Biennale” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นเทศกาลที่รวบรวมสุดยอดศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ และเป็นที่สนใจทั่วโลก

    ขีดเส้น DSI ล่าตัวการคดี “หมูเถื่อน-STARK-MORE” สัปดาห์หน้า

    นายชัยกล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับให้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไปเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้เร่งดำเนินคดีเอาผิดกับตัวการรายใหญ่ของปัญหาหมูเถื่อน คดีหุ้น STARK และหุ้น MORE

    “สามเรื่องนี้ ท่านนายกฯ บอกว่าภายในกลางสัปดาห์หน้าต้องการเห็นตัวใหญ่ ไม่เอาตัวเล็ก ไม่เอาปลาตัวเล็ก ต้องการตัวใหญ่ที่เป็นโต้โผของการทำผิด เอามาให้ได้ไม่เกินสัปดาห์หน้า” นายชัยกล่าว

    จี้ “ธรรมนัส” แจกข้าวสายพันธุ์ใหม่ให้ชาวนา

    นายชัยรายงานว่า ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ของประเทศไทยถือว่ารั้งท้ายเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียและอาเซียน เพราะแพ้แม้กระทั่งผลผลิตต่อไร่ของกัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน

    นายชัยกล่าวต่อว่า นายกฯ บอกกับกระทรวงเกษตรฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันมีกรมการข้าวที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และได้ยินว่ามีพันธุ์ข้าวดีเก็บไว้ในสต็อก แต่ทำไมไม่ค่อยเอามาแนะนำและเผยแพร่

    “นายกฯ กำชับว่า ขอให้เร่งหน่อย พัฒนามาหลายสายพันธุ์แล้ว ก็ต้องเอามาใช้ได้จริง เพราะดูตัวเลขผลผลิตต่อไร่ของเราแล้วต่ำเหลือเกิน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รายงานนายกฯ ว่า ฤดูกาลหน้าจะมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และคุณภาพข้าวมาแนะนำให้ชาวนาได้เพาะปลูกกัน” นายชัยกล่าว

    แก้ข้าวโพดราคาตก แนะผู้ซื้อ-ผู้ขายเคลียร์ให้จบ ก่อนระงับนำเข้า

    นายชัยกล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. มีการปรึกษาหารือกันว่า ปัจจุบันราคาข้าวโพดตกต่ำ ขณะที่ประเทศไทยผลิตข้าวโพดไม่พอใช้ แต่ต้องการข้าวโพดหรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนเข้ามาปีละ 3 ล้านตัน จึงมีเกษตรกรเรียกร้องมาว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาข้าวโพด โดยเสนอให้ระงับการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ตัวอื่นๆ เพื่อให้ราคาข้าวโพดในประเทศขึ้น

    นายชัยกล่าวต่อว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมบอกว่า “อย่าเพิ่งทำถึงขนาดนั้น เอาแบบนี้ดีกว่าว่า ให้ผู้ซื้อตกลงกับผู้ผลิตในราคาที่มีกำไรพอสมควร ถ้าไม่ได้ค่อยว่ากัน”

    “ข้าวโพดไม่พอใช้ วัตถุดิบที่ใช้คือข้าวโพดหรือข้าวสาลีเป็นแหล่งพลังงาน ต้องนำเข้า แต่ถ้านำเข้าเยอะกว่า 3 ล้านตัน อาจซื้อน้อยลง ฉะนั้น ได้มีการเจรจาทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย เบื้องต้นจะดำเนินแนวทางตกลงให้เป็นที่พึงพอใจ ฝ่ายใช้ต้องดูแลผู้ผลิตให้ได้ราคาพอสมควร” นายชัย กล่าว

    สั่งแรงงานชง ครม. “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 12 ธ.ค. นี้

    นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการของนายกฯ ให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาเสนอให้ ครม. พิจารณา

    ผู้สื่อข่าวจึงถามรายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้ใน ครม. อย่างไร โดยนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ ตอบว่า “ในที่ประชุมไม่มีการพูดคุยว่าจะขึ้นเท่าไร เพียงแต่นายกฯ กำหนดให้นำเสนอเรื่องเข้า ครม. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 และหาข้อมูลจากทุกจังหวัดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และจะหารือภายในกระทรวงแรงงาน ส่วนวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี”

    “ท่านยืนยันว่าวันที่ 12 ธันวาคม 2566 สามารถนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเข้า ครม. นอกจากนี้ไม่มีการหารือ แต่สำหรับเวลานี้นายกฯ เห็นด้วย ไม่ติดขัดอะไร” นายคารมกล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียวซื้อกองทุน ‘TESG’ ลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เงินได้ของบุคคลธรรมดาที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG)” ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และกำหนดให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมิณที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมา ทั้งนี้ ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

    1. ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ – บุคคลธรรมดาที่มีรายได้

    2. เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์

    จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG (1) นำเงินได้มาซื้อหน่วยลงทุนใน TESG (2) เป็นเงินได้ที่ได้มาตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 (3) ต้องถือหน่วยลงทุนใน TESG ไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย) จากการขายหน่วยลงทุน TESG (1) ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG (2) ถือหน่วยลงทุนใน TESG มาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย)

    3. สิทธิประโยชน์

    จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนใน TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้นๆ จากการขายหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้ (เฉพาะกรณีที่คำนวณเงินหรือผลประโยชน์จากเงินที่ได้หักลดหย่อนกรณีซื้อหน่วยลงทุนใน TESG) โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ลงทุนใน TESG คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ โดยสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เพิ่มการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย อันจะทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป้นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

    เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรที่ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์ ความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ตลอดจนติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าว ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

    ยกเลิก กม. “ตีเช็คเด้ง” ผิดเฉพาะคดีแพ่ง ไม่ติดคุก

    นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียง เพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้

    ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ระหว่างวันที่ 2-16 สิงหาคม 2565 (รวม 15 วัน) และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งได้เผยแพร่การรับฟังความคิดเห็น พร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

  • กำหนดมาตรการเพื่อรองรับกรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาแล้ว และในกระบวนพิจารณาของศาล เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย และหากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
  • กำหนดศาลที่มีอำนาจในการพิจารณา และพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง
  • กำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยตัวผู้ต้องโทษ (1) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุก (2) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษ
  • กำหนดวิธีการคำนวณโทษจำคุกในกรณีที่ผู้ต้องโทษจำคุกได้รับโทษจำคุก สำหรับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และความผิดตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และถ้าโทษที่ได้รับไปแล้วเท่ากับหรือเกินโทษที่ได้รับสำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษโดยทันที
  • กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
  • ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ ”คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

    เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัญมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 66 ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ .. พ.ศ….. (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทยทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน

    อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ Google Forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 – 14 พฤศจิกายน 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (video conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป” นายคารมกล่าว

    ขยายเวลาออกอนุ กม. โรงเรียนเอกชนไปอีก 1 ปี

    นายคารมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ออกไป 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

    นายคารมกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น จะต้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2564 และ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่โดยที่การจัดทำกฎหมายลำดับรองในเรื่องนี้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชน ที่จะต้องมีการศึกษาและสำรวจข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดภาระหรือส่งผลกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกชน รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

    ขยายเวลาออกอนุ กม. ทวงถามหนี้ไปอีก 1 ปี

    นายคารมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ของมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

    นายคารมกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเสนอขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 1 ฉบับ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ดังนั้น จะต้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่โดยที่การดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองฉบับดังกล่าวต้องใช้เวลาในการรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลจากผู้มีสิทธิและหน้าที่ หรือได้รับผลกระทบจากการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวอย่างรอบด้าน

    รวมทั้งต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดช่วงเวลาอื่น (นอกจากเวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และเวลา 08.00 น. ถึง 18.00 น. ในวันหยุดราชการหรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม เช่น ลูกหนี้มีอาชีพทำงานในเวลากลางคืนและนอนหลับในเวลากลางวัน โดยปิดโทรศัพท์หรือปิดเสียงโทรศัพท์ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้) ที่ผู้ทวงถามหนี้สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการออกกฎหมายลำดับรองออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

    ขยายเวลาออกอนุ กม. ส่งเสริมวิจัย-นวัตกรรมไปอีก 1 ปี

    นายคารมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสถานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ ออกไป 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

    นายคารมกล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น จะต้องดำเนินการออกกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2564 และ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่โดยที่การออกกฎหมายลำดับรองรวม 3 ฉบับดังกล่าว ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยในส่วนพระราชกฤษฎีกาฯ อยู่ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ส่วนร่างระเบียบฯ อีก 2 ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งยังมีประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการเกี่ยวกับกระบวนการกำหนดโจทย์วิจัย การให้ทุนวิจัยและพัฒนา การจัดสรร และการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ และการประเมิน จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการออกกฎหมายลำดับรองออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566

    ปรับค่าจ้างแรงงานฝีมือสูงสุด 855 บาท/วัน

    นายคารมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 29 กันยายน 2566 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป

    นายคารมกล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 54 สาขาอาชีพ โดยพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างจากลักษณะการทำงาน การจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงานความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง รวมทั้งสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละสาขาอาชีพและจัดทำร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเสนอคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แล้ว ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน) ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้มีมติกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สรุปได้ ดังนี้
    1. เห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 สาขาอาชีพ 54 สาขา ดังนี้

    2. เห็นชอบวันที่ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และ 3 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9-12) โดยให้รวบรวมอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าวไว้ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 13) เพียงฉบับเดียว (รวม 129 สาขา) เพื่อให้มีความเหมาะสมและสะดวกต่อการถือปฏิบัติต่อไป

    ขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง เพิ่มรายได้เกษตรกรภาคเหนือ-อิสาน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการดำเนินงาน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แคมเปญ นวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

    จากนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรตรงตามความต้องการตลาด นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง

    โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่า จากการได้พูดคุยกับหลายประเทศทราบว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ตลาดโลกต้องการ รวมถึงประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 99% ถั่วเหลืองจึงเป็นพืชที่มีโอกาสทางตลาดอีกมาก และควรส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร

    โดย กษ. จึงได้สนองต่อแนวทางดังกล่าว ด้วยการนำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อน โดยการส่งเสริมการปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง ทดแทนการนำเข้า และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่ง “ถั่วเหลือง” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสามารถผลิตหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ช่วยบำรุงดิน โดยประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วเหลืองมากถึง 3.2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่สามารถผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 2-3 หมื่นตันต่อปี

    โดย กษ. ได้ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาส่งเสริมผลผลิตถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จนสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 267 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นผลสำเร็จ เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ราคาสูง ในราคาเฉลี่ย 21-24 บาทต่อกิโลกรัม ได้ผลตอบแทนสุทธิ ไร่ละ 3,500-4,700 บาท ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนสุทธิของข้าวเหนียวถึง 2 เท่า

    จากการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานข้างต้น จึงได้จัดทำโครงการในแคมเปญ “นวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร” โดยโครงการดังกล่าว ได้คัดเลือกพื้นที่อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของถั่วเหลืองไทยเป็นพื้นที่นำร่องโครงการฯ ซึ่งผลสำเร็จจากแคมเปญครั้งนี้ กษ. จะมีการผลักดัน ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกถั่วเหลืองสำคัญของไทยต่อไป

    อนุมัติร่างเอกสารผลประชุม รมต. แม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8

    นางรัดเกล้ากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

    กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ครั้งแรก (เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และการประชุมผู้นำฯ ครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2559

    ทั้งนี้ สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้

      1. ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8 รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ชื่นชมพัฒนาการภายใต้กรอบ MLC และยืนยันหลักการและเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในการรักษาพลวัตความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC รวมถึงเห็นพ้องให้ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงรูปแบบใหม่ การค้าการลงทุน ศักยภาพในการผลิต ความเชื่อมโยง พลังงาน ทรัพยากรน้ำ การเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเร่งส่งเสริมการสอดประสานระหว่างรอบความร่วมมือต่างๆ ในอนุภูมิภาค
      2. ร่างแผนดำเนินการ 5 ปี กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ค.ศ. 2023-2027) เป็นการแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองร่วมกัน ในการกำหนดหลักการและแนวทางการดำเนินงการรวมกันของกรอบ MLC ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอย่างรอบด้านในสาขาต่างๆ เช่น การเมืองและความมั่นคง ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต และอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การเงินการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย การเกษตร สาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนากลไกเชิงสถาบันของกรอบ MLC รวมถึงกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างด้วย
      3. ร่างข้อริเริ่มร่วมเรื่องการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมภายใต้กกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นการแสดงเจตนารมย์ของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในการลดความยากจนการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ สาธารณสุข ดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อนวัตกรรมและวิสาหกิจใหม่

    ประโยชน์และผลกระทบ การให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 3 ฉบับจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอ่างรอบด้าน สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย และตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าท้ายปัจจุบันของอนุภูมิภาคฯ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และปัญาหาความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

    ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

    รับทราบส่งออกไทย 9 เดือน หดตัว 3.8%

    นางรัดเกล้ากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยประจำเดือนกันยายนและ 9 เดือนของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นการรายงานภาวะการค้าของประเทศไทยที่สำคัญ เป็นข้อมูลประกอบในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

  • สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกันยายน 2566
  • การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (888,666 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.1 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.0 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน เช่น ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์และโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.8 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.2

  • มูลค่าการค้ารวม
  • มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 48,859.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้า เกินดุล 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 9 เดือนของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 431,971.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมุลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.0 ดุลการค้า ขาดดุล 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

    มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,713,976 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 888,666 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 825,310 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า เกินดุล 63,355 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูค่าการค้ารวม 14,826,543 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับช่วงกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 7,268,400 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,558,144 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.9 ดุลการค้า ขาดดุล 289,744 ล้านบาท

  • การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 166.2 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 51.4 (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และเบนิน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 3.7 ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 16.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และสิงคโปร์) ไขมันจากน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 12.8 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 27.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 3.1 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา อียิปต์) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 7.9 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ กัมพูชา และเมียนมา) ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 52.7 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน มัลดีฟส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ยางพารา หดตัวร้อยละ 30.3 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 11.2 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 7.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมัน) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และกัมพูชา) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 2.0

  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.3 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 27.3 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยบละ 23.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 28.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดหตัวร้อยละ 24.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.5 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 27.7 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรส์) รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.6 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเบลเยียม) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม หดตัวร้อยละ 15.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.7

  • ตลาดส่งออกสำคัญ
  • การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องและการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน (5) และเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังหลายตลาดยังมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.2 โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับมาหดตัวร้อยละ 10.0 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ และหดตัวต่อเนื่องในตลาด CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.1 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่ขยายตัวในตลาดจีนและอาเซียน (5) ร้อยละ 14.4 และร้อยละ 4.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 7.8 แอฟริกา ร้อยละ 23.0 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.6 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 33.9 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 11.8 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 423.6 เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 749.8

  • มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
  • การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา เช่น (1) การจับมือร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการผลักดันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า (2) การนำคณะผู้แทนการค้าไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทยกว่า 26 บริษัท เข้าร่วมงาน Saudi-Thai Business Matching 2023 ณ ซาอุดีอาระเบีย และงาน Thai-Egyptian B2B Matching Event 2023 ณ อียิปต์ เพื่อเจรจาการค้าและขยายตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารฮาลาล ผลไม้ สินค้าใช้ในบ้าน และชิ้นส่วนยานยนต์ (3) ยกระดับความร่วมมือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศลงนาม MOU ร่วมกับบริษัท ลาซาด้า จำกัด ในการร่วมมือส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยทุกระดับได้มีโอกาสขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านร้าน TOPTHAI Storeบนแพลตฟอร์มลาซาด้า (4) นำคณะผู้ส่งออกร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้ส่งออกเข้าร่วม 76 ราย 4 กลุ่มสินค้า คาดว่าจะสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ เช่น เทคโลโลยีขั้นสูง ความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานการค้าดิจิทัล การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน

    แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามแทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานสะอาด โดยกระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลกในระยะถัดไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเติม