ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแก้ปมที่ดินทับอุทยาน ห้ามจัดสรรเป็น ส.ป.ก. – มติ ครม.ชดเชยดอกเบี้ย ‘ซอฟต์โลน’ 24 ธนาคาร 1,453 ล้าน

นายกฯแก้ปมที่ดินทับอุทยาน ห้ามจัดสรรเป็น ส.ป.ก. – มติ ครม.ชดเชยดอกเบี้ย ‘ซอฟต์โลน’ 24 ธนาคาร 1,453 ล้าน

27 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านใน ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯแก้ปมที่ดินทับเขตอุทยาน สั่งห้ามจัดสรรเป็น ส.ป.ก.
  • ปรับผังเมืองใหม่ รับนักลงทุนต่างชาติ
  • ตั้งศูนย์ Hotline “ไทย-กัมพูชา” แก้ปัญหาเผาป่า
  • สั่งทุกหน่วยเร่งเบิกจ่ายงบ ฯค้างท่อ
  • มติ ครม.ชดเชยดอกเบี้ย ‘ซอฟต์โลน’ 24 ธนาคาร 1,453 ล้าน
  • ปรับไทม์ไลน์เร่งผ่าน พ.ร.บ.งบ ฯปี’67 เร็วขึ้น
  • เปิดโควตานำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ – มันฝรั่ง
  • ผ่านแผน 5 ปี ดันไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลในภูมิภาค
  • เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และมอบหมายให้นายคารม พลพรกลาง และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานออกแบบลวดลาย 4 ลาย ได้แก่ ผ้าลายวชิรภักดิ์ , ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี จึงขอความร่วมมือคณะรัฐมนตรี หน่วยงานราชการ และประชาชนช่วยกันไปประชาสัมพันธ์ และใช้ลายผ้าดังกล่าวนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการเป็นการเทิดพระเกียรติในโอกาสมหามงคลดังกล่าว

    เร่ง พม.นำ ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก

    เรื่องต่อมา นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เร่งรัดพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยขอให้เร่งรัดทำเรื่องของชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก”

    แก้ปมที่ดินทับเขตอุทยาน สั่งห้ามจัดสรรเป็น ส.ป.ก.

    นายเศรษฐา กล่าวถึงทางออกในการแก้ปัญหาการออกเอกสาร ส.ป.ก.ทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ว่า เรื่องนี้มีทางออกที่ชัดเจนจากการพูดคุยกับทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงกรมแผนที่ทหาร ในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขาใหญ่จังหวัดนครราชสีมา โดยการสำรวจพื้นที่ของกรมแผนที่ทหาร สามารถเดินสำรวจพื้นที่ได้เร็วกว่าที่คาดไว้จากเดิมคาดว่าจะจบภายใน 3 สัปดาห์ แต่ปรากฏใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียว ก็สามารถแก้ปัญหาได้ จากการเชิญทุกหน่วยงานร่วมหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เสร็จเร็วกว่าที่คิดว่า โดยมีข้อสรุปดังนี้

      1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยึดหลักการ โดยจะประกาศว่าจะไม่นำที่ดินตามแนวเขตกันชน หรือ พื้นที่คาบเกี่ยว มาใช้แบ่งที่ดินเพื่อจัดสรรเป็นที่ดิน ส.ป.ก. รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรฯ ส่งเสริมเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าว และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า
      2. กระทรวงเกษตรฯ โดยเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อเข้าสำรวจ และหาข้อยุติในพื้นที่ที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยในรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ชี้แจง แถลงข่าวเอง

    ปรับผังเมืองใหม่ รับนักลงทุนต่างชาติ

    นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ได้สั่งการในที่ประชุมให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขและบูรณาการเร่งรัด ในการจัดหาแนวทางการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการยกระดับเมืองรอง เพื่อเตรียมพร้อมในการลงทุนจากทั้งภายในและนอกประเทศ สอดคล้องกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนการลงทุน และขจัดอุปสรรค ข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ

    “อธิบายง่ายๆนิดหนึ่งคือว่า ผังเมืองเก่าจะมีพื้นที่หลายสี เช่น สีเขียว สีเหลือง และสีม่วง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม และจัดทำมานานแล้ว อาจไม่เหมาะกับบริบทของโลกปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น จังหวัดพังงา เราจะมีการไปสร้างสนามบินอันดามัน หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นผังเมืองเก่า และยังมีอีกหลายเขตที่ยังไม่สามารถย้ายการตั้งโรงงานไปอยู่ในพื้นที่ได้ และไม่ได้มีแค่จังหวัดเดียว แต่มีหลายจังหวัด จริงๆแล้วทำอุตสาหกรรมได้ หรือ พื้นที่สีม่วงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้เป็นข้อจำกัดที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาลงทุน ตรงนี้จะมีการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ นายเศรษฐากล่าว

    ตั้ง คกก.หนุนอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก

    นายเศรษฐา กล่าวถึง เรื่องของการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารฮาลาลแห่งชาติ และ ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ของไทย เพื่อเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

    “ผมเชื่อว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่ด้วย อย่างที่เคยทราบกันดีว่า ผมเคยพูดคุยกับกษัตริย์ดูไบ และบรูไน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เรื่องของการพัฒนาศูนย์อาหารฮาลาลร่วมกัน ตอนนี้ ถือเป็นโอกาสอันนี้ที่เราจะพูดคุยกันเรื่องนี้ เพราะว่ามีคณะกรรมการแล้ว และมีการตั้งศูนย์ผลิตสินค้ามาแล้ว ก็จะทำให้ปากท้องของพี่น้องทั่วประเทศดีขึ้น”

    ตั้งศูนย์ Hotline “ไทย-กัมพูชา” แก้ปมเผาป่า

    นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้หารือเรื่องของการตั้งคณะทำงานเรื่องการเผาป่าระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา เพราะว่า 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราทราบกันดีว่า Hotspot ทั้งหลายเกิดขึ้นที่กัมพูชาค่อนข้างมาก กระทรวงคต่างประเทศ จึงได้รายงานความพร้อมของรัฐบาลกัมพูชาที่จะส่งทีมงานมาพูดคุยเรื่องการจัดตั้งศูนย์ Hotline เกี่ยวกับการเผาป่า จึงเร่งรัดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งทีมไทยแลนด์ เพื่อประสานงานกับกัมพูชาต่อไป

    “อันนี้จะเป็นการตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่ระหว่าง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาก็มาพูดคุยกันตลอดในวงแคบ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันต่อไป”

    ย้ำย้ายอุเทนถวาย ต้องรับฟังความเห็น – ยึดหลัก กม.

    ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีศิษย์เก่า และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เรียกร้องไม่เห็นด้วยกับการย้ายที่ตั้งสถาบันไปยังพื้นที่อื่น

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นผู้แถลงรายละเอียดในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ต้องรับฟังทุกความคิดเห็น โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ว่าการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ

    ลงพื้นที่หาจุดขาย ช่วยโปรโมทท่องเที่ยว – สินค้าชุมชน 3 จว.ชายแดนใต้

    นายเศรษฐา กล่าวถึง การเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ จะมีหลายหน่วยงานลงไป ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ คือ การลงพื้นที่ เพื่อพูดถึงโอกาส และจะไปค้นพบสิ่งที่งดงาม และมีคุณค่าที่ซ่อนเร้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และดึงศักยภาพออกมา อะไรที่สามารถทำประโยชน์ได้ และอะไรสร้างเงินเข้ากระเป๋าให้พี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะทำ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้ท้องถิ่น ที่ทำให้ตลาดกว้างขึ้น และมีรายได้ราคาดีขึ้น โดยจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้นๆ

    การท่องเที่ยวก็สำคัญ และทำให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่รักภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และให้ประชาชนนอกพื้นที่ รักผูกพันกับผู้คนและดินแดนแถวนี้ สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลให้ความมั่นใจคือเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี ถ้าเราทำได้ดี ก็จะนำความสงบสุขมาสู่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

    อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้เตรียมเดินทางลงพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลนยบกุรอาน อ.ยี่ง อ จ.นราธิวาส ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

    สั่งทุกหน่วยเร่งเบิกจ่ายงบ ฯค้างท่อ

    ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่าย ทั้งในส่วนของเงินงบประมาณ และเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะการลงทุนของภาครัฐเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ ต้องโปร่งใส และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบด้วย

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง และ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ปรับไทม์ไลน์เร่งใช้งบ ฯปี’67 เร็วขึ้น

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการปรับวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณรายงานว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 จึงมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ให้ปรับกำหนดวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 ดังนี้

      1.สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 วาระที่ 2-3 เดิมกำหนดวันที่ 3-4 เมษายน 2567 เป็นวันที่ 20-21 มีนาคม 2567
      2. วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบฯ ปี พ.ศ. 2567 เดิมกำหนดวันที่ 9-10 เมษายน 2567 เป็นวันที่ 25-26 มีนาคม 2567
      3. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบฯ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป เดิมกำหนดวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นวันที่ 3 เมษายน 2567

    มอบปลัดแรงงานเซ็นเอ็มโอยู ILO

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ (1) ร่างแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย (Decent Work Country Program : DWCP) วาระปี 2566-2570 และร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่คุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 และ (2) ให้ปลัดกระทรวงแรงงาน หรือ ผู้แทนเป็น ผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในฐานะรัฐบาลไทย ร่วมกับผู้แทนองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ทั้งนี้ มีกำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ พร้อมทั้งเปิดตัวแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

    ร่างแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย (DWCP) วาระปี 2566-2570 เป็นแผนงาน DWCP ฉบับที่ 2 ของไทย (ฉบับแรก คือ วาระปี 2562-2564 และขยายระยะเวลาไปจนถึงปี 2565) โดยแผนงาน DWCP เป็นกรอบความร่วมมือที่ ILO จัดทำร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิกผ่านการวางกลยุทธ์แนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยร่างแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 มีประเด็นความสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

      1. ความสำคัญที่ 1 อนาคต (Future) พัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พัฒนาทักษะและอาชีพสำหรับแรงงานในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของไทยด้วยการให้สัตยาบันพิธีสารระหว่างประเทศ ปรับปรุงกฎหมายแรงงานไทย สร้างงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุ
      2. ความสำคัญที่ 2 เข้าถึง (Reach) รับรองการคุ้มครองทางสังคมและงานที่มีคุณค่าที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคม เพื่อมอบสิทธิคุ้มครองที่ครอบคลุมและเพียงพอ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคม
      3. ความสำคัญที่ 3 เชื่อมต่อ (Connect) เสริมความแข็งแกร่งในการจัดการข้อมูล การสื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการกำหนดเป้าหมายและการจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาฐานข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงาน

    ร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่คุณค่าของประเทศไทย วาระปี 2566-2570 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาลไทย (กระทรวงแรงงาน) องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามแผนงาน DWCP วาระปี 2566-2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานไทยให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและเพียงพอสำหรับแรงงานทุกคน เสริมความเข้มแข็งในการจัดการข้อมูล สื่อสาร และศักยภาพของรัฐบาล ยึดประเด็นสำคัญ 3 ประการ ทั้งนี้ ILO จะให้ความช่วยเหลือในการระดมทรัพยากรและให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในการดำเนินการตามแผนงาน DWCP รวมถึงให้การสนับสนุนงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้ร่างแผนงานฯ และร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น

    เปิดโควตานำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ – มันฝรั่ง

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก1 [World Trade Organization (WTO)] โดยให้เปิดตลาด 1 ปี (ปี 2567) สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ) เสนอ ดังนี้

    และให้คณะกรรมการฯ รับไปพิจารณาหารือเรื่องความเหมาะสม ราคา ช่วงระยะเวลาการนำเข้าไม่ให้กระทบกับการผลิตสินค้าของไทย
    สาระสำคัญของเรื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ รายงานว่า

    1. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 – 2569 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ สินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ซึ่งมีปริมาณโควตาและอัตราภาษีแตกต่างจากที่ผูกพันไว้กับ WTO โดยมีสาระสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
    1.1 ปริมาณโควตาและอัตราภาษี

    1.2 การบริหารการนำเข้า

      1) เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ
      2) หอมหัวใหญ่ (แห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้บริหารการนำเข้า เพื่อจัดสรรให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ
      3) หัวพันธุ์มันฝรั่ง อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่

        1) ให้มีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง โดยผู้ที่ต้องการจะนำเข้าต้องจัดทำหนังสือและแจ้งความประสงค์มายังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภายในระยะเวลาที่กำหนด
        2) ให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า
        3) ให้ผู้นำเข้าทำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์มันฝรั่ง โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง และในกรณีที่บริษัทนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง
        4) ผู้นำเข้าต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้แก่เกษตรกรไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท และรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้

        • ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม – ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท
        • ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม – มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท

      4) หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด ได้แก่

        1) ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคล
        2) ผู้นำเข้าหรือผู้แทนนำเข้าต้องรับซื้อหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ดังนี้

        • ในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม – ธันวาคม) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท
        • ในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม – มิถุนายน) ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11.00 บาท

        และมอบหมายคณะอนุกรรมการจัดการฯ พิจารณาราคาประกันขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดในแต่ละปีต่อไป ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้ามีการรับซื้อในราคาต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจะมีผลต่อการพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าในปีต่อไป
        3) ให้มีการนำเข้าในเดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคม – ธันวาคมของทุกปี โดยการนำเข้าในเดือนมกราคมให้นำเข้าไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรในโควตาของผู้ประกอบการแต่ละราย

    2. คณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ได้มีการวิเคราะห์การเปิดตลาดเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามกรอบความตกลง WTO ปี 2567 – 2569 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ ว่าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหอมหัวใหญ่ (ชนิดแห้งเป็นผงและไม่เป็นผง) ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย รวมถึงหัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปในประเทศไทยมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตภายในประเทศ และเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่และหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้าในราคาที่เหมาะสม รวมถึงให้สหกรณ์ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย ทั้งนี้ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามกรอบความตกลง WTO 2567 – 2569 เป็นการดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) โดยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป โดยหากสินค้ารายการใดจำเป็นต้องเปิดตลาด และมีปริมาณในโควตา อัตราภาษีในและนอกโควตาแตกต่างจากที่กำหนด [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539] ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบทุกรายการเป็นแต่ละครั้งไป

    ชดเชยดอกเบี้ย ‘ซอฟต์โลน’ 24 ธนาคาร 1,453 ล้าน

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำาหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด Soft Loan) คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

    ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กค. จะดำเนินการยื่นขอรับจัดสรรงบกลาง รายการ เงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามขั้นตอนต่อไป

    ทั้งนี้ กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยและและเงินชดเชยความเสียหายรอบแรก ครั้งที่ 1 และรอบแรกครั้งที่ 2 ของสถาบันการเงิน ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด Soft Loan) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,453.11 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกำกับการจ่ายชดเชยในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณเงินชดเชยดอกเบี้ยและเงินชดเชยความเสียหาย สำหรับการคำนวณเงินชดเชยรอบแรก ครั้งที่ 1 ของสถาบันการเงิน จำนวน 1,372.74 ล้านบาท และผลการคำนวณเงินชดเชยความเสียหายสำหรับการคำนวณเงินชดเชยรอบแรก ครั้งที่ 2 ของสถาบันการเงิน จำนวน 80.37 ล้านบาท ตามลำดับ โดยได้ผ่านกระบวนการสอบทานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว รวมถึงได้แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้สถาบันการเงินผู้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยเพื่อทราบ โดยสถาบันการเงินไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด และได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจ้งจำนวนเงินชดเชยดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

    ผ่านแผน 5 ปี ดันไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลในภูมิภาค

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อก. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อเป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย สรุปได้ดังนี้

    ร่างแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ดังนี้

    1. หลักการและเหตุผล

      (1) สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 (มีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งด้านสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ดังนั้นหากประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างบูรณาการและเป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป
      (2) ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุม/ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

    2. วิสัยทัศน์ – ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

    3. วัตถุประสงค์

      (1) เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้
      (2) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย

    4. ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม – (1) อาหารฮาลาล (2) แฟชั่นฮาลาล (3) ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล (4) โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง (5) บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

    5. ตัวชี้วัด (ระยะ 5 ปี) – (1) GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571

    6. มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ

      มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ
      มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก
      มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (ศูนย์) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย

    7. งบประมาณ – วงเงินจำนวน 1,230 ล้านบาท

    8. ระยะเวลา – 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571)

    “การดำเนินการตามแนวทางการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกระตุ้นการบริโภค การลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย เป้าหมายคือการได้เห็น GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ภายใน 5 ปี การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี และการได้เห็นไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นภาพเหล่านี้อย่างจับต้องได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) จะเริ่มต้นอีกด้วย” รองรัดเกล้าฯ กล่าว

    สั่งทุก จว.ป้องกันพิการแต่กำเนิด – รณรงค์สิทธิหลังคลอดบุตร

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง สิทธิของมารดา ในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) มาเพื่อดำเนินการ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า สธ. ได้รวบรวมและสรุปผลพิจารณา ในภาพรวม สรุปดังนี้

    1. การผลักดันเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ : สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

    2. การจัดให้มี คกก. ขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน : สธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่ง สธ. เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการควบคุม และป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก อีกด้วย

    3. การผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตร : สปสช. กำหนดให้มีรายการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดความพิการแต่กำเนิดอยู่ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    4. การสนับสนุนงบฯ ในด้านการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว : สธ. และ สสส. ได้จัดสรรงบฯ และหาแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมทั้งสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ

    5. การให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการความร่วมมือในการรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตรทราบถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) : สธ. ได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ในเรื่องสิทธิ และประโยชน์ของการได้รับบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก และวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ศธ. จัดทำกรอบหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาการเรียนรู้ด้านสุขศึกษาแก่เยาวชนทุกระดับ รง. สนับสนุนการบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวในสถานประกอบการและกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

    6. การเร่งรัดดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) : สธ. พัฒนาระบบเฝ้าระวังความพิการแต่กำเนิดระดับประเทศจากแหล่งข้อมูลความพิการแต่กำเนิดที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก รพ. สังกัด สธ. ทั่วประเทศ

    7. การให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ อสม. เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน : สธ. ได้ผลิตสื่อสำหรับ อสม. เพื่อใช้สื่อสารและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาทักษะและให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และความสำคัญของการได้รับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) แก่ อสม.

    8. ให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันความพิการแต่กำเนิด และ
    9.ให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจำหวัดนำร่อง เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด : ใน 2 ข่อสุดท้ายนี้ สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. เพื่อพิจารณาหารือต่อไป

    รับทราบผลงาน คกก.ประชาสัมพันธ์แห่งชาติปี’67

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย กปช.ได้รายงานผลการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปได้ดังนี้

    ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ 1 คือการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเรื่องสื่อสารที่สำคัญของประเทศ และเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสม เสริมสร้างค่านิยมที่ดีในสังคม โดยได้มีการมอบหมายหน่วยงานภาครัฐให้รับข้อเสนอของประชาชน ซึ่งข้อเสนอ คือการประเมินผลการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 7 เรื่อง ดังนี้

    1. การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ร้อยละ 78.36 โดยให้ความสนใจแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหน่วยงานรัฐควรสื่อสารโดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงวิธีการที่เป็นรูปธรรม และควรเน้นการสื่อสารแบบสองทางผ่านสื่อบุคคล

    2. การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด–19 ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 86.93 โดยประชาชนคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก

    3. การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขและสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ร้อยละ 90.41 โดยควรเน้นย้ำให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และควรเน้นให้ความรู้เรื่องการแพทย์ของพืชสมุนไพร

    4. สังคมสูงวัยกับวิถีชีวิตในอนาคต ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 92.50 โดยประชาชนต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ และควรพัฒนาแอปพลิเคชันทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ

    5. การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 98.75 โดยเสนอว่าควรผลิตสื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอ รวมถึงการผลักดันกฎหมายกำกับดูแลไซเบอร์ช่องทางการร้องเรียน

    6. ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 97.75 โดยประชาชนเสนอว่ามุ่งเน้นการสื่อสารสร้างค่านิยมไทยร่วมสมัย ให้ประชาชนตระหนักว่าการประพฤติตนตามคุณธรรมและค่านิยมพื้นฐานเป็นเรื่องที่ควรทำ

    7. ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ ผลการประเมิน พบว่า ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 89.50 โดยควรเพิ่มความถี่ในการสื่อสารช่องทางการร้องเรียน หน่วยงานภาครัฐควรชี้แจงนโยบายและข้อเท็จจริงภายใต้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดเรื่องสื่อสารสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ 2) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย 3) การสร้างการรับรู้ความเข้าใจและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 4) การพัฒนาสังคมและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยกับยุคปัจจุบัน 5) การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 6) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

    นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาอีก 3 ด้าน คือ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและข่าวปลอม (Fake News) สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านช่องทางที่น่าเชื่อถือ และ เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล อีกด้วย

    นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัดฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับจังหวัด เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งสอดคล้องกับ 4 แนวทางการพัฒนาภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมทั้งการบริหารประเด็นที่สอดคล้องกับเรื่องสื่อสารที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ และสื่อสารมวลชนระดับประเทศสู่การปฏิบัติ

    ตั้ง ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รักษาราชการแทน รมว.พลังงาน

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีร่ายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายเกษม ตั้งเกษมสำราญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค [นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน)] สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค [นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน)] สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

      2. นางน้ำทิพย์ หมั่นพลศรี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566

      3. นางสาวสมจินต์ จินดาวิจักษณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566

      4. นางดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2566

      5. นางสาววนิดา สมบูรณ์ศิลป์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ตามลำดับ ดังนี้

      1. นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

      2. นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศในลำดับที่ 1 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอแต่งตั้ง นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สกท. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สกท. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้คณะกรรมการองค์การตลาดมีจำนวนกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อแทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก จำนวน 1 คน และแต่งตั้งเพิ่มเติม จํานวน 3 คน รวม 4 คน ดังนี้

      1. นางชลิดา พันธ์กระวี
      2. นายวรวงค์ ระฆังทอง
      3. นายสร้างรัฐ หัตถวงษ์ แทน นายสุรเชษฐ์ ลักษมีพงศ์
      4. นางสาวสุชาวดี พิทักษ์พรพัลลภ

    โดยผู้ได้รับแต่งตั้งรายนายสร้างรัฐ หัตถวงษ์ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มเติม